แกะรอยทักษิโณมิคส์

แกะรอยทักษิโณมิคส์

ใครก็ตามที่ให้ความรัก ความอบอุ่นเอื้ออาทร และความหมายแก่ฝูงชนที่เปล่าเปลี่ยวหลงทางเหล่านี้ได้ ก็จะพาพวกเขาเหล่านี้ไปทางไหนก็ได้ หรือไปทำอะไรก็ได้"โรเบิร์ต นิสเบต

ภายหลังการล่มสลายทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 อันเนื่องมาจากฟองสบู่แตก ไม่เพียงแต่สถาบันหลักๆ ในสังคมไทยจะเสื่อมทรุดล่มสลายตามลงไปด้วยเท่านั้น และไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว โรงเรียน วัด ตำรวจ องค์กรธุรกิจเอกชน ธนาคาร ระบบราชการ ต่างไม่มีข้อยกเว้น
แต่ภาวะล่มสลายแทบรอบด้านของสังคมไทยเมื่อครั้งนั้น ยังได้ก่อให้เกิด ฝูงชนจำนวนมากที่โดดเดี่ยว เดียวดาย โหยหาความอบอุ่นเอื้ออาทรอย่างรุนแรงกว่ายุคใดสมัยใด

ฉะนั้นใครก็ตาม ที่สามารถเข้ามาทำหน้าที่นี้ ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในการให้ความรัก ความอบอุ่นเอื้ออาทร และความหมาย ความหวังในชีวิตแด่ฝูงชนเหล่านี้ได้ ก็ย่อมสามารถพาพวกเขาเหล่านี้ไปทางไหนก็ได้ หรือไปทำอะไรก็ได้!

พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศตัวอาสามาทำหน้าที่นี้ ด้วยการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และใช้เวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคอื่นๆ ในการก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2544

หากว่า ชัยชนะแบบถล่มทลายในการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย ถือเป็นชัยชนะในระดับประวัติการณ์แล้ว

การใช้เวลาเพียงสองปีเศษหลังจากนั้น ในการสถาปนาระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จ เพื่อผลักดันการปฏิรูปเชิงบูรณาการในแทบทุกมิติของสังคมไทย ย่อมต้องถือว่าเป็น เหตุการณ์ระดับประวัติการณ์ ที่พวกเราไม่เคยพบเห็นมาก่อนในรอบ 40 ปีนี้เลยทีเดียว

ต่อหน้า "ความจริงใหม่" ล่าสุดอันนี้ สังคมไทยแตกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน ระหว่างพวกที่สนับสนุนเห็นด้วย คล้อยตาม หรือถูกจูงจมูก กับพวกที่คัดค้าน ต่อต้าน ไม่เห็นด้วย ไม่คล้อยตาม

แต่สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงที่ยากจะปฏิเสธก็คือ ระบอบทักษิณ ได้ก่อตัวขึ้นแล้ว พร้อมกับแนวทางการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ทักษิโณมิกส์ ระบอบนี้ที่เพิ่งก่อตัวขึ้นมาใหม่นี้ คงส่งอิทธิพลในวงกว้างต่อทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยหลังจากนี้ไปอีกหลายปี หรือหลายสิบปีเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านแนวทางการบริหารประเทศใดๆ ของรัฐบาลทักษิณ จึงสมควรที่จะทำการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ตัวระบอบทักษิณนี้ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อการนี้คงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องทำการเข้าใจถึง ตัวตนที่แท้ของผู้ชายที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังกุมชะตาและอนาคตของคนไทยไว้ในมืออยู่

แต่ก่อนอื่น พวกเราจำเป็นต้องตระหนักความจริงประการหนึ่งก่อนว่า ถ้าหากไม่มีฝูงชนจำนวนมากที่โดดเดี่ยว เดียวดาย โหยหา ความเอื้ออาทร ความหมายและความหวังในชีวิตอย่างแรงกล้า อันเป็นผลพวงจากการล่มสลายทางเศรษฐกิจ ในปี พ.ศ. 2540 มารองรับแล้วก็ไม่มีทางที่จะเกิด ระบอบทักษิณ ที่ทรงอำนาจขนาดนี้ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้หรอก

ลองคิดดูสิ เพียงแค่ 3 ปีก่อนหน้านี้ มีคู่แข่งทางการเมืองคนไหนของทักษิณ ที่คิดว่าตัวเองจะมีวันนี้ นี่ยังไม่รวมพวกเทคโนแครตฉวยโอกาสที่แทงหวยผิด หรือเลือกข้างผิด เพราะไม่คิดว่าทักษิณจะประสบความสำเร็จทางการเมืองได้มากมายถึงขนาดนี้

แม้แต่พวกปัญญาชนหัวก้าวหน้าเองก็ตาม ก็คงสับสนบ้างไม่มากก็น้อยว่าจะ ประเมินบทบาทของระบอบทักษิณนี้อย่างไรดี?

เพราะถ้าจะวิจารณ์ตามสูตรสำเร็จ ว่า รัฐบาลทักษิณก็ไม่ต่างไปจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ เพราะดำเนินนโยบายตามทุนนิยมโลกเหมือนกัน ใช้แนวทางพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรมส่งออกเหมือนกัน แต่ถ้าหากเราซื่อตรงพอ มีใจเที่ยงธรรมพอ เราก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่า รัฐบาลทักษิณ แตกต่างจากรัฐบาลประชาธิปัตย์มากเหลือเกิน ทั้งในวิธีคิด ฐานคิด วิธีการทำงาน วิธีบริหาร หรือแม้กระทั่งความมุ่งมั่นทางการเมือง!

มีนักเศรษฐศาสตร์ไทยจำนวนไม่น้อยที่แอบไม่เห็นด้วยกับนโยบายเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์ของรัฐบาลทักษิณ เพราะหลายเรื่องขัดกับหลักวิชาการหรือความเชื่อที่นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ "สายเดี่ยว" (รู้เรื่องเดียว) อย่างพวกเขาเคยฝึกฝนมา แต่ผลงานการทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจ (เฉพาะหน้า) ของประเทศไทยฟื้นด้วยฝีมือของรัฐบาลทักษิณแทบล้วนๆ ด้วนการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบ พร้อมกับการ "สร้างภาพลักษณ์" ต่อประชาคมโลกให้มีความเชื่อมั่นต่ออนาคตของเศรษฐกิจไทยก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า คุณทักษิณและทีมงานมีความเข้าใจเกี่ยวกับธาตุแท้ที่เป็น "มายาภาพ" ของสิ่งที่เรียกว่า "กระบวนการเศรษฐกิจ" เป็นอย่างดี จนถึงขนาดที่เล่นกับมันได้ ขณะที่พวกนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยกลับยังไม่เข้าใจความเป็น "มายาภาพ" อันเป็นตัวตนที่แท้ของ "เศรษฐกิจ" เลย กลับยึดถือแต่เฉพาะตำราและประสบการณ์อันคับแคบของตนเท่านั้น

ปัญญาชนบางท่านก็แสดงความหวั่นวิตกว่า นโยบายของทักษิโณมิกส์ จะทำให้กระบวนการกลายเป็นสินค้าของทุกสิ่ง ขยายตัวอย่างเต็มรูป จากเดิมที่มีแต่ทรัพยากรกับแรงงานเท่านั้น ที่กลายมาเป็นสินค้า แต่ระบอบทักษิณนี้จะทำให้ แม้แต่วัฒนธรรม ความรู้สึก คุณค่า และจิตใจของผู้คนก็กลายเป็นสินค้าได้ด้วย

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขากำลังหวั่นวิตกว่า ระบอบทักษิณกำลังผลักดันให้ทุนนิยมไทยรุดหน้าไปสู่ขั้นตอนท้ายของทุนนิยมที่เรียกว่า ทุนนิยมวัฒนธรรม (ทุนนิยมโพสต์โมเดิร์น) แต่จะว่าไปแล้ว สิ่งนี้เป็นคุณูปการหรือโทษมหันต์ของระบอบทักษิณกันแน่ เมื่อมองจากสายตาแบบวิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ (Integral Vision)?

การเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ที่ได้เกิดขึ้น กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก ระบอบทักษิณที่เพิ่งก่อตัวขึ้นมาใหม่นี้ เป็นเรื่องที่สมควรทำความเข้าใจกับมันอย่างจริงจังและรอบด้าน ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นผู้สนับสนุน หรือผู้คัดค้านระบอบทักษิณนี้ก็ตาม เพราะมันจะส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อคนทั้งประเทศนี้ไปอีกนานเลยทีเดียว เนื่องจากขณะนี้มันได้เลยจุดที่จะยับยั้งการก่อตัวของมันได้แล้ว และเป็นเรื่องไร้เดียงสาที่จะคาดหวังลมๆ แล้งๆ ว่าระบอบทักษิณที่เพิ่งก่อตัวได้หมาดๆ จะล่มสลายเองในอนาคตอันใกล้

ผู้เขียนได้มีโอกาสสนทนากับนักธุรกิจระดับบิ๊ก ในวงการอสังหาริมทรัพย์ผู้หนึ่ง เขาพูดออกมาเองว่า นโยบายของรัฐบาลทักษิณเป็นแบบมีความเสี่ยงสูง แต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน และขณะนี้มันเลยจุดที่จะบอกว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยไปแล้ว เพราะเราร่วมชะตากรรมร่วมกับเขาไปแล้วอย่างถอยกลับหลังไม่ได้อีกต่อไปแล้ว มีแต่ต้องลุยไปตายเอาดาบหน้าเท่านั้น

ผู้เขียนคิดว่า ผู้คนกว่าค่อนประเทศก็คงคิดไม่ต่างจากนักธุรกิจผู้นี้ และกลายเป็นว่าในขณะนี้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณเป็นเสียงข้างน้อยในสังคม และไม่กล้าเผยตัวมากนัก

แต่ในสายตาของผู้เขียนแล้ว วิธีคิดอย่างนักธุรกิจข้างต้น และผู้คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ค่อยปลอดภัยนัก และพวกเราก็ไม่ควรวางใจต่อระบอบทักษิณนัก แม้ว่าระบอบนี้จะมีหลายด้านที่ก้าวหน้ากว่า ทันสมัยกว่า และมีพลวัตกว่าระบอบเดิมก็ตาม

เราควรทำการตรวจสอบระบอบทักษิณนี้อย่างละเอียด พิจารณาทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของมัน มองข้ามช็อตไปถึง "ระบอบหลังทักษิณ" และขณะเดียวกัน ก็ควรแสวงหา ระบอบที่ข้ามพ้นระบอบทักษิณเตรียมเอาไว้ตั้งแต่บัดนี้

ข้อเขียนชุดหลายตอนจบชุดนี้ เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะช่วยให้พวกเราสามารถตรวจสอบระบอบทักษิณนี้ได้อย่างเป็นระบบ และสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น โดยในตอนหน้า ผู้เขียนจะเริ่มตรวจสอบคมความคิด

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้