วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่

ในบทส่งท้าย ของข้อเขียนชุดนี้ของผม ซึ่งกล่าวถึง วิสัยทัศน์เพื่อป้องกันการล่มสลายของสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากหายนภัยจากภาวะโลกร้อน ผมจะขอบรรยายสรุปใจความหลักๆ ของข้อเขียนชุดนี้ รวมทั้งรวบรวม แนวทางเชิงปฏิบัติ และนโยบายต่างๆ ที่ผมได้นำเสนอมาทั้งหมดในงานเขียนชิ้นนี้ มาสรุปสั้นๆ อีกครั้งในที่นี้ เพื่อความสะดวกในการที่จะนำไปศึกษา และต่อยอดองค์ความรู้สืบต่อไป

ไม่มีใครอยู่เหนือวิถีธรรมชาติได้หรอก หากชาวโลกยังคงยึดอัตตาแห่งตนเป็นที่ตั้งในการสัมพันธ์กับธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตกอยู่ในวังวนของวัตถุนิยม และบริโภคนิยมอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ปลายทางของเส้นทางแห่งอัตตานี้ ย่อมเป็นหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย หากชาวโลกไม่สามารถหวนคืนกลับสู่วิถีที่ปรองดองกับธรรมชาติได้ ธรรมชาติก็ต้องเอาคืนด้วยการปรับตัวอย่างรุนแรง เพื่อสร้างสมดุลใหม่อีกครั้ง เพราะเราจะต้องไม่ลืมสัจธรรมที่ว่า ฟ้านั้นอยู่ค้ำคน แต่คนมิได้อยู่ค้ำฟ้า! 

ในทางเศรษฐศาสตร์ ปัญหาเศรษฐกิจที่สร้างความหนักใจให้แก่นักเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมากคือ ภาวะ สแตกเฟลชัน (stagflation) หรือการที่ ภาวะเงินเฟ้อ (inflation) กับ ภาวะเงินฝืด (stagration) เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้ว มันน่าจะเกิดคนละช่วงกัน ฉันใดก็ฉันนั้น ปัญหา “น้ำ” ในเมืองไทยหลังจากนี้เป็นต้นไป เริ่มที่จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับปัญหาสแตกเฟลชัน ในทางเศรษฐศาสตร์เข้าไปทุกที นั่นคือ ปัญหาน้ำท่วมกับปัญหาน้ำแล้งจะเกิดขึ้นในปีเดียวกันซ้ำๆ อย่างเป็นโครงสร้างเรื้อรังทุกปี อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ที่รุนแรงขึ้นจนทำให้ปัญหาการจัดการเรื่อง “น้ำ” จะกลายเป็น วาระแห่งชาติ ของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

เราได้กล่าวไปแล้วว่า ความเสี่ยงที่กรุงเทพฯ จะจมน้ำในอนาคตอันใกล้ อันเนื่องมาจากภัยพิบัติจากโลกร้อนนี้ จะมาจากระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้น และน้ำทะเลจะกัดเซาะแผ่นดินในแถบบางขุนเทียน (ซึ่งปัจจุบันได้กัดเซาะแผ่นดินไปกว่า 300 ตร.กม.แล้ว) อย่างรวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ในอดีตไว้มาก จนบางขุนเทียนจะกลายเป็น “รูโหว่ใหญ่” ให้น้ำทะเลทะลักเข้าท่วมทุกเขตของกรุงเทพฯ ในที่สุด เรายังได้นำเสนอไปแล้วว่า การสร้างเขื่อนคอนกรีตขนาดยักษ์ปิดปากอ่าวไทย หรือปิดกั้นแถบบางขุนเทียนไปจนถึงปากน้ำ เป็นวิธีการป้องกันระดับน้ำทะเลที่ไม่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะมีค่าก่อสร้างมหาศาลแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศทางทะเลอย่างประเมินค่าไม่ได้อีกด้วย

จากการศึกษาของกรมน้ำโดยการเก็บสถิติพื้นที่ประกาศภัยพิบัติติดต่อกัน 3 ปี พบว่า ประเทศไทยมีถึง 40-50 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก หรือเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมทุกปี โดยที่ช่วงกลางปี ภาคเหนือกับภาคอีสานกลางจะมีปัญหาน้ำท่วม ส่วนภาคกลางจะเป็นพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา เช่น นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี ชัยนาท ปทุมธานี นนทบุรี ที่เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นประจำ ส่วนพื้นที่ภาคใต้ เช่น พังงา ภูเก็ต สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี จะประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

นอกจากเราจะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับ “ดิน” ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ความสำคัญของ “น้ำ” ในยุคที่หายนภัยจากภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามโลกใบนี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างในยุคปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้ ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากยิ่งกว่า “ดิน” เสียอีกในแง่ที่ว่า นอกจาก “น้ำ” จะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการดำรงชีวิตและการเกษตรแล้ว “น้ำ” ยังเป็นภัยพิบัติร้ายแรงได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นการที่ประเทศเราจะสามารถมี ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการได้ พวกเราจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับ ลักษณะและปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย ให้ชัดเจนเสียก่อน

ภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อน และพื้นที่ผลิตข้าวในบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ลดน้อยลงทุกปี อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคม-เศรษฐกิจไทย ย่อมส่งผลกระทบเรื้อรังต่อการผลิตข้าวของพื้นที่ดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็น “ชามข้าว” ของประเทศไทยอย่างแน่นอน ทั้งๆ ที่ ยุคสมัยแห่งการขาดแคลนอาหารและน้ำในระดับโลกกำลังมาเยือนอยู่แล้ว ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคธุรกิจและภาครัฐ จะต้องตระหนักถึงวิกฤตการขาดแคลนอาหารในอนาคตอันใกล้ และควรมีฉันทมติเห็นพ้องร่วมกันว่า ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนคือ “ทางรอด” ของสังคมไทยในยุคโลกร้อนหลังจากนี้เป็นต้นไป 

ในการค้นหาปัจจัยที่ทำให้สังคมล่มสลายนั้น บทบาทของ “ดิน” มักถูกมองข้ามไปเสมอ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว “วิธีใช้ดิน” ของสังคมแบบใด มักจะเป็นตัวบ่งบอกเสมอว่า สังคมแบบนั้นจะอยู่ได้นานเท่าไรด้วย ต่อให้สังคมนั้นมีภาคเกษตรกรรมบนพื้นที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ สามารถผลิตอาหารได้มากจนสามารถเลี้ยงดูประชากรภายในประเทศได้อย่างเพียงพอ และยังสามารถผลิตอาหารส่งออกไปขายยังประเทศต่างๆ ได้ก็ตาม แต่การขยายพื้นที่การเกษตรเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตอาหารอย่างไม่หยุดยั้ง ในที่สุดก็จะนำไปสู่การตัดต้นไม้ ตัดป่า และทำลายพืชคลุมดินในพื้นที่ใหม่ซึ่งนำไปสู่ การสูญเสียผิวดิน อย่างรวดเร็ว จากการกัดเซาะของน้ำและลม

ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนนั้น เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นช้าๆ ค่อยๆ สั่งสมตามกาลเวลา แต่ไม่มีวันจบลงง่ายๆ มันจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน มันจะกัดกร่อนบั่นทอนทำลายอารยธรรมปัจจุบันของชาวโลกครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าจะล่มสลายในที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะว่า ต้นตอหลักของภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนนี้ เกิดจากน้ำมือมนุษย์ภายใต้การสนับสนุนจาก “ลัทธิบริโภคนิยม” ของอารยธรรมปัจจุบันนั่นเอง 

การที่รัฐบาลไทยได้ประกาศพื้นที่อนุรักษ์โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงได้นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับรัฐอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่มีช่องโหว่ของกฎหมายที่ให้อำนาจการจัดการป่าไม้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว ทำให้มีการคอร์รัปชันตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับชาติ มิหนำซ้ำ ทิศทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อนุรักษ์โดยเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำเหมืองแร่ ทำสวนป่า ทำรีสอร์ต กลับนำไปสู่ความเสื่อมของทรัพยากร เนื่องจากเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าความยั่งยืน ทำให้ป่าสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต หากต้องเผชิญกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อน 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้