แนวทางการเสริมสร้างสุขภาพอย่างบูรณาการ
เพื่อการชะลอวัยและการมีอายุยืนถึงร้อยปี หรือกว่านั้น (24)
(4/9/2555)
*ความสำคัญของการฝึก “กายทิพย์” ในโมเดล “โยคะ” ของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ*
ในโมเดล “โยคะ” ของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการนั้น นอกจากจะให้ความสนใจในการฝึกร่างกายเพื่อให้จักระต่างๆ หมุนด้วยอัตราความเร็วสูงแล้ว ยังมองจากมุมมองของ “พลังงาน” อีกด้วยว่า โครงสร้างแห่งร่างกายของคนเรานี้สามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วน คือ “กายนอก” (กายเนื้อ) กับ “กายใน” (กายทิพย์) กายนอกหรือกายเนื้อเป็นกายภาพที่สามารถมองเห็นได้ ขณะที่กายในหรือกายทิพย์เป็นกายส่วนที่เป็นพลังงานเรืองแสง ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นโดยที่กายชนิดดังกล่าวจะแทรกซ้อนอยู่ในกายเนื้อที่สามารถมองเห็นได้นี่เอง
ในโมเดล “โยคะ” จะถือว่า กายทิพย์หรือกายในนี้เป็นตัวดูดปราณหรือพลังชีวิตเข้าสู่กายเนื้อทั่วร่าง โดยผ่านจักระและเส้นทางลมปราณต่างๆ ที่ดำรงอยู่ในกายทิพย์ และปรากฏออกมาเป็นสิ่งที่เราเรียกกันว่า ออร่า (Aura) หรือ รัศมี ออร่าของมนุษย์คือปรากฏการณ์ด้านพลังงานที่เกิดอยู่ในระบบที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ออร่าคือตัวแทนแห่งพลังสร้างสรรค์ชีวิตซึ่งกระตุ้นให้เกิดพลังงาน และประคับประคองสุขภาพ การดำรงอยู่ของคนเราในรูปแบบของพลังงานที่ครอบคลุมกายเนื้อ ออร่าจะก่อให้เกิดช่องทางเพื่อการปฏิสัมพันธ์กับแหล่งพลังงานและมิติอื่นได้ด้วย
แนวคิดเกี่ยวกับออร่าหรือรัศมีของมนุษย์ซึ่งเป็นกลุ่มแสงที่ฉายออกมารอบๆ ร่างกายของคนเรานั้น เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่โบราณแล้ว โดยที่เชื่อกันว่าออร่านี้สามารถบ่งบอกให้ทราบถึงคุณสมบัติเกี่ยวกับสุขภาพ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจิตใจของแต่ละคนได้ด้วย
เนื่องจากทั้งกายทิพย์ และกายเนื้อต่างมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก หากมีอะไรกระทบถึงกายเนื้อ ก็จะกระทบถึงกายทิพย์ด้วย หรือถ้ามีอะไรกระทบถึงกายทิพย์ก็ย่อมกระทบถึงกายเนื้อด้วยเช่นกัน ความเจ็บป่วยในกายเนื้อของคนเรา ถ้ามองจากมุมมองเชิง “พลังงาน” ตามโมเดลโยคะ จะมองว่า มีส่วนเกี่ยวโยงกับการป่วยของกายทิพย์ โดยที่ความป่วยของกายทิพย์นั้นมีสาเหตุมาจากความพร่องของปราณในที่ใดที่หนึ่งหรือทั่วร่างในกายทิพย์เป็นสำคัญ
นี่คือมุมมองเกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่ไม่มีอยู่ในการแพทย์กระแสหลักปัจจุบัน แต่เป็นมุมมองหลักของการแพทย์เชิง “พลังงาน” โดยที่เมื่อเกิดการป่วยของกายทิพย์ ออร่าของผู้นั้นจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสีสัน และขอบเขตขนาดของรัศมีรอบกายที่หดเล็กลง
จากมุมมองข้างต้น โมเดล “โยคะ” ในศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการ จึงมีบทเสนอว่า คนที่ไม่ดูแลตัวเองให้ดีทั้งกายนอก (กายเนื้อ) และกายใน (กายทิพย์) มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีอายุขัยต่ำกว่าอายุขัยโดยเฉลี่ย ส่วนคนที่ตั้งใจดูแลตัวเองให้ดีแค่เฉพาะกายนอก (กายเนื้อ) มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีอายุยืนยาวกว่าอายุขัยโดยเฉลี่ยได้นิดหน่อย แต่ถ้าคนผู้นั้นตั้งใจดูแลตัวเองให้ดี ทั้งกายนอก (กายเนื้อ) และกายใน (กายทิพย์) ไปพร้อมๆ กัน มีความเป็นไปได้สูงมากว่าผู้นั้นจะมีอายุยืนยาวใกล้ร้อยปี หรือมีอายุยืนยาวมากกว่านั้น
ด้วยเหตุนี้ โมเดล “โยคะ” จึงเห็นว่า นอกจากจะต้องฝึกวิชาเพื่อให้จักระต่างๆ หมุนด้วยอัตราความเร็วสูงอยู่เสมอแล้ว คนเรายังจำเป็นต้องฝึกวิชาเพื่อบำรุง และชำระกายในหรือกายทิพย์ให้สะอาดสมบูรณ์อยู่เสมอด้วย โดยที่ “กายทิพย์” นี้แหละ คือตัวชี้ขาดที่กำหนดสุขภาพและความมีอายุยืนของคนเรา เพราะฉะนั้น ถ้าหากคนเราต้องการจะชะลอวัยและรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนาน เราก็ต้องมุ่งฝึกฝนกายในหรือกายทิพย์ของตัวเราเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดยการฝึกลมปราณ การฝึกความคิด และการฝึกจิตเป็นสำคัญ
การฝึกลมปราณเพื่อบำรุงและชำระกายทิพย์นั้น มีเคล็ดสำคัญอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรก คือทำอย่างไร คนเราจึงจะสามารถดูดซับปราณจำนวนมหาศาลเข้ามาสู่ร่างกายได้เป็นจำนวนมาก โดยผ่านอาหารที่รับประทาน น้ำที่ดื่ม และอากาศที่หายใจเข้าไป ทั้งนี้เพราะปราณคือตัวหล่อเลี้ยงกายทิพย์ของคนเรานั่นเอง เรื่องเหล่านี้หลายคนเริ่มตระหนัก และเข้าใจความสำคัญของปราณกันบ้างแล้ว แต่คนส่วนใหญ่สมัยนี้ก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องปราณอยู่ดี หรือรู้ก็รู้แบบงูๆ ปลาๆ เพราะการรับปราณเข้ามาในร่างกายเท่านั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอต่อการทำให้ร่างกายสามารถชะลอวัย และรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนานได้ อย่างมาก็แค่ทำให้สุขภาพดีขึ้นเท่านั้น เพราะปราณเปรียบได้กับน้ำมันเชื้อเพลิงในรถยนต์ โภชนาการเปรียบได้ดั่งน้ำมันเครื่อง ลำพังแค่สองสิ่งนี้ยังไม่ทำให้รถยนต์แล่นได้ จำเป็นต้องใส่กุญแจรถแล้วติดเครื่องให้ทำงาน
ตรงนี้แหละคือ ส่วนที่สอง ของการฝึกลมปราณเพื่อบำรุงและชำระกายทิพย์ เพื่อการชะลอวัยและรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนาน ซึ่งก็คือ เคล็ดการหายใจแบบพิเศษของโยคะ เพื่อไปกระตุ้นปราณให้ทำงาน และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับร่างกายของผู้ฝึก รวมทั้งไปกระตุ้นจิตใต้สำนึกของผู้ฝึกให้ตื่นตัวเพื่อให้เกิดประสิทธิผลในด้านการชะลอวัย และรักษาความเป็นหนุ่มสาวให้ยาวนานนั่นเอง (ซึ่งจะได้กล่าวโดยละเอียดในภายหลัง)
นอกจากนี้ ผู้ฝึกยังจะต้องฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลัง 5 ประเภทในร่างกายของตน อีกด้วย ซึ่งได้แก่
(1) การฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลังทางเพศ
(2) การฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลังขับสารพิษ (พลังขับถ่าย) ออกจากร่างกาย
(3) การฝึกลมปราณเพื่อการถนอมพลังในการใช้เสียง ให้ทรงพลังอยู่เสมอ
(4) การฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลังในการเคลื่อนไหว ให้ปราดเปรียว และผ่อนคลายอยู่เสมอ
(5) การฝึกลมปราณเพื่อเพิ่มพลังชีวิตแบบองค์รวม จะเห็นได้ว่า การฝึกลมปราณเป็นหัวใจของศาสตร์ชะลอวัยเชิงบูรณาการก็ว่าได้ การฝึกลมปราณ และผลจากการฝึกลมปราณเป็นสิ่งที่ใช้เงินซื้อโดยตรงไม่ได้ ผู้นั้นต้องฝึกด้วยตนเอง และทำด้วยตนเองเท่านั้น ไม่อาจทำแทนให้กันได้
ส่วน การฝึกความคิด และการฝึกจิตเพื่อบำรุงและชำระกายทิพย์ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการฝึกลมปราณนั้น คือการให้ข่าวสารข้อมูลเชิงบวก และสร้างสรรค์ต่อจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ฝึกอยู่เสมอมิได้ขาด โดยผ่านการกระทำต่างๆ ที่หลากหลาย อย่างเช่น การภาวนา การสวดมนต์ การสอนตัวเอง การชักจูงตัวเอง การให้กำลังใจตัวเอง การมีวิธีคิด วิธีมองโลกในแง่ดีในเชิงบวก ในเชิงสร้างสรรค์ การมีวิธีพูด และการใช้คำพูดในชีวิตประจำวันที่เป็นบวก ที่เป็นกุศล และสร้างสรรค์ทั้งต่อตัวเอง และต่อผู้อื่น
การมีศรัทธาในการฝึกฝนตามแนวทางของภูมิปัญญาเชิงบูรณาการว่าจะช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรง อายุยืน และสามารถชะลอวัยได้ การไม่ยอมให้ความเชื่อผิดๆ และโลกทัศน์เก่าในเรื่อง “ความแก่” ของคนส่วนใหญ่มาครอบงำจิตใจของเราได้ การใช้พลังแห่งจินตนาการ และสมาธิมาทำให้ตัวเราคึกคัก มีชีวิตชีวา แข็งแรง และกระชุ่มกระชวยอยู่เสมอ การสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองทั้งในเรื่องพลังกาย พลังความคิดและพลังใจของตัวเองเหล่านี้เป็นต้น
การฝึกความคิดและการฝึกจิตเพื่อบำรุงและชำระกายทิพย์นั้น จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการฝึกลมปราณแต่อย่างใดเลย ส่วนแนวทางการฝึกอย่างละเอียดพิสดารนั้น จะกล่าวต่อไปในภายหลัง โดยในที่นี้ เราจะต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจเรื่อง จักระกับกายทิพย์ อย่างละเอียดก่อนเป็นอันดับแรก