“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (4)
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
16 มกราคม 2556
ถูกหลอกไปตายให้โดดหน้าผาทางการคลัง
นี่คือสิ่งที่ประชานิยมทำกับคนชั้นกลางล่าง
อ่านบทความเรื่อง หน้าผาทางการคลัง หน้าผาฆ่าตัวเอง (ผู้จัดการออนไลน์ 14 ม.ค. 56) ของ อ.ไสว บุญมาแล้ว “สว่างไสว” ในความคิดสมชื่อผู้เขียนโดยแท้
ถ้าใครอ่านแล้วยังไม่เข้าใจว่า อะไรคือ หน้าผาทางการคลัง ก็อยากจะฉายซ้ำอีกครั้งว่าเป็นภาวการณ์ที่ เศรษฐกิจกำลังจะต้องปรับตัวปฏิบัติตามกฎกติกาทางการเงินการคลังที่ได้ตั้งไว้ นั่นคือเมื่อรัฐบาลมีการใช้จ่ายมากกว่ารายรับจากภาษี หากไม่ปรับขึ้นภาษีก็ต้องลดการใช้จ่ายนั้นลงให้พอเพียงกับรายรับที่มีอยู่ ไม่สามารถจะใช้จ่ายเกินตัวได้ตามอำเภอใจตลอดไป
การลดการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างฮวบฮาบในขณะที่การลดหย่อนภาษีที่ได้ทำมาก่อนหน้านั้นก็ถึงคราวที่จะต้องสิ้นสุดช่วงโปรโมชั่นหันกลับมาใช้ภาษีในอัตราเดิมไม่สามารถทำต่อไปได้ เศรษฐกิจก็จะมีลักษณะที่คล้ายกับกำลังจะเดินตกหน้าผา (ทางการคลัง) นั่นเอง เนื่องจากอยู่ๆ ก็จะทรุดตัวตกลงไปอันเป็นผลมาจากรัฐบาลไม่สามารถใช้จ่าย(เกินตัว)ได้เหมือนเดิม ขณะที่เอกชนก็เช่นกันเพราะต้องเอาเงินมาเสียภาษีเพิ่มขึ้น
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะหน้าผาทางการคลังเช่นเดียวกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้หรือไม่? ก่อนจะตอบคำถามนี้ต้องดูบริบททางการคลังของไทยเสียก่อนว่าเป็นอย่างไร
กติกาทางการเงินการคลังของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันก็คือ เพดานการขาดดุลทางการคลังไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณประจำปี บวกกับอีกร้อยละ 80 ของยอดเงินชำระคืนเงินกู้ ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลทักษิณและพวกไม่สามารถใช้จ่ายเงินทำโครงการต่างๆ ได้ตามอำเภอใจ
ผลก็คือนวัตกรรมใหม่โดยการกู้เงินนอกงบประมาณ ดังจะเห็นได้จากการออกกฎหมายกู้เงินโดย พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านโดยอ้างความจำเป็นเรื่องน้ำท่วมและที่กำลังจะกู้อีก 2 ล้านล้านบาทโดยอ้างความจำเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งของประเทศ
การกู้เงินนอกงบประมาณเช่นนี้จะทำให้ไม่ติดกติกาเรื่องเพดานการขาดดุลในขณะที่ไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดการใช้เงินต่อสภาฯ การตรวจสอบก็ไม่เกิด งบประมาณรายจ่ายประจำปีและส.ส.ในสภาจึงกลายเป็นแค่เจว็ด เนื่องจากการใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติและตรวจสอบจากสภาฯ ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปีก็เป็นเพียงรายจ่ายเพื่อไปจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ค่าน้ำค่าไฟก็เท่านั้นเอง จะสมดุลหรือขาดดุลก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป
หน้าผาทางการคลังที่รัฐบาลสหรัฐฯ เผชิญกับเส้นตายที่ต้องลดค่าใช้จ่ายและต้องขึ้นภาษีเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาจึงไม่เกิดเพราะรัฐบาลไทยไม่รักษากติกา หาช่องหลีกเลี่ยงที่ส่อไปในทางทุจริต ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำได้เพียงขยายเวลาออกไปอีก 2 เดือนแต่กติกาก็ยังคงเป็นกติกา
นโยบายประชานิยมที่ใช้อยู่ในรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลปัจจุบันมีคุณลักษณะที่สำคัญก็คือ เป็นการใช้จ่ายเงินจากงบประมาณของรัฐเพื่อหวังผลทางการเมืองผ่านโครงการต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลเป็นที่ชื่นชอบจากประชาชนผู้ได้รับผลประโยชน์ ที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายมาจากการกู้โดยการขาดดุลการคลัง ไม่มีการเพิ่มทั้งอัตราและฐานภาษีเพื่อนำมาเป็นรายได้ ในขณะที่ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินดังกล่าวมิได้ถูกนำมาคำนึงถึงแต่ประการใดทั้งๆ ที่เป็นเงินของประชาชน หาใช่เงินของทักษิณแต่อย่างใดไม่
ที่สำคัญคือสร้างความหลงผิดให้กับคนชั้นกลางล่างที่เป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีแต่ได้ไม่มีเสีย
จำนำข้าวทำให้คนชั้นกลางล่างร่ำรวยขึ้นแม้จะถูกเอารัดเอาเปรียบไปบ้างตันละ 3 - 5 พันบาทแต่ก็หลอกตัวเองว่ายังมีเหลือ รถคันแรกที่ทำให้คนชั้นกลางล่างมีโอกาสมีรถส่วนตัวใช้แม้จะช่วงเวลาสั้นๆ เท่าที่สามารถผ่อนได้หรือเท่าที่จะมีถนนให้วิ่ง หรือค่าจ้าง 300 บาทต่อวันที่แม้ตนเองก็ยังโชคดีมีงานทำอยู่ได้แต่เพื่อนตนเองในที่ทำงานถูกให้ออก
สิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นคิดว่าได้เปรียบก็คือ คนชั้นกลางล่างมีรายได้แต่ไม่เคยเสียภาษี ภาพลวงตาก็คือผลเสียใดๆ ในอนาคตตนเองก็จะไม่มีส่วนรับผิดชอบแต่อย่างใด
แต่คนชั้นกลางล่างเหล่านั้นจะรู้หรือไม่ว่า ในวันข้างหน้าเมื่อเศรษฐกิจไทยเผชิญกับความจริง หน้าผาทางการคลัง หรือภาระความรับผิดชอบทางการเงินการคลังของประเทศจากการใช้จ่ายเงินเกินตัวของรัฐบาลทักษิณและพวกก็หลีกเลี่ยงไปได้ไม่พ้น กลายเป็น “ขว้างงูไม่พ้นคอ”
แม้รัฐบาลในระบอบทักษิณจะมีความสามารถในการฉ้อฉลหาช่องทางหลีกเลี่ยงกติกาไปได้ แต่กฎแห่งความเป็นจริงเรื่องการใช้จ่ายเงินเกินตัวก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่มีใครสามารถใช้เกินกว่าที่หามาได้ ช้าหรือเร็วก็ต้องกลับมาสู่ความจริงนี้
เมื่อวิบัตินโยบายทั้ง 3 นโยบาย (จำนำข้าว รถคันแรก ค่าจ้าง 300 บาท) ก่อให้เกิดภาระผลเสียทางการคลัง เศรษฐกิจมันก็ต้องสะดุดหยุดตกหลุมตกหล่มตกหน้าผาเข้าสักวัน เศรษฐกิจไทยอาจไม่เจอกับหน้าผาทางการคลังในลักษณะที่ทรุดฮวบลงไปโดยพลัน แต่อาจเป็นการค่อยๆ เดินจมหายลงไปในหุบเขาแห่งหนี้สินอันเป็นความวิบัติของประเทศแทน
เมื่อวิบัตินโยบายประชานิยมทั้งหลายมาถึงจุดสิ้นสุดก็ถึงคราวที่งานเลี้ยงต้องมีการคิดเงิน เช่นเดียวกับที่กรีซ หรือสเปน ต่างก็ประสบพบเจอ ผลคือมีคนว่างงานมากกว่าร้อยละ 20 แล้วคนกลุ่มใดที่จะเจ็บปวดมากที่สุด หากไม่ใช่คนชั้นกลางล่างเพราะมีทางเลือกและสมรรถนะในการปรับตัวได้น้อยที่สุด
แม้จะไม่เคยเสียภาษี แต่สวัสดิการสังคมที่เคยได้ฟรีจากรัฐก็จะหมดไป เมื่อคนชั้นที่สูงกว่าต้องรับภาระใช้หนี้สาธารณะที่พอกพูนขึ้นมา ภาษีและรายได้ที่จะมาจุนเจือจ้างงานคนชั้นกลางล่างก็ไม่มี ยิ่งตนเองไม่เคยเพิ่มสมรรถนะเพราะเคยชินพึ่งพิงกับการได้ผลประโยชน์มาโดยง่าย โอกาสตกงานก็มีสูงกว่ากลุ่มชนชั้นอื่นๆ โดยทั่วไป ในขณะที่สวัสดิการทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ที่เคยได้ก็เหือดแห้งหายไปเช่นน้ำค้างต้องแสงแดดขาดเสาหลักของการพึ่งพา “นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือนในไม่ช้า
ประสบการณ์ตรงเมื่อวิกฤตปี พ.ศ. 2540 สอนให้รู้ว่าพวกที่ไม่ใช่คนชั้นกลางล่าง เช่น มนุษย์ทองคำที่จบ MBA ทั้งหลายยังต้องมาเปิดท้ายขายของหางานทำไม่ได้ วิกฤตในครั้งต่อไปที่กำลังจะมาถึงน่าจะเป็นวิกฤตที่เกิดด้วยน้ำมือของคนชั้นกลางล่างที่หลงผิดคิดว่าตนเองจะได้มากกว่าเสียจากโครงการประชานิยม อย่าลืมว่าหนี้สาธารณะเป็นของทุกคนไม่จำกัดชนชั้นแม้ไม่เคยเสียภาษีก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องรับผิดชอบ มีแต่นักการเมืองที่คิดนโยบายประชานิยมเท่านั้นที่อาจเปิดตูดหนีความรับผิดชอบไปเสวยสุขหนีความรับผิดชอบไปได้ชั่วคราว
คำแนะนำง่ายๆ สำหรับทุกคนทุกชนชั้น งานเลี้ยงกำลังใกล้จะเลิกราเต็มที ใกล้จะได้เวลาคิดเงินแล้ว จงเตรียมเงินเอาไว้ให้พร้อมอย่าหลงระเริงไปในสิ่งที่ไม่ยั่งยืนเช่นนโยบายประชานิยมที่เป็นอยู่อีกต่อไปเลย เผาจริงน่ะเจ็บปวดโดยเฉพาะเมื่อตอนดูตนเองถูกเผา