32. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)
จาก “ปรากฏการณ์สนธิ” ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ซึ่งต่อมาไม่ถึงครึ่งปีหลัง จากนั้นก็ได้พัฒนาไปเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นขุมพลังทางการเมืองภาคประชาชนที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เราได้เรียนรู้ ตระหนัก และประจักษ์ถึงความจริงอย่างหนึ่งว่า อาวุธที่ทรงพลานุภาพที่สุดของปัญญาชนออแกนิก และเป็นพลังที่ทรงอานุภาพที่สุดของตัวปัญญาชนออแกนิกเอง คือ พลังแห่งการเล่าเรื่อง และพลังของวาทกรรม (discourse) ซึ่งมาจากพลังแห่งความเชื่อใน “ความจริง” ของปัญญาชนออแกนิกผู้นั้นอีกทีหนึ่ง
จะว่าไปแล้ว พลังของปัญญาชนออแกนิกอย่าง สนธิ ลิ้มทองกุล ที่ใช้ในการโค่นทักษิณ และระบอบทักษิณซึ่งมีทั้งอำนาจเงิน อำนาจรัฐ มีฐานมวลชนรากหญ้า และยังสามารถควบคุมสื่อส่วนใหญ่ โดยเฉพาะวิทยุ โทรทัศน์เอาไว้ในกำมือได้ก็คือ พลังแห่ง “ความจริง” จากความเชื่อโดยสุจริตใจ ของตัวเขานั่นเอง
พลังแห่ง “ความจริง” จากความเชื่อเป็นประเภทของ “ความจริง” ที่ทรงพลังที่สุด เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่สามารถเข้าไปอยู่ในจิตใจของประชาชน และทำงานจากข้างในจิตใจได้ โดยที่ “ความจริง” ที่เกิดจากความเชื่อ คือ สิ่งที่ผู้นั้นเชื่อ ซึ่งมันอาจเกี่ยวข้องโดยตรงกับความเป็นจริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงก็ได้ แต่เมื่อคนผู้นั้นเกิด “ความเชื่อ” เช่นนั้นขึ้นมาจาก “ความจริง” แล้ว ความเชื่ออันนี้จะมาเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิตของคนผู้นั้น ทำให้เกิดคุณค่า และกำหนดการตัดสินใจ รวมทั้งการกระทำบางอย่างได้
เนื่องจาก ความจริงจากความเชื่อมีคุณค่าในเชิงปฏิบัติการสูง เพราะมันสามารถกลายเป็นธงนำที่เรียกร้องผู้คนให้มาชุมนุมกันอย่างได้ผล และยังสามารถกลายเป็นอาวุธที่ใช้โจมตีผู้อื่นทางการเมืองได้ด้วย เพราะความจริงจากความเชื่อจะกลายเป็นป้ายหรือฉลากตีตราในการตัดสินหรือพิพากษาเรื่องราวต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การยอมรับหรือปฏิเสธ และยังส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรมการคิดของผู้คน จนเกิดเป็นกรอบความคิดที่แน่นอนตายตัว และนำไปสู่การยอมรับอย่างถาวรโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบอีกต่อไป
ปัญญาชนออแกนิกชั้นนำอย่างสนธิ ลิ้มทองกุล ย่อมรู้ดีว่า ความเชื่อเป็นสมรภูมิทางการเมือง ความคิด และวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดในการต่อสู้เรื่อง “ความจริง” เนื่องจากความเชื่อเป็นความจริงในโลกภายใน และเป็นสิ่งที่มีพลังมากที่สุดของพฤติกรรมในโลกภายใน พลังสูงสุดของความเชื่อจะเห็นได้ในการรับรู้ของผู้นั้น ซึ่งบังคับผู้นั้นให้มองโลกตามแบบที่การรับรู้นั้น บังคับให้ผู้นั้นเชื่อ สนธิ มักกล่าวเสมอว่า เขาทำเพราะเขาเชื่อ และศรัทธาในสิ่งที่เขาทำ โดยยึดหลักเอา “ความจริง” จากความเชื่อของเขามารายงานให้ประชาชนรับทราบ และต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพในการเป็นสื่อมวลชนที่เสรี
ในขณะที่กำลังเกิด “ปรากฏการณ์สนธิ” อยู่นั้น สนธิเชื่อว่า ตัวเขาและพวกของเขากำลังต่อสู้เพื่อในหลวง เพราะตัวเขามองเห็น อำนาจทางการเมืองที่ฉ้อฉลของระบอบทักษิณ ที่กำลังแผ่ขยายอำนาจเข้าไปในทุกส่วนของสังคม และมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายพิจารณาได้ว่าละเมิดพระราชอำนาจ ในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนชั้นนำคนหนึ่ง สนธิย่อมสามารถมองเห็นภาพรวมที่กำลังเกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ว่า กำลังมีเภทภัยใหญ่หลวงเกิดขึ้นโดยระบอบทักษิณ
ขณะที่คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็น สนธิ จึงได้ใช้ความสามารถของการเป็น “นักเล่าเรื่องชั้นยอด” ที่สามารถพูดเรื่องยากๆ ให้ฟังง่ายด้วยภาษาชาวบ้าน ผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม ASTV ของสื่อเครือผู้จัดการว่า สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์กำลังเผชิญกับวิกฤตเพราะระบอบทักษิณอย่างไรบ้าง
โดยการเล่าเรื่องอย่างมีชีวิตชีวา อย่างเห็นภาพได้ชัดและเข้าใจได้ไม่ยากสำหรับประชาชนทั่วไปเช่นนี้เอง ที่ทำให้ปัญญาชนออแกนิกอย่าง สนธิ สามารถผนวก “ธรรมะ” เข้ากับการพิทักษ์ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และเข้ากับการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งการปฏิรูปทิศทางการพัฒนาประเทศได้อย่างกลมกลืน จนสามารถยกระดับ “ปรากฏการณ์สนธิ” ไปเป็น “ขบวนการสนธิ” ก่อนที่จะกลายมาเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเวลาต่อมา
พลังอำนาจของปัญญาชนออแกนิกนั้น นอกจากจะปรากฏออกมาในรูปของพลังแห่ง “ความจริง” จากความเชื่อ และพลังแห่งการเล่าเรื่องแล้ว มันยังปรากฏออกมาในรูปของ พลังอำนาจของวาทกรรม ที่ปัญญาชนออแกนิกผู้นั้นใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองอีกด้วย
ปัญญาชนออแกนิกที่เข้าใจเรื่องพลังอำนาจของวาทกรรม ย่อมตระหนักดีว่า แท้ที่จริงแล้ว ระบอบทักษิณหาได้มี “อำนาจเบ็ดเสร็จ” อยู่ในมือเหมือนอย่างที่ตัวทักษิณอาจจะเคยเข้าใจผิดคิดเช่นนั้นไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว “อำนาจ” ย่อมกระจายอยู่ไปทั่วในเครือข่ายที่โยงใยกันของสังคม โดยเฉพาะอำนาจที่ปรากฏออกมาในรูปของ วาทกรรม (discourse)
วาทกรรม มิได้หมายถึงภาษา คำพูด หรือถ้อยแถลงเหมือนอย่างที่คนทั่วไปมักเข้าใจผิดกัน แต่ วาทกรรม ตามนิยามขององค์ความรู้แบบโพสต์โมเดิร์นนั้น จะหมายถึง ระบบและกระบวนการในการสร้างอัตลักษณ์ (identity) และสร้างความหมายให้แก่สรรพสิ่งต่างๆ ในสังคมที่ห่อหุ้มผู้คนเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น “ตัวตน” (self) ของพวกเรา หรือ “ความรู้” ของพวกเขา หรือแม้กระทั่ง “ความจริง” สำหรับพวกเขา
นอกจากนี้ วาทกรรม ยังทำหน้าที่ตรึง สิ่งที่มันได้สร้างขึ้นมาให้ดำรงอยู่ และเป็นที่ยอมรับของสังคมในวงกว้าง วาทกรรม จึงเป็นมากกว่าเรื่องของภาษา หรือคำพูด เพราะมันมี ภาคปฏิบัติการของวาทกรรม (discursive practices) ดำรงอยู่ ซึ่งรวมถึงจารีตปฏิบัติ ความเชื่อ ความคิด คุณค่า และสถาบันต่างๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ และวาทกรรมนั้นๆ
จึงเห็นได้ว่า วาทกรรม เป็นตัวสร้างสรรพสิ่งต่างๆ ขึ้นมาภายใต้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจนชุดหนึ่ง โดยที่กฎเกณฑ์นี้จะเป็นตัวกำหนดการดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลง และการเลือนหายไปของสรรพสิ่ง ผู้ที่เป็นหรือจะเป็น ปัญญาชนออแกนิก จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับ วาทกรรม ทั้งในฐานะที่เป็นทั้ง อำนาจ และเป็น ความรุนแรง ที่กระทำต่อสรรพสิ่ง โดยเฉพาะผู้นั้นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภาคปฏิบัติการของวาทกรรม ซึ่งได้สร้างเหตุการณ์ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาบังคับ ยัดเยียดให้แก่สรรพสิ่งต่างๆ
มิหนำซ้ำ อำนาจจากวาทกรรม ที่สร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ขึ้นมาบังคับใช้กับสรรพสิ่งในสังคมนั้น มิใช่ “อำนาจแข็ง” ที่ดิบและหยาบคายอย่างการใช้กำลังบังคับ แต่เป็น “อำนาจอ่อน” ที่ได้รับการขัดเกลาแล้วในรูปของ “ความรู้” ว่าด้วยเรื่องนั้นๆ ที่เป็นความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
จึงเห็นได้ว่า อำนาจที่เป็นวาทกรรม คือ สิ่งที่ทำให้สถานการณ์ต่อสู้เพื่อช่วงชิงความเหนือกว่าทางยุทธศาสตร์ในสังคมระหว่างฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับฝ่ายระบอบทักษิณ ทวีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง โดยที่มันจะเป็นการต่อสู้ในเชิงวาทกรรม หรือเป็น ศึกระหว่างวาทกรรม เป็นหลัก ซึ่งจะดำรงอยู่อย่างยาวนานในสังคมไทยหลังจากนี้ และ กลายเป็นความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ในวาทกรรมทางรัฐศาสตร์แบบเดิมๆ นั้น รัฐคือ แหล่งอำนาจหลักในสังคม โดยที่ “อำนาจ” คือ ระบบความสัมพันธ์ที่ทำให้คนบางกลุ่มสามารถที่จะผลักดันให้คนกลุ่มอื่นทำตามที่กลุ่มตนต้องการ และสามารถที่จะเป็นผู้ตัดสินใจในการแบ่งสรรทรัพยากรส่วนกลางในสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ ความชอบธรรมของอำนาจจะบังเกิดขึ้น เมื่อผู้คนในสังคมนั้นให้การยอมรับในเชิงวาทกรรมก่อนว่า ความสัมพันธ์ชุดนั้นๆ เป็นชุดของความสัมพันธ์ที่ถูกต้องและเชื่อมโยงอย่างสอดคล้องกับชีวิตของผู้คนและยุคสมัย
การต่อสู้ทางวาทกรรมในศึกวาทกรรมของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่มีต่อระบอบทักษิณ จึงต้อง เริ่มต้นจากการชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ระบอบทักษิณเป็นระบบอำนาจนิยมที่นายกฯ ทักษิณได้จัดระบบความสัมพันธ์เอาไว้ โดยทำให้ระบบราชการหมดอำนาจในการตัดสินใจ และทำให้ทักษิณสามารถดึงเอาอำนาจที่มีอยู่ของระบบราชการเข้ามาอยู่ในกำมือของตน และพรรคพวกซึ่งเป็นเพียงนักการเมืองกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งเท่านั้น
ทักษิณและพรรคพวกได้ครอบงำระบบราชการจนโงหัวไม่ขึ้น จนมันแทบกลายเป็นแขนขาของพรรคไทยรักไทย และแทบกลายเป็นสมบัติส่วนตัวของทักษิณ เพราะตัวเขาสามารถที่จะกำหนดแต่งตั้งผู้นำในระบบราชการที่เป็นคนของตนได้
การต่อสู้เชิงวาทกรรมของสนธิ ลิ้มทองกุล และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในเวลาต่อมา จึงเป็นการเปิดโปง และชี้ให้ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะ ชนชั้นกลางในเมืองหลวงและตามเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ได้เห็นถึง “ความจริงอีกด้าน” ของระบอบทักษิณว่า รัฐในอุ้งมือของทักษิณ มิได้เป็นแหล่งอำนาจหลักในสังคมอีกต่อไปแล้ว แต่ได้กลายมาเป็นสมบัติส่วนตัวของทักษิณและพรรคพวก
วาทกรรมเกี่ยวกับระบอบทักษิณชุดที่สนธิ และเหล่าปัญญาชนออแกนิกในขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้สร้างและสถาปนาขึ้นมาโดยผ่านสื่อต่างๆ ในเครือผู้จัดการอย่างครบวงจร โดยเฉพาะโทรทัศน์ดาวเทียม ASTV และเว็บไซต์ผู้จัดการ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง จนเป็นที่ยอมรับของชนชั้นกลางทั่วประเทศในวงกว้าง ภายในระยะเวลาอันสั้น
พื้นที่การต่อสู้ในเชิงวาทกรรม จึงเป็นพื้นที่ที่สำคัญที่สุดที่พวกปัญญาชนออแกนิกของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ใช้ในการต่อสู้โค่นล้มระบอบทักษิณ เพราะปัญญาชนออแกนิกเหล่านี้ ล้วนมองออกว่า จุดยืน ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ และความหมายของผู้คนในสังคมนั้น ส่วนใหญ่แทบมิใช่เป็นเรื่องของการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ หรือเป็นการตกผลึกทางความคิด หากแต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจากกฎเกณฑ์ของวาทกรรมชุดหนึ่งที่คนผู้นั้นรับมาและยึดถือไว้ต่างหาก
เพราะฉะนั้น วาทกรรม จึงเป็นตัวกำหนดจุดยืน ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความรู้ และความหมายของผู้คนในสังคม การวิเคราะห์วาทกรรมจึงช่วยให้พวกปัญญาชนออแกนิกของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสามารถมอง “ความรู้” ในฐานะที่เป็นมุมมองหรือทัศนะหนึ่ง (perspective) เท่านั้น มิใช่ความจริงสูงสุดหรือสัจธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนา วาทกรรมแบบใหม่ ออกมาได้เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ความแตกต่าง และความหลากหลายอันเป็นหนทางเดียวที่จะสามารถสร้าง “การเมืองใหม่” หรือ การพัฒนาประชาธิปไตยในเชิงลึก ให้บังเกิดขึ้นในสังคมนี้
* * *
ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2549 เกิดกรณีครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขายหุ้นชินคอร์ปเป็นมูลค่ามากถึง 7.33 หมื่นล้านบาทให้แก่กองทุนเทมาเส็กของสิงคโปร์ โดยใช้วิธีการขายในตลาดหุ้น ทำให้การซื้อขายไม่ต้องเสียภาษี กรณีขายหุ้นดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก “ขบวนการกู้ชาติ” ของสนธิ ลิ้มทองกุล จึงได้ประกาศชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงการต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 มีประชาชนเข้าร่วมหลายหมื่นคน
ต่อมา พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมได้ประกาศตัวเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ กลุ่มผู้นำการประท้วงระบอบทักษิณที่เป็นการรวมตัวของเครือข่ายขุมพลังต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงได้จัดตั้งขึ้นเป็น พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย