มองพระพุทธเจ้าผ่านภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha

มองพระพุทธเจ้าผ่านภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha



พระพุทธเจ้า



ผมรอโอกาสที่จะเขียนถึง "บุคคลท่านนี้" ในฐานะที่ผมเป็นคมลัมนิสต์มานานเป็นปีแล้ว แต่ผมก็ยังไม่มีจังหวะหรือมีโอกาสเหมาะเจาะที่จะชักนำให้ผมกับท่านผู้อ่านได้มาขบคิด คำนึงถึงความหมายของ "บุคคลท่านนี้" ที่มีต่อชีวิตของพวกเราและของมนุษยชาติในยุคของเรา ร่วมกันอย่างจริงจังเสียที จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha ของแบร์โตลุชชี่ ได้เข้ามาแายในเมืองไทยตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนที่แล้ว ซึ่งผมคิดว่า คงมีท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเหมือนกับผมด้วย




ก่อนอื่นผมจะขอพูดถึงเรื่องราวของภาพยนตร์เรื่องนี้ก่อนนะครับ


ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้อยู่ที่สองจุดด้วยกัน จุดแรกคือ ตัวผู้กำกับ อันได้แก่แบร์โตลุชชี่ ผู้ซึ่งเคยฝากผลงานที่นีาประทับใจไว้กับชาวโลกในเรื่อง The Last Emperor จึงทำให้ความคาดหวังของผู้ชม ทั้งที่เป็นชาวตะวันตกและชาวตะวันออกที่มีต่อหนังเรื่องล่าสุดของผู้กำกับมือทองคนนี้มีอยู่สูงมากเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจหรอกที่เสียงสะท้อนออกมาวิจารณ์หนัง และผู้ชมที่ได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้แล้ว จึงออกมาในทำนองค่อนข้างผิดหวังแม้จะไม่ถึงกับสอบตกก็ตาม แต่น่าจะทำได้ดีกว่านี้ เมื่อเทียบกับผลงานเรื่องก่อนของเขา จุดที่สองนั้น อยู่ที่การหยิบยกคาแรกเตอร์อย่างผู้ที่เป็น ศาสดาแห่งศาสนาโลกอย่างศาสนาพุทธ มาเป็นตัวเองของภาพยนตร์ ซึ่งจะต้องถือว่าเป็นงานที่ท้าทายยิ่ง เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่ในวงการวรรณกรรมและภาพยนตร์ว่า การนำ "พระ" มาเป็นตัวเอกในนิยาย และภาพยนตร์นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โอกาสที่จะล้มเหลวมีมากกว่าความสำเร็จด้วยซ้ำ
ใน Little Buddha นี้ เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าถูกเล่าแทรกผ่านบางช่วงเวลาของพล็อตหลัก ที่เริ่มต้นจากการตามหาลามะดอร์เจของศิษย์ที่ชื่อ ลามะ นอร์บู ที่เชื่อว่าท่านลามะดอร์เจจะกลับชาติมาเกิดใหม่ ตามความเชื่อของศาสนาพุทธนิกายธิเบต (วัชรยาน)


เด็กชายชาวอเมริกันอายุเพียง 9 ขวบ ที่ชื่อเจสซี ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นร่างเกิดใหม่ของท่านลามะดอร์เจ อันเนื่องมาจากนิมิตที่ศิษย์คนหนึ่งของท่านเคยฝันเห็นสถานที่ที่ท่านลามะดอร์เจมาชี้ และกลายมาเป็นบ้านของเจสซีในปัจจุบัน
พ่อแม่ของเจสซีเป็น ชนชั้นกลาง ฐานะค่อนข้างดี แต่กำลังประสบปัญหาอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจฟองสบู่ เพราะหุ้นส่วนของบิดาเจสซีที่สร้างตึกสูงออกมาแล้วขายไม่ได้ กำลังตกอยู่ในภาวะล้มละลาย ก็เลยพลอยกระเทือนมาถึงฐานะของครอบครัวนี้ด้วย การเผชิญกับความไม่จีรังและปัญหาชีวิตครั้งใหญ่ทำให้บิดาของเจสซีเริ่มครุ่นคิดอย่างจริงจัง เกี่ยวกับความหมายของชีวิตที่แท้จริง เขาจึงตัดสินใจพาเจสซีเดินทางไปภูฐาน พร้อมกับลามะนอร์บูเพื่อพิสูจน์ตัวตนใหม่ของลามะดอร์เจ และเพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตและค่านิยมแบบอื่น ที่ไม่ใช่แบบวัตถุนิยมที่เขาเคยรู้จัก


ผมคิดว่า แบร์โตลุชชี่ใช้การเล่าเรื่องแบบ "ร่วมสมัย" (สำหรับคนตะวันตก) โดยผ่านครอบครัวเจสซี เพื่อสร้างความรู้สึกร่วมให้เกิดขึ้นในหมู่ผู้ชมโดยพยายามสอดแทรก ความลึกล้ำของพุทธศาสนาเข้าไปในบทเจรจาของลามะนอร์บู พร้อมกับใช้เทคนิคแบบ "แฟนตาซี" เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจในฉาก ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเจ้าชายสิทธัตถะ มาทำให้หนังโดดเด่นขึ้นมีสีสันยิ่งขึ้น ซึ่งเขาก็ทำได้ดีพอประมาณ แต่ผมก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า เขาน่าจะทำได้ดีกว่านี้


ผมเคยได้อ่านงานวรรณกรรมชิ้นเอกที่ชาวต่างประเทศใช้ "พระพุทธเจ้า" เป็นตัวประกอบที่สำคัญตัวหนึ่งในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "กามนิต" หรือ เรื่อง "สิทธารัตถะ" แล้ว ผมต้องยอมรับจริงๆ ว่า "บท" ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในนิยายทั้งสองเรื่องมีพลังและกินใจผลเหลือเกิน จนผมเกิดความเข้าใจว่า การที่นักเขียนและนักสร้างภาพยนตร์คนหนึ่ง จะเอา "พระพุทธเจ้า" มาเป็นคาแรกเตอร์ที่สำคัญตัวหนึ่งในผลงานของเขานั้น คนผู้นั้นจะต้องมี "แรงผลักดัน" ที่รุนแรงอะไรบางอย่างอยู่ในใจอย่างแน่นอน
แล้วอะไรเล่า คือ "แรงผลักดัน" ภายในของตัวแบร์โตลุชชี่ ที่ทำให้เขาสร้าง Little Buddha ออกมา?


ปัจจุบันแบร์โตลุชชี่อายุ 53 ปี แล้ว แบร์โตลุชชี่คนนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้กำกับที่ขอบเปิดเผยตัวเองมากที่สุดในเรื่องการเมือง จิตวิทยา และความหลงใหลในเซ็กส์ของเขา ดังที่เขาเคยสร้างเรื่อง Last Tango In Paris อันอื้อฉาว ตอนที่เขาอายุ 31 ปี ออกมา
เงื่อนปมทางจิตใจของแบร์โตลุชชี่ ตั้งแต่เด็กคือการต่อต้านบิดา และพยายามที่จะเป็นอิสระจากเงาของบิดาผู้ยิ่งใหญ่เหลือเกินในจิตใจของเขา เพราะฉะนั้นแบร์โตลุชชี่จึงพยายามทำให้บิดาของเขาดูน่ากลัวน้อยลงด้วยการ "ทำให้มีแต่บทพ่อที่ดูอ่อนแอในหนังของผม" แม้แต่ในภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha นี้ แบร์งโตลุชชี่ก็ยังเสนอภาพของพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะออกมาในโทนนี้เลย ด้วยการให้เจ้าชายสิทธิธัตถะตรัสถามพระราชบิดาว่า "พระบิดา เหตุไฉนพระองค์จึงทรงปิดบังความจริงจากข้า" ก่อนที่เจ้าชายสิทธัตถะจะตัดสินพระทัยหนีออกจากพระราชวังเพื่อไปออกบวช


ผมคิดว่า แบร์โตลุชชี่แลเห็นตัวเอง และปลดเปลื้องชำระอารมณ์ที่ติดค้าง ของตนเองในจุดนี้กับหนังเรื่องนี้ของเขา เหมือนกับที่เขาได้เคยทำกับหนังเรื่องอื่น ๆ ของเขาทุกเรื่อง การที่ตัวเขาทำบทภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาให้ดำเนินเรื่อง โดยพระลามะ ก็มาจากประสบการณ์โดยตรงของเขาในปี ค.ศ. 1982 ขณะที่เขาพำนักอยู่ที่เมืองลอสแอนเจลิส และได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีทำสมาธิแบบธิเบตจากลามะรูปหนึ่ง ถึงแม้เขาจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ แต่เขาก็สามารถ "ค้นพบตัวเอง" ได้ จากการที่เขาได้มีโอกาสใกล้ชิดสัมพันธ์กับลามะชรารูปนั้น ทำให้เขาตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงที่ควรจะเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา เพราะนี่คือ ความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์


"ประสบการณ์ทางจิตใจ" แม้อาจจะดูผิวเผินจากสายตาของชาวตะวันออกของแบร์โตลุชชี่ในครั้งนั้น แทบกลายเป็น Message ทั้งหมดของภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha นี้เลยก็ว่าได้ ผมคิดว่า "ประสบการณ์ทางจิตใจ" ของแบร์โตลุชชี่นี้เทียบไม่ได้เลยทั้งในแง่ความลึก ความจริงจัง และการเข้าถึง เมื่อเทียบกับงานเขียนของ "สิทธารัตถะ" ของเฮสเส ผู้เป็นนักเขียนระดับรางวัลโนเบล


ก็อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วยังไงครับว่า การพูดถึง "พระพุทธเจ้า" ของ คนๆ หนึ่งนั้นย่อมสะท้อนความเป็นตัวตนของคนๆ นั้น และความเข้าใจที่คนๆ นั้นมีต่อโลกและชีวิตออกมาอย่างดีที่สุด เพราะการศึกษา "พระพุทธเจ้า" นั้น แท้จริงแล้วก็คือการศึกษา "ตัวเอง" ของบุคคลนั้น และเป็นการศึกษาเพื่อสลาย "ตัวตน" (อัตตาเล็ก) ของบุคคลผู้นั้นด้วย
พวกคุณพร้อมที่จะมาศึกษา "พระพุทธเจ้า" เพื่อประโยชน์ของตัวคุณเองกันหรือยังครับ?


ผมในฐานะที่เป็นนักคิดนักเขียนคนหนึ่ง ผมขอยอมรับว่า ความสนใจที่เป็นหลักใหญ่ที่สำคัญที่สุดในชีวิตของผมตลอดช่วง 20 ปีมานี้ และคงเป็นความสนใจของผมไปจนตลอดชั่วชีวิตนี้คือ การดิ้นรน แสวงหา เสรีภาพแห่งการปลดปล่อยจากตัวเอง สิ่งนี้แหละคือ ปมประเด็นที่เกาะกุมหัวใจของผมมาโดยตลอด และเป็นแรงผลักดันให้ผมเข้าสู่ศิลปะการต่อสู้ งานค้นคว้าทางวิชาการ การศึกษาศาสนาพุทธ งานเขียนหนังสือ และกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในบางขณะ ไม่แต่เท่านั้น ตัวละครในงานเขียนของผมอย่าง สันติชาติ อโศกาลัย ในเรื่อง "ความรักกับจอมยุทธ์" หรือแม้แต่งานเขียนชิ้นล่าสุดของผม เรื่อง "มูซาชิ" ที่กำลังจะถูกนำมาตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งในเดือนสิงหาคมหน้านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลดิ้นรนแสวงหา เสรีภาพแห่งการปลดปล่อย และเป็นอิสระจากตัวเองทั้งสิ้น และแม้แต่ตัวละครที่ผมจะเขียนถึงในอนาคตก็จะต้องเป็นบุคคลประเภทนี้เท่านั้น


การดิ้นรน แสวงหาเสรีภาพแห่งการปลดปล่อย และเป็นอิสระจากอัตตาของตัวเอง นัยหนึ่งก็คือการ แสวงหาความสามารถในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง นั่นเอง และเจ้าชายสิทธัตถะ คือบุคคลที่เคยมีอยู่จริง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดเป็นผลสำเร็จ จนสามารถกลายจากมนุษย์ปุถุชนธรรมดา มาเป็น "พระพุทธเจ้า" ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จนจิตของท่านมีอำนาจเหนือภพเหนือโลกนี้อย่างสิ้นเชิง โดยที่ท่านเป็นผู้ทำสำเร็จเป็นคนแรก แล้วสั่งสอนเทศนาให้ผู้อื่นทำตามบ้างตลอดช่วงเวลาสองพันกว่าปีที่ผ่านมานี้ เพราะท่านทำได้เช่นนี้แหละ ท่านจึงกลายมาเป็น "บรมคน" และ "บรมครู" ของชาวโลกทุกยุคทุกสมัย


การกราบไหว้อ้อนวอนขอพรจาก "ท่าน" ด้วยมุ่งหวังให้ "ท่าน" ช่วยในเชิงไสยศาสตร์ โดยที่ไม่เคยคิดพากเพียรที่จะช่วยตัวเอง โดยเฉพาะพึ่งตนเองในการปลดปล่อยตัวเองจากตัวเองเลยของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันก็คือ การปฏิเสธโดยตรงที่จะศึกษา "ท่าน" และเจริญรอยตาม "ท่าน" นั่นเอง
"พระพุทธเจ้า" หาใช่สิ่งล้าสมัยของคนแก่คนชรา แต่คือ "คู่สนทนา" ที่สูงส่งสุดยอดที่สุดท่านหนึ่ง สำหรับมนุษย์ปัจจุบันที่สามารถนำความสุขความสงบที่แท้จริงมาให้แก่คนผู้นั้นและสังคมนั้นๆ ได้ ขอเพียงแต่มีสติ วิริยะ ศรัทธา ปัญญา และสมาธิเท่านั้น



ตามรอยพระพุทธเจ้า



ชีวิตคือ ความสัมพันธ์ระหว่าง "กาย" กับ "ใจ" หรือ "รูป" กับ "นาม" สิ่งนี้คือ ปัญหาพื้นฐานที่สุดในทางปรัชญา
และก็เป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดในทางศาสนาด้วย ทั้งนี้เพราะในสายตาชาวตะวันออกแล้ว ปรัชญากับศาสนาก็คือสิ่งเดียวกันนั่นเอง ศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติ (ธรรม) ปรัชญาที่ไม่มีพื้นฐานของการปฏิบัติธรรมทางศาสนา คือ การเล่นตรรกะเหตุผล และเป็นเกมทางภาษาชนิดหนึ่งเท่านั้น


กายกับใจ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?


ถ้าหากผู้ใดก็ตาม ยังไม่มีคำตอบที่แจ่มชัดต่อปัญหาพื้นฐานข้อนี้ ผู้นั้นจะไม่มีทางที่จะมี "วิถีแห่งชีวิต" ของตนเองอย่างเปี่ยมไปด้วยสติและปัญญาไปได้เป็นอันขาด ต่อให้คนผู้นั้นร่ำรวยมั่งคั่งปานใด ต่อให้คนผู้นั้นมีอำนาจใหญ่โตคับฟ้าปานใดก็ตาม ตราบใดที่เขาไม่มีทัศนะคติที่ถูกต้อง (สัมมาทิฐิ) ต่อปัญหากายกับใจแล้ว ในทางพุทธศาสนาจะถือว่าบุคคลผู้นั้นจะไม่มีวันสามารถยกระดับภูมิ ระดับภาพของตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐยิ่งขึ้นไปได้เลยแม้เพียงเล็กน้อย บุคคลนั้นจะมีชีวิตวนเวียนซ้ำๆ ซากๆ อยู่กับ "โลก" อยู่กับ "ภพ" ในระดับนั้นอยู่นั่นเอง
พวกคุณไม่เชื่อหรือ?


บิดาของเจสซีที่เป็นฝรั่งในภาพยนตร์ Little Buddha ของแบร์โตลุชชี่ เขาก็ไม่เชื่อเช่นเดียวกับพวกคุณนั่นแหละ ท่านลมะนอร์บูจึงสาธิตและอธิบายให้ดูเป็นเชิงเปรียบเทียบ ด้วยการหยิบถ้วยชาที่บรรจุน้ำชาเต็มถ้วยเขวี้ยงลงกับพื้นให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ ฉากนี้เป็นฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่ง ของภาพยนตร์เรื่องนี้ในทัศนะของผม


"น้ำขาอยู่ในถ้วยชา ถ้าถ้วยชาคือกาย และน้ำชาคือใจ
เมื่อถ้วยชาแตกเป็นเสี่ยงๆ แล้ว น้ำชาจะสูญหายไปไหม พ่อหนุ่ม?


"ไม่ครับ"


ลามะนอร์บูเอาผ้าขี้ริ้วออกมาซับน้ำชาที่เปียกอยู่บนพื้น แล้วคั้นน้ำชาออกมาจากผ้าขี้ริ้ว


"ตอนนี้น้ำชาย้ายที่อยู่จากถ้วยชาใบงาม มาอยู่กับผ้าขี้ริ้วผืนนี้แล้ว เธอยังกล้าที่จะดื่มชานี้อีกไหม พ่อหนุ่ม"
ชายหนุ่มได้แต่อึ้ง เงียบงัน ตกอยู่ในห้วงแห่งความคิด
ผ้าขี้ริ้วคือ "ภพ" ที่ต่ำลงสำหรับน้ำชา เมื่อเปรียบเทียบกับถ้วยชากระมัง? แต่ถ้าหากเรารินน้ำชาจากถ้วยใบหนึ่งไปใส่ถ้วยชาอีกใบหนึ่งที่อาจมีรูปโฉมภายนอกหรือใช้วัสดุที่ดีกว่าหรือไม่ดีเท่าเล่า "ภพ" ของน้ำชาจะเป็นอย่างไร?
หรือถ้าหากน้ำชาระเหยกลายเป็นไอลอยไปบนอากาศ โดยไม่ยอมกลับมาเป็นน้ำชาที่ต้องอาศัยภาชนะรองรับอีก จะกล่าวได้ไหมว่าน้ำชาที่ระเหยไปนั้นคือ


การกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของ ใจจักรวาล หรือ พระจิตของเอกภพ?



ถ้าหาก "กาย" เป็นเพียงแค่ภาชนะที่ห่อหุ้ม "ใจ" ซึ่งจะต้องถูกแทนที่ไปโดยภาชนะอันอื่นไม่ช้าก็เร็ว ดุจการเปลี่ยนเสื้อผ้าอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้แล้ว อะไรเล่าที่เป็นตัวกำหนด ความเปลี่ยนแปลงของ "โจ" อีกทีหนึ่ง?


"กรรม" กับ "วัฏสงสาร" คือความคิดความเชื่อตั้งแต่โบราณกาลของอินเดียที่อธิบายถึงเรื่องเหล่านี้ และเป็นความคิดความเชื่อที่มีอายุเก่าแก่กว่าศาสนาพุทธเป็นอย่างมากเสียอีก หรืออาจจะกล่าวได้ว่า "เจ้าชายสิทธัตถะ" ได้ทรงเติบขึ้นมาท่ามกลางความคิดความเชื่อเหล่านี้ และแม้ได้กลายมาเป็น "พระพุทธเจ้า" แล้ว ก็ยังทรงชี้ "ทางออก" จากทุกข์ให้แก่มนุษยชาติภายใต้กรอบ ความคิดความเชื่อเหล่านี้


"กรรม" คือ แรงผลักดันภายในที่ทำให้เกิด วัฏสงสาร


ส่วน "วัฏสงสาร" คือ การหมุนเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกของ "ใจ" (จิตวิญญาณ)
ที่มีเอกลักษณะหนึ่งๆ ซึ่งต่อมา "ใจ" อันนี้ถูกนักคิดอินเดียโบราณเรียกว่า "อาตมัน" โดยถือว่า "อาตมัน" (ใจ) ของมนุษย์คือส่วนหนึ่งของพระจิตที่แตกตัวออกมาจากพระพรหมผู้สร้างโลกสร้างจักรวาล การ "หลุดพ้น" ในทัศนะของนักคิดอินเดียโบราณคือ การสลัดความยึดติดต่อสิ่งทั้งปวงของอาตมัน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายร่างนี้ รวมทั้ง ลาภ ยศ สรรเสริญทั้งปวงในโลกนี้ เพื่อกลับคืนสู่พระพรหมและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่าน


ในสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะยังทรงบำเพ็ญทุกขกิริยา เพื่อแสวงหาการตรัสรู้อยู่นั้น ผมคิดว่า ความคิดและปรัชญาเพื่อการหลุดพ้นของอาตมันดังกล่าวข้างต้น ยังคงเป็นกระแสหลักครอบงำผู้ปฏิบัติธรรม และผู้แสวงหาธรรมทั้งหลายอยู่ในสมัยนั้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เจ้าชายสิทธัตถะคงไม่ต้องเสียเวลาถึงหกปีเพื่อฝึกโยคะ บำเพ็ญทุกขกิริยาทุกรูปแบบอยู่หรอก


ครั้นเมื่อ พระองค์ตระหนักถึง ข้อเท็จจริงที่ว่า ลำพังแค่การบำเพ็ญทุกขกิริยาอย่างเดียวเท่านั้น แม้จะสามารถบรรลุสภาวะจิตขั้นสูงจำพวก "ฌาน" ได้แล้ว ก็ยังหาเพียงพอที่จะทำให้พระองค์ "ตรัสรู้" ได้ไม่ เจ้าชายสิทธัตถะจึงละทิ้ง "กระบวนทัศน์เก่า" (Old Paradigm) แห่งการปฏิบัติธรรมทิ้งไปเสีย ทรงละทิ้ง "หลักการไ และ "ขั้นตอน" เดิมๆ ทุกอย่าง แล้วตัดสินใจก้าวเดินบน "กระบวนทัศน์ใหม่" อย่างกล้าหาญโดยยอมถูกเข้าใจผิดจากปัญจวัคคีย์ ที่คิดว่าทรงเลิกล้มการแสวงหาการตรัสรู้แล้ว
บนเส้นทางแห่งการ "เปลี่ยนกระบวนทัศน์" (Paradigm Shift) ของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ ได้นำพระสงค์มาสู่ "ข้อสรุปใหม่" และ "หลักการใหม่" เพื่อความหลุดพ้นว่า


"อาตมัน" ในความหมายที่เข้าใจกันมาแต่เดิมๆ ตั้งแต่โบราณกาลนั้น ไม่น่าจะถูกต้อง !!
นั่นคือ "ใจ" เป็นเพียงที่ชุมนุมของเหล่านามขันธ์อันได้แก่ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เท่านั้น เมื่อรวบกับ รูปขันธ์ (กาย) แล้วจึงกลายเป็น "ชีวิต" ขึ้นมาต่างหาก เพราะฉะนั้น "ใจ" จึงเป็นความสัมพันธ์ ที่ขึ้นต่อปัจจัยอื่น ๆ จำนวนมากมาย และซับซ้อนยิ่งเท่านั้น
"เอกลักษณ์" ของคนๆ หนึ่ง หรือความเป็น "อัตตา" ของคน ๆ หนึ่งที่เข้าใจว่ามีกินอยู่ในแต่ละคนนั้น ความจริงแล้ว คือ Pattern ของ "ข่าวสาร" (ดีเอ็นเอและอื่น ๆ) ที่แตกต่างกันไปภายใต้ความสัมพันธ์แห่งปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องมากมายและซับซ้อนยิ่ง จนยากแก่การรับรู้โดยสติปัญญาระดับธรรมดาของสามัญชนเท่านั้น


"พระพุทธเจ้า" ทรงเรียกความสัมพันธ์ที่ขึ้นต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่ร้อยรัดสรรพสิ่งเข้าด้วยกัน โดยห่วงโซ่ที่ไม่มีที่สิ้นสุดนี้ว่า (หลัก) "ปฏิจจสมุปบาท" และทรงอธิบายว่า
สรรพสิ่ง (ซึ่งรวมชีวิตของมนุษย์ด้วย) ย่อมเกิดขึ้น
สรรพสิ่ง ย่อมดับสูญไป
สรรพสิ่ง ดำรงอยู่อย่างสัมพัทธ์ ภายใต้กรอบแห่งกาลเวลาและสถานที่เท่านั้น
สรรพสิ่งจึงเป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนแห่งรูปลักษณ์ หรือสัญลักษณ์ของความเป็นจริงที่อยู่เหนือประสาทสัมผัสของมนุษย์ ที่รับรู้ได้ภายในขอบเขตที่ถูกจำกัดด้วยประสาทที่สัมผัสได้ หรือคิดได้ของมนุษย์ คือ รับรู้ได้โดย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือ อายตนะทั้ง 6 ของมนุษย์เท่านั้น


จาก "การรู้แจ้ง" อันนี้ พระพุทธเจ้าจึงเสนอแนวคิดของ "อนิจจัง" (ความไม่จีรัง) และ "อนัตตา" (ความไม่มีตัวตน) ออกมาเป็นมโนทัศน์หลักในคำสอนของท่านแทนความเชื่อแบบเก่าในเรื่อง อาตมัน
ช้าก่อน !! อาจมีพวกเราบางคนกล่าวแย้งขึ้นมา
ถ้าหากพระพุทธเจ้า ทรงยืนยันว่า "อาตมัน" ไม่มีจริง นั่นก็หมายความว่า "วัฏสงสาร" ก็ย่อมไม่มีจริงด้วยสิ และถ้าหากวัฏสงสารไม่มีจริงๆ แล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ไม่น่าจะถูกต้องด้วยเช่นกัน จริงมั๊ย?
เดี๋ยวก่อน อย่าเพิ่งด่วนสรุปเช่นนั้นซิครับ


ที่ผมกล่าวมาเมื่อครู่นั้น ผมเพียงแต่ต้องการจะบอกว่า พระพุทธเจ้าไม่เคยพูดอีกเลยหลังจากทรงตรัสรู้แล้วว่า มีอาตมันอยู่ในร่างกายมนุษย์และทรงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการถกเถียงโต้แย้งในหมู่นักคิดว่า อาตมันมีจริงหรือไม่เพราะทรงเห็นว่า การถกเถียงในเชิงอภิปรัชญาเช่นนี้หามีความหมายต่อการหลุดพ้นเลยแม้แต่น้อย


กล่าวคือ ผมต้องการจะชี้แต่เพียงว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ ทรงเปลี่ยนวิถีคิดเกี่ยวกับอาตมันตามแบบที่เข้าใจกันมาแต่เดิมแต่งโบราณเท่านั้น แล้วเสนอ วิธีคิดใหม่เกี่ยวกับอาตมันแทนนั่นคือ "อนัตตา" (ความไม่มีตัวตน) แต่ "อนัตตา" ในที่นี้มิใช่หมายความว่า ไม่มีอาตมันดำรงอยู่ เพียงแต่มนุษย์ไม่อาจค้นพบ "อาตมัน (ที่แท้จริง)" ในสภาพที่ยังมีอัตตาหรือตัวตนอยู่เท่านั้น ฟังให้ดีนะครับ "พระพุทธเจ้า" ท่านไม่เคยพูดเลยนะครับว่า มีอาตมัน (ที่แท้จริง) หรือไม่ แต่ท่าน "ละ" ท่าน "ข้าม" ข้อถกเถียงอันนี้ไปโดยชักจูงให้สานุศิษย์ของท่านหันมาสนใจปัญหาว่า จะละความยึดติด ความจดจ่ออยู่กับเรื่องอาตมันได้อย่างไร แทน โดยให้ "พิจารณา (วิปัสสนา)" ปัญหานี้ท่ามกลางความสัมพันธ์แบบปฏิจจสมุปบาท หรือความเป็นปัจจัยขึ้นต่อกันและกันของสรรพสิ่งในโลกนี้


เพราะการยึดติดอยู่กับเรื่อง "อาตมัน" ว่าดำรงอยู่ภายในตัวมนุษย์ คือความพยายามหา "ความแน่นอน" ท่ามกลางความไม่แน่นอนในโลกนี้ ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนึ่งนั่นเอง


"พระพุทธเจ้า" ท่านจึงบอกว่า มนุษย์ปุถุชนธรรมดาค้นหาอาตมันไม่เจอหรอก (สังเกตให้ดีนะครับ ท่านไม่ได้บอกว่า อาตมันไม่มี) และท่านยังบอกอีกว่า สิ่งที่มนุษย์ผู้แสวงหาความหลุดพ้นจะค้นพบก็คือ สัจธรรมที่ว่าองค์ประกอบทั้งปวงที่ประกอบขึ้นมาเป็นชีวิตของมนุษย์นั้นคือทุกข์ทั้งสิ้น
เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์ยอมรับในเรื่อง อนิจจังทุกขัง และอนัตตา เมื่อนั้น มนุษย์จะถูกปลดปล่อยจากความคิดอหังการที่เชื่อว่าตัวเองคือ ผู้ปกครองและผู้พิชิตธรรมชาติ ตัวเองคือ สัตว์ประเสริฐที่เหนือกว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิด และหันมายอมรับความคิดใหม่ที่เห็นทุกสิ่งในโลกนี้ คือเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมโลก ทำให้สามารถเข้าถึง ความรัก ความเมตตา ความกรุณา ในระดับที่เป็นปัญหาขั้นสูงสุดด้วย


พระพุทธเจ้าท่านยังทรงสั่งสอนพวกเราอีกว่า

เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์สามารถตัดความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลาย
จนสามารถดับกิเลสตัณหาไปได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว มนุษย์จะสามารถบรรลุ "นิพพาน" ได้


แต่ผู้ใดกันเล่าในตัวมนุษย์ที่จะนำมนุษย์ผู้นั้นให้ไปถึงถึง "นิพพาน"?
มิใช่ "ใจ" ของมนุษย์ดอกหรือ มิใช่ "ตัวตน" ของมนุษย์ดอกหรือ ?

ใครกันแน่ที่จะเป็น ผู้ตรัสรู้ในตัวเรา? ถ้าหากโลกนี้เป็น "อนัตตา" คือ ไม่มีตัวตนจริง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
ผู้ใดที่ตอบปัญหาหรือปริศนาอันนี้ได้ ผู้นั้นก็จะพบคำตอบในเรื่องอาตมัน

แน่นอนว่า พระพุทธเจ้าท่านย่อมรู้คำตอบในเรื่องอาตมันนี้อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่ท่านถ่ายทอดออกมาให้พวกเรารับรู้นั้นเป็นเพียง ใบไม้กำมือเดียว ท่ามกลางใบไม้ของทั้งป่าเท่านั้นเอง

พวกท่านละครับ ท่านมีคำตอบที่แจ่มชัดสำหรับตัวท่านเองเกี่ยวกับปัญหากายกับใจมีความสัมพันธ์กันอย่างไร หรือยังครับ? สำหรับท่านที่มีความเชื่อว่า ชีวิตนี้มีหนเดียว ตายไปแล้วก็ดับสูญและไม่เชื่อในวัฏสงสาร ก็ขอให้ท่านเตรียมดื่มน้ำชาจากผ้าขี้ริ้วก็แล้วกันนะครับ



 

การกลายเป็น "พระพุทธเจ้า"


สำหรับท่านที่ได้ดู Little Buddha มาแล้ว ท่านไม่รู้สึกแปลกใจหรือครับว่าในการฝึกฝนตนเองเพื่อตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะนั้นในช่วงแรกที่ฝึกถึงหกปี แล้วไม่ได้ผลก็เป็นการฝึก "นั่ง" เหมือนกับในช่วงที่กำลัง "ตรัสรู้" การนั่งของคนๆ เดียวกันมีผลต่างกันมากถึงขนาดนี้เชียวหรือ? ความต่างของการ "นั่ง" ในช่วงไม่ได้ตรัสรู้กับในช่วงที่กำลังจะตรัสรู้ของเจ้าชายสิทธัตถะ ในภาพยนตร์เรื่องนี้แบร์โตลุชชี่นั้นอยู่ที่ใด?
ท่านั่งของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่งูจงอางยักษ์ จะเลื้อยเข้ามาแผ่แม่เบี้ยบังฝนให้นั้น เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงหลับตา และทำมือด้วยการใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือแตะเป็นวงกลมแบออกที่บริเวณหัวเข่า นี้คือท่าทำมือที่เรียกกันว่า "ขิณมุทรา" ของวิชาโยคะและแลเห็นได้อย่างค่อนข้างชัดเจนว่า เจ้าชายสิทธัตถะกำลังฝึกโยคะ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น


ในขณะที่ท่านั่งของเจ้าชายสิทธัตถะขณะที่กำลังจะตรัสรู้นั้น เจ้าชายสิทธัตถะทรง ลืมตา และทำมือด้วยการใช้มือขวาแตะเหนือมือซ้ายที่ซ้อนอยู่ข้างใต้โดยน้ำหัวแม่มือทั้งสองมือมาสัมผัสกัน สำหรับผู้ที่พอมีความรู้ทางเรื่องนี้อยู่บ้าง ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า นี่คือท่าฝึก "วิปัสสนา" แบบเซนนั่นเอง
ถ้าหากจะตีความว่า การฝึกแบบโยคะในช่วงแรกของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น เป็นการฝึกแบบ "สมถะ" จึงทำให้ไม่อาจตรัสรูได้ ในขณะที่การฝึกในช่วงที่กำลังจะตรัสรู้นั้นเป็นแบบ วิปัสสนา" จึงทำให้ตรัสรู้ได้ก็คงไม่ผิดกระมัง? แต่การด่วนสรุปเช่นนี้ ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมกับวิชาโยคะและการฝึกแบบสมถะน้อยไปสักหน่อย


เราไม่ควรลืมว่า โยคะเป็นศาสตร์โบราณของอินเดีย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าศาสนาพุทธมากมายนัก และโยคะก็เป็นศาสตร์ชนิดหนึ่งที่กล่าวถึงการมุ่งมานะฝึกฝนตนเองเพื่อบรรลุสภาวะสูงสุดที่มนุษย์ต้องการ วิชาโยคะนี้มิได้เป็นศาสนาโดยตัวของมันเอง แต่เมื่อศาสนาใดนำโยคะ ไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการปฏิบัติก็จะอธิบายโยคะในเชิงเป้าหมายสูงสุดของศาสนานั้น ๆ


หลักปฏิบัติเพื่อบรรลุขั้นสูงสุดของวิชาโยคะในคัมภีร์โยคสูตรนั้น มีอยู่แปดขั้นตอนด้วยกัน โดยเป้าหมายระดับสูงๆ ของวิชาโยคะคือ การได้มาซึ่งฌานสมาบัติและสมาธิ ไม่เป็นที่ต้องสงสัยเลยว่า ในช่วงเวลาหกปีที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงฝึกโยคะ หรือชาวไทยเรียกว่า บำเพ็ญทุกขกิริยา นั้นพระองค์ได้ทรงบรรลุขั้นสูงสุดของวิชาโยคะในระดับอรูปฌานไปแล้ว หรือเจ้าชายสิทธัตถะทรงพัฒนาศักยภาพของพระองค์มาจนถึงระดับ "มหาโยคี" องค์หนึ่ง ได้อย่างภาคภูมิแล้วก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้เป็น "สมเด็จพระอนุตรสัมสัมมาสัมพุทธเจ้า" นี่คือ ข้อเท็จจริงที่หลายคนยังไม่ตระหนักถึงความหมายความสำคัญของมันเท่าไหร่นัก


ถ้ามองจากสายตาของมหาโยคี ท่านอื่น ที่ได้เห็นการบรรลุเป็น "พระพุทธเจ้า" ของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยเฉพาะในสมัยยุคเดียวกัน ผมเชื่อว่าพวกเขาคงมองเจ้าชายสิทธัตถะในฐานะที่ทรงเป็น มหาโยคีองค์หนึ่งที่บรรลุวิชาโยคะจนสามารถสถาปนาหลักวิชาที่เป็นตัวของตัวเองเพื่อการบรรลุสภาวะสูงสุดของมนุษย์ในการหลุดพ้นได้
ลักษณะริเริ่มหรือแปลกใหม่ๆ (Originality) ในหลักวิชาเพื่อการกลายเป็น "พุทธะ" ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้หรือค้นพบได้ด้วยตัวเองนั้น จึงอยู่ที่การก้าวไปสู่ขั้นตอนของการบรรลุหรือขั้นตอนของการดับอาการของจิต ที่สูงยิ่งกว่าสูงเกินกว่าที่มหาโยคีองค์ใดก้าวก่อนหน้าพระองค์จะเคยไปถึงหรือเข้าใจว่ามีถึงขั้นนั้นที่สูงยิ่งกว่าขั้นอรูปฌาน ซึ่งในวิชาโยคะถือว่าเป็นขั้นสูงสุดแล้ว หาใช่อยู่ที่ขั้นตอนหรือหลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุความเป็น "พุทธะ" ไม่
เพราะหลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุเป็น "พุทธะ" อย่างเป็นขั้นตอน ดังที่ปรากฏไว้อย่างชัดเจนใน "คณกโมงคัลลานสูตร" ของพระไตรปิฏก ซึ่งได้แก่


(1) ปฏิบัติศีล (2) ปาติโมกสังวร (การรักษาวินัยของสงฆ์) (3) อินทรียสังวร (การคุ้มครองทวารทั้งหก) (4) รู้จักประมาณในโภชนะ (5) ฝึกความเป็น "ผู้ตื่น" ด้วยการฝึกนั่งฝึกเดินจงกรม และฝึกนอน (6) ฝึกสติสัมปชัญญะ (7) ฝึกให้จิตตัดนิวรณ์ทั้ง 5 และ (8) ฝึกฌาน นั้นอันที่จริงก็มีเป้าหมายเดียวกับ วิชาโยคะนั่นเอง


 

ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุได้ใช้พระบาลี 3 สูตร คือ พระบาลีฉวิโสธนสูตร พระบาลีมหาอัสสปุรสูตร และพระบาลีสามัญญผลสูตร ในพระไตรปิฏกมาเป็นมาตรฐานหลักในการสรุปว่าด้วยหลักการปฏิบัติเพื่อบรรลุความเป็น "พระอรหันต์" อย่างเป็นขั้นตอนได้ถึง 23 ขั้นตอน ในงานนิพนธ์ช่วยแสวงหาของท่านเรื่อง "ตามรอยพระอรหันต์" (พ.ศ. 2475) ซึ่งขณะนั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสเพิ่มมีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น ท่านอาจารย์พุทธทาสได้ราบรวมเรียบเรียงแนวทางขั้นตอนปฏิบัติธรรมนี้ สำหรับตัวท่านเอง แต่ได้สร้างอานิสงฆ์อย่างประมาณค่าไม่ได้ แก่เหล่ากุลบุตรรุ่นหลังที่มุ่งมั่นจะแสวงหา การบรรลุสภาวะสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์ ขั้นตอนทั้ง 23 ขั้นตอนเพื่อบรรลุความเป็น พระอรหันต์ หรือ "พุทธะ" ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้รวบรวมเรียบเรียงมามีดังต่อไปนี้ครับ


ขั้นที่หนึ่ง กุลบุตรได้ฟังธรรม แล้วเกิดศรัทธากับปัญญา
ขั้นที่สอง ละสมบัติ ออกบวช
ขั้นที่สาม ปาฏิโมกสังวร
ขั้นที่สี่ อินทรีย์สังวร
ขั้นที่ห้า การหาเลี้ยงชีพบริสุทธิ์
ขั้นที่หก พิจารณาปัจจัยสี่
ขั้นที่เจ็ด หิริ และโอตัปปะ
ขั้นที่แปด สันโดษ
ขั้นที่เก้า สติสัมปชัญญะ รู้ตัวรอบคอบทุกอริยาบถ
ขั้นที่สิบ ชาดริยานุโยค ไม่เห็นแก่นอน
ขั้นที่สิบเอ็ด ละนิวรณ์ทั้ง 5
ขั้นที่สิบสอง บรรลุ ปฐมฌาน (ฌานที่ 1)
ขั้นที่สิบสาม บรรลุ ทุติยฌาน (ฌานที่ 2)
ขั้นที่สิบสี่ บรรลุ ตติยฌาน (ฌานที่ 3)
ขั้นที่สิบห้า บรรลุ จตุตถฌาน (ฌานที่ 4)
ขั้นที่สิบหก ญานทัศนะ (ปัญญาเครื่องรู้เห็นสภาพแห่งร่างกาย)
ขั้นที่สิบเจ็ด มโนยอภินิมมนะ (นฤมิตรรูปทางใด)
ขั้นที่สิบแปด อิทธิวิธี (แสดงฤทธิ์ได้)
ขั้นที่สิบเก้า ทิพยโสต (หูทิพย์)
ขั้นที่ยี่สิบ เจโตปริยฌาน (รู้ใจผู้อื่นได้)
ขั้นที่ยี่สิบเอ็ด บุพเพนิวาสนุสสติญาณ (ระลึกชาติได้)
ขั้นที่ยี่สิบสอง จุตูปปาตญาน (ตาทิพย์)
ขั้นที่ยี่สิบสาม อาสวักขยญาน (เครื่องมือทำอาสวะให้สิ้นไป)


จากขั้นตอนทั้ง 23 ขั้นตอนที่ท่านอาจารย์พุทธทาสหยิบยกมานี้ผมก็ขอยืนยันตามเดิมว่า ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่งจนถึงขั้นที่ยี่สิบสองนั้น "มหาโยคี" ทุกองค์ที่ฝึกวาโยคะมาจนถึงขั้นสูงไม่ว่าจะอยู่นิกายใด หรือศาสนาใด สามารถฝึกถึงขั้นนี้ได้ทั้งสิ้น จะมีก็แต่ขั้นที่ยี่สิบสาม หรือขั้นสุดท้ายนี้เท่านั้นที่พระพุทธเจ้าทรงก้าวล้ำฝึกได้เป็นคนแรก จึงทำให้พระองค์กลายมาเป็นศาสดาของศาสนาพุทธได้


ถ้าการฝึกตั้งแต่ขั้นตอนที่หนึ่ง จนถึง ขั้นตอนที่สิบเอ็ด คือการตระเตรียมร่างกายและจิตใจให้สามารถมี "ฌาน" ได้ ขั้นตอนที่สิบสองจนถึงขั้นตอนที่สิบห้าก็คือ การฝึกเพื่อให้ได้ "ฌาน" ขั้นสูง


ส่วนขั้นตอนที่สิบหกจนถึงขั้นตอนที่ยี่สิบสองก็เป็นผลพวงที่ได้จากการมี "ฌาน" ขั้นสูงนั่นเอง เพราะฉะนั้นการฝึก "ฌาน" (หรือ "เซน" ในภาษาญี่ปุ่น) คือกุญแจดอกสำคัญของการฝึกตนเองเพื่อกลายเป็น "พระพุทธเจ้า" ในฐานะที่เป็น "เงื่อนไขจำเป็น" (แต่ยังไม่ใช่ "เงื่อนไขเพียงพอ") กระมัง?


ข้อสำคัญในการฝึก "ฌาน" นั้นน่าจะอยู่ที่การแยกแยะให้ละเอียดกระจ่างระหว่าง "ภวังค์" กับ "ฌาน" และ "หลับ" กับ "นิโรธ" เพราะสิ่งเหล่านี้มีความเป็นไปในลักษณะที่คล้ายกันมากโดยมีจุดแตกต่างตรง "อาการของจิต" เท่านั้น
สภาพ "ภวังค์" คือ สภาพจิตที่ไม่เปิดรับอะไรต่อะไร อย่างเต็มที่ตามสามัญของคนตื่นปกติ ไปจนถึงขั้นจิตไม่เปิดรับอะไรเลย ความเป็นภวังค์จึงยังมีกิเลส ตัณหา อุปทาน อยู่ครบครัน
ในขณะที่ สภาพ "ฌาน" ต้องไม่มีกิเลส หรือ นิวรณ์ 5 ในขณะนั้น โดยจะอยู่ในสภาพเป็นภวังค์ด้วยก็ได้ หรือไม่อยู่ในภวังค์ แต่อยู่ในสภาพปกติที่จิตเปิดทวารทั้ง 6 เป็นผู้ตื่นเต็ม มีสติเต็ม ก็นับว่าเป็น "ฌาน" ได้ ขอเพียงไม่มีกิเลสนิวรณ์ในจิตเท่านั้น
และฌานของพุทธะ คือ ฌานที่เกิดตามแบบสัมมาสมาธิ อันเป็นสภาพที่ผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะ และควบคุมใจตนอยู่พร้อมและสามารถทำใจตนในขณะนั้นให้ปราศจากนิวรณ์ 5 คือ กาม พยาบาท ถีนมิทธะ อุธัจจกุกกุจะ และ วิจิกิจฉาได้


ส่วนการหลับ คือ สภาวะ "ภวังค์" ชนิดหนึ่ง ซึ่งสภาวะจิตได้ตัดความรับรู้จากทวารทั้ง 5 ข้างนอกได้แล้ว แต่ทวารที่หก หรือทวารจิตยังทำงานปรุงแต่งของมันอยู่ จนเกิดเป็นความฝันยิ่งจิตมีกิเลส ตัณหามาก แม้กายหยุดพักในตอนนอนหลับ จิตกลับจะทำงานมากกว่าเดิมเสียอีก "ฝัน" คือการทำงานของจิตในการหลับเพราะไม่มี "สติ" ควบคุม และมีกิเลสร่วมอยู่ด้วย
การ "หลับ" จึงไม่ใช่ "ฌาน" แม้ผู้มี "ฌาน" จะหลับได้ดีได้ง่ายกว่าผู้ไม่มี "ฌาน" ก็ตามส่วน "นิโรธ" คือการ "ดับ" แห่งอาการของจิต หรือสภาวะสิ้นความรับรู้สิ้นความจำใดๆ ในขณะนั้น


นิโรธแบบโยคะหรือแบบฤษี ยังเป็นการฝึกการดับแห่งอาการของจิต โดยเป็นไปเองด้วยตัวของเราเองเป็นผู้บงการ แม้ทำได้ลึกได้นาน ได้เก่งปานใด แต่ก็ยังไม่มีปัญญาญานไปตามรู้สภาพจิต รู้กิเลส และรายละเอียดต่างๆ ของจิตของเจตสิก ของกิเลส แล้วฆ่ากิเลสได้ถูกสภาพ ถูกตัวถูกตน จนดับได้จริงๆ อย่างสิ้นเชิง ถ้าทำได้อย่างนี้เมื่อไหร่คือ สามารถฝึกฌานจนสามารถเข้าสู่นิโรธในระดับ "อาสวักขยญาณ" ได้แบบนี้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละ นิโรธแบบโยคะ หรือแบบฤษีก็จะเปลี่ยนคุณภาพครั้งใหญ่กลายเป็นนิโรธแบบพระพุทธเจ้า ในขั้นตอนท้ายสุดหรือขั้นตอนสูงสุดได้
ขั้นตอนการฝึก "อาสวักขยญาณ" ซึ่งเป็นการฝึกวิปัสสนาญานแบบพุทธ อันเป็นลักษณะริเริ่มสร้างสรรค์ ของพระพุทธเจ้านี้แหละ คือที่มาของการฝึกอานาปานสติ และการฝึกสัมโพชฌงค์ทั้ง 7 ในศาสนาพุทธซึ่งได้แก่ (1) สติสัมโพชฌงค์ (2) ธัมมวิจัยสัมโพชณงค์ (3) วิริยสัมโพชณงค์ (4) ปิติสัมโพชฌงค์ (5) ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ (6) สมาธิสัาโพชฌงค์ และ (7) อุเบกขาสัมโพชฌงค์


สิ่งนี้แหละที่เรียกกันว่า การก้าวเดิน 7 ก้าวด้วยสัมโพชฌงค์ 7 เพื่อไปสู่การเกิดของ "พุทธะ" ที่ไม่ใช่พุทธะที่เกิดทางร่างกาย เหมือนอย่างที่แลเห็นในภาพยนตร์เป็นดอกบัวเจ็ดดอก แต่หมายถึง การเกิดของ "พุทธะ" ในทางจิตวิญญาณที่เกิดจริง ๆ เป็นจริงๆ ตามที่ได้ฝึกฝนมา การฝึกอานาปานสติอย่างสมบูรณ์แบบอันเป็นใจกลางของการฝึกฌานแบบพุทธ และการฝึกสัมโพชณงค์ 7 กับการฝึกสติปัฏฐาน 4 นั้นคือ "ทาง" ของการเกิดการกลายเป็น "พุทธะ" อันเป็นธรรมะและเป็นที่พึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงถ่ายทอดไว้ให้แก่คนรุ่นหลังผู้ที่จะเจริญรอยตามท่านนั่นเอง




 

เป็นอย่าง "พระพุทธเจ้า" แล้วได้อะไร


ข้อเขียนชิ้นนี้ เป็นตอนสุดท้ายที่ผมจะเขียนถึง "พระพุทธเจ้า" ในภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha ของแบร์โตลุชชี่ที่เพิ่งลาโรงไป จะเป็นความสูญเสียอย่างน่าเสียดายยิ่ง ถ้าหากคนไทยไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ และครุ่นคิดถึงมันอย่างจริงจังว่า พวกเราจะได้อะไรถ้าหากเป็นอย่าง "พระพุทธเจ้า"? ในการตอบคำถามที่หลายคนไม่เคยคิด และไม่ยอมคิดทั้งๆ ที่อ้างตัวว่าเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างคำถามนี้


ผมขอยกคำตอบของท่านพุทธทาสภิกขุ ตั้งแต่เมื่อหกสิบกว่าปี ก่อนมาเป็นมาตรฐานเพื่อให้พวกเราคิดร่วมพิจารณากัน ณ ที่นี้อีกครั้ง ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ชีวิตแห่งความเป็น "พุทธะ" (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) อย่าง "พระพุทธเจ้า" นี้ นับว่าเป็นชิ้นเอกชิ้นเดียวที่อาจนำความสุขที่แท้จริงมาให้แก่โลกได้ เพราะเป็นการดำเนินชีวิต ใช้ชีวิตเพื่อให้จิตมีอำนาจเหนือโลกโดยที่โลกในความหมายของพระพุทธเจ้าทรงหมายถึง จุลจักรวาล (Micro-Cosmos) หรือโลกเล็กๆ ที่มีแค่กายกว้างศอก ยาววา หนาคืบ ที่เรียกว่าชีวิตของคนเรานี่เองคำว่า "จิตมีอำนาจเหนือโลก" ก็หมายความว่า สามารถใช้สติของเราเป็นตัวนำ เพื่อให้รู้แจ้งถึงความวน ความไม่เที่ยง ความเกิด ความดับ ความแปรเปลี่ยนของสรรพสิ่ง อันเป็น การเรียนโลกทั้งโลก เพื่อที่จะพบ ความเหนือโลก จากโลกเล็ก ๆ ภายในตัวเรานี่เอง


ขณะที่มนุษย์ (โฮโม-เซเปียนส์) ส่วนใหญ่มักสั่งสอนกันเองให้หมุนตัวเองตามอย่างวิสัยโลก (โลกานุวัตร) โดยที่พวกเขาไม่ทราบว่า ลำพังถ้าโลกหมุนตัวเองตามอย่างวิสัยโลกแล้ว ย่อมหมุนไปสู่ความหยุ่งเหยิง (Chaos ความไร้ระเบียบ) เพราะเป็นการหมุนไปตามอำนาจบันดาลของความอยากนานาชนิด ที่ไม่มีวันสิ้นสุดของมนุษย์นั่นเอง มนุษย์นี่แหละที่เป็นผู้ทำให้โลกหมุนไป และตัวเองก็แล่นติดตามไปด้วย กลายเป็นอาการหมุนแห่งกงล้อของสังสารวัฏอันมีพื้นฐานที่เป็นทุกข์


การใช้ชีวิตแห่งความเป็น "พุทธะ" ก็คือ การหักกงล้อให้หยุดหมุนเฉพาะตน ซึ่งถ้ามีมากคน บางทีอาจหักกงล้อของโลกได้ เมื่อนั้นโลกก็จะสงบ มนุษย์โฮโม-เซเปียนส์ จะไม่ต้องเหนื่อยหอบกับการหมุนติดตามโลกในยุค "Economics of Speed" ซึ่งหมุนไปด้วยอำนาจความอยาก (เช่นเศรษฐกิจฟองสบู่) มนุษย์ผู้ยังไม่มีเสรีภาพทางวิญญาณอย่างแท้จริง ไฉนเลยจะทำเช่นนั้นได้


"พุทธะ" คือ สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อมาชี้แนะเตือนสติพวกโฮโม-เซเปียวส์ให้ "ตาสว่าง" ทราบถึงเหตุผลที่จิตเราควรมีอำนาจเหนือโลก เหนือชีวิตของตัวเราเอง พุทธะจึงต้องทำหน้าที่เป็น "ครู" ซึ่งมีความหมายความสำคัญยิ่งกว่า พวกผู้ปกครอง นักบริหาร นักการเมืองมากมายนักพุทธะไม่มีเครื่องหมายนอกแสดงให้ครู เหมือนแถบ ดาว พัดยศ เรายากที่จะรู้จักพุทธะด้วยรูปร่างภายนอก
ในขณะที่คำสอนในโลกสมัยใหม่ (โดยเฉพาะวิชาเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์) เขาสอนกันให้กลบทุกข์หรือแก้ทุกข์ที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยไม่จำเป็นต้องรู้ว่าทุกข์นั้นเกิดจากอะไร แต่วิธีการของพุทธะนั้น กลับมุ่งให้คนเรารู้ จักทุกข์ เรียนรู้จากทุกข์ เพื่อรื้อรากของทุกข์นั้นมาทำลายให้หมดเชื้อโดยสิ้นเชิง


สำหรับมนุษย์ที่มุ่งความเจริญทางโลก (โลกียะ) "พุทธะ" สามารถเป็นตัวอย่างของความอดทน ความหนักแน่น ความพากเพียรพยายาม ความสัตย์ซื่อ กตัญญูกตเวที การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อตนและผู้อื่น การดับจิตไปด้วยความสุขสงบ ให้มนุษย์ทั่วไปเห็นว่า "ศักยภาพ" ของมนุษย์นั้นสามารถบรรลุคุณธรรมเหล่านี้ได้จริง ๆ โดยทำเป็นตัวอย่างให้ดู เพื่อพิสูจน์ว่า "นามธรรมที่ฝึกดีแล้วย่อมมีอำนาจเหนือ รูปธรรมทั้งปวง" คุณค่าใด ๆ ในโลกนี้ที่เป็นคุณค่าแห่งรูปธรรมทั้งหลายนั้น จะมีคุณค่าใดที่เสมอด้วยคุณค่าแห่งนามธรรมนั้นไม่มี และความสำเร็จทางโลกใด ๆ ไม่ว่าตำแหน่ง หน้าที่ การงาน ชื่อเสียง สมบัติของบุคคลใดก็ตาม เพียงมีความหมายแค่บุคคลนั้นมีคุณสมบัติที่จะก้าวเข้าสู่ "ปากทวาร" ของความเป็น "พุทธะ" เท่านั้น หาได้ยิ่งใหญ่กว่า หรือเป็น "ปลายทาง" ของความสำเร็จใด ๆ ในเชิงโลกุตระไม่


2. "พุทธะ" จึงเป็นเรื่องของ "ความตื่น" ตื่นจากความฝันมายาใด ๆ มีอยู่ฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Little Buddha ที่ผมชอบมาก คือ ฉากที่เจ้าชาย สิทธัตถะเป็นเพียง "ผู้ตื่น" เพียงคนเดียวในปราสาทที่ผู้คนทั้งหมดล้วนหลับใหล แต่การ "ตื่น" ของพระองค์กลับหมายถึง การเริ่มต้นเดิน "ทาง" บนเส้นทางอันยาวไกล การตื่นจึงเป็น "อภิสิทธิ์" อย่างหนึ่ง เพราะมีแต่ผู้ที่ตื่นแล้วเท่านั้นถึงจะสามารถเดินบน "ทาง" (มรรค) ได้ ไม่ว่าจะเดินได้ไกลหรือใกล้แค่ไหนก็ตาม ผู้ยังหลับอยู่ ยังอยู่ในมายาความฝัน จะเดินบน "ทาง" ได้อย่างไร?
ในความเป็นจริง ใช่หรือไม่ว่า คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ยังหลับอยู่ทั้ง ๆ ที่ลืมตาหรือยังฝันอยู่กับมายาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้หลับตา? มีสักกี่คนกันที่ตื่นอย่างแท้จริง และกำลังเดินบนทางอยู่


ลองเหลียวดูสังคมรอบ ๆ ตัวเราซิเห็นมั๊ยว่า "โรคอุปทานระบาด" (Toxi-copy) (นิตยสาร อาทิตย์, ฉบับวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2537) กำลังเกาะกุมสจิตใจผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้อยู่! ความคลั่งไคล้นางงามจักรวาล ซุปเปอร์สตาร์ พระรูปงามที่ได้รับการโปรโมทจากสื่อ ความเชื่องมงายในลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.5 วัตถุมงคล รวมไปถึงการคลั่งฟุตบอลโลก ปรากฏการณ์ทางสังคมที่นักจิตวิเคราะห์ เรียกว่า "โรคระบาดอุปทานหมู่" หรือ สังคมฮิสทีเรีย (Mas Histeris) นี้ มีพื้นฐานมาจาก การขาดความมั่นคงทางจิตใจ ความหวาดกลัวในความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากรัฐ จากวิถีชีวิตและจากวิถีทางธุรกิจ รวมไปถึงการดำรงชีวิตอยู่อย่างขาดสิ่งยึดเหนี่ยว กำลังบั่นทอน ทำลายบุคลิกภาพของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนี้เข้าไปถึงขั้นจิตวิญญาณ


ถ้าหากคนพวกนี้ที่กำลังเป็น "โรคอุปทานระบาด" อยู่นี้ ถามโพล่งขึ้นมาว่าเป็นอย่าง "พระพุทธเจ้า" แล้วได้อะไร? คำตอบก็น่าจะเป็นว่า ได้ความเป็นไทเป็นอิสระทางจิตวิญญาณ จากความกลัวนานับประการในการมีชีวิตอยู่นั่นเอง ปัญหาเรื่องนี้มิได้เป็นปัญหาของปัจเจกเท่านั้น แต่กลายเป็นปัญหาร่วมของสังคมนี้ไปแล้ว
"โรคระบาดอุปทานหมู่ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย แม้นว่ามันจะเป็นโรคทางทัศนคติ แต่มันก็เป็นเสมือนมะเร็งร้ายที่กำลังลุกลาม ขยายวงกว้างออกไปในแทบทุกวงการ มันทำให้สังคมไทยเดินไปบนมรรคาที่ปราศจากเหตุผล ทำให้สังคมแห่งพุทธศาสนาได้รับการมองด้วยความตระหนกว่า ความรุ่งเรืองของวัตถุอันเนื่องมาจากพุทธพาณิชย์นี้อาจจะทำให้พระพุทธศาสนาของสมเด็จพระสมณโคดมพุทธเจ้า อยู่ไม่ถึงห้าพันปีก็ได้ สังคมไทยจะแบกรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความล้าหลังทางวัฒนธรรมเช่นนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน


โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการวางพื้นฐานทางวัฒนธรรมและสังคมใหม่มารองรับ ในขณะที่ผู้มีอำนาจในสังคมไทย ก็ยังยินดีกับการสร้างวัฒนธรรม (น้ำเน่า) อย่างนี้และพึงพอใจกับการตักตวงผลประโยชน์จากอวิชชา ความคลั่งไคล้ และการทำให้หลงใหลของผู้คนในสังคมอยู่อีก"


3. ความสำเร็จใน "วิถี" ของคนเรานั้น ผมคิดว่ามีความสัมพันธ์กับ นิสัยใจคอของบคคลผู้นั้นเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ผู้ที่เชื่อมั่นและศรัทธาในวิถีแห่งความเป็น "พุทธะ" จะเข้าใจได้เองว่า พลังอันยิ่งใหญ่และสุดแสนพิศดารของ "ใจ" คนนั้น ยากที่จะคำนวณประมาณการให้ถูกต้องแม่นยำได้ ขอเพียงแต่ผู้นั้นมีความเชื่อมั่นเด็ดเดี่ยว พลังของ "ใจ" ก็จะดำเนินไปได้ในทุกเรื่องราว และบรรลุถึงได้ในทุกแห่งหนไม่ช้าก็เร็ว สิ่งที่พวกเจริญรอยตามวิถีแห่งความเป็น "พุทธะ" คร่ำเคร่งฝึกฝนทั้งวันทั้งคืน อย่างไม่ยอมหยุดยั้งนั้น ก็มิได้มุ่งฝึกฝนสิ่งใดอื่น นอกจากมุ่งฝึกปรือ "หัวใจ" ดวงนี้ของตนเองเท่านั้น


ฝึกปรือ หัวใจดวงนี้ของตนแล้วจะได้อะไร?
พวกเรามุ่งมั่นฝึกปรือหัวใจดวงนี้เพื่อให้ได้มาซึ่งสภาวะผ่อนคลาย สงบนิ่งทั้งร่างกายและจิตใจ และเพื่อสามารถเร่งเร้า พลังลี้ลับ ในชีวิตของตนให้สามารถเปล่งพลังออกมาให้หมดสิ้นได้ในยามต้องการด้วย
ควรรู้ว่า "พลังลี้ลับ" ของแต่ละคนมีอานุภาพเหนือล้ำกว่าพลังกายเสียอีก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกนี้ส่วนมากไม่เพียงไม่ทราบว่าจะใช้นั้นออกมาด้วยวิธีใดเท่านั้น แต่ยังกลับไปกดรั้งมันเอาไว้เสียอีก


ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงบอกว่า

พระพุทธศาสตร์ชั้นสูงมิได้มีไว้สำหรับหลอกคนเล่น หลักในพุทธศาสนาสอนให้คนเราคิดจนเห็นจริงด้วยตัวเองเสียก่อน แล้วจึงเชื่อ และสอนให้เก็บเกี่ยวผลอันเกิดจากการกระทำของตนเอง ซึ่งเป็นการกระทำที่สุจริตถูกต้องต่อภาวะของตน ไม่ใช่รอคอยรับผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือผู้วิเศษคนใดเพราะฉะนั้นคำสอนในพุทธศาสนาทุกคำจึงมีบทพิสูจน์กำกับอยู่ด้วยภายในตัว เพื่อให้ผู้นั้นเห็นได้เอง แล้วเต็มใจทำตามด้วยตนเอง ทำไปตามลำดับแล้วก็จะได้รับผลแห่งความดีนั้นโดยลำดับ

ถึงที่สุดแห่งความดีเมื่อไหร่ ก็เป็น "พุทธะ" พุทธะจึงเป็นคนหนึ่งในจำพวก "คนดี" ที่สุดของโลก หรือเป็น "คนธรรมดา" คนหนึ่งในโลกอริยบุคคล "พุทธะ" จึงเป็นเรื่องของความเพียรที่คนผู้นั้นจะต้องไปกระทำเอง รู้เองด้วยประสบการณ์โดยตรงของตัวเขาเอง

"พระพุทธเจ้า" ทรงเป็นเพียงผู้ชี้ทางให้เท่านั้น

ถ้าจะถามว่า เป็นอย่าง "พระพุทธเจ้า" แล้วได้อะไร?
ก็จะขอตอบว่า ให้ลองทำเอง เดินบน "ทาง" ด้วยตนเอง แล้วก็จะรู้เองว่าได้อะไร



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้