โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 26)
26. จอมคนเทียนแห่งธรรม (ต่อ)
(9)พระครูเทพโลกอุดร เป็นพระที่อยู่ในประเทศทิเบตตอนเหนือเมื่อ 800 กว่าปีก่อน ตัวท่านได้ฝึกวิชาลม 7 ฐานโดยผ่านการฝึก พลังอนันต์ (หรือพลังบุญ) และ พลังอมตะ (หรือพลังจิต) จนในที่สุด ตัวท่านสามารถเข้าถึงพลังแห่งอมตะจนมีอำนาจเหนือสรรพสิ่ง สรรพวัตถุ สรรพชีวิต และสรรพธรรมชาติทั้งปวง รวมทั้งเหนือมัจจุราชด้วย ด้วยเหตุนี้ ตัวท่านจึงบรรลุความเป็นพระมหาโพธิสัตว์ผู้มีสมญาว่า หลวงปู่เทพอุดรอิสระธรรมมุนีโพธิสัตว์ ผู้เป็น วิญญาณอมตะ หรือ “จิตศักดิ์สิทธิ์” ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติ คือ เลือกเกิด เลือกตายได้ตามใจปรารถนา โดยในชาตินี้ วิญญาณอมตะ ดวงนี้ ได้แบ่งภาคลงมาจุติเป็น หลวงปู่พุทธะอิสระ ผู้เป็น คุรุ ของ “เขา”
(10) ปริศนาที่ว่าใครคือ พระครูเทพโลกอุดร ที่ คุรุ เคยกล่าวว่าเป็น “ความลับของฟ้า” นั้น จึงน่าจะหมายถึง มีการดำรงอยู่จริงในเชิงภววิทยา (Ontology) ของวิญญาณอมตะ หรือ “จิตศักดิ์สิทธิ์” ดวงหนึ่ง ผู้มีสมญานามว่า หลวงปู่เทพอุดรอิสระธรรมมุนีโพธิสัตว์ ผู้รับหน้าที่ลงมาถ่ายทอด วิถีทางแห่งความหลุดพ้น ตามแนวพระโพธิสัตว์ให้แก่หมู่สรรพสัตว์ สรรพชีวิตทั้งหลายได้รับรู้ เพื่อนำเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตของตน โดยผ่านการ “อวตาร” หรือการแบ่งภาคลงมาเกิดเป็น ผู้นำทางจิตวิญญาณ ในแต่ละยุคสมัยตามที่ต่างๆ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยที่ล่าสุด ท่านได้แบ่งภาคลงมาเกิดเป็น หลวงปู่พุทธะอิสระ ผู้เป็น คุรุ ของลูกศิษย์จำนวนมาก
การตั้งข้อสังเกตหรือข้อสันนิษฐานดังข้างต้นนี้ ในหนังสือเล่มก่อนของผู้เขียนเรื่อง “ยามเฝ้าแผ่นดิน” (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, 2551) ผู้เขียนก็เคยตั้งข้อสังเกตมาแล้วถึง ความน่าจะมีการดำรงอยู่จริงในทางภววิทยา (Ontology) ของวิญญาณอมตะ หรือจิตศักดิ์สิทธิ์แห่งองค์จตุคามรามเทพ
(11) พอ พระครูเทพโลกอุดร ซึ่งการดำรงอยู่ใน สถานะที่เหนือโลก ของท่านเป็น ความเชื่อ ของคนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง ที่ยังเชื่อต่อไปอีกว่า ท่านได้แบ่งภาคลงมาเกิดเป็น หลวงปู่พุทธะอิสระ ในชาตินี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ หลวงปู่พุทธะอิสระ ไม่เคยมีครูเป็นตัวเป็นตนเลย จากคำบอกเล่าของตัวท่านเอง ท่านเคยกล่าวว่า
“ฉันไม่เคยมีครูเป็นตัวเป็นตนเลย การฝึกวิชาทางจิตของฉันทั้งหมดได้มาจากการที่ฉันได้ปลุก ครูผู้มีใจอารี (หรือจิตศักดิ์สิทธิ์) ที่อยู่ภายในดวงใจของฉันให้ตื่นขึ้นมาสอนตัวฉันเองทั้งสิ้น”
วิชาลม 7 ฐาน และ สมาธิพระโพธิสัตว์ ของท่าน ตัวท่านก็เป็นคนบอกเองว่า ท่านได้มาจากสมาธิทั้งสิ้น โดยไม่ได้เรียนรู้มาจากตำราเล่มใดเลย
(12) เพราะฉะนั้น ข้อสันนิษฐานของผู้เขียนเกี่ยวกับ เรื่องเร้นลับ อย่างเรื่องวิญญาณอมตะหรือ “จิตศักดิ์สิทธิ์” ดวงหนึ่งที่มีสมญาว่า หลวงปู่เทพอุดรอิสระธรรมมุนีโพธิสัตว์ ซึ่งแบ่งภาคลงมาจุติเป็น หลวงปู่พุทธะอิสระ นั้น หากท่านผู้อ่านเปิดใจให้กว้าง ก็คงไม่น่าถึงกับจะมองว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ “หลุดโลก” ไปนัก เพราะถ้าหากท่านผู้อ่านได้มีโอกาสอ่านเรื่องราวของหนุ่มน้อยชาวเชียงใหม่ผู้หนึ่งผู้มีพลังจิตและอภิญญา จนสามารถระลึกชาติได้ว่า ตัวเองเป็นจิตที่มหาเทพองค์พระนารายณ์ได้แบ่งภาคลงมาเกิดเป็นชาติที่ 3 ในช่วงสองพันกว่าปีมานี้ โดยชาติแรกเกิดเป็นฤาษีในภูเขาหิมาลัย ผู้สำเร็จอภิญญาชาติที่ 2 เกิดเป็นทหารในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถูกเรียบเรียงไว้ใน หนังสือภาษาไทยชื่อ “Super Richy : it ’s not easy to be me” (สำนักพิมพ์คนรู้ใจ, 2550)
ท่านผู้อ่านก็จะพบกับความจริงอันเร้นลับที่น่าตะลึงอย่างนึกไม่ถึง และไม่ควรมองข้ามไปว่า แค่เป็นเรื่องงมงายหรือความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น เพราะตัวผู้เขียนก็เคยผ่านเรื่องราวพิสดารเช่นนี้มามากมายเช่นกัน ในช่วงหนึ่งของชีวิตดังที่ “ศิษย์มังกร” ได้เอาเรื่องราวประสบการณ์พิสดารของผู้เขียนมาเรียบเรียงไว้ใน หนังสือชื่อ “ยอดคนมังกรจักรวาล Dragon returns” (สำนักพิมพ์มังกรบูรณ, 2551)
สรุปอย่างรวบรัดจากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นก็คือ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ความจริงของพุทธศาสนานั้น มีด้านที่เร้นลับและศักดิ์สิทธิ์ดำรงอยู่จริง แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่า คนเราแต่ละคนจะสามารถเข้าใจความหมายของด้านที่เร้นลับ และศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างไร รวมทั้งสามารถนำมาใช้พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต และยกระดับจิตวิญญาณของตนเองให้สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างไร
* * *
คำสอนเกี่ยวกับ พลังอนันต์ และ พลังอมตะ อันเป็น วิชาเพื่อการบรรลุความเป็นพุทธะและพระโพธิสัตว์ ที่ คุรุ ของ “เขา” ได้เขียนไว้มีใจความสำคัญดังต่อไปนี้
ผู้ที่จะฝึก พลังวิเศษ 2 ชนิดนี้ได้ ก่อนอื่นจะต้องมี สติ ฝึก สติ รักษา สติ ให้ได้ก่อน จึงจะสามารถเป็นตัวของตัวเอง รักษาพลัง สั่งสมพลัง ดูแลพลังและใช้พลังได้
บุญ คือ พลังอนันต์ เป็นพลังที่ไม่อาจวัดค่าได้ แต่สามารถสัมผัส และรับรู้ได้โดยที่ พลังแห่งบุญ หรือ พลังบุญ เป็นพลังที่สงบสุขและสันติต่อผู้อยู่ร่วม และผู้อยู่ใกล้ บุญ มี กรรม เป็นเจ้านาย กรรม เป็นผู้ควบคุม พลังบุญ
แต่ที่สำคัญ บุญเป็นอาหารของจิต แต่พลังของจิตเหนือกว่าพลังของบุญ เพราะพลังจิตเป็นพลังอมตะ จิตทุกดวงของคนเราล้วนมีพลังอมตะเท่าเทียมกัน ต่างกันที่แต่ละคยจะเข้าถึงจิตของตนเพื่อบรรลุถึงพลังอมตะได้มากน้อยเพียงไร อย่างไร เท่านั้น การที่คนเราจะเข้าถึงจิตของตนได้คนผู้นั้นจะต้องสามารถเปิดประตูวิญญาณไปรู้จักหน้าตาแห่งจิตแท้ๆให้ได้เสียก่อน
บุญ มีคุณลักษณะพิเศษที่ ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ แต่ จิต พิเศายิ่งกว่าบุญ เพราะจิตไม่มีรูปร่าง มีพลังที่ไม่มีใครจะทำลายได้แฝงอยู่ เป็นพลังที่พระพุทธองค์เรียกว่า พลังแห่งสุญญตา เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าถึง พลังจิต ก็คือผู้ที่เข้าถึงพลังแห่งสุญญตาอันเป็นอมตะและยิ่งใหญ่นี้
ผู้ที่เข้าถึง พลังจิต คือ ผู้ที่เข้าถึงจักรวาฬ ผู้ที่จะเข้าถึง พลังจิต ได้ต้องเข้าถึง พลังบุญ ก่อน เพราะ บุญเป็นเหตุแห่งพลังในจิต และจิตเป็นผลแห่งบุญ ทั้ง จิต และ บุญ ถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะผู้ที่ใจบุญและเจริญในบุญ ย่อมมีจิตที่สะอาด ไม่อาฆาต ไม่พยาบาท ไม่ริษยา ไม่เห็นแก่ตัว ไม่ละโมบ จิตที่ปราศจากขยะเหล่านี้ ย่อมเป็นจิตที่ง่ายต่อการเข้าสู่ขั้นสุญญตา แต่ก็ยังไม่ถึงสุญญตา เหตุเพราะยังมีอัตตา ความมีตัวตนอยู่ในผู้มีใจบุญ
กล่าวโดยสรุป บุญ คือ พลังอนันต์ ที่สามารถทำอะไรๆ ที่คนเราปรารถนาให้สำเร็จได้ดังใจนึก แต่ บุญ ก็ยังเป็นพลังงานที่รองลงมาจาก พลังงานอมตะแห่งจิต เพราะ “ผู้ที่เข้าถึงจิต ผู้ที่รวมจิต ผู้ที่รู้จักจิต ผู้ที่เข้าใจจิต คือผู้ที่สามารถอยู่เหนือโลกและมัจจุราชได้”
ถึงแม้คนส่วนมากยังปฏิเสธที่จะเรียนรู้เรื่อง จิต อยู่ก็ตาม แต่ทุกคนก็มี พลังจิต อยู่ดี เพียงแต่ยังไม่ได้พัฒนา และยังไม่รู้จักใช้มันอย่างถูกต้อง รวมทั้งยังไม่รู้จักวิธีรักษาเพิ่มเติม สะสม พลังจิต นี้เท่านั้น เพราะลำพังแค่ พลังอนันต์ อย่างเดียว ยังไม่สามารถผลักดันคนเราให้ถึงนิพพานได้ ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงสอนให้คนเราเข้าถึง จิต ของตน เพราะมีพลังงานชนิดเดียวเท่านั้น ที่สามารถทำให้คนเราเข้าถึงนิพพานได้ นั่นคือ พลังแห่งจิต อันเป็น พลังวิเศษ ที่เป็น พลังอมตะ ที่ต้องได้รับการฝึกปรือ ขัดเกลา พัฒนาโดย กระบวนการแห่งสามศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้น
พลังอมตะ หรือ พลังจิต นี้ ไม่ใช่ได้มาจากที่ไหน ไม่ใช่ได้มาจากที่อื่น ไม่ใช่ได้มาจากครูคนใด ไม่ใช่ได้มาจากพระพุทธเจ้าหรือเทพเจ้าองค์ใดประทานให้ แต่จะต้องได้มาจาก หัวใจที่เอื้ออารี และเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณงามความดี ที่ได้มาจากการทำกรรมดีที่เรียกว่า บุญ แต่ไม่ยึดติดในคำว่า บุญ ไม่หลงใหลในบุญ จนยกระดับจิตขึ้นสู่ขั้นสุญญตาอันแปลว่า ว่างและไม่มีอะไรได้แล้วเท่านั้น
เพราะฉะนั้น กระบวนการฝึกปรือจิตเพื่อเข้าถึงพลังอมตะจึงต้องเริ่มจากการที่คนผู้นั้นต้องดัดกาย วาจา ใจ ของตนให้เปี่ยมเต็มไปด้วยคำว่าบุญในทุกขณะจิตให้ได้เสียก่อน เมื่อกลายเป็นคนใจบุญ เป็นนักบุญ เป็นผู้มีบุญได้แล้วกายและจิตของคนผู้นั้นย่อมเดินไปสู่ประตูแห่งวิญญาณ ไปสู่พลังอมตะ ไปสู่จุดมุ่งหมายแห่งจิตวิญญาณของตนได้อย่างไม่ย่อท้อ ไม่เหนื่อยหน่าย ไม่อ่อนแอ และอย่างเป็นไปเองโดยธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้คนเราจึงต้อง "สะสมบุญเพื่อฝึกจิต" นี่คือประโยคของพระพุทธะผู้ยิ่งใหญ่ที่สอนให้คนเราได้กระทำ
คุรุสายโพธิสัตว์ หรือครูทางจิตวิญญาณที่เป็นผู้ให้ที่ให้ได้ทั้งชีวิตแก่ลูกศิษย์ทั้งหลาย เพื่อที่จะนำพาเหล่าผู้คนที่ต้องการบุญ หรือพลังบุญไปสู่พลังอมตะ โดยก้าวข้ามพลังอนันต์แห่งบุญนี้ให้จงได้
หน้าที่ของคุรุสายโพธิสัตว์นั้น นอกจากจะนำพาผู้คนเข้ามาสู่ประตูแห่งบุญแล้ว ท่านยังต้องสอนผู้คนเหล่านั้นให้รู้จักละวาง ปล่อยบุญของตนให้เป็น ผู้ว่าง ผู้ปราศจากอะไรทั้งสิ้น จึงจะสามารถก้าวล่วงพ้นบุญและเข้าไปสู่ประตูแห่งสุญญตาได้
อย่างไรก็ดี คนเราพึงตระหนักให้ได้ก่อนว่า มีแต่ผู้มีบุญเท่านั้นที่จะเข้าถึงพลังแห่งจิตหรือพลังอมตะได้ พระพุทธองค์ จึงสอนให้คนเราทำบุญ 10 อย่างอันเป็น วิธีเข้าถึงพลังงานอนันต์ อันละเอียดอ่อนยิ่งดังต่อไปนี้
(1) ให้ทาน (2) รักษาศีล
(3) ฟังธรรม (4) แผ่เมตตา
(5) เจริญภาวนา (6) ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง
(7) อ่อนน้อมถ่อมตน (8) ยินดีเมื่อเห็นคนอื่นทำดี
(9) ปฏิบัติธรรม (10) ทำความเห็นของตนให้ตรง และถูกต้อง
หากเปรียบตัวเราเป็นยานอวกาศที่ต้องการทะยานฟ้าเพื่อไปให้ “หลุดพ้น” จากแรงดึงดูดของโลก พลังบุญ คือ พลังงานที่จะผลักดันยานอวกาศนี้ให้พ้นจากแรงดึงดูดของโลก เมื่อพ้นจากแรงดึงดูดของโลกแล้ว ยานอวกาศต้องใช้พลังงานชนิดใหม่ คือ พลังจิต เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของการหลุดพ้น ซึ่งก็คือนิพพาน เพราะฉะนั้น หน้าที่ของคนเราที่เกิดมาก็คือ ต้องพัฒนาชีวิตของตนให้เข้าไปสู่พลังวิเศษ 2 ชนิดนี้เป็นสำคัญ จึงจะพ้นทุกข์ได้
พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ค้นพบเมื่อสองพันกว่าปีก่อนว่า พลังที่จะผลักดันจิตวิญญาณของมนุษย์ให้หลุดพ้นไปจากโลกนี้ มีอยู่ 2 ชนิด คือ พลังอนันต์หรือพลังบุญ กับ พลังอมตะหรือพลังจิต ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นโพธิสัตว์ทั้งหลาย จึงมีหน้าที่ที่จะชี้นำ สั่งสอน และเผยแผ่ วิถีทางแห่งความหลุดพ้นชนิดนี้ ให้แก่สรรพสัตว์ สรรพชีวิตทั้งหลายได้รับรู้ เพื่อนำไปพัฒนาชีวิตของตน ความหมายของ “เทียนแห่งธรรม” หรือการจุดปัญญากลางใจคน จึงต้องครอบคลุมถึงการให้ความรู้ วิถีทางแห่งความหลุดพ้นชนิดนี้แก่ผู้คนทั้งหลายด้วย การขับเคลื่อนของขบวนการยามเฝ้าแผ่นดินของพวกเรา จึงจะเป็นขบวนการของโพธิสัตว์โดยสมบูรณ์