(28) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (12/10/53)

(28) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (12/10/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

28. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)


*กรณีล่มสลายของพวกนอร์สในกรีนแลนด์ (ต่อ)*

จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” (ฉบับแปลไทย โดยสำนักพิมพ์ Oh My God, พ.ศ. 2552) บอกว่า ชาวนอร์สในกรีนแลนด์ได้ ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยที่สุด 3 ทางด้วยกันคือ (1) ทำลายพืชพรรณธรรมชาติ (2) การทำให้ดินสึกกร่อน และ (3) การตัดแซะแผ่นหญ้าออกจากหน้าดิน เพราะทันทีที่พวกไวกิ้งซึ่งเป็นบรรพบุรุษของพวกนอร์ส ได้เข้ามายังกรีนแลนด์ พวกเขาก็เผาป่า เพื่อเปิดหน้าดินให้โล่งเตียน สำหรับใช้เป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงปศุสัตว์ จากนั้นก็ตัดต้นไม้ที่ยังเหลืออยู่เพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ เช่น ทำเป็นไม้แปรรูปสำหรับการก่อสร้าง และใช้เป็นเชื้อเพลิง ที่สำคัญต้นไม้ไม่อาจเติบโตงอกใหม่ได้เนื่องจากถูกฝูงปศุสัตว์กัดกิน และเหยียบย่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาว ซึ่งพืชพรรณต่างๆ อยู่ในสภาพที่อ่อนแอที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มันหยุดการเจริญเติบโต

ผลจากการทำลายป่า ดินสึกกร่อน และการตัดแซะแผ่นหญ้าออกจากหน้าดินได้ส่งผลกระทบที่เลวร้ายอย่างยิ่งต่อชาวนอร์สอย่างคาดไม่ถึงในเวลาต่อมา เพราะทำให้พวกเขาขาดแคลนไม้สำหรับใช้งาน แต่ที่สำคัญคือขาดแคลนไม้เชื้อเพลิง ขณะที่พวกอินูอิต (ชาวเอสกิโม) กลับเรียนรู้ที่จะใช้ไขมันปลาวาฬมาให้ความอบอุ่น และจุดไฟให้แสงสว่างในที่พักอาศัยของตน

ส่วนพวกนอร์สที่อพยพมาอยู่กรีนแลนด์ทีหลัง กลับยังคงใช้ฟืนจากไม้และหญ้าแห้งไม่เปลี่ยนแปลงตราบจนถึงกาลล่มสลายของพวกเขาในศตวรรษที่ 14 ว่ากันว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกนอร์สในกรีนแลนด์ถึงแก่กาลล่มสลายเพราะอดตายนั้น เนื่องจากพวกนอร์สปฏิเสธ และไม่ยอมรับหรือยอมเปิดใจเรียนรู้คุณลักษณะหลายๆ อย่างจากวัฒนธรรม และเทคโนโลยีแบบอินูอิต อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตต่างกับพวกเขาอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ โดยที่พวกนอร์สถือตัวว่าตัวเองเป็นชาวยุโรปที่ยังคงอนุรักษนิยม คือ ยังยึดมั่นถือมั่นกับขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของพวกตน ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างกรีนแลนด์ ที่ยากเข็ญกว่าในยุโรปมากก็ตาม

นอกจากทำลายพืชพรรณธรรมชาติด้วยการตัดต้นไม้ทำลายป่าแล้ว พวกนอร์สยังทำให้เกิดสภาพดินกร่อนในกรีนแลนด์อีกด้วย ดินในกรีนแลนด์ค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อการสึกกร่อนพังทลายอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับมาตรฐานโลกโดยทั่วไป เนื่องจากกรีนแลนด์มีฤดูกาลเพาะปลูกเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ และอากาศที่หนาวเย็นก็ส่งผลให้การก่อตัวของดินค่อนข้างช้า นอกจากนั้นชั้นหน้าดินก็ยังบางมาก อีกทั้งอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างช้าของพืชพรรณธรรมชาติ ยังส่งผลให้องค์ประกอบของขุยอินทรีย์ และดินเหนียวในดินซึ่งช่วยเก็บน้ำ และความชื้นในดินพลอยต่ำไปด้วย ทำให้ดินในกรีนแลนด์แห้งง่าย เนื่องจากโดนลมแรงพัดผ่านอยู่เสมอ

ขั้นตอนการเกิดสภาพดินสึกกร่อนในกรีนแลนด์ จึงเริ่มจากการตัดต้นไม้ หรือเผาพุ่มไม้และพืชคลุมดินที่ช่วยยึดหน้าดินได้ดีกว่าหญ้า เมื่อพวกนอร์สทำให้ต้นไม้และพุ่มไม้หมดไป บรรดาปศุสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกะและแพะก็เล็มหญ้าจนกุดสั้น ในขณะที่สภาพอากาศแบบกรีนแลนด์ทำให้หญ้างอกใหม่ได้ช้ามาก เมื่อหญ้าที่คลุมดินเริ่มหมด และหน้าดินถูกเปิดให้รับฝนรับลมโดยตรง ลมที่แรงก็เริ่มพัดพาหน้าดินไป และอาจจะถูกฝนพัดกระหน่ำซ้ำเติมเป็นครั้งคราว จนกระทั่งหน้าดินทั้งหุบเขาอาจถูกพัดพาจนสึกกร่อนเป็นแนวยาวหลายไมล์ กระทั่งพื้นที่ซึ่งเป็นดินเริ่มหมดไป และพื้นทรายเริ่มปรากฏขึ้นแทน

นอกจากจะทำให้ดินสึกกร่อนแล้ว พวกนอร์สยังทำให้ผืนดินในกรีนแลนด์ไร้ประโยชน์ไปโดยไม่ตั้งใจ ด้วยการกระทำอีกอย่างหนึ่งคือ การตัดแผ่นหญ้าที่ยึดดินมาใช้ก่อสร้างแทนต้นไม้ที่หายาก และใช้เผาเป็นเชื้อเพลิง อาคารสิ่งก่อสร้างเกือบทั้งหมดของพวกนอร์สในกรีนแลนด์ จึงใช้แผ่นหญ้าเป็นวัสดุก่อสร้างเป็นส่วนใหญ่ โดยนำมาใช้เป็นผนังอาคารทั้งหมด ที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ในกรีนแลนด์ ต้องใช้แผ่นหญ้าในเนื้อที่กว้างราว 10 เอเคอร์เป็นวัสดุก่อสร้าง และยังต้องเปลี่ยนแผ่นหญ้าซ่อมแซมใหม่อีกทุกๆ 20-30 ปี ในปริมาณดังกล่าว เนื่องจากแผ่นหญ้าจะค่อยๆ หลุดร่วงลง กระบวนการหาแผ่นหญ้ามาใช้ในการก่อสร้างของพวกนอร์ส ซึ่งเรียกกันว่าเป็น “การขุดลอกพื้นที่นอก” จึงมีส่วนสำคัญต่อการทำลายพื้นที่ในระยะยาวเป็นอย่างมาก เพราะมันยิ่งไปทำให้หญ้าในกรีนแลนด์งอกได้เชื่องช้าลง และไปจำกัดพื้นที่เลี้ยงปศุสัตว์ให้น้อยลงด้วย

พวกอินูอิต (ชาวเอสกิโม) นับว่ามีความเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากต่อกรณีล่มสลายของพวกนอร์สในกรีนแลนด์ เพราะพวกนอร์สคงมีโอกาสรอดมากกว่านี้ ถ้าพวกเขายอมเรียนรู้จากพวกอินูอิตหรือค้าขายกับพวกอินูอิต แต่พวกเขากลับไม่ได้ทำทั้งสองอย่าง นอกจากนี้ พวกอินูอิตยังมีความสำคัญในแง่ที่เป็นข้อพิสูจน์ให้คนยุคปัจจุบันอย่างพวกเราได้รู้ว่า การดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์ในยุคกลางที่กรีนแลนด์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ทำไมพวกนอร์สที่มีบรรพบุรุษมาจากพวกไวกิ้งกลับล้มเหลว ในขณะที่พวกอินูอิตกลับทำได้สำเร็จ?

ปัจจุบันเรานึกถึงพวกอินูอิตในฐานะคนพื้นเมืองแถบกรีนแลนด์ และแคนาดาบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ พวกอินูอิตเลี้ยงสุนัขไว้ลากเลื่อนบนบก พวกเขาใช้เรือในทะเลที่ทำจากหนังสัตว์ที่ขึงยึดติดกับโครงเรือ จึงสามารถออกทะเลล่าปลาวาฬได้ด้วยฉมวก และพวกเขายังใช้ธนูล่าสัตว์ทุกชนิด ทำให้พวกเขามีอาหารหลักอย่างปลาวาฬเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกนอร์สไม่สามารถหาได้ จึงเห็นได้ว่า วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของพวกอินูอิตเป็นการพัฒนาขั้นสุดยอดของผู้คนที่อาศัยอยู่แถบอาร์กติก ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายร้อยปีในการเรียนรู้ทักษะจนสามารถจัดการกับสภาพธรรมชาติในเขตอาร์กติกได้ อันเป็นทักษะที่กลุ่มอพยพที่มาทีหลังอย่างพวกนอร์สไม่มีวัฒนธรรม เทคโนโลยีและทักษะเหล่านี้ อีกทั้งยังมีความยึดมั่นในวิถีการดำรงชีวิตแบบ “ชาวยุโรป” ของพวกตนจนไม่สามารถปรับตัวมาใช้วัฒนธรรมแบบพวกอินูอิตได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ เรื่องที่อยู่อาศัย เพราะพวกอินูอิตได้สร้างบ้านจากก้อนน้ำแข็งเพื่อหลบหิมะที่เรียกว่า อิกลู และเผาเปลวไขมันของปลาวาฬ และแมวน้ำเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงและใช้จุดตะเกียง พวกเขาจึงแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนไม่ได้อย่างตรงจุด เพราะแม้แต่การต่อเรือ พวกอินูอิตก็ใช้การขึงหนังแมวน้ำกับโครงในการต่อเรือคยัค และยังสร้างเรือที่เรียกว่า อูมิแอ็ค ซึ่งมีขนาดใหญ่พอที่จะออกไปล่าปลาวาฬในน่านน้ำกว้างได้ด้วย นอกจากนี้ พวกเขายังทำมีดจากกระดูกสำหรับใช้ตัดก้อนหิมะโดยไม่ต้องพึ่งพาเหล็ก ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเหล็กในกรีนแลนด์ได้อีกด้วย

จากการศึกษาของนักโบราณคดีทำให้พบความจริงอีกอย่างหนึ่งว่า พวกอินูอิตกับพวกนอร์สต่างคนต่างอยู่ราวกับอาศัยอยู่คนละโลก ทั้งๆ ที่อยู่ร่วมกันบนเกาะกรีนแลนด์ และล่าสัตว์ในเขตกรีนแลนด์เดียวกัน เพราะนักโบราณคดีไม่พบร่องรอยการติดต่อค้าขายระหว่างพวกอินูอิตกับพวกนอร์สเลย หากเกิดขึ้นจริงก็คงมีน้อยมาก มิหนำซ้ำยังไม่พบหลักฐานด้านโครงกระดูก หรือด้านพันธุกรรมที่บ่งชี้ว่ามีการสมรสข้ามเผ่าระหว่างพวกนอร์สกับพวกอินูอิตแต่อย่างใด

จากการที่ไม่มีการพัฒนาการค้า รวมทั้งไม่มีการเรียนรู้ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นจากพวกอินูอิตที่อยู่มาก่อน ทำให้พวกนอร์สเสียโอกาสอันใหญ่หลวงในการปรับตัวให้ชุมชนของพวกเขาอยู่รอดอย่างยั่งยืนในกรีนแลนด์ จนกระทั่งต้องล่มสลายในที่สุด แม้จะกินเวลาถึง 450 ปีกว่าจะถึงกาลล่มสลายของพวกนอร์สก็ตาม เพราะในการพิจารณาถึงการล่มสลายของสังคม เราจะต้องแยกแยะ

สาเหตุเบื้องหลังที่แท้จริง (ultimate reasons) ซึ่งหมายถึง ปัจจัยระยะยาวที่อยู่เบื้องหลังความตกต่ำของสังคมนอร์สในกรีนแลนด์ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ นั่นก็คือ การทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่พวกตนต้องพึ่งพิงไปโดยไม่ตั้งใจ ด้วยการตัดต้นไม้ขุดลอกแผ่นหญ้าขึ้นมาจากหน้าดิน เลี้ยงสัตว์กินหญ้ามากเกินไป และทำให้ดินสึกกร่อนพังทลาย ออกจาก สาเหตุเฉพาะหน้า (proximate reasons) ซึ่งหมายถึง แรงกระทบขั้นสุดท้ายที่กระทำต่อสังคมที่อ่อนแออยู่แล้ว ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนกลุ่มสุดท้ายในสังคม หรือทำให้คนกลุ่มนั้นต้องละทิ้งถิ่นฐาน นั่นก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในกรีนแลนด์ ที่เข้าสู่ยุคน้ำแข็งน้อยในศตวรรษที่ 14 ซึ่งทำให้เกิดฤดูหนาวที่เย็นจัดผิดปกติต่อเนื่องเป็นสิบปี จนทำให้ไร่เกษตรบนกรีนแลนด์ของพวกนอร์สล่มสลาย จนเกิดภาวะอดอยากเพราะขาดแคลนอาหาร และหนาวจนแข็งตายหมดในที่สุด

การที่พวกนอร์สไม่ยอมล่าแมวน้ำวงแหวน ปลา และปลาวาฬ ทั้งๆ ที่อาจจะเคยเห็นพวกอินูอิตล่ากันมาก่อนแล้ว เป็นการเลือกและการตัดสินใจของพวกนอร์สเอง พวกนอร์สจึงอดตาย ทั้งๆ ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีทรัพยากรอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ แต่กลับไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์เลย พวกเขาตายเพราะวิธีคิดที่แข็งทื่อไม่ยืดหยุ่นปรับตัวทางวัฒนธรรมโดยแท้

ในตอนที่เกิด การล่มสลายของสังคมชาวนอร์สในกรีนแลนด์นั้น มันน่าจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไป และคงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับกรณีการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 เพราะมันเกิดจากหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากอารยธรรมปัจจุบันของพวกเราจะถึงกาลล่มสลาย เพราะ หายนะจากภาวะโลกร้อน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วตามหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” ของ มาร์ก โลนัส มันก็คงเกิดขึ้นอย่างฉับพลันและรวดเร็วเช่นเดียวกับกรณีการล่มสลายของพวกนอร์สในกรีนแลนด์ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์และบทเรียนที่สำคัญที่สุด ที่เราได้เรียนรู้จากกรณีนี้





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้