“โนโหวต” จะชี้ว่าใครจะชนะ (29/6/2554)

“โนโหวต” จะชี้ว่าใครจะชนะ (29/6/2554)


“โนโหวต” จะชี้ว่าใครจะชนะ

(29/6/2554)




การเข้ามาอาสาเป็นตัวแทนเพื่อไปใช้อำนาจประชาชนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเสนอแนวทางการทำงานหรือนโยบายเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม



เมื่อ แดง ฟ้า เหลือง มิได้พิจารณาเปรียบเทียบดีชั่วเลือกที่ “ดีที่สุด” การเลือกตั้งเพื่อเฟ้นหาตัวแทนประชาชนในครั้งนี้ “โนโหวต” หรือพวกนอนหลับทับสิทธิจะเป็นผู้ชี้“ผู้ชนะ”




อีกไม่กี่วันข้างหน้าก็จะถึงกำหนดการเลือกตั้ง แน่นอนว่าจะต้องมีพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเพราะได้คะแนนเสียงมากกว่าพรรคอื่นๆ แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้ประเทศมี “ผู้ชนะ” จริงหรือ



สาเหตุก็เนื่องมาจากนโยบายหาเสียงที่ไร้ซึ่งความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองที่พรรคที่เสนอตัวเข้ามาอาสาทำงานทั้งหลายที่มีอยู่ในขณะนี้เป็นสำคัญ



นโยบายหาเสียงส่วนใหญ่หรืออาจกล่าวได้ว่าเกือบทั้งหมดที่นำเสนอจะเป็นไปในด้านเศรษฐกิจที่มีลักษณะของการใช้จ่ายเงินของภาครัฐเพื่อเอาใจประชาชนหรือที่เรียกว่า “ประชานิยม” เป็นแกนหลักในการเสนอนโยบาย



จุดขายของบรรดานโยบายประชานิยมที่แข่งขันกันเสนอของบรรดาพรรคการเมืองในขณะนี้จึงมุ่งอยู่ที่ การเพิ่มรายได้ และการลดรายจ่าย โดยส่วนรายได้ที่จะเพิ่มให้กับประชาชนก็จะมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ เช่น การตั้งกองทุนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้านที่ได้ทำไปแล้วในการเลือกตั้งครั้งก่อน หรือกองทุนสตรี และในชื่ออื่นๆ อีกมากมาย แต่รัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นผู้จัดหาเงินมาเพื่อให้กองทุนทั้งหลายเหล่านี้ใช้นำเอาไปให้ประชาชนใช้จ่าย



ในทำนองเดียวกัน การลดรายจ่ายด้วยการเข้าแทรกแซงกลไกราคาด้วยการตรึงราคาสินค้าประเภทต่างๆ มิให้สามารถเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดที่ควรจะเป็น เช่น ราคาน้ำมันดีเซล น้ำมันปาล์ม ที่ถูกแทรกแซงตรึงราคาต่ำกว่าราคาตลาด ในขณะที่การประกันราคาข้าว การประกันค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นการแทรกแซงตรึงราคาให้สูงกว่าราคาที่ควรจะเป็นที่อาจถือได้ว่าเป็นการเพิ่มรายได้แบบเทียมอันเนื่องมาจากเอาเงินของรัฐมาจ่ายให้ในส่วนที่เพิ่ม



หากประกันราคาข้าวที่ตันละ 15,000 บาทตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยก็แสดงว่าราคาข้าวสารที่อ้างอิงจากราคาประกันคิดแล้วอาจตกกิโลกรัมละ 100 บาทซึ่งจะทำให้ข้าวแกงจานของผู้บริโภคราคาเป็นร้อยบาทก็เป็นไปได้ แต่หากบอกว่านี่เป็นราคาประกันที่ชาวนาจะได้ส่วนผู้บริโภคจะจ่ายเท่าที่เคยจ่าย เช่น ที่กิโลกรัมละ 40 บาทแล้วส่วนต่าง 60 บาทใครจะเป็นคนจ่ายและเอาเงินจากที่ใดมาจ่าย นี่คือตัวอย่างหนึ่งของนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบ



ทั้งการเพิ่มรายได้ และการลดรายจ่าย ดังกล่าวข้างต้นต่างก็มีต้นทุนที่ต้องใช้เงินในการดำเนินการทั้งนั้น แต่นโยบายหาเสียงของพรรคต่างๆ ก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดหรือผูกมัดตนเองว่า จะเอาเงินจากไหนมาดำเนินการในนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ได้เสนอ เพราะแหล่งรายได้ของภาครัฐจะมีอยู่เพียง 2 ช่องทางเท่านั้นคือ ภาษี และการขายทรัพย์สินของรัฐ



หากรัฐบาลมีรายได้เท่าเดิมจากจำนวนผู้เสียภาษีเท่าเดิมภายใต้ประเภทของภาษีและอัตราภาษีเท่าเดิมตามที่มีอยู่แต่มีรายจ่ายจากโครงการตามนโยบายประชานิยมเพิ่มขึ้น รัฐบาลจะทำอย่างไรเมื่อรายจ่ายมีมากกว่ารายได้จากภาษีที่เก็บได้เพราะเท่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็มีรายจ่ายเพื่อการลงทุนในงบประมาณตามโครงการต่างๆ น้อยมากอยู่แล้ว นโยบายที่ไม่พูดก็คือ การกู้ยืมเงินของรัฐบาลเพื่อมาสนองตอบต่อรายจ่ายที่มีมากกว่ารายได้



วินัยทางการคลังหรือการดำเนินตามนโยบายเศรษฐกิจแบบพอเพียง จึงเป็นการสร้างภาพให้ดูดี เป็นการพูดให้ข้าราชการประชาชนฟัง แต่นักการเมืองไม่เคยฟัง และไม่เคยคิดปฏิบัติตาม เพราะพรรคการเมืองมุ่งแต่ผลแพ้ชนะในแต่ละครั้งของการเลือกตั้งซึ่งมีระยะเวลายาวนานมากที่สุดก็คือ 4 ปี แต่ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาน้อยกว่านั้น กรอบเวลาในการตัดสินใจเสนอนโยบายจึงถูกจำกัดให้ได้ผลปรากฏเป็นรูปธรรมจับต้องได้เร็วและมากที่สุดนั่นคือมุ่งเน้นแต่ผลผลิตหรือ output



แต่จะได้ผลสัมฤทธิ์หรือมี outcome หรือไม่จะไม่อยู่ในกรอบการตัดสินใจของนักการเมืองแต่อย่างใด เพราะผลสัมฤทธิ์ส่วนใหญ่ใช้เวลานานและไม่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ดังนั้นความเป็นไปได้ของโครงการหรือความคุ้มค่าของเงินที่ได้ใช้จ่ายออกไปจึงไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะต้องนำมาคำนึงถึงในการตัดสินใจแต่อย่างใด



ร้อยละของ GDP ที่เพิ่มขึ้น จำนวนเงินกู้ที่มีมากขึ้น หรือจำนวนผู้ที่จบการศึกษามากขึ้นจึงเป็นผลผลิตที่พรรคการเมืองพยายามนำเสนอเป็นผลงาน ในขณะที่พรรคการเมืองจะละเลยว่า GDP ที่เพิ่มขึ้นมานั้นมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทใด จะมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยการโค่นป่าไม้เพื่อแผ้วถางเป็นพื้นที่เพาะปลูกหรือมาทำเป็นถนน หรือ การเพิ่มขึ้นของรายได้จะเป็นไปอย่างเท่าเทียมกันหรือไม่ระหว่างกลุ่มคนในสังคม หรือ จะสนใจหรือไม่ว่าเด็กที่จบการศึกษามาสามารถอ่านออกเขียนได้มีคุณภาพตามที่คาดหวังเอาไว้หรือไม่



การกู้เงินมาใช้จ่ายเมื่อมีรายได้จากภาษีไม่พอจึงเป็นทางเลือกที่ง่ายและสะดวก ยิ่งเป็นการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณเหมือนดังเช่นโครงการประชานิยมที่ทักษิณทำมาแล้วเป็นตัวอย่าง เช่น กองทุนหมู่บ้าน ที่ให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านเป็นผู้กู้จากธนาคารออมสินและรัฐบาลตามไปตั้งงบประมาณใช้คืนเป็นรายปีก็ยิ่งดีไม่ต้องยุ่งยากผ่านงบประมาณในสภา เป็นการมัดมือชกแบบ “ไร้วินัย” สิ้นดี เงินกู้ก็กู้มาใช้ไปแล้วจะไม่ให้ตั้งงบประมาณไปใช้คืนก็ให้ธนาคารออมสินรับกรรมไปก็แล้วกัน



ทุกพรรคจึงไม่มีนโยบายเกี่ยวกับการหามาซึ่งรายได้แต่อย่างใด การกู้เงินมาใช้จ่ายเพื่อดำเนินตามนโยบายที่ได้ไปหาเสียงเอาไว้จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญเพราะไม่ต้องขึ้นภาษีและสามารถผลักภาระการใช้คืนเงินกู้ไปในอนาคตซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่คิดในใจอยู่เสมอว่ามีโอกาสน้อยมากที่คนทั่วไปจะจำได้ว่าในช่วงที่ตนเองเป็นรัฐบาลได้กู้เงินเป็นจำนวนมากเท่าใด



คนส่วนใหญ่จะจำได้ดีต่อเมื่อต้องถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น เช่น การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมีภาษีชนิดใหม่ที่ต้องเสีย เช่น ภาษีมรดกหรือภาษีสิ่งแวดล้อม หรือเมื่อถูกตัดสวัสดิการที่ประชาชนเคยได้รับจากภาครัฐลง เช่น การรักษาฟรีที่มีการจ่ายยาคุณภาพแย่ลง รัฐบาลที่เข้ามาเพิ่มประเภทภาษีเพื่อให้ครอบคลุมผู้เสียภาษีมากขึ้น หรือขึ้นอัตราภาษี และ/หรือตัดรายจ่ายนั้นมักจะเป็นรัฐบาล “กู้ชาติ” ที่เข้ามาเก็บกวาดสิ่งที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนจากงานเลี้ยงที่นักการเมืองหรือรัฐบาล “ขายชาติ” ก่อนหน้านี้ได้ทำเอาไว้



นักการเมืองจึงนิยมผลักภาระไปข้างหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองต้องเป็นผู้เข้ามา “ทำความสะอาด” อันจะเป็นการเสียคะแนนนิยมและถูกใส่ร้ายได้โดยง่ายเมื่อถึงคราวเลือกตั้ง



สิ่งที่เป็นข้อพึงพิจารณาก็คือไม่มีพรรคใดที่รณรงค์เสนอนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการแข่งขันในตลาดสินค้าประเภทต่างๆ ตั้งแต่ ธนาคารพาณิชย์ น้ำมัน จนถึงการสื่อสารโทรคมนาคม ที่ล้วนปราศจากการส่งเสริมให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ให้สามารถเข้าตลาดโดยเสรีเพื่อที่รัฐบาลในอนาคตจะได้ไม่ต้องเข้ามาแทรกแซง สามารถปล่อยให้กลไกตลาดมันสามารถทำงานด้วยตัวของมันเองได้



ดูตัวอย่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ได้ว่า หลังจากหักอัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เป็นศูนย์หรือติดลบหรือไม่ ส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากแตกต่างกันเกินร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ ทำไมรัฐจึงไม่สามารถทำให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ได้ทั้งที่เงินฝากล้นธนาคารอยู่จนเป็นข้ออ้างให้มีการเข้ามาปล่อยกู้โดยตรงจากรัฐสู่ประชาชนแทนทั้งๆ ที่ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของรัฐแต่อย่างใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มิใช่เพราะการผูกขาดมิให้มีการจัดตั้งธนาคารใหม่โดยเสรีดอกหรือที่ทำให้ผลประโยชน์หรือสวัสดิการของประชาชนลดน้อยถอยลง



ในด้านการเมือง นโยบายที่พรรคเพื่อไทยเสนอก็คือ การเข้ามาแก้กฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมโดยไม่สนใจหลักนิติรัฐแต่อย่างใด ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็จะเป็นพรรคที่มีจุดยืนนโยบายที่ตรงกันข้าม และมีพรรคเล็กประเภท 3-4 พรรค 100 เสียงเป็นตัวประกอบคอยร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีนโยบายพรรคใดเป็นชิ้นเป็นอันที่จะถือได้ว่าเป็นอุดมการณ์ของพรรคที่จะยึดถือปฏิบัติเมื่อจะได้เข้าร่วมเป็นรัฐบาล



ทั้งๆ ที่สถานการณ์ในปัจจุบันเป็นใจให้พรรคเล็กเหล่านี้มีโอกาสเป็นอย่างสูงที่จะต่อรองเพื่อให้พรรคใหญ่นำเอานโยบายไปปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง นิรโทษกรรมทักษิณหรือเรื่องอื่นๆ แม้แต่พรรคพันธมิตรก็หันไปรณรงค์เรื่อง “โหวตโน” ใช้ยุทธวิธีเอาชนะ 26 เขตต้าน ส.ส.เสียงส่วนใหญ่เพื่อขัดขวางองค์ประชุมสภา แทนที่จะเสนอข้อเรียกร้องเชิงนโยบายในการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ที่เป็นรูปธรรมให้สังคมมีทางออกมากกว่าที่มีอยู่ดังเช่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อในเรื่องปราสาทพระวิหาร



นโยบายด้านเศรษฐกิจแบบประชานิยมที่แข่งขันกันอยู่ เป็นเป้าหลอก เป็นขนม เพื่อให้พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคสามารถได้คะแนนเสียงมากพอที่จะเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ในขณะที่พรรคเล็กและภาคประชาชนก็ไม่มีข้อเรียกร้องให้พรรคการเมืองนำไปปฏิบัติแต่อย่างใด



การเลือกตั้งเป็นการแข่งขันกันเสนอตัวเพื่ออาสาเข้ามาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ซึ่งประโยชน์ดังกล่าวมิใช่เพื่อประชาชนคนใดคนหนึ่งหากแต่เพื่อคนส่วนรวม นโยบายจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการเข้ามาเอาใจประชาชนเพื่อหวังการเป็นตัวแทนไปใช้อำนาจแทนประชาชน การจำกัดมิให้ประชาชนประพฤติผิดหรือประพฤติไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควรก็เป็นผลประโยชน์ของคนส่วนรวมของประเทศด้วยเหมือนกัน



ปัจจุบันน่าจะมีผู้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกพรรคใดอยู่มากพอสมควร อาจจะมีถึงร้อยละ 30-40 ของผู้มีสิทธิออกเสียงหรือกว่า 10 ล้านคนก็ว่าได้ แม้จะถือได้ว่ามีพฤติกรรมนอนหลับทับสิทธิหรือ “โนโหวต” มาโดยตลอด แต่การเมืองในปัจจุบันก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากในอดีต การ “โนโหวต” นอนหลับทับสิทธิอาจหมายถึงต้องตื่นขึ้นมาซื้อข้าวแกงจานละ 100 บาทจากนโยบายประกันราคาข้าวแบบไร้เหตุผล หรือ เผชิญกับการเผาบ้านเผาเมืองหลังเลือกตั้งอีกรอบ ดังนั้นคนกลุ่มนี้อาจกลายมาเป็น swing voter ได้โดยง่ายหากสถานการณ์บังคับทำให้คนเหล่านี้ต้องออกมาใช้สิทธิเพื่อให้ตนเองสามารถกลับไปนอนหลับทับสิทธิได้ต่อไป



การเลือกตั้งครั้งนี้ “โนโหวต” หรือ swing voter จะเป็นผู้ชี้ขาดว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะในการเลือกตั้ง เพราะผู้นิยม แดง ฟ้า หรือ เหลือง ต่างก็มิได้สนใจพิจารณาแนวนโยบายของแต่ละพรรคว่าดีมากน้อยเปรียบเทียบกันแต่อย่างใด ต่างฝ่ายต่างตกอยู่ใน “กับดักชวนเชื่อ” เหมารวมฝ่ายตรงข้ามว่า “ชั่ว” หมดไม่มีส่วน “ดี” แต่อย่างใด มีแต่คนกลุ่ม “โนโหวต” นี้เท่านั้นที่ไม่ได้เป็น “แฟน” ใคร หากคนกลุ่มนี้ออกมาใช้สิทธิ พรรคการเมืองที่น่าได้เสียงไปก็คือพรรคที่มีแนวทางสันติวิธีและอาจจะมีไปถึงพรรคพันธมิตรอีกส่วนหนึ่งด้วย ไม่น่าจะมาลงคะแนนให้พรรคที่เคยสนับสนุนการเผาบ้านเผาเมือง แต่หากไม่ออกมาก็จะได้ผลในทางตรงกันข้าม



การถอนตัวจากภาคีมรดกโลกในรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เป็นตัวอย่างของสถานการณ์ที่บังคับ/สนับสนุนที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้ “โนโหวต” ออกมาเลือกพรรครัฐบาลและ/หรือพรรคพันธมิตรเพราะหากไปเลือกพรรคฝ่ายค้านโอกาสในการสูญเสียดินแดนไทยรอบปราสาทพระวิหารก็มีสูง



ผู้ที่จะชี้ขาดผู้ชนะคือพวก “โนโหวต”






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้