20. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 25/8/52

20. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ(ต่อ) 25/8/52

20. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)


เมื่อใดก็ตามที่เกิด ความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ ขึ้นในสังคมหนึ่งๆ โดยปกติมันมักจะแยกไม่ออกจาก การปรากฏตัวของอุดมการณ์ทางการเมืองชุดหนึ่ง ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนหนุ่มคนสาวในยุคหนึ่งๆ ยิ่งอุดมการณ์ทางการเมืองชุดนั้นมีลักษณะที่ “สุดโต่ง” (radical) ถึงขั้น “พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน” มากเพียงใด ความแตกต่างทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคมนั้น อันเนื่องมาจากการดำรงอยู่ และทรงอิทธิพลของอุดมการณ์ทางการเมืองชุดนั้น ก็จะยิ่งร้าวลึกมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น

ไม่แต่เท่านั้น หากยิ่ง “การหลงเชื่อ” ในอุดมการณ์ทางการเมืองชุดนั้นมีลักษณะที่เป็นแบบ อุปทานรวมหมู่ ด้วยแล้ว มันจะก่อให้เกิด ปรากฏการณ์คลั่งลัทธิแบบรวมหมู่ (fanaticism) ซึ่งจะก่อให้เกิดหายนะและพิษภัยแก่สังคมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก และยากที่จะประเมินความสูญเสียได้ อาการคลั่งลัทธิ นี้ เป็นอุปทานทางความคิดชนิดหนึ่ง โดยที่ผู้ที่ตกอยู่ใน อาการคลั่งลัทธิ นี้ มักจะไม่มีพลังแห่งสติมากพอที่จะ “รู้ทัน” ความคิดของตนเองหรือสามารถ “มองเห็น” ความคิดของตนเองอย่างเยือกเย็นได้

โดยปกติแล้ว อาการคลั่งลัทธิ นี้ มันมิได้เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระของความคิดนั้นๆ เท่ากับเป็นปัญหาบุคลิกภาพและจิตลักษณะของคนผู้นั้นที่แสวงหาระบบความเชื่ออันเป็นอุดมคติชุดหนึ่งแล้วสมาทานระบบความเชื่อชุดนั้นอย่างสิ้นเชิง โดย “มองข้าม” ระบบความเชื่อชุดอื่นๆ ไปเสียสิ้น

ด้วยเหตุนี้ คนผู้นั้นซึ่งตกอยู่ใน อาการคลั่งลัทธิ จึงกลายเป็นคนที่มีโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่คับแคบ มิหนำซ้ำยังหมกมุ่นแบบฝังหัวอยู่กับระบบความเชื่อ และวาทกรรมชุดนั้นอย่างถอนตัวไม่ขึ้น เพราะตัวเองได้น้อมรับระบบความเชื่อชุดนั้น เข้ามาเป็นชุดความจริงอันสูงสุด ที่ให้คุณค่าแก่ชีวิตของตนเพียงแนวเดียวอย่างสำคัญเหนือสิ่งอื่นสิ่งใดทั้งหมด จึงปล่อยให้อุปทานอันนี้ “กลืนกิน” อารมณ์ความรู้สึก และความคิดจิตใจของตนเองไปเสียสิ้น

เพราะฉะนั้น ผู้ใดก็ตามที่ตกอยู่ใน อาการคลั่งลัทธิ แล้วในห้วงยามนั้น คนผู้นั้นจะหมดศักยภาพในการเรียนรู้ เนื่องจากผู้นั้นได้พลัดตก และติดอยู่ในกับดักทางภาษาหรือกับดักวาทกรรม พลัดหลงอยู่ในโลกแห่งความคิดของตนเอง ไม่ว่าระบบความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองชุดนั้น จะเป็นอุดมการณ์สังคมนิยม หรืออุดมการณ์เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ก็ตาม

ผู้ใดก็ตามที่ตกอยู่ใน อาการคลั่งลัทธิ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิฝ่ายซ้าย หรือลัทธิฝ่ายขวาอย่างหน้ามืดตามัว คนผู้นั้นก็จะกลายเป็นปีศาจในร่างคนที่พร้อมจะหยิบจับอาวุธไปประหัตประหารผู้อื่นที่ “เห็นต่าง” ได้อย่างง่ายดาย ทั้งๆ ที่ในโลกนี้ ไม่มีคำสอนเชิงอุดมการณ์ชนิดไหนที่คู่ควรแก่การต้องไปเอาชีวิตของผู้อื่นมาสังเวยเพื่อสนองตอบอุดมการณ์ความเชื่อของตน ด้วยเหตุนี้ อุดมการณ์ทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นชุดไหนก็ตาม

หากมุ่งปลุกระดมผู้คนให้เกิดความโกรธแค้นชิงชังอย่างไม่จำแนก มันก็จะไม่ต่างไปจากหญ้าพิษชนิดหนึ่ง หากผู้คนปลูกฝังบ่มเพาะความคิดอันเป็นหญ้าพิษนี้ลงในหัวใจของตน หญ้าพิษนี้ก็จะงอกรากในหัวใจของผู้นั้น และสร้าง “ขุมนรก” ขึ้นในใจของผู้นั้นอย่างยากที่จะสลัดหลุดออกมาได้โดยง่าย...

เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 คือผลลัพธ์ที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จาก อาการคลั่งลัทธิ ของทั้งสองฝ่ายคือ ทั้งของฝ่ายซ้ายและของฝ่ายขวาในสังคมไทยยุคนั้น

* * *

ชัยชนะของการปฏิวัติสังคมนิยมในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และลาว ในปี 2518 น่าจะทำให้ชนชั้นนำไทยในยุคนั้นโดยรวมเริ่มหวั่นวิตกว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทำนองเดียวกันขึ้นในประเทศไทย เพราะขบวนการนักศึกษาไทยในขณะนั้นก็หันไป “เอียงซ้าย” อย่างเต็มตัวแล้ว ด้วยเหตุนี้เอง “สายเหยี่ยว” ของชนชั้นนำไทย จึงวางแผนที่จะใช้ความรุนแรงเข้าจัดการยุติบทบาทของขบวนการนักศึกษา โดยสร้างเงื่อนไขที่จะก่อรัฐประหารขึ้นมา วิธีการบ่อนทำลายขบวนการนักศึกษาไทยได้ถูกดำเนินไปอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน

โดยเริ่มจากการมีขบวนการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการนักศึกษา โดยอาศัยสื่อมวลชนของรัฐอันได้แก่ วิทยุ และโทรทัศน์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในมือของฝ่ายทหาร รวมทั้งหนังสือพิมพ์ฝ่ายขวาอย่าง “ดาวสยาม” และ “บ้านเมือง” ด้วย ทำการกล่าวหาว่า นักศึกษาเป็นตัวการที่ก่อความวุ่นวายในสังคม ขบวนการนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ ผู้นำนักศึกษาเป็นญวน การชุมนุมประท้วงเป็นการใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย รวมทั้งสร้างข่าวลืออันเป็นเท็จว่า ผู้นำนักศึกษาฉ้อโกงเงินศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาไปใช้ส่วนตัวเหล่านี้ เป็นต้น

นอกจากขบวนการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายภาพลักษณ์ของขบวนการนักศึกษาแล้ว ชนชั้นนำไทย “สายเหยี่ยว” ยังได้จัดตั้งองค์กรฝ่ายขวาขึ้นมาคุกคาม และเป็นปฏิปักษ์ต่อขบวนการนักศึกษาโดยตรง โดยเริ่มจากการแยกสลายพลังนักเรียนอาชีวะออกจากขบวนการนักศึกษาก่อน แล้วส่งนักเรียนอาชีวะฝ่ายขวาเข้าควบคุมองค์กรนักเรียนอาชีวะ และใช้องค์กรนี้เคลื่อนไหวต่อต้านขบวนการนักศึกษา จากนั้นก็จัดตั้ง “กลุ่มกระทิงแดง” ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนอาชีวะอันธพาลที่ได้รับการสนับสนุน และจัดตั้งจากเจ้าหน้าที่อาวุโสในกองทัพให้เป็นแกนกลางในการก่อกวนขบวนการนักศึกษาด้วยอาวุธ ทั้งๆ ที่ขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวด้วยสันติวิธีมาโดยตลอด

นอกจากกลุ่มกระทิงแดงแล้ว ยังมีการจัดตั้งกลุ่มพลังฝ่ายขวาขึ้นมาอีกหลายกลุ่มอย่างเช่น กลุ่มนวพล กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มแนวร่วมรักชาติ ชมรมแม่บ้าน ชมรมวิทยุเสรี ฯลฯ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการทำลายขบวนการนักศึกษา

นอกเหนือไปจากการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อทำลายภาพลักษณ์ และใส่ร้ายป้ายสีขบวนการนักศึกษาแล้ว ฝ่ายปฏิกิริยาหรือสายเหยี่ยวในชนชั้นนำไทย ยังได้ใช้มาตรการทำร้าย และล่าสังหารชีวิตผู้นำนักศึกษา ผู้นำชาวนา และผู้นำกรรมกรโดยตรงเป็นจำนวนหลายสิบคนเพื่อทำให้ขบวนการนักศึกษา และขบวนการประชาชนอ่อนแอลง

เมื่อชนชั้นนำสายเหยี่ยวได้ประเมินสถานการณ์แล้วว่า ได้ทำการคุกคามขบวนการนักศึกษาทุกวิถีทางจนอ่อนกำลังลงมากแล้ว ก็เริ่มทำการทดสอบพลังของขบวนการนักศึกษาด้วยการนำจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศกลับเข้ามาประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2519 โดยข้ออ้างว่าจะมารักษาตา

ขณะที่ฝ่ายนักศึกษาก็ได้เรียกชุมนุมประชาชนเพื่อให้นำตัวจอมพลประภาสมาลงโทษ แต่เหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มชนชั้นนำสายเหยี่ยวยังไม่มีความพร้อมเพียงพอที่จะก่อรัฐประหารได้ จึงต้องจำยอมให้จอมพลประภาสเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง

ครั้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 กลุ่มชนชั้นนำสายเหยี่ยวก็นำจอมพลถนอม กิตติขจร ที่โกนหัวบวชเป็นสามเณรมาจากสิงคโปร์เข้ามาประเทศไทย โดยอ้างเหตุผลว่า จะมาเยี่ยมบิดาที่สูงอายุ ทำให้ขบวนการนักศึกษาต้องออกมาชุมนุมคัดค้านจอมพลถนอมที่ใช้ศาสนาบังหน้า และเรียกร้องให้นำเอาจอมพลถนอมมาขึ้นศาลพิจารณาคดี

การชุมนุมคัดค้านจอมพลถนอม กิตติขจร ของขบวนการนักศึกษาได้เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลพลเรือนที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี แก้ไขปัญหาเรื่องจอมพลถนอมโดยขีดเส้นตายให้รัฐบาลตอบภายในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2519 แต่เมื่อถึงกำหนดเวลาเส้นตายกลับไม่มีอะไรคืบหน้าจากรัฐบาล ทางขบวนการนักศึกษาจึงตกลงให้มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในตอนเย็นวันที่ 4 ตุลาคม แต่เนื่องจากเกิดฝนตกในตอนนั้น ประกอบกับมีแนวโน้มการคุกคามจากกลุ่มฝ่ายขวา กลุ่มนักศึกษาที่นำการชุมนุมประท้วงจึงมีมติให้ย้ายเวทีเข้ามาชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลา 19.30 น. ของวันนั้นเพื่อสะดวกในการรักษาความปลอดภัย

การชุมนุมประท้วงได้ดำเนินไปข้ามคืนมาจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม ในวันนั้นปรากฏว่า หนังสือพิมพ์ดาวสยามกรอบบ่ายได้ตีพิมพ์ภาพการแสดงละครแขวนคอกรรมกรที่นำมาจากเหตุการณ์จริงในที่ชุมนุม โดยที่นักศึกษาชายคนหนึ่งที่แสดงเป็นกรรมกรที่ถูกแขวนคอคนหนึ่งนั้น เมื่อถ่ายออกมาแล้วมีความคล้ายคลึงกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อย่างไม่คาดหมาย มาใส่สีประโคมข่าวโจมตีขบวนการนักศึกษาว่า จงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นเจตจำนงในการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์

หลังจากนั้น สถานีวิทยุทหารทุกแห่งก็พร้อมใจกันออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และได้ระดมกลุ่มพลังฝ่ายขวาจำนวนมากไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว ในตอนดึกของคืนวันที่ 5 ตุลาคม การชุมนุมของฝ่ายขวาจัดได้ย้ายสถานที่ชุมนุมมายังท้องสนามหลวง ตรงบริเวณฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีการปลุกระดมยั่วยุประชาชนอย่างหนักตลอดทั้งคืนให้เกลียดชังนักศึกษา

ในที่สุด ในตอนช่วงเช้ามืดของวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เริ่มยิงอาวุธสงครามใส่ผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นก็ได้ใช้กำลังตำรวจกองปราบ และหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนทำการกวาดล้างผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ด้วยอาวุธสงครามเต็มอัตราศึก ผลของการกวาดล้างด้วยความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรมในครั้งนั้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 42 คน บาดเจ็บ 145 คน และผู้ชุมนุมที่เหลือรอดจากการถูกสังหารถูกจับกุมอีกสามพันกว่าคน นับเป็นเหตุการณ์สังหารหมู่ที่กลายเป็นข่าวแพร่ไปทั่วโลก

พร้อมกันนั้น ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง คณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ก็ได้ก่อการยึดอำนาจยกเลิกระบอบประชาธิปไตยยุคหลัง 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่มีอายุแค่ 3 ปีลง แล้วสถาปนาระบอบเผด็จการกลับคืนมาใหม่

ผลของการสังหารหมู่กรณี 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และนโยบายขวาจัดสุดขั้วของรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่ได้รับการหนุนหลังจากคณะปฏิรูปฯ ทำให้นักศึกษาประชาชนจำนวนหลายพันคนได้ตัดสินใจเดินทางออกจากเมืองเข้าสู่เขตชนบทเพื่อร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทำการต่อสู้ด้วยแนวทางปฏิวัติที่มุ่งจับอาวุธโค่นล้มอำนาจรัฐจนกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” หรือ “สงครามประชาชน” ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ได้ขยายขอบเขตอย่างกว้างขวางในชนบททั่วประเทศ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตของผู้คนทั้งสองฝ่ายเป็นอันมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากได้ตัดสินใจเข้าป่า ใช้วิธีการจับอาวุธขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตย และสร้างระบอบสังคมนิยมขึ้นในประเทศไทยนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมาก่อน ขณะที่นักศึกษาบางส่วนที่ยังอยู่ในเมืองก็ทำการเคลื่อนไหวใต้ดินต่อต้านเผด็จการ ประสานไปกับการต่อสู้ในชนบท มีการจัดตั้งองค์กรใต้ดินที่มีนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมเพื่อผลักดันให้บทบาทของขบวนการนักศึกษา ยังคงดำเนินต่อไปได้

ในห้วงยามนั้น สำหรับนักศึกษาประชาชนที่มีความเคียดแค้นอำนาจรัฐที่เป็นเผด็จการที่ได้สังหารหมู่เพื่อนนักศึกษาของพวกตนอย่างโหดเหี้ยมในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 จนต้องเข้าป่าจับอาวุธทำ “สงครามประชาชน” กับฝ่ายรัฐบาลนั้น คงมีนักศึกษาประชาชนน้อยคนมากในขณะนั้น ที่จะตระหนักได้ว่า ความโหดร้ายของมนุษย์ ความปวดร้าวทางจิตใจของมนุษย์ ความอาฆาตพยาบาทเกลียดชังกันของมนุษย์ล้วนเกิดขึ้น เพราะมนุษย์เราไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมทำความเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณ



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้