แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (82) (15/10/2556)

แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (82) (15/10/2556)



แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
 
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (82)

(15/10/2556)
 




*จาก “กิริยา” สู่ตันตระ (ต่อ)*
       


       (66) “จงเป็นคนเดิมที่ผิดแผกไปต่อมิตรสหาย เช่นต่อคนแปลกหน้าในศักดิ์ศรีและความอัปยศ”

       
       ขยายความ ตันตระคืออุบายวิธีแห่งรัก คือความพยายามแห่งรักต่อการดำรงอยู่ ตันตระเป็นความรักระหว่างตัวเรากับการดำรงอยู่ หาใช่ความรักระหว่างชายกับหญิงไม่ นี่คือสาเหตุที่ตันตระใช้ประโยชน์จากกามารมณ์อย่างกว้างขวาง โดยมุ่งทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับการดำรงอยู่ วิธีนี้ตันตระได้แนะว่า “จงเป็นคนเดิมที่ผิดแผกไป”...ผิดแผกไปด้วย ความตระหนักรู้ในตัวเราเอง นี่คือความพากเพียรทางความรู้สึกของตันตระ ที่จะหมั่นรู้สึกตัวอยู่เสมอ เพื่อเป็น “คนเดิมที่ผิดแผกไป” เพราะความเป็น “ผู้รู้” ในตัวเราไม่เคยเปลี่ยนแปลง มันคงเดิมอยู่เสมอในท่ามกลางความแปรเปลี่ยนของทุกสิ่ง ไม่ว่าต่อมิตร หรือต่อคนแปลกหน้า ไม่ว่าได้รับการสรรเสริญหรือถูกลบหลู่ จงเป็นคนเดิมที่เป็น “ผู้รู้” เสมอ จงแค่รับรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเฉพาะขอบนอกของตัว “ผู้รู้” นี้เท่านั้น


       
       (67) “ณ ที่นี้คือปริมณฑลแห่งความผันแปร ผันแปร และผันแปร จนกลืนกินความผันแปรด้วยความผันแปร”

       
       ขยายความ วิธีนี้แนะเราให้ตระหนักถึงอนิจจัง และพึงกำหนดรู้ความไม่เที่ยงนี้อย่างไม่หยุดยั้ง แล้วจะคลายความยึดมั่นถือมั่นลงได้ แต่ตันตระยังแนะด้วยว่า อย่าได้ละทิ้งสิ่งซึ่งแปรผัน จงหยั่งรวมไปกับมัน ไม่ยึดติดมันทว่าหยั่งรวมไปกับมัน ใช้ชีวิตอยู่กับมันโดยไม่หวาดหวั่น จงกลืนกินมันด้วยตัวมันเอง โดยไม่หลีกหนีเพราะทุกแห่งหนล้วนคือความแปรผัน จงใช้ชีวิตกับความแปรผันโดยเป็นความแปรผันเสียเองอย่างไม่ต่อสู้ขัดขืนดิ้นรนใดๆ แต่ผ่อนคลาย ปล่อยตัวตามสบายแล้วหลั่งไหลไปกับสายธารแห่งความแปรผันนั้น
       

       ตันตระจึงสอนว่า จงกลืนกินความกำหนัดด้วยความกำหนัด จงกลืนกินความโลภด้วยความโลภ จงกลืนกินสังสารวัฏด้วยสังสารวัฏโดยไม่ขัดขืนมัน ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่ง ด้วยความตระหนักรู้และไม่ยึดติด เพราะไม่มีประโยชน์อันใดเลยที่จะหลีกหนีไปจากมัน เพียงแค่รับรู้ ตระหนักรู้ว่าสรรพสิ่งล้วนแปรผัน แล้วไหลล่องไปกับความแปรผันนั้นอย่างผ่อนคลาย มีแต่เป็นเช่นนี้เท่านั้น เราถึงจะสามารถเข้าถึงความเป็น “ผู้รู้” ซึ่งไม่เคยแปรเปลี่ยนในตัวเราได้ นี่คือ แก่นอันลึกล้ำที่สุดแห่งคำสอนอันเร้นลับของตันตระ ที่แนะให้เรากลายเป็นอมตะด้วยการดับสลาย ปล่อยให้ความดับสลายวอดวายไปด้วยความดับสลาย กามารมณ์มอดดับได้ด้วยกามารมณ์ โทสะตัดระงับได้ด้วยโทสะ ความผันแปรถูกกลืนกินได้ด้วยความผันแปร ดุจการใช้พิษถอนพิษ
       


       (68) “เสมือนแม่ไก่ฟูมฟักลูกน้อยของตน จงฝักใฝ่ดูแลการรับรู้จำเพาะ การปฏิบัติจำเพาะในความเป็นจริง”

       
       ขยายความ ตันตระแนะให้เราจงมองสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา อย่าสร้างภาพ อย่าตีความ อย่ายัดเยียดความคิดของเราแก่สิ่งต่างๆ แต่ปล่อยให้ความจริงสำแดงตัวเองออกมา ไม่ว่ามันจะเป็นสิ่งใด นอกจากนี้ เราต้องปล่อยให้มีช่องว่าง หรือเว้นช่องว่างไว้ระหว่างมายาภาพหนึ่งกับอีกมายาภาพหนึ่งเพื่อเหลือช่องว่างภายในให้เราแลเห็นความจริงได้ด้วยความตระหนักรู้ จากนั้นจงเรียนรู้ความปรารถนาของตัวเราเองด้วยการตระหนักรู้ และเฝ้าดูมันจนกระทั่งเราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างบริสุทธิ์ จนไม่เหลือสิ่งใดค้างคาในจิตใจ ไม่ว่าจะกระทำสิ่งใดก็จงอยู่กับการกระทำนั้นอย่างสิ้นเชิง ดุจแม่ไก่ที่กำลังฟูมฟักลูกน้อยของตน และพยายามรับรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งในวิถีทางที่สดใหม่ ตรงไปตรงมา และฉับพลัน
       


       (69) “เพราะเหตุว่า โดยสัจธรรมนั้น พันธนาการกับการหลุดพ้นแนบเนื่องกันอยู่ วาทะเหล่านี้เพียงมีไว้สำหรับผู้ที่พรั่นพรึงต่อเอกภพ เอกภพนี้คือภาพสะท้อนของจิต เฉกเช่นที่เธอแลเห็นดวงตะวันเกลื่อนกล่นในวารีจากตะวันดวงเดียวฉันใด เธอพึงแลเห็นพันธนาการ และการหลุดพ้นฉันนั้น”
       

       ขยายความ ตันตระสอนว่า โลกียะและนิพพานหาใช่สองสิ่งไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้น พันธนาการกับการหลุดพ้นก็หาใช่สองสิ่งไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งเดียวกัน การจะเป็นอิสระอย่างแท้จริงจึงต้องสลัดหลุดจากทั้งสองสิ่งนี้ ตันตระมองว่า คนที่ละทิ้งบ้านช่อง ละทิ้งสังคม ละทิ้งทางโลก เพียงเพื่อหลุดพ้นพันธนาการ พ้นจากโซ่ตรวจของโลก บางครั้งผู้นั้นกลับสร้างโซ่ตรวนเส้นใหม่ขึ้นสำหรับตนเอง โซ่ตรวจเส้นใหม่นี้คือการ “ปฏิเสธ” โลก การ “ปฏิเสธ” บางครั้งกลับมีความหมายว่า ผู้นั้นลึกๆ แล้วเคยฝักใฝ่ หมกมุ่นในสิ่งนั้น จึงกลับมุ่งไปอีกขั้วหนึ่งที่ “ปฏิเสธ” มัน คนเราจึงไม่อาจหลุดพ้นได้ด้วยการตอบโต้หรือปฏิเสธ เพราะสิ่งที่เราต่อต้านกลับจะรัดรึงเราอย่างไม่ปรานีปราศรัย คนที่ต่อต้านโลกและมุ่งหวังหลุดพ้นจึงไม่อาจหลุดพ้นได้ เพราะทัศนะในเชิงต่อต้านนั้นแหละที่เป็นพันธนาการอันใหม่ของตัวเขา ด้วยเหตุนี้แหละ ตันตระจึงกล่าวว่า เราจะต้องไม่เพียงหลุดพ้นจากพันธนาการเท่านั้น แต่เราจะต้องหลุดพ้นจากโมกษะ (การหลุดพ้น) ด้วยเพราะ หากเราไม่หลุดพ้นจากทั้งสองสิ่ง เราก็หลุดพ้นอย่างแท้จริงไม่
       

       ในทางปฏิบัติ ตันตระจึงสอนว่า จงอย่าหันเหจากกามารมณ์สู่พรหมจรรย์ เพราะหากเราพยายามหันเหจากกามารมณ์สู่พรหมจรรย์ พรหมจรรย์ของเราจะมิใช่สิ่งใดอื่นนอกจากกามราคะ จงอย่าหันเหจากความละโมบสู่ความไม่ละโมบ เพราะความไม่ละโมบดังกล่าว ก็จะเป็นความละโมบอันแยบยลอยู่ดี กล่าวคือ ตันตระแนะไม่ให้เราสร้างขั้วตรงข้ามขึ้นมา สิ่งตรงข้ามทั้งหลายนั้นมีส่วนเกี่ยวโยงกัน สิ่งเหล่านี้คือองศาของปรากฏการณ์เดียวกัน หากเราตระหนักถึงสิ่งนี้ว่า ทั้งสองขั้วเป็นเช่นเดียวกัน เราจะหลุดพ้นจากทั้งสองสิ่งได้ เมื่อความตระหนักนี้ลุ่มลึกถึงขีดสุด เมื่อนั้นเราจะไม่อยู่เพื่อสังสารวัฏ อีกทั้งไม่อยู่เพื่อโมกษะหรือการหลุดพ้นอีกต่อไป ในยามนั้น เราจะไม่เรียกร้องสิ่งใด เพราะเรายุติการเรียกร้องแล้ว ในช่วงยุตินั้นเราเองก็หลุดพ้นในห้วงความรู้สึกที่ว่า สรรพสิ่งเป็นเช่นเดียวกันนั้น “อนาคต” ก็ปิดฉากลง เพราะไม่มีที่ทางให้มุ่งไปอีก
       

       ตันตระจึงบอกว่า คนเราไม่อาจมุ่งหวังความหลุดพ้นได้ เพราะความมุ่งหวังคือตัวพันธนาการนั่นเอง วาทกรรมที่มุ่งสอนให้ผู้คนมุ่งแสวงหาความหลุดพ้น จึงเป็นวาทกรรมที่มีไว้สำหรับผู้คนที่ยังพรั่นพรึงต่อเอกภพเท่านั้น เพราะเอกภพนี้คือภาพสะท้อนของจิตผู้นั้น หากมันดูเหมือนพันธนาการ นั่นหมายถึงมันเป็นภาพสะท้อนของจิตผู้นั้น หากมันดูเหมือนการหลุดพ้น มันก็คือภาพสะท้อนของจิตผู้นั้นอีกนั่นเอง โลกตามที่เรามองดูนั้นล้วนส่องสะท้อนตัวเรา หากเราฝักใฝ่โลกีย์ โลกทั้งมวลก็ดูเหมือนฝักใฝ่โลกีย์ด้วย หากเธอเป็นโจร โลกทั้งมวลก็ดูเหมือนอยู่ในสายอาชีพเดียวกัน

       
       นี่คือคำสอนและอุบายวิธีที่ลึกล้ำที่สุดข้อหนึ่งของตันตระ และคงมีเฉพาะผู้คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่เข้าถึงมันได้จริง


       
       (70) “จงพินิจแก่นแท้ของเธอเป็นดุจลำแสง ที่พวยพุ่งจากจักระสู่จักระ ขึ้นมาตามกระดูกสันหลัง แลบันดาล ความมีชีวิตชีวา ขึ้นในตัวเธอ”
       

       ขยายความ จิตวิทยาแบบตันตระอิงอยู่กับ การศึกษาเหล่าเลิศมนุษย์ หรืออภิมนุษย์ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้บรรลุยอดสุดแห่งศักยภาพ และความเป็นไปได้ของมนุษย์แล้ว จึงมองว่า จิตของคนเราเป็นทางผ่านที่สามารถเติบโตไปสู่อภิภาวะแบบเลิศมนุษย์ได้ เพราะฉะนั้น ในสายตาของตันตระ สิ่งใดก็ตามที่เราเป็นอยู่ตอนนี้ ยังหาใช่จุดสุดท้ายแห่งการพัฒนาทางจิตของเราไม่ เราสามารถหกล้มแล้วลุกขึ้นได้ การเติบโตทางจิตของเรายังไม่สิ้นสุด ตัวเราหาใช่ผลิตผลสุดท้ายไม่ ตัวเราเป็นเพียงทางผ่านบนเส้นทางการพัฒนาของจิตเท่านั้น และ บางสิ่งบางอย่างกำลังเติบโตในตัวเราอย่างไม่หยุดยั้ง หากเราฝึกปฏิบัติตามแนวทางแบบโยคะ





Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้