แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (12) (12/6/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (12) (12/6/2555)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (12)


(12/6/2555)




*การมีสำนึกรู้ที่เอนโทรปีรบกวนไม่ได้*



ในทุกขั้นตอนของการเติบโตทางจิตวิญญาณของคนเรา ร่างกายของเราคือกัลยาณมิตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เรามี หากแม้นความเป็นจิตวิญญาณหมายถึงการดำรงชีวิตอย่างบริบูรณ์ในปัจจุบันขณะแล้วไซร้ การมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ของเราด้วยร่างกายนี้ ย่อมเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นอันขาดเสียมิได้ ด้วยเหตุนี้เอง การเจริญสติและสมาธิภาวนาเพื่อทำให้กาย-จิต-ปราณของเราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน จึงน่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้องสำหรับการชะลอวัยด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การพัฒนาจิตวิญญาณของคนเรา จะต้องไม่ถูกดำเนินไปในหนทางที่ปฏิเสธร่างกาย หรือรังเกียจร่างกายของตนเอง



ไม่แต่เท่านั้น ความอ่อนแอของร่างกาย ความเจ็บป่วยของร่างกายและความแก่เร็วหรือแก่ก่อนวัยของร่างกาย ควรจะถูกมองว่าเป็นสภาวะที่ร่างกายของผู้นั้น ยังไม่สามารถบรรลุจุดหมายตามธรรมชาติของตัวเองในการประสานรวมกับจิตใจได้อย่างสมบูรณ์และเต็มที่ เหตุที่ผมต้องเน้นในเรื่องนี้ เพราะสังคมของเรามีแนวโน้มที่จะเข้าใจผิดเกี่ยวกับร่างกายของคนเราอยู่ 2 อย่าง



อย่างแรก เป็นความเข้าใจผิดแบบวัตถุนิยมที่ตัดสินอย่างผิดๆ ว่า ร่างกายของคนเราเป็นแค่เครื่องจักร หรือเป็นเพียงก้อนสสารที่ทำงานโดยปราศจากเชาวน์ปัญญาของตนเอง อย่างที่สอง เป็นความเข้าใจผิดแบบจิตนิยมที่คิดว่าคนที่มีความเป็นจิตวิญญาณสูงส่ง จะต้องเป็นผู้ที่สลัดทิ้งร่างกาย หรือปฏิเสธความต้องการตามธรรมชาติของร่างกายอย่างสุดโต่ง



อคติที่ต่อต้านร่างกายแบบจิตนิยมนี้ ขัดแย้งกับวิถีที่ธรรมชาติได้ออกแบบมนุษย์ขึ้นมา เพราะธรรมชาติได้สร้างความสมดุลของจิตใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณขึ้นมาในฐานะที่เป็นสิ่งที่ร่วมกันรังสรรค์ “ความเป็นจริง” ในแต่ละบุคคลของคนเรา ร่างกายของเราจึงเป็นฐานที่สำคัญมาก ที่จะทำให้ “ประสบการณ์ต่างๆ”ของเราโผล่ผุดขึ้นมาเพื่อรับรู้และเรียนรู้



ถ้าหากคนเรามีแค่ร่างกายอย่างเดียว คนเราย่อมไม่มีทางเอาชนะ เอนโทรปีในฐานะที่เป็นแรงทางฟิสิกส์ได้เลย แต่เพราะคนเรานอกจากจะมีร่างกายแล้ว ยังมีจิตใจและจิตวิญญาณ คนเราจึงสามารถยกระดับจิตสำนึกของตนเองไปสู่ระดับจิตสำนึกที่ไม่ถูกรบกวนจากเอนโทรปีได้ ความจริงอันนี้แหละที่ทำให้การชะลอวัยเป็นเรื่องที่ทำได้ และเป็นไปได้



ดีปัก โชปรา ผู้เขียนหนังสือ “ร่างกายที่เหนืออายุขัย จิตใจที่ไร้กาลเวลา” (สำนักพิมพ์มติชน, 2551) บอกว่ามีสำนึกรู้ 5 ประการที่เอนโทรปีรบกวนไม่ได้ ดังนั้นคนเราควรจะยกระดับจิตสำนึกของตนให้สูงขึ้นจนมีสำนึกรู้เช่นนี้ให้จงได้ โดยที่สำนึกรู้ 5 ประการที่ว่านี้ ได้แก่



(1) สำนึกที่ว่า ตัวเราคือจิตวิญญาณ


ต่อให้การดำรงอยู่ทางกายภาพของเราจะถูกจำกัดด้วยพื้นที่ และกาลเวลาก็ตาม แต่จิตสำนึกของเราไม่ควรถูกจำกัดไปด้วย เราจะต้องตะรหนักให้ได้ว่า ตัวเราเป็นสนามแห่งควอนตัมที่เผยตัวเองในเหตุการณ์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ภายนอกใดๆ จะต้องไม่สามารถสั่นคลอน ความตระหนักถึงการเป็น “ผู้รู้” ภายในตัวเราได้เป็นอันขาด



(2) สำนึกที่ว่าขณะนี้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น


หากห้วงเวลานี้เป็นเหตุการณ์ของพื้นที่-กาลเวลาในความต่อเนื่องอันไม่มีที่สิ้นสุดของจักรวาล การมีสำนึกว่าตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งของความต่อเนื่องดังกล่าวนั้น จะทำให้ทุกๆ อย่างจะเป็นที่ยอมรับได้ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ที่ใหญ่ยิ่งกว่าตัวเราเอง สำนึกเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เรายกเลิกความปรารถนาที่จะควบคุมความเป็นจริง หรืออยากให้ความเป็นจริงเปลี่ยนไปตามใจของเรา เราจะต้องมองให้เห็นซึ้งให้จงได้ว่า ความอยากที่จะให้ความเป็นจริงเปลี่ยนไปตามใจของเรานั้น เป็นแค่การตอบสนองของเราต่อความเจ็บปวด หรือความผิดหวังในอดีตเท่านั้น



ขณะเดียวกัน เราก็ควรตระหนักให้ถ่องแท้ยิ่งขึ้นว่า ความปรารถนาของเรา ความจริงเป็นส่วนหนึ่งของ “ขณะนี้” ต่างหาก มิใช่ส่วนหนึ่งของอดีตหรืออนาคตแต่อย่างใดเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการล้วนมีอยู่พร้อมบริบูรณ์แล้ว ณ ที่นี่ และเดี๋ยวนี้



(3) สำนึกที่ว่า ความไม่แน่นอนเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบทั้งหมดของสรรพสิ่ง


ความไม่แน่นอนกับความแน่นอนเป็นสองด้าน ในธรรมชาติของตัวเรา สิ่งต่างๆ จะต้องแน่นอนที่ระดับหนึ่ง มิฉะนั้นความเป็นระเบียบจะคงอยู่ไม่ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน ที่ระดับอื่น สิ่งต่างๆ จะต้องไม่แน่นอน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้น และจะไม่มีวิวัฒนาการ การมีสำนึกว่าความไม่แน่นอนในอนาคตเป็นเพียงอีกคำเรียกหนึ่งของการรังสรรค์อนาคต จะช่วยป้องกันตัวเราจากความกลัว หรือความหวาดหวั่นต่ออนาคตที่คาดเดาไม่ได้ เพราะแม้แต่สนามแห่งควอนตัมเองก็ยังอ้าแขนรับเอนโทรปี และการวิวัฒน์อยู่เสมอ ตัวเราในฐานะที่เป็นสนามแห่งควอนตัมที่เผยตัวเองออกมา ก็ควรที่จะกล้ารับ ความไม่แน่นอนทั้งหลายทั้งปวงเข้ามาในชีวิตของตนด้วยเช่นกัน



(4) สำนึกที่ว่า การเปลี่ยนแปลงซึมซ่านอยู่ในความเป็นนิรันดร์


ชีวิตเป็นลีลาที่ไม่มีที่สิ้นสุด การเคลื่อนไหวของเราเป็นการออกแบบลีลาของเราผ่านจิตสำนึกของตัวเรา ความปรารถนาและความสนใจในสิ่งใด จะเป็นตัวกำหนดเส้นทางการเติบโตของผู้นั้นหลังจากนั้น เนื่องจากความสนใจมักไม่หยุดนิ่ง ลีลาของเราจึงไม่เคยยุติ นี่คือแก่นแท้ของชีวิต ทุกการเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งของลีลาชีวิต ดังนั้นทุกๆ เหตุการณ์ในพื้นที่-กาลเวลา จึงมีความหมายและความจำเป็น มันคือความเป็นระเบียบท่ามกลางความยุ่งเหยิง คนเราพึงค้นพบอิสรภาพท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงในชีวิตให้จงได้ ด้วยการยอมรับความเป็นไปได้ทั้งปวง และด้วยการเรียนรู้สิ่งสัมบูรณ์จากการแสดงบทบาทลีลาของตนในสิ่งสัมพัทธ์ทั้งหลาย



(5) สำนึกที่ว่า เอนโทรปีไม่ได้เป็นภัยคุกคาม


เพราะตัว เอนโทรปีเองก็อยู่ภายใต้การควบคุมของพลังแห่งการจัดระเบียบที่ไร้ขีดจำกัดของจักรวาล หากจิตสำนึกของเราขยายตัวแผ่กว้างออกไปจนข้ามพ้นความเป็นตัวตนของตนเอง เราจะสำนึกได้เองว่า ร่างกายของเราก็สะท้อนเอกภาพของการอยู่ร่วมกันของความมีระเบียบ และความยุ่งเหยิง โมเลกุลของอาหาร อากาศ และน้ำที่หมุนวนอยู่ในร่างกายของเรา จะเคลื่อนที่ไปอย่างสับสน แต่เมื่อเข้าสู่เซลล์แล้วจะถูกนำไปใช้อย่างมีระเบียบและแม่นยำ ความยุ่งเหยิงจึงเป็นเพียงภาพย่อยในภาพรวมที่มีพลังแห่งการจัดระเบียบที่ไร้ขีดจำกัดของจักรวาลควบคุมอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้น เราจะตระหนักได้เองว่า ทุกย่างก้าวที่ก้าวไปสู่การเสื่อม การสลายตัว และการถูกทำลายจะนำไปสู่การจัดระบบแผนใหม่ของการมีระเบียบเสมอ



Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้