จาก “ปุ” มา “ปู” ถึง “วิจิตร” (ตอนจบ) (22/6/2554)

จาก “ปุ” มา “ปู” ถึง “วิจิตร” (ตอนจบ) (22/6/2554)


จาก “ปุ” มา “ปู” ถึง “วิจิตร” (ตอนจบ)

(22/6/2554)






บุคคลที่จะเป็นตัวแทนใช้อำนาจแทนประชาชนได้ ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ



ต้องถือเอาจริยธรรมให้อยู่เหนือกฎหมาย



“ปู” ในที่นี้คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือกเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทยที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของทักษิณ ชินวัตรพี่ชาย ในการเลือกตั้งครั้งที่จะถึงนี้



เป็น “ปู” เดียวกับที่ได้ฉายาว่า “นารีขี่ม้าขาว” และอ้างว่าได้ซื้อหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นจำนวน 2 ล้านหุ้นจากทักษิณในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากคือเท่ากับราคาที่ตราเอาไว้คือหุ้นละ 10 บาทเมื่อ 1 ก.ย. 43โดยมิได้ชำระเงินค่าหุ้นจำนวน 20 ล้านบาทในทันที หากแต่ทำนิติกรรมอำพรางด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินที่ไม่มีดอกเบี้ย กำหนดชำระเงินเมื่อทวงถาม เป็นการชำระค่าหุ้นแทนในคดียึดทรัพย์ที่ศาลไม่เชื่อคำให้การว่ามีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจริงเช่นเดียวกับคำให้การของพานทองแท้และบรรณพจน์



“ปู” ผู้มีโอกาสเป็นอย่างมากที่จะได้เป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศไทยหากพรรคเพื่อไทยสามารถชนะการเลือกตั้งได้ให้สัมภาษณ์สื่อหลายครั้งหลายคราวเกี่ยวกับจุดยืนของตนเองและพรรคเกี่ยวกับคดีความของพี่ชายในแนวทางที่ว่า จะยึดแนวทาง “ปรองดอง” เพียงแต่ขอโอกาสให้ตนเองและพรรคเพื่อไทยได้มาเป็นรัฐบาลเสียก่อนจึงจะชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทาง “ปรองดอง” ดังกล่าว

ดังนั้นก่อนจะมาเป็นตัวแทนใช้อำนาจแทนประชาชน “ปู” จึงมีหน้าที่ที่จะต้องตอบคำถามกับสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมในอดีตของตนเองว่า เหตุใดจึงเข้าไปเป็น “ตัวแทน” ถือหุ้นให้กับพี่ชายทั้งๆ ที่ตนเองก็มีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่รู้ผิดชอบชั่วดีแล้วมิใช่หรือ



ในสังคมที่เจริญแล้วไม่ว่าที่ใดก็ตาม บุคคลผู้ที่ประสงค์จะมาเป็น ส.ส.หรือ ตัวแทน ประชาชนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านมาตรวจสอบเพื่ออธิบายต่อสังคมถึงพฤติกรรมทั้งส่วนตัวและส่วนรวมที่มีมาในอดีตเสียก่อน ดังจะเห็นได้จากผู้สมัครชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงแรกๆ จะมีมากหน้าหลายตา แต่เมื่อมีการขุดคุ้ยตีแผ่พฤติกรรมในอดีต แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยมากในสายตาคนไทยก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชู้สาว เสพยาเสพติด หนีทหาร ขโมยของ แต่หากไม่สามารถชี้แจงได้ก็มักจะตกม้าตายเสียตั้งแต่ก่อนจะได้เสนอตัวเข้าไปให้ประชาชนลงคะแนน อย่าว่าแต่เรื่องใหญ่สาหัส เช่น พฤติกรรม “พูดเท็จ” เพื่อช่วยซุกหุ้นแทนพี่ชายเช่นนี้เลย



อย่าลืมว่าอดีตของ “ปู” นอกจากเรื่องเบิกความเท็จที่ได้ข้อยุติไปแล้ว ยังมีเรื่องการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท เอสซี แอสเสท ที่ “ปู” ในฐานะผู้บริหารแจ้งต่อ ก.ล.ต.ไปเมื่อปี พ.ศ. 2549 ว่า บริษัทวินมาร์คผู้ถือหุ้นใหญ่ก่อนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มิได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับครอบครัวชินวัตร



แม้อัยการและกรมสอบสวนคดีพิเศษจะมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นไปอย่างมีข้อกังขาและน่าชวนให้สงสัยยิ่งนัก เพราะวินมาร์คน่าจะเป็นบริษัทคู่แฝดกับแอมเพิลริชที่ทักษิณ-พจมานเป็นผู้จัดตั้งขึ้นมาเพื่ออำพรางการเป็นเจ้าของหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่น โดยแอมเพิลริชถูกศาลวินิจฉัยไปเรียบร้อยแล้วว่า “ใช่” เหลือเพียงแต่วินมาร์คเท่านั้นที่ถือหุ้นชิน คอร์ปอเรชั่นในส่วนที่อยู่นอกคำขอให้ยึดทรัพย์ ศาลจึงมิได้วินิจฉัย หากวินิจฉัย “ปู” คงไม่มีวันนี้เป็นแน่



จากคำให้การของเจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ในศาลที่ปรากฏในสื่อทั่วไปแล้วนั้น วินมาร์คมีการถือหุ้นหลายชั้นโดยหลายนิติบุคคลในต่างประเทศ แต่สุดท้ายมี ซิเนตร้า ทรัสต์ ที่มีผู้รับประโยชน์ 5 คนคือ ทักษิณ-พจมานและลูกอีก 3 คนซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้นิติกรรมอำพรางเพื่อปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น



ก.ล.ต.ในปี พ.ศ. 2550 ยุคก่อนหน้า รัฐบาล “ตัวแทน” สมัครได้ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษฟ้องร้องในคดีปกปิดผู้ถือหุ้นจากหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการอำพรางและปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น แต่ทันทีที่รัฐบาล “หุ่นเชิด” สมัครเข้ารับตำแหน่งงานแรกๆ ที่ทำคือย้ายและแต่งตั้งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนใหม่ในทันที ราวกับว่าเพื่อเป็นการตัดตอนมิให้สาวถึงความผิดที่กำลังจะถูกเปิดเผย ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้จะเป็นไปอย่างมีข้อน่าสงสัยจากสังคม



เมื่อ “ปู” ไม่ตอบคำถามเรื่องเบิกความเท็จในศาลและมีพฤติกรรมที่ไม่โปร่งใสเมื่อเป็นผู้บริหารของเอสซี แอสเสทก็ยิ่งทำให้สังคมเชื่อว่า “ปู” รักพี่ชายเหนือกว่ากติกาที่เป็นความถูกต้องของสังคมเช่นกฎหมายที่มีอยู่ และพร้อมที่จะเข้ามาทำลายหลักนิติรัฐเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชินวัตรให้อยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ประเทศชาติ



การเข้ามาสู่การเมืองของ “ปู” จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกมองว่าเป็นการเข้ามาเพื่อหาทางเอาผลการเลือกตั้งมาแก้ความผิดของพี่ชายตามที่สังคมคาดการณ์เอาไว้ตั้งแต่ต้นโดยอาศัย “การเลือกตั้ง-ปรองดอง” เป็น “น้ำเย็น” เป็นเครื่องบังหน้าเพื่อหลอกผู้ลงคะแนนเสียงให้เป็น “ปลาตาย” ไปในที่สุด



การถูกกล่าวโทษร้องทุกข์ของหมอตุลย์ แก้วสรร และพวกในนามเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอร์รัปชันทักษิณ หรือ คนท. จึงเป็นวิบากกรรมซ้ำอดีตที่ “ปู” กำลังเผชิญต่อไปในอนาคตเหมือนที่ทักษิณเคยประสบมา



แต่ประเด็นที่น่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ ธรรมาภิบาลและความกล้าหาญทางจริยธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นหายไปไหนหมดเพราะสิ่งที่ได้เห็นเป็นประจักษ์จากคำพิพากษาก็คือ “ปู” “ลูกทักษิณ” และพี่เมีย” ต่างให้การเท็จในศาลเพื่อช่วยทักษิณและอดีตเมีย ทำไมจึงไม่มีการดำเนินคดีสืบเนื่องต่อไปเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง



“ปู” ไปศาลในฐานะพยานมิใช่จำเลย ดังนั้นหาก “ปู” เห็นว่าคำให้การอาจเป็นการให้โทษตนเองหรือพี่ชายที่เป็นจำเลย “ปู” สามารถเลือกที่จะไม่พูดก็ได้ แต่หากเลือกจะพูดก็หมายความว่าภายใต้คำสาบานในศาล “ปู” จะพูดแต่ความจริง



การให้การเท็จจึงมิใช่ความเห็นที่แตกต่างแต่อย่างใด
เพราะการอ้างว่าเมื่อได้รับเงินปันผลที่ชิน คอร์ปอเรชั่นจ่ายมาให้และได้เบิกจ่ายเงินออกจากบัญชีเป็นเงินสดคราวละไม่เกิน 2 ล้านบาทเพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานธุรกรรมต่อ ปปง.ต่อเนื่องกันเกือบทุกวันเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทโดยอ้างอย่างเลื่อนลอยว่าเพื่อไปใช้จ่ายซ่อมบ้าน ซื้อเครื่องประดับ ซื้อเงินตราต่างประเทศ และอื่นๆ โดยไม่มีหลักฐานชำระเงิน มันผิดวิสัยที่คนธรรมดาทั่วไปจะกระทำหรือไม่ ศาลจึงไม่เชื่อว่าที่ “ปู” ให้การในศาลนั้นเป็น “ความจริง”



หากจะเป็นความเห็นต่างก็ต้องบอกว่าสิ่งของต่างๆ ที่ “ปู” ใช้เงินไปซื้อหาด้วยเงินปันผลที่ได้รับมานั้น “ถูก” ส่วนคนอื่นหรือศาลจะมองเห็นว่า “แพง” นั่นแหละจึงจะเรียกว่าความเห็นต่าง



ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาในคดียึดทรัพย์และวินิจฉัยว่า “ปู” ให้การเท็จเมื่อ 26 ก.พ. 53 หากจะอ้างว่ามีการยื่นอุทธรณ์ทำให้ดำเนินการอะไรไม่ได้เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกาก็ได้มีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อ 11 ส.ค. 53 ไม่รับอุทธรณ์และทำให้คดีนี้เป็นที่สิ้นสุด ในขณะที่เวลาได้ล่วงเลยมาเกือบ 1 ปีแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉยปล่อยให้มีการเบิกความเท็จต่อหน้าต่อตาโดยไม่มีท่าทีแต่อย่างใด ทำไมจึงต้องรอให้มีการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษโดย คนท.ที่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรง



ทั้ง ตำรวจ อัยการ ป.ป.ช. และ ก.ล.ต. ต่างก็อ้างความเป็นอิสระในการตัดสินใจของหน่วยงานตนว่าไม่มีใครสามารถเข้ามาแทรกแซงก้าวก่ายได้ แต่คำพูดกับการกระทำดูเหมือนจะมิได้เป็นไปในทิศทางเดียวแต่อย่างใด



ทุกวันนี้ที่คดีต่างๆ พิจารณาไปได้อย่างล่าช้าเพราะต่างฝ่ายต่างขาดจริยธรรมอ้างพยานเพื่อมาพูดเท็จเป็นหลัก แม้จะมีการสาบานในศาลแต่พยานที่นำมาสืบคดีส่วนใหญ่ต่างไม่พูดความจริง การแข่งกันพูดโกหกจึงเป็นพฤติกรรม “ปกติ” ไม่มีต้นทุนเพราะไม่มีใครเอาโทษแต่อย่างใด หากรอดหูรอดตาจนทำให้ศาลเชื่อได้ก็ถือว่าสำเร็จ สมควรแล้วหรือยังที่ต้องทำให้การพูดเท็จมีต้นทุน



ประเด็นกฎหมายจึงไม่น่าสนใจเท่ากับประเด็นในเรื่องจริยธรรมที่อยู่สูงกว่ากฎหมายที่กำหนดไว้ ดูตัวอย่าง การลาออกของประธาน ก.ล.ต.นายวิจิตร สุพินิจ ก็ได้ว่ามิใช่เป็นเพราะนายวิจิตรขาดจริยธรรมแต่เพียงลำพัง หากแต่กรรมการ ก.ล.ต.ก็ขาดซึ่งจริยธรรมด้วยเช่นเดียวกันใช่หรือไม่ เพราะท่านทั้งหลายก็นั่งประชุมเป็นองค์ประชุมของคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เรียกโดยย่อว่า ก.ล.ต. โดยที่มีนายวิจิตรนั่งอยู่หัวโต๊ะมานานจนนายวิจิตรเกือบจะครบวาระดำรงตำแหน่งด้วยมิใช่หรือ



พฤติกรรมในอดีตเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีมิใช่หรือว่าเป็นนายวิจิตรคนเดียวกับอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ต้องลาออกเพราะขาดจริยธรรมในหน้าที่การกำกับดูแลธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ และเป็นนายวิจิตรคนเดียวกับที่เป็นประธานบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ต้องถูก ก.ล.ต.กำกับดูแลในขณะที่เป็นผู้กำกับดูแลไปพร้อมๆ กัน แต่ท่านทั้งหลายกลับยอมรับให้นายวิจิตรนี้มานั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ก.ล.ต.



ท่าน ก.ล.ต.ทั้งหลายอาจจะบอกว่าประธาน ก.ล.ต.สรรหาและแต่งตั้งมาจากรัฐมนตรีคลัง ท่านทำอะไรไม่ได้ แต่ทำไมพนักงานใน ก.ล.ต.เงินเดือนไม่กี่หมื่นบาทจึงกล้าแต่งดำมาประท้วงได้ พวกเขาเหล่านั้นแสดงถึงการมีจริยธรรมสูงกว่าท่านทั้งหลายที่เป็น ก.ล.ต.กินเงินเดือนมากกว่าพวกเขาเหล่านั้นหลายเท่าตัวนักใช่หรือไม่



ท่านทั้งหลายที่เป็น ก.ล.ต.รวมถึงนายวิจิตรด้วย ก็เป็นผู้ออก แนวทางธรรมาภิบาลของ ก.ล.ต. (Code of Governance) ที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ม. 279 ที่ต้องการผลักดันให้มีการนำหลักธรรมาภิบาลมาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมในทุกองค์กร โดยกำหนดกรอบให้ทั้ง คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ถือปฏิบัติ มิใช่หรือ



ธรรมาภิบาลมิใช่กฎหมาย แต่อยู่เหนือกฎหมายใช่หรือไม่ เป็นเรื่องเดียวกับจริยธรรมในภาษาชาวบ้านใช่หรือไม่และเป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องเอาใจใส่



อย่าลืมว่านอกเหนือจาก “อำนาจ” ที่หน่วยงานท่านมีตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ให้แล้วนั้น ท่านยังมี “หน้าที่” ที่จะต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติควบคู่ไปด้วย ดังนั้น “อำนาจและหน้าที่” จึงเป็นของคู่กันมิใช่นำมาใช้แยกเป็นส่วนๆ ได้ตามอำเภอใจ



ต้นเหตุจึงเป็นเพราะหน่วยงานผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ทำตาม “อำนาจและหน้าที่” ที่มีอยู่ หากทำเมื่อปีที่แล้วก็ไม่ต้องให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษในวันนี้ หมอตุลย์และนายแก้วสรรต่างหากที่ทำหน้าที่พลเมือง



จึงขอเรียกร้องอีกครั้งหนึ่งให้ “ปู” อาศัยโอกาสการสมัครเป็น ส.ส.เพื่อเป็นตัวแทนใช้อำนาจประชาชนมาตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้ต่อสังคมให้กระจ่าง อย่าพูดน่าเบื่อว่า “แล้วแต่ประชาชนจะตัดสินใจ” เพราะผลการเลือกตั้งมันไม่สามารถแก้ข้อกล่าวหาหรือพฤติกรรมในอดีตของท่านหรือพี่ชายได้ ต่อให้พรรคเพื่อไทยได้ 500 เสียงเข้าสภาไปก็ตาม



การเรียกร้องของสังคมมิใช่แต่เพียงของ คนท.ก็คือให้ดำเนินการกับคนที่พูด “เท็จ” ในศาลเพื่อช่วยพี่ชายและกำลังจะมาสมัครเป็นตัวแทนประชาชน เพื่อมิให้มาใช้อำนาจประชาชนเพื่อช่วยเหลือคนผิด





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้