แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (1) (27/3/2555)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น  (1) (27/3/2555)


แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (1)


(27/3/2555)




*ความสงสัยที่มีต่อกระบวนทัศน์ของการแพทย์แผนตะวันตก*



ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์มากที่สุด มีทฤษฎีในด้านการดูแลสุขภาพมากที่สุด แต่สหรัฐอเมริกากลับมีค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ติดอันดับโลก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างฉุดไม่อยู่ เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวเท่านั้น หากแต่เป็นปัญหาร่วมกันของหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย จนอดไม่ได้ที่เราจะต้องตั้งคำถามขึ้นมาว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า สุขภาพของเรากำลังหลงทาง? เป็นไปได้หรือไม่ว่า แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพภายใต้กระบวนทัศน์ของการแพทย์แผนปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพพอ?



อเล็กซ์ วู (Alex Wu) ผู้เขียนหนังสือ “เข็มทิศสุขภาพ” (The User’s Manual For Human Body) (สำนักพิมพ์ชุณหวัตร พ.ศ. 2552) กล่าวว่า การแพทย์แผนตะวันตก เป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่รักษาโรคโดยวิธีการทางเคมี ซึ่งมีต้นตอมาจากวิชาเล่นแร่แปรธาตุ (วิชาเสกหินให้เป็นทอง) ในสมัยโบราณของโลกตะวันตก โดยที่วิชาเล่นแร่แปรธาตุนี้แหละที่เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของโลกตะวันตกในเวลาต่อมา



ภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกในศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ล้วนเป็นภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่คู่กับขวดแก้วระเกะระกะไปหมด ด้วยเหตุนี้ ภาพลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ที่คนส่วนใหญ่มีคือ เป็นนักเคมีนั่นเอง ในความเป็นจริง วิชาการแพทย์ของฝั่งตะวันตก ก็พัฒนาขึ้นมาจากมิติและภูมิหลังเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นยาที่ใช้ตรวจโรค หรือยาที่ใช้รักษาโรค ทั้งหมดนี้ล้วนผลิตขึ้นบนตรรกะ และวิธีทางเคมีทั้งสิ้น การแพทย์แผนตะวันตกจึงแทบไม่อาจฉีกตัวออกจากเทคโนโลยีทางเคมีได้



นอกจากการแพทย์แผนตะวันตก จะยึดตรรกะและวิธีทางเคมีเป็นหลักแล้ว องค์ความรู้ของการแพทย์แผนตะวันตก ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) ที่อิงอยู่กับปรัชญา หรือญาณวิทยาแบบประจักษ์นิยม (ปรัชญาที่ยอมรับในสิ่งที่ประสาทสัมผัสทั้ง 5 สามารถสัมผัสและพิสูจน์ได้เท่านั้น) อย่างเหนียวแน่น



จากกายวิภาคศาสตร์นี้เอง ที่องค์ความรู้ของการแพทย์แผนตะวันตกได้ใช้ “หน้าที่” ที่มีความเป็นเอกเทศจากภายนอกของร่างกาย มาทำการแบ่งอวัยวะออกเป็นส่วนต่างๆ แล้วนำอวัยวะที่มีความเกี่ยวข้องมารวมเข้าเป็นระบบเดียวกันแบบกลไก ยกตัวอย่างเช่น ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบย่อยอาหาร ระบบกล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบการสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ซึ่งในแต่ละระบบจะไม่ค่อยมีความเกี่ยวพันกันสักเท่าไหร่ แต่ละส่วนของอวัยวะก็ไม่มีการติดต่อกันสักเท่าใดนัก จนดูเหมือนว่า แต่ละอวัยวะหรือแต่ละระบบจะเป็นเอกเทศต่อกัน



อันที่จริงแล้ว องค์ความรู้ของการแพทย์แผนตะวันตก ซึ่งเป็นกระแสหลักของการแพทย์แผนปัจจุบันมีประโยชน์อย่างยิ่ง เฉกเช่นเดียวกับฟิสิกส์ของนิวตัน ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีมากๆ ในเงื่อนไขหนึ่งปัญหาก็คือ กระบวนทัศน์ของการแพทย์แผนตะวันตกที่ตั้งอยู่บนกายวิภาคศาสตร์นี้ มันไม่เพียงพอที่จะทำความเข้าใจร่างกายของคนเรา ในฐานะที่เป็น “ระบบที่ซับซ้อน” อย่างเป็นองค์รวมได้เพราะความที่ตัวมันเองเป็นศาสตร์ที่ “แยกส่วน” นั่นเอง



ตราบจนถึงทศวรรษ 1980 แห่งศตวรรษที่ 20 พวกเราคงไม่ได้ตระหนักถึง ข้อจำกัดของกระบวนทัศน์ของการแพทย์แผนตะวันตก มากนัก เพราะในตอนนั้น เทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ต ยังไม่ได้ครองโลกเหมือนในยุคสมัยนี้ที่เป็นยุคต้นศตวรรษที่ 21 แล้ว ดังนั้น เมื่อเราใช้มุมมองของระบบสารสนเทศ และระบบอินเทอร์เน็ตที่เราคุ้นเคยมาทำการอธิบายร่างกายของคนเรา เราจะเห็นข้อจำกัดของกระบวนทัศน์ของการแพทย์แผนตะวันตกที่อิงอยู่กับกายวิภาคศาสตร์ได้อย่างชัดเจนขึ้นมากเลยทีเดียว



กล่าวคือ ถ้าหากไม่เข้าใจการดำรงอยู่จริงของซอฟต์แวร์แล้ว ใช้วิธีในการผ่าตัด (กายวิภาค) คอมพิวเตอร์โดยตรงแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะพิสูจน์ถึงการดำรงอยู่จริงของซอฟต์แวร์ได้อย่างแน่นอน ฉันใด ก็ฉันนั้น ร่างกายของคนเรามีความสลับซับซ้อนยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์มากมายนับพันนับหมื่นเท่า เพราะฉะนั้น ถ้าหากพิจารณาจากมุมมองของเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่ร่างกายมนุษย์เราจะเป็นเพียงฮาร์ดแวร์ที่เรียบๆ ง่ายๆ อย่างที่กายวิภาคศาสตร์ หรือกระบวนทัศน์ของการแพทย์แผนตะวันตกใช้มองร่างกายมนุษย์ แต่มันจะต้องมี “ซอฟต์แวร์” อีกมากมายซึ่งมิอาจทำการพิสูจน์ได้โดยทางกายวิภาคศาสตร์เป็นแน่



ทฤษฎีเรื่องจักระ (ศูนย์พลังงานละเอียด) ของวิชาโยคะก็ดี ทฤษฎีเรื่องเส้นโคจรลมปราณในวิชาการแพทย์แผนจีนก็ดี จึงมีความเป็นไปได้ที่อาจจะเหมือนกับ “ซอฟต์แวร์” ของคอมพิวเตอร์ในร่างกายมนุษย์ ที่ไม่มีวันทำการพิสูจน์ได้โดยทางกายวิภาคศาสตร์อีกเช่นกัน



ในความเห็นส่วนตัวของผม สิ่งที่ขาดหายไปจากกระบวนทัศน์ของการแพทย์แผนตะวันตกที่อิงอยู่กับกายวิภาคศาสตร์ ก็คือ การมองร่างกายในฐานะที่เป็นระบบที่เป็นองค์รวมแห่งพลังงานละเอียด (subtle energy) หรือพลังชีวิตชนิดหนึ่ง ทำไมผมถึงมองเช่นนี้ ก่อนอื่นขอให้เรามาพิจารณาปรากฏการณ์สามอย่างของการแพทย์ในปัจจุบันกันก่อน



ปรากฏการณ์ที่หนึ่ง นับตั้งแต่ยุคปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา หรือหลังจากที่วัคซีนซาบิน ได้พิชิตโรคโปลิโอแล้ว ช่วงเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมานี้ ก็ยังไม่เคยได้ยินข่าวดีว่าได้มีการพิชิตโรคใดเพิ่มอีกเลย



ปรากฏการณ์ที่สอง โรคเรื้อรังที่ไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ ถึงแม้ว่าการรักษาบาดแผลภายนอก การผ่าตัด และการป้องกันโรคระบาดเป็นสิ่งที่การแพทย์แผนปัจจุบันทำได้ดีมากๆ อย่างน่ายกย่องก็จริง แต่นอกจากนั้น โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตเป็นพิษ (Uremia) โรคลูพัส (lupus) หรือโรค SLE ซึ่งคนไทยรู้จักดีในนามของโรคพุ่มพวง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดเนื่องจากภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อของตนเอง โรคเรื้อรังเหล่านี้ โดยมากการแพทย์แผนปัจจุบันก็ได้แต่ควบคุมอาการเท่านั้น โดยไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้



ปรากฏการณ์ที่สาม โรคเรื้อรังอันมากมายที่ไม่สามารถรักษาได้ในหลายสิบปีมานี้ ยังไม่มีสักโรคเลยที่ถูกเราจัดการได้ แม้ว่าหลายปีมานี้ จะมีการแถลงความก้าวหน้าทางวิทยาการแพทย์ใหม่ๆ อยู่เสมอ และก็มีผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทยศาสตร์อย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด อย่างมากก็แค่มีความคาดหวังกันว่า ในอนาคตข้างหน้ามนุษย์จะสามารถจัดการกับโรคเรื้อรังชนิดใดชนิดหนึ่งได้เท่านั้น แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้



นักศึกษาวิชาแพทย์ จะต้องศึกษาวิชาในวิทยาลัยการแพทย์นานถึงหกเจ็ดปี จากนั้นยังต้องทำการเรียนรู้อีกหลายปีในโรงพยาบาล กว่าจะสามารถเป็นแพทย์ที่มีความชำนาญเฉพาะทางได้ แต่ต่อให้เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงแล้ว ก็ยังมีโรคอีกมากมายก่ายกองที่แพทย์ผู้นั้นยังต้องจนปัญญา โดยเฉพาะโรคเสื่อมเรื้อรังทั้งหลาย



นอกจากนี้ ยังมีนักศึกษาวิชาแพทย์จำนวนไม่มากนักที่ได้รับการฝึกหัดเรื่องโภชนาการอย่างเป็นทางการ ในระหว่างที่ศึกษาอยู่ในวิทยาลัยการแพทย์ จึงมีแพทย์น้อยคนที่จะนำศาสตร์โภชนาการมาประยุกต์ใช้กับคนไข้ของตนอย่างจริงจัง แพทย์ส่วนใหญ่จึงยังคงเน้นที่การใช้ยารักษาโรคโดยที่ยาเหล่านี้ มีแนวโน้มที่จะถูกกำหนดโดยบริษัทยาข้ามชาติที่ครอบงำแนวทางการรักษาใหม่ๆ ด้วยการพัฒนา ยาหน้าใหม่หลากชนิดที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการวิจัยและพัฒนา



เมื่อพิจารณาปรากฏการณ์สามอย่างข้างต้นกับความเป็นจริงของการแพทย์แผนปัจจุบันในขณะนี้แล้ว มันน่าจะบ่งบอกว่า การแพทย์แผนปัจจุบันเหมือนได้วนอยู่กับที่มานานหลายสิบปีแล้ว จนดูเหมือนจะหมดปัญญากับโรคเรื้อรังไปแล้ว ปัญหาของมันคงไม่ใช่เรื่องการได้ค้นพบยาใหม่ๆ หรือไม่อย่างแน่นอน



อาจเป็นไปได้ว่า กระบวนทัศน์หรือตรรกะความคิดพื้นฐานของการแพทย์สมัยปัจจุบัน ได้เกิดปัญหาเสียแล้ว ซึ่งในความเข้าใจของผมก็คือ การขาดการมองร่างกายในฐานะที่เป็นระบบที่เป็นองค์รวมแห่งพลังงานละเอียด หรือพลังชีวิตชนิดหนึ่งนั่นเอง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้