1. สันตจิตโต
...คืนวันเพ็ญที่ 24 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
“เริงร่ายในเอกภพ
ห่มกายในม่านหมอก
ย่ำเท้าในพงไพร
หมู่ดาวยิ้มแย้มให้แก่ข้า
จันทราแจ่มกระจ่างอำไพ”
มังกรบูรณา
เมื่อจิตแน่วแน่อยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียว จิตของ พระสนธิ สันตจิตโต ก็สงบลงอย่างที่ตัวเองก็คาดไม่ถึง
วัดป่าบ้านตาด มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าบนโคกเนิน ล้อมรอบด้วยพื้นที่นามีพื้นที่ทั้งหมด 163 ไร่ ล้อมรอบด้วยกำแพงคอนกรีต กำแพงที่ล้อมรอบวัดนี้นอกจากเพื่อใช้แสดงเขตวัดแล้ว ที่สำคัญยิ่งเพื่อป้องกันอันครายให้แก่สัตว์ป่าทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าของวัดอีกด้วย
ตลอดเวลาที่ สันตจิตโต มาบำเพ็ญสมณธรรมที่วัดป่าแห่งนี้ สันตจิตโต รู้ว่าศีลของเขาสมบูรณ์ไม่บกพร่อง เพราะ สันตจิตโต ได้พยายามควบคุมกาย วาจา และใจของตนมิให้ทำ พูด คิดในสิ่งที่เขารู้ว่าไม่ดี ไม่งาม การระวังรักษาศีล 227 ข้อของสงฆ์อย่างเคร่งครัด และการเจริญสติภาวนาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงหลายวันที่ผ่านมานี้ ทำให้ สันตจิตโต รู้ว่าจิตของเขาสงบยิ่งขึ้น มั่นคงยิ่งขึ้น และสะอาดยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
ทุกครั้งที่จิตของ สันตจิตโต ประหวัดไปหาอดีต หรือทะยานไปสู่อนาคต สันตจิตโต จะรู้ตัวโดยเร็ว และสามารถที่จะยุติความฟุ้งซ่านกวัดแกว่งของจิตแล้ว กลับมาหาความสงบได้โดยเร็ว
กุฏิที่ พระสันตจิตโต พำนักก็เหมือนกุฏิอื่นในวัดป่าบ้านตาด คือเป็นกุฏิที่เรียบง่ายพอแก่การบังแดด ลม ฝน กุฏิอยู่สูงจากพื้น 1 เมตร เพื่อกันการรบกวนจากสัตว์เลื้อยคลาน และความชื้นจากพื้นดิน กุฏิมีขนาดเพียงพอสำหรับพระอยู่รูปเดียว ภายในกุฏิจะมีเพียงกลด เสื่อปูนอน ผ้าห่ม เครื่องอัฐบริขาร ตะเกียง และเทียนไขเท่านั้น ตรงด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปเพื่อไว้กราบไหว้บูชา และเพื่อเป็นกำลังใจในการบำเพ็ญเพียรภาวนา
แต่ละกุฏิจะมีทางเดินจงกรมยาวประมาณ 25 ก้าวอยู่ใต้ร่มไม้ในยามค่ำคืน การเดินจงกรมจะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอให้เห็นทาง กุฏิแต่ละหลังจะมองไม่เห็นกัน ประหนึ่งว่า กำลังอยู่ท่ามกลางป่าเพียงลำพัง เพื่อให้สะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม
ในระหว่างที่บวช นอกจากการนั่งสมาธิใต้โคนต้นไม้เป็นบางครั้งแล้ว การบำเพ็ญสมณธรรมที่ สันตจิตโต เอาใจใส่ฝึกฝนมากที่สุด คือ การเดินจงกรมภาวนา บนทางเดินข้างกุฏิของเขา
คืนนี้ก็เช่นกัน สันตจิตโต ยืนสงบนิ่งบนทางเดินจงกรมข้างกุฏิเพียงลำพัง แสงไฟจากโคมเทียนที่ สันตจิตโต จุดและวางไว้ข้างทางเดินให้ความสว่างสลัว พอให้เห็นต้นไม้ที่ยืนเบียดล้อมเขาอยู่ ขณะนั้นป่าไม้รอบๆ ตัวเขาตกอยู่ในความเงียบ นานๆ จึงมีเสียงนกกลางคืนจากต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่งร้องเหมือนจะทักถามเท่านั้น
สันตจิตโต ยืนนิ่ง จิตแน่วแน่อยู่กับลมหายใจเข้าออกได้พักใหญ่ จากนั้น สันตจิตโต จึงเริ่มออกเดินช้าๆ ไปตามทางแคบๆ ที่มีระยะยาวเพียง 25 ก้าว ในทันทีที่เริ่มเดิน จิตของ สันตจิตโต ก็หยุดคิดถึงเรื่องอื่นใดทั้งสิ้น จดจ่ออยู่กับเท้าทั้งสอง รู้แต่ว่าเท้าข้างหนึ่งกำลังยก ย่าง และเหยียบ แล้วเท้าอีกข้างหนึ่งก็กำลังยก ย่าง และเหยียบเคลื่อนไหวตามไปในอาการ และจังหวะเดียวกัน
นี่เป็นการทำสมาธิขณะเดินที่เรียกกันว่า “การเดินจงกรม” หรือการเดินไปมาโดยมีสติกำกับ บัดนี้ สันตจิตโต สามารถที่จะอยู่กับการเดินอย่างมีสติเช่นนี้ได้เป็นชั่วโมง โดยใจไม่วอกแวกแล้ว
สันตจิตโต ชอบมาเดินจงกรมในเวลาดึกสงัดเช่นนี้เสมอ เพราะในรัตติกาลเช่นนี้แสงสว่างจำกัด ทำให้แลเห็นสิ่งที่รบกวนได้น้อย สายตาของ สันตจิตโต ทอดลงไปยังพื้นเบื้องหน้าห่างจากตัวไปพอประมาณ และไม่สอดส่ายออกไปรับรู้ภาพอื่นใดนอกจากทางเดิน พอเดินไปสุดทาง สันตจิตโต ก็หมุนตัวกลับช้าๆ โดยรู้ตัวตลอดเวลาว่ากำลังเคลื่อนไหวอย่างใด ในท่าใดอยู่ และเมื่อเดินกลับจิตของ สันตจิตโต ก็กลับไปอยู่ที่การเคลื่อนไหวของเท้าต่อไปอีก
คืนนั้น พระจันทร์เต็มดวง เมฆบนท้องฟ้ามีไม่มากนัก แต่ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่กลุ่มเมฆก้อนใหญ่เคลื่อนมาปิดบังดวงจันทร์ ในขณะที่ สันตจิตโต กำลังเดินจงกรมอยู่พริบตานั้นเอง และเฉพาะในห้วงขณะนั้น เท่านั้นที่จิตของ สันตจิตโต เผลอหลุดออกไปหวนคำนึงถึงเรื่องราวในอดีตจนเป็นที่มาของการบวชในครั้งนี้ของเขา...
วันที่ 8 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550 สนธิ ลิ้มทองกุล ได้เดินทางมาอุปสมบทที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังบวชเสร็จ สนธิ ได้รับฉายาว่า “สันตจิตโต” (ผู้มีจิตสงบ) จากนั้นพระสันตจิตโตจึงเดินทางไปจำวัดที่วัดป่าบ้านตาดของหลวงตามหาบัว
การบวชครั้งนี้ของ สนธิ เกิดขึ้นเพราะ สนธิ เคยให้สัจวาจากับ หลวงพ่อญา ผู้เคยเป็นพระอุปัชฌาย์ให้เขาสมัยที่เขาบวชครั้งแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่วัดป่าแห่งหนึ่งในจังหวัดหนองบัวลำภูว่า เขาจะบวชอีกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อญา ก่อนที่ท่านจะมรณภาพไปเมื่อสองปีก่อน แม้แต่ช่วงก่อนที่ท่านจะสิ้นลมหายใจ ท่านก็ยังเคยพูดกับ สนธิ ว่า จงอย่าลืมคำมั่นสัญญา สัจวาจาว่าจะบวช
การบวชครั้งนี้สนธิ จึงตั้งใจจะบวชให้ท่าน และบวชให้กับหลายๆ อย่างในชีวิต สนธิ ตั้งใจว่าจะบวชเป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยที่ในหนึ่งเดือนนี้ เขาตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรม และเข้มงวดกับตนเองให้มากที่สุด เพื่อที่จะเติมพลัง เพิ่มพูนให้มีสติมากขึ้น จะได้สร้างปัญญา และเพื่อเอาปัญญานั้นมารับใช้สังคมต่อไป นอกจากนี้ การบวชครั้งนี้ของ สนธิ ยังเป็นการบวชเพื่อที่จะรู้จักตนเอง รู้จักสิ่งที่ตัวเองทำ แล้วทบทวนว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ สิ่งที่ตัวเขาได้ทำลงไปนั้นมีข้อผิดพลาดอันใดบ้าง
ก่อนจะบวช สนธิ ไม่วิตกกังวลแต่ประการใด เพราะ สนธิ มั่นใจว่าสิ่งที่ พวกเขา ได้ร่วมกระทำมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชอบธรรม และได้ส่งผลสะเทือนมหาศาลต่อสังคมนี้
การที่ พวกเขา “ลุกขึ้นสู้” กับ ระบอบทักษิณ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2548 นั้น มันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของเขา แต่เพราะ พวกเขา ได้แลเห็นร่วมกันในพฤติกรรมต่างๆ ที่น่าสงสัยว่า เป็นการละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งพฤติกรรมเผด็จการในคราบประชาธิปไตย และการคอร์รัปชันเชิงนโยบายครั้งมโหฬารภายใต้ ระบอบทักษิณ ซึ่ง พวกเขา เห็นพ้องต้องกันว่า นี่คือภยันตรายใหญ่หลวงต่อแผ่นดินนี้ในอนาคตอันใกล้
พวกเขา จึงได้ร่วมกันทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้แล้วในระดับหนึ่ง ด้วยการจุด “เทียนแห่งธรรม” ให้ปัญญาแก่ประชาชนในวงกว้างอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยผ่านสื่อทางเลือกอย่าง ASTV และเครือข่ายจนก่อให้เกิดความรับรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวางในสังคมถึง ภยันตรายของระบอบทักษิณ ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะสะดุดหยุดลง หลังการรัฐประหารในวันที่ 19 เดือนกันยายน พ.ศ. 2549...
สายลมแรงพัดกลุ่มเมฆที่ปิดบังดวงจันทร์จนกระจายตัวออกฉับพลัน เมฆหมอกที่กดทับจิตใจของ สันตจิตโต อยู่ชั่วขณะพลันพลอยเลือนหายไปสิ้น ในใจของ สันตจิตโต บังเกิดความสว่างโพลงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนหลังเมฆเลือนลับ ท้องฟ้าที่มีพระจันทร์เต็มดวงกลับมากระจ่างอีกครา คราวนี้ป่าไม่เงียบงันอีกต่อไป แมลงจำนวนมากต่างพร้อมใจกันส่งเสียงร้องระงมไปทั่ว ทั้งใกล้ไกลรอบตัว สันตจิตโต เต็มไปด้วยสุ้มเสียงต่างๆ ของธรรมชาติ สันตจิตโต ตระหนักได้ถึงพลังขับเคลื่อนที่มีชีวิตชีวาของฟ้าดิน
เสียงของสายลมที่กำลังพัดหวีดหวิวอยู่ในทิวไม้รอบตัวเขาขณะนั้น กลับกลายเป็นเสียงที่ไพเราะที่สุดเท่าที่ สันตจิตโต เคยได้ยินมา เพราะมันเป็นเสียงโบกพัดหวีดหวิวของเอกภพ เป็นเสียงแห่ง “พุทธะ” ที่ปรากฏออกมาในห้วงยามนี้
สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นการเผยตัวของ พุทธะ ทั้งสิ้น พุทธะ ที่แท้จริงนั้นไร้ชื่อไร้รูป คนเราจะมีชีวิตอยู่หรือตายล้วนเป็นพลังของ พุทธะ ทั้งสิ้น มนุษย์ได้สร้างและประดิษฐ์รูปทรงต่างๆ ขึ้นมาให้แก่สิ่งที่ตั้งแต่เดิมนั้นไร้ชื่อและไร้รูป ก็เพื่อให้ “สิ่งนั้น” เป็นสัญลักษณ์ที่คนเราสามารถแสดงความเคารพบูชาได้ มนุษย์จึงแกะสลักรูปปั้นพระพุทธเจ้าในปางต่างๆ ขึ้นมา และก็สร้าง พระโพธิสัตว์ ขึ้นมาในร่างมนุษย์
มายา คือ การปฏิบัติและการยืนยันสรรพสิ่งโดยมีอัตตาเป็นเครื่องชี้นำ แต่ การรู้แจ้ง คือการที่ทุกสรรพสิ่งดำเนินไปอย่างเป็นเช่นนั้นเอง และเป็นฝ่ายยืนยันการดำรงอยู่ของมนุษย์
ผู้ที่รู้แจ้งคือ พุทธะ ผู้ที่สับสนงมงายในการบรรลุธรรม คือเวไนยสัตว์ทั้งผอง แต่แม้กระนั้นก็ยังมี คนที่เข้าถึงการรู้แจ้งซึ่งอยู่เหนือการรู้แจ้ง และก็ยังมีคนที่สับสนแม้ในโลกแห่งมายาของตนเอง
กล่าวโดยถึงที่สุด การศึกษาพุทธธรรมที่แท้จริง คือ การศึกษาตนเอง การศึกษาตนเอง คือการละวางตัวตน และการละวางตัวตนจะถูกยืนยันได้โดยสภาวธรรมทั้งปวง โดยที่สภาวธรรมทั้งปวงอันเป็น อนัตตา จักปรากฏชัดแก่เขาผู้นั้น
สันตจิตโต ตระหนักซึ้งได้ว่า คนเราถ้ามีชีวิตอยู่อย่างเติมเต็มปัจจุบันให้มีคุณค่ามากที่สุดแล้ว ผู้นั้นย่อมสามารถเผชิญหน้ากับอนาคตอย่างเป็นจริงที่สุดได้เสมอ
สันตจิตโต ถามกับตัวเองในใจว่า วันใดที่เขาสึก และกลับไปเป็น “สนธิ ลิ้มทองกุล” อีกครั้ง เขาใช่ยังจะสร้างความเป็นไปได้ในความเป็นไปไม่ได้ อันเป็นวิถีทางแห่งการสร้างความสำเร็จ และการซ่องเสพกับชีวิตของเขา เหมือนเช่นที่ผ่านมาอีกหรือไม่