(44) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (1/2/54)

(44) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (1/2/54)

  

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

44. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.)





       ผมมองเห็น “ทะเลแห่งความทุกข์ระทม” ในวันที่ท้องฟ้าสีหม่นปกคลุมประเทศติดต่อกันหลายวันในช่วงกลางเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) น้ำท่วมบ้านช่องไร่นาของผู้คนจำนวนมากในหลายจังหวัดของประเทศไทย ถนนหนทาง สะพาน และบ้านเรือนถูกทำลาย ที่ดินทำกินจำนวนมากซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจถูกน้ำท่วมสูง...

       
       ที่ผ่านมา ภัยพิบัติจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีนี้ได้เกิดขึ้นกับประเทศปากีสถาน และประเทศจีนมาก่อนแล้ว คราวนี้ถึงคราวที่ประเทศไทยต้องเจอบ้างแล้ว ภัยพิบัติจากความผิดปกติของสภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่เกิดขึ้นในรูปของปรากฏการณ์ “ลานีญา” และ “เอลนีโญ” แม้จะไม่เหมือนกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในเสี้ยววินาที หรือเหตุการณ์สึนามิที่เข้ามาพัดพาผู้คนและเมืองจมหายไปภายในพริบตาก็จริง

       
       ตรงกันข้าม ภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนนั้น เป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นช้าๆ ค่อยๆ สั่งสมตามกาลเวลา แต่ไม่มีวันจบลงง่ายๆ มันจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และต่อเนื่องมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน มันจะกัดกร่อนบั่นทอนทำลายอารยธรรมปัจจุบันของชาวโลกครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าจะล่มสลายในที่สุด ทั้งนี้ก็เพราะว่า ต้นตอหลักของภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนนี้ เกิดจากน้ำมือมนุษย์ภายใต้การสนับสนุนจาก “ลัทธิบริโภคนิยม” ของอารยธรรมปัจจุบันนั่นเอง 

       
       ผู้ที่มีวิสัยทัศน์อย่างแท้จริง จึงไม่อาจละเลยไม่ใส่ใจไม่ได้แล้วกับ หายนภัยที่จะเกิดขึ้นอีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนหลังจากนี้เป็นต้นไป ไม่ว่าจะในระดับบุคคล องค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ส่งผลกระทบมหาศาล และส่งสัญญาณเตือนภัยออกมาแล้วในรูปของภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกต่อเนื่องมาตลอดปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) นี้ ซึ่งมันน่าจะเป็นแค่บทโหมโรง หรือปฐมบทของหายนภัยรูปแบบต่างๆ ที่จะตามมาอีกเรื่อยๆ ดังที่หนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” ของมาร์ก ไลนัส ได้เขียนเตือนไว้แล้วว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกใบนี้ ในอนาคตเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทีละองศา และผมได้เอามาถ่ายทอดอย่างละเอียดแล้วในข้อเขียนชุดนี้

       
       จากมุมมองข้างต้นนี้ เราจะพบและได้ข้อสรุปว่า การผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนเพียงอย่างเดียว แม้จะจัดการอย่างบูรณาการ ก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาการทำลายป่าซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโลกร้อนได้ มันช่วยได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น และอย่างมีเงื่อนไขด้วย เพราะการจะมุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้ได้ผลอย่างยั่งยืนนั้น ผมอยากจะย้ำว่า เราจะต้องไปยัง การแก้ปัญหาการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการบริโภคทรัพยากร และการปล่อยกากของเสียจำนวนมหาศาลของเมือง คือ ปัจจัยหลักที่สร้างผลกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อมของโลก และเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน

       
       นอกจากนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมืองหลายประการ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีในระบบการผลิตพลังงาน และระบบขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดก๊าซของเสียจำนวนมาก ขณะที่ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลของเมือง กลับไม่มุ่งเน้นการนำสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชกลับมาใช้เพื่อบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์จะได้นำมาปลูกพืชผลสำหรับการบริโภคของชาวเมืองได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ ที่ผ่านมา เมืองเป็นผู้บริโภคทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาล โดยเบียดเบียนจากชนบท และสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม 

       
       เพราะฉะนั้น วิชันของพวกเราชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ จะต้องมุ่งสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับธรรมชาติ และเมืองกับชนบทเสียใหม่ให้มีลักษณะ “ปรองดองยิ่งขึ้น” และ “กลมกลืนยิ่งขึ้น” กว่าในอดีตที่ผ่านมา เราจะต้องมุ่งสร้างเมืองของเราแต่ละเมืองให้เป็นเมืองที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เขียวขจี มีอากาศปลอดโปร่งสดชื่น จุดประสงค์ก็คือ เพื่อช่วยให้ประชาชนของเราไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดใด หรือภูมิภาคใด ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างแข็งแรงสมบูรณ์ และพอเพียงในภูมิทัศน์ที่มีความหลากหลาย และกลมกลืนกับธรรมชาติเพื่อการนี้ แนวทางแบบบูรณาการในการพัฒนาเมืองแต่ละเมืองของพวกเราชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ จะต้องมุ่งเน้นไปที่การบูรณาเมืองเข้ากับชนบท เพื่อผสมผสานจุดเด่นที่ให้ประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายเข้าด้วยกัน 

       
       การจะทำเช่นนั้นได้ เมืองแต่ละเมืองจะต้องสนใจทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง เพื่อให้สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างเหลือเฟือ และเป็นการประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายในการขนส่งอาหารมาจากแหล่งอื่นๆ พวกเราจะต้องคำนึงให้มากๆ ว่า ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า เมื่อหายนภัยจากภาวะโลกร้อนที่ได้เกิดขึ้นแล้วเป็นบทโหมโรงในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) นี้จะบังเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบจนกลายเป็นวิกฤตขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วโลก เมืองที่ได้ “กิน” หรือทำลายพื้นที่เกษตรกรรมของตนเองไปเสียหมด ย่อมจะประสบกับความล่มสลายก่อนเป็นเมืองแรกๆ เพราะการขยายตัวของเมือง ซึ่งหมายถึงการที่มีประชากรจำนวนมากกระจุกตัวกันอยู่ในพื้นที่เล็กๆ และจำเป็นต้องแสวงหาสิ่งของมาตอบสนองความต้องการของตนเอง ทั้งน้ำ อาหาร และพลังงานจำนวนมหาศาลซึ่งต้องถูกขนย้ายมาจากที่อื่นๆ เมืองต่างๆ ซึ่งเบียดบังเอาความสมบูรณ์จากพื้นที่เกษตรกรรม และป่าไม้ในชนบทโดยไม่คิดตอบแทนคืน โดยเฉพาะการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดิน จะส่งผลให้เกิด ความไม่มั่นคงทางสิ่งแวดล้อม ขึ้นแก่ตัวเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

       
       เพราะฉะนั้น ชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่จะต้องแสวงหาความร่วมมือจากภาคประชาคม ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาควิชาการในการช่วยกันเปลี่ยนแปลงเมือง ทำให้เมืองเปลี่ยนสภาพตัวเอง เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติได้ด้วยตัวของมันเอง (นี่คือแนวคิดของผมที่เรียกว่า “สวนป่าธรรมชาติในเมือง”) ถ้าเป็นอย่างนี้ได้จริง ต่อให้เมืองเป็นที่ตั้งของอาคารบ้านเรือนจำนวนมากก็จริง แต่เราย่อมสามารถ “บูรณาการ” โดยทำให้เมืองเป็นทั้งสวน และป่าธรรมชาติไปในตัวได้ด้วย นี่คือ เป้าหมายที่เราควรมุ่งทำให้เมืองแต่ละเมืองในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย โดย เราต้องมุ่งทำให้ร้อยละ 50 ของพื้นที่ในเมืองแต่ละเมือง เป็นพื้นที่สีเขียวให้จงได้ 

       
       เราจะต้องทำให้การเจริญเติบโตของเมืองต่างๆ ในประเทศไทยหลังจากนี้เป็นต้นไป เป็นเมืองที่พึ่งพิงอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของเรือกสวนไร่นา เพื่อรักษาความสามารถในการเลี้ยงตนเองของเมืองเอาไว้ให้ได้ เพราะนี่คือ “ทางรอด” ในการรักษาพื้นฐานทางนิเวศที่มั่นคงของประเทศเราเอาไว้ เพื่อเตรียมเผชิญกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อนทั่วโลกที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว และจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า

       
       เมืองแต่ละเมืองเราจะต้องออกแบบใหม่ให้ตรงกลางเมืองเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ พร้อมกับนำที่ดินรกร้างที่มีขนาดใหญ่พอสมควรมาแปลงเป็น สวนป่าธรรมชาติ เป็นหย่อมๆ ตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง โดยที่วงแหวนรอบนอกของเมืองควรเป็น เขตเกษตรกรรมอินทรีย์ หรือ เกษตรกรรมผสมผสาน ที่มีการนำเอาปฏิกูลกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่เพื่อบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์จะได้สามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารได้ ขณะเดียวกัน ก็ควรส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดย่อมเป็นจำนวนมากตามจุดต่างๆ รอบเมือง เพื่อใช้ “เก็บเกี่ยวน้ำฝน” กับเพื่อใช้รับมือ หากเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมขนานใหญ่

       
       นอกจากนี้ ชาวเมืองทุกเมืองจะต้องร่วมมือกันรณรงค์ให้เมืองแต่ละเมืองปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเป็นล้านๆ ต้น จนราวกับเป็น เมืองที่ล้อมด้วยป่า ชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ทุกคน จะต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันการบำรุงหล่อเลี้ยงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรกรรม และแหล่งน้ำ แม่น้ำลำธาร รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศนี้ เพราะ “การเมืองใหม่” ของพวกเรา จะต้องเป็น “การเมืองสีเขียว” เท่านั้น

       
       นอกจากนี้ ประเทศของเราจะต้องมียุทธศาสตร์เพื่อการบริโภคพลังงานอย่างมีความรับผิดชอบ และมีประสิทธิภาพ เมืองทุกเมืองของประเทศเราจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น และมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเตรียมรับมือและเพื่อความอยู่รอดของเมืองในยุคที่หายนภัยจากภาวะโลกร้อนกำลังคืบคลานเข้ามา ที่ดินทุกตารางนิ้วทั่วทุกภาคส่วนของประเทศไทย จะต้องถูกใช้ประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์ของความมั่นคงทางด้านอาหาร น้ำ และสิ่งแวดล้อม โดยถือเป็นความสำคัญอันดับแรกของประเทศเรานับแต่บัดนี้เป็นต้นไป






Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้