(47) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (22/2/54)

(47) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (22/2/54)


47. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.)

 

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต



วิกฤตพลังงานกับยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ


       นอกจากเราจะต้องกลับมาให้ความสำคัญกับ “ดิน” ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ความสำคัญของ “น้ำ” ในยุคที่หายนภัยจากภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามโลกใบนี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างในยุคปัจจุบัน และอนาคตอันใกล้ ดูเหมือนจะมีความสำคัญมากยิ่งกว่า “ดิน” เสียอีกในแง่ที่ว่า นอกจาก “น้ำ” จะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการดำรงชีวิตและการเกษตรแล้ว “น้ำ” ยังเป็นภัยพิบัติร้ายแรงได้อีกด้วย เพราะฉะนั้นการที่ประเทศเราจะสามารถมี ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการได้ พวกเราจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับ ลักษณะและปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย ให้ชัดเจนเสียก่อน
       

       เท่าที่ทราบจากพระราชพงศาวดาร กรุงเทพฯ ของเราเคยมีน้ำท่วมใหญ่ในรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ถึงขนาดท้องสนามหลวงจมอยู่ใต้น้ำลึกกว่า 7-8 ศอก (3.5-4 เมตร) มาแล้ว และต่อมาได้มีบันทึกอีกว่า มีน้ำท่วมใหญ่ในรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2460 กับในรัชกาลที่ 8 เมื่อปี พ.ศ. 2485 อีก 2 ครั้ง การย้อนกลับไปศึกษาเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งสำคัญในกรุงเทพฯ เท่าที่สามารถรวบรวมได้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะทำให้เราเข้าใจ สภาพธรรมชาติของน้ำท่วมในประเทศไทย ได้ดียิ่งขึ้น
       

       อย่างเช่น น้ำท่วมเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2460 ในรัชกาลที่ 6 กินระยะเวลาที่น้ำท่วมประมาณ 1 เดือน โดยเริ่มท่วมตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ตอนนั้นน้ำท่วมถนนในกรุงเทพฯ หมดทุกเส้นทาง โดยเฉพาะที่ลานพระบรมรูปทรงม้า มีระดับน้ำท่วมสูงถึงหัวเข่า น้ำท่วมคราวนั้นส่งผลให้ต้นข้าวในนาล่มเสียหายเป็นอันมาก

       
       ส่วนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2485 โดยเริ่มท่วมตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน คราวนี้ น้ำท่วมมากกว่าปี พ.ศ. 2460 เกือบเท่าตัว เพราะเรือกลไฟสามารถเข้ามาลอยลำตามถนนที่โดนน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากฝนตกหนักทำให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำที่สูงมาก จนไหลล้นริมฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่งตลอดแนว โดยวัดระดับน้ำท่วมที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ 2.27 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล


       ในปี พ.ศ. 2518 ได้เกิดน้ำท่วม เนื่องจากพายุพาดผ่านตอนล่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นเหตุให้น้ำไหลล้นเข้าท่วมกรุงเทพฯ จากนั้นเกิดน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2521 เนื่องจากพายุ 2 ลูกพาดผ่านบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ทำให้น้ำท่วมไหลบ่าเข้ากรุงเทพฯ โดยเฉพาะด้านตะวันออก ส่วนน้ำท่วมในปี พ.ศ. 2526 มีสภาพรุนแรงมาก เนื่องจากมีพายุพาดผ่านเช่นกัน จนระดับน้ำที่สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ สูงถึง 2.04 เมตร ในเดือนพฤศจิกายน มีผลทำให้พื้นที่ทั่วไปของกรุงเทพฯ มีน้ำท่วมขัง และได้รับความเสียหายมาก ต่อมาจึงได้เกิด โครงการป้องกันน้ำท่วมทั้งฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมา จากนั้นก็ยังเกิดน้ำท่วมซ้ำซากอีก อย่างเช่นในปี พ.ศ. 2529, 2533, 2537, 2538, 2539, 2541 ฯลฯ และมีแนวโน้มเกิดขึ้นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

       
       เหตุที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ของมหานครแห่งนี้เอง ที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ทางตอนล่างปลายอ่าวไทย ด้วยเหตุนี้ ผู้คนในกรุงเทพฯ ในอดีตจึงปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับสภาพที่มีน้ำอยู่มาก โดยการขุดคูคลองในเมืองจำนวนมาก เพื่อช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้นในยามที่ฝนตกหนัก หรือช่วยรองรับน้ำไว้ในช่วงหน้าน้ำหลาก เพื่อไม่ให้น้ำล้นตลิ่งมากเกินไปจนท่วมบ้านเรือน และช่วยระบายน้ำหลากช่วงน้ำเหนือมากให้ลงสู่ทะเลเร็วขึ้น

       
       แต่พร้อมๆ กับการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ทำให้ชุมชนเมืองของกรุงเทพฯ ขยายตัวมาโดยตลอด จึงมีการปรับเปลี่ยนสภาพพื้นที่และ มีการถมพื้นที่จากบึง สระ คู และคลอง ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่แก้มลิง ช่วยอุ้มน้ำไว้ระยะหนึ่งให้กลายเป็นถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ขาดพื้นที่ชะลอน้ำไว้ ทำให้ระบายน้ำได้ยากขึ้น เมื่อผนวกกับปัญหาปริมาณน้ำเหนือไหลหลากมาสู่กรุงเทพฯ มีปริมาณมากขึ้นทุกปี เนื่องมาจากมีการป้องกันพื้นที่ตลอดแนวลำน้ำเจ้าพระยา โดยสร้างคันป้องกันน้ำท่วม และพื้นที่ปิดล้อมทางตอนบนของแม่น้ำ และถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำทะเลหนุน ปัญหาแผ่นดินทรุด และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ทำให้มีฝนตกในพื้นที่เป็นปริมาณมาก
       

       ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้กรุงเทพฯ ประสบกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมาโดยตลอด และนับวันปัญหาเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติไปแล้ว อย่างเหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นในกลางเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2553 นี้

       
       ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่ภาวะที่โลกร้อนขึ้นในปัจจุบัน ได้ทำให้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ. 2553 และหลังจากนี้เป็นต้นไป มีความแตกต่างจากปัญหาน้ำท่วมในอดีต ในแง่ที่ว่า เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้นอันเป็นผลจากภาวะโลกร้อน จะส่งผลให้พายุโซนร้อน โดยเฉพาะพายุไต้ฝุ่นเกิดมากขึ้น เพราะเมื่ออุณหภูมิผิวน้ำมหาสมุทรทั่วโลกสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้อัตราการระเหยเป็นไอของน้ำสู่บรรยากาศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เกิดพายุ ที่สำคัญพายุโซนร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อพื้นที่กว้างนับร้อยกิโลเมตร โดยเฉพาะอาณาบริเวณที่ศูนย์กลางของพายุเคลื่อนที่ผ่าน มักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยผลกระทบนี้จะปรากฏออกมาในรูปของการทำให้ฝนตกหนัก และมีภัยพิบัติจากน้ำท่วมตามมา

       
       เมื่อเราย้อนกลับไปพิจารณา ข้อมูลน้ำท่วมครั้งใหญ่ๆ ที่เคยท่วมกรุงเทพฯ ในอดีต เราพบว่า น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาทั้งหมด ล้วนเกิดจากลักษณะของสามน้ำมาเจอกัน คือ
       

       1. น้ำหลาก ที่เกิดจากอิทธิพลของร่องมรสุมทำให้มีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม รวมทั้งอิทธิพลจากพายุโซนร้อน ทำให้มีฝนตกหนักบริเวณพื้นที่ต้นน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา น้ำเหล่านั้นจะไหลหลากลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา และจะมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม

       
       2. น้ำหนุน ที่เกิดจากบริเวณอ่าวไทยในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน มีระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่อาจไหลลงสู่ทะเลได้ง่าย จึงเกิดอาการน้ำในแม่น้ำเอ่อขึ้นสูง
       

       3. น้ำฝน ที่เกิดจากมีพายุโซนร้อนพัดผ่าน ทำให้มีฝนตกหนักในบริเวณกรุงเทพฯ และพื้นที่ภาคกลาง
       

       เพราะฉะนั้น หากปีใดก็ตามที่มีลักษณะสามน้ำข้างต้นมาเจอกันในช่วงประมาณเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมพอดี ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ทุกครั้งไป คราวนี้ยิ่งถ้าผนวก ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อประเทศไทยที่ทำให้ลักษณะฝนตกแปรปรวนไปจากเดิมมาก ส่งผลให้ฝนตกครั้งละมากขึ้น ดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วในปี พ.ศ. 2553 จะทำให้เกิด ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ อย่างเดือนตุลาคมในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเราเห็นได้อย่างค่อนข้างชัดแจ้งว่า มีความแตกต่างไปจากภัยพิบัติน้ำท่วมในอดีต เพราะมันมิใช่แค่เกิดขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

       
       แต่ปรากฏการณ์ “ฝนตกหนักและน้ำท่วม” ในปี พ.ศ. 2553 นี้ มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันหลายประเทศทั่วโลก ทั้งยุโรป และเอเชีย เช่น โปรตุเกส โปแลนด์ ฮังการี เยอรมนี สโลวะเกีย เซอร์เบีย ยูเครน อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ลัตเวีย ออสเตรเลีย อียิปต์ เกาหลีเหนือ ปากีสถาน อินเดีย จีน และประเทศไทย
       

       ในกรณีของประเทศไทย ภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่ในเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 2553 เป็นที่น่าสังเกตว่า มีฝนตกมาก มิหนำซ้ำยังตกผิดที่ผิดเวลาอีกด้วย คือ ตกหนักมากลงมาพร้อมกัน ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน
       

       นอกจากนี้ในทุกพื้นที่ที่เคยเป็นที่รับน้ำ หรือแก้มลิงก็มีปริมาณน้ำฝนตกค้างในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทำให้การระบายน้ำทำได้ยากลำบากกว่าทุกปี ปัจจุบันที่ดินครึ่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อยู่ใต้ระดับน้ำทะเล และอีกครึ่งหนึ่งอยู่ในลักษณะที่ปริ่มน้ำ ประกอบกับปัญหาการทรุดตัวลงของดินในกรุงเทพฯ ปีละ 2 เซนติเมตร เนื่องจากมีการดูดน้ำบาดาลไปใช้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันบ่อต่อวัน และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นปีละ 1 เซนติเมตร ทั้งหมดนี้แม้จะเป็นอัตราปกติก็จริง

       
       แต่ที่น่าวิตกก็คือ ภาวะโลกร้อนได้กลายเป็นตัวเร่งให้ระดับน้ำเพิ่มมากขึ้น เพราะ ฝนตกมากขึ้นถึง 40% ในปี พ.ศ. 2553 จนทำให้ระดับน้ำที่สะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ สูงถึง 2.20 เมตร แล้วระดับน้ำนี้สูงกว่าระดับน้ำในปี พ.ศ. 2526 และใกล้เคียงกับระดับน้ำในปี พ.ศ. 2485 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่





 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้