ใน "คำนำ" ของหนังสือ มังกร จักรวาล-ภาคหนึ่ง-ของผมนั้น ผมได้เขียนเอาไว้ว่า... คงมีผู้คนเป็นจำนวนมากที่เชื่อว่าในโลกนี้ มีสิ่งที่วิทยาศาสตร์หรือ สามัญสำนึกของปุถุชนธรรมดาไม่อาจอรรถาธิบายได้ดำรงอยู่จริง มิหน้าซ้ำ บางคนอาจได้ผ่าน "ประสบการณ์เร้นลับ"เช่นนั้นด้วยตนเองด้วยซ้ำ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็น การพยากรณ์อนาคต การถอดกายทิพย์ ญาณทัศนะ หรือแม้แต่ยานบินของมนุษย์ต่างดาว สิ่งเหล่านี้อาจเหลือเชื่อ เพ้อเจ้อสำหรับคนอื่นก็ตาม แต่ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า มันจะต้องเป็นประสบการณ์ที่เป็นจริงอย่างไม่อาจเคลือบแคลงได้เลย สำหรับคนผู้นั้นที่ได้ประสบด้วยตัวเองอย่างแน่นอน มิหนำซ้ำมีหลายครั้งที่"ประสบการณ์เร้นลับ" อันนั้นยังได้ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งต่อชีวิดหลังจากนั้นของคนผู้นั้นด้วยไม่ว่าในทางที่ดีขึ้นหรือตกต่ำลงก็ตาม
ในข่วงสองปีมานี้ตัวผมเกิดมีความสังหรณ์ไจที่ไม่อาจอธิบายได้ว่าก่อนสิ้นศตวรรษ ค.ศ. 2000 นี้ โลกใบนี้และมนุษย์ชาติจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงระดับหายนะอย่างยากจะหลีกเลี่ยงพ้น มี "ความจริงแท้" แค่ไหนกับความกังวลลึกๆอันนี้ของผม? ผมพยายามดิ้นรนหาคำตอบและความจริงแท้ไห้กับตัวเอง เพื่อเข้าถึงความหมายของตัวเองในการดำรงคงอยู่ในปัจจุบัน
หนังสือเล่มนี้ คือ คำบอกเล่า เรื่องราวของการค้นหาความเร้นลับ และความจริงแท้ที่โลกและมนุษชาติกำลังจะเผซิญในอีกไม่กี่ปีข้างนน้านี้เองของขายหนุ่มคนหนึ่งที่จริงจังกับความหมายแห่งการดำรงอยู่ของตัวเขาบนพื้นพิภพนี้...
หนึ่งปี หลังจากที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้จบลงแล้ว ผมได้ประสบกับเรื่องราว ได้ศึกษา เรื่องต่างๆ อีกมากมายหลากหลายยากลืมเลือน ผมเขียนภาคต่อของมังกรจักรวาล ออกมาเพราะผมได้ตระหนักแล้วว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเพื่อการทวงจิตวิญญานคืนให้กับเพื่อนมนุษย์ที่ร่วมชะตาเดียวกับผมบนโลกใบนี้ในยุคนี้ที่มีครั้งเดียวในรอบพันปีนี้ผมหวังว่าพวกท่านจะอ่านมันด้วยจิตที่ปราศจากอคติ หรือมี ทิฐิใดตั้งไว้อยู่ในใจก่อนแล้ว ผมเพียงแต่นำความเร้นลับและความจริงแท้บางอย่างจาก ดวงจิตที่สูงส่งทั้งหลายมาสนทนากับพวกท่านเท่านั้น... ผมเชื่อมั่นว่าพวกท่านทุกคนที่ได้อ่านงานเขียน มังกรจักรวาล ชุดนี้ของผมไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างเด็ดขาด ไม่มีความบังเอิญแน่ในเรื่องนี้ เพียงแต่พวกเรายังไม่รู้ ความหมายแฝงเร้นของเรื่องราวทั้งหมดที่กำลังจะปรากฏออกมาใน "ละครโลก" ใบนี้อีกสามสี่ปีข้างหน้านี้เท่านั้น
ด้วยจิตคารวะ
สุวินัย ภรณวลัย
พฤษภาคม 1996
.....................................
"ครรลองโยคะ" เป็นภาคที่สามของหนังสือชุด "มังกรจักรวาล" เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นวิชาว่าด้วยทางรอดจากหายนะ หากเนื้อหาของ "เทพอวตาร" เป็นภารให้ภาพกว้างของวิถีทางที่จะช่วยให้รอดพ้นจากหายนะ "ครรลองโยคะ" ก็ลงลึกในรายละเอียดของหนทางนั้น ตามความเข้าใจหลังจากที่ได้อ่าน "ครรลองโยคะ" แล้ว ความหมายของคำว่า "โยคะ" มิได้หมายถึงวิธีการบริหารร่างกายเพื่อให้สมสัดส่วนตามที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกันเท่านั้นแต่ "โยคะ" คือ ระบบแห่งการฝึกกายและฝึกจิตใจควบคู่กัน อย่างเป็นขั้นตอน จนกระทั่งสามารถค้นพบอิสรภาพของจิตวิญญาณได้ ความหมายของโยคะในคัมภีร์อุปนิษัท ให้ความหมายวิถีของโยคะหรือครรลองโยคะว่า เป็นวิถีแห่งการรวม "กาย" ที่แข็งแกร่งมีพลัง กับ "จิต" ที่ได้รับการฝึกฝนมาจนมีวินัยดีแล้ว เพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาทางจิตวิญญาณ
ใน "ครรลองโยคะ" ดร.สุวินัย ได้พาท่านไปรู้จักกับ ท่านปรมหรรษา โยคะนันทะ ผู้ซึ่งเผยแผ่วิชาโยคะไปยังภาคพื้นตะวันตก และทำให้ชาวตะวันตกส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของตนสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีแห่งธรรมชาติ ท่านโยคะนันทะทำให้ท่านได้รู้จัก คุรุแห่งโยคะหลายท่าน ซึ่งล้วนเป็นผู้ได้รับการบูชานับถือของประชาชนในชมพูทวีปในฐานะที่เป็น "คุรุเทพ"
ความเป็นมาของเหล่า "คุรุเทพ" น่าสนใจอย่างยิ่งในวิถีคิด และวิถีปฏิบัติ ไม่ว่า "คุรุเทพ" จะเป็นเทพซึ่งอวตารลงมาเกิด หรือเป็นดวงจิตสามัญที่ลงมาเกิดในโลกมนุษย์ แต่คำสอนของท่านโยคีเหล่านี้ ล้วนเป็นคำสอนที่ทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้ และนำมาปฏิบัติ เพราะคำสอนเหล่านั้นล้วนเป็นคำสอนที่ฃ่วยให้ชีวิตดำรงอยู่ด้วยศานติและไมตรี ดังคำถามของโยคะนันทะ ซึ่งถามโยคีท่านหนึ่งว่า
"อาจารย์ครับ อาจารย์บอกกับผมว่า หากต้องการค้นหาพระเจ้าให้พบ ความรักเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ แล้วตัวอาจารย์ล่ะครับ การที่อาจารย์ยอมละทิ้งความสุขทางโลกและทรัพย์สินทั้งหลายเพื่อนำทางให้แก่ลูกศิษย์ และแสวงหาพระเจ้าด้วยตัวเองนี้ อาจารย์คิดว่าเป็นการสูญเสียโอกาสหรือเปล่าครับ"
"เปล่าเลย ตัวเราแค่ทิ้งเงินและความสำราญที่ไร้ความหมายและมีค่าเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ได้มาซึ่งมหาจักรวาลที่เปี่ยมไปด้วยบรมสุขอันเป็นนิรันดร์ต่างหาก เราไม่เคยคิดว่า ตัวเราต้องอดกลั้นความอยากเลยและไม่ได้คิดว่าตัวเราต้องสูญเสียหรือสละอะไรเลย ในสายตาของเรา คนจำนวนมากที่มองแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าต่างหากที่ต้องสูญเสีย หรือสละอะไรไปมากมาย เพราะพวกเขาเหล่านี้ยอมสละทิ้งของขวัญอันสูงสุดจากพระเจ้าเพื่อแลกมาซึ่งของเล่นบนโลกนี้ที่มีค่าน้อยนิดเหลือเกิน"
โคลงแห่งทางรอดของนอสตราดามุส ได้กล่าวถึง "วิชาของดวงอาทิตย์กับวิชาของดาวศุกร์จะแข่งกัน" วิชาของดวงอาทิตย์หรือที่ตีความกันว่าวิชาของวิถีบูรพา ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ พุทธศาสนา โยคะ เต๋า เซน ฮินดู ใน "ครรลองโยคะ" ดร.สุวินัยได้หยิบยก "วิชาพระอาทิตย์" ในคัมภีร์โยคะมาศึกษาท่านจะได้รับความรู้เรื่องโยคะอย่างกว้างขวาง เช่น คัมภีร์ "โยคสูตร" เรียบเรียงโดยมหามุนี ปตัญชลี, คัมภีร์ "หทะโยคะปฏิปิกา", คัมภีร์ "เกรันทะสัมหิตา" และคัมภีร์ "ศิวะสัมหิตา" นอกจากนี้ ดร.สุวินัย ยังได้ถ่ายทอดท่าบริหารกายแบบโยคะบางท่าด้วย
บทสุดท้ายของมังกรจักรวาล ภาคสาม คือหนึ่งในวิชาเพื่อการช่วยโลก "มวยไท้เก๊ก" ดร.สุวินัยกล่าวว่า หากมวยไท้เก๊ก ซึ่งท่านฝึกอยู่ไม่ได้อยู่ใน "ครรลองโยคะ" ก็เหมือนไก่ที่ได้พลอยซึ่งเป็นการฝึกไท้เก๊กเพื่อสุขภาพเท่านั้น ยังสัมผัสไม่ถึง "โยคะแห่งเต๋า" ซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการฝึกมวยไท้เก๊ก
ชีวิตประกอบด้วยร่างกายและจิต จิตต้องเป็นผู้ควบคุมกาย ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ด้วยความสุข ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะปล่อยให้กาย (สมองและความคิด) ครอบงำจิต วิถีบูรพาค้นพบถึงความจริงข้อนี้ ความรุ้ต่าง ๆ เช่นที่สอนโดยนักปราชญ์ นักบุญ หรืออวตารเทพ ทุกสายจึงมุ่งเน้นไป ที่ความเป็นอิสรภาพของจิต โลกหรือมนุษย์จะรอดพ้นจากหายนะก็อยู่ที่ความสามารถปลดปล่อยจิตจนกระทั่งจิตควบคุมกายได้ การค้นหาอิสรภาพแห่งจิตด้วยวิธีการพัฒนาสติเป็นวิถีทางที่แพร่หลายในประเทศไทยเพราะเป็นหนทางที่สั้นและปลอดภัย ครรลองโยคะ ซึ่งดร.สุวินัย นำมาเสนอเป็นอีกแนวทางหนึ่ง แต่ในที่สุด หนทางทั้งหลายย่อมมาบรรจบกันที่อิสรภาพแห่งจิตนั่นเอง