โยคศาสตร์ คือ หลักวิชาของโฮโม-เอ็กเซลเลนส์ที่เก่าแก่ที่สุด
"โยคีย่อมยินดีตามที่ตนมี ตนเป็น ย่อมรู้จักความพอ และการดำรงอยู่อย่างสันติ ….โยคีย่อมตระหนักดีว่า หนทางแห่งความพึงพอใจในวัตถุนั้นกว้างขวางและดูเหมือนสวยงาม แต่นั่นนำมาซึ่งความพลัดพราก ความหายนะ และความทุกข์ เขาจึงเลือกเดินบนหนทางแห่งการเพ่งเพียรที่ดูเหมือนกันดาร และมีขวากหนาม แต่นำไปสู่ความบริสุทธิ์ อิสรภาพอันถาวร และความสุขที่ไม่อาจใช้โลกทั้งโลกซื้อได้
โยคีจึงเป็นผู้กล้าที่สามารถพลีชีพโดยปราศจากความกลัวในภยันตราย ความอดอยาก หรือสายตาแห่งความไม่เข้าใจของชาวโลกผู้ยังหลงทางอยู่ เพื่อมุ่งสู่ความบริสุทธิ์อันมีค่าสูงสุด หัวใจของเขาเปิดกว้างรับสัจจะ ล้ำลึก และสามารถควบคุมตนเองได้จากสิ่งยั่วเย้าภายนอก
โยคีย่อมเป็นผู้สงบ มีแต่ความจริง ปราศจากอารมณ์ยอมสละตนเพื่อสัจจภาพสูงสุด
โยคียังเป็นผู้มั่นคง สุภาพให้แก่ทุกคน ดำรงอยู่อย่างไม่ทะนงตน ไม่ดูหมิ่นใคร ทั้งยังไม่หมิ่นตนเอง…"
จาก "โยคศาสตร์ : มหัศจรรย์แห่งโยคะ"
ของ สุภญาณ ศิยะญาโณ ,คณะสังคมผาสุก
โยคะเป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่กล่าวถึง การมุ่งมานะฝึกฝนตนเอง เพื่อบรรลุสภาวะสูงสุดที่มนุษย์ต้องการ วิชาโยคศาสตร์นี้ยังได้ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อวิวัฒนาการของวิชากังฟูของจีนในเวลาต่อมาด้วย วิชาโยคะ มิได้เป็นศาสนาโดยตัวของมันเอง แต่เมื่อศาสนาใดนำโยคะไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการปฏิบัติ ก็จะอธิบายโยคะในเชิงเป้าหมายสูงสุดของศาสนานั้นๆ
โยคะเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่เกิดคู่มากับมนุษยชาติแต่โบราณก่อนพุทธกาลแล้ว เพียงแต่เพิ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างในรูปลักษณ์ปัจจุบันนี้ ก็เพราะเมื่อราว ปี ค.ศ. 650 ท่านมหามุนีปตัญชลี ปรมาจารย์แห่งวิชาโยคะได้รวบรวมเรียบเรียงคัมภีร์โยคะโบราณต่างๆของอินเดียออกมาเป็นหนึ่งเดียว โดยตั้งชื่อว่า "โยคสูตร" (YOGA SUTRA)
คัมภีร์ "โยคสูตร" นี้แหละที่ผมถือว่าเป็นคัมภีร์ที่สำคัญที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่งในฐานะที่เป็นคัมภีร์แห่งการพัฒนาตนเองไปเป็นโฮโม-เอ็กเซลเลนส์ ซึ่งในที่นี้ผมจะขอถ่ายทอดเนื้อหาสำคัญๆ บางตอนของบทที่หนึ่งของ "โยคสูตร" ที่ว่าด้วยสมาธิ ออกมาเพื่อให้พวกเราได้ตระหนักถึงความลึกล้ำของมัน
ปฐมบท : ว่าด้วยสมาธิ
1.1 ณ บัดนี้ คือบทสาธยายแห่งโยคะ
1.2 โยคะ คือ การดับอาการของจิต
1.3 เมื่ออาการของจิตดับ "ผู้รู้" ที่ตั้งมั่นในสภาวะแห่งตนและประจักษ์อาการทั้งปวงของจิตจะอยู่ในสภาพดั้งเดิมที่แท้จริงของตน
1.4 ถ้าอาการของจิตยังไม่ดับ "ผู้รู้" จะปรากฏออกมาในรูปลักษณ์ที่เป็นอาการ
ต่างๆของจิต
1.5 อาการของจิตทั้งหลายนั้น มี 5 ประเภท ในนั้นบ้างปราศจากกิเลสบ้างก็ประกอบด้วยกิเลส
1.6 อาการของจิตทั้ง 5 ประเภทนี้ ได้แก่
(1) ปรามัณนา หรือความรู้
(2) วิปรารยายา หรือความหลงผิด
(3) วิกัลปา หรือการคาดการณ์
(4) นิทรา หรือการหลับ
(5) สมรติ หรือความทรงจำ
1.7 ปรามัณนา มี 3 ประเภท คือ
(ก) ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์โดยตรง
(ข) ความรู้ที่ได้จากการสันนิษฐาน
(ค) ความรู้ที่ได้จากคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์
1.8 วิปรารยายา คือความรู้ผิด ยึดถือผิดที่ไม่ตั้งอยู่บนความจริงของตัวตนนั้น
1.9 วิกัลปา คือการคาดการณ์ที่ตั้งบนจินตนาการ หรือภาษาสมมุติ ขาดภาวะวิสัยรองรับ
1.10 นิทรา คืออาการของจิตที่ภาวะความคิดทั้งหลายจะหายไปชั่วขณะ
1.11 สมรติ คือความทรงจำเกี่ยวกับประสบการณ์ในอดีตที่ยังไม่เลือนหายไป
1.12 ในการดับ อาการของจิตเหล่านี้ จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการ 2 วิธีควบคู่กันไป
นั่นคือ (หนึ่ง) การปฏิบัติฝึกฝนซ้ำแล้วซ้ำเล่า กับ
(สอง) การละวางตัณหา หรือวิราคะ
1.13 "การปฏิบัติแห่งโยคะ" คือความพากเพียรที่จะมุ่งบรรลุสภาวะสงบนิ่งของอาการจิต
1.14 ถ้าการฝึกฝน "การปฏิบัติการแห่งโยคะ" นี้อย่างเอาจริงเอาจัง ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างต่อเนื่องยาวนาน คนผู้นั้นก็จะได้พื้นฐานแห่งภูมิจิตอันมั่นคงแข็งแกร่ง
1.15 "วิราคะ" คือการควบคุมตนเองให้ปราศจากตัณหาต่อสิ่งทั้งหลายทั้งในอดีตที่สะสมไว้ และในปัจจุบันที่ประสบอยู่
1.16 วิราคะที่ประเสริฐสูงสุดยิ่ง คือการละตัณหาแม้ในปัญญาญาณอันเกิดจากการปฏิบัติ
1.17 สมาธิขั้นต่ำ ย่อมเกิดขึ้นด้วยการตรึกตรองตามตรรกะ ตามการพิเคราะห์ ด้วยสติสัมปชัญญะ และความเบิกบานใจ
1.18 สมาธิขั้นสูง ย่อมเกิดขึ้นเมื่อได้ฝึกฝนปฏิบัติการดับอาการของจิต จนละวางได้แม้แต่ปัญญาญาณแล้ว เหลือแต่ความสงบระงับ
1.19 เมื่อนั้น เหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตปรารถนาร่างกายอีกย่อมสลายไปสิ้น
1.20 สมาธิขั้นสูง สำหรับผู้ที่มีความเพียรอย่างแรงกล้า จักได้มาด้วย
(1) ศรัทธา
(2) วิริยะ
(3) สติ
(4) สมาธิ
(5) ปัญญา
1.21 ผู้ที่มีความเพียรอย่างแรงกล้าและมุ่งมั่นที่จะหลุดพ้น การบรรลุสมาธิขั้นสูง ย่อมไม่ไกลเกินเอื้อม
1.22 ความแรงกล้าแห่งเพียรนั้น ย่อมจำแนกออกเป็น (ก) อย่างอ่อน (ข)อย่างกลาง และ(ค) อย่างยอดเยี่ยม ผลสำเร็จเร็วช้าแห่งสมาธิขั้นสูงก็จะแตกต่างไปตามความแรงกล้าแห่งความเพียรนั้น
1.23 หรือโยคีจะเพียรเพ่งภาวนา ถึงพระศิวะเพื่อบรรลุสมาธิขั้นสูงก็ย่อมได้
1.24 พระศิวะก็คือ ผู้ที่ไม่ติดฃ้องด้วยกิเลส กรรม วิบาก หรือตัณหา
1.25 พระศิวะ คือผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ตลอดกาล
1.26 พระศิวะคือ ครูแห่งบรมครูในยุคบรรพกาลทั้งหลาย เพราะท่านไม่ถูกจำกัดด้วยกาลเวลา
1.27 เครื่องหมายนามแห่งองค์พระศิวะก็คือ คำว่า "โอม" อันศักดิ์สิทธิ์
1.28 โยคีพึงบริกรรม "โอม" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และภาวนาถึงพระศิวะที่อยู่ในความหมายแห่ง "โอม" นี้
1.29 ถ้าปฏิบัติฝึกฝนตามที่กล่าวมานี้ได้ ผู้นั้นย่อมได้พลังแห่งการเพ่งทางใน และสามารถขจัดอุปสรรคทั้งปวงที่มีต่อสมาธิได้
1.30 อุปสรรคทั้งปวงที่มีต่อสมาธินั้นได้แก่
(1) ความเจ็บป่วย
(2) ความเซื่องซึม
(3) ความสงสัย
(4) ความประมาท
(5) ความเกียจคร้าน
(6) ความยึดติด
(7) ความสำคัญผิด
(8) อาการแห่งจิตที่ไม่อาจเข้าสู่สมาธิได้ (ความไม่สม่ำเสมอในการปฏิบัติ)
(9) อาการที่ถึงเข้าสู่สภาวะสมาธิแล้วก็อยู่ได้ไม่นาน(การไม่รักษาสภาวะอันดีที่ได้แล้ว) อุปสรรคเหล่านี้แหละ คือสภาพลังเลแห่งจิต
1.31 อาการทุกข์ เครียดไม่รู้จักพอ มือเท้าสั่นระริก หายใจเข้าออกอย่างหยาบสั้น เหล่านี้จะเกิดขึ้นตามมาพร้อมๆกับสภาพลังเลแห่งจิตดังข้างต้น
1.32 เพื่อ "บำบัดรักษา" สภาพลังเลแห่งจิตดังข้างต้นนี้จำเป็นที่จะต้องฝึกฝน โดยยึดมั่นในหลักวิชาใดวิชาหนึ่งดังต่อไปนี้อย่างจริงจังต่อเนื่องยาวนาน
1.33 หลักการภาวนา " เมตตา- กรุณา- มุทิตา- อุเบกขา " เพื่อละวาง สุข - ทุกข์ - บุญ - บาป ของผู้อื่นยอมนำมาซึ่งความสงบเบิกบานแจ่มใสในจิต
1.34 หรือด้วยหลักการฝึกกลั้นและปล่อยลมหายใจ (ปราณ) ที่เรียกว่า ปราณายามา
1.35 หรือด้วยหลักการตั้งจิตให้มั่น
1.36 หรือด้วยหลักการแห่งปัญญาอันเกิดจากแสงสว่างแห่งจิตที่ปราศจากความโศก
1.37 หรือด้วยหลักการเพ่งจิตน้อมระลึกถึงอริยบุคคลที่สลัดวางราคะได้โดยสิ้นเชิงแล้ว
1.38 หรือด้วยหลักการเพ่งจิตน้อมระลึกถึงประสบการณ์ในความฝันถึงเทพผู้ประเสริฐ
1.39 หรือด้วยหลักการเพ่งจิตในสิ่งที่ชอบ
1.40 เมื่อได้ฝึกฝนปฏิบัติตามหลักการต่างๆ ดังข้างต้น จนโยคีผู้ปฏิบัติบรรลุถึงสภาพสงบเบิกบานแห่งจิตแล้ว โยคีผู้ปฏิบัติย่อมได้พลังแห่งการควบคุมที่สุดแห่งสิ่งที่เล็กที่สุด
1.41 " สมาบัติ " จักบังเกิดขึ้นเมื่อฝึกฝนปฏิบัติจนอาการของจิตทั้งปวงสามารถละวางได้สิ้น ทำให้ผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ และความรู้ ตั้งมั่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
………………..
ในความเข้าใจของผม หลักการฝึกฝนปฏิบัติที่สำคัญที่สุด เพื่อบรรลุสภาวะสูงสุดที่โยคศาสตร์ต้องการนั้น น่าจะได้แก่ หลักวิชา "ปราณายามา" ซึ่งผู้ฝึกวิทยายุทธ์ของจีนต่างรู้จักสิ่งนี้กันดีในนามของวิชา "ชี่กง" หรือวิชากำลังภายใน หรือ วิชาเซียน นั่นเอง
"ปราณายามา" หมายถึงหลักการบริหารลมหายใจ และควบคุมลมหายใจได้ตามประสงค์ โดยที่การควบคุมนี้ หมายถึงการควบคุมลมหายใจเข้า การควบคุมลมหายใจออก และการควบคุมการกลั้นลมหายใจภายหลังจากหายใจเข้าเต็มที่หรือหายใจออกหมดแล้ว
การฝึกหายใจอย่างปราณีต เป็นหลักวิชาที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาตนเองไปเป็นโฮโม-เอ็กเซลเลนส์ โดยผ่านการดูดซับเอาพลังจักรวาล (ปราณหรือชี่) อันเป็นทิพยธาตุสากลที่เร้นอยู่ในอากาศธาตุแห่งเอกภพนี้ เข้าไปกระตุ้น "จักร" หรือศูนย์ที่เกิดแสงสว่างทั้ง 7 ในร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพครั้งใหญ่จากภายในร่างกายมนุษย์ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของพลังกาย พลังสมอง พลังจิต และพลังปัญญา
การมุ่งยกระดับคุณภาพครั้งใหญ่ของพลังกาย เป็นเป้าหมายขั้นต้นของหลักวิชาโฮโม-เอ็กเซลเลนส์
การมุ่งยกระดับคุณภาพครั้งใหญ่ของพลังสมองและพลังจิต เป็นเป้าหมายขั้นกลางของหลักวิชาโฮโม-เอ็กเซลเลนส์
การมุ่งยกระดับคุณภาพครั้งใหญ่ของพลังปัญญา เป็นเป้าหมายขั้นสูงของหลักวิชาโฮโม-เอ็กเซลเลนส์
หลักวิชาเพื่ออัดฉีดลมปราณเข้าไปกระตุ้นจักรทั้ง 7 หรือจุดสำคัญทั้งเจ็ดแห่งในร่างกายของมนุษย์ ซึ่งได้แก่
1. มูลธาร (จักรรากเหง้า) ทางเต๋าคือจุด "ฮุ่ยอิน" และหรือจุด "เหว่ยลี๋"
2. สวาธิษฐาน (จักรม้าม) ทางเต๋าคือจุด "ตันเถียน" หรือจุด "เจียเป้ย"
3. มณีปุระ (จักรสะดือ) ทางเต๋าคือจุด "ตันเถียน" หรือจุด "จงอ่วน"
4. อนาหตะ (จักรหัวใจ) ทางเต๋าคือจุด "ซานจง"
5. วิสุทธ (จักรคอ) ทางเต๋าคือจุด "อี้เสิ่น"
6. อาชญะ (จักรคิ้ว) ทางเต๋าคือจุด "อิ้นถาง"
7. สหัสราร (จักรมงกุฏ) ทางเต๋าคือจุด "หนีอ่วน"
หลักวิชาอันนี้แหละ คือหัวใจของการฝึกฝนปฏิบัติเพื่อกลายเป็นโฮโม-เอ็กเซลเลนส์ !!