(1) ความมั่งคั่งปฏิวัติกับวิชันของทอฟฟ์เลอร์ (30/3/53)

(1) ความมั่งคั่งปฏิวัติกับวิชันของทอฟฟ์เลอร์ (30/3/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

1. ความมั่งคั่งปฏิวัติกับวิชันของทอฟฟ์เลอร์




ผมเป็นแฟนพันธุ์แท้คนหนึ่งของ อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ ผู้เป็นนักอนาคตศาสตร์ชื่อดังระดับโลก เพราะได้ติดตามอ่านงานเขียนของเขาทุกเล่มตั้งแต่เล่มแรกคือ “Future Shock” ซึ่งตีพิมพ์ออกมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1970 จะว่าไปแล้ว ผมได้อ่าน “The Third Wave” (ค.ศ. 1980) ของเขาก่อน แล้วชอบมากจึงไปเสาะหา “Future Shock” มาอ่านต่อ จากนั้นอีกสิบปีต่อมา ทอฟฟ์เลอร์ก็ได้เขียน “Power Shift” (ค.ศ. 1990) อันโด่งดังออกมา กลายเป็นหนังสือชุดไตรภาคที่ขึ้นชื่อที่สุดของเขา เพราะงานเขียนแต่ละเล่มของเขาใช้เวลาบ่มเพาะความคิดถึงสิบปีเต็มกว่าจะเขียนออกมาได้

ความที่ทอฟฟ์เลอร์เคยได้รับอิทธิพลทางความคิดฝ่ายซ้าย หรือลัทธิมาร์กซ์มาก่อนในช่วงวัยหนุ่ม หรือก่อนที่ตัวเขาจะพลิกผันตัวเองมาเป็นนักเขียนแนวอนาคตศาสตร์นามอุโฆษ จึงทำให้วิชันหรือกรอบความคิดของเขามีลักษณะคล้ายคลึง หรือได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์มาไม่ใช่น้อย เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่วิชันเชิงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของทอฟฟ์เลอร์ ที่นำเสนอออกมาเป็น ทฤษฎี 3 คลื่น โดยคลื่นลูกที่หนึ่งคือ สังคมเกษตรกรรม คลื่นลูกที่สองคือ สังคมอุตสาหกรรม

และคลื่นลูกที่สามคือ สังคมความรู้ จะมีความคล้ายคลึงกับทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์ ที่อธิบายว่า สังคมมนุษย์มีพัฒนาการจากสังคมทาสไปสู่สังคมศักดินา ไปสู่สังคมทุนนิยม และจะไปสู่สังคมนิยมในที่สุด โดยความคล้ายคลึงนี้ เป็นความคล้ายคลึงในแง่วิธีคิด แต่ของทอฟฟ์เลอร์มีความยืดหยุ่นทางความคิดสูงกว่า และมีความเข้าใจในบทบาท และพลังทางนวัตกรรมของเทคโนโลยีมากกว่าของลัทธิมาร์กซ์

แม้แต่ความเข้าใจในเรื่อง “อำนาจ” (power) ก็เช่นกัน ในหนังสือ “Power Shift” (การเปลี่ยนย้ายอำนาจ) ของเขา ทอฟฟ์เลอร์ได้แสดงให้เห็นว่า ตัวเขาได้ “ก้าวข้าม” ขีดจำกัดในความเข้าใจเรื่องอำนาจของลัทธิมาร์กซ์ไปได้อย่างสิ้นเชิงแล้ว เมื่อทอฟฟ์เลอร์ได้อธิบาย กระบวนการเปลี่ยนย้ายของอำนาจ จาก ปืน (ความรุนแรง) ไปสู่ ทุน และไปสู่ ความรู้ ในฐานะที่เป็น ทิศทางแห่งพลังขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้อ่านหนังสือ “The Third Wave” กับ “Power Shift” ของทอฟฟ์เลอร์ควบคู่กัน ผู้อ่านจะได้รับกรอบความคิด และมุมมองหรือวิชันทางประวัติศาสตร์ชุดหนึ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ อนาคตที่กำลังเผยตัวออกมาของสังคมมนุษย์ ที่มีพลังในการอธิบายสูงกว่าทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะไม่ใช่วิชันที่สมบูรณ์ที่สุดในสายตาของผมก็ตาม

หนังสือ “Revolutionary Wealth” (ค.ศ. 2006) ของทอฟฟ์เลอร์ (ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์มติชน, พ.ศ. 2552) ถือเป็นงานเขียนที่สืบต่อจากงานเขียนของเขาเรื่อง “Creating a New Civilization) ในปี ค.ศ. 1995 แต่ให้ภาพที่คมชัดขึ้น และเป็นรูปธรรมมากกว่างานชิ้นนั้นเป็นอย่างมาก เพราะจะว่าไปแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 จนถึงปัจจุบัน เวลาก็ผ่านไปถึง 15 ปีเต็ม มิหนำซ้ำยังเป็น 15 ปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสื่อสารในระดับโลก ในขั้นที่เรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า “การปฏิวัติ” นั่นคือ การปฏิวัติอินเทอร์เน็ต ที่ได้เปลี่ยนรูปโฉมการทำงาน การผลิต การเรียนรู้ และความสัมพันธ์ของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง

จึงถือได้ว่า หนังสือ “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” เล่มนี้ของทอฟฟ์เลอร์ เป็นงานเขียนที่เติมเต็ม วิชันแห่งอนาคต ตลอด 40 ปีแห่งงานเขียนเชิงอนาคตศาสตร์ของเขาให้สมบูรณ์...วิชันที่มองโลกในแง่ดี (เพียงด้านเดียว?) ของตัวเขา

ความน่าสนใจของหนังสือ “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” เล่มนี้อยู่ที่มุมมองของทอฟฟ์เลอร์ที่ให้ความสนใจกับ ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก (deep fundamentals) อันเป็นปัจจัยที่นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั่วไปไม่ได้ให้ความสนใจมากเท่าไหร่นัก เมื่อเปรียบเทียบกับนักคิดนักทฤษฎีทางด้านการจัดการ และการบริหารธุรกิจ

ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก ที่ว่านี้ ได้แก่ เวลา พื้นที่ และความรู้ โดยที่ตัวทอฟฟ์เลอร์เองกลับไม่ได้ให้ความสนใจกับปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญมากเช่นกัน แต่ไม่เคยอยู่ในความสนใจของเขาเลยตลอด 40 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ ระดับจิต (levels of consciousness) ของผู้คนซึ่งเป็นปัจจัยในระดับ โครงสร้างเชิงลึก (deep structure) คงเป็นเพราะสาเหตุนี้กระมังที่ทำให้วิชันของทอฟฟ์เลอร์จึงยังไม่สมบูรณ์ และด้านเดียว (มองโลกในแง่ดีเกินไป) ในสายตาของผม

อย่างไรก็ดี บทเสนอของทอฟฟ์เลอร์เกี่ยวกับ การเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก ถือว่าเป็นมุมมองที่สำคัญมากในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะสืบเนื่องมาจากทฤษฎี 3 คลื่นของทอฟฟ์เลอร์ เมื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ ระบบการสร้างความมั่งคั่ง ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้พวกเราได้เรียนรู้ว่า...

คลื่นความมั่งคั่งลูกที่สามที่กำลังไหลบ่าอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ในขณะนี้ได้ “ท้าทาย” หลักการทั้งหมดของระบบอุตสาหกรรมแบบคลื่นลูกที่สอง ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิชาเศรษฐศาสตร์กระแสหลักทั้งหลาย เพราะปัจจัยการผลิตแบบอุตสาหกรรมดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นที่ดิน แรงงาน หรือแม้แต่ทุนก็กำลังถูกแทนที่ด้วยความรู้ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะเจาะจง และมีความลึกซึ้งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นได้จาก ในขณะที่ระบบความมั่งคั่งแบบคลื่นลูกที่สองใช้การทำให้สินค้าทุกอย่างเป็น แมส (mass) มาเป็นรูปแบบหลักของวิถีการผลิต และวิถีการตลาด แต่ระบบความมั่งคั่งแบบคลื่นลูกที่สามในปัจจุบันกลับกำลังสลายความเป็นแมสของกระบวนการเหล่านั้น สิ่งนี้ย่อมทำให้โครงสร้างองค์กรธุรกิจที่เป็นลำดับชั้นในแนวตั้ง (vertical hierachies) ซึ่งเป็นรูปแบบหลักขององค์กรธุรกิจในคลื่นลูกที่สองถูกแปลงให้ “แบนลง” หรือเป็นแนวราบมากยิ่งขึ้น หรือเป็นเครือข่ายมากยิ่งขึ้น แต่นี่เป็นแค่ จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงขั้นมูลรากในระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต และโครงสร้างองค์กรธุรกิจที่จับต้องได้เท่านั้น

เพราะการขยายตัวของคลื่นความมั่งคั่งที่พองขยายออกไปทั่วโลกในอัตราความเร็วที่ไม่เท่ากันนั้น ทำให้บางประเทศอย่างประเทศไทย ประเทศจีน ประเทศบราซิล และประเทศอินเดียเกิดปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจที่ คลื่นทั้งสามลูกทับซ้อนกัน และปะทะกันเองพร้อมๆ กับต่างก็ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันภายในประเทศเดียวกัน กล่าวคือ ในประเทศเดียวกันนี้ เรามีทั้งผู้ที่ยังชีพด้วยการเก็บของป่า มีชาวนาที่ไร้ที่ทำกินจึงต้องเข้ามาบุกรุกป่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการล่มสลายของสังคมการเกษตรแบบคลื่นลูกที่หนึ่ง แล้วยังมีชาวนาที่ทิ้งชนบทเข้าเมืองเพื่อหางานในโรงงานคลื่นลูกที่สอง รวมทั้งมีชนชั้นกลางที่มีการศึกษาสูง และชนชั้นนำที่บริหารธุรกิจล้ำยุคแบบคลื่นลูกที่สาม

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ถึงแม้พวกเราจะเป็น “คนไทย” เหมือนกัน แต่ก็เป็น “คนไทย” ที่ใช้ชีวิตที่แตกต่างกันถึง 3 รูปแบบราวกับอยู่กันคนละโลก อันเป็นโลก 3 ใบ และระบบความมั่งคั่งคนละระบบดำรงทับซ้อนกันอยู่ภายในประเทศเดียวกันนี้เอง สรุปสั้นๆ ก็คือ แม้เราจะเป็น “คนไทย” เหมือนกันก็จริง แต่ชีวิตและโลกของเราต่างกันเหลือเกิน

ทอฟฟ์เลอร์ ยังบอกอีกว่า สถาบันต่างๆ ในสังคม และวัฒนธรรมที่เคยมีมาล้วนถูกสั่นคลอน เมื่อระบบความมั่งคั่งสองระบบหรือมากกว่าวิ่งมาปะทะกัน เนื่องจากไม่มีระบบความมั่งคั่งใดสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่มีสังคม และวัฒนธรรมมารองรับสนับสนุน เมื่อระบบความมั่งคั่งสองระบบที่แตกต่างกันวิ่งมาปะทะกัน ก็ย่อมทำให้สถาบันต่างๆ ในสังคมรวมทั้งคุณค่า วัฒนธรรมต่างๆ ที่เคยมีมา ต้องถูกโยกคลอนเป็นธรรมดา

ใช่หรือไม่ว่า การก่อเกิดของระบอบทักษิณ คือ รูปการที่สามานย์และกลายพันธุ์ของระบบความมั่งคั่งจากการโคตรโกงที่ฉวยประโยชน์จากเทคโนโลยีของคลื่นลูกที่สามประสานเข้ากับสันดานการโกงบ้านกินเมืองของพวกนักการเมืองแบบเก่า จึงนำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองและทางสังคม รวมทั้งความเสื่อมทรุดของสถาบันหลักต่างๆ ในสังคมไทย






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้