(39) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (28/12/53)

(39) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (28/12/53)


วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

39. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)




อุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดประการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมก็คือ การเสนอชุดโต้แย้งหรือชุดวาทกรรมออกมาทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และพวกนักวิชาการ เพื่อบ่ายเบี่ยง ยื้อฉุด ผัดผ่อน ละเลย เพิกเฉยความสำคัญ และความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคม รวมทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และชาวพรรคการเมืองใหม่ทุกคน จะต้องเปิด “ศึกวาทกรรม” เพื่อรู้ทัน ตอบโต้ และถอดรื้อ ชุดวาทกรรม และชุดโต้แย้งต่างๆ ที่มักง่ายเหล่านี้ เพื่อที่จะได้นำไปสู่ฉันทมติทางการเมือง และสังคมโดยรวมที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง อย่างบูรณาการและอย่างเป็นองค์รวมเสียที จะได้สามารถยับยั้งการล่มสลายที่อาจเกิดขึ้น อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อน และการพังทลายของสิ่งแวดล้อมในอนาคตข้างหน้านี้ให้จงได้ ชุดวาทกรรมและชุดโต้แย้งของฝ่ายที่ละเลยความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” ได้รวบรวมมามีความหลากหลายมาก ดังต่อไปนี้


(1) “ต้องจัดการสภาพแวดล้อมให้สมดุลกับระบบเศรษฐกิจ”

พวกเราต้อง รู้ทันวาทกรรมจอมปลอม ข้างต้น และต้องตอบโต้กลับไปว่า คำกล่าวอ้างนี้ต้องการสร้างภาพให้เห็นว่า ความห่วงใยสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย และมองว่ามาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจะทำให้ต้นทุนสุทธิเพิ่มขึ้น และการปล่อยปัญหาสิ่งแวดล้อมไว้เฉยๆ โดยไม่ต้องแก้ไขเลยนั้น เป็นวิธีการประหยัดเงินแบบหนึ่ง


พวกเราจะต้อง ถอดรื้อวาทกรรม ดังกล่าว โดยชี้ให้สังคมหรือประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า ข้ออ้างข้างต้นนี้เป็น การมองแบบด้านเดียวเกินไป เพราะมีการปิดบังข้อเท็จจริง และไม่ได้พิจารณากันอย่างจริงจังและรอบด้าน จริงอยู่ปัญหายุ่งยากด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้สังคมเรามีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวก็จริง แต่การสะสางทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมหรือป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความยุ่งยากขึ้นอีก จะช่วยให้เราประหยัดเงินได้ก้อนใหญ่ ทั้งในระยะยาวและบ่อยครั้งในระยะสั้นด้วย


ขอให้ลองนึกถึงความเสียหายที่เกิดจากวัชพืช และศัตรูพืชในการเกษตรดูสิ เราต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการกำจัดศัตรูพืชเหล่านี้ หรือปัญหาอื่นๆ อย่างเช่น ปัญหาจราจร และปัญหามลพิษจากสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้เราสูญเสียทั้งเวลา พลังงาน และค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจำนวนมหาศาล จะเห็นได้ว่า การดูแลเอาใจใส่สุขภาพสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ก็เช่นเดียวกับการดูแลร่างกายของเราเอง กล่าวคือ ช่วยให้เราหลีกเลี่ยงไม่ให้เจ็บป่วยได้ดีกว่า และถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการรักษาหลังจากป่วยเป็นโรคไปแล้ว


(2) “เทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาของเรา”

นี่เป็นวาทกรรมที่แสดงถึงความศรัทธาในอนาคต ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ตามผลงานในอดีตของเทคโนโลยีซึ่งช่วยแก้ปัญหาได้มากกว่าก่อปัญหา วาทกรรมนี้มีสมมติฐานว่า นับตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป เทคโนโลยีจะทำหน้าที่หลักในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ และจะหยุดสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมาอีก นอกจากนี้ วาทกรรมนี้ยังทึกทักเอาเองด้วยว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันในตอนนี้จะทำได้สำเร็จบรรลุวัตถุประสงค์ และจะทำหน้าที่ได้รวดเร็วพอจะทำให้เราเห็นความแตกต่างอย่างใหญ่หลวงในเวลาไม่นานนัก


เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธข้อเท็จจริงและความเป็นจริงที่ว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราเคยนึกฝันถึงนั้น บางอย่างก็ทำได้สำเร็จ แต่บางอย่างก็ล้มเหลว สิ่งที่ทำได้สำเร็จนั้นโดยทั่วไปแล้วต้องใช้เวลาราว 2-3 ทศวรรษในการพัฒนาและเผยแพร่ให้เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นจะแก้ไขปัญหาที่ได้รับการออกแบบมาให้แก้ไขได้สำเร็จหรือไม่ แต่ก็มักสร้างปัญหาใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงตามมาเสมอ โดยปกติแล้ว การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมักมีราคาแพงกว่าการใช้มาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเลยตั้งแต่ต้น ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและแก้ไขความเสียหายจากปัญหาน้ำมันรั่วครั้งใหญ่ๆ นั้น มักมีจำนวนเงินสูงและแพงกว่าค่าใช้จ่ายสำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ สำหรับลดความเสี่ยงจากปัญหาน้ำมันรั่วเป็นอย่างมาก


เหนือสิ่งอื่นใด ปัญหาทั้งหมดของเราในปัจจุบันเป็นผลเชิงลบ ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่เร็วมากในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้สร้างปัญหาใหม่ๆ ที่แก้ได้ยากในเวลาอันรวดเร็วยิ่งกว่าการแก้ปัญหาเดิมๆ เสียอีก ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราตกอยู่ในสถานการณ์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเห็นได้ว่า เทคโนโลยีนี่แหละที่เป็นตัวสร้างปัญหาใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงมาก่อน และไม่มีหลักประกันว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาที่ตัวมันเอง เป็นผู้ก่อขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วย


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดในเรื่องนี้คือ สารซีเอฟซี (คลอโรฟลูออโรคาร์บอน) แต่เดิมนั้นก๊าซสำหรับทำความเย็นในตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศมีคุณสมบัติเป็นพิษ (เช่น ก๊าซแอมโมเนีย) ซึ่งผ่านการพิสูจน์แล้วว่าอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ในกรณีที่อุปกรณ์ดังกล่าวเกิดรั่วขึ้น ขณะที่เจ้าของนอนหลับในยามค่ำคืน


ดังนั้น จึงมีเสียงแซ่ซ้องสนับสนุนและนับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ เมื่อมีการพัฒนา ก๊าซซีเอฟซี (หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ฟรีออน) ขึ้นในฐานะก๊าซทำความเย็นสังเคราะห์ ก๊าซดังกล่าวไร้กลิ่น ไม่เป็นพิษและคงสภาพได้นานในสภาวะปกติเมื่ออยู่บริเวณพื้นผิวโลก ดังนั้น ในตอนแรกจึงไม่มีผู้ใดสังเกตเห็นหรือคาดว่ามันจะก่อผลข้างเคียงใดๆ และภายในช่วงเวลาสั้นๆ ก๊าซดังกล่าวก็ถูกมองว่าเป็นสารมหัศจรรย์ และได้รับการยอมรับไปทั่วโลกในฐานะสารทำความเย็นในตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ ใช้ทำโฟม ตัวทำละลายและใช้กับกระป๋องสเปรย์


แต่ในปี ค.ศ. 1974 มีการค้นพบว่าในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์นั้น รังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งมีปริมาณเข้มข้น จะย่อยสลายก๊าซซีเอฟซีจนแตกตัวเป็นอะตอมคลอรีนที่ไวปฏิกิริยาสูง ซึ่งทำลายบางส่วนของชั้นโอโซนซึ่งเป็นกลุ่มก๊าซที่ช่วยป้องกันผลกระทบจากรังสีอัลตราไวโอเลต ที่อาจก่ออันตรายจนถึงแก่ชีวิตสำหรับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลก


การค้นพบดังกล่าว กระตุ้นให้กลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขัน ซึ่งไม่เพียงแต่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสารซีเอฟซี ซึ่งมีมูลค่ากว่าสองแสนล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ยังเกิดจากความเคลือบแคลงสงสัยในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอันตรายของสารซีเอฟซี ซึ่งยังมีความสลับซับซ้อนในทางวิทยาศาสตร์อยู่มากในเวลานั้น


ด้วยเหตุนี้ การยกเลิกการใช้สารซีเอฟซีจึงกินเวลานานมาก กล่าวคือ กว่าที่บริษัทดูปองต์ (บริษัทผู้ผลิตสารซีเอฟซีรายใหญ่ที่สุด) จะตัดสินใจยุติการผลิตสารดังกล่าวก็ปี ค.ศ. 1988 แล้ว และในปี ค.ศ. 1992 บรรดาประเทศอุตสาหกรรมก็เห็นพ้องกันว่า จะยกเลิกการผลิตสารซีเอฟซีภายในปี ค.ศ. 1995 ในขณะที่จีนและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ บางแห่งยังคงผลิตสารดังกล่าวอยู่จวบจนปัจจุบัน แต่โชคร้ายที่ปริมาณก๊าซซีเอฟซีเท่าที่มีอยู่ในบรรยากาศก็สูงมากแล้ว ในขณะที่อัตราการสลายตัวนั้นช้ามาก กระทั่งสารดังกล่าวจะยังคงล่องลอยอยู่ในบรรยากาศอีกนานหลายทศวรรษ แม้ว่าจะยุติการผลิตสารซีเอฟซีลงอย่างฉับพลันทันทีแล้วก็ตาม


(3) “ถ้าเราใช้ทรัพยากรหนึ่งหมดไป เราก็ยังจะหันไปหาทรัพยากรอื่นๆ ที่ช่วยตอบสนองความต้องการอย่างเดียวกันนั้นได้เสมอ”

นี่เป็นวาทกรรมที่ “มองโลกในแง่ดีเกินไป” จนมัก ละเลยปัญหาความยุ่งยากที่คาดไม่ถึง และช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านที่ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานด้วยเสมอ ตัวอย่างเช่น กรณีของรถยนต์ซึ่งการโฆษณาชวนเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเป็นแบบใหม่ๆ น่าจะช่วยแก้ปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมได้


สิ่งที่นับเป็นความหวังสำหรับการค้นพบที่สำคัญในปัจจุบันได้แก่ รถยนต์ไฮโดรเจน และเซลล์เชื้อเพลิง ซึ่งยังเป็นเทคโนโลยีในขั้นตอนแรกๆ ที่อาจทำมาประยุกต์ใช้กับการคมนาคมขนส่งทางยานยนต์ได้ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีบันทึกรายงานความก้าวหน้าใดๆ ที่จะทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่ารถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮโดรเจน จะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ หรือจะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลในอนาคตอันใกล้ เท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้คือ การที่อุตสาหกรรมรถยนต์ได้พัฒนารถยนต์ไฮบริดเพื่อประหยัดพลังงาน และมียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น


อีกตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นต่อการปรับเปลี่ยน และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาทดแทนเทคโนโลยีแบบเดิมนั้น ได้แก่ ความหวังที่ว่า แหล่งพลังงานชนิดที่เกิดทดแทนได้ (เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์) จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการณ์พลังงาน เทคโนโลยีดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มีข้อจำกัดในการนำไปประยุกต์ใช้ เพราะมันสามารถใช้ได้เฉพาะในพื้นที่บางแห่งที่มีปริมาณลมหรือแสงแดดสม่ำเสมอและมากพอ


นอกจากนี้แล้ว ประวัติศาสตร์ด้านเทคโนโลยีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีอย่างหนึ่งไปสู่เทคโนโลยีอีกอย่างหนึ่งนั้น จะต้องอาศัยระยะเวลาในการยอมรับ และการปรับเปลี่ยนนานพอสมควร เช่น กรณีการเปลี่ยนจากการใช้เทียนไขไปสู่ตะเกียงน้ำมัน ตะเกียงก๊าซ และไฟฟ้าให้แสงสว่างหรือจากการใช้ไม้ไปเป็นถ่านหิน และน้ำมันปิโตรเลียมในกรณีพลังงานเชื้อเพลิง ก็ล้วนต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านยาวนานนับหลายทศวรรษ เนื่องจาก ต้องปรับเปลี่ยนทั้งในระดับสถาบันหรือหน่วยงาน และเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรองๆ ซึ่งจะเป็นตัวเสริมเทคโนโลยีหลักแบบดั้งเดิมไปพร้อมๆ กัน


นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาด้านเชื้อเพลิง และพลังงานของเราในช่วงหลายทศวรรษถัดจากนี้ ก่อนที่เทคโนโลยีใหม่ๆ จะใช้กันอย่างแพร่หลาย เพื่อลดปริมาณการขับขี่ยวดยานและการบริโภคเชื้อเพลิงของรถยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งลดการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลของโรงไฟฟ้าให้น้อยลงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะถึงอย่างไรการหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาเป็นแหล่งพลังงานหลักแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ยังเป็นสิ่งที่เราตั้งความหวังไว้สำหรับอนาคตในระยะยาวเท่านั้น










Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้