ปราชญา

ปราชญา

ผู้เยี่ยมชม

Mr.Pradchaya@yahoo.com

  ทำไมอาจารย์ไม่เขียนตำรามวยออกมาบ้างครับ (2405 อ่าน)

5 ก.พ. 2556 10:47

มีคนสนใจตำรามวยจีน เช่นไท่จี๋ ทวยปากัว สิงอี้ ท่านอาจารย์น่าจะเขียนออกมา เพื่อให้ผู้สนใจได้ศึกษนครบาล ผมขอเสนอแนะครีับ ผมก็คนนึงที่สนใจแต่ไม่มีเวลาไปเรียนครับ

27.55.3.221

ปราชญา

ปราชญา

ผู้เยี่ยมชม

Mr.Pradchaya@yahoo.com

Webmaster

Webmaster

ผู้ดูแล

ming7749@hotmail.com

5 ก.พ. 2556 12:13 #1

ตำรา มวยไท่จี๋ ปากัว ไท้เก็ก ดังกล่าวข้างต้นนั้น ในแผงหนังสือไทย-เทศ
จะมีจำหน่ายอยู่โดยปกติอยู่แล้วนะครับ (แต่ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ)
สามารถลองหาอ่านดูได้ครับ


สำหรับ อ.สุวินัย อ. ได้เขียนหนังสือที่เกี่ยวข้องกับมวยจีนออกมา 3 เล่มนะครับ คือ

1. มวยจีนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
2. ความรักกับจอมยุทธ์
3. ยุวมังกร

ซึ่งเนื้อหาใน 3 เล่มนี้จริงๆ ก็ครอบคลุมทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติทั้งมวยภายใน มวยภายนอก เยอะพอควรอยู่แล้วนะครับ
ถ้าไม่เคยอ่านแนะนำให้ลองหามาอ่านดูก่อนได้ครับ ทางเว็บไซต์ สนพ.มังกรบูรณา จะมีจำหน่ายอยู่ทั้ง 3 เล่มนะครับ

http://www.dragon-press.com/category-งานเขียนของอ.สุวินัย-5796-1.html


อนึ่ง ต้องขอเรียนอย่างนี้ครับ

จากการที่ผมเองได้มีโอกาสเล่าเรียนวิชามวยจีนกับ อ.สุวินัย
บางครั้งที่เมื่อผมไปฝึกแล้ว มีลืมท่าทางที่ฝึก ลืมวิธีการหายใจที่ถูกบ้าง 
ก็ะขออนุญาต อ. ขอถ่ายคลิปเอาไว้ หรือจดบันทึกท่าทางต่างๆ เพื่อนำกลับไปฝึกฝนต่อ

อ.จะแนะนำอย่างนี้ครับว่า ไม่ต้องจดหรือถ่ายคลิปหรอก ฝึกได้แค่ไหน จำได้แค่ไหนก็ฝึกเท่านั้นแหละ
สิ่งสำคัญคือการมีวินัยที่จะฝึกฝนได้ต่อเนื่องไม่หยุด และความขยัน อดทนในการฝึก

อ. จะมักเน้นย้ำเสมอครับว่า ให้เราใช้การจำวิชาจากทางร่างกาย และจิตใจของเรา
อย่าไปจำรูปแบบต่างๆ ที่ตายตัว เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรานั้น มันไม่ได้ตายตัว
ถ้าเรามีพื้นฐาน กังฟู ที่แน่นแล้ว มันจะใช้งานได้ดีกว่า พื้นฐานที่เกิดมาจากการฝึกด้วยการจำรูปแบบวิธีการใช้มา

อีกอย่าง ท่าทางหรือวิธีการที่มีจดบันทึกไว้ในตำรานั้น
เมื่อเรานำมาเปิดอ่านแล้วฝึกตาม ก็ใช่ว่าเราจะทำได้ถูกต้องเสมอตามที่ตำรานั้นเขียนเสมอไปนะครับ
อย่างเช่น รายละเอียดในท่ายืนที่ถูกต้อง ต้องเก็บก้น ห่อไหล่ น้ำหนักลงเท้าหลัง หลังตั้งตรง คอไม่เอียง อะไรประมาณนี้
มันเป็นรายละเอียดที่ ถ้าเราได้ฝึกกับครูโดยตรง ครูจะแนำนและจัดท่าให้เราตรงนั้นได้ถูกต้องเลยครับ
บางครั้งถึงครูจัดท่าให้เราถูกแล้ว เราฝึกๆ ไปยังเพี้ยนกลายเป็นผิดไปโดยไม่รู้ตัวก็มี
ครูก็ต้องมาจัดท่าที่ถูกให้เราใหม่ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมันถูก จนร่างกาย จิตใจ เรามันจำได้

ตำรา วิชาในหนังสือที่มีออกมาก็จะเป็นเหมือนเพียงแผนที่ ลายแทง หรือสิ่งที่ให้ผู้ที่ฝึกได้เข้าใจแล้วได้หยิบมาทบทวนในสิ่งที่ตนเองฝึก
แต่ถ้าเริ่มฝึกฝนเองจากตำราเลยนั้น เชื่อว่ามีน้อยครับ ที่จะสามารถฝึกได้จบประสบความสำเร็จ

ปัญหาถ้าไม่มีเวลามาเรียน ขอเรียนอย่างนี้ครับ
เวลามาฝึกเราอาจจะไม่ต้องคิดว่ามาเรียนครั้งหนึ่งต้องกอบโกยวิชาไปให้เยอะๆ มากๆ
ซึ่งอันที่จริงแล้ว พื้นฐานของกังฟู แค่ท่ายืนนั่งม้า บางครั้ง ครูมวยก็ให้ศิษย์ที่มาเรียนฝึกอยู่แค่ท่านั้นท่าเดียว3 ปี ก็ยังมี
ฝึกให้ได้ดี ท่าเดียว เหนือกว่า ฝึกหลายท่าแต่ใช้ไม่ได้ เยอะครับ
ฉะนั้น ถ้าเรามีโอกาส แนะนำอย่างนี้ครับ อาจจะสละเวลาส่วนตัวจากการงาน หรือเวลาหน้าที่ต่างๆ เพียงมาเรียนรู้วิธีการฝึกจากครู
ครั้งละ 1-3 ชั่วโมง แล้วนำกลับมาฝึกฝนต่อเอง อีก เดือนหนึ่งมาฝึกใหม่ ครูก็จะตรวจสอบความก้าวหน้าว่าควรเพิ่มอะไรให้มั้ย ทำไปเรื่อยๆ อย่างนี้
เราจะได้พื้นฐานกังฟูที่แน่นขึ้นมาได้เองครับ ขึ้นอยู่กับความขยัน อดทน ในการฝึกของเรา


สุดท้ายผมขอยกบทความของ จุมพล วรรณโชติ ศิษย์มวยจีนของ อ.สุวินัย
ผู้เขียนหนังสือ "จิตวิญญาณจอมยุทธ์" ในบทที่พูดถึงปัญหาของผู้ฝึกที่
ไม่มีโอกาสไปฝึกกับครูเนื่องด้วย ติดธุระ หน้าที่การงาน หรือบ้านไกล มานะครับ

ด้วยปรารถนาดีครับ



จิตวิญญาณจอมยุทธ์



บทที่ 2 ความพยายามอยู่ที่ใด


 

“บ้านอยู่แถว....ครับ ไม่ทราบมีคนสอน.....อยู่แถวนี้บ้างไหม ? ”


นั่นเป็นประโยคที่ผมมักได้ยินจากทางโทรศัพท์เมื่อมีผู้ติดต่อมาหา ผม หรือพบเห็นได้เป็นประจำตามหน้าเว็บบอร์ดเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ทาง อินเตอร์เน็ต
คำถามแนวนี้ส่วนมากเมื่อมีผู้มาตอบ ซึ่งบางครั้งสถานที่ฝึกฝนอยู่ ห่างจากบริเวณที่ผู้ถามพำนักมากก็มักจะมีการตอบกลับมาว่า


“ไกลจังครับ ไม่ทราบพอจะมีแถวไหนที่ใกล้กว่านี้อีกไหม ?”


คำตอบเหล่านี้หากออกมาจากบุคคลที่มีอายุในวัยทำงานจนถึงสูงอายุ หรือมีภาระหน้าที่การงานและครอบครัวที่ต้องดูแลผมคงจะเห็นใจกับบุคคล เหล่านั้น ที่แม้มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบก็ยังพยายามแสวงหาโอกาสในการ ฝึกฝนในสิ่งที่ตนเองสนใจ แต่ทว่าที่ผมได้พบเจอมาส่วนใหญ่เกิน 50% ผู้ถาม มักอยู่ในช่วงวัยรุ่นอันเป็นวัยที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการเรียนรู้แสวงหา


ผมอ่านประโยคข้อความถามตอบเหล่านี้พลันนึกถึงตนเองในสมัย ที่เริ่มเรียนศิลปะการต่อสู้ใหม่ๆ ตอนนั้นผมเพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เริ่มทำงานด้านผลิตภาพยนตร์ได้ไม่นาน ในขณะเดียวกันก็เพิ่งจะเริ่มฝึกฝน ศิลปะการต่อสู้กับอาจารย์สุวินัย ภรณวลัย


ในช่วงแรกๆ ที่ผมเริ่มเข้ามาฝึกฝน อาจารย์สุวินัยได้เปิดสอนชี่กง เพื่อสุขภาพสำหรับบุคคลทั่วไปอยู่ที่สวนหลวง ร.9 เดือนละครั้งเท่านั้น ส่วน ศิษย์ที่ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้อยู่ก่อนจะมาฝึกฝนกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ สำหรับตัวผมเองซึ่งทำงานด้านผลิตภาพยนตร์ ด้วยลักษณะของงานทำให้ต้อง เดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพและต่างจังหวัด บ่อยครั้งถึงกับต้องพำนัก อยู่กินในกองถ่ายภาพยนตร์นานนับเดือน


เมื่อเปรียบเทียบลักษณะงานของตนเองที่ทำอยู่ ผมคงไม่สามารถ ที่จะมาฝึกฝนเป็นประจำทุกสัปดาห์เหมือนคนอื่นๆ ได้ หากจะเปลี่ยนงานที่ ทำอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ในสภาพเศรษฐกิจหลังฟองสบู่แตกเมื่อ พ.ศ.2540 การที่ ผมมีงานทำและตรงกับสาขาวิชาที่ศึกษามาก็นับเป็นเรื่องยากแล้ว ในขณะที่ เพื่อนฝูงหลายต่อหลายคน ถึงได้งานทำก็ต้องไปทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาอาชีพที่ ได้ร่ำเรียนมา


แต่สำหรับเส้นทางในการฝึกฝนกับลักษณะชีวิตหรือสภาพความเป็น อยู่ของผมแล้ว นับว่าเป็นเรื่องยากที่จะไปด้วยกันได้ หากช่วงเวลาที่ต้องไป สวนหลวง ร.9 ตรงกับวันที่ต้องทำงานแล้ว นั่นจะกลายเป็นอุปสรรคสำหรับผม ไปทันที


จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งผมกำลังทำงานอยู่ในกองถ่ายทำภาพยนตร์ที่ จังหวัดปราจีนบุรี ในวันรุ่งขึ้นยังต้องมีการถ่ายทำต่อซึ่งก็ตรงกับวันที่ผมจะต้อง ไปสวนหลวง ร.9 ผมตัดสินใจขอลาหยุดงาน 1 วัน แล้วนั่งรถไฟเที่ยวกลางคืน มาถึงหัวลำโพงในเวลาเช้าตรู่และตรงไปยังสวนหลวง ร.9 เพื่อฝึกฝนโดยใช้เวลา ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จะเดินทางกลับด้วยรถไฟมุ่งหน้ากลับไปยังปราจีนบุรีเพื่อ ทำงานต่อ ด้วยคิดว่าการที่ตนเองจะได้ฝึกฝนและร่ำเรียนเพื่อความก้าวหน้าต่อ ไปมีโอกาสเพียงเดือนละครั้งเท่านั้น หากผมเสียโอกาสไปผมก็ต้องรอไปอีกหนึ่ง เดือน และหากผมตัดสินใจไม่ไปโดยคิดผัดผ่อนไปเดือนหน้า นิสัยที่ชอบผัด ผ่อนก็จะติดตามตัวผมไปจนในที่สุดผมอาจเลิกฝึกฝนไปเลยก็ได้


บางครั้งกองถ่ายทำภาพยนตร์มีการถ่ายทำในเวลากลางคืน ซึ่งก็ หมายความว่าจะต้องทำงานกันต่อไปจนถึงสว่าง หลังจากเสร็จงานแล้วผมก็มุ่ง ตรงไปยังสวนหลวง ร.9 เพื่อฝึกฝนต่อทันทีโดยที่ยังไม่ได้พักผ่อนแม้แต่น้อย เพราะโอกาสที่จะได้เรียนรู้ฝึกฝนมิได้เกิดขึ้นกับผมง่ายนัก หากนั่งงอมืองอเท้า รอโอกาสมาหาผมอาจคงต้องรอไปชั่วชีวิต


ผู้คนในสมัยก่อนย่อมมีความคิดอ่านแตกต่างจากสมัยนี้ ผู้ฝึกฝน ศิลปะการต่อสู้ในสมัยนั้นจำนวนไม่น้อย กว่าจะได้ร่ำเรียนศึกษาศิลปะการต่อสู้ ล้วนต้องผ่านความลำบากยากเย็น ในประเทศจีนยุคที่การคมนาคมยังไม่เจริญ บางคนกว่าจะไปพบอาจารย์ต้องเดินด้วยเท้าไปหลายสิบกิโลเพื่อไปยังหมู่บ้านที่ อาจารย์พำนักอยู่เป็นประจำ หรือบางคนกว่าอาจารย์จะยอมรับให้เป็นลูกศิษย์ สืบทอดวิชาฝีมือก็ต้องทำงานช่วยเหลือผู้เป็นอาจารย์อย่างขยันขันแข็งอยู่เป็น เวลานานหลายปี เพื่อให้อาจารย์รับทราบถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังของผู้เรียน


อาจารย์สุวินัย เคยเล่าเรื่องราวของตนเองให้ผมฟังว่า สมัยที่ท่าน เพิ่งศึกษามวยไท้เก็กสายอาจารย์เจิ้งมั่นชิงกับท่านอาจารย์โค้วจุนฮุย อาจารย์ สุวินัยพำนักอยู่แถวถนนพัฒนาการ ท่านอาจารย์โค้วพำนักอยู่ที่หมู่บ้านใน รามอินทรา กม.7 อาจารย์สุวินัยต้องนั่งรถประจำทางมาลงที่ รามอินทรา กม.8 ตอนหกโมงเย็น ซึ่งราวปี พ.ศ.2528 บริเวณนั้นเป็นอู่รถประจำทาง การคมนาคม ก็ยังไม่สะดวกสบายดังเช่นทุกวันนี้ หากจะมาที่ กม.7 ก็มีเพียงวิธีเดียวคือ ต้องวิ่งมาเพื่อให้ทันเวลาฝึกฝนตอนหนึ่งทุ่มตรงเป็นประจำทุกครั้ง ครั้นเมื่อถึง เวลาสามทุ่มก็จะต้องขอลาท่านอาจารย์โค้วกลับบ้าน เพราะหากไม่กลับเวลานี้ ก็จะวิ่งกลับไปที่ กม.8 ไม่ทันเนื่องจากรถประจำทางเที่ยวสุดท้ายจะออกเวลา สี่ทุ่มตรงพอดี


ต่อมาท่านอาจารย์โค้วได้เมตตาชี้แนะเพิ่มเติมว่า ตัวท่านในตอนนี้ ไม่สามารถแสดงออกถึงหลักการของมวยไท้เก็กบางท่าได้อย่างเต็มที่ เนื่องจาก ท่านใส่ขาเทียมอยู่ข้างหนึ่ง ท่านั้นก็คือท่า เง็กนึ้งซึงซอ (แต้จิ๋ว) ที่แปลว่า เทพี ร้อยกระสวย กับท่า ปั้วหน่ำตุ้ย (แต้จิ๋ว) ซึ่งเป็นท่าชกรูปแบบหนึ่ง สำหรับท่า เง็กนึ้งซึงซอมีรูปแบบการก้าวเท้าเหมือนดังเคล็ดของมวยฝ่ามือแปดทิศ ส่วนท่า ปั้วหน่ำตุ้ยมีเคล็ดการใช้เหมือนดังการชกท่าหนึ่งของมวยสิงอี้ซึ่งเป็นมวยจีน ชนิดหนึ่งที่มีรูปแบบการเคลื่อนไหวตามหลักของห้าธาตุและสัตว์สิบสองชนิด หากอาจารย์สุวินัยมีโอกาสก็จงพยายามร่ำเรียนมวยทั้งสองชนิดนี้ให้ได้


ต่อมาเมื่ออาจารย์สุวินัยได้ไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ในเมือง เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ท่านจึงได้พยายามค้นหาอาจารย์ผู้สอนมวยทั้งสองชนิด นี้มาโดยตลอด จนได้พบกับอาจารย์เทย์เซย์ริว (เฉิงสั้งหลง) ผู้เป็นศิษย์ของ ปรมาจารย์หวังชูจิน ผู้เชี่ยวชาญมวยสิงอี้และฝ่ามือแปดทิศซึ่งเดินทางมาพำนัก ในญี่ปุ่นเพื่อสำแดงวิชาฝีมือของชาวจีนให้แก่ชาวญี่ปุ่นอันเป็นประเทศที่นิยม ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ได้ประจักษ์ แต่ทว่าอาจารย์เทย์เซย์ริวพำนักอยู่ในโตเกียว อาจารย์สุวินัยอยู่ในเกียวโต หากเป็นการเรียกแบบแบ่งเขตของชาวญี่ปุ่นก็คือ อาจารย์สุวินัยอยู่แถบฝั่งตะวันตก ส่วนโตเกียวอยู่แถบฝั่งตะวันออกค่อนมา ทางใต้ อาจารย์สุวินัยต้องนั่งรถไฟชินคันเซ็นจากเกียวโตไปโตเกียวระยะทาง กว่า 500 กิโลเมตร เพื่อร่ำเรียนวิชากับอาจารย์เทย์เซย์ริวเป็นประจำ ทั้งๆ ที่เมือง ที่พำนักอยู่ หรือบริเวณเมืองใกล้เคียงก็มีสำนักมวยจีนที่เปิดสอนอยู่มากรวม ทั้งวิชาฝ่ามือแปดทิศและมวยสิงอี้นี้ด้วย แต่ท่านก็ไม่เคยคิดแสวงหาสถานที่ ร่ำเรียนใกล้ๆ เพียงเพราะความสะดวกสบายส่วนตัว แต่ยินยอมลำบากเดินทาง ไปพบกับวิชาและอาจารย์ในอุดมคติที่ตนเองเสาะหา


“หากคิดจะเป็นในสิ่งที่เป็นได้ยาก ก็ย่อมไม่มีทางง่ายให้เลือกเดิน สำหรับการจะไปถึงจุดๆ นั้น” คำพูดของอาจารย์สุวินัยยังคงดังก้องอยู่ในหัว ของผมเสมอ สำหรับหนุ่มสาวในช่วงวัยที่เปี่ยมไปด้วยพละกำลังและความฝัน ไม่ควรท้อถอยในสิ่งที่กระทำสำเร็จได้ยาก คนเรามักจะเป็นอย่างที่เราพูด กระทำ หรือคิด หากพูด คิด และกระทำอะไรอย่างง่ายๆ ก็จะเป็นคนง่ายๆ แต่อย่า ลืมว่า ในชีวิตความเป็นจริงมันมิได้ง่ายดายเช่นนั้น


.....................................

27.130.226.113

Webmaster

Webmaster

ผู้ดูแล

ming7749@hotmail.com

อานา

อานา

ผู้เยี่ยมชม

kosmos4444@gmail.com

13 ก.พ. 2556 20:15 #2

ได้ประโยชน์มากเลยค่ะ ขอบคุณนะคะ :r:

27.55.142.230

อานา

อานา

ผู้เยี่ยมชม

kosmos4444@gmail.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้