(29) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (19/10/53)

(29) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (19/10/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

29. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)


*กรณีสังคมในอดีตที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม*

ในข้อเขียนที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้จากหนังสือ “ล่มสลาย” ของจาเร็ด ไดมอนด์ ที่กล่าวถึงสังคมในอดีต 3 แห่ง คือ สังคมบนเกาะอีสเตอร์ สังคมชาวมายา และสังคมชาวนอร์สในกรีนแลนด์ซึ่งประสบความล้มเหลวในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นอันนำไปสู่การล่มสลายของสังคมนั้นๆ ในที่สุด อย่างไรก็ดี สังคมในอดีตทั้งหมด มิได้ถูกชะตากรรมกำหนดล่วงหน้าว่าจะต้องประสบกับ ปัญหาความหายนะด้านสิ่งแวดล้อม ไปทุกกรณี เพราะยังมีสังคมอื่นๆ ในอดีตที่ยังคงยืนหยัดต่อมาได้หลายพันปี

กรณีแห่งความสำเร็จของสังคมในอดีตเหล่านี้ ได้ให้บทเรียนหลายๆ อย่างแก่คนรุ่นปัจจุบันอย่างพวกเรา รวมทั้งยังเป็นความหวังและแรงบันดาลใจให้แก่พวกเราด้วยว่า ยังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อไม่ให้เกิดการล่มสลายของสังคมและอารยธรรมของพวกเราได้ ถ้าพวกเรามีจิตสำนึกที่ตื่นตัวและเลือกที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างพร้อมเพรียงกัน โดยปกติ

แนวทางในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทำได้ 2 แบบคือ แนวทางจากล่างสู่บน (the bottom-up approach) กับ แนวทางจากบนลงล่าง (the top-down approach) แนวทางจากล่างสู่บนเหมาะสำหรับสังคมขนาดเล็ก ขณะที่แนวทางจากบนลงล่างเหมาะสำหรับสังคมขนาดใหญ่ซึ่งมีการจัดองค์กรทางการเมืองแบบรวมศูนย์ โดยที่ผู้นำสามารถมองเห็น “ภาพรวม” ของประเทศอย่างครอบคลุมกว้างขวางเกินกว่าขีดความสามารถของพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศแต่ละคน

เพื่ออธิบายให้เข้าใจแนวทางสองแบบที่สวนทางกัน แต่นำไปสู่ความสำเร็จได้เหมือนกันในที่สุด จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” ได้ยกกรณีพื้นที่สูงในนิวกินีสำหรับแนวทางจากล่างสู่บน และยกกรณีญี่ปุ่นสมัยโตกุงาวา สำหรับแนวทางจากบนลงล่างมาเป็นกรณีศึกษา สังคมในอดีตที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมานำเสนออย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

(1) กรณีพื้นที่สูงในนิวกินี

ถือเป็นกรณีการจัดการแบบจากล่างสู่บนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เพราะประชากรในนิวกินีได้ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง และอยู่อย่างยั่งยืนมานานราว 46,000 ปีแล้ว โดยไม่มีการนำเข้าสิ่งที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจจากนอกเขตมายังพื้นที่สูงดังกล่าวเลย และสิ่งที่นำเข้าจากชุมชนอื่นก็มีเฉพาะแต่สินค้าที่แสดงสถานะทางสังคม เช่น หอยเบี้ย และขนนกปักษาสวรรค์เท่านั้น จนกระทั่งเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไม่นานมานี้เอง

นิวกินีเป็นเกาะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของออสเตรเลีย จึงมีพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนบริเวณที่ราบลุ่ม แต่ภูมิประเทศทางด้านในของเกาะมีลักษณะสูงๆ ต่ำๆ ประกอบด้วยสันเขา และหุบเขาสลับซับซ้อน และค่อยๆ ลาดชันขึ้นจนจดภูเขาสูงถึง 16,500 ฟุตที่มีธารน้ำแข็งปกคลุม

ชาวนิวกินีที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงนี้ เป็นเกษตรกรที่ทำการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์หลายชนิดได้แก่ เผือก กล้วย มันแกว อ้อย มันเทศ สุกร และไก่ โดยพืชเหล่านี้แต่เดิมเป็นพืชป่าที่ชาวนิวกินีนำมาเพาะเลี้ยงในเขตนิวกินีเองจนกลายเป็นพืชเกษตร แม้ชาวนิวกินีจะอาศัยอยู่ในกระท่อมมุงจาก ไม่มีภาษาเขียน สวมใส่เสื้อผ้าเพียงเล็กน้อย ไม่มีโลหะ และใช้เครื่องมือที่ทำจากหิน ไม้ และกระดูกโดยไม่มีกษัตริย์ปกครอง

แต่ วิธีการเกษตรของพวกเขากลับมีลักษณะที่ประณีตซับซ้อนมาก เพราะมีการทำไร่สวนที่แบ่งซอยออกเป็นแปลงๆ อย่างดีด้วยคูคลองสำหรับการระบายน้ำเข้า-ออก ส่วนบริเวณลาดชันยังมีการปรับพื้นที่เป็นขั้นบันไดคล้ายกับที่พบในชวาและญี่ปุ่น เกษตรกรชาวนิวกินียังได้เรียนรู้ประโยชน์ของร่องระบายน้ำลงในแนวดิ่งในสภาพดินเขตพื้นที่สูงที่มีฝนตกหนัก ซึ่งทำให้น้ำฝนไม่เอ่อขังในร่องระบายน้ำ และไม่ทำให้ดินถล่ม

แต่นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายเทคนิคที่ชาวนิวกินีลองผิดลองถูกด้วยตนเองมานานหลายพันปี สำหรับใช้ปลูกพืชในเขตที่มีปริมาณน้ำฝนสูงได้มากถึง 400 นิ้วต่อปีเท่านั้น พวกเขายังรักษาดินให้อุดมสมบูรณ์ด้วยการทำไร่ทำนาสวนผสม เติมพวกวัชพืชหญ้าเครือเถาที่ไม่ใช้ และสารอินทรีย์อื่นๆ ลงไปในดินเป็นปุ๋ยหมักในปริมาณที่สูงถึง 16 ตันต่อหนึ่งเอเคอร์

อีกทั้งยังนำขยะขี้เถ้า เศษขอนไม้ผุๆ มูลไก่ และพืชพรรณที่ตัดมาจากไร่นาที่ปล่อยให้รกเรื้อในช่วงพักการเพาะปลูกมาใส่คลุมดินเป็นการเพิ่มปุ๋ยกับดิน และยังขุดคลองรอบๆ แปลงไร่สวนเพื่อลดระดับน้ำในดิน และป้องกันน้ำท่วมขังซึ่งเป็นการเอาปุ๋ยอินทรีย์ที่ไหลลงไปอยู่กับคูคลองเหล่านั้นให้กลับขึ้นมาอยู่บนหน้าดินด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการปลูกพืชอาหารตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเมล็ดรูปไตซึ่งทำหน้าที่ตรึงไนโตรเจนจากอากาศลงในดิน หมุนเวียนสลับกับพืชชนิดอื่นๆ อันเป็น หลักการปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งชาวนิวกินีคิดขึ้นมาใช้ด้วยตนเอง นี่คือ วิถีการเกษตรแบบยั่งยืน ในเขตพื้นที่สูงของนิวกินี ส่วนปัญหาเรื่องอุปทานไม้นั้น ชาวนิวกินีได้แก้ปัญหานี้ด้วย วิธีวนเกษตร (silviculture) ซึ่งก็คือการปลูกต้นไม้เนื้อแข็งจำพวกต้นสนตระกูลคาชัวรินาแทนการปลูกพืชไร่ธรรมดาทั่วไป โดยที่ต้นไม้ชนิดนี้ชาวนิวกินีได้ร่วมมือร่วมใจปลูกกันเป็นจำนวนมาก โดยการย้ายต้นกล้าที่งอกขึ้นเองตามธรรมชาติตามริมฝั่งลำธารไปปลูกในที่ใหม่ ชาวนิวกินีในพื้นที่สูงจึงได้ใช้ประโยชน์จากต้นสนชนิดนี้เป็นอย่างมาก เพราะเป็นไม้โตเร็ว เนื้อไม้ใช้ทำไม้แปรรูปได้ และยังใช้เป็นเชื้อเพลิงได้อย่างดีเยี่ยม รากที่เป็นปมของมันมีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจน และใบที่ร่วงหล่นเป็นจำนวนมากก็ช่วยเพิ่มธาตุไนโตรเจนและคาร์บอนในดิน

ดังนั้น การปลูกต้นไม้ชนิดนี้กระจายไปในไร่สวนที่ใช้ปลูกพืชเกษตร จึงช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดิน และการปลูกพืชนี้ในพื้นที่สวนซึ่งถูกปล่อยทิ้งไว้ ก็จะช่วยให้ดินซึ่งพักไว้ชั่วคราวนี้คืนความอุดมสมบูรณ์ และสามารถนำกลับมาเพาะปลูกพืชใหม่อีกครั้งในเวลาที่รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้รากของมันยังยึดดินบริเวณที่ลาดชันได้ดี จึงช่วยลดโอกาสที่ดินจะสึกกร่อนพังทลายได้อย่างมาก สรุปได้ว่า เทคนิควนเกษตรที่ใช้ต้นสนตระกูลคาชัวรินาปลูกสลับกับพืชเกษตรอื่นๆ ในเขตพื้นที่สูงของนิวกินีเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากล่างสู่บน

(2) กรณีญี่ปุ่นสมัยโตกุงาวา

ประเทศญี่ปุ่นสมัยโตกุงาวาได้เริ่มพัฒนา แนวทางการจัดการป่าไม้แบบจากบนลงล่าง อันเป็น การจัดการป่าไม้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว อันที่จริงพื้นที่ป่าดั้งเดิมส่วนใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นได้ถูกตัดถูกทำลายลงไปเป็นจำนวนมาก ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ต่อถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 17 เพราะมีการก่อสร้างปราสาท และวัดขนาดใหญ่ของพวกไดเมียวเป็นจำนวนมาก ทำให้ รัฐบาลโชกุนตระกูลโตกุงาวาซึ่งปกครองแบบรวมศูนย์ที่เข้มแข็งต้องเร่งทำการปลูกป่าไม้ และสวนป่าขึ้นมาแทนที่อย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังมี การจัดการป่าไม้ในระดับจุลภาค (ไมโคร) อย่างเข้มงวดและเข้มข้น จนกระทั่งทำให้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีเนื้อที่เกือบร้อยละ 80 ของประเทศ ประกอบไปด้วยเทือกเขาซึ่งเต็มไปด้วยป่าไม้ โดยที่ป่าไม้ได้รับการอนุรักษ์ และการจัดการเป็นอย่างดี ขณะที่ เนื้อที่สวนป่าขนาดใหญ่ที่ปลูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ ก็ครอบคลุมพื้นที่ประเทศอย่างกว้างขวางใหญ่โตมาก เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า นโยบายป่าไม้ของญี่ปุ่นเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการตัดไม้ทำลายป่าในช่วงศตวรรษที่ 16-17 อย่างได้ผลจนน่าทึ่ง มาตรการในแนวทางจากบนสู่ล่างจำนวนมากของรัฐบาลญี่ปุ่นสมัยโตกุงาวา ส่วนใหญ่มีเป้าหมายเพื่อแก้ไข ความไม่สมดุลระหว่างการตัดต้นไม้กับการผลิตต้นไม้ทดแทน โดยเริ่มต้นจาก มาตรการเชิงลบ (การลดการตัดต้นไม้) จากนั้นจึงนำ มาตรการเชิงบวก (ปลูกต้นไม้มากขึ้น) มาใช้เพิ่มขึ้นตามลำดับ

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ รัฐบาลโชกุนโตกุงาวาได้ริเริ่ม โครงการระดับชาติ โดยให้สังคมทุกระดับ กำหนดวิธีการใช้ประโยชน์จากป่า เรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันปลูกกล้าไม้ทดแทน จากนั้นก็เริ่ม นำระบบการจัดการป่าไม้ระดับไมโคร มาใช้โดยระบบดังกล่าว เน้นที่ การกำหนดอย่างเจาะจงว่า ใครสามารถจะทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร มากแค่ไหน และมีมูลค่าเพียงใด มาตรการเชิงลบของรัฐบาลโชกุนโตกุงาวานี้ แม้จะไม่ได้ช่วยให้มีต้นไม้ใหญ่กลับไปมากเท่าระดับเดิมก่อนหน้านั้นก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นการซื้อเวลาป้องกันไม่ให้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมเลวร้ายแย่ลงไปกว่าเดิม และคงระดับการใช้ไม้ไปจนกว่ามาตรการเชิงบวกจะส่งผลในเชิงปฏิบัติในเวลาต่อมา

กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับวนเกษตรอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ และมีรายละเอียดอย่างพร้อมมูลมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 แล้ว จากนั้นญี่ปุ่นจึงค่อยๆ พัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับการป่าไม้ว่าด้วย สวนป่า (plantation forestry) ขึ้นมาอย่างเป็นเอกเทศอีกด้วย นั่นคือ แนวคิดที่มองว่า เราสามารถปลูกต้นไม้ในฐานะที่เป็นพืชเกษตรที่โตช้าได้ โดยที่ทั้งรัฐบาลญี่ปุ่น และผู้ประกอบการเอกชนญี่ปุ่นเริ่มหันมา ปลูกสร้างสวนป่า กันบนที่ดินซึ่งซื้อหรือเช่า โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณใกล้เมือง

จะเห็นได้ว่าทั้งชนชั้นปกครองของญี่ปุ่น และมวลชนทั่วไปในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ล้วนตระหนักถึง ผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวอันสืบเนื่องมาจากการอนุรักษ์ป่าไม้ของตนเอง ซึ่งเป็นความตระหนักและความตื่นตัวทางจิตสำนึกที่มีระดับสูงกว่าผู้คนในสังคมแห่งอื่นๆ เป็นอย่างมาก แม้เทียบจากมาตรฐานปัจจุบันก็ตาม

คำอธิบายเกี่ยวกับความสำเร็จของญี่ปุ่นสมัยโตกุงาวา จากความรักธรรมชาติ และความเคารพชีวิตของสรรพสิ่ง ตามหลักคำสอนของชินโต-พุทธที่คนญี่ปุ่นนับถือนั้น ไม่น่าจะถูกต้องทั้งหมด เพราะชุดคำอธิบายแบบนี้ไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงที่ญี่ปุ่นในยุคโตกุงาวาช่วงแรกๆ ทำลายสิ่งแวดล้อมได้

ในบทต่อๆ ไป จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” จะเริ่มสำรวจตรวจสอบ สังคมสมัยใหม่ 4 แห่ง เพื่อเปรียบเทียบกับสังคมในอดีตที่ล่มสลาย 3 กรณี ที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว แต่ในการนำเสนอการศึกษาของ จาเร็ด ไดมอนด์ ต่อไปนั้น ผมอยากจะสำรวจตรวจสอบพร้อมกันไปด้วยว่า สถานการณ์ป่าไม้ของประเทศไทย ที่ผ่านมา สังคมไทยประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพียงใด





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้