จากกรีซถึงไทย ปลายทางที่นรก ?
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
22 กุมภาพันธ์ 2555
มีผู้สงสัยหลายคนว่าไทยจะเป็นเหมือนประเทศที่ใช้นโยบายประชานิยมแล้วย่อยยับในภายหลังเหมือนที่อาร์เจนตินาในอดีตเคยประสบพบมาหรือตัวอย่างของกรีซในปัจจุบัน ปลายทางของนโยบายประชานิยมของไทยจะจบลงที่เดียวกับกรีซหรือไม่?
บทเรียนของวิกฤตเศรษฐกิจที่ชาวกรีซได้รับอย่างแสนสาหัสน่าจะมีเหตุจากรัฐบาลกรีซเป็นสำคัญ เมื่อนักการเมืองอยากเอาชนะการเลือกตั้งโดยเสนอนโยบายเอื้อเฟื้อประชาชนหรืออีกนัยหนึ่งคือนโยบายประชานิยมโดยขาดความเป็นไปได้ ผลร้ายในบั้นปลายสำหรับประเทศที่ใช้ประสบเหมือนๆ กันก็คือความย่อยยับในสภาพเศรษฐกิจและสังคม
โลกนี้ไม่มีของฟรี จึงเป็นสัจธรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ประโยชน์ที่คุณได้รับหากไม่จ่ายเองเพื่อแลกเอามาก็ต้องมีใครจ่ายให้
ที่มาของรายได้เช่นนโยบายภาษีจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่นักการเมืองมักจะพูดเป็นสิ่งสุดท้ายหรือไม่พูดถึงเลยทั้งที่ในความเป็นจริงจะต้องพูดเป็นสิ่งแรก เพราะการวาดฝันจากการใช้จ่ายนั้นง่ายและสวยหรู แต่ที่ยากก็คือจะเอารายได้จากที่ใดมาใช้จ่ายต่างหาก
คนไทยควรถามนักการเมืองว่าต้องจ่ายเป็นภาษีหรือความเสียหายทางเศรษฐกิจเท่าใดสำหรับ “ฝัน” ที่นักการเมืองวาดเอาไว้
รัฐบาลกรีซเข้าร่วมกลุ่มทางการเงินที่ใช้เงินสกุลร่วมใหม่ที่เรียกว่าเงินสกุล “ยูโร” ในปี 2000 ก็เพราะประโยชน์จากการกู้เงินจากนอกประเทศที่ทำได้ง่ายและเสียดอกเบี้ยต่ำเนื่องจากอาศัยการ “โหน” กับรัฐอื่นๆ เช่น เยอรมนี หรือ ฝรั่งเศส ที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งกว่า หรือพูดง่ายๆ ก็คือใช้เครดิตของคนอื่นในการกู้นั่นเองเพราะไปรวมกลุ่มกับเขาและใช้เงินเหมือนกัน หากกรีซจะกู้ด้วยเครดิตตนเอง เช่น ออกพันธบัตรเงินกู้เงินสกุลตนเองก็ยากที่จะมีคนสนใจ
แต่ที่เป็นต้นทุนซ่อนเร้นที่แพงกว่าดอกเบี้ยต้องจ่ายก็คือ การสูญเสียอิสระหรืออีกนัยหนึ่งคือ อธิปไตยทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการเงินการคลังไปให้กับกลุ่มแทนที่จะสามารถกำหนดได้เองอย่างอิสระ การขาดดุลการคลังจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่รัฐสมาชิกต้องปฏิบัติให้เหมือนกัน นั่นคือกรีซก็จะต้องทำตัวเป็นรัฐที่ไม่ใช้จ่ายเงินเกินกว่าความสามารถในการหารายได้จากภาษีซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏในภายหลังว่ากรีซทำไม่ได้ทั้งก่อนหน้าและภายหลังการเข้ารวมกลุ่ม
นักการเมืองกรีซใช้เล่ห์โดยคิดว่าคนอื่นจะรู้ไม่เท่าทัน ทั้งปิดบังและซ่อนเร้นข้อมูลหนี้สาธารณะจากการกู้เงิน อาศัยคำแนะนำที่ปรึกษาทางการเงินจากวอลล์สตรีท มาแนะนำวิธีเลี่ยงบาลี เช่น ให้มอบสิทธิในอนาคตอีกหลายสิบปีจากรายได้ของท่าอากาศยานหรือจากการออกสลากกินแบ่งเพื่อแลกกับเงินก้อนที่ธนาคาร (เจ้าหนี้) จะให้ในปัจจุบัน ซึ่งรัฐบาลกรีซอ้างว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมายและไม่ได้เป็นการกู้เงินแต่อย่างใด แต่มันจะต่างจากการกู้โดยเอารายได้อนาคตจากหน่วยงานของรัฐมาคืนตรงที่ใด
เงินที่ได้มารัฐบาลกรีซก็ได้นำไปใช้จ่ายเพื่อโครงการสวัสดิการสังคมที่ให้ผลประโยชน์กับผู้เข้าร่วมโครงการมากกว่าเงินสมทบที่ได้รับ โดยไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศในอนาคตแต่อย่างใดไม่ อาทิ เงินเดือนๆ ที่ 13-14 ของพนักงานของรัฐหรืออีกนัยหนึ่งคือการจ่ายโบนัส การตั้งกฎเกณฑ์ค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงกว่าความสามารถของแรงงาน หรือจำนวนรัฐวิสาหกิจและเทศบาลที่เพิ่มขึ้นถึงกว่า 6 พันแห่งเพื่อเป็นทั้งแหล่งการจ้างงานและซ่อนตัวเลขการว่างงาน เป็นต้น
การนำเอาการประเมินผลหรือคำทำนายมาดูในภายหลังเป็นสิ่งน่าสนใจเพราะการมองย้อนอดีตนั้นไม่สามารถโกหกได้ ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจของกรีซจะเกิดขึ้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ได้มีการทำรายงานที่เรียกว่า IMF Country Report ในปี 2009 ในประเด็นต่างๆ เช่น สถานะทางการคลัง เพื่อที่ประเทศสมาชิกจะได้รู้ตัวและปรับปรุงแก้ไข
รายงานดังกล่าว (09/245) ระบุไว้ว่า สถานะทางการคลังตามระบบบัญชีแบบทั่วไปที่มองย้อนไปในอดีตก็แสดงถึงจำนวนหนี้ที่มีมากกว่าทรัพย์สินที่กรีซมีอยู่ แต่หากนำเอาการคาดคะเนไปในอนาคตเกี่ยวกับประชากรที่จะลดลง ภาระผูกพันในอนาคตที่เกี่ยวข้องกับรายได้และรายจ่ายของรัฐบาล เข้ามาคำนวณด้วยมิใช่มองแต่จำนวนหนี้ที่มีอยู่แต่เพียงลำพัง ภาพที่ออกมาจึงแสดงถึงสถานะทางการคลังที่แท้จริงของกรีซ ปรากฏว่าในปี 2007 มีการขาดดุลการคลังที่ยังไม่รวมดอกเบี้ยจ่ายสูงกว่า 3.7 เท่าของรายได้ประชาชาติที่วัดโดย GDP และเพิ่มขึ้นทุกปีจนถึง 4.8 เท่าของ GDP ในปี 2014 ทำไมจึงเลวร้ายกว่าที่นักการเมืองบอก?
คำแนะนำง่ายๆ ที่รายงานแนะนำ คือ ให้ตัดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ แต่นักการเมืองกรีซก็เช่นเดียวกับนักการเมืองไทยคือไม่ยอมรับความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์ทางการเมืองสำหรับตนโดยการตะแบงไปเรื่อยๆ เมื่อเศรษฐกิจกรีซที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการขนส่งทางทะเลถูกกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2008 ซึ่งเปรียบได้กับระฆังตอนเที่ยงคืน ซินเดอเรร่ากรีซจึงพบว่าตนเองก็ยังใส่เสื้อขาดวิ่นและรถม้าได้กลายเป็นฟักทองไปเสียแล้ว การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในต้นปี 2010 ของกรีซจึงเป็นบทพิสูจน์ความถูกต้องของการคาดคะเนตามรายงานดังกล่าว
แม้ว่าขนาดของเศรษฐกิจกรีซจะมีขนาดเพียงประมาณร้อยละ 2.5 ของกลุ่มยูโร มีประชากรเพียงสิบล้านต้นๆ และขนาดของหนี้ก็ไม่ใหญ่มากนักประมาณ 3 แสนล้านยูโร แต่ปัญหาก็คือหนี้ส่วนใหญ่ของกรีซเป็นหนี้ต่างประเทศที่มีเจ้าหนี้ในกลุ่มยูโรที่เป็นเอกชน ผลของการผิดนัดชำระหนี้นอกจากจะทำให้เจ้าหนี้บางส่วนที่เป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญของเอกชนล้มละลายตามไปด้วย ที่สำคัญก็คือมีผลต่อความน่าเชื่อถือของเงินยูโรอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก การช่วยโดยให้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องจึงเป็นมาตรการแรกๆ ที่ออกมาโดยร่วมทำกับ IMF
การเข้าโรงเรียน IMF ของกรีซน่าจะทำให้ปัญหายุติเพราะมีผู้ช่วยเหลือเพื่อชำระหนี้ที่จะครบกำหนด แต่กลายเป็นว่า “ตอ” เริ่มโผล่มากขึ้นเรื่อยๆ หลังน้ำลดรวมถึงการออกลายของนักการเมืองกรีซ ทำให้ IMF และธนาคารกลางยุโรปต้องทำข้อตกลงความช่วยเหลือถึง 4 รอบตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมาจากวงเงิน 8 หมื่นล้านยูโรกลายมาเป็น 1.3 แสนล้านยูโรหรือเกือบครึ่งของหนี้ที่มีทั้งหมด
เมื่องานเลี้ยงจบและถึงเวลาคิดเงิน มาตรการการรัดเข็มขัดในภาครัฐเพื่อไม่ใช้จ่ายเงินอย่างฟุ่มเฟือยตามที่นักการเมืองไปหาเสียงไว้ทำให้ประชาชนกรีซในปัจจุบันถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในทุกรูปแบบ แม้กระทั่งภาษีที่อยู่อาศัยที่เก็บตามพื้นที่โดยให้จ่ายผ่านค่าไฟฟ้าเพื่อกันการเบี้ยวภาษี แม้กระทั่ง IMF เองก็ออกแถลงในภายหลังว่าไม่ควรเพิ่มภาษีอะไรอีกแล้วเพราะคนกรีซหมดความสามารถที่จะจ่ายภาษีแล้ว
การเจรจา “ตัดผม” หรือ hair cut ถึงกว่าร้อยละ 50 ของมูลหนี้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจะต้องกู้มาชำระหนี้ถึงเกือบครึ่งของหนี้ที่มีอยู่ (1.3 แสนล้านยูโร) แล้วยังต้องขอไม่ใช้คืนหนี้อีกประมาณครึ่งหนึ่งที่เหลืออีกด้วย นี่คือข้อพิสูจน์ว่า การกู้เพื่อนำเอาไปใช้จ่ายตาม ฝัน” ของนักการเมืองกรีซนั้นไม่ได้ทำให้ประเทศมีความสามารถเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
บทเรียนจากกรีซถึงไทยก็คือ การดำเนินนโยบายประชานิยมได้พิสูจน์อีกครั้งในประเทศยุโรปที่มีสถานะร่ำรวยกว่าตัวอย่างที่เคยเกิดในประเทศแถบละตินอเมริกาว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศที่เอานโยบายแบบนี้มาใช้แต่อย่างใด
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทสำหรับแรงงาน หรือ 15,000 บาทต่อเดือนสำหรับผู้จบปริญญาตรีโดยมิได้คำนึงถึงประสิทธิภาพของแรงงาน หรือ นโยบายรถคันแรกและบ้านหลังแรก หรือโครงการแก้น้ำท่วมที่พยายามตั้งงบประมาณไว้อย่างมหาศาลแต่ไม่รู้ว่าจะแก้ได้หรือไม่เพราะไม่มีรายละเอียดของโครงการแม้แต่น้อย เป็นตัวอย่างของนโยบายบ่อนทำลายขีดความสามารถในการแข่งขันจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตของประเทศอย่างชัดเจน
ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่รวมทั้งภาครัฐและเอกชนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศและอยู่เหนือการเป็นเจ้าของทรัพยากร เช่น แร่ธาตุ หรือพลังงาน ลองยกตัวอย่างประเทศด้อยพัฒนาที่ส่งออกน้ำมันแล้วสามารถพัฒนาจนเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ได้ว่ามีสักประเทศบ้างไหม เห็นมีแต่ยิ่งสูบออกขายยิ่งยากจนเพิ่มมากขึ้น ตรงข้ามกับสี่เสือเอเชีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ที่ไม่มีน้ำมันสักหยดเดียวในครอบครองแต่สามารถยกระดับการพัฒนาทัดเทียมอารยประเทศอื่นๆ ในโลกตะวันตกได้
วิกฤตเศรษฐกิจของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 ที่ทำให้ไทยต้องเข้าโรงเรียน IMF กล่าวได้ว่าเกิดจากหนี้สินของภาคเอกชนที่กู้ยืมนำเข้าเงินกู้จากต่างประเทศโดยคิดแต่เพียงดอกเบี้ยถูกแต่ไม่คำนึงถึงความเสี่ยงจากเงินตราต่างประเทศกู้เป็นดอลลาร์แต่มีรายได้เป็นบาท ในขณะที่ผู้กำกับดูแลก็บกพร่องในหน้าที่ไม่สามารถกำกับการใช้เงินทุนที่นำเข้าให้เป็นไปในทิศทางลงทุนมากกว่าการเก็งกำไรในอสังหาริมทรัพย์ได้เป็นสำคัญ การเปิดเสรีทางการเงินจึงเป็น “แพะ”
วิกฤตเศรษฐกิจไทยในครั้งต่อไป มีแนวโน้มอย่างมากที่จะมาจากภาครัฐและโครงการประชานิยมทั้งหลายเหมือนเช่นที่นักการเมืองกรีซได้ทำมาเพื่อหวังผลทางการเมืองเหนือความย่อยยับและหายนะของประเทศในอนาคตเพราะผู้กำกับดูแลไม่ว่าจะเป็น ส.ส. องค์กรอิสระ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐรวมถึงคนไทยบางส่วน ก็ไม่ทำหน้าที่หรือบกพร่องในหน้าที่กำกับดูแลภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไร้ซึ่ง “ธรรมาภิบาล” ของรัฐบาล นรกจึงเป็นปลายทางที่เห็น