ความอ่อนแอจักเป็นของผู้ที่ยอมให้ความคิดของตนมาควบคุมการกระทำของตน
แต่ความเข้มแข็งจักเป็นของผู้ที่ใช้การกระทำของตนไปควบคุมความคิดของตน
เมื่อเรารู้จักจิตใจ รู้ถึงภาวะที่ความทุกข์เกิด และภาวะที่ความทุกข์ดับ รู้ความคิดทุกครั้งที่มันคิด
รู้มันทั้งหมด รู้ด้วยการเฝ้าดูโดยปกติธรรมดา โดยไม่จำต้องพยายามหรือฝืน
การรู้เช่นนี้ของเรา จึงเป็นสิ่งเดียวกับปัญญา เป็นสิ่งเดียวกับสติ และเป็นสิ่งเดียวกับสมาธิ
เมื่อเรามาถึงจุดนี้ได้ ก็เหมือนเราได้พบกับมหาสมบัติที่ถูกซ่อนและเปิดเผยมันออกมา
ขอเพียงเราเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญหน้ากับความตายได้ในทุกขณะจิต
ด้วยการตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทแล้ว เมื่อนั้น กาลเวลาแต่ละขณะที่ผ่านไป
จะมีความหมายอย่างยิ่งยวด เป็นช่วงแห่งความจริงแท้ของชีวิต
การเลือกเส้นทางของชีวิตเป็นผู้ถือสันโดษนั้น คือการใช้ชีวิตอย่างเป็นเสรีชนในทางจิตวิญญาณ
อยู่กับโลกนี้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มิได้ยึดติดกับโลกนี้ และมุ่งมั่นที่จะอยู่เหนือโลกนี้
ใจของผู้บรรลุวิชา จะไม่ยึดติดกับสิ่งใดแม้เพียงชั่วขณะ
เหมือนการกดลูกน้ำเต้าที่กำลังลอยอยู่บนผิวน้ำที่จะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
ผู้ที่สามารถทำให้เกิดใจที่จะทำอะไรโดยไม่ต้องยึดติด คือยอดคนในวิถีนั้นๆ
ผู้ใดสามารถแลเห็นสุขและทุกข์ในทุกๆ สิ่งได้อย่างเสมอกัน ผู้นั้นคือยอดแห่งผู้แสวงธรรม
ผู้แสวงธรรม ย่อมยินดีตามที่ตนมี ตนเป็น รู้จักความพอ และดำรงอยู่อย่างสันติ
ผู้แสวงธรรม เป็นผู้กล้าที่ปราศจากความกลัว
ในสายตาแห่งความไม่เข้าใจของชาวโลกผู้ยังหลงทางอยู่
เพื่อมุ่งสู่ความบริสุทธิ์อันมีค่าสูงสุด
หัวใจของผู้แสวงธรรมเปิดกว้าง เพื่อรับสัจจะอันล้ำลึก
และสามารถควบคุมตนเองได้จากสิ่งเย้ายวนภายนอก
ผู้แสวงธรรมเป็นผู้มั่นคง สุภาพกับทุกคน ไม่ทระนงตน ไม่ดูหมิ่นใคร อีกทั้งไม่ดูหมิ่นตนเอง
พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานในยามที่ทรงตรัสรู้ ดังนี้ว่า
“เราหลงเวียนว่ายในวัฏสงสาร ผู้สร้างเรือนอาคารอยู่หนไหน
จนความเกิดแก่ตายหมุนเวียนไป ต้องทนทุกข์หม่นไหม้ในโลกา
บัดนี้ เราได้พบผู้สร้างเรือน ผู้บิดเบือนสัจธรรมคือตัณหา
เมื่อทำลายเพดานฝ้าหลังคา จิตก็พ้นมรณาเป็นเสรี”
“วันนี้ของเรา ได้ก้าวข้ามเมื่อวานของเราแล้วหรือยัง
เราไม่คิดชนะใคร นอกจากชนะตัวเอง และก้าวข้ามตัวเราเอง”
“ผู้ที่ศึกษาธรรมะ ฝึกฝนสมาธิ-วิปัสสนา จนเข้าถึงสุญตาได้แล้ว เขาจะต้องไม่หยุดอยู่แค่นั้น
แต่จะต้องรุดหน้าต่อไป โดยก้าวเข้าสู่ปฏิบัติการแห่งความรัก (ความเมตตา)
เพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นทุกข์ด้วย”
“เมื่อใจไม่มีสิ่งยึดติด ใจย่อมไม่มีความกลัว เพราะความกลัวเกิดจากการไปยึดติดอยู่กับอัตตาของใจ”
“การจะชนะยุคสมัยได้ ต้องทำให้ความคิดของเรา
ผลงานของเรา วิถีชีวิตของเรา และหลักวิชาของเรา
เป็นที่สืบทอดอย่างสืบเนื่องยาวนาน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัยแล้วก็ตาม”
“หัวใจของเซน คือความคิดที่ไม่มีความคิด (สังขารหรือการปรุงแต่งของใจ)
คือการไม่เอา ‘ใจ’ ของเราไปวางไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่งโดยเฉพาะ
เป็นการเอาใจวางไว้ทุกจุดทุกตำแหน่งทั่วตัวและรอบๆตัว”
“ใจที่จดจ่อหรือถูกทำให้หวั่นไหวโดยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
จนกลายเป็นความหลงนี่แหละคือใจของปุถุชน
ส่วนใจที่มีปฏิกิริยาฉับพลัน โดยไม่มีช่องว่าง คือปัญญาของเหล่าพุทธะ
พุทธะกับปุถุชนมิใช่สองสิ่งที่แยกออกจากกัน ผู้ที่มีใจไม่ยึดติดต่างหากคือผู้ที่เป็นพุทธะ”
“วิถีมรรคแม้มีหลายอย่าง แต่แต่ละวิถีล้วนมุ่งเปิดเผยให้เห็นถึงใจที่ไม่ยึดติดทั้งสิ้น”
“คิดที่จะไม่คิด ก็ยังเป็นความคิดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จงอย่าคิดที่จะไม่คิด”
“ความทุกข์ของคนเรานั้นเกิดขึ้นที่จิต นั่นคือ ถ้า ‘รูป’ กับ ‘นาม’ มารวมกันแล้ว
คนเราไปยึดว่ามันเป็นตัวตนเมื่อใดมันก็มี ‘สุข’ มี ‘ทุกข์’ เกิดขึ้นเมื่อนั้น”
“แนวทางการบำบัดทุกข์ทางใจของคนเราตามทัศนะของพุทธธรรมนั้นก็คือ
การฝึกฝนใจให้เข้าไปสู่ ‘ความว่าง’
ด้วยการควบคุมทวารประตูทั้งหก (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ของตน
พยายามลดการ ‘ปรุงแต่ง’ กับกิเลส ตัณหา อุปาทานให้น้อยลง
เท่าที่ภูมิธรรมในขณะนั้นของตนจะทำได้
แล้วแสดงออกผ่านทวารประตูออกทั้งสามคือ กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
ให้ดีงามยิ่งขึ้น สูงส่งยิ่งขึ้นเท่าที่ตนเองจะทำได้”
“โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยเสียงคลื่นต่างๆ นานา
พวกปลาเล็กปลาน้อยจะปล่อยตัวเองไปตามกระแสเริงร่า
ร้องเพลงระริกระรี้ไปตามกระแสคลื่นที่มีขึ้นมีลง
แต่จะมีใครบ้างที่รู้ซึ้งถึงหัวอกของน้ำที่อยู่ลึกใต้ทะเลหนึ่งร้อยเซียะนั้น?
จะมีใครบ้างที่ล่วงรู้ถึงความล้ำลึกของมัน?”
“เป้าหมายที่แท้จริงของการฝึกสมาธิสายปราณแบบเต๋าก็คือ
เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้าน ทั้ง กาย-จิต-ปราณ-วิญญาณ
และเพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่ปรองดองกับสรรพสิ่งทั้งปวงในเอกภพนี้ได้”
การฝึกฝนตนเอง ได้แฝงความรู้แจ้งอยู่ในตัวมันเองตั้งแต่แรกเริ่มด้วย
ดุจเมล็ดพันธุ์ได้แฝงต้นไม้ทั้งต้น ดอกไม้ทุกดอกเอาไว้ในตัวมันเองตั้งแต่แรกแล้ว
ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่มีความรู้แจ้งที่แยกขาดจากการฝึกฝนตนเองแม้ชั่วขณะจิต
การฝึกฝนตนเองจึงคือความรู้แจ้ง และความรู้แจ้งก็เป็นการฝึกฝนตนเอง
การฝึกฝนตนเองที่แท้จริง มิใช่การฝึกเพื่อที่จะได้อะไร
แต่เป็นการฝึกเพื่อให้ตระหนักได้ว่า ที่แท้ตัวเองเป็นอะไรอยู่แล้วต่างหาก
เกลือในแก้วน้ำ ทำให้แก้วน้ำเค็มจนยากที่จะดื่มกินได้
หากเธออยากจะดื่มน้ำแก้วนั้นเธอจะต้องทำอย่างไร
เธอ ต้องเติมน้ำสะอาดใส่แก้วน้ำนั้นไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งความเค็มของน้ำในแก้วนั้นเจือจาง พอที่เธอจะดื่มเข้าไปได้
ฉันใดก็ฉันนั้น ไม่มีหนทางลัดในการปฏิบัติธรรม
เธอจะต้องฝึกฝนตนเอง ฝึกสมาธิ ฝึกตบะ บำเพ็ญจิตใจของเธอให้แกร่งกล้า
จนกระทั่งเธอมีความก้าวหน้าทางจิตอย่างไม่หยุดหย่อน
การรู้แจ้ง หรือการบรรลุธรรม กล่าวโดยถึงที่สุดแล้ว มันไม่ได้ขึ้นกับโชคหรือบุญวาสนา
มันมาถึงอย่างฉับพลัน มันเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝันก็จริง แต่มันไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญหรอก
มันเกิดขึ้นเมื่อบุคคลผู้นั้นมีความพร้อม หรือสุกงอมพอแล้วที่จะอยู่กับ “ความจริงสูงสุด”
ซึ่งความพร้อมอันนี้เกิดจากความพากเพียรในการฝึกฝนตนเองนานปี
ไม่ในชาตินี้ก็ชาติก่อนๆ ไม่มีทางเป็นอื่น
การมีชีวิตอยู่อย่างแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ
หาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องไปวันๆ หลอกตัวเองไปวันๆ
แก้เครียดไปเป็นช่วงๆ เป็นพักๆ โดยไม่สามารถค้นพบ ‘วิถี’ ของตัวเองได้เลย
กับการมีชีวิตอยู่อย่างมีวิถีของตนเอง อย่างกำลังเดินบน ‘ทาง’ ของตัวเอง
อย่างไหนเป็นการใช้ชีวิตที่สูงส่งกว่ากัน น่ายกย่องภูมิใจกว่ากัน?
คำตอบมันชัดเสียยิ่งกว่าชัดมิใช่หรือ?
เมื่อ ปลุกโพธิจิตให้ตื่นขึ้น คนผู้นั้นจะเห็นถ่องแท้ถึงความว่าง และความไม่จีรังของสรรพสิ่ง
หรืออาจกล่าวในทางกลับกันได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นด้วยปัญญาจักษุของเราได้ว่า
ทุกสิ่งล้วนเป็นความว่าง (ไม่ดำรงอยู่จริง) และ ไม่จีรัง จิตของเราจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกับโพธิจิตได้เอง
พระพุทธเจ้ามิได้ยัดเยียดความเข้าใจเช่นนี้ให้แก่ท่าน แต่มันมาจากการฝึกฝนในมรรคของตัวท่านเอง
เพราะ การฝึกฝนเป็นผู้ชักนำการรู้แจ้ง อริยทรัพย์ของท่านมิได้มาจากข้างนอก
การรู้แจ้งเป็นหนึ่งเดียวกับการฝึกฝน การกระทำที่รู้แจ้งแล้วไม่ทิ้งร่องรอยเอาไว้
เพราะฉะนั้นเมื่อหันกลับไปดูการฝึกฝนด้วยสายตาที่รู้แจ้ง
แล้วท่านจะพบว่า ไม่มีมายาใดๆ ให้พบเห็น เหมือนเมฆขาวที่แผ่คลุมท้องฟ้ากว้างทั้งหมดเป็นพันๆ
วิถีแห่งพุทธะไม่อาจเข้าถึงได้ด้วย ‘ความคิด’ หรือความนึกคิดของใจ
แต่ก็ไม่อาจเข้าถึงโดยปราศจากใจได้เช่นกัน ผู้ปฏิบัติจึงต้องข้ามพ้นทั้งใจและไม่ใช่ใจไปพร้อมๆ กัน เพื่อเข้าถึง ‘จิตแท้’
ถ้าใจที่มุ่งมั่นอยู่กับการฝึกฝนตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมรรคของพุทธธรรม
จิตและกายของผู้นั้นจะไม่อาจมีศานติได้ และจิตกับกายที่ไม่มีศานติย่อมเป็นอุปสรรคต่อการรู้แจ้ง
ผู้คนอาจคิดว่า การบดเนื้อป่นกระดูกของตนเพื่อให้ได้พุทธธรรมเป็นการปฏิบัติที่ยาก แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ยาก
กว่านั้นอีกคือ การควบคุมจิตใจและกายกรรมของตนให้อยู่ในครรลองของการปฏิบัติที่เข้มงวดและไร้มลทิน
คำสอนที่แท้มิได้สอนให้เรามีจุดยืนเช่นใด แต่สอนให้เราไม่ต้องมีจุดยืนต่างหาก
เพราะการมีจุดยืนทำให้มีการแบ่งแยก ดี-เลว ผิด-ถูก จึงไม่อาจข้ามพ้นวิธีคิดแบบทวิคติได้
การศึกษาพุทธธรรม คือ การพยายามที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับมัน โดยต้องลืมเลือนแม้แต่เรื่องที่จะคิดรู้แจ้ง
ผู้ที่ปฏิบัติตามแนวทางพุทธธรรมก่อนอื่นจะต้องมีความเชื่อมั่นในพุทธธรรมก่อนเป็นอันดับแรก
โดยเขาจะต้องมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นว่า ตัวเขากำลังเดินอยู่บนมรรคของพุทธธรรมตั้งแต่เริ่มต้น
พระรูปหนึ่งถามท่านอาจารย์ยากุซังเกี่ยวกับซะเซนว่า
“ท่านอาจารย์ครับ เวลาซะเซน ให้พิจารณาอย่างไรดีครับ?”
“พิจารณาแบบไม่พิจารณา”
“ที่ว่าแบบไม่พิจารณานั้น พิจารณายังไงครับ?”
“ไม่ใช่ทั้งพิจารณา และก็ไม่ใช่ทั้งพิจารณา”
โลกทั้งโลก เข้ามาอยู่ในโลกของพระพุทธะแต่ละท่าน และพระพุทธะแต่ละท่านก็เข้ามาอยู่ในตัวเอง
ตัวท่านเองจึงเป็นการปรากฏเผยออกของโลกทั้งโลก
ภิกษุถามเก็นเง็นไต้ซือว่า
“ท่านครับ อะไรคือใจของพุทธะครับ”
“คือ การที่โลกเก่าล่มสลาย”
“อะไรเรียกว่าโลกเก่าล่มสลายครับ”
“เพราะว่าตัวตนเก่าหมดไป”
นักสู้หรือนักรบ...
แสวงหาชัยชนะในความพ่ายแพ้ แสวงหาความสงบในการเคลื่อนไหว
แสวงหาความตายในความเป็น และแสวงหาความเป็นอมตะในความตาย
นักบวช...
แสวงหาการไม่กระทำในการกระทำ แสวงหาการไม่คิดในการคิด
แสวงหานิพพานในความเป็น และแสวงหาความเป็นนิรันดร์ในความตาย
การเรียนรู้มรรคแห่งการหลุดพ้น คือการเรียนรู้ตนเอง
การเรียนรู้ตนเอง คือการละอัตตาตนเอง
การละอัตตาตนเอง คือการหยั่งรู้โดยสรรพสิ่ง (ธรรมะ) ทั้งปวง
การหยั่งรู้โดยสรรพสิ่ง (ธรรมะ) ทั้งปวง คือการขจัดอุปสรรคที่ปิดกั้นและแยกแยะตัวเรากับคนอื่นออกไป
คนที่กลัวตาย ย่อมไม่อาจเข้าใจความหมายของการดำรงอยู่ได้อย่างถึงแก่น
ผู้ที่ครุ่นคิดเรื่องความตายอย่างจริงจัง จึงจักเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของการดำรงอยู่
ต่อให้เราถูกคนอื่นหักหลัง ทำร้าย ทำลาย ด้วยความอกตัญญู ด้วยความอาฆาตมาดร้าย
ด้วยการใส่ร้าย ให้ร้ายอย่างรุนแรงเพียงไหนก็ตาม ขอเพียงเราสามารถควบคุมอายตนะของเราได้
ขอเพียงเราสามารถรักษาดุลยภาพระหว่างกายกับใจของเราได้ ต่อให้เราห้ามบาดแผลมิให้เกิดขึ้นในหัวใจ
ของเราไม่ได้ เราก็ย่อมสมานบาดแผลในหัวใจของเราได้รวดเร็วกว่าคนธรรมดา
การสมานบาดแผลในหัวใจ คือการเรียนรู้ที่จะ ‘ผ่อนคลาย’
และพัฒนาทัศนคติกับพลังฝ่ายบวก (พลังสร้างสรรค์และบูรณาการ) ขึ้นภายในตัวเรา
และทำให้พลังฝ่ายบวกเหล่านี้ สามารถไหลคล่อง ประสานกลมกลืน
อย่างมีอิสระกับระบบย่อยต่างๆ ภายในร่างกายของเราได้
จนกระทั่งสามารถระบาย ขจัด สลัดความอึดอัดคับข้องภายในจิตใจของเราให้หมดไปจากใจได้
เราจะต้องฉลาดในการเรียนรู้ที่จะพักผ่อนร่างกายอย่างถูกวิธี
พร้อมกับรู้จักการปรับอารมณ์ให้สมดุล และรู้วิธีอีกทั้งมีความสามารถ
ที่จะเปลี่ยนความคิดฝ่ายลบภายในจิตใจของเราให้กลายเป็นความคิดฝ่ายบวกให้จงได้
จงอย่าลืมว่าตัวเราเองนี่แหละที่เป็นยาวิเศษที่สามารถซ่อมแซมการเสียดุลยภาพภายในของเราได้
เมื่อ ท่านอาจารย์มุงากุพระเซนแห่งคะมาคุระ เดินทางไปที่ประเทศจีนและถูกพวกทหารมองโกลจับตัวในระหว่างที่กำลังเกิดกลียุคที่นั่น
ก่อนที่ท่านจะถูกทหารมองโกลใช้ดาบบั่นศีรษะของท่าน ท่านได้เอ่ยคาถาบทหนึ่งออกมาว่า “ฟ้าดินมีตาข่ายถี่ยิบ ไม่มีช่องว่างแม้จะให้ไม้เท้าเพียงหนึ่งปักลงได้
เห็นมั๊ยว่า ทั้งคนก็คือความว่าง ทั้งธรรมะก็คือความว่างเช่นกัน
ยินดีรับคมดาบสามเชียะ จากชาวมองโกลด้วยความเต็มใจยิ่ง
ความเร็วดุจประกายสายฟ้าแลบ ตัดได้แค่ลมแห่งฤดูใบไม้ผลิเท่านั้น”
เมื่อทหารมองโกลได้ฟังคาภาบทนี้แล้ว ต่างโยนดาบทิ้ง แล้วหนีไปจากที่นั่นทันที
ก่อนที่เธอจะลืมตาเกิดมาบนโลกนี้ เธอคือศูนย์ ตอนนี้เธอมีชีวิตอยู่ เธอจึงคือหนึ่ง
แต่ในอนาคตเธอก็ต้องตาย เธอก็จะกลับมาเป็นศูนย์อีกครั้งหนึ่ง
สรรพสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาลล้วนเหมือนกันทั้งสิ้น ล้วนเป็นเช่นนี้ทั้งสิ้น
ทั้งหมดถือบังเกิดขึ้นมาจาก ‘ความว่าง’ และกลับคืนสู่ ‘ความว่าง’
เพราะฉะนั้นศูนย์จึงเท่ากับหนึ่ง และหนึ่งจึงเท่ากับศูนย์
การข้ามพ้นทุกสิ่ง คือจุดประสงค์หลักของการปฏิบัติธรรม หรือการฝึกฝนตนเองแบบเซน
คำว่า ‘การข้ามพ้น’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึง การละทิ้งโดยไม่มีความเกี่ยวข้องผูกพันแต่อย่างใด
หากหมายถึงมีความเกี่ยวข้องผูกพันโดยไม่ยึดติดต่างหาก
เมื่อเราพูดคำว่าขณะนี้ออกมานั้น เจ้าตัวช่วงเวลาขณะนี้ก็ไม่ได้อยู่กับเราแล้ว
เมื่อคำว่านี้มาถึง คำว่าขณะก็จากเราไปแล้ว
ดอกเหมยต้องผ่านความหนาวเหน็บทารุณเสียก่อน ถึงจะโชยกลิ่นหอมออกมาได้
หากคนเรามีชีวิตอยู่โดยไม่ได้ตั้งปณิธาน ชีวิตก็จะมีแต่ความว่างเปล่า ที่รอความแก่เฒ่ามาถึงเท่านั้น
เธอควรจะคิดบ้างว่า ชีวิตนี้เราอยู่เพื่อใคร?
ต้นไผ่เขียวสะอาดริมหน้าต่าง โบกตัวไปมาท่ามกลางสายลม แต่หาร่องรอยให้จับต้องไม่ได้
อิโนอุเอะ คิโด
เม่งจื้อได้สอนไว้ว่า
ยศถาบรรดาศักดิ์ไม่อาจมอมเมาจิตใจได้ ยากไร้ต่ำต้อยไม่อาจแปรปณิธาน ใต้อิทธิพลอำนาจไม่ยอมสยบ
ไม่หวั่นไหวต่อความงามสตรี ไม่โอนอ่อนต่อถ้อยคำวิงวอน ไม่ผันแปรเพราะการให้เกียรติ นี่คือลูกผู้ชายที่แท้จริง