บันทึกสำนักยุทธธรรม ภาคพิเศษ
ว่าด้วย
“ศาสตร์ตะวันออกและอัศวินเจได”
โดย........
เวทิน ชาติกุล
ศิษย์คนที่หนึ่งของสำนักยุทธธรรม
คำอุทิศ
แด่ ยุวชน “เจได” ทุกท่าน
บทนำ
ระหว่าง “จินตนาการ” กับ “ความจริงที่ลึกล้ำ” อะไรเล่า? ที่มีอยู่ระหว่างสองสิ่งนั้น ผมถามตัวเองอยู่ตลอดเวลาขณะที่เขียนบันทึกฉบับนี้ ซึ่งว่าไปแล้วก็คือบันทึกสำนักยุทธธรรมฉบับพิเศษว่าด้วยความสอดคล้องของศาสตร์การฝึกฝนตนเองแบบตะวันออก กับเรื่องราวของอัศวิน “เจได” ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ชุด “Star Wars” ทั้งสองเรื่องถูกตัดสินให้คุณค่าที่ต่างกันอย่างลิบลับ อย่างหนึ่งเป็นเพียงจินตนาการ ส่วนอีกอย่างหนึ่งวางอยู่บนรากฐานของปรัชญาความเชื่อ และหลักของศาสนาอันลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจ ดังนั้นเมื่อผมต้องเขียนเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่มีความแตกต่างกันเช่นนี้ คำถามข้างต้นเกิดขึ้นและการจะหาคำตอบผมคงต้องทบทวนตัวเองพอสมควร
โดยส่วนตัวแล้ว ผมชอบภาพยนตร์ชุดนี้ ถ้าหากไม่นับว่าเป็นนิยายวิทยาศาสตร์แล้ว ภาพยนตร์ชุดนี้ได้ทำให้เด็กชายอายุ 14-15 ปีคนหนึ่งได้รู้จัก “วิชามวยภายใน” โดยทางอ้อมไม่มากก็น้อย และเมื่อนึกย้อนกลับไปผมก็จำได้ว่า ตัวเองอยากจะอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “เจได” ให้มากไปกว่าในหนัง แต่ก็ไม่มีใครเขียนให้อ่าน นั่นเพราะใครต่อใครที่เป็นผู้ใหญ่ในขณะนั้น คงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเพียงแค่เรื่องหลอกเด็ก
ตัวละครในนิยายในภาพยนตร์แม้จะเป็นเพียง “บุคคลสมมุติ” แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับบุคลิกจริงๆ ในสังคม เพราะถ้าหากไม่มีตัวละครอย่าง ดอน กิโฮเต้ โรบินสัน ครูโซ โรบินฮู๊ด หรือ มูซาชิ ลี้คิมฮวง เหล็งฮู้ชง เฮียวฮง รวมไปถึง โองามิ อิตโต หน้ากากเสือ หรืออย่างลุคสกายวอคเกอร์ ฮัน โซโล อินเดียน่า โจนส์ ฯลฯ ถือกำเนิดขึ้นมาในโลกแห่งจินตนาการ ผมก็ไม่รู้ว่า โลกในความเป็นจริงหรือโลกที่เราคิดว่ามันจริงนี้ จะเปลี่ยนแปลงไปอีกเช่นไร?
ในวัยเด็ก เนื่องจากผมอยู่บ้านนอก และไม่มีทีวีดู ผมจึงรู้จักกับตัวละครในวรรณกรรมคลาสสิกหลายตัวโดยผ่านหนังสือสำหรับเด็กที่พ่อมักจะไปยืนมาจากคนข้างบ้านแล้วมาทิ้งๆ เอาไว้ในบ้าน เมื่อมีทีวี ผมก็รู้จักกับหน้ากากเสือ ซามูไรพ่อลูกอ่อน เมื่อเริ่มดูหนังก็ได้มารู้จักกับ ลุค สกายวอคเกอร์ อินเดียน่า โจนส์ ก่อนที่จะมารู้จักกับพระเอกในนิยายภาพอย่าง นางาเระ เค็นจิ จนมาถึงตัวเอกในนิยายกำลังภายในอย่างลี้คิมอวง เล็กเซี่ยวหงส์ เหล็งฮู้ชง ก๊วยเจ๋ง เตียบ่อกี้ อุ้ยเซี่ยวป้อ และมูซาชิ ผมไม่ได้ผ่านยุคสมัยของ “Dragon” คนแรกอย่างบรู๊ชลี แต่ค่อนข้างคุ้นเคยกับคนที่สอง (เฉินหลง) และคนที่สาม (หลี่เหลียนเจี่ย)
15 ปี ที่ผ่านมามีตัวละครผ่านมามากมาย ความคิดที่เปลี่ยนแปลงขึ้นเป็นลำดับ แต่น่าแปลกที่ผมยังคงคิดถึงตัวละครอย่าง “ลุค สกายวอคเกอร์” อยู่เสมอ ครั้นเมื่อผมได้มีโอกาสมาฝึกฝนวิชาสายตะวันออกในสำนักยุทธธรรมกับครูสุวินัย และเมื่อภาพยนตร์ชุด “Star Wars” ถูกนำออกมาฉายใหม่อีกครั้ง ผมได้พบว่า หลายคำพูดเกี่ยวกับอัศวิน เจได เกี่ยวกับ “พลัง” (Force) ในภาพยนตร์นั้นมันสอดคล้องกันกับสิ่งที่ผมได้รับการถ่ายทอดมาจากครูสุวินัย และความสอดคล้องอันน่าสนใจนี้ มิน่าจะปล่อยให้เลยผ่านไป 15 ปีที่ผ่านไปหลังจากการดูภาพยนตร์เรื่องนี้ครั้งแรก ผมถึงได้เข้าใจว่า อัศวินเจไดนั้นแท้จริงคืออะไร? และทำไมผมถึงยังจำ “ลุค สกายวอคเกอร์” อยู่ได้ทั้งๆ ที่น่าจะลืมมันไปพร้อมกับวัยเด็กของตนเอง
บ่ายวันหนึ่ง หลังจากฝึกกันเสร็จ ครูและศิษย์ก็ได้นั่งสนทนากันถึงเรื่องนี้และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของบันทึกฉบับนี้ ผมเขียนบันทึกนี้ให้เยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนที่มีความสนใจในวีรบุรุษหลายคนดังที่ผมกล่าวมาข้างต้น อย่างน้อยถ้าหากเขามีโอกาสที่จะก้าวเข้ามาฝึกฝนวิชาตะวันออกสายหนึ่งสายใด เขาจะได้รู้ว่าอะไรเป็นลักษณะสำคัญของศาสตร์เหล่านี้? เป้าหมายที่แท้จริงของมันคืออะไร? เขาจะได้มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับศาสตร์ตะวันออกอย่างคร่าวๆ ก่อนที่จะเริ่มศึกษาลงไปในระดับที่ลึกลงไปกว่านั้นได้ นั่นเพราะผมเชื่อว่า ในสังคมที่มีสิ่งมอมเมาเยาวชนอยู่มากมายนั้น อาจจะมีเยาวชนบางคนที่ถูกกำหนดมาให้ต้องเรียนรู้ศาสตร์ตะวันออกเหล่านี้
อีกอย่าง ผมไม่ได้ต้องการยกระดับของเรื่องราวในจินตนาการให้สูงขึ้นโดยเอาหลักความจริงใดๆ มาอ้าง หรือไม่ต้องการแม้แต่จะดึงปฏิบัติเหล่านั้นให้ต่ำลงมา ทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีคุณค่าและความสำคัญด้วยตัวของมันเองทั้งสิ้น เมื่อมานึกย้อนกลับไปในอดีต 15 ปีที่ผ่านมาจากเรื่องราวในจินตนาการมันมีสายใยที่มองไม่เห็นโยงเราเข้าไปด้วยกันกับโลกในความเป็นจริง คอยกระตุ้นให้เราฮึกเหิมยามท้อแท้ คอยกระตุ้นให้เราหัวเราะยามซึมเศร้า ทำให้เรามองโลกอย่างสดใส ทั้งๆ ที่เรารู้ว่า โลกนี้เต็มไปด้วยความโหดร้าย ทำให้เรามีความรักความศรัทธา มีความเชื่อมั่นว่า ความดีงามจะชนะเหนือความเลวร้ายทั้งปวง
มันเป็น 15 ปี ที่รวดเร็ว ที่ผมหัวเราะ ร้องไห้ ได้รับ สูญเสีย
กว่าที่ผมจะรู้ว่า มันคืออะไร ที่มีอยู่ระหว่าง “จินตนาการ” กับ “ความเป็นจริงที่ลึกล้ำ”
เวทิน ชาติกุล
9 สิงหาคม พ.ศ. 2540
.........................
โหมโรง
นานมาแล้ว….. ในแกแลคซี่หนึ่งที่ห่างออกไปไกลแสนไกล มหายุทธ์แห่งดวงดาวได้อุบัติขึ้น เหล่าผู้กล้าได้รวมตัวกันต่อต้านอำนาจอันชั่วร้ายของจักรวรรดิ์ อัศวินเจไดทั้งหลายผู้อยู่ในพลังด้าน ‘สว่าง’ ได้ต่อสู้กับพลังด้าน ‘มืด’ ของจักพรรดิ์อย่างเข้มแข็งในสมรภูมิที่กระจายไปทั่วจักรวาล อันนำมาซึ่งชัยชนะและความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย
เทพนิยายอวกาศได้ถือกำเนิดขึ้นผ่านจินตนาการของ “ลูคัส” ออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง “Star Wars” ที่เมื่อออกฉายก็ประสบความสำเร็จมากมายจนต้องสร้างภาค 2 “The Empire Strikes Back” และภาค 3 “The Return of Jedi” ตามกันออกมา ถ้าจะว่าไปแล้ว ด้วยเนื้อหาโดยทั่วไปของ “Star Wars” ก็ไม่ได้มีความแปลกใหม่แต่อย่างใดเรื่องราวตัวละครล้วนเป็นไปตามสูตรสำเร็จของหนังผจญภัยอวกาศ อัศวิน เจ้าหญิง ศัตรูที่ชั่วร้าย ตัวตลก การสู้รบและสุดท้ายที่ธรรมะย่อมชนะอธรรม มี ภาพยนตร์ของคุโรซาว่า อะคิร่าเรื่องหนึ่งชื่อ “The Hidden Fortress” ซึ่งมีนักวิจารณ์ภาพยนตร์หลายท่านให้ความเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้น่าจะต้นแบบของ “Star Wars”เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของซามูไรหนุ่ม (อาจจะเปรียบได้ กับ ลุค สกายวอคเกอร์ หรือ ฮันโซโล) ผู้จับพลัดจับผลูต้องเข้าไปช่วยองค์หญิงของฝ่ายหนึ่ง (เทียบได้กับเจ้าหญิงเลอา) ให้รอดพ้นจากฝ่ายตรงข้ามซึ่งไล่ล่ามาตลอด (เทียบได้กับดาร์ธเวเดอร์) โดยมีคนรับใช้สองคนคอยช่วยเหลือ (เทียบได้กับหุ่น C-3PO และ R2-D2) ใครก็ตามที่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ต้องพบว่าบุคลิกของหุ่นยนต์ 2 ตัวใน Star Wars นั้นช่างเหมือนกับคนรับใช้องค์หญิงในหนังของคุโรซาว่าเรื่องนี้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
จากภาพยนตร์ซามูไรยุคโบราณ กลายมาเป็นมหาสงครามอวกาศ แต่ลูคัสกลับบอกต้นกำเนิด Star Wars ของเขาว่าได้อิทธิพลมาจากเทพนิยายเรื่องหนึ่งสมัยที่เขาเรียนหนังสืออยู่ เทพนิยายนั้นว่าด้วยอัศวินหนุ่มผู้รู้ในภายหลังว่า ศัตรูที่เขาต่อกรด้วยนั้นคือ พ่อของเขาเอง แต่ไม่ว่าจะมีที่มาจากไหน ภาพยนตร์ชุด Star Wars ก็ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญหน้าหนึ่งในโลกภาพยนตร์ไปแล้ว ผลกระทบของ Star Wars ทำให้เกิดภาพยนตร์แนวผจญภัย อวกาศ แฟนตาซีตามมาอีกมากมาย กระตุ้นให้เกิดความคึกคักในแวดวงนิยายวิทยาศาสตร์ กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในโครงการสำรวจอวกาศอย่างต่อเนื่องนั่นเป็นผลกระทบเพียงบางส่วนที่ Star Wars มีกับสังคม
ในแง่ของคนทั่วไป คนที่โตมารุ่นราวคราวเดียวกับผม โดยเฉพาะเด็กผู้ชายคงมีไม่น้อยที่นิยมชอบ Star Wars ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องหนึ่งในดวงใจเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัยก่อนหรือสมัยนี้ ผมเชื่อว่าเมื่อได้ชม Star Wars แล้วต้องใฝ่ฝันอยากเป็นลุค สกายวอคเกอร์ หรือ ฮัน โซโลกันทั้งสิ้น เมื่อเราโตขึ้นแล้วกลับมาดู Star Wars อีกครั้งก็พบว่า หนังเรื่องนี้คงเป็น “ลิเกอวกาศ” ชิ้นใหญ่ ถ้าหากไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องราวของ อัศวินเจได และพลัง ออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 3 ภาค เพราะแนวคิดเรื่องพลังและอัศวินเจไดนี้โดยแท้ที่ได้ทำให้โครงเรื่องแบบ 2 มิติ ของ Star Wars เพิ่มมิติในแนวลึกขึ้นมาในทันทีและเป็นมิติที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะเป็นมิติด้าน “จิตวิญญาณ” ของตัวละครโดยเฉพาะตัวเอกของเรื่องคือ ลุค สกายวอคเกอร์ ผู้ซึ่งได้กลายจากหนุ่มน้อยชาวไร่บนดาวทะเลทรายกลายเป็น ผู้ที่ชะตากำหนดให้เป็นอัศวินเจไดคนสุดท้าย
หากมองในแง่หนึ่ง Star Wars ได้เสนอการพัฒนาเชิงจิตวิญญาณของคนคนหนึ่งอย่างต่อเนื่องโดยผ่านวิถีแห่งพลังนั่นเอง และแนวคิดเรื่องพลังความสัมพันธ์ในเชิงครูกับศิษย์ ในการสอนอัศวินเจได การฝึกฝนตนเอง จิตใจด้านมืดด้านสว่าง ฯลฯ ก็ปรากฏให้เห็นใน Star Warsทั้ง 3 ภาค
ดูไปแล้วในอวกาศของ Star Wars ล้วนสว่างไสวไปด้วยแสงที่ส่องมาจาก “บูรพาทิศ” ทั้งสิ้น!
เกี่ยวกับอัศวินเจได
ใน Star Wars ทั้ง 3 ภาค ล้วนปรากฏกลุ่มตัวละครที่เรียกกันว่า “อัศวินเจได” ซึ่งจะว่าไปแล้วตัวละครกลุ่มนี้เป็นตัวละครหลักก็ว่าได้ อัศวินเจได คือใคร? มีความเป็นมาอย่างไร? คำถามเช่นนี้ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้
เบน (โอบีวัน) เคนโนบี หนึ่งในกลุ่มอัศวินเจไดได้กล่าวถึง อัศวินเจไดเอาไว้ว่า
“เป็นพันๆ ชั่วอายุคนมาแล้ว อัศวินเจได เป็นพลังอำนาจที่ได้รับการเคารพยกย่องมากที่สุดในจักรวาลนี้ อัศวินคณะนี้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาความสงบและความเที่ยงธรรมให้แก่สาธารณรัฐเก่า”
จากเรื่องเล่าของ เบน เคนโนบี เราได้รู้ว่าทั้งตัวเบน เคนโนบีและศิษย์ของเขา “อนาคิน สกายวอคเกอร์” พ่อของลุค สกายวอคเกอร์ ล้วนเป็นยอดอัศวินเจได ต่อมา อนาคินถูกจักรพรรดิใช้พลังด้านมืดเข้าครอบงำจิตใจ แปรพักต์ไปอยู่ข้างจักรพรรดิ์ไล่เข่นฆ่าเหล่าเจไดจนเกือบหมด จนสุดท้ายเกิดการประลองบนปากปล่องภูเขาไฟระหว่างเบน (ในสมัยนั้น ยังเรียกตนเองว่า โอบีวัน) กับศิษย์เอกของเขา อนาคินแพ้พลัดตกลงไปในปล่องภูเขาไฟ แต่ไม่ตายกลับกลายเป็น ดาร์ธ เวดเดอร์ ผู้ที่ชั่วร้ายยิ่งขึ้นไปอีก โอบีวันหลังจากเหตุการณ์นั้นก็หลบเร้น เปลี่ยนชื่อตัวเองหายไปอยู่บนดาวทะเลทราย ทำตัวประหนึ่งนักพรตผู้ลึกลับและเหล่าอัศวินเจไดก็เสื่อมสลายไปพร้อมกับความรุ่งเรืองขึ้นมาของจักรวรรดิ์
เนื่องจากเหตุการณ์ใน Star Wars (ซึ่งเป็นตอนที่ 4 ของทั้งหมด 9 ตอน) ดำเนินไปเมื่อเหล่าอัศวินเจไดได้หมดอำนาจและถูกทำลายไปจนไม่เหลือแล้ว เราจึงมีข้อมูลเกี่ยวกับอัศวินกลุ่มนี้น้อยมาก ว่ามีต้นกำเนิดอย่างไร? มีจำนวนเท่าไหร่? มีระบบระเบียบในกลุ่มอย่างไร? ทำไมถึงกลายมาเป็นผู้พิทักษ์สาธารณรัฐเก่า? เท่าที่เรารู้ก็คือ ในทางกายภาพ อัศวินเจไดคือ คนที่ดูแปลกๆ ในสายตาของคนทั่วไป มักสวมผ้าคลุมสีเข้มคลุมตัวดั่งนักบวชในยุคกลาง มีอาวุธประจำกายคือ “กระบี่แสง” ซึ่งข้อที่น่าสังเกตก็คือ แม้ว่าจะมีอาวุธไฮเทคมากมายใช้กันแล้ว แต่เหล่าเจไดก็ยังคงใช้กระบี่แสงต่อสู้กันอยู่ไม่ยอมใช้อาวุธชนิดอื่น เบน เคนโนบี กล่าวถึง กระบี่แสงไว้ว่า
“กระบี่แสง นอกจากจะเป็นอาวุธประจำกายของเหล่าเจไดแล้ว ยังเป็นสัญญลักษณ์อีกด้วย การตัดโดยทั่วไปทำด้วยมีดดาบแต่กระบี่แสงนั้นหมายถึง ใครบางคน และการตัดนั้นก็มิใช่การตัดธรรมดา”
ความเป็นอยู่โดยทั่วไปของเจได จะมักไม่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมคนหมู่มาก มักจะโดดเดี่ยว สมถะ แยกตัวอยู่ห่างไกลจากชุมชน มีลักษณะเหมือนนักพรตมากกว่าทหาร ตรงส่วนนี้แม้แต่ตัวดาร์ธ เวเดอร์เองก็ถูกนายทหารฝ่ายเดียวกันต่อว่าว่าเป็นพวกงมงายในศาสนาเก่า สำหรับลักษณะที่พิเศษที่สุดของพวกเจไดนี้ก็คือ มีพลังอำนาจจิตสูง และสามารถควบคุม “พลัง” ได้ อัศวินเจไดจึงเหมือนการผสมผสานกันของ “นักรบ” และ “นักพรต” และมักถูกกล่าวถึงในแง่เป็นสัญญลักษณ์ทางจิตวิญญาณมากกว่า กองกำลังเพื่อการทำลายล้าง
เป็นเวลานานมาแล้วที่วิชาศิลปะการต่อสู้ของตะวันออกไม่ว่าจะเป็นจีนหรือญี่ปุ่นโดยเฉพาะวิชาในระดับสูงได้หลอมรวมเอาปรัชญา หลักศาสนา ความเชื่อ ความเจริญสูงสุดแห่งธรรมชาติเข้าไว้กับศิลปะการต่อสู้นั้นๆ จนแยกออกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะวิชามวยภายในของจีน เช่น วิชามวยไท้เก๊ก มวยฝ่ามือแปดทิศ หรือมวยสิ่งอี้ หลักพื้นฐานของวิชามวยเหล่านี้ ต่างวางอยู่บนปรัชญาเต๋าทั้งสิ้น ถ้ามองในอีกแง่หนึ่ง การฝึกวิชาศิลปะป้องกันตัวแบบนี้นั้นก็ไม่ต่างจาก การปฎิบัติธรรมหรือถือเป็นการแสวงธรรมอย่างหนึ่งนั่นเอง การร่ายรำกระบวนท่ามวยหรือกระบวนท่าต่าง ๆ มิใช่เพื่อปรารถนาที่จะเข่นฆ่า ทำลายล้างหรือโอ้อวด แต่ถือเป็นการแสดงความรู้ความเข้าใจ “ความจริง” โดยไม่ต้องเอ่ยปากอธิบายออกมาเลย
ดังนั้นผู้ฝึกวิชาเหล่านี้ในระดับสูง แม้จะมีลักษณะภายนอกที่เป็นคนสามัญธรรมดา แต่ความเป้นอยู่หลายๆ อย่างก็ไม่ต่างจากนักบวชเลย เช่น สมถะ รักสันโดษ มีคุณธรรม แม้จะเป็นนักรบ ฝึกวิชาของนักรบ แต่ก็เพื่อทำสงครามในสมรภูมิภายในของตนคนเหล่านี้คนแล้วคนเล่าจึงเป็นนักรบ...นักรบแห่งจิตวิญญาณ อัศวินเจไดใน Star Wars จะว่าไปแล้วก็คือ “จอมยุทธ์” หรือ “นักรบแห่งจิตวิญญาณ” ของตะวันออก โดยจะเห็นได้จากความสอดคล้องหลายๆ ประการของทั้งสองกลุ่ม และการที่เจไดมีที่มาจากทางตะวันออกนั้นทำให้ Star Wars เองมีมนต์ขลังเพิ่มมากขึ้น เพราะมีกลุ่มตัวละครที่เปิด “พื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์” ในหัวใจของคนดูได้ ดังนั้นแม้ Star Wars จะเป็นเพียงจินตนาการที่สร้างขึ้นเพื่อความเพลิดเพลินของผู้ชมก็ตาม แต่จินตนาการนั้นก็หาใช่จะเลื่อนลอยอยู่บนพื้นฐานความว่างเปล่าเสียทีเดียว ที่จริงแล้วมันกลับวางอยู่บนพื้นฐานของความจริงและเป็นความจริงที่สำคัญในทางตะวันออกอีกด้วย
เกี่ยวกับพลัง
ลุค สกายวอคเกอร์ได้รับรู้เรื่องราวของ “พลัง” เป็นครั้งแรกจากเบน (โอบีวัน) เคนโนบี อดีตอัศวินเจไดผู้หลบหนีมาดำรงตนอย่างนักพรตบนดาวทะเลทราย เบนได้มอบกระบี่แสงให้ลุคแล้วสั่งสอนเขาเกี่ยวกับเรื่อง “พลัง” ว่า
“พลังคือสิ่งๆ หนึ่งที่เหล่าเจไดจะต้องเกี่ยวข้องด้วย มันยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนเหมาะสม พวกนักวิทยาศาสตร์อธิบายว่ามันเป็นขุมพลังอย่างหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในสิ่งมีชีวิต คนในยุคก่อนๆ เชื่อว่ามันมีที่อยู่ที่แน่นอน และมันยังทำให้คนต้องงมงายกับอำนาจของมันต่อมาอีกเป็นพันๆ ปี”
“คนธรรมดาๆ บางคนพูดว่า เขารู้ว่าพลังคืออะไร คนพวกนี้ถูกประณามอย่างรุนแรง บางคนก็ถูกเรียกว่า พวกคุยโต หลอกลวง ลึกลับ ฯลฯ มีไม่กี่คนที่ใช้มันได้ และโดยปกติมักควบคุมมันไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือคน และคนที่มีความสามารถควบคุมมันได้ มักจะถูกผู้อื่นมองอย่างไม่เข้าใจอยู่เสมอ”
“พลังนี้มีอยู่รอบๆ ตัวเรา บางคนเชื่อว่า เจ้าพลังนี้เป็นผู้ควบคุมการกระทำของคนให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ ความรู้เรื่องพลังและการควบคุมการใช้พลังนี้มีแต่ผู้ที่เป็นอัศวินเจไดเท่านั้นที่รู้และมันถูกใช้อำนาจพิเศษ…..เธอต้องเรียนรู้วิธีใช้พลังนั่นด้วยเหมือนกันนะลุค!”
เบน เคนโนบี ผู้ถือว่าเป็นครูคนแรกของ ลุค สกายวอคเกอร์ ได้ชี้แนะลุคเกี่ยวกับพลังเพิ่มเติมอีกหลังจากที่ลุคต้องประสบชะตากรรมผกผัน ให้ต้องร่วมเดินทางไปกับเบนด้วย ในครั้งนี้เบนได้ให้ลุคหัดใช้กระบี่แสง
“การฟันต้องให้เรียบและตรง ไม่ใช่กระโดกกระเดกเหมือนลูกคลื่น.....จงจำไว้ว่า พลังเป็นของที่มีอยู่ทุกแห่งและตลอดเวลา มันจะแผ่ขยายออกจากตัวเธอเป็นรัศมีไปโดยรอบ เจไดจะรู้สึกถึงการใช้พลังไม่ต่างไปจากการใช้กำลังจากร่างกายอย่างหนึ่งเท่านั้น”
“มันคือสนามพลังหรือเปล่าครับ?” ลุคถาม
“มันเหมือนสนามพลังและอย่างอื่นด้วย มันเป็นทั้งรัศมีซึ่งเราสามารถควบคุมบังคับได้ด้วย มันจึงเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ชนิดหนึ่ง จึงไม่มีใครแม้แต่พวกนักวิทยาศาสตร์ สามารถให้คำอธิบายเกี่ยวกับพลังนี้ได้ถูกต้อง ไม่มีใครเลยจริงๆ บางครั้งมันคล้ายสิ่งที่อัศจรรย์มากกว่าที่วิทยาศาสตร์จะไปอธิบายแต่การฝึกใช้สิ่งนี้มันเป็นเรื่องที่เป็นขั้นตอนไปตามทฤษฎีไม่ใช่มายากล”
โยดา ปรมาจารย์ของเหล่าเจได ก็พูดถึง “พลัง” ไว้ว่า
“ภายในร่างกายของคนเราเต็มไปด้วยพลัง ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่เรา มันเข้มแข็งมีพลานุภาพ ชีวิตเกิดจากนี้และโตจากนี้ พลังชนิดมันห้อมล้อมเราอยู่อย่างหนาแน่นร้อยรัดตัวเราอยู่ การที่เราสามารถดำรงอยู่ได้ในอวกาศหรือพื้นที่อย่างสดชื่นแจ่มใสก็คือ พลังเป็นผู้อำนวยให้”
“เธอจะสามารถบรรลุถึงอาณาเขตแห่งพลังได้ ต้องมีความสำนึกว่า พลังเคลื่อนไหวอยู่ภายในกายของตัวเอง นั่นก็คือ สำนึกถึงพลังที่แทรกซึงอยู่ทุกหนทุกแห่งในกายของเธอ ระหว่างเธอกับฉัน ระหว่างฉันกับต้นไม้…..ก้อนหิน…..ทุกหนทุกแห่ง…..ล้วนมีพลังที่ไร้รูปสถิตอยู่ทั้งสิ้น”
“สายตาเราไปถีงไหน พลังมันก็สถิตอยู่ที่นั่น ไม่เพียงแค่นั้น มันยังสามารถนำมาใช้ได้โดยไม่รู้จักหมดและไม่มีวันเหือดแห้ง ที่ฉันพูดอย่างนี้ไม่เกินจากความจริงไปแม้แต่น้อย”
คำอธิบายเกี่ยวกับพลังเช่นข้างต้นนี้ หากใครก็ตามที่เคยศึกษาหรือฝึกฝนไม่ว่าจะเป็นมวยภายในหรือโยคะมาบ้างก็คงเข้าใจในทันทีว่า พลังที่พูดถึงมาทั้งหมดก็คือ “ปราณ” หรือ “ชี่” หรือ “กำลังภายใน” แล้วแต่จะเรียกกันไปนั่นเอง แต่ก่อนที่เราจะเข้าไปถึงรายละเอียดของปราณหรือ ชี่ตามหลักวิชาตะวันออก ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับพลังที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง เป็นแนวคิดในวงกว้าง ทำให้เห็นภาพของพลัง และเข้าใจมันได้ในรูปแบบที่ชัดเจนสำหรับคนทั่วไป ผู้ที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับพลังในวงกว้างนี้ก็คือ “กฤษณะมูรติ” ผู้นำทางความคิดของคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่นั่นเอง
กฤษณะมูรติ กล่าวถึงพลังในแง่ของพลังชีวิตเอาไว้ว่า
“มนุษย์เราโดยแท้จริงแล้วก็คือ พลังงานลักษณะหนึ่ง พลังที่เรามีอยู่คือ พลังความคิด ความรู้สึก ความกระตือรือร้น ความอยากได้ ความปรารถนา กิเลสความทะเยอทะยาน ความเกลียดชัง การกระทำต่างๆ กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์เป็นการแสดงออกของพลัง พลังสามารถสร้างมายา สร้างการคดโกงและก่อให้เกิดความทุกข์ยากต่างๆ ความละเอียดอ่อนที่สุดและการทำลายมากที่สุด ล้วนเป็นการแสดงออกของพลังมนุษย์เช่นกัน”
จากแนวคิดของกฤษณะมูรติ เราจะเข้าใจได้ว่า แม้สำหรับคนธรรมดาทั่วไปก็ย่อมเกี่ยวข้องกับพลังอยู่แล้วโดยผ่านการกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม วจีกรรมหรือมโนกรรมนั่นเอง ใครแสดงออกมาเช่นไรนั่นหมายถึง “พลัง” “ชนิดของพลัง” และ”ระดับของพลัง” ในตัวคนนั้น แนวคิดนี้ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับพลังไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากเรายอมรับแนวคิดนี้ แต่ความหมายของพลังในแง่ของผู้แสวงธรรม หรือจอมยุทธ์หรือโยคี พลังย่อมเป็น “อะไรบางอย่าง” ที่แคบลงมากกว่าที่เคยเอ่ยถึงในข้างต้น
โยคี รามจรกะ เขียนถึงเรื่องปราณไว้ในหนังสือเรื่อง “Science of Breath” ของท่านว่า
“ปราณ ถือว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของแรงและพลังทั้งมวลในจักรวาล มันแทรกอยู่ในอะตอมของมวลสารหรือสรรพสิ่งที่มีอยู่ทุกแห่งในโลกทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแรงโน้มถ่วงของโลก แรงผลักแรงเหวี่ยงแรงดึงดูด และแรงต่างๆที่ปรากฏอยู่ในจักรวาลล้วนแต่มีกำเนิดมาจากปราณทั้งสิ้นปราณแทรกอยู่ในมวลสาร แต่หาใช่มวลสารไม่ อยู่ในอวกาศแต่ไม่ใช่อวกาศอยู่ในอาหาร แต่ไม่ใช่อาหาร ปราณแทรกอยู่ในดินแต่ไม่ใช่ธาตุที่ประกอบเป็นดิน”
“ปราณแทรกอยู่ในสิ่งมีชีวิต บางครั้งก็เรียกว่าพลังชีวิต มันจะแทรกอยู่ในสิ่งมีชีวิตนับตั้งแต่สัตว์เซลเดียว ตัวอะมีบา ไปจนถึงมนุษย์หรือจากอนุภาคเล็กๆของพืชชั้นต่ำจนถึงชีวิตสัตว์”
“ปราณจึงไม่ใช่ตัวตนที่มองเห็นได้ แต่มันเป็นพลังงานที่ถูกใช้ในมวลสารต่างๆ สำหรับปราณที่แทรกอยู่ในสิ่งมีชีวิตเช่นมนุษย์ หากมนุษย์สิ้นชีวิตไปแล้วปราณก็ไม่สามารถถูกควบคุมได้ ปราณกับจิตมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น อุปมาดั่งม้ากับคนขี่ม้า จิตมีอำนาจเด็ดขาดในการบังคับปราณในร่างกายของคนเราให้สมดุลกับพลังปราณภายนอกที่มีมากมายราวกับมหาสมุทรอันกว้างใหญ่”
จากความหมายของปราณในแง่นี้ เราจะพบว่าปราณเป็นตัวเชื่อมของโลกแห่งกายอันประกอบด้วยอนุภาคต่างๆที่เชื่อมโยงกันด้วยแรงสี่แบบคือ แรงโน้มถ่วง แรงไฟฟ้าแม่เหล็ก แรงนิวเคลียร์อย่างอ่อน และแรงนิวเคลียร์อย่างแข็ง ซึ่งแรงทั้งสี่ชนิดนี้ยังไม่สามารถนำมารวมกันได้ ตามหลักทฤษฎีฟิสิกส์ในปัจจุบัน (1997) แม้จะมีนักวิทยาศาสตร์มากมายที่พยายามเสนอวิธีรวมแรงเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน เช่น ทฤษฎี Supertring แต่ในตัวทฤษฎีนี้เองก็ยังมีความบกพร่องอยู่หลายส่วน จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง นอกไปจากนั้น เราจะเห็นว่า ปราณยังมีความสัมพันธ์กับจิตอีกด้วย นั่นคือ นอกจากปราณจะเป็นพื้นฐานของโลกกายภาพแล้ว ปราณยังเป็นพื้นฐานของชีวิตอันประกอบด้วยจิตอีกเช่นกัน ปราณจึงเชื่อมโลกแห่งกาย และจิตเข้าไว้ด้วยกันอย่างแยกกันไม่ออก ถ้าจะเปรียบว่า ปราณเป็น “อนุภาค” ปราณก็ต้องเป็นอนุภาคที่มีจิตวิญญาณนั่นเอง ปราณอาจจะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงโลกของวัตถุวิสัย กับโลกของอัตวิสัยก็เป็นได้ ทั้งนี้และทั้งนั้นก็คงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อไป
ในแง่หนึ่ง การสนใจว่า ปราณคืออะไร? อาจจะไม่น่าสนใจเท่าปราณมีประโยชน์อย่างไร? ครูสุวินัย ได้เขียนไว้ในหนังสือ “มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ความรักกับจอมยุทธ์” ว่า
“กำลังภายในคือพลังชีวิตที่มีอยู่แล้วในตัวเราทุกคน แต่ไม่ปรากฏเป็นรูปลักษณ์ออกมาให้แลเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็เป็นสิ่งพวกเราสามารถรู้สึกรับรู้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธี ไม่ใช่แต่คนเท่านั้นที่มีพลังเช่นนี้จะว่าไปแล้วจักรวาลล้วนเต็มไปด้วยพลังชีวิตเหล่านี้ไม่บนฟ้าในดินหรือในต้นไม้ แต่ถ้ากล่าวเป็นพิเศษเฉพาะกำลังภายในของเรา จะพบว่ากำลังภายในของคนเราเกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบของชีวิตทั้งที่เป็นรูปธรรมอย่างสุขภาพร่างกายและที่เป็นนามธรรมอย่าง จิต เจตนาสติ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และทำปฏิสังสรรค์กัน จนก่อให้เกิดเป็นพลังงานที่เรียกว่า ชี่ ขึ้นภายในร่างกาย พลังงานนี้ถ้าได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธีแล้ว จะก่อให้เกิดพลังที่มีประสิทธิภาพและพลานุภาพมากกว่าในกรณีที่ไม่ได้ฝึกฝนเป็นอันมาก”
อนึ่ง ปราณยังมีคำใช้เรียกในอีกหลายคำ เช่น Energy (พลังงาน) หรือบางทีก็ใช้คำว่า ไวเบรชั่น (Vibration) หรือคลื่นพลัง ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจต่างกันไปบ้าง แต่ทั้งหมดก็มาจากต้นตออันเดียวกัน เพียงแต่ถูกปรับใช้ตามความเหมาะสมหรือสำนวนของผู้เขียนแต่ละคนเท่านั้น
จากความหมายของ “พลัง” ที่ปรากฏใน Star Wars กับปราณหรือชี่ที่กล่าวมาข้างต้นย่อมเห็นแล้วว่ามันหมายถึง สิ่งเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นการที่ ลุค สกายวอคเกอร์ เรียนรู้เรื่องพลังในอีกความหมายหนึ่งก็คือ การเรียนรู้เรื่องปราณและการฝึกควบคุมปราณนั่นเอง จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้
เกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการฝึกพลัง
“พลังนี้มีอยู่เพื่ออะไร? หากจิตใจมนุษย์ซึ่งมีพลังใหญ่หลวงนี้ไม่แสวงหาความจริงหรือไม่แสวงหาพระผู้เป็นเจ้า เมื่อนั้นพลังนั้นจะเป็นไปเพื่อการทำลายล้างและความทุกข์ยากจะเกิดขึ้น
กฤษณะมูรติ
“เราใช้พลังเพื่อการรู้แจ้งและป้องกันตัว…..ไม่ใช่นำมันมาเป็นอาวุธ” คำพูดของเบน เคนโนบี เกี่ยวกับการใช้พลังแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายของการฝึกพลังของเหล่าเจไดอย่างชัดเจน ถ้าหากจะเห็นภาพแนวคิดนี้ให้ชัดเจนขึ้นเราคงต้องพิจารณาคำพูดของดอนฮวน หมอผีชาวอินเดียแดงผู้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพลังในโลกของ Shaman ให้กับคาร์ลอส คาสตาเนด้า ในเบี้องแรกของวิถีแห่งพลัง ดอน ฮวน บอกว่า เราต้องฝึกตนเองให้เป็น “พราน” เรียนรู้วิถีแห่งการล่าการเป็นผู้ล่าและการเป็นผู้ถูกล่า รวมไปถึงวิถีแห่งความตายที่คอยติดตามเราไปเสมอ ความหมายของ “พราน” ในที่นี้แฝงนัยไว้ว่า จงกระทำสิ่งใดในโลกปกติด้วยจิตใจเยี่ยงพรานคือจิตใจที่มุ่งมั่น มั่นคง อดทน เข้มแข็ง เพราะถ้าหากเราอ่อนแอ ลังเล เราก็จะเปลี่ยนจากผู้ล่ามาเป็นผู้ถูกล่าในทันที วิถีของพรานถือว่าเป็นวิถีที่จำเป็นในโลกปกติ เพราะนี่คือ วิถีที่นำเราไปสู่ความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงาน เกียรติยศ ลาภยศ ฯลฯ
แต่เมื่อพรานเข้ามาล่าพลัง เขาจะกลายเป็น “นักรบ” ดังที่ ตอน ฮวน กล่าวไว้ว่า “นักรบบางคน อาจจะเป็นผู้รู้แจ้งได้ในวันหนึ่ง นักรบคือ พรานผู้บริสุทธิ์ที่ไม่แปดเปื้อน และเป็นผู้ล่าพลัง ถ้าหากนักรบล่าพลังได้สำเร็จ เขาก็จะกลายเป็นผู้รู้แจ้ง” หากเรานำคำพูดของดอน ฮวน มาเทียบกับการฝึกวิทยายุทธ์ในทางตะวันออกเราจะพบว่า มีความคล้ายคลึงกันมากทีเดียว เพราะในการฝึกวิทยายุทธ์ในระดับสูงเราจะพบว่า มีผู้ฝึกฝนจำนวนไม่น้อยที่เมื่อฝึกไปถึงขั้นหนึ่งก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นภายในจิตใจ สามารถเข้าใจ “ความจริง” มองโลกในมุมมองใหม่เปลี่ยนวิถีคิดของตนไปได้ หากมองในอีกแง่หนึ่งคือ มีผู้ฝนจำนวนไม่น้อยที่ถือเอา เป้าหมายทางจิตวิญญาณ เป็นหลักและสำคัญกว่าเป้าหมายทางกายภาพเช่น เพื่อการต่อสู้หรือเพื่อสุขภาพ การฝึกฝนวิทยายุทธ์ในขั้นสูงกับการฝึกจิตวิญญาณจึงเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ ทั้งสองส่วนต่างก็เป็นเป้าหมายซึ่งกันและกันส่งเสริมและสนับสนุนกันไปโดยตลอด
กฤษณะมูรติ กล่าวถึงในเรื่องของการแสวงหาความจริงไว้ว่า
“การแสวงหาความจริงนั้นต้องการพลังอันยิ่งใหญ่ ในการแสวงหาความจริง พลังนั้นจะควบคุมตัวมันเอง.....พลังจะสร้างวินัยให้แก่ตัวของมันเอง ดังนั้น นักเรียนหรือครู จึงจำเป็นต้องทำงานด้วยกันเพื่อการพัฒนาพลังนี้ เพื่อการแสวงหาความจริง แสวงหาพระผู้เป็นเจ้า และแสวงหาสัจธรรม ในการแสวงหาความจริงวินัยจะเกิดขึ้นเอง และเมื่อนั้นท่านย่อมบรรลุสู่การเป็นมนุษย์ที่แท้และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”
เป้าหมายของการฝึกพลังในแง่ของปัจเจกนั้นชัดเจนมาก แต่ก็อาจมีคนช่างสงสัยถามว่าแล้วเป้าหมายในแง่ของสังคมจะมีหรือไม่? ถ้าพูดอย่างง่ายๆ หลายคนอาจจะคิดว่าการฝึกพลังนั้นไม่ได้ช่วยอะไรให้สังคมดีขึ้น ปัญหาต่างๆ ในสังคมก็ยังคงมีอยู่ การฝึกพลังจะมีผลในเชิงสังคมอย่างไร?
จริงๆ แล้วในเรื่องนี้ เราต้องยอมรับว่า หากเรามีมุมมองที่เราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางแล้วมองออกไปสู่จักรวาล เราจะตอบปัญหานี้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของสังคมในระดับใด หรือแม้แต่เป็นปัญหาของตัวเราเอง แต่ถ้าเราคิดว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของระบบรวมที่มีอิสระ แต่อิสระของเราก็จะมีผลต่อการเคลื่อนตัวของระบบโดยรวมด้วยเราจะไม่เห็นความแตกต่างกันเลย เมื่อเรามองเห็นตนเองเคลื่อนไหวไปตามจังหวะของจักรวาล ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในปัจเจกจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีผลต่อจักรวาลเมื่อเรามองทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวม เพียงแต่ที่เราไม่เห็นว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงเราต้องถามตัวเองกลับอีกทีว่า แล้วเดี๋ยวนี้มีใครกี่คนที่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้เมื่อเทียบกับสังคมทั้งหมด? เท่านี้เราก็คงได้คำตอบแล้ว
ในอีกแง่หนึ่ง อย่างที่กฤษณะมูรติได้กล่าวเอาไว้ว่า ในความเป็นจริงแล้วนั้นบางส่วนในสังคมต่างหากที่ทำให้เราไม่สามารถใช้พลังได้อย่างเต็มที่ พลังของคนเรานั้นมีชีวิตชีวาและเต็มเปี่ยมเมื่อคนเราเป็นเด็ก แต่เมื่อคนเราโตขึ้นได้รับการเรียนรู้สั่งสอนกำหนดให้รู้โน่นรู้นี่ มีกรอบมีกฎมีเกณฑ์ต้องปฏิบัติ พลังที่เคยเต็มเปี่ยมของคนเราก็จะถูกจำกัดและลดทอนลงไป ความคิดของเราจับเอาองค์รวมทั้งหมดมาแยกเป็นส่วนๆ แล้วไม่สามารถจับมันมารวมกันใหม่ได้ เหมือนแก้วที่อยู่ในสภาพแตกร้าว ในที่สุดคนเราก็กลายเป็น “ผู้ใหญ่ที่มีพลังเหลือเพียงเล็กน้อย และในไม่ช้าก็จะถูกทำลายโดยสังคมมักบอกว่าท่านต้องเป็นประชากรที่ดี”
กฤษณะมูรติได้ชี้แนะทางออกในเรื่องนี้ไว้ว่า
“ดังนั้นสาระของการศึกษาต้องได้แก่ การปลุกพลังนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อแสวงหาความดีงาม ความจริง หรือ เพื่อพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งทำให้บุคคลนั้นเป็นมนุษย์ที่แท้และมีประโยชน์ต่อสังคม”
สิ่งที่กฤษณะมูรติต้องการจะบอกก็คือ สังคมจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าคนหรือปัจเจกในสังคมนั้นไม่เปลี่ยนแปลงตนเอง และการเปลี่ยนแปลงตนเองก็หมายถึง การเปลี่ยนแปลงในเชิงจิตวิญญาณ เป็นมนุษย์ที่แท้จริง และการเป็นมนุษย์ที่แท้ก็คือ การใช้พลังที่มีอยู่เพื่อความดีงาม สัจจะความจริงและพระเจ้า และการจะมีพลังเช่นนั้นได้ก็ต้องเรียนรู้ที่จะทำตัวให้เปี่ยมพลังหรือเดินทางไปในวิถีแห่งพลังนั่นเอง
เพราะฉนั้น จึงไม่เพียง ‘จอมยุทธ์’ เท่านั้นหรอกที่ต้องฝึกพลัง มนุษย์ทุกคนก็ย่อมต้องฝึกและใช้พลังนี้เหมือนกัน หรือถ้าจะมองจากมุมมองของ “เจได” ก็คือ
“ไม่ว่าใครก็สามารถจะเป็นอัศวินเจไดได้ทั้งนั้น”
เกี่ยวกับระบบการฝึกพลัง
เมื่อ ลุค สกายวอคเกอร์ เริ่มฝึกเพื่อเป็นอัศวินเจไดนั้น โยดาปรมาจารย์ของเหล่าเจได ไม่ได้ให้ลุคเริ่มฝึกพลังเลย แต่ได้ให้ลุควิ่งกระโดดไปกระโดดมา จากนั้นก็ให้เริ่มฝึกเอาเท้าชี้ฟ้า ฝึกรวบรวมพลังเพื่อบังคับสิ่งของต่างๆ ทั้งหมดเป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอนตามความก้าวหน้าของผู้ฝึก ถ้าจะอธิบายวิธีการฝึกของเจไดอย่างคร่าวๆ ด้วยหลักวิชาของทางตะวันออก การฝึกวิ่งแบกของหนักๆ กระโดดไปมานั้นก็คือ การฝึกพื้นฐานร่างกาย ให้มีความแข็งแรง แต่มีความยืดหยุ่นสูง เพื่อให้ร่างกายสามารถรับการฝึกในขั้นสูงต่อไป ส่วนการฝึกเอาเท้าชี้ฟ้าศีรษะทิ่มดินหรือเอามือยันพื้นนั้นเป็นการฝึกตามหลักการอภิวัฒน์สมองของศาสตร์ตะวันออก หรือหลักการฝึกโยคะหรือฝึกโคจรพลังสู่ศีรษะแบบเต๋า ในแง่ของกายภาพ การฝึกเช่นนั้นนี้ก็เพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและทำให้ความคิดของผู้ฝึกฝนฉับไวยิ่งขึ้น ส่วนในแง่ของพลังคือ การฝึกพลังให้ไปรวมอยู่ที่ศูนย์พลังในศีรษะ (จักร 6 และจักร 7) และเป็นการฝึกทะลวงพลังผ่านช่องท่อของพลังที่แนบขึ้นมาตามกระดูกสันหลัง เพื่อให้พลังโคจรไปได้สะดวกขึ้นอีกทั้งเป็นการกระตุ้นศูนย์พลังบนศีรษะเพื่อให้สามารถเปิดรับพลังที่มีอยู่ภายนอกได้มากยิ่งขึ้น การฝึกเอาเท้าชี้ฟ้าศีรษะทิ่มดินนี้จึงนับว่ามีความสำคัญมากในระบบการฝึกของทางตะวันออก ซึ่งรายละเอียดของการฝึกนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากหนังสือมังกรจักรวาล เล่ม 2 “เทพอวตาร” ของครูสุวินัย ภรณวลัย ในบทที่ว่าด้วยการอภิวัฒน์สมอง
ส่วนการฝึกรวบรวมเพื่อบังคับสิ่งของต่างๆ นั้นถือได้ว่าเป็นการฝึกสมาธิหรือพลังจิตชนิดหนึ่ง เป็นการรวบรวมพลังทั้งหมดเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงก็เคยมีบุคคลที่สามารถทำให้ช้อนส้อมหักงอโดยใช้พลังจิตของตนเท่านั้น อำนาจพิเศษของอัศวินเจไดอันนี้จึงไม่ใช่เป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว ที่กล่าวมาทั้งหมดเราคงได้ภาพของระบบการฝึกพลังของเจไดอย่างกว้างๆ แต่ในภาพยนตร์ไม่ได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนนี้มากนัก จะว่าไปแล้วการฝึกของเจไดนี้ได้ขาดหลักการฝึกที่สำคัญไปอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นหลักพื้นฐานของการฝึกพลังเลยทีเดียว กล่าวคือ ถ้าขาดหลักนี้แล้วย่อมไม่สามารถฝึกพลังได้อย่างสมบูรณ์ หลักที่ว่านี้ก็คือ การฝึกหายใจที่ถูกต้องเพื่อสะสมพลัง
ปราณ หรือพลังและมนุษย์นั้นเชื่อมต่อกันด้วยการหายใจ การฝึกหายใจอย่างถูกต้องจะช่วยให้เรามีพลังสะสมอยู่ในตัว ครูสุวินัยบอกไว้ว่า ปราณหรือชี่มี 2 ประเภท คือ ชี่ก่อนกำเนิดกับชี่หลังกำเนิด ชี่ก่อนกำเนิดนั้นเรามีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แต่ชี่หลังกำเนิดนั้นเราสามารถฝึกปรือหรือบ่มเพาะได้ โดยผ่าน “การหายใจแบบปฏิภาค” (รายละเอียดส่วนนี้ขอให้ดูในหนังสือมวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ความรักกับจอมยุทธ์” ของครูสุวินัย) ปราณหรือพลังนั้น เมื่อเข้ามาสะสมในร่างกายก็จะกลายเป็นพลังชีวิต หรือในอีกแง่หนึ่งคือ พลังทางเพศ ซึ่งการมีพลังทางเพศนี้สะท้อนถึงสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงนั้น แต่เมื่อฝึกไปถึงระดับหนึ่งในสายการฝึกแบบตันตระเต๋า พลังทางเพศนี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็น “พลังภายใน” (เปลี่ยนจากจิงไปเป็นชี่) ซึ่งพลังอันนี้เองที่ได้ถูกนำมาใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัว และจาก “พลังภายใน” ก็จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็น “พลังจิต” (เปลี่ยนจากชี่ไปเป็นเสิน) ซึ่งใช้ในการฝึกจิตใจขั้นสูงต่อไป
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการเพิ่มเติมหลักการฝึกพลังของเหล่าเจได ที่เป็นหลักที่ใช้ฝึกกันจริงๆ ในวิชาสายมวยภายในแทบทุกสาย แต่ก็เป็นการกล่าวโดยย่นย่อเพื่อให้สามารถเข้าใจระบบการฝึกพลังโดยสังเขป สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีพื้นฐานในเรื่องนี้มาก่อน ซึ่งผู้ที่สนใจในรายละเอียดยิ่งขึ้นก็จะสามารถต่อความเข้าใจนั้นออกไปได้เลย และสำหรับผู้ที่ฝึก “พลัง” เราจะเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะฝึกพลังโดยไม่ผ่านหลักพื้นฐานเหล่านี้ ลุค สกายวอคเกอร์เองก็ต้องฝึกหายใจเหมือนกัน แม้เราจะไม่เห็นปรากฏในภาพยนตร์เลยก็ตาม
หลักการฝึกพลัง ไม่ว่าจะเป็น การฝึกกาย การฝึกหายใจ การฝึกโคจรพลังและการฝึกจิต ทั้ง 4 หลักนี้ไม่จำเป็นต้องฝึกตามลำดับ แต่สามารถฝึกไปพร้อมกันได้เพราะหลักแต่ละอย่างต่างส่งเสริมซึ่งกันและกัน และถ้าหากเน้นฝึกแต่เพียงหลักใดหลักหนึ่งเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้เกิดผลเสียได้เช่น การฝึกกายเพียงอย่างเดียวอาจทำให้เป็นคนแข็งกระด้าง ก้าวร้าว หรือการฝึกจิตเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้สุขภาพอ่อนแอได้ ดังนั้น หลักทุกอย่างจึงถือว่ามีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไว้เมื่อถึงระดับหนึ่งแล้ว ตัวผู้ฝึกก็จะรู้เองว่าควรจะเน้นฝึกหลักใดมากกว่า เพราะคนเราแต่ละคนมีจุดบกพร่องไม่เหมือนกัน การฝึกเน้นนั้นก็เริ่มแก้ไขจุดบกพร่องของตนเองเท่านั้น
ความสำคัญอีกประการหนึ่งของการฝึกพลังก็คือ ระบบการฝึกพลังมิได้ยึดออกไปเป็นเส้นทาง ตามแนวคิดแบบตะวันตก แต่กลับสะท้อนปรัชญาตะวันออกในเรื่องวิถีจักรวาลออกมาอย่างชัดเจนคือ เป็นวงกลมที่หมุนวนซ้อนกันไปอย่างซับซ้อนไม่รู้จบจากวงใหญ่สู่วงเล็ก จากภายนอกสู่ศูนย์กลาง จากมีรูปสู่ไร้รูป จนถึงขั้นสุดท้ายที่ศูนย์กลางของวงกลม ถ้าเทียบก็จะเหมือนกรวยวงกลมที่ปลายแหลมชี้ขึ้นฟ้า ในอีกแง่หนึ่ง วิถีการฝึกแบบนี้ก็แฝงนัยไว้ว่า ให้ผู้ฝึกฝนมุ่งทำตนให้เป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลนั่นเอง
จริงๆ แล้ว วิธีการฝึกอย่างใดอย่างหนึ่งอาจเป็นการฝึกพลังมากกว่าหนึ่งอย่างในเวลาเดียวกัน เช่น การฝึกรำมวยไท้เก๊กจะได้ทั้งการฝึกโคจรพลังเป็นหลักได้การฝึกสติในอิริยาบถเคลื่อนไหว และได้การฝึกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน หรือการฝึกยืนฌานจะได้ทั้งการบ่มเพาะพลัง โดยการฝึกหายใจเป็นหลักและได้การเพิ่มกำลังขาไปด้วย เป็นต้น มีสิ่งหนึ่งที่ในการฝึกเจไดในภาพยนตร์ไม่ได้ระบุไว้ก็คือ ระยะเวลาในการฝึก เราจะเห็นลุคฝึกได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเราต้องอนุมานว่า ลุคมีสายเลือดเจไดมาก่อนจึงทำเช่นนั้นได้ แต่ในการฝึกมวยภายในจริงๆ แล้วนั้น ไม่มีใครสามารถระบุเวลาของการฝึกสำเร็จได้และแน่นอนว่า “พรสวรรค์” มีส่วนในการฝึกร่นเวลาให้เร็วขึ้นได้ แต่ “พรสวรรค์” นั้นบางครั้งอาจจะไม่ถ่ายทอดกันทางสายเลือด แต่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาต่อวิชา ความมานะ ความขยัน และภูมิปัญญาของผู้ฝึกแต่ละคนมากกว่า เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ปัญหาที่แต่ละคนพบในการฝึกจะไม่เหมือนกัน แต่เป็นเรื่องที่ “ครู” ทำได้เพียงชี้แนะเท่านั้น หน้าที่แก้ไขและจะแก้ไขได้หรือไม่ได้ย่อมอยู่ที่ตัวผู้ฝึกเอง ถ้าเทียบจากภาพยนตร์เราจะเห็นว่า ปัญหาของลุคคือ ใจร้อน ไม่อดทน ซึ่งโยดานอกจากจะดุด่าชี้แนะแล้ว โยดาไม่สามารถช่วยลุคในส่วนนี้ได้ จนในที่สุด เขาก็ได้รับบทเรียนด้วยตัวของเขาเองซึ่งจะได้กล่าวต่อไป
แผนภูมิ ระบบการฝึกพลังโดยสังเขป
หากมี “ศิษย์” ถาม “ครู” ว่า เขาต้องใช้เวลาฝึกเท่าไหร่? “ครู” มักจะตอบว่า “ตลอดชีวิต” แต่ครูสุวินัยเคยบอกว่า เราสามารถวัดความก้าวหน้าในขั้นต้นได้ ภายใน 3 ปี นั่นสำหรับคนที่มีพรสวรรค์และได้รับการชี้แนะที่ถูกต้อง และวิชามวยภายในจะใช้การได้ต้องฝึกไม่ต่ำกว่า 5 ปีขึ้นไป สำหรับผู้มีทั้งพรสรรค์ ความขยันและปัญญาอยู่ในตัวคนคนเดียว แต่ถ้าจะฝึกให้ถึงขั้นสำเร็จวิชานั้นไม่มีใครตอบได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจว่าการฝึกพลังมิใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายอย่างในหนัง และเป็นเรื่องที่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจให้มันเต็มที่ เรียกว่า ต้องหายใจเข้าออกเป็นการฝึกกันเลยทีเดียว ไม่ใช่การฝึกแบบสังสรรค์กันตามสปอร์ตคลับ หรือเป็นการฝึกตามกระแสนิยมทั่วๆ ไปครูสุวินัยเคยกล่าวว่ามวยไท้เก๊กนั้นเป็นมวยที่ “All or Nothing” คือได้ก็ได้หมด ไม่ได้ก็ไม่ได้เลย
แต่สำหรับคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ “การฝึกพลัง” จะไม่ใช่เรื่องสูญเปล่าอย่างเด็ดขาดแม้ในจิตใจของเขาแล้ว อย่างน้อยก็ต้องถือว่าจิตใจมีการพัฒนาขึ้นแต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะทะลุอัตตาของตัวเองไปได้ไว้เมื่อการฝึกฝนบ่มเพาะพลังจนถึงขั้นที่ “พร้อม” เขาก็จะสามารถผ่านขีดจำกัดที่มีอยู่ได้เช่นกัน มีคำกล่าวในหมู่ผู้ฝึกว่า “แม้ไม่ผ่านในชาตินี้เกิดมาชาติหน้าอยู่ขั้นไหน ก็ต่อขั้นนั้นไปเลยไม่มีลดชั้น....”ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นระบบพื้นฐานที่สุดของการบ่มเพาะฝึกฝนพลัง ซึ่งการฝึกเจไดในภาพยนตร์นั้นล้วนแต่นำหลักการเบื้องต้นเหล่านี้มาตัดแปลงเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาใหม่ทั้งสิ้น
เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในเชิง “ครู” กับ “ศิษย์”
นอกเหนือไปจากคุณสมบัติต่างๆ ในตัวผู้ฝึก และระบบการฝึกที่ถูกต้องแล้วสิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการฝึกฝนวิทยายุทธ์ก็คือ “ครู” ผู้ถ่ายทอดวิชา ความสัมพันธ์ในเชิง “ครู” กับ “ศิษย์” ในทางตะวันออกนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมากมันไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบกลไกโดยทั่วไปในการศึกษาแผนปัจจุบัน แต่เป็นความสัมพันธ์ในแบบเฉพาะซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบปัจเจกต่อปัจเจก ในแง่หนึ่งมันคล้ายความสัมพันธ์ในครอบครัวแต่ในมิติที่ลึกล้ำกว่า เพราะมันมีความสัมพันธ์ของจิตวิญญาณที่ได้ถูกกำหนดมาแล้วในอดีต
ในระหว่างเจไดด้วยกัน เราจะเห็นความชัดเจนในความสัมพันธ์แบบนี้มากตั้งแต่ความสัมพันธ์ระหว่างโยดากับเบน (โอบีวัน) เคนโนบี ของเบน เคนโนบีกับลุค สกายวอคเกอร์ ของเบนกับดาร์ธเวเดอร์ และของโยดากับลุค ทั้งหมดสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันแบบครูกับศิษย์ในแบบใกล้ชิดที่ไม่ค่อยมีปรากฏให้เห็นบ่อยนักในแนวคิดแบบตะวันตกทั่วๆ ไป การศึกษาศาสตร์ตะวันออกนั้น ให้ความสำคัญกับผู้ถ่ายทอดวิชาอาจจะพอๆ หรือมากกว่าวิชาที่ถ่ายทอดด้วยซ้ำไป เพราะสิ่งที่ผู้ถ่ายทอดวิชาทำนั้นไม่เพียงแต่ถ่ายทอดวิชาให้ศิษย์เท่านั้น แต่ยังได้ถ่ายทอดคุณธรรมหัวใจและวิญญาณ (Heart and Soul) ของผู้ถ่ายทอดให้ศิษย์ด้วย “ครู” ที่ดี นั้นย่อมต้องสามารถแปรเปลี่ยน “พลังด้านลบ” หรือจิตใจใฝ่ต่ำของศิษย์ให้เป็นจิตใจที่สูงขึ้น เพิ่มพลังในเชิงบวกได้ หากมองในแง่นี้ในอดีต โอบีวัน เคนโนบี อาจบกพร่องในคุณสมบัติอันนี้ ซึ่งทำให้เขาพลาดในการถ่ายทอดวิชาให้กับพ่อของลุค
ในศาสตร์ตะวันออก “ครู” จะเลือก “ศิษย์” เอง โดยที่ครูจะทดสอบความตั้งใจของศิษย์เป็นเวลานานจนแน่ใจว่า มีคุณสมบัติเบื้องต้นที่จะเรียนรู้วิชานั้นได้ที่เป็นเช่นนี้ เพราะฐานะของศิษย์ไม่ใช่ผู้เรียนวิชาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็น”ผู้สืบทอด” วิชานั้นๆ ด้วย นั่นคือ ศิษย์ผู้นั้นในอนาคตก็จะกลายเป็น “ครู” ต่อไปอีกและอีกเหตุผลหนึ่ง การถ่ายทอดวิชาจะได้ผล ศิษย์ต้องมีพื้นฐานความคิดและจิตใจคล้ายคลึงหรือเหมือนกับครู เพราะในระดับสูง การเรียนรู้เป็นเรื่องของจิตและจิตที่มีลักษณะไปในทางเดียวกันจะสามารถถ่ายทอดให้กันได้ง่ายกว่า
เมื่อลุค สกายวอคเกอร์ มาพบโยดาในครั้งแรก โยดาตำหนิลุคว่า
“สายตาของมันมักจะมองไปไกลลิบๆ โน่น ขอบฟ้าเอย อวกาศเอย อนาคตเอย ใจของไอ้หนูนี่มันไปไกลเหลือเกิน มันอยากจะผจญภัย อยากจะบินไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้ เจไดไม่ต้องการอย่างนั้น”
“ผมเข้าใจความรู้สึกของตัวเองดี” ลุคอธิบาย
“แกมันเป็นคนไม่มีความคิด!”
อีกครั้งที่ โยดาถามเบนว่า
“เขาเริ่มฝึกพลังมาบ้างหรือยังข้าว่าตอนนี้จะหยุดเสียก็ไม่ช้าเกินไปนะ” และ
“ข้าสอนเจไดมานาน ข้าจะเป็นคนบอกเองว่าคนไหนเรียนได้ เรียนไม่ได้
ทั้งหมดนี้ เป็นเหมือนการทดสอบของโยดาที่มีต่อลุค “ครู” ย่อมเห็นจุดอ่อนของศิษย์ตั้งแต่ต้นที่เจอกัน และการทดสอบนอกจากจะดูความหนักแน่นความตั้งใจของศิษย์แล้ว ยังดูด้วยว่าศิษย์พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองแค่ไหน ครูสุวินัยเคยเล่าให้ฟังว่า มีบางคนมาพบท่านเพื่อขอเป็นศิษย์แม้พื้นฐานมวยดี แต่มีนิสัย “ก้าวร้าว” ท่านก็จะให้ “เงื่อนไข” แก่คนคนนั้นมากกว่าคนอื่น นั่นทำให้เราเห็นได้ว่า ศาสตร์ตะวันออกนั้นเป็นศาสตร์ของการฝึกจิตควบคู่ไปกับการฝึกกายเสมอ
เมื่อครูรับใครเป็นศิษย์นั่นหมายถึง ความสัมพันธ์ในลักษณะพิเศษนี้ย่อมเกิดขึ้นและเป็นความสัมพันธ์แบบตลอดชีวิต ครูจะถือว่าศิษย์เป็นดั่งคนในครอบครัวเดียวกันซึ่งความสัมพันธ์ในแบบครอบครัวนี้ทำให้ความเป็นกลไกของระบบการศึกษานั้นหายไป โยดากับลุคก็ร่วมทานอาหารด้วยกัน อยู่ในกระท่อมโคลนด้วยกัน หรือตอนที่โยดาจะตายลุคก็มานั่งเฝ้าอย่างใกล้ชิด ดูไม่ต่างไปจากคนในครอบครัวเดียวกันเลย ซึ่งแน่ใจได้เลยว่า ปัจจุบันเราจะหาความสัมพันธ์แบบนี้ได้น้อยเต็มที
มีคำถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเรียนรู้ศาสตร์ตะวันออกได้โดยไม่มีครู? คำตอบก็คือเป็นไปได้แต่ยากมาก เพราะคนผู้นั้นต้องมีความสามารถทั้งกายและใจเหนือกว่าคนทั่วไปหลายเท่าตัว เช่น มูซาชิ และจริงๆ แล้ว ครูสุวินัย เคยกล่าวไว้ว่า
“อะไรก็ตามสามารถเป็นครูเราได้ทั้งนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่ง” แต่จุดนั้นย่อมหมายถึง จุดในระดับสูง ซึ่งผู้ฝึกต้องผ่านการวางรากฐานมาอย่างถูกต้องเสียก่อน ดังนั้นการศึกษาศาสตร์ตะวันออกแบบมีครูก็เหมือนไม่มีคือ มีแต่ผู้แนะนำ (instructor) แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์ที่กล่าวมาในขั้นต้น ก็อาจจะทำให้เกิดความไม่สมบูรณ์ในการถ่ายทอดนั้นๆ และจะมีผลไปสู่ความสำเร็จในวิชานั้นๆ ด้วย
เกี่ยวกับการฝึกสมองขวาและเพิ่มความคิดเชิงบวกในการฝึกพลัง
เมื่อเบนเริ่มสอนลุคให้ใช้พลังเขากล่าวว่า
“ลุงอยากให้เธอลองอีกครั้ง พยายามแยกการเคลื่อนไหวกับความคิดให้เป็นอิสระจากกัน อย่างเพิ่งไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียวไม่ว่าจะด้วยสายตาและความรู้สึก ทำใจให้ว่างที่สุด เท่านั้นแหละ พยายามปล่อยตัวให้เป็นไปโดยอัตโนมัติไม่ใช่บังคับด้วยสมอง หยุดคิดทำตัวให้สบายๆ ปล่อยจิตให้ว่าง ว่างมากที่สุด”
หรือเมื่อลุคพยายามถามให้โยดาแจงเหตุผลให้ฟัง
“ไม่ ไม่มีเหตุผลอะไรทั้งนั้น ไม่มีอะไรต้องพูดกันอีก อย่าให้ข้อสงสัยอะไรอยู่ในใจ เงียบซะ! แล้วรักษาความสงบอยู่ภายในใจเสมอ”
หรือเมื่อลุคบอกว่า เขาเกือบทำมันได้แล้ว
“ต้องทำได้ ถ้าหากวัดด้วยบรรทัดฐานอย่างอื่นแล้ว อาจจะพูดได้ว่า อีกนิดเดียวก็ทำได้ เอาไอ้มาตรฐาน ไอ้ความคิดเก่าๆ ทิ้งไปเสียที ทิ้งไอ้พวกนั้นไปให้หมด เจ้าต้องรวมศูนย์จิตใจของเจ้าให้แน่วแน่”
จากข้างต้นเราจะเห็นได้ว่า การฝึกเจไดนั้นไม่ใช่การฝึกด้วยสมองซ้าย แต่เป็นการฝึกสมองขวาซึ่งเน้นเรื่องการผ่อนคลาย การใช้สมาธิ และญาณทัศนะ ทั้งนี้หากมองกันด้วยหลักวิชาการอภิวัฒน์สมองก็คือ การทำให้สมองทั้งสองส่วนทำงานอย่างประสานกลมกลืนกันนั่นเอง พลังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างชัดแจ้ง เราเพียงรู้สึกมันได้และการฝึกพลังก็อยู่นอกเหนือวิธีคิดแบบเหตุผลของสมองซ้าย การคิดแบบเหตุผลของสมองซ้ายแม้จะมีประโยชน์ในการดำรงชีวิตทั่วไปแต่ก็มีขีดจำกัด เพราะสมองซ้ายนั้น “ถาม” มากกว่า “ตอบ” ในขณะที่สมองขวา “ตอบ” มากกว่า “ถาม”
สมองด้านซ้ายจะสร้าง “กรอบ” ของความคิดขึ้นมา ทุกอย่างที่อยู่ในกรอบนั้นแน่นอนว่าถูกต้องตามหลักเหตุผลแต่สิ่งที่อยู่นอกกรอบนั้น สมองด้านซ้ายไม่สามารถตัดสินได้ว่าถูกหรือผิด เมื่อตัดสินไม่ได้มันก็เป็นความคุ้มเคยที่จะไม่รับเรื่องเหล่านั้นไปโดยปริยายโดยบอกให้ลุคทำลายกรอบอันนั้นเสีย เลิกใช้เหตุผลกับสิ่งที่เหตุผลใช้กับมันไม่ได้ แล้วกลับมาอยู่ในความสงบซึ่งเป็นการทำงานของสมองขวา
สมองของคนเราถูกพบว่าการใช้งานแค่ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณสมองทั้งหมดทั้งๆ ที่เทียบไปแล้ว พื้นที่บรรจุข้อมูลในสมองมีมากกว่าพื้นที่บรรจุข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างเทียบกันไม่ได้ ทำไมสมองต้องเหลือพื้นที่ไว้แยะขนาดนั้น? ครูสุวินัยเคยบอกว่า ลำพังเพียงสมองซ้าย ก็เพียงพอสำหรับการคิด (conscious) หรือใช้ชีวิตตามแบบปุถุชนคนธรรมดาทั่วๆ ไป แต่สมองขวานั้นคือ แหล่งบรรจุข้อมูลที่อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก (subconscious) และจิตไร้สำนึก (unconscious) อันเชื่อมโยงไปกับ จิตสำนึกสากล (cosmic conscious ) สมองขวาจึงมีหน้าที่ด้านญาณทัศนะ ประสาทที่ 6 ความฝัน ฯลฯ ได้อย่างไม่สิ้นสุด แม้ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ จะระบุได้ว่าอีก 85 เปอร์เซ็นต์ของสมองมีไว้ทำไม แต่เราก็พอจะจินตนาการได้ว่า ถ้าหากเราต้องการเก็บข้อมูลตั้งแต่ระดับด้านๆ จนถึงข้อมูลในระดับลึกที่สุดซึ่งมีอยู่มากมายมหาศาลนั้น เราจะเก็บมันไว้ที่ไหนถ้าไม่ใช่ที่เหลืออยู่ในสมอง
การฝึกฝนเปลี่ยนแปลงตนเองนั้น ในแง่หนึ่งก็คือ การเปลี่ยนวิธีคิด น่าเสียดายที่ระบบการศึกษาแบบตะวันตกมุ่งเน้นใช้สมองซ้ายเป็นหลัก ซึ่งคนทั่วไปก็มีแนวโน้มของการใช้สมองซ้ายมากกว่าสมองขวาอยู่แล้ว จึงอาจเป็นอุปสรรคอย่างมากสำหรับคนในปัจจุบันที่จะฝึกจิตเพราะไม่คุ้นเคยกับการใช้สมองขวา และนั่นอาจเป็นคำตอบได้ว่าทำไมถึงมีผู้คนสนใจฝึกฝนจิตใจเพียงน้อยนิดในปัจจุบัน สมองขวาเองก็ใช่ว่าจะ “ไม่อันตราย” หากใช้สมองขวามากเกินไปก็จะทำให้เป็นคนที่มีความเชื่อมากกว่าเหตุผลซึ่งอาจจะนำไปผิดแนวทางในการฝึกได้ การฝึกปรับสมดุลสมองทั้งสองข้างจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการฝึกพลัง แต่ที่เน้นถึงสมองขวามากกว่านั่นเพราะคนทั่วไปมีแนวโน้มใช้สมองซ้ายอยู่มากนั่นเอง นี่คือลักษณะเสริมอันหนึ่งของการฝึกพลังว่าด้วย การปรับสมดุลสมองซ้ายขวา
ส่วนลักษณะเสริมอีกอย่างหนึ่งของการฝึกพลังก็คือ ความคิดในเชิงบวก จะว่าไปแล้วความคิดในเชิงบวก (Positive Thinking) นี้มีความสอดคล้องต่อเนื่องกับการปรับสมดุลสมองซ้ายขวา เพราะการหัดการคิดในแง่บวกจะทำให้ฮอร์โมนที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองหลั่งออกมา ทำให้รู้สึกไม่เครียด ไม่กังวล มีความตื่นตัวสดชื่นอยู่เสมอ การคิดในแง่บวกคืออะไร? เราจะดูได้จากตัวอย่างในการฝึกฝนของลุค สกายวอคเกอร์ เมื่อโยดาสั่งให้ลุคลองใช้พลังยกยานของเขาขึ้นมาจากบึงโคลน ลุคบอกว่า เขาทำไม่ได้เพราะมันไม่เหมือนการยกน้ำหนักในทั่วๆ ไป โยดาจึงดุลุคไปว่า
“เหมือนกัน! เหมือนกัน! เหมือนกันทั้งหมด ที่ไม่เหมือนน่ะอยู่ในใจเจ้า เจ้าควรเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ มันทำได้!”
“ผมจะพยายาม” ลุคตอบ
“ไม่! ไม่มีพยายาม มีแต่ทำหรือไม่ทำ ไม่มีจะพยายาม”
.....
“สองอีก ลองอีก ไม่งั้นก็เลิกฝึกเสียดีกว่า!”
ลุคลองอีกครู่ใหญ่ก็ไม่สำเร็จ คราวนี้เขาอ้างว่ามันใหญ่เกินไป
“เล็กหรือใหญ่ ยาวหรือสั้นไม่มีความหมายอะไรเลย เจ้าตัดสินใจตัวฉันที่รูปร่างของฉันหรือ?”
จนในที่สุด โยดาก็ใช้ “พลัง” ยกยานลำนั้นขึ้นมาเอง ท่ามกลางความตะลึงของลุค
“เป็นไปไม่ได้ มัน…..มันไม่น่าเชื่อเลย!”
“นั่นแหละ ปัญหาของเจ้า! เมื่อเจ้าคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้จึงไม่มีปัญญาจะทำมัน”
ลุคซึ่งยังคงคิดเป็นเหตุเป็นผลอยู่คิดว่าเขาทำมันไม่ได้ เขาก็เลยทำมันไม่ได้จริงๆ เพราะเมื่อเขาคิดเช่นนั้นก็ส่งผลให้เขาไม่สามารถรวบรวมพลังให้มากพอได้ และยังกลายเป็นกรอบความคิดของตัวเขาที่กักขังปิดกั้นศักยภาพของตัวเขาไปอีกด้วย โยดาเหมือนต้องการจะบอกให้เรารู้ว่าที่เรารู้สึกได้ไม่ได้ เหมือนไม่เหมือนนั้นเป็นแค่ทัศนคติในใจเราเท่านั้น แต่ความเคยชินทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งนั้นมันเป็นจริงด้วย เมื่อเรารู้สึกว่ามันจริงทำไม่ได้และมันจะทำให้ศักยภาพในความคิดของเราลดลง จนเราต้องเกิด “ความพยายาม” ขึ้นมา ความพยายามในที่นี้ย่อมต่างจากความเพียร เพราะความพยายามแฝงนัยว่า อาจจะได้หรือไม่ได้เรายังไม่รู้ เป็นการเอาใจไปยึดอยู่กับอดีตและอนาคต ขณะที่ความเพียรเป็นปัจจุบันขณะมากกว่า ความเพียรไม่เคยถามว่าได้หรือไม่ โยดาถึงไม่ให้ลุคพยายาม เพียงแต่ให้ทำในปัจจุบันขณะเท่านั้น
ความคิดในเชิงบวกยังรวมไปถึงการมองโลกในแง่ดี ความรัก ความดีงามและความศรัทธาอีกด้วย โดยเฉพาะความศรัทธานั้นถือว่าเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จของการฝึกเลยก็ว่าได้ อาจารย์เจิ้งมั่นชิง ปรมาจารย์มวยไท้เก๊กยุคใหม่ได้กล่าวถึงข้อบกพร่องของศิษย์ของตนว่า ไม่มีความศรัทธาเพียงพอจึงไม่อาจฝึกได้เทียบเท่าขั้นอาจารย์ได้ ในแง่หนึ่งหลักแรงสี่ตำลึงปาดแรงพันชั่ง ของมวยไท้เก๊กก็ไม่ต่างจากที่โยดาใช้พลังยกยานขึ้นลอย มันเป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุผลว่า ของที่เบากว่าจะยกของที่หนักกว่าขึ้นได้อย่างไร? หรือคนที่ตัวเล็กกว่าจะเอาชนะคนตัวโตกว่าได้อย่างไร? หากตัวผู้ฝึกไม่มีศรัทธาเชื่อมั่นว่า สิ่งนี้ทำได้ ก็เปล่าประโยชน์ที่จะฝึกต่อไป เพราะไปเชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่า ตนเองจะล้มเหลวฝึกไม่สำเร็จ ความคิดในเชิงบวกจึงจำเป็นสำหรับการฝึกพลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความคิดในแง่บวก ความรักและความศรัทธาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการฝึกพลัง เพราะมันจะช่วยไม่ให้เราลังเล หรือมีความเกลียดความโกรธความกังวลและความกลัวอยู่ในใจ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่นำเราไปสู่ “ด้านมืดของพลัง” ซึ่งเป็นอาณาเขตที่น่ากลัวที่สุดในการฝึกพลังของเจได
เกี่ยวกับอำนาจพิเศษของเจได
การฝึกพลังของเจไดทำให้เมื่อถึงจุดหนึ่ง เจไดจะมีอำนาจพิเศษบางอย่างที่เหนือคนธรรมดาลักษณะของอำนาจที่ว่านั้นได้แก่
(1) อำนาจจิตในการบังคับใจคนอื่น เจไดที่ทรงพลังจะสามารถใช้พลังจิตของตนบังคับใจของผู้อื่นให้ทำตามความต้องการของตนได้ เช่น เบน เคนโนบี ใช้ พลังจิตบังคับทหารยามที่เฝ้าอยู่ที่ด่านให้ปล่อยพวกของตนไป หรือลุคบังคับลูกน้องของแจ๊บบาให้เปิดประตูแล้วนำตนเข้าไปพบกับแจ๊บบา อำนาจที่ว่านี้ เจได้สามารถใช้ได้กับคนเท่านั้นเพราะสิ่งมีชีวิตรูปแบบอื่นมีระบบของจิตที่แตกต่างไปจากคน เช่น ลุค ไม่สามารถใช้อำนาจนี้กับแจ๊บบาได้ จะว่าไปแล้ว เจไดมักไม่ค่อยใช้มันพร่ำเพรื่อ เพราะมันจะทำให้สูญเสียพลังโดยใช่เหตุ แต่จะใช้มันในบางกรณีเช่น หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือการต่อสู้ที่ไม่จำเป็น บางครั้งอำนาจชนิดนี้อาจถือว่าเป็นลูกไม้ของเจไดด้วยซ้ำ
(2) อำนาจโทรจิตในการติดต่อกันระยะไกล ระหว่างเจไดกับเจไดด้วยกันจะสามารถติดต่อกันได้หรือรู้สึกถึงกันได้ เช่น ลุคและดาร์ธ เวเดอร์ สามารถรู้สึกถึงกันและกันได้ บางครั้งแม้ผู้ที่ยังไม่ใช่เจได แต่มีสายเลือดเจไดก็สามารถติดต่อกับเจไดทางโทรจิตได้ เช่น ลุค สามารถติดต่อให้เลอา (ผู้เป็นน้องสาว) กลับมาช่วยในยามคับขัน
(3) อำนาจจิตในการบังคับสิ่งของต่างๆ ให้เคลื่อนที่ เป็นอำนาจในการรวมพลังจิตเพื่อยกหรือบังคับสิ่งของซึ่งดูเหมือนว่าไม่จำกัดด้วยขนาด รูปร่างและน้ำหนักให้ลอยหรือเคลื่อนที่ไปตามที่ต้องการ เช่น โยดายกยานของลุคขึ้นจากบึงโคลนหรือลุคบังคับกระบี่แสงที่หล่นอยู่ที่พื้นให้ลอยกลับมาอยู่ในมือของตนได้ โยดาบอกว่าอำนาจชนิดนี้ ไม่ใช่อำนาจของเจได แต่เป็นอำนาจของพลังที่แทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งต่างหาก
(4) อำนาจในการรู้สึกถึงพลัง กลุ่มของพลัง เจไดจะมีความฉับไวกับพลังเป็นพิเศษโดยเฉพาะพลังด้านตรงข้าม เช่น เบน เคนโนบี รู้สึกถึงความสูญเสียพลังอำนาจจำนวนมหาศาลเมื่อดาวดวงหนึ่งถูกระเบิดไป อำนาจนี้จะทำให้เจไดระแวดระวังยิ่งขึ้น เมื่อไปอยู่ในสถานที่ที่ตนไม่เคยเข้าไป
(5) อำนาจในการหยั่งรู้อนาคต เมื่อฝึกถึงขั้นหนึ่ง เจไดสามารถตั้งจิตให้เป็นสมาธิแล้วสามารถโน้มจิตไปเพื่อดูเหตุการณ์ต่างๆ ในที่ไกลๆ หรือในอนาคตได้ เช่น ลุคในขณะฝึกก็เห็นเพื่อนของเขาถูกทรมานซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งไม่แน่เสมอไปว่าเหตุการณ์นั้นจะเกิดขึ้นจริงดังที่เป็น ดังที่โยดาบอกไว้ว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอคือ อนาคต
(6) อำนาจจิตที่ยังคงรูปอยู่แม้จะสละร่างไปแล้ว เจไดเมื่อตายร่างกายจะสูญหายไปเหลือไว้เพียงอำนาจจิต ที่ยังสามารถแสดงตนออกมาในรูปเดิม หรือจะแสดงแค่เสียงเพื่อติดต่อกับเจไดที่ยังชีวิตอยู่ อำนาจนี้จะเหมือนอำนาจที่เคยชี้นำเจไดรุ่นหลังๆ มากกว่า เพื่อไม่ให้เดินก้าวไปสู่ด้านมืดของพลัง เช่น เบนเมื่อละร่างไปแล้วก็ยังคอยมาให้คำแนะนำ ลุคอยู่เสมอ
เจไดแม้จะมีพลังอำนาจพิเศษเพียงใดก็ตาม ก็ไม่สามารถใช้อำนาจนั้นได้ตามอำเภอใจเช่นในบริเวณแผ่พลังของ ดาร์ธ เวเดอร์ โยดาหรือเบนไม่สามารถที่จะให้คำแนะนำใดๆ แก่ลุคได้ และเจไดก็ไม่สามารถใช้อำนาจนี้ไปบังคับหรือเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของผู้อื่นไม่ว่าทั้งโยดา เบน หรือดาร์ธ เวเดอร์ ก็ไม่อาจใช้อำนาจพิเศษของตนบังคับให้ลุคมาอยู่ฝ่ายตนได้ ลุคจะเลือกฝ่ายไหน ย่อมเป็นผลมาจากการตัดสินใจของเขาเอง ในบรรดาอำนาจพิเศษทั้งหมดที่เจไดมีอำนาจอย่างที่ 6 คือ อำนาจที่จะคอยชี้นำเจไดรุ่นหลังดูจะมีความสำคัญที่สุดเพราะอำนาจชนิดนี้เหมือน “เทพผู้คุ้มครอง” (guide spirit) หรือ “นักบุญประจำตัว” ของแต่ละคนที่จะทำให้เขาเดินไปในวิถีพลังอย่างถูกต้อง อำนาจชนิดนี้จะว่าไปแล้วก็คือ “ครู” ของเรา...ครูภายในตัวเราที่จะช่วยทำให้ตัวเรากลายเป็นครูของตัวเราเองได้ ซึ่งบางครั้งจะปรากฏในรูปของเสียงจากภายในใจของแต่ละคนนั่นเอง
พลังอำนาจพิเศษของเจไดดูเป็นการผสมผสานกันของอำนาจพิเศษที่ได้จากการฝึกสมาธิในระดับสูง ซึ่งมีบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณไม่ว่าจะเป็นสายพุทธ สายเต๋า หรือในคัมภีร์โยคะต่างๆ หรือในวิชาพลังจิตของนักพลังจิตในตะวันตก อำนาจเหล่านี้สำหรับคนทั่วไป จะเหมือนกับปาฏิหาริย์ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยฝึกฝน บ้างที่ก็ไม่เชื่อก็หาว่าเป็นการเล่นกล เช่น การยกของให้ลอยขึ้น บางคนก็มีการแอบใช้ลวดเส้นเล็กๆ ที่มองไม่เห็นดึงไว้ แต่สำหรับคนที่ใกล้ชิดกับการศึกษาศาสตร์ตะวันออกจะเห็นว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นไปได้ที่คนเราจะฝึกให้มีความสามารถเช่นนั้นแม้ในบางคนที่ไม่เคยผ่านการฝึกฝนมาก็อาจมีอำนาจที่พิเศษบางอย่างได้ เช่น การมีสัมผัสที่ 6 ในระดับที่สูงกว่าคนธรรมดาทั่วไปหรือความสามารถที่จะเห็นอนาคตล่วงหน้าหรือเห็นนิมิตต่างๆ ขณะที่หลับหรือทำสมาธิอยู่ได้ไม่ใช่เรื่องที่แปลกแต่ประการใด เพียงแต่เป็นอำนาจในระดับต่ำและไม่คงที่เท่านั้น
คนทั่วไปมักจะตื่นเต้นกับอำนาจเหล่านี้และมักเข้าใจว่า การฝึกจิตก็เพื่อได้อำนาจพิเศษเหล่านี้ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดและอันตรายอย่างที่สุด การให้ความสนใจกับอำนาจเหล่านี้โดยละทิ้งการพัฒนาของ “จิต” ทำให้อำนาจเหล่านี้กลายเป็นตัวฉุดรั้งให้จิตวิญญาณของเขาไม่มีความก้าวหน้าหรือไม่ก็ตกต่ำลงไปอีก มันจะมีความสำคัญอะไร ถ้าคนหนึ่งเหาะได้ หรือหายตัวได้แต่ไม่รู้ว่าความรักที่แท้จริงคืออะไร? ไม่เรียนรู้ที่จะรักตนเองและเผื่อแผ่ความรักนั้นไปให้ผู้อื่น? มิหนำซ้ำอำนาจเหล่านี้หากนำไปใช้ในการแสวงหาผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น เงินทอง ชื่อเสียง ฯลฯ หรือนำไปทำร้ายผู้อื่นอย่างเจตนา ในที่สุดแล้วก็อย่างที่กฤษณะมูรติ เคยกล่าวไว้อำนาจนั้นก็จะกลายเป็นการทำลายล้าง และความสูญเสียจะเกิดแก่มวลมนุษย์
มีเรื่องเล่าสองเรื่องที่จะนำมากล่าวไว้อย่างย่อๆ เพื่อเป็นอุทาหรณ์และบ่งชี้ให้เห็นว่า อำนาจพิเศษเหล่านี้มีความหมายอย่างไร เรื่องแรก คือเรื่องของ มิราเลปะพระและกวีชาวธิเบต ผู้รจนา “บทเพลงธรรมะหนึ่งพันบท” ก่อนที่มิราเลปะจะได้มาปฏิบัติธรรม เขาได้ศึกษาเรียนรู้อำนาจพิเศษจนเชี่ยวชาญด้วยความเคียดแค้นแก่ศัตรูผู้ซึ่งทำร้ายเขาและน้องสาวในสมัยที่เขาเป็นเด็ก เขาจึงใช้อำนาจนี้เสกก้อนหินให้หล่นลงมาจากท้องฟ้าตกลงใส่หมู่บ้านของศัตรู ทำให้มีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก แน่นอนว่าเขาย่อมฆ่าศัตรูของเขาได้ แต่ผลจากการกระทำนั้นทำให้เขาต้องมาเรียนรู้ทางจิตวิญญาณด้วยความยากลำบากกว่าคนอื่นมาก เริ่มจากการโดนทดสอบจากอาจารย์ของเขาอย่างที่ไม่น่าจะมีใครทนการทดสอบอันสุดโหดนี้ได้ จนมาถึงการปฏิบัติธรรมอย่างเด็ดเดี่ยวอยู่เพียงลำพัง มีอาหารกินเพียงผักหญ้าที่ขึ้นในถ้ำเป็นเวลานับสิบปีกว่าที่จะมีดวงตาเห็นธรรม (เรื่องราวเกี่ยวกับ มิราเลปะ ในส่วนที่สำคัญและสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ดูเพิ่มเติมได้จากหนังสือมังกรจักรวาลภาคพิศดารตอน “ฮาร์ท แอนด์ โซล” ของครูสุวินัย)
เรื่องที่สอง คือเรื่องของ “Fisher King” กษัตริย์องค์หนึ่งได้เห็น “จอกศักดิ์สิทธิ์” ปรากฏขึ้นต่อหน้า ด้วยความปรารถนาอยากได้ เขาจึงเอื้อมมือไปหยิบมันแต่โดนอำนาจของจอกศักดิ์สิทธิ์ เผาจนมือนั้นเป็นแผลผุพอง แล้วจอกศักดิ์สิทธิ์ก็หายไป หลังจากนั้นกษัตริย์องค์นั้นก็ไม่ทำอะไร เฝ้าแต่จะตามหาจอกศักดิ์สิทธิ์ ละทิ้งหน้าที่และแผ่นดินจนความเดือดร้อนเข้าปกคลุมไปทั่ว บาดแผลในมือก็รักษาไม่หายและลุกลามไปใหญ่โต จนสุดท้ายเขาก็ไปไหนมาไหนไม่ได้ ต้องนอนทนพิษบาดแผลรอความตายอยู่บนข้างถนนเพียงลำพัง วันหนึ่งมีชายพเนจรคนหนึ่งเดินผ่านมาบริเวณนั้น พระองค์เห็นเข้าจึงร้องเรียกให้ชายพเนจรเข้ามาแล้วขอให้ชายพเนจรช่วยไปตักน้ำมาให้ พระองค์ทานก่อนตายเพราะทรงกระหายน้ำมากอยากจะดื่มน้ำสักแก้วหนึ่ง ชายพเนจรก็ทำตามเมื่อพระองค์รับแก้วน้ำจากชายพเนจร พระองค์ก็ต้องประหลาดใจอย่างที่สุดเมื่อพระองค์พบว่า แก้วที่ชายพเนจรตักน้ำให้พระองค์ดื่มนั้นก็คือ จอกศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง “ท่านพบจอกศักดิ์สิทธิ์นี้ได้อย่างไร?” พระองค์ถาม ชาย พเนจรตอบกลับมาว่า “ข้าพระองค์ไม่รู้หรอกว่า มันคือจอกอะไร....ที่รู้ก็คือพระองค์กำลังกระหายน้ำเท่านั้น”
ความหมายของจอกศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ไหน? อยู่ที่ตำนานหรืออยู่ที่อำนาจของจอกอันศักดิ์สิทธิ์ หรืออยู่ที่การใช้จอกนั้นให้ศักดิ์สิทธิ์กันแน่? จอกศักดิ์สิทธิ์นั้นที่จริงก็คือ แก้วน้ำธรรมดาใบหนึ่ง เมื่อมันส่งผ่านความเอื้ออาทร ความเมตตาและความรักจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่งอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของจอกนั้นก็จะปรากฏขึ้นมา เมื่อคนละโมบคิดครอบครองมันไว้เพียงลำพังความศักดิ์สิทธิ์นั้นก็จะหายไป คนสามารถ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ได้หรือไม่? ถ้าหากคนผู้หนึ่งสามารถส่งผ่านความรักอันสูงสุดสู่ผู้อื่นเยี่ยงจอกศักดิ์สิทธิ์ส่งผ่านน้ำแก่ผู้กระหาย และความศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้กับอำนาจมหัศจรรย์ต่างๆ อันไหนจะมีคุณค่ากว่ากัน? เราทุกคนต่างก็รู้คำตอบนี้อยู่ในใจของเราอยู่แล้ว
อำนาจพิเศษต่างๆ ของเจไดนั้น เจไดถือว่าเป็นเพียงผลจากการฝึกพลังอันหนักหน่วงของตนเท่านั้น ยังไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของการฝึกพลัง ซึ่งเจไดทุกคนต่างก็รู้ดีอยู่แล้วว่า เป้าหมายที่ชัดเจนนั้นคืออะไร? ที่ควรทำความเข้าใจกันก็คือ อำนาจเช่นนี้ไม่อาจซื้อหาด้วยเงินตรา แต่จะได้มาจากการฝึกฝนเท่านั้น ถ้ามีใครมาบอกว่าสามารถทำให้ผู้อื่นมีอำนาจเช่นนั้นเช่นนี้ได้ด้วยเงินจำนวนเท่านั้นเท่านี้ ก็ขอให้พิจารณาเรื่องที่เขากล่าวมานั้นอย่างรอบคอบดีกว่า หลายคนอยากจะมีอำนาจพิเศษซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาอยากมีมันไปทำไมในเมื่อหากเขามีมันแล้ว เขาไม่รู้ว่าจะเอามันไปใช้ทำอะไร อย่างไร และเพื่ออะไร เพื่อใคร? จงอย่าลืมว่า เจไดที่แท้จริงนั้นไม่ได้อยู่ที่การยกก้อนหินให้ลอยจากพื้นได้
เกี่ยวกับด้านมืดของพลัง
“คนเราอาจตัดสินใจผิดพลาดกันได้ทุกคน...แต่ไม่ใช่ทุกเวลา”
เบน (โอบีวัน) เคนโนบี
“ใบหน้าที่แท้จริงของเธอเป็นเช่นไร?”
ปริศนาธรรมของเซน
เมื่อโยดายอมรับลุคเป็นศิษย์คนสุดท้าย ลุกบอกกับโยดาว่าเขาไม่กลัวสิ่งใด โยดานิ่งไม่ว่ากระไร แต่สุดท้ายก็พูดออกมาเบาๆ ว่า “เจ้าจะต้องกลัว...” พลังนั้นถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ พลังฝ่าย “สว่าง” ที่เป็นตัวแทนของความดี ความรัก กุศลกรรมและความหวัง เจไดที่สมบูรณ์จะเปี่ยมไปด้วยพลังอันนี้ ขณะที่พลังฝ่าย “มืด” คือ ตัวแทนของความเกลียดความโกรธความกลัวไม่ใช่ว่าเจไดทุกคนจะถูกครอบงำด้วยพลังด้านมืด แต่ผู้ที่ถูกมันครอบงำจะตกอยู่ในอำนาจของมันและใช้พลังที่มีไปในทางทำลายล้าง
แนวคิดของศาสตร์ตะวันออกมีรากฐานอยู่บนปรัชญาแบบทวิภาวะ กล่าวคือถือว่าทุกสรรพสิ่งในโลกแห่งปรากฏการณ์ล้วนเป็นของคู่ มีอ่อนย่อมมีแข็ง มีต่ำย่อมมีสูง มีดำย่อมมีขาวทุกสิ่งล้วนมีคู่ตรงข้าม ซึ่งไม่ใช่คู่ที่จะทำลายล้างกัน แต่จะเป็นปัจจัยให้เกิดการเคลื่อนไหวเป็นวงกลมที่หมุนไปอย่างไม่หยุดหย่อน ใน ตันตระพุทธ กล่าวไว้ว่า มีพลังอย่างหนึ่งซึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งอุบัติขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นสากลและดำรงอยู่ทุกหนทุกแห่ง พลังนี้ยากที่จะอธิบายด้วยคำใดๆ เพราะโดยพื้นฐานแล้วมันคือ พลังแห่งจิตใจ เมื่อเราสัมผัสถึงอารมณ์เราจะเริ่มรู้สึกว่ามีกระแสไฟฟ้าก่อเกิดขึ้นในตัว มันจะเกิดขึ้นเสมอ ไม่ว่าโลกจะยอมรับกับประสบการณ์ทวิภาวะคือประสบการณ์ที่ตัวตนดำรงอยู่และผู้อื่นดำรงอยู่เมื่อมีทวิภาวะเกิดขึ้น กระแสไฟฟ้าที่ว่านี้ก็จะก่อเกิดไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา พลังนี้จึงเกิดขึ้นอย่างธรรมดา เพราะมันเป็นเพียงการขัดสีกันของทวิภาวะของ “เรา” และ “โลก” และทวิภาวะของเรา “เรา” และ “ผู้อื่น”
เมื่อมีการแบ่งแยกระหว่างตัวเราและผู้อื่นเกิดขึ้น พลังก็เกิดขึ้นหากเราไปปฏิเสธพยายามปิดปังการแบ่งแยกนั้นเสียจะเป็นต้นเหตุของปัญหาต่างๆ แต่การรวมตัวเข้ากับการแบ่งแยกก็ไม่ได้เกิดผลดีแต่อย่างใด ที่เราควรทำก็คือ เข้าใจช่องว่างของทวิภาวะโดยไม่พยายามไปรวมตัวหรือปฏิเสธปิดกั้นมันเท่านั้น ไม่มีใครที่จะปฏิเสธว่า ตนเองปราศจากทวิภาวะจิตใจของเรานั้นมีทั้งฝ่ายดีงามและชั่วร้าย เพียงแต่ในคนธรรมดาทั่วไปมักปิดกั้นความเลวร้ายของตนได้ด้วยกรอบของศีลธรรมเท่านั้น สำหรับผู้ฝึกฝนตนเอง การเรียนรู้เรื่องพลังด้านมืดจึงเป็นเหมือนบททดสอบของตนเองไปด้วย เจไดไม่เกรงกลัวพลังด้านมืด แต่ต้องระวังไม่ให้มันเข้ามาครอบงำเท่านั้น เมื่อเริ่มฝึกใหม่ๆ โยดาก็ได้เตือนลุคในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
“โทสะ! มันเป็นเพียงโทสะ ความกลัวและก้าวร้าวหุนหัน ด้านมืดของพลัง ไหลเวียนอยู่ในตัวเจ้า มันจะส่งเสริม จิตใจในการต่อสู้ของเจ้าเพียงอย่างเดียว เจ้าต้องตั้งใจ! ตั้งใจ! ตั้งใจ! ไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องเสียค่าตอบแทนอย่างใหญ่หลวง”
“ค่าตอบแทนอะไรครับ?”
“มันคือ ด้านมืดของพลัง เมื่อเจ้าย่างเข้าสู่เส้นทางที่เลว ทุกอย่างก็จบสิ้นไม่ต่างอะไรกับลูกศิษย์คนหนึ่งของโอบีวัน (หมายถึง ดาร์ธ เวเดอร์)”
“ด้านมืด แข็งแกร่งกว่าหรือครับ”
“ไม่! แต่มัน เร็วกว่า ง่ายกว่า และเย้ายวนกว่า”
“แล้วมีวิธีที่จะกลับมาจากด้านมืดมาสู่ด้านสว่างไหมครับ?”
“แล้วเจ้าจะรู้เองในไม่ช้า เพียงปลอบใจให้สงบและสันติ รอให้มันมาถึง เจไดใช้พลังเพื่อการรู้แจ้ง ไม่ใช่เพื่อเข่นฆ่า”
ลุค สกายวอคเกอร์ เป็น เจได โดยสายเลือด นั่นเป็นสิ่งที่ทั้งโยดาและเบนต่างก็หวั่นวิตกอยู่ในใจว่าลุคอาจจะไม่สามารถต้านทานพลังมืดได้เช่นเดียวกับพ่อของเขาขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งจักรพรรดิ์และดาร์ธ เวเดอร์ ก็รู้ดีเช่นกัน ลุคจึงเป็นเหมือนผู้กุมชะตาของจักรวาลเอาไว้ หากลุคเลือกฝ่ายพลังด้านมืด จักรวรรดิ์ก็จะมีชัยเหนือจักรวาลในทันที อนาคตของจักรวาลจึงขึ้นอยู่ที่ว่า ลุคจะสามารถพัฒนาจิตวิญญาณของตนไปได้แค่ไหน
ในความคิดของตะวันออกที่ยืดหยุ่นและมีพลวัตกว่าแบบตะวันตก จะถือว่าด้านมืดของพลังไม่ได้มีความเลวร้ายในตัวของมันเอง มันเป็นเพียงคุณสมบัติอย่างหนึ่ง แต่ผู้ที่ถูกคุณสมบัติที่ว่านี้เข้าครอบงำก็จะใช้พลังไปในทางที่ผิดและเป็นอันตรายแก่ผู้อื่นได้ แต่ผู้ที่ถูกพลังด้านมืดเข้าครอบงำก็ใช่ว่าจะเป็นคนเลวตลอดไป อย่างน้อยดาร์ธเวเดอร์ก็ยังสามารถกลับคืนมาในด้านสว่างได้ แม้จะในนาทีสุดท้ายของชีวิตก็ตาม จะว่าไปแล้ว หลักของศาสตร์ตะวันออกนั้นถูกคิดค้นขึ้นมาก็เพื่อให้สามารถแปรพลังด้านมืดเป็นด้านสว่างนี่เอง เพราะพลังทั้งสองด้านเหมือนเป็นสัญลักษณ์ภายในจิตวิญญาณของแต่ละคนมากกว่า คนแต่ละคนล้วนมีด้านสว่างและด้านมืด มีความเป็นคนดีและคนเลวอยู่ในตัวเองทั้งสิ้น บุคลิก พฤติกรรมที่แตกต่างกันไป นั่นคือส่วนผสมของพลังด้านสว่าง และพลังด้านมืดในแต่ละคน ศาสตร์ตะวันออกจึงไม่เชื่อว่าคนจะแปรเปลี่ยนไม่ได้ เพราะการเคลื่อนไหวในทวิภาวะนั้นเป็นแบบพลวัตไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว แต่สำหรับคนธรรมดาทั่วๆ ไปนั้น ย่อมมีแนวโน้มไปในทางด้านใดด้านหนึ่งมากกว่า และยากที่จะแปรเปลี่ยนเท่านั้น
โยดาเองก็ไม่ได้ยอมรับหรือปฏิเสธพลังด้านมืด โยดารู้ถึงการดำรงอยู่ของมันแต่ก็ไม่ได้บอกว่ามันเหนือกว่าทั้งในแง่ปริมาณหรือคุณภาพแต่อย่างใด มีเรื่องเล่าว่าดาวที่โยดาอยู่นั้นเป็นดาวที่มีพลังทั้งสองสมดุลกันพอดีไม่มีฝ่ายไหนมากกว่าฝ่ายไหน โยดาจึงดำรงตนอยู่ท่ามกลางความสมดุลย์ของพลังทั้งสองนี้ได้ พลังด้านมืดจึงเป็นสิ่งที่เจไดต้องเรียนรู้โดยผ่านบททดสอบที่แทบต้องเอาชีวิตของตนเองเป็นเดิมพันก่อนที่จะกลายเป็นเจไดที่สมบูรณ์ ปรมาจารย์ของเจไดอย่างโยดารู้ความเป็นมาและชะตากรรมของศิษย์ของตนดี สิ่งที่โยดาทำไม่เพียงแต่ทำให้เด็กหนุ่มชาวไร่คนหนึ่งแข็งแกร่งขึ้นเป็นนักรบเท่านั้นแต่โยดาได้เปิดสมรภูมิภายในของลุค เพื่อให้เขาได้รู้ว่าจริงๆ แล้วนั้นเขากำลังต่อกรอยู่กับใคร? การพัฒนาด้านจิตวิญญาณของคนนั้นว่าไปแล้วก็เหมือน แบบฝึกหัดและบททดสอบครั้งเล่าโดยที่เราไม่มีทางรู้เลยว่า เราผ่านมาแล้วกี่ข้อ และจะต้องทำต่อไปอีกเท่าไร? เจไดหรือผู้ฝึกพลังก็ย่อมไม่อยู่เหนือกฎเกณฑ์อันนี้ สิ่งที่โยดาบอกกับลุคว่าเขาจะต้องกลัวแต่โยดาไม่เคยบอกเลยว่าสิ่งนั้นคืออะไร? โยดาก็ไม่แตกต่างจากอาจารย์เซนเลย ไม่เคยบอกอะไรตรงๆ แก่ศิษย์แต่กลับให้สะสมประสบการณ์เพื่อเรียนรู้เองมากกว่า วันหนึ่งโยดาพาลุคมาที่ต้นไม้แห่งมายาที่บรรยากาศบริเวณนั้นน่าสะพรึงกลัวมาก โยดาให้ลุคเข้าไปในนั้น “ที่นั่นแน่นไปด้วยพลังด้านมืด เจ้าต้องเข้าไป...ในนั้น”
“ในนั้นมีอะไรครับ” ลุคถาม
“มีเพียงสิ่งที่เจ้านำเข้าไปด้วย” โยดาตอบอย่างเป็นปริศนา
ลุคพบกับดาร์ธ เวเดอร์ในถ้ำนั้น เขาใช้กระบี่แสงฟันเวเดอร์จนคอขาด แต่สิ่งที่เขาต้องตะลึงที่สุดก็คือ ใบหน้าในหน้ากาก ของจอมปีศาจนั้นคือ ใบหน้าของเขาเอง!
นี่เขาต้องต่อสู้กับตนเอง หรือนั่นเป็นเพียงหลุมพรางของพลังมืด ภาพมายานั้นมีความหมายเช่นไร? โยดานิ่งเงียบ มิได้เอ่ยปากใดๆ ในเรื่องนี้
สำหรับหลักของศาสตร์ตะวันออกเชื่อว่า ศัตรูที่เข้มแข็งที่สุดที่ทำลายยากที่สุดมิใช่อื่นไกลคือ ตัวเราเอง ผู้ที่ชนะตนเองได้ย่อมยิ่งใหญ่กว่าชนะผู้อื่น และผู้ที่จะต่อกรกับตัวเองได้ก็คือตัวเองเท่านั้น ความกลัว ความโกรธ หรือความเศร้าเสียใจล้วนแต่เป็นผลมาจากพลังด้านมืด หรือจิตใจฝ่ายต่ำ สิ่งเหล่านี้เกิดจากความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่ใช่สิ่งผิดแต่ก็อาจทำอันตรายแก่ตนเองและผู้อื่นได้ การที่ตัวเองเป็นสิ่งที่ต่อกรยากที่สุด เพราะเราอยู่กับมันตลอดเวลา แต่เราก็ไม่เคยเห็นมันตรงๆ และมันสามารถแปรเปลี่ยนหน้าตาไปได้มากมายไม่สิ้นสุด ไม่มีอะไรฉลาดเจ้าเล่ห์ไปกว่า ‘ตัวเรา’ ซึ่งสามารถสร้าง ‘เหตุผล’ ขึ้นมาอ้างเพื่อปิดปัง ‘ความผิดพลาด’ ที่ได้ทำไว้อย่างแนบเนียน คนจำนวนไม่น้อยต้องสร้างตัวตนขึ้นมาเป็นเกราะหรือเปลือกหรือหน้ากากขึ้นมาปิดบังตัวเองจากใบหน้าที่แท้จริง จิตใจแบบนี้ยากแก่การเอาชนะเพราะมันทำตัวเหมือนมิตรแสร้งว่าอาทรต่อเราเสมอ โชคดีที่จิตใจแบบนี้มันไม่หลอกตัวมันเอง และมันทำหน้าที่ใดก็ทำหน้าที่อย่างเที่ยงตรง เมื่อหน้ากากนั้นหนาเข้า หนาเข้า มันก็จะกลายเป็นใบหน้าจริงๆ ไปเสีย ไม่ต่างอะไรกับดาร์ธ เวเดอร์ ที่ต้องสวมหน้ากากชั่วร้ายเอาไว้ตลอดเวลา
ทุกคนก็มีหน้ากากกันทั้งนั้น เพียงแต่ในกรณีของคนทั่วไป มันไม่ได้ออกมาชัดเจนเหมือนหน้ากากของ ดาร์ธ เวเดร์ เท่านั้น และการต่อสู้กับ “ความจริง” นี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเข้าเผชิญหน้ากับตัวเอง โยดาจึงให้ลุคเข้าไปในต้นไม้แห่งมายาเพื่อให้ลุคได้พบว่า ภายในใจของเขายังมีสิ่งใดแฝงเร้นอยู่ และเนื้อแท้ของมายานั้นเป็นเช่นไร
“จงต่อสู้กับตัวของเธอเอง” นี่คือความหมายที่โยดาจะบอกแก่ลุค อย่างน้อยเมื่อลุคเดินกลับออกมา เขาก็ควรรู้แล้วว่า ระหว่างดาร์ธ เวเดอร์ กับตัวเขาเองนั้นใครจะเป็นศัตรูที่น่ากลัวไปกว่ากัน
หลักแรกของมวยไท้เก๊กกล่าวไว้ว่า “จงลงทุนในสิ่งที่ขาดทุน”
หลักสุดท้ายของมวยไท้เก๊ก กล่าวไว้ว่า “จงละทิ้งตัวตน”
ทั้งสองหลักนั้นจะว่าไปแล้วก็คือ เรื่องเดียวกันนั่นเอง นั่นก็คือ “การละอัตตาตนเองโอนอ่อนตามผู้อื่น” หลักการนี้คือ หลักการต่อสู้ที่ใช้ได้ทั้งสมรภูมิภายนอก และสมรภูมิภายในตนเอง การเก็บกดพลังด้านมืดไว้โดยเฉพาะ พลังทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่เกิดผลดีต่อการฝึกฝนเพราะความรุนแรงของพลังชนิดนี้ยากแก่การต้านทาน และเมื่อปิดทางออกทางหลักของมันไว้มันก็จะหาทางออกทางอื่นออกมา กลายเป็นความผิดเพี้ยนเบี่ยงเบน เกิดปัญหาตามมามากมาย ตันตระจึงเสนอว่า วิธีที่จะต่อกรกับพลังด้านมืดก็คือแปรเปลี่ยนมันให้เป็นพลังสว่าง ความรักในรูปแบบของความปรารถนาก็แปรเปลี่ยนเป็นความรักอันศักดิ์สิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า พลังทางเพศจึงสามารถเปลี่ยนเป็นพลังการกระทำ พลังความคิดสร้างสรรค์ พลังเพื่อความแข็งแรงมีสุขภาพดีได้ การแปรเปลี่ยนนี้เอง คือ หลักสำคัญของศาสตร์ตะวันออก เพราะเมื่อเราสามารถแปรเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจเดิมๆ ที่มีอยู่ได้หมด ดักแด้ที่ทิ้งคราบเก่าของตนเองก็จะกลายเป็นผีเสื้อที่งดงาม และใบหน้าที่แท้จริงก็ย่อมปรากฏขึ้นมา
แม้ลุค สกายวอคเกอร์ จะข้อเสียเรื่องใจร้อน ไม่อดทน แต่ข้อดีของเขาก็คือเขาเป็นคนที่รักเพื่อน ไม่ยอมทิ้งเพื่อนที่เดือดร้อน ข้อดีนี้เองทำให้เขาต้องโดนทดสอบอีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่ภาพมายาแต่เป็นของจริง ระหว่างการไปช่วยเพื่อนที่กำลังคับขันโดยทิ้งการฝึกไปกลางคันอาจเสี่ยงต่อการตกอยู่ใต้พลังมืดตลอดกาล กับการยอมสูญเสียเพื่อนของตนไปยอมฝึกต่อให้สำเร็จ เบน เคนโนบีเตือนลุคด้วยความหวังดีว่าเขายังไม่พร้อมยังใช้พลังได้ไม่คล่องดั่งใจปรารถนา ซึ่งในตอนนี้จะอันตรายที่สุด เพราะสามารถเดินสู่พลังด้านมืดได้ง่าย ทั้งโยดาและเบนบอกว่าเขาคือ “เจไดคนสุดท้าย” เป็นความหวังเดียวของเจได แต่ลุคได้ตัดสินใจไปช่วยเพื่อนของเขา ชะตากรรมบางอย่าง แม้พลังก็ไม่อาจเข้าไปแทรกแซงได้ โยดาเองก็เหมือนจะรู้ดีว่า หากเขาผ่านบททดสอบนี้ ลุคก็ไม่จำเป็นต้องฝึกอีกแล้ว เพราะหากเขาไม่กลายมาเป็นเจไดคนสุดท้ายเขาก็จะกลายเป็นดาร์ธ เวเดอร์คนใหม่อย่างสมบูรณ์ เมื่อลุคเผชิญหน้ากับดาร์ธ เวเดอร์ในครั้งแรก เขาต้องสูญเสียมือไปข้างหนึ่ง เพื่อแลกกับความจริงที่ว่า ดาร์ธ เวเดอร์คือพ่อของเขาเอง เขาบอบช้ำแทบเอาชีวิตไม่รอด แทนที่จะเป็นฝ่ายไปช่วยเพื่อนๆ กลับเป็นเพื่อนๆ ต่างหากที่ช่วยเขาให้รอดพ้นจากความตายในนาทีท้าย ลุคโชคดีที่ไม่ชนะแต่ก็ไม่แพ้คือยังไม่โดนพลังด้านมืดเข้าครอบครอง เขาทำได้แค่ประคองตัวให้เสมอและเขารู้ดีว่า การเผชิญหน้ากันครั้งสุดท้ายนั้น หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน
เกี่ยวกับการต่อสู้ของเจได
ลุค สกายวอคเกอร์ ก้าวสู่วิถีเจไดอย่างเต็มตัวแล้ว โดยต้องแลกกับความเจ็บปวดที่สุดในชีวิต ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่หรืออะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่คนรอบข้างเขาจะรู้สึกว่า จากชายหนุ่มที่ใจร้อนไม่อดทนขี้สงสัย เขาสงบนิ่งสุขุมและมั่นคงขึ้นมากและเขามักจะปลีกตัวไปอยู่เพียงลำพัง จากนั้นเขาได้บุกเข้าไปช่วยเพื่อนของเขาจากเหล่าร้ายอย่างไม่หวาดกลัวต่อสิ่งใดแต่สิ่งที่เขาหวั่นไหวมากกว่าก็คืออดีตและสายเลือดอันไม่มีทางเปลี่ยนแปลง และการต่อสู้กับพ่อของตัวเองเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ การต่อสู้ครั้งสุดท้าย ถูกกำหนดขึ้นแล้ว
อาวุธเดียว ที่ลุคนำไปเผชิญหน้ากับจักรพรรดิ์และดาร์ธ เวเดอร์พ่อของเขากลับมิใช่กระบี่แสง แต่เป็นความเชื่อมั่นและศรัทธาในพลังด้านสว่าง ในตัวของพ่อของเขา เขาเชื่อว่าดาร์ธ เวเดอร์จะกลับมาเป็น “พ่อ” คนเดิมของเขาได้ ขณะที่อาวุธที่จักรพรรดิ์ใช้ต่อสู้ก็คือ “โทสะ” ในตัวของลุคเอง การต่อสู้ในครั้งนี้จึงไม่ได้ตัดสินที่วิชาฝีมืออีกต่อไปแต่เป็นการต่อสู้กันของพลังระหว่าง “พลังด้านสว่าง” กับ “พลังด้านมืด” ที่พลุ่งพล่านอยู่ในตัวของลุค สกาย วอคเกอร์นั่นเอง
ในบรรดาจอมยุทธ์หรือนักรบในระดับยอดฝีมือประลองกัน การตัดสินใจแพ้ชนะไม่ได้อยู่ที่วิชาฝีมือแล้ว แต่อยู่ที่ใจของแต่ละฝ่ายว่าจิตวิญญาณของฝ่ายใดจะพัฒนาไปมากกว่ากัน ฝ่ายที่คิดทำร้ายฝ่ายตรงข้ามก่อนจะเปิดช่องว่างขึ้นทำให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถเข้าจู่โจมได้ในชั่วพริบตาและนั่นย่อมหมายถึงผลแพ้ชนะที่ตามมา ในอีกแง่หนึ่งแพ้ชนะย่อมถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว อำนาจของคุณธรรม ความดีงาม และความรักย่อมมีชัยเหนืออวิชชาทั้งปวง
ครูสุวินัย เคยพูดให้ฟังว่า ในหลักมวยภายในนั้นยังประกอบด้วยธาตุทั้ง 5
ยามสงบนิ่งดุจ “ขุนเขา” เปรียบดั่ง ธาตุดิน
ยามเคลื่อนไหวต่อเนื่องดั่ง “สายน้ำ” เป็น ธาตุน้ำ
ว่องไว แผ่วพริ้วจับต้องไม่ได้ดั่ง “สายลม” เป็น ธาตุลม
ยามปล่อยพลัง ทะลุทะลวงรุนแรงปาน “ภูเขาไฟ” ระเบิด เปรียบดั่ง ธาตุไฟ
ยามเผชิญหน้าสิ่งใดย่อมทำด้วย ความรัก ซึ่งเป็น ธาตุที่ห้า ซึ่งถือเป็นธาตุแห่งใจที่หลอมรวมทุกธาตุเข้าด้วยกัน ประสานกายและใจเคลื่อนไหวไปบน “มรรคา”
ลักษณะเด่นของมวยภายในแต่ละสาย ไม่ว่าจะเป็นความหนักแน่นของมวยสิ่งอี้ ความต่อเนื่องของมวยไท้เก๊ก การเคลื่อนตัวเป็นวงกลมของมวยฝ่ามือมังกรแปดทิศ และการปล่อยพลังที่รุนแรงของมวยโป้ยเก๊ก ได้ถูกนำมาประสานกันด้วยจิตใจแห่งความรักที่ไม่ใช่ความรักแบบตัณหา แต่เป็นความรักที่แท้จริง ที่ไม่เอาอัตตาของตนเองมาเป็นที่ตั้ง มวยภายในที่แท้จริงฝึกไปเพื่อรักผู้อื่นเท่านั้น มิใช่ทำลาย และผู้ที่จะรักผู้อื่นได้อย่างแท้จริงก็คือผู้ที่ละทิ้งอัตตาของตนได้แล้วเท่านั้น
ในการเผชิญหน้าครั้งสุดท้าย จักรพรรดิได้วางแผนให้ยานของฝ่ายกบฏเข้ามาติดกับแล้วใช้กองกำลังทั้งหมดเข้าทำลายยานฝ่ายกบฏทีละลำ ลุคยืนดูภาพของพวกตนโดยทำลายขณะเดียวกันเขาก็ไม่ประสงค์ที่จะสู้กับพ่อของเขาเอง ในใจของเขาเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ลุคทนไม่ได้ที่เห็นเพื่อนๆ จะต้องตายไป ขณะที่วิธีที่จะช่วยเพื่อนๆ ก็คือต้องสู้ แต่เมื่อไหร่ที่เขาสู้เขาก็อาจจะตกอยู่ในอำนาจของพลังด้านมืดตลอดไป สิ่งที่นักรบไม่ปรารถนาที่สุดคือ สภาพความขัดแย้งในใจเช่นนี้ ทำให้นึกถึงอรชุน ที่ท้อใจแทบจะผละออกจากสนามเพราะไม่อยากจะฆ่าฟันพี่น้องร่วมสายเลือด และนึกถึงมูซาชิ ยามที่สับสนหลังจากไล่ฆ่าพวกโยชิโอกะในครั้งที่สามซึ่งในนั้นมีเด็กร่วมอยู่ด้วย สภาพเช่นนี้มันอยู่นอกเหนือกรอบแห่งถูกหรือผิดสำหรับคนทั่วๆ ไปจะมาตัดสินแล้ว ในโลกของนักรบนั้นย่อมแสวงหาความเป็นในความตาย ดาบของเขาที่ฟันลงไปย่อมมิใช่เพื่อความเกลียดชัง แต่ฟันลงไปด้วยจิตที่ปล่อยวางตัวตนจากความยึดมั่นทั้งปวง นักรบพึงฟันดาบลงไปที่จิตใจที่ยังยึดมั่นกับความคิดหนึ่งใดของตนและด้วยจิตใจแห่งความรักที่แท้จริงเช่นนี้ นักรบจึงจะรู้ว่า เขาควรจะประนีประนอม กับสิ่งใดและไม่ควรปราณี ต่อสิ่งใด และเมื่อนั้น “ดาบแห่งธรรมะ” จะทำหน้าที่ของมันเอง นั่นไม่ใช่สภาวะที่ใครก็ตามจะสามารถแม้แต่เข้าใจหรือเข้าถึงได้ง่ายๆ เลย เพราะระหว่างทางเลือกสองทางนี้มันมีความเปราะบางจนแม้หากไม่มีปัญญาที่แท้จริงก็อาจนำไปสู่ความผิดพลาดได้ ลุคเองก็ไม่ใช่เจไดที่สมบูรณ์ ดังนั้น สุดท้ายความผูกพันที่เขามีต่อเพื่อนและน้องสาวก็แปรเปลี่ยนเป็นโทสะจนหมด กระบี่แสงในมือของเขาก็ต้องทำหน้าที่ของมัน ลุคไล่ฟันพ่อของเขาอย่างบ้าคลั่ง จนเขาสามารถฟันแขนของพ่อเขา ขาดไปข้างหนึ่ง เพียงการฟันอีกครั้งเดียวเท่านั้น เขาก็จะฆ่าพ่อของตัวเอง และตกอยู่ในด้านมืดตลอดกาล…..แต่ลุคกลับหยุดแล้วปิดกระบี่แสง “ท่านแพ้แล้ว” เขาบอกกับจักรพรรดิ “ข้าคือเจได…..เหมือนอย่างที่พ่อของข้าเคยเป็น”
ลุคในขณะนี้คือ เจไดที่สมบูรณ์แล้ว
ในที่สุด ความเชื่อมั่นและศรัทธาของลุคก็สามารถทำให้ดาร์ธ เวเดอร์ กลับคืนมาเป็นอนาคิน สกายวอคเกอร์ ได้อีกครั้ง อนาคินยอมสละชีวิตของตนทำลายจักรพรรดิเพื่อช่วยลูกชายและจักรวาลเอาไว้ ลุคจุดไฟส่งร่างอันไร้วิญญาณของพ่อเขาเพียงลำพัง ท่ามกลางงานฉลองชัยชนะอันครื้นเครง เขาเป็นเพียงเจไดคนเดียวที่เหลืออยู่ ในวิถีที่โดดเดี่ยวแต่เด็ดเดี่ยวของเจได แต่เขารู้ดีว่า เจไดทั้งหมดมิได้หายไปไหน ท่านเหล่านั้นอยู่ไม่ไกลจากเขาเลย เขารู้สึกถึงพลังและรู้ว่าบัดนี้ เจไดได้หวนคืนมาแล้ว
อัศวินเจไดที่แท้จริง
อัศวิน เจไดคือ ผู้ทรง “พลัง” ไม่ว่าจะเป็นพลังชีวิต พลังความคิดที่สร้างสรรค์พลังศรัทธา และพลังความรัก เจไดคือผู้ที่เปี่ยมไปด้วยพลังเหล่านี้ และพร้อมที่จะแบ่งปันพลังเหล่านี้ของตนเพื่อช่วยเหลือคนรอบข้างและผู้อื่น
อัศวินเจไดคือ ผู้ฝึก “พลัง” อันเป็นพลังที่สามารถบ่มเพาะเพื่อการพัฒนาจิตวิญญาณไปในระดับสูง เจไดจะเรียนรู้เรื่องพลัง ชนิดของพลัง การแปรเปลี่ยนของพลังและใช้มันไปเพื่อเป้าหมายที่สูงสุดนั่นคือ การแสวงหาความรู้แจ้ง การแสวงหาความจริงและการแสวงหาพระผู้เป็นเจ้า
อัศวินเจไดคือ ผู้รับช่วงของการส่งต่อพลังมาเป็นรุ่นๆ โดยผ่านความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์อันลึกซึ้งในระดับจิตวิญญาณ
อัศวินเจได้คือ ผู้ที่ถูกทดสอบจากด้านมืดของพลัง ซึ่งเป็นสมรภูมิภายในใจของเขาเอง เขาต้องเป็นผู้เลือกระหว่างวิถีของพลังทั้งสอง คือ พลังด้านสว่างกับพลังด้านมืด และเจไดที่แท้จริงจะสามารถเลือกมันได้อย่างถูกต้องด้วยตัวของเขาเอง ไม่มีเจไดคนไหนที่จะไม่ถูกทดสอบจากพลังด้านมืด และเจไดที่สมบูรณ์แล้วทุกคนแล้วผ่านการทดสอบนี้มาแล้วทั้งสิ้น
อัศวินเจไดคือ นักรบ ผู้ฝึกฝนวิชาการต่อสู้และเป็นผู้แสวงธรรมหรือผู้ปฏิบัติธรรมในตัวของคนคนเดียวกัน
อัศวินเจไดคือ ผู้มีหน้าที่พิเศษภายในช่วงเวลาแห่งวิกฤติ เขาคือ ผู้ที่ถูกกำหนดมาเพื่อให้ทำหน้าที่ใด หน้าที่หนึ่งในห้วงเวลาเหล่านั้น
อัศวินเจไดคือ จอมยุทธ์ คือ นักรบผู้รู้แจ้ง คือ อภิมนุษย์ คือ โฮโมเอ็กเซลเลนส์ และคือผู้ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้อย่างสมบูรณ์
ความมีตัวตนจริงของเจได้ก็คือ การมีอยู่ของปรมาจารย์ผู้สืบทอดวิชามวย หรือวิชาศิลปะป้องกันตัวแขนงต่างๆ ของศาสตร์ตะวันออกนั่นเอง พวกท่านเหล่านี้ได้หลอมรวมเอาความรู้ความเข้าใจของปรัชญาตะวันออก เข้ากับการฝึกฝนตนเอง จนสามารถพัฒนาออกมาเป็นวิชาฝีมือต่างๆ มากมาย เยาวชนรุ่นหลังที่ได้มีโอกาสเรียนรู้ศาสตร์ตะวันออกอันนี้พึงตระหนักด้วยว่า พวกเรานั้นต่างก็เป็นศิษย์ของพวกท่านไม่ว่าจะโดยตรงหรือเป็นศิษย์ในทางจิตวิญญาณก็ตาม
ปรมาจารย์เหล่านี้มีอยู่ไม่น้อยตั้งแต่อดีตกาล แต่ละท่านก็ได้มีคุณูปการต่อคนรุ่นหลังไปคนละอย่าง แต่ที่ในสำนักยุทธธรรมมีการเอ่ยถึงอยู่เสมอได้แก่ พวกท่านดังต่อไปนี้
(1) พระเซนทากุอัน ท่านมิได้เป็นนักรบ แต่เป็นพระสงฆ์สายเซนผู้ซึ่งเขียนคัมภีร์พระอจลนาถ หรือคัมภีร์จิตพระผู้ไม่หวั่นไหว ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและผู้ฝึกฝนตนเองเป็นนักรบทุกคนต้องอ่านคัมภีร์เหล่านี้ ซึ่งครูสุวินัยได้ถอดความมาลงใน ภาคผนวก ว่าด้วยมูซาชิ ในหนังสือ “มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์” (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ 2538) ของท่านแล้ว เพราะนี่คือ คัมภีร์ที่ว่าด้วยจิต ของผู้ที่เป็นนักรบในขั้นสูง
(2) มิยาโมโต มูซาชิ ยอดนักดาบซามูไรชาวญี่ปุ่นเมื่อ 400 ปีก่อน ผู้สถาปนาวิชาดาบคู่ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับคนรุ่นหลังก็คือ การใช้ชีวิตอุทิศแรงกายแรงใจตลอดชีวิตของเขาเพื่อเข้าถึงมรรคาแห่งดาบซึ่งหาได้น้อยคนนักที่ทำได้แบบเขา มูซาชิคือ ผู้ที่ยืนยันถึงการมีตัวตนจริงของ นักรบผู้รู้แจ้ง เรื่องราวของมูซาชิ ปรากฏอยู่ในหนังสือ “มูซาชิฉบับท่าพระจันทร์” ของครูสุวินัยแล้ว
(3) ปรมาจารย์จางซันฟง นักพรตเต๋าผู้ฝึกตนเองจนถึงระดับเซียน แม้จะมีบางคนบอกว่าท่านเป็นเพียงตำนาน แต่ยากที่จะปฏิเสธได้ว่า “หลักวิชามวยสิบสามท่า” ของท่านซึ่งพัฒนามาเป็นมวยไท้เก๊ก ในปัจจุบันถือว่าเป็น “การเปลี่ยนกระบวนทัศน์” ในวิชาศิลปะการต่อสู้อย่างแท้จริง และคัมภีร์ “ว่าด้วยมวยไท้เก๊ก” ของท่านปรมาจารย์จางซันฟง ก็มีอยู่จริงให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ผู้ฝึกมวยไท้เก๊กทุกคนจะต้องฝึกฝนวิชาฝีมือของตนให้ทำตามที่เขียนไว้ในคัมภีร์เล่มนี้ของปรมาจารย์จางซันฟงให้ได้ทุกตัวอักษรจึงจะถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริง ครูสุวินัยเคยกล่าวเอาไว้
(4) จอมยุทธ์ ซุนลู่ถัง ผู้ได้หลอมรวมหลักวิชามวยภายใน 3 วิชาคือ มวยสิ่งอี้ มวยฝ่ามือมังกรแปดทิศ และมวยไท้เก๊กเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นมวยไท้เก๊กสกุลซุน ซึ่งถือว่าเป็น การสังเคราะห์ มวยไท้เก๊กให้พยายามใกล้เคียงกับมวยไท้เก๊กของจางซันฟงอย่างหนึ่ง ครูสุวินัยเคยกล่าวว่า เท่าที่ผ่านมา ความพยายามในการสังเคราะห์มวยไท้เก๊กได้ดำเนินไปใน 2 ทิศทาง ทางหนึ่ง คือ การสังเคราะห์มวยไท้เก๊กสกุลต่างๆ ให้เหลือเป็นมวยไท้เก๊กชุดเดียว เรียกว่า “มวยไท้เก๊กสังเคราะห์” อีกทางหนึ่งเป็นแบบที่ซุนลู่ถังได้ทำคือ การสังเคราะห์มวยภายใน 3 วิชาให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยหลักของมวยไท้เก๊ก อย่างไรก็ดีครูสุวินัยได้บอกว่า การสังเคราะห์ทั้ง 2 ทิศทางนี้ถึงอย่างไรก็ยังเป็นการสังเคราะห์ระหว่างมวยด้วยกันเท่านั้น สิ่งที่ท่านกำลังพยายามทำก็คือ การสังเคราะห์ระหว่างวิชามวยกับศาสตร์ตะวันออกสาขาอื่นๆ โดยเฉพาะโยคะและวิชาลมปราณแขนงต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดวิวัฒนาการของวิชาฝีมือสำหรับศตวรรษที่ 21 ส่วนการสังเคราะห์ระหว่างมวยด้วยกัน ครูสุวินัยเคยบอกว่า ท่านพยายามหลอมรวมมวยไท้เก๊กของท่านกับมวยฝ่ามือมังกรแปดทิศเพื่อมุ่งไปสู่ “มวยภายในที่ไร้รูป” ที่ไม่มีชุดท่ามวยเป็นลำดับตายตัว แต่สามารถร่ายรำกระบวนท่าได้ดังใจปรารถนา แต่ท่านบอกว่าคงอีกหลายปีกว่าจะสังเคราะห์เช่นนั้นได้สำเร็จในขั้นที่ตัวท่านพอใจ
(5) อาจารย์หยังเฉินฟู่ หลานของหยังลู่ฉาน “ผู้ไร้เทียมทาน” ท่านเป็นคนที่เผยแพร่มวยไท้เก๊กสู่วงกว้างเป็นคนแรกทำให้คนส่วนมากได้รู้ถึงความสำคัญของมวยไท้เก๊กไม่ว่าทั้งในแง่สุขภาพและในแง่ศิลปะป้องกันตัว หยังเฉินฟู่มีพี่ชายชื่อหยังเจ้าสวง อันที่จริงฝีมือของหยังเจ้าสวงนั้นเหนือกว่าหยังเฉินฟู่มาก มวยไท้เก๊กของหยังเจ้าสวง มีลักษณะหดแคบแต่แน่นแข็ง การเคลื่อนไหวมีลักษณะรวดเร็วจมต่ำต่อเนื่องแน่นหนารัดกุม เจิ้งมั่นชิงเป็นศิษย์ของหยังเฉินฟู่ก็จริง แต่ดูเหมือนว่าเคล็ดวิชาฝีมือที่แท้จริงของเจิ้งมั่นชิงจะได้มาจากสายของหยังเจ้าสวงมากกว่า ครูสุวินัยเคยกล่าวไว้
(6) อาจารย์เจิ้งมั่นชิง ท่านเป็นศิษย์รุ่นท้ายๆ ของอาจารย์หยังเฉินฟู่ ที่พัฒนาฝีมือได้รวดเร็วมากจนเป็นที่ประหลาดใจและทึ่งแม้ในหมู่ศิษย์ของอาจารย์หยังเฉินฟู่ด้วยกันเอง และกลายเป็นปรมาจารย์ของมวยไท้เก๊กยุคใหม่ในเวลาต่อมา ครูสุวินัยเคยตั้งข้อสังเกตว่า เหตุที่อาจารย์เจิ้งมั่นชิงมีฝีมือก้าวหน้ารวดเร็วมากเพียงไม่กี่ปีนั้นนอกจากพรสวรรค์ของตัวท่านแล้ว ท่านน่าจะได้รับการถ่ายทอดเคล็ดวิชาลับสุดยอดของมวยไท้เก๊กแบบวงแคบมาจากอาจารย์หยังเจ้าสวงด้วยเป็นแน่ แม้อาจจะไม่โดยตรงก็โดยทางใดทางหนึ่ง เพราะแลเห็นศักยภาพในตัวของเจิ้งมั่นชิง ตัวอาจารย์เจิ้งมั่นชิงเป็นคนใจกว้างมากและไม่หวงวิชาเหมือนครูมวยท่านอื่น ท่านได้เปิดเผยเคล็ดวิชาอันสำคัญของมวยไท้เก๊กให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา นอกจากนี้ท่านยังเป็นปัญญาชนระดับผู้นำในยุคของท่านผู้เชี่ยวชาญทั้งการเขียนอักษร แต่งกลอน วาดภาพอีกด้วย วิชามวยไท้เก๊กที่เรียนในสำนักยุทธธรรม ก็เป็นวิชามวยไท้เก๊กวงแคบของอาจารย์เจิ้งมั่นชิงนั่นเอง
(7) อาจารย์คนที่หนึ่งของครูสุวินัย ผู้ถ่ายทอดมวยตระกูลหง (มวยเส้าหลินใต้) วิชาคาราเต้ วิชาอาวุธลับ ฝ่ามือยูไลของเส้าหลิน และมวยเจ็ดดาวเหนือของบู๊ตึ้งให้แก่ครูสุวินัย
(8) อาจารย์คนที่สองของครูสุวินัย ผู้ถ่ายทอดมวยไท้เก๊กวงแคบสายเจิ้งมั่นชิงให้แก่ครูสุวินัย พร้อมทั้งวิชาจี้จุดและคว้าจับด้วย ครูสุวินัยบอกว่าหลังจากที่ท่านได้เรียนกับอาจารย์คนที่สองแล้ว วิชาฝีมือของท่านรุดหน้าขึ้นมากภายในไม่กี่ปีเท่านั้น
(9) อาจารย์คนที่สามของครูสุวินัย ผู้ถ่ายทอดมวยฝ่ามือมังกรแปดทิศสกุลเฉิงให้แก่ครูสุวินัย รวมทั้งมวยสิ่งอี้ และมวยไท้เก๊กสกุลเฉินและสกุลอื่นๆ ครูสุวินัยมักกล่าวถึงอาจารย์คนที่สามของท่านอย่างชื่นชมอยู่เสมอว่า ทำให้ตัวท่านสามารถเชื่อมต่อกับปรมาจารย์มวยภายในชื่อดังในอดีตได้เกือบทุกสาย โดยผ่านการเรียนรู้จากอาจารย์คนที่สามของท่านนี่เอง
(10) อาจารย์ลิโฉะบุน ยอดนักมวยแปดสุดยอดผู้ไม่เคยแพ้ใคร ท่านเป็นผู้ยกระดับมวยแปดสุดยอดหรือมวยโป๊ยเก๊กจากมวยภายนอกให้กลายเป็นมวยภายในได้เป็นผลสำเร็จในช่วงบั้นปลายของชีวิต วิชาฝีมือของอาจารย์ลิโฉะบุนได้ถ่ายทอดให้ศิษย์คนสุดท้ายของท่านคือ อาจารย์หลิว ซึ่งก็ได้ถ่ายทอดให้แก่ศิษย์เอกของท่านสองคนซึ่งบัดนี้พำนักอยู่ที่อเมริกาและเริ่มเปิดเผยเคล็ดลับสุดยอดของมวยโป๊ยเก๊กของลิโฉะบุนออกมาเมื่อ 3 ปีก่อน ครูสุวินัยบอกว่า พอท่านได้เห็นการสาธิตเปิดเผยเคล็ดวิชาของมวยโป๊ยเก๊กของลิโฉะบุนโดยผู้สืบทอดที่มาสาธิตในญี่ปุ่นให้ดูเท่านั้น ท่านก็เข้าถึงแก่นแท้ของวิชามวยสายนี้ได้ทันที ท่านบอกว่าวิธีใช้ของมวยโป๊ยเก๊กนี้คล้ายกับ มวยไท้เก๊กวงแคบของเจิ้งมั่นชิงมาก แต่วิธีปล่อยพลังดุเดือดยิ่งกว่าและไร้ความปราณี ซึ่งคงเป็นความต่างในอุปนิสัยระหว่างลิโฉะบุนกับเจิ้งมั่นชิง
(11) อาจารย์หวงเฟยหง ผู้โด่งดังเพราะได้กลายมาเป็นฮีโร่ในภาพยนตร์ชุด “หวงเฟยหง” ของยอดผู้กำกับฉีเคอะ ครูสุวินัยเคยกล่าวว่า ท่านชอบฐานะทางประวัติศาสตร์ของหวงเฟยหงในภาพยนตร์เพราะหวงเฟยหงเป็นครูมวยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ของจีนและช่วงเปลี่ยนแปลงจากศตวรรษที่ 19 ไปสู่ศตวรรษที่ 20 ท่านยังบอกว่าท่านชอบความสัมพันธ์ในหมู่ลูกศิษย์ของ “เป่าจือหลิน” ที่รักใคร่กลมเกลียวกันดี การได้รู้เรื่องราวของหวงเฟยหงทำให้ท่านต้องคิดถึง การวิวัฒนาการวิชาฝีมือของสำนักยุทธธรรม ให้เป็นวิชาเพื่อชีวิตที่ดีกว่าแห่ง “ยุคใหม่” (New age) ที่จะมาถึงในศตวรรษที่ 21 นี้ให้จงได้
นอกจากนี้แล้วยังมีจอมยุทธ์อีกมากมายที่ไม่ได้เอ่ยถึงไว้ในที่นี้ นั่นยังไม่รวมไปถึง คุรุของวิชาโยคะสายต่างๆ ที่ครูสุวินัยได้ไปหาและศึกษามา วิชาในสายต่างๆ ของศาสตร์ตะวันออกต่างก็ถ่ายทอดให้คนจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ไม่ว่าเราจะเรียนวิชาในสายใดก็ตาม เมื่อสืบสาวไปถึงต้นสายแล้วเราก็จะพบว่า ปรมาจารย์ของแต่ละสายนั้นคือ ผู้ที่ได้พบสัมผัสและเรียนรู้ “ความจริงที่ลึกล้ำ” ซึ่งจะว่าไปแล้วก็คือความจริงของตัวเรา ของโลก ของกาย และของจิต ท่านเหล่านั้นก็คือผู้ที่บอกว่า มนุษย์เรามีความสามารถที่จะพัฒนาจิตให้สูงขึ้น พ้นจากกรอบแห่งความคิดหรืออัตตาของตนเองได้และมีคุณสมบัติที่จะฝึกฝนตนเองเพื่อซึมซับเอาจิตวิญญาณที่สูงกว่าหรือจิตวิญญาณที่สูงสุดได้
การทำเช่นนั้นได้ก็คือ การฝึกอย่างมีระบบระเบียบตามขั้นตอนตามหลักวิชาที่ได้วางไว้โดยไม่ขาดไปแม้แต่สิ่งใดเพียงสิ่งหนึ่ง ดังนั้นวิชาสายตะวันออกทุกๆ สายจึงมีความคล้ายคลึงกัน และมีเป้าหมายเพื่อยกระดับจิตใจของมนุษย์ทุกคน ซึ่งไม่ใช่แค่การยกระดับความคิด แต่เป็นการกระทำเพื่อจะนำมนุษย์ไปสู่วิถีที่ถูกต้องเพื่อความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง
การสืบสายวิชาเหล่านี้ คือ การชี้ให้เห็นว่า วิวัฒนาการของมนุษย์นั้นเป็นวิวัฒนาการทางจิต ไม่ใช่วิวัฒนาการทางกายภาพอย่างที่เข้าใจกัน วิวัฒนาการทางกายเมื่อถึงจุดหนึ่งมันก็จะตีบตัน ทำลายและต้องย้อนระบบกลับมาเริ่มต้นกันใหม่ แต่วิวัฒนาการทางจิตเป็นสิ่งที่สลับซับซ้อน ไร้ขอบเขตไร้ขีดจำกัด และดูเหมือนจะเป็นเป้าหมายหลักของการดำรงอยู่ของมนุษย์ หรือของเราหรือของอัตตาของตัวเรา เพื่อให้เรียนรู้ว่า ตัวเรามีหน้าที่อะไร? มีความสำคัญอย่างไร? ต่อตัวเราเอง ต่อโลกที่เราอยู่นี้ และต่อจักรวาลทั้งปวง
ในห้วงเวลาของปัจจุบัน ถ้าจะเทียบกันเราพบว่ามีอะไรที่ไม่ค่อยแตกต่างจากห้วงเวลาของจักรวาลใน Star Wars เท่าใดนัก ใน Star Wars ความชั่วร้ายได้แผ่ครอบคลุมไปทั่วจักรวาล และมีกลุ่มคนเพียงน้อยนิดที่จะรวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับความชั่วร้ายนั้น หากเรามองว่า ความชั่วร้ายใน Star Wars เปรียบได้กับ วัฒนธรรมวัตถุนิยมฟองสบู่ ที่ยึดแน่นอยู่แค่ความปรารถนาความร่านอยากของอัตตาของผู้คนในสังคม เราจะพบว่าสิ่งเหล่านั้นมันได้เข้าครอบครองไปทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นสังคม หรือในจิตใจของผู้คนในสังคมแล้วและเรายังเห็นต่อไปได้อีกว่า อัศวินเจไดในสังคมของเรานี้มีอยู่ให้เห็นมากน้อยเพียงไร? มันมีจำนวนน้อยมากจนน่าใจหาย ใช่หรือไม่ คิดว่าทุกคนย่อมรู้อยู่แก่ใจดีแล้ว
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ หลักวิชาที่บรมครูรุ่นก่อนๆ ได้ถ่ายทอดให้เพื่อความรู้แจ้งของศิษย์กลับกลายเป็นเหมือน “สินค้า” ในระบบตลาดไปอย่างไม่น่าเชื่อ เราจะเห็นสมาธิแบบพาณิชย์ การอบรมวิชาตะวันออกแบบต่างๆ ช่วงสั้นๆ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย รวมไปถึงการแอบอ้างเอา “คุรุ” มาหลอกหาเงินจากผู้สิ้นหวังซึ่งมีให้เห็นตั้งแต่เขตที่เราเรียกว่าศาสนสถานไปจนถึงหิ้งพระในบ้านของตนเอง สิ่งนี้ถือว่า น่ากลัวอย่างยิ่งเพราะขาดหลักที่สำคัญที่สุดในการศึกษาศาสตร์ตะวันออก นั่นคือ ความสัมพันธ์ในเชิงครูกับศิษย์ และการเรียนรู้ “ความจริงที่ลึกล้ำ” โดยผ่านการฝึกฝนตนเอง จึงอยากจะขอกล่าวย้ำในสิ่งที่กฤษณะมูรติกล่าวอยู่เสมอว่า “ถ้าหากมนุษย์นำหลักวิชาเหล่านี้มาเพิ่มพลังเพื่อรับใช้ตนเอง ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาสัจจะ ความจริง หรือพระผู้เป็นเจ้า พลังนั้นจะกลายมาเป็นพลังแห่งการทำลายล้าง และจะย้อนกลับมาทำลายเผ่าพันธุ์ของมนุษย์เองในที่สุด”
สังคมนี้จึงเต็มไปด้วย “พราน” และ “เหยื่อ” เต็มไปด้วย “การแก่งแย่งพลัง” กันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มันถึงเวลาแล้วที่คนในหมู่มากของสังคมนี้จะต้องรู้ว่า คุณสมบัติของเจไดนั้น มีอยู่ในตัวของเราทุกคน! มันเป็นคุณสมบัติของนักรบของผู้กล้า…..ซึ่งเป็นผู้ที่กล้าจะเปลี่ยนแปลงตนเอง กล้าที่จะเผชิญอำนาจฝ่ายต่ำในตนเองด้วยตนเอง เพียงแต่เราจะรับรู้ถึงการมีอยู่และให้ความสำคัญแก่มันหรือไม่ และเมื่อรู้แล้วจะตัดสินใจก้าวเดินมาใน “ทาง” นี้หรือไม่ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงตนเองได้เพียงแค่คิด แต่สิ่งนั้นต้องผ่านการกระทำ
จะมีใครกี่คนที่เข้าใจเจไดในแง่นี้บ้าง? ในแง่ที่มากไปกว่าจินตนาการเพื่อความเพลิดเพลินแล้วมุ่งเปลี่ยนแปลงตนเอง เราต้องการ “เจได” มากขึ้น เพราะเจไดจะเป็นผู้กอบกู้อารยธรรมทางจิตวิญญาณให้รอดพ้นไปจากวัตถุนิยมฟองสบู่ อัศวินเจไดจะต้องกลับมา!
ในสังคมแห่งสงครามที่ตัดสินแพ้ชนะกันที่จิตวิญญาณ เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตนเองได้ เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เราทุกคนใครก็ได้ สามารถเป็นนักรบ สามารถเป็นเจไดได้ทั้งนั้น พลังนั้นมิได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง พลังเป็นของจักรวาลสากลและเมื่อมีผู้กล้าเข้ามาฝึกฝน วิถีแห่งเจได
“พลัง” ก็จะอยู่กับ “เขา” ตลอดไป!
บทตาม
อย่างแรก ที่เยาวชนควรรู้เพิ่มเติมก็คือ สิ่งที่เธอได้อ่านมาทั้งหมดนั้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวที่เล็กมากจนมองแทบไม่เห็นแนวทางของการศึกษาศาสตร์ตะวันออกที่ลึกซึ้ง วิชาตะวันออกนั้นไม่ใช่ว่าจะเข้าถึงกันได้ง่ายๆ การทุ่มเทแรงกายและใจฝึกฝนแม้แต่ศิษย์ในสำนักยุทธธรรมเองก็ยังโดนครูสุวินัยตำหนิว่า ยังทุ่มเทให้กับมันไม่พออยู่เสมอ วิชาตะวันออกนั้นต่างกับวิชาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ค่าตอบแทนที่ศิษย์ต้องจ่ายไม่ใช่ค่าหน่วยกิต และผลที่เขาจะได้รับก็ไม่ใช่ใบปริญญา ถ้าหากเขาคิดว่าวิชาตะวันออกสามารถซื้อหาได้อย่างวิชาทั่วไปก็แสดงว่า เขายังไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะฝึกฝนวิชาเหล่านี้
อย่างที่สอง คือ เขาต้องให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์แบบครูกับศิษย์อย่างมาก เพราะนี่คือหัวใจของการศึกษาในแบบตะวันออก ไม่มีใครให้คำยืนยันกับเขาได้หรอกว่า เขาจะได้เรียนวิชาหนึ่งวิชาใดกับครูคนหนึ่งคนใด คนที่จะบอกได้ก็คือตัวเขาเองและครูเท่านั้น การที่เขามีครูที่แท้จริงรับเขาเป็นศิษย์นั่นไม่ใช่เพราะเขาเก่งกว่าคนอื่น เขาเพียงมีคุณสมบัติบางอย่างที่เหมาะสมที่ครูเห็นว่าเขาจะฝึกได้เท่านั้น หากเขาโชคดีได้เข้ามาฝึก เขาควรใช้โอกาสนั้นในการศึกษาเรียนรู้อย่างเต็มที่และถ่อมตนไม่ไปแสดงความอวดอ้างกับผู้อื่นที่ไม่มีโอกาสได้ฝึกและเขาต้องรู้ว่าครูที่แท้จริงนั้นเข้มงวดกับการรับศิษย์เสมอ
อย่างที่สาม เขาไม่ควรฝึกฝนวิชาโน่นนิดนี่หน่อย เมื่อเขาตัดสินใจฝึกวิชาสายใดแล้วก็ควรฝึกสายนั้นให้เต็มที่ ไปให้ถึงจุดสุดยอดของวิชานั้นการเปลี่ยนสายวิชากลางคันแบบคนโลเลที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไปตามกระแส ถือเป็นการกระทำที่ไม่ให้เกียรติวิชาของตนและครูของตน ซึ่งเป็นการผิดจริยธรรมของชาวยุทธ์เป็นอย่างมาก วิชาตะวันออกในแต่ละสายนั้นสุดท้ายแล้วก็จะมาบรรจบกันเองเพียงแต่สิ่งที่ต้องทำคือการตั้งใจจริงฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเท่านั้น
วิชาตะวันออกส่วนใหญ่ที่เอ่ยถึงในที่นี่ มักเกี่ยวข้องกับวิชาฝีมือหรือวิทยายุทธ์แต่จริงๆ แล้วยังมีวิชาตะวันออกสายอื่นๆ อีก เช่น วิชาโยคะสายต่างๆ หลักการปฏิบัติสมาธิในแต่ละศาสนาไม่ว่าจะเป็นสายใด หลักวิชาเหล่านี้มากมาย แตกต่างกันไปตามสายวิชา ผู้ที่จะฝึกควรถามตนเองว่า ลักษณะรูปร่าง เพศ อายุ ชอบแบบไหน? หรือเหมาะกับการฝึกแบบไหนก็ควรเลือกฝึกไปตามนั้น ไม่ควรฝึกวิชาที่ไม่เหมาะสมกับตัวเองเพราะจะทำให้ก้าวหน้าได้ช้าและอาจจะทิ้งไปเสียกลางคัน ผมเชื่อว่าในที่สุดแล้ววิชาตะวันออกอย่างไรก็ต้องเป็นการถ่ายทอดแบบตัวต่อตัว ระหว่างปัจเจกกับปัจเจกในแบบที่ครูสุวินัยเคยพูดไว้ว่า “เหมือนเทน้ำจากแก้วหนึ่งไปอีกแก้วหนึ่งอย่างช้าๆ โดยไม่ให้หกแม้สักหยดหนึ่ง” และการถ่ายทอดแบบนี้ทำให้มี “เยาวชนที่ถูกกำหนด” ไว้แล้วเท่านั้นจึงจะมีโอกาสได้มาเรียนศาสตร์เหล่านี้อย่างจริงจัง การถูกกำหนดนั้นในแง่หนึ่ง หมายถึง การถูกกำหนดด้วย ความพร้อม ของผู้ที่จะศึกษาวิชานั้นๆ ไม่มีครูที่แท้จริงคนใดจะถ่ายทอดวิชาให้แก่ศิษย์ที่ยังไม่พร้อมได้ หากเยาวชนคนใดเล็งเห็นความสำคัญของวิชาเหล่านี้และเข้าใจมันอย่างที่ปรากฏอยู่ในบันทึกฉบับนี้แล้ว แม้ยังไม่เจอครูก็สามารถเตรียมตัวเองให้พร้อมก่อนได้ ด้วยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในศาสตร์นั้นๆ ตั้งใจทำหน้าที่หลักของตนให้สมบูรณ์เช่น ตั้งใจเรียนหนังสือ ช่วยเหลือพ่อแม่ สักวันหนึ่งเมื่อมีความพร้อมเขาก็จะได้เจอกับครูที่แท้จริง และจะได้มีโอกาสฝึกฝนวิชาเหล่านี้อย่างแน่นอน
สำหรับเยาวชนที่มีโอกาสได้ฝึกฝนวิชาตะวันออกแล้วไม่ว่าสายหนึ่งสายใด ผมถือเป็นเกียรติที่เราได้มีโอกาสร่วมฝึกฝนร่วมเดินทางไปในทางสายเดียวกัน และผมขออวยพรให้ทุกคนจงประสบความก้าวหน้าในการฝึกฝน
ขอให้ “พลัง” จงอยู่กับทุกๆ คน
เวทิน ชาติกุล