50. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 50) 17/3/2552

50. โพธิสัตตบูรณาเทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 50) 17/3/2552

โพธิสัตตบูรณา:เทียนแห่งธรรมกับการบูรณาภูมิปัญญาเพื่อการกู้โลก (ตอนที่ 50)

50. ความเป็นมาของทุนนิยมสามานย์ในประเทศไทย กับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ต่อ)

อะไรคือ จิตแบบบูรณาการ หรือ โลกทัศน์แบบบูรณาการ ที่มาจาก ตัวตนเชิงบูรณาการ (integral self) ซึ่งเป็นระดับจิตใน จิตชั้นที่สอง ของโมเดลเกลียวพลวัต?

จะว่าไปแล้ว การตื่นตัวทางสังคมขนานใหญ่อย่างการก่อเกิด ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วง 3 ปีมานี้ เป็นสิ่งที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงในสังคมไทยได้รอคอยมานานแสนนานแล้ว เพราะนี่เป็น โอกาสทางประวัติศาสตร์ ที่เกิดขึ้นได้เพียงแค่นานๆ ครั้ง หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในชั่วชีวิตหนึ่งๆ ของคนเรา บัดนี้โอกาสนั้นได้มาถึงแล้ว ความใฝ่ฝันเกี่ยวกับ “การเมืองใหม่” เริ่มพอมีเค้ารางแห่งความเป็นจริงที่จะเป็นไปได้ แต่พวกเราก็ควรตระหนักด้วยเหมือนกันว่า การคาดหวังที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคนหรือแบบปฏิวัตินั้น มันไม่ค่อยสมจริงนัก หรือยากที่จะเป็นไปได้ในความเป็นจริง

จริงอยู่ การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยตัวของมันเองก็ได้ก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึก ขึ้นในคนหมู่มากที่กระโดดเข้ามาร่วม “กู้ชาติ” กับขบวนการนี้แล้ว แต่ถ้าหากพวกเราคาดหวังจะให้ การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เกิดขึ้นกับสังคมนี้จริง พวกเราก็ต้องตระหนักด้วยเหมือนกันว่า การเปลี่ยนแปลงที่พวกเราคาดหวังให้เกิดขึ้นนั้น มันจะต้องเป็น ผลลัพธ์ของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมการเมือง ของสังคมนี้ มิใช่ผลลัพธ์ของการปฏิวัติชั่วข้ามคืน

วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่จะก่อให้เกิด “การเมืองใหม่” และ “การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ” ได้นั้น จะต้องมาจาก โลกทัศน์แบบบูรณาการ ของระดับจิตใน จิตชั้นที่สอง มิใช่จากระดับจิตที่ต่ำกว่านั้นซึ่งเป็น จิตชั้นที่หนึ่ง โดยที่ โลกทัศน์แบบบูรณาการ เป็น โลกทัศน์ที่ยอมรับความชอบธรรม และความจำเป็นเชิงวิวัฒนาการของทุกๆ ขั้นตอนของระดับจิตในจิตชั้นที่หนึ่งก่อนหน้านี้อย่างไม่ปฏิเสธขั้นตอนหรือระดับจิตใดๆ ทั้งสิ้น โลกทัศน์แบบบูรณาการที่มาจากระดับจิตแบบบูรณาการของจิตชั้นที่สองนี้ เป็นสิ่งที่พวกโพสต์โมเดิร์นหรือพวกนักวิชาการ มีมสีเขียว ในจิตชั้นที่หนึ่งยังไม่อาจทำได้หรือทำใจยอมรับได้ และเป็นสิ่งที่ผู้อยู่ในระดับจิต มีมสีส้ม หรือพวกทันสมัยนิยมไม่อาจจินตนาการหรือนึกถึงได้

จิตสำนึกแบบบูรณาการ จักเติบโตขึ้นมาได้ก็ด้วยการยื่นมือเข้าไปหนุนช่วยจิตชั้นที่หนึ่งในระดับจิตต่างๆ ตั้งแต่ระดับจิต มีมสีแดง ของชาวรากหญ้า ระดับจิต มีมสีน้ำเงิน ของผู้รักชาติ ระดับจิต มีมสีส้ม ของนักปัจเจกนิยมผู้ต้องการเห็นประเทศชาติเจริญรุ่งเรืองไปด้วยดี และระดับจิต มีมสีเขียว ของปัญญาชนผู้รักความหลากหลายและความเสมอภาค ให้เติบโตไปด้วยกันในกระบวนการวิวัฒนาการทางจิตแบบรวมหมู่ที่เป็น “เกลียวพลวัต” กระบวนการเดียวกันนี้ อย่างไม่แบ่งแยก และไม่แตกแยก

ระดับความก้าวหน้าของการเกิด “การเมืองใหม่” ที่ข้ามพ้นหรือก้าวข้าม “การเมืองเก่า” จักต้องวัดด้วย ขอบเขตของการหลอมรวม (the scope of inclusion) ในการชี้นำเชิงวิวัฒนาการให้แก่สังคมนี้ และนี่เป็น ภารกิจทางประวัติศาสตร์ ที่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะต้องตระหนักให้มาก

เพราะความขัดแย้งทางโลกทัศน์แบบ 4 เส้าที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันที่เป็นการปะทะกันระหว่าง มายาคตินิยม (มีมสีแดง) จารีตนิยม (มีมสีน้ำเงิน) ทันสมัยนิยม (มีมสีส้ม) และ หลังทันสมัยนิยม (มีมสีเขียว) ภายใต้การต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วอำนาจใหญ่ โดยที่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้กลายมาเป็นขุมพลังสำคัญของหนึ่งในขั้วอำนาจ 2 ขั้วที่กำลังปะทะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอยู่นั้น

ถ้าหากขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยไม่มี โลกทัศน์แบบบูรณาการ มาเป็น “ฐานคิด” ในการชี้นำขบวนการของตนแล้ว ราคาของสงครามวัฒนธรรม ที่สังคมไทยต้องจ่ายในการที่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ลุกขึ้นมาต่อสู้โค่นล้มระบอบทักษิณที่เป็นทุนนิยมสามานย์นี้ก็คือ ความชะงักงันของสังคมไทยเป็นเวลาหลายปีหลังจากนี้ เพราะมันจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่มีใครฟังใคร ขณะที่พวกมีมสีเขียวซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการก็จะออกมาวิพากษ์ขบวนการพันธมิตรฯ โดยที่วาทกรรมของพวกมีมสีเขียวก็จะถูกคนในระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นพวกมีมสีส้มกลายพันธุ์ (อำนาจนิยม) “หลอกใช้” มาเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นพวกมีมสีแดงในภาคชนบท เพื่อใช้เป็นหมากเบี้ยให้การทำ “สงครามประชาชน” จนนำมาซึ่งความแตกแยกทางสังคมที่จะยืดเยื้อและยากที่จะเยียวยาได้

มันจึงเป็น “ปฏิบท” (paradox) ทางประวัติศาสตร์ หรือเรื่องที่ฟังดูแปลกแต่จริงที่ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน จะมีก็แต่ขุมพลังของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะสามารถ “ทะลุทะลวง” หรือผ่านพ้นความชะงักงันของสังคมไทยในครั้งนี้ไปได้ ด้วยการที่ขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นฝ่ายยกระดับจิตสำนึก และโลกทัศน์ของพวกตนเข้าสู่ “กระแสแห่งจิตชั้นที่สอง” หรือระดับจิตแบบบูรณาการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการ “ชี้นำ” ทั้งสังคมโดยรวม โดยจะต้องไม่หยุดอยู่แค่การสร้างวาทกรรมแบบราชาชาตินิยม หรือวาทกรรมแบบการเมืองใหม่เท่านั้น แต่จะต้องสามารถนำเสนอข้อเสนอหรือ แนวทางการปฏิรูปเชิงบูรณาการ ที่คนทั้งสังคมในทุกระดับจิตยอมรับได้ด้วย

ปัจจุบันโลกของเรากำลังอยู่ในช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤตในระดับโลก ซึ่งทวีความซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกที และก็มีความผันแปรอย่างรวดเร็วและรุนแรงในอัตราเร่ง ทำให้มีน้อยคนนักที่จะสามารถให้คำตอบ หรือวิสัยทัศน์ที่แจ่มชัดปราศจากข้อกังขาได้ เนื่องเพราะภาพของโลกเราในปัจจุบันนี้ มีความใกล้เคียงกับรูปภาพของ ปิกัสโซ เป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ ถ้าจ้องดูภาพนั้นเป็นส่วนๆ ก็พอจะดูรู้เรื่อง ดูแล้วเหมือนเข้าใจว่าเป็นรูปอะไร แต่ครั้นพอถอยออกมาดูห่างๆ จนเห็นภาพโดยรวมแล้ว กลับดูสับสนยิ่งจนไม่รู้ว่า รูปภาพนี้ต้องการจะบอกอะไรกันแน่

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่ในยุคนี้ รวมทั้งตัวยุคสมัยนี้เองก็กำลังหลงทาง หรือไม่แน่ใจว่า สมควรไปในทิศทางใด หรือหาความหมายของการมุ่งไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งไม่ค่อยเจอ สาเหตุหนึ่งนั้นก็เพราะว่าภูมิปัญญาแบบโพสต์โมเดิร์นของพวกมีมสีเขียวนั้น ยังไม่สามารถนำเสนอพาราไดม์หรือกระบวนทัศน์ทางความคิดที่สามารถอรรถาธิบายโลกนี้ได้อย่างเป็นองค์รวม รวมทั้งยังไม่สามารถให้เข็มมุ่งแก่ทิศทางกระแสของยุคสมัยนี้ได้นั่นเอง เนื่องจากพวกเขาก็ “หลงทาง” ด้วยเช่นกัน

อีกสาเหตุหนึ่งนั้นคงเป็นเพราะว่า มุมมองที่หลากหลายของพวกนักวิชาการส่วนใหญ่เป็นแค่การขยายมุมมองเฉพาะส่วนของตนจากแง่มุมต่างๆ ตามความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาของตนไปขยายเป็น ภาพรวม เท่านั้น ซึ่งวิธีการเช่นนี้มันใช้ไม่ค่อยได้ผลอีกต่อไปแล้วในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นกรณีที่ ภาพรวม นั้นเป็น ภาพแบบรูปภาพของปิกัสโซ ที่ดูโดยรวมแล้วสับสนยุ่งเหยิง

ถ้าจะมีแนวมองใดที่สามารถอรรถาธิบายโลกปัจจุบันที่เป็นรูปภาพของปิกัสโซนี้ได้ แนวมองนั้นจะต้องเป็นกระบวนทัศน์ทางความคิดแบบบูรณาการหรือเป็น วิสัยทัศน์เชิงบูรณาการ (integral vision) ที่สามารถบูรณาการและหลอมรวมมุมมองที่หลากหลายที่ “ถูกต้องแบบเฉพาะส่วน” เหล่านี้เข้ามาประสานกันได้ ภายใต้กรอบความคิดที่ชัดเจนกรอบหนึ่ง

การจะนำเสนอ มุมมองเชิงบูรณาการ เช่นที่ว่านี้ได้ ก่อนอื่นจะต้องมีความเข้าใจเรื่อง วิวัฒนาการของจักรวาล (cosmos) เสียก่อน ปัจจุบันนี้เป็นที่รู้กันแล้วว่า พื้นที่ว่าง (space) ของจักรวาลกำลังขยายตัวออกไปในทุกทิศทางด้วยความเร็วที่คงที่อยู่ตลอดเวลา การที่จักรวาลกำลังขยายตัวอยู่ตลอดเวลา แม้ในปัจจุบันย่อมหมายความว่า ถ้าสามารถย้อนเวลาถอยหลังกลับไปได้เรื่อยๆ จักรวาลนี้ก็จะอยู่ในสภาพที่ค่อยๆ หดตัวเล็กลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเป็นแค่จุดๆ หนึ่ง ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในเวลาใดเวลาหนึ่ง

จุดๆ นั้นคือ จุดเริ่มต้นของจักรวาล และย่อมเป็นจุดที่ “เวลา” กับ “พื้นที่” ซึ่งต่างก็เป็น “ภาชนะ” ของจักรวาลได้ถูกสร้างขึ้นพร้อมๆ กับการก่อเกิดของจักรวาล หากจักรวาลเคยมีช่วงพริบตาแห่งการก่อเกิด แล้ว พลัง อะไรเล่าที่ก่อกำเนิดจักรวาลขึ้นมา? วิทยาศาสตร์สมัยใหม่สามารถอธิบายให้พวกเราเข้าใจได้ว่า จักรวาลเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่วิทยาศาสตร์ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนถึง พลังแห่งการสร้างสรรค์ จักรวาลนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักปรัชญาโบราณ หรือปราชญ์โบราณอธิบาย พลัง นั้นว่าคือ เต๋า (ของจีน) คือ พรหมัน (ของฮินดู) คือ ธรรมจิต (spirit ในคำสอนจิตวิญญาณของตะวันตก)

หากจักรวาลที่กำลังขยายตัวอยู่อย่างไม่หยุดยั้งนี้เป็น ความจริง ที่ตัววิทยาศาสตร์เองก็ปฏิเสธไม่ได้แล้วไซร้ จักรวาลที่กำลังขยายตัวอยู่ ก็คือจักรวาลที่กำลัง “วิวัฒนาการ” ตัวมันเองอยู่ และประวัติศาสตร์ของจักรวาลก็คือ ประวัติศาสตร์แห่งการขยายตัวของเวลาและพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมประวัติศาสตร์แห่งการวิวัฒนาการของสรรพสิ่งทั้งปวงเอาไว้ทั้งหมดทั้งสิ้น (history of everything)

จักรวาล ถือกำเนิดเมื่อสิบหกพันล้านปีก่อน โลกใบนี้ ถือกำเนิดเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน ชีวิต เริ่มถือกำเนิดบนโลกใบนี้เมื่อ 3,600 ล้านปีก่อน แล้วหลังจากนั้นอีกไม่น้อยกว่า 3,600 ล้านปี มนุษยชาติ ถึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็น โฮโมอีเร็คตัส เมื่อ 1 ล้านปีก่อน และเป็น โฮโมซาเปียน เมื่อ 2 แสนปีก่อนเริ่มพัฒนาภาษาพูด วาดภาพหยาบที่ผนังถ้ำได้เมื่อ 25,000 ปีก่อน เริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง เริ่มการเกษตรกรรมได้เมื่อ 12,000 ปีก่อน และเริ่มพัฒนาตัวอักษรสำหรับบันทึกเรื่องราวได้เมื่อ 5,000 ปีมานี้เท่านั้นเอง

ในการดำรงอยู่และขยายตัวของจักรวาลนั้น ตัวจักรวาลเองในฐานะที่เป็น “ระบบ” (system) อย่างหนึ่งก็ต้องปล่อยพลังงานจำนวนมหาศาลออกมาอยู่ตลอดเวลา จะเห็นได้ว่า ในท่ามกลางกระบวนการวิวัฒนาการนับเป็นพันล้านปีของจักรวาลนี้ ตัวจักรวาลเองต้องใช้พลังงานมากมายมหาศาลขนาดไหนกว่า ชีวิต จะถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ และกว่า มนุษย์ จะปรากฏตัวขึ้นมาในจักรวาลนี้ได้ นี่ยังไม่นับว่า จักรวาลต้องรอคอยมานานแสนนานขนาดไหนกว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” ที่มีทั้งจิตสำนึก และสติปัญญาที่สูงมากพอที่จะเข้าใจกำเนิด ธาตุแท้และวิวัฒนาการของตัวจักรวาลเองได้

ชีวิต จึงเป็นสิ่งสูงส่งยิ่งนักและมีคุณค่ายิ่งนัก เพราะฉะนั้นการได้เกิดมาเป็น มนุษย์ จึงเป็นสิ่งประเสริฐอย่างยิ่ง และเป็นโอกาสอันมีค่าที่ยากจะหาสิ่งใดเทียบได้ ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมมองใดๆ ก็ตาม เพราะ ชีวิตคือการเผยตัวออกมาของจักรวาล และมนุษย์คือการเผยตัวออกมาของจิตจากชีวิต ซึ่งก็เป็นจิตจากจักรวาลด้วย

จักรวาล (cosmos) ในสายตาของนักวิทยาศาสตร์ ยังเป็นเพียงแค่ จักรวาลทางกายภาพ เท่านั้น ซึ่งแม้จะมีความสำคัญขึ้นพื้นฐานเพียงไหนก็ไม่มีวันสมบูรณ์ในความเข้าใจได้ เหมือนกับที่ต่อให้ “ร่างกาย” มีความสำคัญขั้นพื้นฐานต่อชีวิตเพียงไหน ก็ไม่มีวันสมบูรณ์ในความเข้าใจต่อชีวิต ซึ่งยังมี “จิต” อยู่ด้วยได้

ด้วยเหตุนี้ โลกทัศน์แบบบูรณาการ ที่ “ก้าวข้ามและหลอมรวม” วิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย จึงมอง จักรวาล (cosmos) ว่าเป็น จักรวาล (kosmos) หรือ จักรวาลหลากมิติ ที่บูรณาการมิติทางกายภาพ มิติทางชีวภาพ มิติทางสังคมอารยธรรม และมิติทางจิตใจ-จิตวิญญาณเข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยเรียก จักรวาฬ (kosmos) นี้ว่า ธรรมจิต (Spirit) ซึ่งเป็นสิ่งเดียวกับเต๋า พรหมัน สิ่งนั้นสุญญตา ตถตา (ความเป็นเช่นนั้นเอง) ธรรมกาย พุทธภาวะ พระเจ้า ฯลฯ (แต่หลังจากนี้ไปจะเรียกว่า จักรวาฬ หรือ ธรรมจิต เท่านั้น เพื่อความกระชับในการสื่อความ)

โลกทัศน์แบบบูรณาการ นั้นมีมุมมองว่า ความเป็นไปของสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนเป็นการคลี่คลายเผยตัวออกมาของธรรมจิตหรือจักรวาฬ ซึ่งโดยตัวมันเอง ก็เป็นกระบวนการแห่งวิวัฒนาการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุดของจักรวาฬเลยทีเดียว ตัววิวัฒนาการเองก็มีทั้ง การพัฒนาด้านนอก และ การพัฒนาด้านใน ควบคู่กันไป โดย การพัฒนาด้านนอก นั้น เป็นเรื่องของการวิวัฒนาการไปสู่ ความซับซ้อนเชิงวัตถุ (material complexity) ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ การพัฒนาด้านใน เป็นเรื่องของการวิวัฒนาการคุณภาพด้านลึกเชิงจิตสำนึกที่เพิ่มความล้ำลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ในการวิวัฒนาการ ด้านนอก จักรวาฬได้พัฒนาและเผยตัวออกมา โดยเริ่มจาก แร่ธาตุ ตามมาด้วย พืช ตามมาด้วย สัตว์ ตามมาด้วย มนุษย์ และตามมาด้วย อริยบุคคล (mystic) หรือ คนที่เข้าถึงความเร้นลับแห่งความจริงของชีวิตและจักรวาฬ ส่วนในวิวัฒนาการ ด้านใน จักรวาฬได้พัฒนาและเผยตัวออกมา โดยเริ่มจาก วัตถุ (matter) ตามมาด้วย พลังชีวิต (vitality) ตามมาด้วย อารมณ์ ตามมาด้วย จิตใจ (mind) และตามมาด้วย ญาณทัสนะ (intuition)

แก่นแท้แห่งหลักการวิวัฒนาการของจักรวาฬ ก็คือ การก้าวข้าม และหลอมรวม (transcend and include) เราจะเห็นได้ว่า พืช ได้ก้าวข้าม แร่ธาตุ เหมือนกับที่ สัตว์ ได้ก้าวข้าม พืช และ มนุษย์ ได้ก้าวข้าม สัตว์ ขณะที่ อริยบุคคล ก็ได้ก้าวข้าม มนุษย์ปุถุชน เช่นกัน หรือพูดง่ายๆ ได้ว่า พืชมีวิวัฒนาการมากกว่าแร่ธาตุ สัตว์มีวิวัฒนาการมากกว่าพืช มนุษย์มีวิวัฒนาการมากกว่าสัตว์เดียรัจฉาน และอริยบุคคลมีวิวัฒนาการมากกว่ามนุษย์ปุถุชน คือมีความเป็นมนุษย์ที่แท้ที่สมบูรณ์มากกว่าปุถุชน แต่ในขณะเดียวกัน พืชก็รวมความเป็นแร่ธาตุอยู่ในตัว เหมือนกับที่สัตว์ก็รวมความมีพลังชีวิต (vitality) ที่พืชมีอยู่ในตัว และเหมือนกับที่มนุษย์ก็รวมความเป็นสัตว์ (ที่มีความรู้สึก) อยู่ในตัว และก็เหมือนกับที่อริยบุคคลก็รวมความเป็นมนุษย์ (ที่คิดเป็น) อยู่ในตัวเช่นกัน

ลำพังแค่การมีมุมมองแบบวิวัฒนาการข้างต้น ยังไม่ใช่จุดเด่นของ โลกทัศน์แบบบูรณาการ เพราะ ปรัชญาแบบวัตถุนิยมวิภาษ (dialectic materialism) ของฝ่ายซ้าย ก็สามารถที่จะมีความเข้าใจแบบนี้ได้เช่นกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ปรัชญาบูรณาการ ของโลกทัศน์แบบบูรณาการแตกต่างไปจากปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษอย่างสิ้นเชิงก็คือ

ปรัชญาบูรณาการ (integral philosophy) ของ โลกทัศน์แบบบูรณาการ นั้น ยอมรับในเรื่อง วิภาษวิธี (dialectic) ของวิวัฒนาการ (evolution) กับอววัฒนาการ (involution) หรือสภาพก้าวหน้าแบบย้อนกลับ ที่ถูกนำเสนอเป็นครั้งแรกโดย ศรี อรพินโธ อัจฉริยะทางจิตชาวอินเดียในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (เรื่องราวของ ศรี อรพินโธ มีอยู่ในงานเขียนเรื่อง “ยามเฝ้าแผ่นดิน” สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ พ.ศ. 2551 ของผู้เขียน) ที่อธิบายว่า กระบวนการทั้งหมดของ จักรวาฬ เริ่มจาก อววัฒนาการ (involution) ที่ ธรรมจิต (Spirit) ได้ “อวตาร” ลงมาเป็นวัตถุธาตุ หรือเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวาลทางกายภาพ ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเริ่มต้นของ วิวัฒนาการ (evolution) ของจักรวาลจากแร่ธาตุไปสู่พืช สู่สัตว์ สู่มนุษย์ปุถุชน และไปสู่ อริยบุคคล หรือ เลิศมนุษย์ ซึ่งเป็นกระบวนการวิวัฒนาการจากสิ่งหยาบสุดไปสู่สิ่งที่ละเอียดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไปสู่ ขั้นสูงสุดของวิวัฒนาการ นั่นคือ การกลับไปสู่ ธรรมจิต อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดของจักรวาฬด้วย

โดยความเข้าใจถึงวิภาษวิธีระหว่าง วิวัฒนาการ กับ อววัฒนาการ ในฐานะที่เป็น กระบวนการแห่งการเคลื่อนไหวของจักรวาฬ (Spirit-in-Action) อย่างเช่นข้างต้นนี้ เราจึงจะไม่ตกลงไปใน หลุมพรางทางความคิด ของปรัชญาแบบวัตถุนิยมที่มองกระบวนการวิวัฒนาการว่า เป็นแค่เรื่องบังเอิญที่ปราศจากจุดประสงค์หรือเจตนารมณ์ใดๆ แต่เราจะมองได้อย่างทะลุซึ้ง และอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนว่า ทุกสรรพสิ่งในทุกๆ มิติบนโลกใบนี้ ล้วนต่างเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางกระบวนการแห่งวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ของจักรวาฬที่พัฒนา และเผยตัวออกจากสิ่งหยาบสุดมุ่งไปสู่สิ่งละเอียดสุดในระดับของจิตวิญญาณ มุ่งไปสู่สิ่งที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เชิงวัตถุ แต่ก็ไปสู่สิ่งที่ล้ำลึกยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทางจิตวิญญาณ

เพราะฉะนั้น คุณค่าและความหมาย รวมทั้งภารกิจทางประวัติศาสตร์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงต้องและควรต้องถูกกำหนดในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแห่งวิวัฒนาการอันยิ่งใหญ่ของจักรวาฬนี้ โดยใช้ความเข้าใจเรื่องของระดับจิตตาม โมเดลเกลียวพลวัต ที่ได้กล่าวไปแล้วเป็นเข็มทิศชี้ทาง แต่การที่คนในขบวนการพันธมิตรฯ จะรับรู้สรรพสิ่งด้วยมุมมองแบบบูรณาการนี้ได้ ชาวพันธมิตรฯ จะต้องมีความเข้าใจเรื่อง หน่วยของสรรพสิ่ง หรือ หน่วยองค์รวม (holon) เสียก่อน เหมือนอย่างที่ การวิเคราะห์เรื่อง “สินค้า” เป็นหน่วยวิเคราะห์ที่สำคัญในการศึกษาเศรษฐกิจทุนนิยมฉันใด การวิเคราะห์เรื่อง “หน่วยองค์รวม” (holon) ก็มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาสรรพสิ่ง (everything) ฉันนั้น






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้