16. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ)28/7/52

16. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ)28/7/52

16. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


สิ่งที่ผมเรียกว่า “ระบอบพิบูลสงคราม” ซึ่งเริ่มก่อตัวอย่างจริงจังหลังกลุ่มอำนาจเก่าของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประสบความสำเร็จในการทำรัฐประหารอีกครั้งในปี 2490 นั้น แท้ที่จริงแล้วก็คือ ระบอบรัฐนิยม ซึ่งเป็น ระบอบอำนาจนิยมชนิดหนึ่ง ที่มุ่งจะทำการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐ และ มีความพยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และความนับถือจงรักภักดีของประชาชนที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีในระบอบเดิมให้หันมาหา “ระบอบใหม่” ซึ่งปลูกฝังประชาชนให้หันมาเชื่อ “ผู้นำประเทศ” แทนนั่นเอง

เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้นำที่มาจากราษฎรคนหนึ่งที่ก้าวขึ้นมาบริหารปกครองประเทศในช่วงต้นของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่ทันฝังรากดี จอมพล ป. จึงต้องสร้างและสรรหานโยบายทางการเมืองการปกครอง รวมทั้งความชอบธรรมเพื่อการบริหารประเทศด้วย นโยบายรัฐนิยม ซึ่งออกมาทั้งสิ้น 12 ฉบับ โดยมีลักษณะสำคัญอยู่ที่การปลูกฝังความเป็นชาตินิยมในหมู่คนไทย เช่น การใช้ชื่อประเทศไทย การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี การให้ชาวไทยพยายามใช้สินค้าที่ทำขึ้นในประเทศไทย เป็นต้น กับการชักชวนให้ประชาชนร่วมกันสร้างชาติในด้านต่างๆ โดยเรียกร้องให้ประชาชนทั้งประเทศ “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ดังที่จอมพล ป. ได้เคยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“ขณะนี้ประเทศของเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดมั่นแน่นอน ที่มีอยู่คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ แต่ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนาก็ไม่ทำให้คนถึงกับเลื่อมใส กษัตริย์ก็ยังเป็นเด็กเห็นแต่ในรูป รัฐธรรมนูญก็เป็นสมุดหนังสือ เวลาบ้านเมืองคับขัน จะเอาอะไรเป็นเครื่องยึดก็ไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี...” (คำปราศรัยในวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2485)

จากที่กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบตะวันตกขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่เพียงสิบห้าปีให้หลัง เรากลับได้ ระบอบอำนาจนิยม ชนิดหนึ่งซึ่งมีลักษณะเป็นระบอบคณาธิปไตย (oligarchy) ขึ้นมาแทนที่เท่านั้น ก่อนที่มันจะพัฒนากลายมาเป็น ระบอบเผด็จการทหาร เต็มรูปแบบในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ และรัฐบาลจอมพลถนอม ซึ่งกินเวลาเกือบ 15 ปีเต็มในระหว่างปี 2501-2516

เมื่อเป็นเช่นนี้ ผมจึงคิดว่า เราจำเป็นต้องตั้งคำถามใหม่อีกครั้งเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยไทยว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยไทยต้องประสบกับการถูกบิดเบือนและกลายพันธุ์ไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิมถึงเพียงนี้? ผมมีความเข้าใจดังนี้...

ประชาธิปไตย ในฐานะที่เป็นระบอบการเมืองนั้น เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในโลกตะวันตก โดยตั้งอยู่บนความเชื่อและหลักการที่ว่า สังคมหรือประชาสังคม (civil society) จะต้องเป็นผู้กำหนดและควบคุมรัฐ ครั้นเมื่อมีการ “นำเข้า” แบบแผนเชิงอำนาจเช่นนี้เข้ามาปลูกฝังในประเทศไทย โดยผ่านการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร กลับต้องพบกับเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ และทางวัฒนธรรมของสังคมไทยที่แตกต่างผิดแผกไปจากโลกตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ซึ่งส่งผลให้เกิดการบิดเบือน และกลายพันธุ์ของระบอบประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ทั้งนี้ก็เพราะว่า จารีตในการปกครองดั้งเดิมของไทยซึ่งเป็นระบบเจ้าขุนมูลนายหรือระบบศักดินา หรือระบบไพร่นั้นไม่มีแนวคิดแบบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกดำรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคทางกฎหมาย พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ระบบรัฐสภา ฯลฯ

แต่ถึงกระนั้น ระบบศักดินานี้ในช่วงที่ยังเข้มแข็งก็สามารถทำหน้าที่ของมันอย่างได้ผลพอสมควร กล่าวคือ ระบบนี้สามารถสร้างความผาสุกให้แก่สังคมได้ในระดับหนึ่ง โดยมีความพึงพอใจร่วมกันทั้งฝ่ายเจ้านายผู้เป็นฝ่ายปกครอง และฝ่ายไพร่ผู้เป็นฝ่ายถูกปกครอง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็มีพันธะต่อกันโดยถูกกำกับจากศีลธรรม และคุณธรรมทางศาสนา และจากจารีตประเพณีเป็นหลักมากกว่าที่จะอิงตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัดเหมือนกับทางตะวันตก

เมื่อมีการนำหลักการประชาธิปไตยตะวันตกเข้ามาใช้ในประเทศไทยหลังปี 2475 ผู้ปกครองและชนชั้นนำไทยจึงต้อง “ตีความ” และ “ดัดแปลง” โครงสร้างประชาธิปไตยให้สอดคล้องกับการอ่านความจริงในสังคมไทยของพวกตน ซึ่งถูกจำกัดโดยโลกทัศน์และระดับจิตของพวกเขาเอง ผลก็คือ ผู้ปกครองและชนชั้นนำไทยต่างก็ต้องหันมาพึ่งพา วัฒนธรรมอุปถัมภ์ ที่ได้ฝังรากลึกอยู่ในระบบไพร่มาอย่างยาวนานนับเป็นร้อยๆ ปี

อันที่จริง วัฒนธรรมอุปถัมภ์จากระบบไพร่มิได้ถูกส่งต่อโดยตรงมายังระบอบประชาธิปไตยไทย หลังปี 2475 ในทันที เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น มันจะเกิดระบอบธนาธิปไตยขึ้นมาแทน แต่วัฒนธรรมอุปถัมภ์จากระบบไพร่ มันได้ถูกแต่งถูกแปรรูปอยู่เป็นเวลานานหลายสิบปี ภายใต้ ระบอบอำนาจนิยมสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบอบพิบูลสงคราม (ระบอบรัฐนิยม) หรือระบอบสฤษดิ์-ถนอม (ระบอบเผด็จการทหาร) จนกระทั่งค่อยๆ กลายมาเป็นระบอบทักษิณ (พ.ศ. 2544-2551) ซึ่งเป็นระบอบธนาธิปไตยอย่างเต็มตัวในยุคปัจจุบัน

จะว่าไปแล้ว ระบอบประชาธิปไตยมิใช่สถาบันแบบตะวันตกสถาบันแรกที่ได้รับการสถาปนาขึ้นในประเทศไทย และแนวคิดประชาธิปไตยก็ไม่ใช่แนวคิดตะวันตกอันดับแรกๆ ที่ถูก “นำเข้า” มาอยู่ในเงื่อนไขของประเทศไทย เพราะระบบข้าราชการประจำสมัยใหม่ ระบบกฎหมายสมัยใหม่ ระบบศาล และกองทัพประจำการ ล้วนแล้วแต่เป็นสถาบันแบบตะวันตกที่ได้ถูกนำมาใช้ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้เริ่มสร้างระบบความสัมพันธ์แบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง อันเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำให้ทันสมัย และสถาบันแบบตะวันตกต่างๆ เหล่านี้ ต่างก็ได้รับผลกระทบ และถูกบิดเบือนดัดแปลงโดยวัฒนธรรมอุปถัมภ์จากระบบไพร่เหมือนกับระบอบประชาธิปไตยที่ถูกนำเข้ามาในภายหลังเช่นกันทั้งสิ้น

วัฒนธรรมอุปถัมภ์ จึงมิได้สิ้นสุดไปพร้อมกับระบบไพร่ แต่มันกลับถูกหลอมกลืนเข้าไปใน โครงสร้างอำนาจรัฐสมัยใหม่ จนทำให้ระบอบประชาธิปไตยไทยมีลักษณะกลายพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก กล่าวคือ ในขณะที่ระบอบประชาธิปไตยในเชิงอุดมคตินั้นตั้งอยู่บนหลักการแห่งความเสมอภาคของปัจเจกบุคคล และสิทธิของปัจเจกบุคคลทั้งในด้านส่วนตัว และในด้านการเมือง

ขณะที่วัฒนธรรมทางการเมืองของคนไทยส่วนใหญ่ยังยึดติดอยู่กับระบอบอุปถัมภ์ และเครือข่ายอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนความสัมพันธ์แนวดิ่งแบบเจ้านาย-ลูกน้อง หรือผู้ใหญ่-ผู้น้อยที่ต่างฝ่ายต่างมีพันธกิจต่อกัน ซึ่งทำให้การยืนยันสิทธิและความเสมอภาคระหว่างบุคคลถูกหักล้างไปในความเป็นจริงโดยปริยาย

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า กระบวนการสถาปนาประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้น ดำเนินไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับของประเทศแม่แบบในโลกตะวันตกอย่างชัดแจ้ง กล่าวคือ ในโลกตะวันตกนั้น ปรัชญาว่าด้วยสิทธิเสรีภาพเกิดก่อนสถาบันการปกครองสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญหรือระบบเลือกตั้ง แต่ในประเทศไทยนั้น สถาบันการปกครองสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนที่จะมีการยกเลิกระบบไพร่อย่างเป็นทางการถึงสิบกว่าปี และไม่มีอะไรโยงใยกับแนวคิดประชาธิปไตยเลย เพียงแต่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อป้องกันบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของลัทธิล่าอาณานิคมในยุคนั้นเท่านั้น ผลที่ตามมาก็คือ ระบบราชการสมัยใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ได้ค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้นมาจนมีอำนาจในการควบคุม และครอบงำสังคมมากขึ้นตามลำดับ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จึงมีลักษณะเป็น รัฐที่คอยกำหนดและควบคุมสังคม โดยที่การปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎร และชนชั้นนำหลังจากนั้น ก็ยังสืบทอดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมแบบนี้มาอย่างครบถ้วน และทำให้ฐานะครอบงำของรัฐในส่วนที่สัมพันธ์กับสังคมแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีกต่างหาก

ขณะที่หลักการดั้งเดิมของประชาธิปไตยของโลกตะวันตกนั้น กลับเน้นไปที่ การให้ประชาสังคม (civil society) สามารถควบคุม และจำกัดขอบเขตของอำนาจรัฐ รวมทั้งยังถือว่าประชาสังคมมีฐานะสูงกว่ารัฐมาตั้งแต่ต้น กระทั่งเห็นพ้องให้ประชาสังคมมีความชอบธรรมในการโค่นล้ม และยกเลิกรัฐได้ หากรัฐนั้นมิได้ใช้อำนาจไปตามเจตจำนงของคนส่วนใหญ่

แต่การปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรซึ่งควรจะมีภารกิจทางประวัติศาสตร์ในการสร้างประชาสังคมให้แข็งแกร่งจนสามารถควบคุมรัฐได้กลับมิได้ทำหน้าที่นี้แต่ประการใดเลย แม้คณะราษฎรจะเป็นผู้รักชาติ และมีเจตนาดีแต่พวกเขาขาดประสบการณ์ในเรื่องการเมืองของการปกครองประชาธิปไตยสมัยใหม่ นอกจากนี้ พวกเขายังมองระบบราชการ รวมทั้งสถาบันอำนาจเก่าในแง่ดี และค่อนข้างประนีประนอม ผลก็คือ คณะราษฎรและชนชั้นนำหลังจากนั้นได้รับช่วงโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาทำให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก

กล่าวคือ แทนที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมไปในทิศทางที่นำไปสู่ความเป็นอิสระของประชาชนยิ่งขึ้น กลับมุ่งไปทำให้รัฐอุปถัมภ์ประชาชนมากกว่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากนั้นก็คือ มันทำให้ ประชาสังคมควบคุมรัฐยากเย็นยิ่งขึ้นไปอีก

ช่วงเวลา 15 ปีระหว่างปี 2475-2490 ที่คณะราษฎรมีอำนาจในการปกครองประเทศ คณะราษฎรประสบความสำเร็จในการสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น แต่คณะราษฎรกลับล้มเหลวในการปฏิรูประบบการศึกษา ไม่ได้สร้างประชาธิปไตยระดับท้องถิ่น ไม่ได้ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรของประชาชน และสร้างฐานมวลชนให้ตื่นตัวหวงแหนประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ประชาชนไทยที่ขาดการศึกษา ขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และการจัดตั้งองค์กร จึงขาดจิตสำนึกทางการเมือง หรือไม่ก็วางเฉยต่อการรัฐประหารในปี 2490 ที่กองทัพเป็นฝ่ายเข้ามายึดอำนาจรัฐโดยง่าย แม้จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะได้รับเชิญจากคณะรัฐประหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในฐานะนายทหารอาวุโสที่มีประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า แต่เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป. ในช่วงหลังปี 2490 ต้องพึ่งฐานกำลังของนายทหารรุ่นหลังที่เป็นผู้คุมกำลังมากกว่ายุคที่สมาชิกคณะราษฎรยังมีบทบาทนำในกองทัพ ทำให้จอมพล ป. ในฐานะนายกรัฐมนตรีสมัยปี 2490-2500 ต้องประนีประนอมกับฝ่ายอำนาจนิยมมากกว่าสมัยที่คณะราษฎรยังมีอำนาจอยู่

หลังจากการรัฐประหารปี 2490 เป็นต้นมา พร้อมๆ กับการขยายใหญ่ขึ้นของระบบราชการสมัยใหม่ การควบคุมและครอบงำสังคมโดยรัฐก็มีลักษณะเป็นเผด็จการ และอำนาจนิยมมากขึ้นตามลำดับ ไม่แต่เท่านั้น ตัวระบบราชการไทยก็ได้เบี่ยงเบนไปจากหลักการทางสังคมศาสตร์ที่ต้องเป็นกลไกการทำงานที่ยึดหลักการมากกว่าตัวบุคคล และไร้ความเป็นส่วนตัว กลายมาเป็น พื้นที่ในการแก่งแย่งช่วงชิงอำนาจ และผลประโยชน์ของเครือข่ายอุปถัมภ์ต่างๆ ซึ่งยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ เพียงแต่เปลี่ยนหัวหน้าเครือข่ายอุปถัมภ์จากอดีตที่เป็น นายทหารระดับสูง มาเป็น นักการเมือง แทนเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองส่วนใหญ่ที่ผ่านมาในอดีต จึงมักเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในส่วนยอดของโครงสร้างอำนาจเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น


 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้