“นรก” ของชนชั้นกลางล่างกำลังมาเยือน (2)
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
26 ธันวาคม 2555
พวกที่มีรถกันอยู่แล้วได้รับผลกระทบด้านลบจากนโยบายนี้จึงไม่ค่อยพอใจ
ถามว่าคนไทยคนอื่นเค้าไม่ควรมีรถไว้ใช้บ้างหรือ
คนอื่นเค้าก็อยากได้เหมือนคุณนั่นแหละ แล้วมันต่างกันตรงไหน
ขอนำความเห็นข้างต้นต่อบทความครั้งก่อนมาแสดงเพื่อให้เห็นว่า ทักษิณเก่งที่นำเสนอนโยบายที่กระตุ้นด้านมืดของจิตใจคนได้เป็นอย่างดี
นโยบายประชานิยมรถคันแรกกำลังจะเป็นนโยบายสร้าง “นรก” ให้กับชนชั้นกลางล่างและกับคนกรุงเทพฯ ในไม่ช้า เหตุก็เพราะปัญหาใหญ่ของ กทม. เมืองเทวดาก็คือการจราจรติดขัดที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนทุกชั้นไม่ว่ารวยจน
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ณ ก.ค.54 ก่อนนโยบายรถคันแรกพบว่าการเดินทางในช่วงเร่งด่วนเช้า (06.00 - 09.00 น.) และช่วงเร่งด่วนเย็น (16.00 -19.00 น.) สามารถเดินทางด้วยความเร็วเฉลี่ยเพียง 18.5 และ 22.4 กม./ชม. ตามลำดับจากจำนวนรถยนต์ 4 ล้อจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3.9 แสนคันจากยอดสะสมรถทุกประเภท 6.8 ล้านคันใน กทม.ในปี 54
ไม่ต้องจบปริญญาเอกก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าหากมีรถมาจดทะเบียนอีก 1.5 ล้านคัน (ตามข่าวล่าสุด) และครึ่งหนึ่งน่าจะอยู่ใน กทม.ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางจะลดลงหรือไม่ ดูข้อมูลจากถนนหลายๆสายจากตารางจะเห็นได้ว่าความเร็วประมาณต้นๆ 10 กม./ชม. ในถนนเพชรเกษม-จรัญสนิทวงศ์ สาทร-กรุงธนบุรี มไหสวรรค์-เจริญกรุง ที่หมายความว่าต้องใช้เวลากว่าครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงในการเดินทางผ่านถนนสายดังกล่าวซึ่งใกล้เคียงอย่างมากกับการเดิน!
รถยนต์เป็นสินค้าที่ใช้ประกอบกันกับถนน เฉกเช่นดินสอคู่กับยางลบ แต่ที่แตกต่างออกไปจากดินสอยางลบก็คือ ถนนเป็นสินค้ากึ่งสาธารณะในขณะที่รถยนต์เป็นสินค้าที่มีผลภายนอก หรือ Externalities ในด้านลบสูงเนื่องจากมลพิษที่รถยนต์ก่อให้เกิดขึ้นและดึงดูดให้เกิดการใช้ถนนและนำมาซึ่งจราจรติดขัด
หากปล่อยให้ซื้อขายโดยเสรีตามกลไกตลาด การตัดสินใจซื้อรถจะคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ ในขณะที่ต้นทุนของผู้ผลิตก็จะไม่รวมผลภายนอกเอาไว้ เหตุก็เพราะต้นทุนส่วนเพิ่มในมุมมองของปัจเจกชนที่ซื้อรถมีน้อย ทำให้คนซื้อรถแต่ละคนคิดว่าการที่ตนเองซื้อรถไม่น่าจะทำให้สังคมส่วนรวมเดือดร้อนมากสักเท่าใดจากการมีรถเพิ่มขึ้นอีก 1 คัน แต่เมื่อนำมาคิดรวมกันทั้งหมดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาคันละเล็กละน้อยก็เป็นก้อนมหาศาลต่อสังคมโดยรวม
เมื่อกลไกตลาดล้มเหลวจากผลภายนอกที่เกิดจากรถและถนนที่เป็นสินค้ากึ่งสาธารณะ รัฐจึงมีหน้าที่ต้องเข้ามาแทรกแซงตลาด จำกัดการบริโภครถยนต์ด้วยภาษีสรรพสามิตตามที่ทำมาก่อนหน้านี้ จึงเป็นมาตรการที่สำคัญเพื่อมิให้มีการซื้อรถมากจนเกินความจุของถนนที่มีอยู่ที่ไม่สามารถขยายได้รวดเร็วเท่ากับจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นมา ในขณะที่เอกชนก็ไม่สนใจที่จะผลิต (สร้างถนน) หากเก็บค่าผ่านทางไม่ได้
การลดภาษีสรรพสามิตจากนโยบายรถคันแรกจึงเป็นเรื่องที่สิ้นคิดผิดอย่างมหันต์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แทนที่จะคงภาษีนี้ไว้เพื่อจำกัดการบริโภคและหาทางเลือกในการเดินทางอื่นๆ ให้ประชาชนกลับไปลดเพื่อเพิ่มการบริโภคแทนซึ่งก็ได้ผลเป็นอย่างดีเพราะเป็นการกระตุ้นด้านมืดของคน
นโยบายรถคันแรกนี้จึงมิใช่เรื่อง Exclusive Member Club ของคนที่มีรถแล้วกีดกันมิให้คนใหม่สามารถมีรถได้แต่อย่างใด เมื่อจราจรติดขัดจากจำนวนรถที่เพิ่มขึ้นอย่างบ้าคลั่งเกินความจุของถนนไม่ว่าเจ้าของรถใหม่หรือเก่าก็ได้รับผลกระทบนี้อย่างถ้วนหน้าและส่งผลไปถึงคนที่ไม่ได้ซื้อรถแต่ยอมใช้รถสาธารณะ เช่น ผู้โดยสารรถประจำทางอีกด้วย แทนที่กลุ่มคนเหล่านี้ควรจะได้รับอภิสิทธิ์มากที่สุดจากการใช้ถนนด้วยการเสียสละไม่ยอมซื้อรถเพื่อมิให้จำนวนรถเกินความจุถนน แต่กลับต้องมาร่วมแบกภาระร่วมกับคนที่ซื้อรถไปด้วย
ส่วนปัญหาหนี้เสียจากลูกค้าเงินกู้ต่ำกว่าระดับ หรือ Sub-Prime Borrower ก็เป็นปัญหาส่วนบุคคลหากสถาบันการเงินไม่เจ๊งตามไปด้วยก็ไม่มีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมแต่อย่างใด เช่นเดียวกับการเก็บภาษีได้จำนวนมากขึ้นจากการผลิตรถยนต์ก็ไม่ใช่เรื่องน่ายินดีแต่อย่างใด เหตุก็เพราะรถยนต์ก็เฉกเช่นบุหรี่หรือเหล้าที่อยู่ในกลุ่มที่ต้องจำกัดการบริโภคเช่นเดียวกัน การผลิตและบริโภคได้มากทำลายสถิติที่เคยผลิตมาจึงหมายถึงผลภายนอกด้านลบที่จะมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวเพียงแต่มาตรวัด เช่น GDP ไม่วัดออกมาให้เห็นต่างหาก
สิ่งที่น่าขยายความก็คือรัฐบาลยิ่งลักษณ์บกพร่องมิได้ทำหน้าที่ทางการเมืองที่สำคัญกว่าการออก/บังคับใช้กฎหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญก็คือ การชี้นำว่าสินค้าใดเป็น “สินค้าบุญหรือบาป” หรือ Merit/Demerit Goods
รถยนต์ เหล้า บุหรี่ และการพนัน ล้วนเป็นตัวอย่างของสินค้าที่ต้องการชี้นำจากรัฐบาลว่าสมควรหรือไม่ที่จะให้ประชาชนบริโภคโดยเสรีปราศจากการควบคุมเนื่องจากมีผลภายนอกสูงและกลไกตลาดล้มเหลวในการทำงาน ในเมื่อ เหล้า บุหรี่ และการพนัน นอกจากจะถูกจำกัดการบริโภคด้วยการเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราสูงแล้วยังถูกควบคุมในเชิงปริมาณ เช่น การห้ามจำหน่ายแก่ผู้เยาว์ หรือจำหน่ายในพื้นที่และเวลาที่จำกัด แต่ทำไมนโยบายรถคันแรกนี้จึงทำในทางตรงกันข้าม
“นรก” กำลังมาเยือนคนชั้นกลางล่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ซื้อรถคันแรก ในอนาคตอันใกล้กว่าที่คุณคิด การจำกัดเวลาวิ่งของรถบนถนนอาจเป็นสิ่งจำเป็นเช่นเดียวกับเหล้าบุหรี่ที่จำกัดเวลาหรืออายุในการซื้อขาย กลายเป็นเพิ่งซื้อแต่วิ่งไม่ได้
ความเร็วของรถยนต์ส่วนบุคคลบนถนนสายหลักกรุงเทพฯ ช่วงเร่งด่วนเช้า (06.00 - 09.00 น.)
แหล่งข้อมูล : สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร