"เจ๊ง" ทั้งแผ่นดิน : บทเรียนประชานิยมจากกรีซถึงไทย ตอนที่ 2
โดย ชวินทร์ ลีนะบรรจง และ สุวินัย ภรณวลัย
23 พฤษภาคม 2555
“เจ๊ง” ทั้งแผ่นดินไทยจะมาจากหนี้รัฐบาลและนโยบายประชานิยม
ประสบการณ์จากวิกฤตเศรษฐกิจจนกลายมาเป็นวิกฤตทางการเมืองของกรีซเป็นบทเรียนสำหรับประเทศไทยที่กำลังดำเนินตามรอยนโยบายประชานิยม
หนี้สาธารณะสูงและความสามารถในการแข่งขันต่ำ เป็นคำสำคัญ (keywords) ของกรีซในปัจจุบันและของไทยในอนาคตอันใกล้นี้
การเข้าแทรกแซงกลไกตลาดทั้งๆ ที่มันยังทำงานได้หมายถึงการที่รัฐบาลต้องการบิดเบือนราคาให้อยู่ในทิศทางที่ต้องการ ไม่สูงก็ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือ “ราคาตลาด” นั่นเอง ในการนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องใช้ทั้งเงินและอำนาจรัฐ แต่ที่สำคัญก็คือมันสามารถเอาชนะกลไกตลาดได้หรือไม่
คำตอบก็คือในระยะยาวไม่สามารถทำได้ เป็นสิ่งที่นักการเมืองไม่เคยเรียนรู้ นโยบายประชานิยมของรัฐบาลนาง “แพง” ที่เดิมชื่อ นาง “ปู” ก็ได้รับบทเรียนเช่นเดียวกับรัฐบาลทักษิณแล้วว่า กลไกตลาดมันแข็งแรงกว่าเงินและอำนาจรัฐ
น้ำมัน ก๊าซ ข้าว รถยนต์ บ้าน ค่าจ้าง หรือแม้แต่อัตราแลกเปลี่ยน (ราคาของเงินตราต่างประเทศคิดเป็นเงินไทย) ล้วนเป็นข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่า นโยบายที่เข้ามาแทรกแซงราคาสินค้าปกติเหล่านี้นั้น ล้วนประสบกับความล้มเหลว ทำลายโครงสร้างการผลิต กลไกตลาด เป็นการใช้เงินอย่างไม่คุ้มค่า ก่อให้เกิดภาระหนี้สาธารณะงอกเงยขึ้นมาอย่างรวดเร็ว และเป็นที่มาของวิกฤตเศรษฐกิจเช่นเดียวกับที่กรีซในปัจจุบันหรือไทยในอดีตที่เคยประสบมา
รัฐบาลนี้บอกหรือไม่ว่า ไทยกำลังสูญเสียตลาดการส่งออกข้าวในเชิงปริมาณและสถานะของผู้ผลิตข้าวคุณภาพดีของโลกจากนโยบายจำนำราคาข้าวสูงเกินจริง ชาวนาจะผลิตข้าวเพื่อจำนำ หาได้ผลิตเพื่อขายแต่อย่างใดไม่ คุณภาพจึงเป็นเรื่องรองปริมาณ รัฐบาลขาดทุนจากการจำนำเพราะราคาจำนำแพงกว่าราคาตลาด ในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศก็ไม่ได้กินข้าวถูกแต่อย่างใด
นโยบายเช่นนี้ลดหนี้สาธารณะหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตรงที่ใด มีแต่กลไกการค้าข้าวในทุกระดับตั้งแต่ ชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก จะถูกทำลายเนื่องจากราคาจำนำของรัฐบาลสูงกว่าราคาตลาดเพื่อหวังผลทางการเมือง ผู้ค้าจะมีเหลือเพียงรายเดียวคือรัฐบาล แต่กระทรวงพาณิชย์+เกษตร จะมีคนทำงานสักกี่คนที่สามารถเข้ามาทดแทนกลไกค้าข้าวที่มีอยู่ มิพักจะพูดถึงความสามารถและเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น ยุ้งฉาง รัฐบาลมีหน้าที่ทำลายกลไกตลาดเช่นนี้หรือ?
ถ้าจะบอกว่าสินค้าเหล่านี้ต้องแทรกแซงเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิต/ผู้บริโภค เกณฑ์การแทรกแซงคืออะไร ทำไมต้องเฉพาะสินค้าแค่นี้และในราคาใดจึงจะพอเหมาะ หรือจะทำทุกสินค้าให้กลายเป็นแบบระบบคอมมิวนิสต์ไปเลย ทั้งหมดล้วนไม่มีคำตอบที่ชัดเจนที่อธิบายกับเจ้าของเงินภาษีได้เพราะสินค้าบริการในตลาดมีจำนวนมหาศาลมากเกินกว่าขีดความสามารถในควบคุม/แทรกแซง หากแต่ผลที่เกิดขึ้นเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม คือ หนี้สาธารณะสูงและความสามารถในการแข่งขันต่ำ
จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่กรีซจะประสบกับปัญหาการหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีจากประชาชนของตนเองในวงกว้าง นโยบายประชานิยมที่เอาภาษีของทุกคนไปใช้สนองนโยบายนักการเมืองจึงน่าจะเป็นสาเหตุหลัก ใครบ้างอยากจะเสียภาษีให้รัฐบาลนาง “แพง” ที่ชูนโยบายประชานิยมที่ล้างผลาญเงินภาษีเพื่อประโยชน์การเมืองการเลือกตั้งของตนเอง อนาคตในเรื่องนี้ทำนายได้ไม่ยาก
ดูการทำงานของรัฐบาลและ ส.ส.พรรครัฐบาลในสภาฯ ผ่านไปเกือบ 1 ปีแล้วสามารถออกกฎหมายอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันมีความหมายต่อการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองได้บ้างสักฉบับ เห็นมีแต่ใช้เวลาสภาฯ เกือบทั้งหมดไปเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งที่มีอยู่แล้วและยังไม่เห็นข้อบกพร่องที่ร้ายแรงตรงที่ใด รัฐธรรมนูญใหม่กินได้หรือทำให้ของถูกหรือไม่? กม.ฟอกเงิน กม.ที่ดินจำเป็นกว่าหรือไม่? แล้วมันอยู่ที่ไหน?
การเจรจา “ตัดผม” หรือ hair cut เพื่อลดมูลหนี้สาธารณะที่กรีซเป็นหนี้อยู่ถึงระดับร้อยละ 53 ของเงินต้น คิดต่อประชากร คนกรีซทุกคนจะได้รับการยกหนี้ให้เฉลี่ยประมาณ 10,000 ยูโรหรือประมาณ 400,000 บาทต่อคน นับว่าเป็นการลดหนี้ครั้งมโหฬารครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียวก็ว่าได้ การปรับโครงสร้างหนี้ในฝั่งเจ้าหนี้จึงสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้วเหลือแต่เพียงลูกหนี้เท่านั้นที่จะทำหน้าที่ชำระหนี้ที่เหลือ
แต่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่หลายๆ ฝ่ายรวมถึงตัวลูกหนี้กรีซเองก็ยังไม่แน่ใจในความสามารถหารายได้มาชำระหนี้ นักการเมืองและประชาชนบางส่วนกลับพยายามหา “ทางเลือก” อื่นที่จะไม่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง แสดงให้เห็นว่านโยบายประชานิยมที่ดำเนินมาได้กัดกร่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกรีซอย่างถึงที่สุดแล้วก็ว่าได้
ประเด็นก็คือการรัดเข็มขัดเพื่อแลกกับข้อตกลงลดหนี้ข้างต้น และความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อมิให้ผิดนัดชำระหนี้ เป็นเพียงการเยียวยาลดภาระการชำระหนี้และ/หรือเลื่อนกำหนดชำระหนี้ออกไป ยังมิใช่การแก้ไข
สิ่งจำเป็นที่นักการเมืองกรีซต้องทำเพื่อแก้ไขคือการรัดเข็มขัด และทำงบประมาณรายจ่ายแบบเกินดุลหลังจากที่ขาดดุลมานาน
สิ่งนี้ต่างหากจึงเป็นเสมือน “ยาขม” กับทั้งนักการเมืองและผู้ที่ “เสพ” ติดนโยบายประชานิยมต้อง “ลงแดง”
ผลการเลือกตั้งของกรีซแสดงให้เห็นว่ายังมีนักการเมืองหาเสียงกับการปฏิเสธ “ยาขม” งบประมาณเกินดุลอยู่และมีประชาชนผู้ “เสพ” ติดสนับสนุน จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเพราะไม่มีพรรคใดมีเสียงข้างมาก การจัดเลือกตั้งใหม่ก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ของกรีซดีขึ้นแต่อย่างใด แต่จะมีทางเลือกอื่นนอกจาก “ยาขม” งบประมาณเกินดุลเหลืออยู่หรือไม่
การนำประเทศออกจากการใช้เงินสกุลร่วมยูโรอาจเป็นทางเลือก แต่ผลสุดท้ายก็ต้องลดราคาค่าจ้าง/ปลดคนออกจากงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างความสามารถในการแข่งขันอยู่ดีเพราะมิเช่นนั้นก็ไม่สามารถหารายได้มาชำระหนี้ได้
แต่ต้นทุนในทางเลือกนี้อาจสูงเกินกว่าที่จะรับได้เพราะการหันไปใช้เงินตราสกุลเดิมก่อนใช้ยูโรหรือสร้างใหม่ขึ้นมานอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาการชำระหนี้ที่เป็นเงินสกุลยูโรแล้วยังทำให้ข้อตกลงต่างๆ ที่ทำไว้ เช่น การลดหนี้อาจต้องพับไป แถมยังต้องผจญกับความเสี่ยงในการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินสกุลใหม่กับยูโรที่อาจต้องลดค่า (depreciate) เป็นอย่างมากเพราะนานาชาติขาดความไว้วางใจ สุดท้ายราคาค่าจ้างเมื่อใช้เงินสกุลใหม่ก็จะต้องลดลงโดยเปรียบเทียบอันเป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดค่าอยู่ดี
วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 เกิดจากภาคเอกชนและการทะเลาะกันเองเอาการเมืองมาแทรกของคนในธนาคารแห่งประเทศไทย แต่วิกฤตครั้งต่อไปของไทยจะมาจากรัฐบาลและนักการเมืองด้วยนโยบายประชานิยมที่ทำให้ หนี้สาธารณะสูงและขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำ
ประสบการณ์ของหลายประเทศในละตินอเมริกา หรือกรีซที่เห็นเป็นประจักษ์ว่า “เจ๊ง” ทั้งแผ่นดินจากนโยบายประชานิยมนั้นเป็นเรื่อง “จริง” หากยังดำเนินนโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” อย่างที่เป็นอยู่ ยังมองไม่เห็นทางออกว่าจะหลีกเลี่ยง “เจ๊ง” ทั้งแผ่นดินไทยไปได้อย่างไร