ภาคที่ 3 ชี่กง : (48.) ชี่กงเพื่ออายุวัฒนะของกายและความเป็นอมตะของจิต

ภาคที่ 3 ชี่กง : (48.) ชี่กงเพื่ออายุวัฒนะของกายและความเป็นอมตะของจิต




ชี่กงเพื่ออายุวัฒนะของกาย

และความเป็นอมตะของจิต

 
ชี่กง(วิชาลมปราณ) ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเป็นรูปการล่าสุดของลัทธิเต๋าที่เผยตัวเองออกมาในรูปแบบของการฝึกออกกำลังกายและการฝึกลมปราณเพื่อสุขภาพภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่การแสดงออกทางความเชื่อเรื่องศาสนาและจิตวิญญาณของผู้คนถูกจำกัดเสรีภาพแต่ในสมัยโบราณสิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่าชี่กงนั้นคนสมัยก่อนเขาเรียกว่าการบำเพ็ญของลัทธิเต๋าโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความมีอายุวัฒนะ (Longevity)และความเป็นอมตะ (immortality)ไปพร้อมๆกัน


การฝึกชี่กงที่คนส่วนใหญ่ฝึกกันอยู่ในปัจจุบันมักบกพร่องด้านเดียวคือมุ่งเน้นเฉพาะความมีอายุวัฒนะซึ่งเป็นเรื่องของกายโดยไม่ค่อยเอาใจใส่ในเรื่องความเป็นอมตะของจิตทั้งๆที่สองสิ่งนี้จะต้องฝึกฝนบ่มเพาะควบคู่กันไปอย่างมีสมดุลจึงจะเป็นชี่กงที่แท้จริงหรือเป็นการบำเพ็ญที่แท้จริงตามหลักการของลัทธิเต๋าที่มีมาหลายพันปีแล้ว


ผู้ที่สนใจจะฝึกชี่กงในสมัยนี้หากขาดความเข้าใจที่ถูกต้องดังข้างต้นก็อาจไม่สามารถได้รับประโยชน์จากการฝึกชี่กงได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ทำให้ไม่สามารถพาก- เพียรหรือขาดแรงจูงใจที่จะฝึกฝนได้อย่างต่อเนื่องยาวนานเพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการฝึกชี่กงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดชี่กงคือศาสตร์และศิลปะแห่งการพัฒนาศักยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ทั้งทางกายและทางจิตของลัทธิเต๋าที่เป็นภูมิปัญญาโบราณที่มีลักษณะบูรณาการที่สุดเท่าที่เคยมีอยู่ในอารยธรรมของมนุษยชาติ


ในการจะฝึกชี่กงคนผู้นั้นจะต้องเข้าใจเรื่องหยวนชี่ (ปราณดั้งเดิม) เสียก่อนในความเข้าใจของคนทั่วไปเมื่อเจ็บป่วยไม่สบายก็ต้องกินยาซึ่งเป็นการใช้วัตถุจากภายนอกร่างกายเข้ามาบำบัดอาการป่วยไข้แต่ข้อเสียของการใช้ยาที่ไม่ควรมองข้ามคือผลข้างเคียงที่ตัวยามีต่อร่างกายของผู้ป่วยไม่มากก็น้อยด้วยเหตุนี้ชาวเต๋าจึงมีการคิดค้นวิธีการบำบัดรักษาโรคจากข้างในโดยใช้หยวนชี่หรือปราณดั้งเดิมที่มีอยู่ในร่างกายของคนเราตั้งแต่เกิดในตัวผู้ป่วยมาเพิ่มภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยให้สามารถบำบัดโรคได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ


แต่หยวนชี่ของคนธรรมดาที่มิได้บำเพ็ญหรือมิได้ฝึกชี่กงอย่างสม่ำเสมอนั้นมันไม่ค่อยมีพลังหรือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่าไหร่นักต่อให้คนธรรมดาเล่นกีฬาออกกำลังกายก็ยังเป็นแค่การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อเสียเป็นส่วนใหญ่ซึ่งก็มีส่วนดีอยู่แต่ยังมิพอเพียงต่อการทำให้หยวนชี่ขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ชาวเต๋าเห็นว่ามีแต่ต้องฝึกลมปราณหรือชี่กงเสริมเข้าไปกับการออกกำลังกายด้วยเท่านั้นถึงจะทำให้หยวนชี่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเต็มที่ได้


ชาวเต๋ามีความเห็นว่าหยวนชี่ของคนเรามีลักษณะเหมือนน้ำถ้าน้ำนิ่งดุจน้ำในบึงมันจะขุ่นแต่ถ้าน้ำไหลตลอดดุจน้ำเชี่ยวในลำธารน้ำตกมันจะใสฉันใดก็ฉันนั้นน้ำที่ขุ่นหรือหยวนชี่ที่ไหลเวียนไม่สะดวกในร่างกายของคนเราย่อมไม่มีประสิทธิภาพในการบำบัดขณะที่น้ำที่ไหลแรงย่อมมีพลังเหมือนหยวนชี่ที่ไหลต่อเนื่องไม่ติดขัดย่อมเปล่งประสิทธิภาพเกินกว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะคาดนึกได้มากมายนัก


ชาวเต๋าเชื่อกันว่าผู้ใดก็ตามที่สะสมหยวนชี่เอาไว้ภายในร่างกายได้มากพอหยวนชี่นั้นจะไปขับดันกระแสโลหิตให้ไหลเวียนได้สะดวกดีขึ้นปราณ (ชี่) ที่ผสมกับเลือดชาวเต๋าเรียกว่าเลือดลมอันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการธำรงรักษาชีวิตของคนเราเอาไว้เลือดลมนี้จะไหลไปตามเส้นทางของปราณที่มักเรียกกันติดปากว่าเส้นชีพจรซึ่งดำรงอยู่ทั่วร่างกายเป็นเครือข่ายที่ซับซ้อนครอบคลุมอวัยวะทุกส่วนในร่างกายกระทั่งผิวหนังและขุมขนอวัยวะทุกส่วนในร่างกายของคนเราล้วนได้รับการบำรุงหล่อเลี้ยงจากเลือดลมที่ส่งมาตามเส้นชีพจรเหล่านี้ทั้งสิ้น


ชาวเต๋าจึงสอนกันต่อๆมาว่าหากคนเราหมั่นฝึกลมปราณ (ชี่กง) กระตุ้นหยวนชี่ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้เป็นอย่างดีแล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องป่วยไข้และสามารถที่จะมีสุขภาพที่ยั่งยืนได้ตราบจนสิ้นอายุขัยการฝึกลมปราณทำให้หยวนชี่ในร่างกายคึกคักซึ่งนอกจากจะส่งผลดีต่อสุขภาพกายแล้วยังส่งผลดีต่อสุขภาพใจของคนผู้นั้นอย่างน่าอัศจรรย์ใจด้วยเขาผู้นั้นจะกลายเป็นคนที่มีจิตใจหนักแน่นมั่นคงมีความเชื่อมั่นในตนเองและมีสมาธิในการทำงานในกิจทั้งปวงที่สูงยิ่ง


พูดง่ายๆก็คือเขาผู้นั้นจะเป็นผู้ที่อยู่ในสภาพท็อปฟอร์มอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจอันเป็นภาวะที่ชาวเต๋าเห็นว่าสำคัญที่สุดในการผ่านพ้นโลกทางวัตถุนี้ก่อนที่ตัวเองจะรุดหน้าพัฒนาตัวเองก้าวข้ามไปสู่โลกที่ละเอียดกว่านั้นหรือจนกว่าจะหลุดพ้นจากสามโลกในที่สุด


อะไรคือความหมายของคำว่าหยวนในหยวนชี่ ?


คำว่าหยวนนี้ถ้าแปลความหมายตามตัวอักษรคือแปลว่าดั้งเดิมโดยที่ชาวเต๋าหมายถึงสิ่งที่เป็นปฐมแห่งการก่อเกิดของสรรพสิ่งคนโบราณจึงเรียกหยวนว่าคือเต๋าแต่ถ้ามองในแง่ของคุณสมบัติหยวนจะมีคุณสมบัติ 3 ประการคือหยวนของปราณหยวนของแสงและหยวนของเสียงหรือปฐมของปราณ (พลังงาน) ปฐมของแสงและปฐมของเสียงซึ่งครอบคลุมทุกสรรพสิ่งในจักรวาลเอาไว้ทั้งหมดหยวนสามอย่างนี้ชาวเต๋าเรียกว่าสามหยวน”


ในทางปรัชญาเต๋าหยวนกับสามหยวนมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นหากหยวนคือกายสามหยวนก็คือประโยชน์ใช้สอยจากกายหยวนย่อมครอบคลุมสามหยวนเอาไว้อยู่ในตัวมันและตัวสามหยวนก็ไม่อาจตัดขาดจากหยวนดั้งเดิมได้หยวนและสามหยวนจะว่าไปแล้วก็คือสิ่งเดียวกัน


ชาวเต๋าเข้าใจกระบวนการก่อเกิดของจักรวาลว่าหยวนแห่งเสียงเกิดก่อนแล้วจึงเกิดหยวนแห่งปราณและหยวนแห่งแสงตามลำดับในช่วงที่ฟ้าดินยังไม่แยกจากกันสามหยวนยังไร้รูปจึงมีชื่อเรียกว่าสามหยวนก่อนกำเนิดแต่ภายหลังจากที่ฟ้าเป็นฟ้าดินเป็นดินแล้วสามหยวนจึงมีรูปและมีชื่อเรียกว่าสามหยวนหลังกำเนิดแต่ทั้งสามหยวนก่อนกำเนิดและหลังกำเนิดต่างก็ล้วนเป็นลีลาที่แสดงตัวออกมาของหยวนทั้งสิ้น


ชาวเต๋าเชื่อว่าหยวนและสามหยวนมีลักษณะ 5 ประการคือ

1) ใหญ่สุดและก็เล็กสุดสามหยวนดำรงอยู่เต็มไปทั่วทั้งมหาจักรวาลและก็เป็นองค์ประกอบที่เล็กที่สุดของวัตถุเล็กขนาดที่ไม่อาจแบ่งย่อยให้เล็กไปกว่านั้นได้สามหยวนจึงเป็นสิ่งที่ไร้ขอบเขตในเชิงพื้นที่
2) ไม่เกิดไม่ดับไม่เพิ่มไม่ลดต่อให้รูปลักษณ์ของสามหยวนจะแปรเปลี่ยนแค่ไหนจากในอดีตจนถึงปัจจุบันยังถึงอนาคตแต่ปริมาณรวมของมันไม่เคยเปลี่ยนแปลงสามหยวนจึงเป็นสิ่งที่ไร้ขอบเขตในเชิงกาลเวลา
3) มีความละเอียดเป็นทิพยผู้ที่บำเพ็ญย่อมเคยมีหรือจะมีประสบการณ์โดยตรงทราบได้เองว่าตัวเองสามารถดูดซับสามหยวนแห่งฟ้าดินผ่านทางรูขุมขนได้นี่คือสิ่งที่ชาวเต๋าเรียกว่าความละเอียดอันเป็นทิพย์ของสามหยวน
4) มีทั้งพลังงานและข่าวสารอยู่ในตัวเองอันเป็นที่มาของประสบการณ์ทางจิตประเภทต่างๆที่มักบังเกิดแก่ผู้บำเพ็ญ
5) ดำรงอยู่ทั้งในภพภูมิที่มนุษย์รับรู้ได้และในภพภูมิที่มนุษย์ธรรมดาไม่อาจรับรู้ได้


จากที่กล่าวมาข้างต้นคงเห็นได้ชัดว่าการบำเพ็ญหยวนโดยผ่านการฝึกลมปราณหรือชี่กงเพื่อกระตุ้นหยวนชี่นั้นชาวเต๋ามิได้มุ่งหวังแค่ให้ปลอดโรคหรือมีอายุวัฒนะเท่านั้นแต่ยังมุ่งหวังถึงความเป็นอมตะของจิตที่ชาวเต๋าเรียกว่าเซียนกันเลยทีเดียวโดยที่ชาวเต๋าเชื่อกันว่าการบรรลุความเป็นเซียนหรือความเป็นอมตะแห่งจิตนั้นทำได้ด้วยการที่ทำให้มนุษย์กับฟ้าเป็นหนึ่งเดียวกันหรือการยกระดับจิตสำนึกของผู้บำเพ็ญให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับจิตสำนึกของฟ้าหรือของเต๋าโดยผ่านวิธีการที่ผู้บำเพ็ญทำการดูดซับบ่มเพาะหยวนภายในตัวเองและทำการแปรธาตุจนกระทั่งเกิดการแปรเปลี่ยนตกผลึกภายในอย่างสมบูรณ์และเข้าถึงความรู้แจ้งในแบบของชาวเต๋าในที่สุด
 








Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้