(30) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (26/10/53)

(30) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (26/10/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

30. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

*สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายในอนาคต อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้หรือไม่?*

เรื่องนี้เป็นหัวข้อที่ใหญ่มาก แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องของสังคมไทย ผมอยากจะนำเสนอบทวิเคราะห์ของจาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” เกี่ยวกับสังคมสมัยใหม่ 4 แห่ง ที่กำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมสมัยกับสังคมไทยเสียก่อน เพราะมันจะให้แง่คิด มุมมอง และบทเรียนต่างๆ มากเลยเมื่อเรามาพิจารณาเรื่องของสังคมไทยในภายหลัง สังคมสมัยใหม่ 4 แห่งที่จาเร็ด นำมาวิเคราะห์คือ

(1) ประเทศรวันดาในแอฟริกา

ประเทศรวันดาประสบกับ ปัญหาภัยแล้ง และปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการทำลายป่า ดินสึกกร่อน และการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1989 จึงนำไปสู่ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวเผ่าฮูตู (มีราวร้อยละ 85 ของจำนวนประชากรทั้งหมด) กับชาวเผ่าทุตซี (แต่เดิมมีราวร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรทั้งหมด) โดยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นี้เริ่มจากเหตุการณ์ความรุนแรงเล็กๆ ไม่กี่ครั้ง แต่กลับลุกลามขยายวงเป็นการเข่นฆ่าสังหารซึ่งกันและกัน จนกลายเป็น สงครามกลางเมือง ที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

มิหนำซ้ำการเข่นฆ่าสังหารนี้ยังเกิดจากการนำของพวกฮาร์ดคอร์ หรือฝ่ายหัวรุนแรงในกองทัพฮูตูที่วางแผนลอบสังหารนายกรัฐมนตรีชาวฮูตูกับสมาชิกฝ่ายค้านประชาธิปไตยที่นิยมสายกลางจนสามารถยึดอำนาจรัฐได้เบ็ดเสร็จ

จากนั้นฝ่ายหัวรุนแรงในกองทัพฮูตู ก็ใช้สื่อวิทยุทำการปลุกระดมพลเรือนชาวฮูตูให้จับอาวุธในบ้านจำพวกมีดพร้าออกมาเข่นฆ่าชาวทุตซีให้หมด ทำให้ชาวทุตซีถูกสังหารถึง 800,000 คน หรือราว 3 ใน 4 ของชาวทุตซีที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศรวันดาขณะนั้น (ค.ศ. 1994) หรือคิดเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในรวันดา

สิ่งที่น่าสังเกตใน กรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ก็คือ มันมิใช่การระเบิดปะทะของความโกรธแค้นซึ่งควบคุมไม่ได้ของประชาชนอันเนื่องมาจากความเกลียดชังระหว่างเผ่าที่มีมาแต่โบราณ แต่มันเป็นผลจากการตัดสินใจเลือกโดยจงใจของชนชั้นปกครองในยุคสมัยใหม่ที่เจตนาหล่อเลี้ยงความเกลียดชัง และความกลัวเอาไว้ในหมู่ประชาชน เพื่อรักษาอำนาจของตนเอง โดยที่บริบทที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาคือ ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ที่กำลังก่อตัว อันเป็นผลมาจากการทำลายป่าดินสึกกร่อน และการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน ประกอบกับมีภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดสภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง

นอกจากนี้ จำนวนประชากรของรวันดาที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมของรวันดาให้เลวร้ายรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกขึ้นด้วยการถากถางพื้นที่ป่าจนกลายเป็น วงจรอุบาทว์ของการทำลายสิ่งแวดล้อมกับการขยายตัวของประชากร ในที่สุด

จึงเห็นได้ว่า แรงกดดันของประชากรได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุผลเบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ทำให้ “รวันดาโมเดล” กลายเป็นอุทาหรณ์สำหรับสังคมอื่นๆ ให้ต้องคำนึงถึง ปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับการมีประชากรมากเกินไป เมื่อเชื่อมโยงกับปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อม และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกันไม่ช้าก็เร็ว เพียงแต่อาจจะออกมาในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับกรณีของรวันดา หรือจะออกมาในรูปแบบอื่นเท่านั้น ปัญหาเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องนอกตัว หรือเรื่องไกลตัวของสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว

(2) หนึ่งเกาะสองรัฐที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วระหว่างสาธารณรัฐโดมินิกันกับเฮติ

ทั้งสาธารณรัฐโดมินิกันและเฮติเป็นสองประเทศที่อยู่ร่วมกันบนเกาะขนาดใหญ่ คือ เกาะฮิสปานิโอลาในทะเลแคริบเบียนซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐฟลอริดา โดย 2 ประเทศนี้มีพรมแดนยาว 120 ไมล์ เมื่อมองจากเครื่องบินซึ่งบินเหนือเกาะแห่งนี้ เส้นพรมแดนนี้ดูเป็นแนวตรงที่หักคดโค้งไปมาราวกับใช้มีดตัดแบ่งเกาะนี้ออกเป็นสองส่วน โดยแบ่ง ฟากตะวันออกที่สภาพภูมิทัศน์เขียวกว่า (สาธารณรัฐโดมินิกัน) ออกจาก ฟากตะวันตกซึ่งมีสภาพภูมิทัศน์เป็นสีน้ำตาลมากกว่า (เฮติ) หรือเมื่ออยู่บนพื้นดิน หากยืนบนเส้นพรมแดนในหลายตำแหน่งต่างกันที่พอหันหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้ว จะมองเห็น ป่าสนเขียวชอุ่ม แต่พอหันไปมองทางด้านทิศตะวันตก กลับเห็นแต่ พื้นที่เกษตรที่แทบไม่มีต้นไม้เหลืออยู่เลย

ความแตกต่างกันสุดขั้วระหว่างสองประเทศในเกาะเดียวกันนี้ จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” บอกว่าคือ กุญแจไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลกสมัยใหม่ปัจจุบัน เพราะแต่เดิมนั้น ทั้งสองส่วนของเกาะแห่งนี้เต็มไปด้วยป่าไม้อันกว้างใหญ่ แต่พร้อมๆ กับการพัฒนาให้ “ทันสมัย” ทั้งสองประเทศนี้ต่างก็สูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปจำนวนหนึ่ง โดยที่ เฮติสูญเสียมากกว่า เพราะมีพื้นที่ป่าไม้เหลือเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ขณะที่สาธารณรัฐโดมินิกันยังคงเหลือพื้นที่ป่าไม้ถึงร้อยละ 28 ทั้งๆ ที่ทั้งสองประเทศนี้ต่างก็ประสบปัญหาการลักลอบตัดไม้อย่างผิดกฎหมายเหมือนกัน

ความแตกต่างในประเด็นพื้นที่ป่าไม้ของทั้งสองประเทศนี้ เกิดขึ้นคู่ขนานกับความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศทั้งสองล้วนเป็นประเทศยากจนเหมือนกัน เคยตกเป็นอาณานิคมของประเทศในยุโรปมาก่อนเหมือนกัน มีรัฐบาลที่ฉ้อฉลเหมือนกัน แต่ปัญหาในเฮติกลับรุนแรงกว่าในสาธารณรัฐโดมินิกันมาก ทั้งนี้เพราะ รัฐบาลของเฮติล้มเหลวในเรื่องของการพัฒนาแทบทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องการจัดบริการสาธารณสุขขั้นต่ำให้แก่ประชาชน เพราะประชาชนเฮติส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตโดยปราศจากกระแสไฟฟ้า น้ำประปา ห้องส้วม การรักษาพยาบาล และโรงเรียน มิหนำซ้ำรัฐบาลของเฮติยังปล่อยให้ประเทศมีจำนวนประชากรมากเกินไปคือ มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในแง่ของความหนาแน่นแออัด และมากกว่าของสาธารณรัฐโดมินิกันเป็นอย่างมาก

ขณะที่สาธารณรัฐโดมินิกัน ถึงแม้จะประสบปัญหาเดียวกับเฮติ แต่กลับมีการพัฒนามากกว่า และปัญหารุนแรงน้อยกว่ามาก รายได้ต่อหัวของประชากรก็สูงกว่าของเฮติถึง 5 เท่า โดยมีความหนาแน่นและอัตราการเติบโตของประชากรที่ต่ำกว่าของเฮติด้วย นอกจากนี้ สาธารณรัฐโดมินิกันยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ปราศจากการปฏิวัติรัฐประหาร และมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978

ความแตกต่างของสองประเทศนี้ ยังสะท้อนให้เห็นจากระบบการจัดการอุทยานแห่งชาติของแต่ละประเทศ ระบบการจัดการอุทยานแห่งชาติในเฮติมีขนาดเล็ก ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติเพียง 4 แห่งซึ่งยังคงถูกลักลอบตัดไม้ทำลายป่าจากเกษตรกรเพื่อใช้ทำถ่านหุงข้าวอยู่เสมอ ขณะที่ ระบบเขตสงวนทางธรรมชาติในสาธารณรัฐโดมินิกัน ถือว่ามีความซับซ้อนมากที่สุด และใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปอเมริกา โดยครอบคลุมเนื้อที่ร้อยละ 32 ของประเทศ โดยมีเขตอุทยานหรือป่าสงวนแห่งชาติถึง 74 แห่ง อันประกอบด้วย ถิ่นที่อยู่ของพืช และสัตว์ที่สำคัญทุกรูปแบบ

สิ่งที่อยู่เบื้องหลังการอนุรักษ์ดังกล่าวคือ การดำรงอยู่ของขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้มแข็งของประชาชนในท้องถิ่น โดยการดำเนินงานของบรรดาองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เป็นคนพื้นเมืองเอง แทนที่จะเป็นการดำเนินงานโดยที่ปรึกษาต่างชาติ

ความแตกต่างจนน่าแปลกใจระหว่างสองประเทศบนเกาะเดียวกัน ทั้งในเรื่องพื้นที่ป่าไม้ เศรษฐกิจ และระบบการอนุรักษ์ธรรมชาติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ต่างก็อยู่ร่วมกันบนเกาะแห่งเดียวกัน และเคยมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์เดียวกันมาก่อน มิหนำซ้ำในอดีตเฮติเคยร่ำรวยและมีอำนาจมากกว่าสาธารณรัฐโดมินิกันด้วยซ้ำ

แต่ทำไมผลลัพธ์ที่ปรากฏในปัจจุบันจึงมีความแตกต่างกันมากเช่นนี้ และทำไมเฮติจึงตกต่ำเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็วจนน่าใจหายถึงขนาดนี้? เพราะบัดนี้ เฮติได้กลายเป็น “รัฐยาเสพติด” เพราะมียาเสพติดจำนวนมากที่ส่งผ่านจากโคลัมเบียไปยังสหรัฐอเมริกาโดยทางเรือ ขณะเดียวกัน อัตราการติดเชื้อโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียของเฮติก็จัดอยู่ในกลุ่มที่สูงที่สุดในเขตโลกใหม่ เฮติในปัจจุบันได้กลายเป็นประเทศที่ “ไร้ความหวัง” ไปเรียบร้อยแล้ว

คำอธิบายของจาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” ก็คือ แม้ว่าปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นข้อจำกัดของประเทศเฮติก็จริง (ความจริงก็เป็นข้อจำกัดของสังคมมนุษย์ทุกแห่งทั้งนั้น) แต่ข้อจำกัดอันนี้ใช้อธิบาย “ความล่มสลาย” ของเฮติ ในปัจจุบันไม่ได้ ที่ถูกแล้วจาเร็ดบอกว่า เราต้องอธิบายว่า วิธีการตอบสนองต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของเฮติต่างหาก ที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างเฮติกับสาธารณรัฐโดมินิกัน ทั้งๆ ที่อยู่บนเกาะเดียวกัน และมีเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความแตกต่างระหว่างเฮติกับสาธารณรัฐโดมินิกัน เป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มซึ่งมีประวัติศาสตร์ ทัศนคติ อัตลักษณ์ สถาบัน รวมทั้งบทบาทของผู้นำรัฐบาลในช่วงหลังๆ ที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำประเทศได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้สาธารณรัฐโดมินิกันต่างกับเฮติอย่างสุดขั้ว ภายในเวลาไม่กี่สิบปีเท่านั้น






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้