(35) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (30/11/53)

(35) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (30/11/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

35. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

*สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายในอนาคต อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้หรือไม่? (ต่อ)*

ก่อนที่เราจะไปตรวจสอบ “บริบท” ของปัญหาสิ่งแวดล้อมในโลกยุคปัจจุบัน เพื่อทำความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยที่เกี่ยวโยงกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อน ผมคิดว่า เราน่าจะทำความเข้าใจเรื่อง ความล้มเหลวจากการตัดสินใจรวมหมู่ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าเดิมเสียก่อน เพราะจะว่าไปแล้ว “การล่มสลาย” ของสังคมต่างๆ ล้วนมาจาก ความล้มเหลวจากการตัดสินใจรวมหมู่ทั้งสิ้น

ปัญหาการล่มสลายของสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจาก ความล้มเหลวจากการตัดสินใจรวมหมู่ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งสังคมในอดีตและสังคมปัจจุบันนั้น จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” บอกว่า มีลักษณะร่วมที่น่าสนใจเหมือนกันโดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนตามลำดับเหตุการณ์ (ซึ่งอาจมีความแตกต่างทางรูปธรรมของการทำลายสิ่งแวดล้อมในแต่ละสังคม) ดังต่อไปนี้

ขั้นแรก คนกลุ่มหนึ่งในสังคมนั้นอาจไม่สามารถคาดการณ์ปัญหาได้ล่วงหน้าก่อนที่ปัญหานั้นจะเกิดขึ้น บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหานั้นมาก่อน แม้ปัญหานั้นอาจจะเคยเกิดในประเทศอื่นหรือสังคมอื่นมาแล้ว พวกเขาจึงไม่รู้สึกว่ามีโอกาสที่จะเกิดปัญหา และต่อให้เคยมีประสบการณ์มาก่อน ก็ยังไม่ได้เป็นหลักประกันว่าสังคมหนึ่งๆ จะคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้าได้

ถ้าหากประสบการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นมันนานมากจนถูกลบเลือนไปจากความทรงจำของสังคมแล้ว ปัญหาแบบนี้มักเกิดขึ้นกับสังคมที่ไม่รู้หนังสือ แต่ต่อให้เป็นสังคมของผู้รู้หนังสือในยุคสมัยใหม่ ซึ่งมีภาษาเขียนบันทึกไว้ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้คนในสังคมจะดึงประสบการณ์ที่ได้รับรู้จากภาษาเขียนมาใช้กันได้เสมอไป เพราะสังคมยุคใหม่เองก็มีแนวโน้มที่จะลืมเลือนหลายสิ่งหลายอย่างเช่นกัน

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่อาจช่วยอธิบายว่า เหตุใดสังคมจึงไม่อาจคาดการณ์ปัญหาในอนาคตได้นั้น อาจเนื่องมาจาก การเปรียบเทียบที่ผิดพลาด ก็เป็นได้ เมื่อตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เพราะคนเรามักชินกับการกลับไปเปรียบเทียบกับสถานการณ์เก่าๆ ที่คุ้นเคย ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีที่ดี ถ้าหากสถานการณ์ทั้งเก่าและใหม่นั้น มีลักษณะเหมือนกันอย่างยิ่ง แต่วิธีนี้จะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าหากมันเพียงแต่คล้ายกันอย่างผิวเผิน ยกตัวอย่างในกรณีของประเทศไทยคงได้แก่ มาตรการแก้ไขน้ำท่วมในอดีต อาจใช้ไม่ได้ผลเลยกับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดจากภาวะโลกร้อน แม้จะเป็นปัญหาน้ำท่วมเหมือนกันก็ตามเหล่านี้ เป็นต้น

ขั้นที่สอง เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจริงๆ คนกลุ่มนั้นอาจไม่ตระหนักรับรู้ถึงปัญหาก็เป็นได้ คือไม่ได้ตระหนักรับรู้ว่าปัญหานั้นได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ในสังคมของตนเอง เรื่องแบบนี้ล้วนพบได้ทั่วไปทั้งในโลกธุรกิจ และแวดวงวิชาการเหตุผลก็คือ

(1) จุดเริ่มต้นของปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเห็น ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาดินขาดความอุดมสมบูรณ์ของออสเตรเลีย หรือ

(2) การที่ผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อปัญหานั้น อยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่มีปัญหามาก ทำให้ไม่อาจตระหนักรู้ถึงปัญหานั้นได้ หรือ

(3) ปัญหานั้นเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ภายใต้กระบวนการความผันผวนหรือผันแปรขึ้นๆ ลงๆ ของทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันได้แก่ สภาวะโลกร้อน ตอนนี้เราตระหนักดีแล้วว่า อุณหภูมิรอบๆ โลกได้เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าสภาพอากาศในแต่ละปีจะอุ่นกว่าปีก่อนหน้านั้น 0.01 องศาแน่นอน คงที่ทุกๆ ครั้ง ความจริงแล้วอากาศมีสภาพผันแปรขึ้นๆ ลงๆ ไม่แน่นอนในแต่ละปี เช่น ฤดูร้อนปีหนึ่งอาจมีอากาศร้อนกว่าฤดูร้อนที่แล้ว 3 องศา ฤดูร้อนปีหน้าอาจอุ่นขึ้นอีก 2 องศา จากนั้นก็อาจจะลดลงอีก 4 องศาในฤดูร้อนถัดไป แล้วลดลงไปอีกหนึ่งองศาในอีกหนึ่งปีข้างหน้า จากนั้นก็อาจพุ่งพรวดขึ้นอีก 5 องศาในหน้าร้อนของปีถัดไป เป็นต้น

เนื่องจากสภาพอากาศมีความผันแปรที่ไม่แน่นอน และเกิดขึ้นในช่วงกว้างนี้เอง สัญญาณอันชวนสับสนนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้เวลานานกว่าจะมองเห็นว่า ระดับอุณหภูมิมีแนวโน้มเฉลี่ยสูงขึ้นราว 0.01 องศาต่อปี นั่นคือ เหตุผลที่ว่า เหตุใดนักภูมิอากาศวิทยาส่วนใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้เพียงแค่ตั้งข้อสงสัยถึงความเป็นจริงของสภาวะโลกร้อน จึงเพิ่งจะหันมาเชื่อมั่นในความจริงข้อนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง

จะเห็นได้ว่า สิ่งใดที่กำลังเลวร้ายลงอย่างช้าๆ ก็ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะตระหนักได้ว่า ปีที่ผ่านไปแต่ละปีโดยเฉลี่ยนั้น กำลังเลวร้ายลงกว่าช่วงปีก่อนหน้า ปัญหาสิ่งแวดล้อมน่าจะเป็นประเภทนี้ กล่าวคือ สังคมเราอาจต้องใช้เวลา 2-3 ทศวรรษ (ซึ่งเวลานั้นก็อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในแต่ละปี) กว่าที่ผู้คนในสังคมจะเริ่มตระหนักด้วยความตระหนกว่า สภาพแวดล้อมเมื่อหลายสิบปีก่อนดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก การที่สังคมเราเริ่มสูญเสียความทรงจำด้านภูมิทัศน์ (landscape amnesia) ได้แก่ การลืมไปแล้วว่า ภูมิทัศน์โดยรอบแตกต่างจากเมื่อ 50 ปีก่อนอย่างไรบ้าง เพราะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยและค่อยเป็นค่อยไป

ตัวอย่างได้แก่ การตัดไม้ทำลายป่า เพราะการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ในช่วงปีต่อปีนั้น อาจจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยจนแทบไม่ทันสังเกตเห็น กว่าจะตระหนักได้อีกยี่สิบสามสิบปี หลังจากนั้นป่าก็ถูกทำลายลงไปมากแล้ว และคงมีแต่ผู้เฒ่าในสังคมเท่านั้นที่พอจะหวนรำลึกได้ว่า สมัยก่อนประเทศของเราเคยมีป่าไม้หนาแน่นเพียงใด และแตกต่างจากสมัยนี้ขนาดไหน ขณะที่เยาวชนสมัยนี้คงไม่อาจนึกภาพเหล่านั้นได้ออกเลย

ขั้นที่สาม หลังจากรับรู้ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว พวกเขาก็อาจไม่พยายามจะแก้ปัญหานั้น ขั้นตอนนี้ เป็นสิ่งที่พบบ่อยที่สุด และสร้างความประหลาดใจได้มากที่สุดในสังคมสมัยใหม่ เพราะมันเป็นขั้นตอนที่เกิด รูปแบบของความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ระหว่างผู้คนในสังคม ที่เรียกว่า “โศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะ” ซึ่งได้กล่าวไปแล้ว กล่าวคือ ในขั้นตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดความล้มเหลว อันเนื่องมาจาก “พฤติกรรมที่สมเหตุสมผล” (rational behavior) แต่เห็นแก่ตัว ของคนกลุ่มต่างๆ ที่มีการปะทะกันด้านผลประโยชน์ โดยเป็นพฤติกรรมที่ “ดีสำหรับฉัน แย่สำหรับคุณ และแย่สำหรับคนอื่นๆ ทุกคนด้วย” สิ่งนี้หมายความว่า คนบางคนอาจคิดหาเหตุผลได้อย่างน่าฟังว่า ตนเองจะได้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการกระทำที่เป็นอันตรายหรือสร้างความเสียหายให้แก่ผู้อื่นและสังคมโดยรวม

การจะแก้ปัญหาโศกนาฏกรรมของทรัพย์สินสาธารณะนี้ได้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องตระหนักถึงผลประโยชน์ระยะยาวที่มีร่วมกัน และช่วยกันออกแบบ กำหนด และปฏิบัติตามโควตาการใช้ทรัพยากรอย่างรอบคอบระมัดระวังด้วยตนเอง

แต่วิธีการแบบนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่มีจิตสำนึกที่ตื่นตัวแล้ว มีน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เรียนรู้ที่จะวางใจกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน รวมทั้งมีความคาดหวังว่าจะแบ่งปันอนาคต และสืบต่อทรัพยากรดังกล่าวไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานร่วมกัน มีศักยภาพและรวมกลุ่มกันจัดตั้งเพื่อตรวจตรารักษาทรัพยากรร่วมกัน โดยกำหนดขอบข่ายการดำเนินการจัดสรรทรัพยากรที่แน่นอนชัดเจนแล้วเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่สังคมทุกสังคมจะทำได้แบบนั้น โดยเฉพาะสังคมที่กำลังพัฒนา และภาคประชาชนยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ

การปะทะกันเรื่องผลประโยชน์ในลักษณะของ “พฤติกรรมที่สมเหตุสมผล” แต่เห็นแก่ตัวแบบนี้มักเกิดขึ้น เมื่อผู้ใช้ประโยชน์ที่สำคัญไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ในระยะยาว ในขณะที่สังคมทั้งหมด เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ปัญหาเรื่องนี้จะขยายวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเกี่ยวโยงกับผลประโยชน์ของชนชั้นนำ และนักการเมืองผู้มีอำนาจตัดสินใจในสังคม และมีผลประโยชน์ที่กระทบต่อคนส่วนอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มชนชั้นนำ และพวกนักการเมืองสามารถป้องกันตนเอง ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของตัวเองได้

พวกเขาก็มีแนวโน้มว่าจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองโดยไม่สนใจว่า การกระทำนั้นๆ จะทำร้ายหรือสร้างความเสียหายต่อคนอื่นๆ และสังคมทั้งหมดได้ จะเห็นได้ว่า พวกชนชั้นนำ และนักการเมืองที่ฉกฉวยผลประโยชน์ของส่วนรวมมาเป็นของตนเอง คือ ต้นเหตุที่สำคัญมากประการหนึ่งของการล่มสลายทางสังคมเสมอมา

ขั้นที่สี่ แม้หลังจากที่สังคมคาดการณ์ล่วงหน้า รับรู้ หรือพยายามจะแก้ปัญหาแล้ว แต่สังคมนั้นก็ยังอาจล้มเหลวหรือไม่สามารถแก้ไขปัญหานั้นได้ ด้วยเหตุผลที่เป็นไปได้ต่อไปนี้ ได้แก่ (1) ปัญหานั้นอาจยากเกินกว่าขีดความสามารถหรือศักยภาพในการแก้ปัญหาของเราในปัจจุบัน (2) วิธีการแก้ปัญหาอาจมีอยู่จริง แต่ว่าต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากมหาศาล (3) ความพยายามในการแก้ปัญหาของเราอาจน้อยเกินไป หรือไม่ก็สายเกินไป (4) บางทีความพยายามในการแก้ปัญหาบางอย่างอาจส่งผลสะท้อนในทางลบ และกลับทำให้ปัญหานั้นเลวร้ายลงไปอีก

จาก 4 ขั้นตอนของความล้มเหลวจากการตัดสินใจรวมหมู่ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมดังข้างต้น เราสามารถระบุถึงเหตุผลจำนวนมากที่ช่วยอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใดสังคมหลายๆ แห่งทั้งสังคมในอดีต และสังคมสมัยใหม่ยุคปัจจุบัน จึงประสบความล้มเหลวจนนำไปสู่การล่มสลายในที่สุด สิ่งที่น่าจะเป็นอุทาหรณ์มากที่สุดก็คือ ทำไมชนชั้นนำหรือผู้นำส่วนใหญ่จึงมักดำเนินรอยตามเส้นทางแห่งความล้มเหลว และนำไปสู่การล่มสลายนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งๆ ที่มีตัวอย่างมากมาย ทั้งจากสังคมในอดีต และจากสังคมอื่นในยุคเดียวกันให้เห็นอยู่กับตาแท้ๆ

ผมได้แต่หวังว่า พวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และชาวพรรคการเมืองใหม่ของพันธมิตรฯ จะไม่ยอมจำนนต่ออนาคตที่อาจเกิดความล้มเหวจากการตัดสินใจรวมหมู่ของสังคมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคมช่วยกันหลีกเลี่ยงไม่ให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมนำไปสู่การล่มสลายของสังคมได้ในที่สุด





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้