มนุษย์ที่แท้ 真人

มนุษย์ที่แท้ 真人

มนุษย์ที่แท้ 真人

โดย สุวินัย ภรณวลัย



จางจื้อ เขียนไว้ว่า

"มนุษย์ที่แท้ในสมัยโบราณ ย่อมไม่กลัวเมื่อยึดถือทัศนะหนึ่งใดอยู่เดียวดาย ไม่เอาเปรียบใคร ไม่เจ้าเล่ห์วางแผนการใดๆ ถึงล้มเหลวก็ไม่เสียใจ เมื่อสำเร็จก็ไม่หลงตน

มนุษย์ที่แท้ในสมัยโบราณ นอนโดยไม่ฝัน ตื่นโดยไม่วิตก กินอยู่ง่าย หายใจลึกๆ

มนุษย์ที่แท้ในสมัยโบราณ ไม่ใยดีในชีวิต ไม่กลัวความตาย มาง่าย ไปง่าย ไม่ลืมว่ามาจากไหน และไม่ถามว่าจะไปไหน ไม่เดินไปเบื้องหน้าด้วยความทุกข์โศก ทั้งๆ ที่ต่อสู้อยู่ตลอดชีวิต ยอมรับชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยความยินดี รับความตายเมื่อมาถึงโดยเอาใจใส่แล้วก็จากไปโพ้นทางเบื้องโน้น

จิตเป็นอิสระ ความคิดไปพ้นแล้ว หน้าผากแจ่ม ใบหน้าสงบ"

จางจื้อยังกล่าวอีกว่า

"ณ จุดเริ่มของจุดเริ่มคือศูนย์ของศูนย์ เป็นอนาม อนามนั้นเป็นหนึ่ง ปราศจากร่าง ปราศจากรูป

จากชีวิตเกิดอรูปอันแบ่งแยกมิได้ จากพฤติกรรมของอรูปเกิดเป็นผู้ดำรงชีวิตต่างๆ ขึ้น ซึ่งล้วนทำการจากแรงดันภายในนี้คือรูป

ร่างกายย่อมคงไว้ซึ่งจิตใจ กายและใจทำงานด้วยกันเป็นหนึ่งหันเข้าหากันและแสดงออกมาด้วยกันเป็นอุปนิสัย นี้แลคือธรรมชาติ

คนที่ทำตามธรรมชาติย่อมดำรงชีวิตด้วยการกลับไปหารูปและอรูป และในการดำรงชีวิตย่อมกลับไปหาจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้เริ่มเข้าสู่ความเหมือนกัน ความเหมือนกันนั้นคือศูนย์ ศูนย์คือความไม่สิ้นสุด"

จะหาความสุขที่สมบูรณ์ได้ไหมในโลกนี้ มีวิธีใดบ้างไหมที่จะทำให้การดำรงชีวิตเป็นไปอย่างมีคุณค่าเต็มที่หรือว่าไม่มีเลย ถ้ามีจะค้นหาวิถีทางนั้นได้อย่างไร ควรทำอย่างไร ควรงดอะไร การกระทำต่างๆ ควรมุ่งไปที่เป้าหมายไหน ควรรับอะไร ควรปฏิเสธอะไร ควรรักอะไร ควรเกลียดอะไร... จางจื้อได้ตอบปัญหาเหล่านี้อย่างลุ่มลึกว่า

เราไม่สามารถบอกได้ว่า สิ่งที่โลกถือว่าเป็นความสุขนั้นเป็นความสุขจริงหรือไม่ เรารู้แต่เพียงว่า วิธีการที่มนุษย์แสวงหาความสุขนั้น พวกเขาทำแบบเอาหัวชนกำแพง ทำอย่างน่าสยดสยองประหนึ่งถูกครอบงำให้ทำเช่นนั้น เพราะพวกเขาชอบวิ่งตามฝูงชนไม่สามารถหยุดยั้งตนไว้ได้ และไม่ยอมเปลี่ยนทิศทางเดิน โดยอ้างว่ากำลังจะเข้าถึงความสุขได้อยู่แล้ว

ในทัศนะของตัวเรา คนเราจะหาความสุขไม่ได้เลยตราบเท่าที่ยังแสวงหาความสุขอยู่ ความสุขอย่างยิ่งของเราอยู่ตรงที่ไม่ได้ทำอะไรเลย โดยที่การกระทำนั้นๆ ล้วนเป็นส่วนที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดความสุขทั้งสิ้นในสายตาของปุถุชน แต่นี่เป็นวิธีที่เลวที่สุดที่พึงจะคิดเห็นได้

สุขที่สุดนั้นอยู่ที่ไม่มีความสุข การยกย่องอย่างวิเศษสุดอยู่ที่ไม่มีการยกย่อง หากจะถามว่าควรทำอะไร และไม่ควรทำอะไรในโลกนี้เพื่อที่จะมีความสุข เราขอบอกได้ว่า คำถามเช่นนี้ไม่มีคำตอบ และไม่มีทางที่จะกำหนดสิ่งเหล่านี้

ในทันทีที่เราหยุดแสวงหาความสุข ความถูกและความผิดจะปรากฏชัดขึ้นมาเอง การดำรงอยู่อย่างเป็นสุขและความพึงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ เป็นไปได้ในทันทีที่จะหยุดทำการเพื่อแสวงหา

เราขอสรุปดังนี้

ฟ้าไม่ทำอะไร อกรรมของฟ้าคือความสงบ

ดินไม่ทำอะไร อกรรมของดินคือการพักผ่อน

จากอกรรมของฟ้าและดิน กิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้น สรรพสิ่งจึงเกิดขึ้น

ภาวะต่างๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างใหญ่จนแลไม่เห็นได้ตลอด

สรรพสิ่งมาจากความไม่มีสิ่งใดเลย

ยิ่งใหญ่และไม่อาจแลเห็นได้ อธิบายให้ไม่ได้

สรรพสิ่งในสภาพที่สมบูรณ์ เกิดจากความไม่มีสิ่งใดเลย

จึงกล่าวได้ว่า ฟ้าดินไม่ทำอะไรเลย

และไม่มีอะไรเลยที่ฟ้าดินไม่ได้ทำ

มนุษย์ที่มีจิตอิสระ ไม่พอใจที่จะได้เห็นผู้คนล้อมรอบตนนัก เขาย่อมเลี่ยงเสียจากฝูงชน ที่ใดมีคนมาก ที่นั่นย่อมมีทัศนะต่างๆ กัน และยากที่จะเห็นพ้องต้องกันได้ ซึ่งย่อมจะจบลงด้วยการต่อสู้ซึ่งกันและกัน

มนุษย์ที่จิตอิสระ ไม่ใกล้ชิดติดพันกับใคร และไม่ตีตัวออกห่างจากใคร รู้จักภายในของตนด้วยการทำตนให้สมดุลโดยไม่ขัดแย้งกับใคร นี้แลคือมนุษย์ที่แท้

เขาอยู่อย่างปลาในน้ำซึ่งว่ายอยู่อย่างไม่เอาใจใส่ แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติซึ่งเป็นมิตร แต่ก็มิได้ไปยุ่งเกี่ยวกับธรรมชาติเหล่านั้น

มนุษย์ที่แท้ เห็นเท่าที่ตาเห็น โดยไม่ปรุงแต่งเสริมต่ออะไรให้ยิ่งไปกว่านั้น ได้ยินเท่าที่หูได้ยิน โดยไม่คาดฝันว่า มีเสียงอื่นที่ยิ่งหรือหย่อนไปกว่านั้น เขาสามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความหมายของมัน โดยไม่พยายามแสวงหาความหมายอื่นใดที่แอบแฝงไว้นอกเหนือไปจากนั้นวิถีทางของเขาย่อมเป็นไปโดยตรง แต่เขาก็พร้อมที่จะเปลี่ยนทิศทางเมื่อสถานการณ์บ่งว่าควรเปลี่ยน
********
จะว่าไปแล้วผมทำเพจ Tai Chi for Immortals ออกมาร่วมกับสหายธรรมของผม เพื่อเป็นBlogส่วนตัวที่กระตุ้นไฟในการเรียนรู้ เต๋าของผมอีกครั้งทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติภาวนาในชีวิตหลังเกษียณของผม ส่วนใครจะได้ประโยชน์อย่างไรจากเพจนี้ก็แล้วแต่คนผู้นั้นเลย

ผมยินดีแลกเปลี่ยนตามสมควรในกระทู้ที่ผมโพสต์เรื่องเต๋านะ แต่เต๋าควรเข้าถึงด้วยการภาวนา ลงมือปฏิบัติผ่านลมปราณกรรมฐานในท่ายืน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหว

สุวินัย ภรณวลัย

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้