ช้างตายทั้งตัว รัฐบาลปูจะเอาอะไรมาปิด ?
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
3 ตุลาคม 2555
หายนะจากนโยบายจำนำข้าวเป็นช้างตาย
ที่แม้แต่ใบบัวสักใบนางนายกฯ ก็ไม่มีจะปิด
บทความนี้เขียนขึ้นบนพื้นฐาน 2 ประการคือ ผู้เขียนเป็นหนึ่งในรายชื่อที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเรื่องนี้ และในฐานะนักวิชาการที่พึงให้ข้อมูลกับสังคมว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตจากการดำเนินนโยบายนี้ เพื่อมิให้เป็นเหมือนวิกฤตฯ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่สาธารณชนข้องใจถามว่านักวิชาการไปมุดหัวอยู่ที่ไหนหมด ไม่กระทำตัวเป็นหมาเฝ้าบ้าน
นโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดก่อให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจของประเทศด้วยสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ (1) การซื้อแพงขายถูก และ (2) การทำลายกลไกตลาด
ขยายความประเด็นแรกก่อน นโยบายนี้ไม่ใช่เป็นการจำนำตามชื่อแต่อย่างใด เพราะหากจำนำก็ต้องหวังให้ชาวนามาไถ่ถอนข้าวคืนเมื่อราคาสูงกว่าราคาจำนำ แต่ด้วยราคาที่รับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดเป็นอย่างมากถึงเกือบร้อยละ 40 ผลก็คือ เป็นการซื้อขาดจากชาวนาด้วยราคาที่สูงเกินจริงกว่าราคาตลาด โอกาสที่ชาวนาจะมาไถ่ถอนข้าวที่จำนำคืนมีน้อยมาก รัฐบาลจึงกลายเป็นผู้ผูกขาดซื้อข้าวแต่เพียงรายเดียว
ส่วนประเด็นที่สองนั้น ข้าวก็เป็นสินค้าในระบบเศรษฐกิจไทยที่มีผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่มาก มิใช่มีเฉพาะชาวนากับรัฐบาลเพียงสองฝ่าย หากแต่ยังมีคนกลาง โรงสี ท่าข้าว พ่อค้าข้าวถุง พ่อค้าส่งออก ธนาคาร หรือแม้แต่ผู้บริโภคที่มีเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างกันหรือที่เรียกว่ากลไกตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง
การที่รัฐบาลดำเนินนโยบายเช่นนี้จะส่งผลให้คนอื่นๆ ที่ไม่ใช่รัฐบาลต้องถูกบังคับให้ออกจากตลาดข้าวด้วยการรับซื้อในราคาที่สูงผิดปกติอย่างไม่จำกัดจำนวนเนื่องจากไม่สามารถเข้ามาแข่งขันด้วยได้ กลไกตลาดจึงไม่สามารถทำงานได้จากการแทรกแซงตลาดด้วยนโยบายนี้
ลำพังเพียงแต่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ไม่กี่ร้อยคนย่อมไม่สามารถที่จะเข้ามาทดแทนกลไกตลาดดังกล่าวได้เลย ไม่ต้องกล่าวถึงเรื่องความสามารถว่ามีมากหรือน้อยกว่าเอกชนผู้ที่อยู่ในกลไกตลาด อย่าหาว่าดูถูกเลย ข้าราชการจะขายข้าวรัฐต่อรัฐไปได้สักกี่น้ำ ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นหลักฐานที่แสดงถึงความสามารถหรือไม่ เห็นขายอะไรจับอะไรก็เจ๊งหมด เหตุก็เพราะขาดแรงจูงใจหรือกำไรเป็นเป้าหมายซึ่งเป็นเรื่องของกลไกตลาดใช่หรือไม่?
ความเสียหายจากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดจึงปรากฏเป็นตัวเงินจากการซื้อถูกขายแพง แต่ที่ไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าได้และขัดกับแนวนโยบายเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็คือกลไกตลาดที่เสียหายเพราะถูกนโยบายรัฐบาลทำลายซึ่งอาจมีมูลค่ามากกว่าเสียด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของการฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดกับแนวทางเศรษฐกิจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเนื่องจากผลของการซื้อแพงขายถูกอย่างไม่มีข้อจำกัด ทำให้รัฐบาลกลายเป็นผู้ผูกขาดการซื้อแต่เพียงผู้เดียวโดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น ต่างจากอดีตที่ผ่านมาที่ราคาจำนำจะต่ำกว่าราคาตลาดเสมอ นำมาซึ่งการทำลายกลไกตลาด
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ก็เป็นข้าราชการเหมือนกับนักวิชาการที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณชนเป็นที่ตั้ง การแทรกแซงตลาดด้วยนโยบายเช่นนี้เป็นผลดีกับสาธารณะตรงที่ใด? มีความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือไม่? เป็นแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ขัดกับที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเอาไว้หรือไม่?
การจะอ้างว่าชาวนา 15 ล้านคนจะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น 1.4 แสนล้านบาทนั้นดูจะเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย เหตุก็เพราะในฤดูกาลที่ผ่านมาเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวนี้มีถึงกว่า 3.5 แสนล้านบาทที่ส่วนใหญ่ต้องไปกู้มาดำเนินการ เป็นภาระหนี้สาธารณะหากขาดทุน การที่กระทรวงพาณิชย์แทรกแซงซื้อข้าวในประเทศในราคาแพงกว่าราคาตลาดโลกที่ขายกันถึงร้อยละ 40 การขาดทุนตรงนี้มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐตรงที่ใด?
การอ้างเอาสีข้างเข้าถูว่ายังไม่ขายก็ยังไม่ขาดทุนนั้น ประเทศไทยแม้เคยเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่ข้าวก็เป็นสินค้าที่สามารถทดแทนด้วยสินค้าอื่นได้โดยง่าย การเก็บสต๊อกเอาไว้ไม่ขายนอกจากจะทำลายคุณภาพของข้าวและเอาเงินไปจมไว้แล้ว ยังไม่สามารถทำให้อุปทานขาดแคลนจนสามารถกำหนดราคาให้สูงขึ้นเองได้เหมือนเช่นน้ำมันแต่อย่างใดไม่ อย่าคิดแบบไร้การศึกษาเหมือนนักการเมืองโง่ๆ บางคน ข้าราชการมีหน้าที่ปกป้องชาติด้วยการไม่ทำผิด
ที่สำคัญไปกว่าตัวเลขข้างต้นก็คือ คนทั้งประเทศ 66 ล้านคนที่มีคนจนเสื้อแดงเป็นส่วนใหญ่เป็นผู้เสียหาย ไม่ใช่เงินส่วนตัวของปลัดฯ หากแต่ต้องเอาเงินของคนทั้งประเทศ ทั้งจนและรวยไปช่วยคนเพียง 15 ล้านคนด้วยวิธีที่ไม่จำเป็น ไม่ฉลาด มีวิธีการที่ดีกว่าอื่นๆ อีกมากในการช่วยเหลือ
หากเปรียบเทียบกับการประกันรายได้ที่เคยทำมา หากชาวนาขายข้าวในราคาที่กำหนด เช่น 12,000 บาทต่อตันไม่ได้ รัฐบาลก็จะชดเชยความเสียหายเฉพาะส่วนต่างเท่านั้น ชาวนาก็ได้ในราคาที่ควรได้รับ ไม่ได้เกินจริงเหมือนกับการจำนำ ไม่ต้องเก็บสต๊อกเอาไว้เอง ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ยังอยู่ได้อย่างเสรี เพราะกลไกตลาดก็ไม่ถูกแทรกแซงจนทำงานไม่ได้ หนี้สาธารณะก็ไม่งอกเงยอย่างรวดเร็วดังเช่นถั่วงอกได้น้ำเช่นนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดนี้
ประเทศไทยมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งก็เพราะเรามีความสามารถในการผลิตสินค้าที่เป็นของเราเอง เช่น ข้าว ยาง ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเพื่อส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหลายที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำเพราะต้องพึ่งพาทั้งวัตถุดิบ เทคโนโลยี และทุน จากต่างชาติในการผลิต สินค้าเกษตรจึงนับได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ
หากไม่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาดที่เป็นหนทางที่ถูกที่ควร อนาคตคงมีแต่ความวิบัติเนื่องจากขาดซึ่งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
ปลัดฯ ควรที่จะมีสำนึกในจรรยาบรรณของการเป็นข้าราชการให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ในวันแรกของการทำงานก็เปิดตัวไม่สวย กลายเป็น “คน” ของนักการเมืองไปเสียแล้ว การจะอวยนักการเมืองโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของนโยบายที่จะต้องสนองนั้น หาได้เป็นข้ออ้างของการไม่ฝักใฝ่การเมืองแต่อย่างใดไม่
เพราะนโยบายที่ทำความเสียหายให้กับประเทศที่เห็นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมดังเช่นช้างตายทั้งตัวเช่นนี้จะปฏิบัติไปได้อย่างไร ไม่เรียนรู้จากจุดจบของ เริงชัย (จากการแทรกแซงค่างินบาท) หรือ ยงยุทธ (จากการแทรกแซงคดีที่ดินอัลไพน์) บ้างเลยหรือว่าเป็นอย่างไรเมื่อไปสนองนโยบายรับใช้นักการเมืองแบบผิดๆ ถ้าคิดว่าไม่ผิดไม่เสียหายก็ทำเพราะการเมืองเขาเคาะมาแล้วว่าจะทำต่อ
จึงเป็นเรื่องน่าแปลกของกระทรวงค้าขายที่ไปสนับสนุนนโยบายผูกขาดที่ทำลายกลไกตลาดเช่นนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดเช่นนี้ หากต่อไปต้องใช้นโยบายจำนำซึ่งเป็นการประกันราคาขั้นต่ำเช่นนี้กับสินค้าอื่นๆ ที่จะมีคนออกมาเรียกร้องเอาอย่างอีกมาก เช่น ไข่ มัน ยาง ฯลฯ โดยอ้างว่าเพื่อช่วยเหลือประชาชน จะหาเงินที่ไหนมารับซื้อ จะหาที่ไหนเก็บสต๊อก จะหาใครมารับซื้อโดยไม่ขาดทุนได้ จะแบกหน้าดูความหายนะที่เกิดขึ้นกับประเทศจากน้ำมือตนเองได้หรือ
รัฐบาลของนางนายกฯ ปูจะเอาใบบัวอะไรมาปิดความหายนะที่เกิดขึ้นจากนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดนอกเสียจากนำมาปิดฟ้าปิดตาประชาชนจากความจริงด้วยใบบัวกระจิริดเท่านั้นเอง