(26) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (28/9/53)

(26) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (28/9/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

26. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)


*กรณีล่มสลายของสังคมมายา*

เรื่องราวของสังคมมายามีข้อดีสำหรับผู้ที่สนใจการล่มสลายของสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายประการ เพราะบันทึกที่เป็นภาษาเขียนของชาวมายายังมีหลงเหลือให้ศึกษา แม้ว่าจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม แต่ก็ช่วยให้นักวิชาการสามารถนำมาปะติดปะต่อเป็นภาพประวัติศาสตร์มายา ซึ่งมีรายละเอียดมากกว่าสังคมบนเกาะอีสเตอร์ที่ได้กล่าวไปแล้ว

นอกจากนี้ ศิลปะและสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ของเมืองต่างๆ ของสังคมมายาโบราณ ซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรยูคาตันของประเทศเม็กซิโก ยังส่งผลให้บรรดานักโบราณคดีพากันศึกษาเรื่องของมายาได้มากกว่าที่ควรจะเป็น หากชาวมายาเป็นเพียงพวกล่าของป่า หรือพวกล่าสัตว์ผู้ไม่รู้หนังสือ ซึ่งอาศัยอยู่ในกระท่อมที่ไม่หลงเหลือให้ศึกษาทางโบราณคดีได้

อาณาบริเวณที่ตั้งอาณาจักรต่างๆ ของมายา เป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคอันกว้างใหญ่ที่มีวัฒนธรรมของชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาโบราณ ซึ่งรู้จักกันในนาม เมโสอเมริกา ซึ่งมีอาณาเขตครอบคลุมตรงกลางของเม็กซิโกไปจนถึงฮอนดูรัส ก่อนที่ชาวยุโรปจะเข้ามานั้น สังคมมายามีลักษณะเหมือนสังคมแถบเมโสอเมริกาอื่นๆ กล่าวคือ สังคมมายาแบ่งการเมืองการปกครองเป็นอาณาจักรขนาดเล็กๆ หลายแห่ง ซึ่งทำสงครามระหว่างกันอย่างยืดเยื้อยาวนาน โดยไม่เคยรวมตัวกันเป็นเอกภาพจนกลายเป็นจักรวรรดิที่ใหญ่โตเหมือนกับที่อื่น

ชาวมายามีภาษาเขียนของตัวเอง ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ โดยที่กษัตริย์มายาทำหน้าที่เสมือนนักบวชชั้นสูงสุดไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะกษัตริย์มายาทรงมีภาระความรับผิดชอบ ที่จะต้องประกอบพิธีกรรมที่สอดคล้องกับดาราศาสตร์ และปฏิทินซึ่งชาวมายาเชื่อกันว่า จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล และนำพาความรุ่งเรืองมาให้แก่ราชอาณาจักร นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชนชั้นชาวนาในสังคมมายาให้การสนับสนุนค้ำจุนชีวิตที่หรูหรา ฟุ่มเฟือยของกษัตริย์และราชสำนัก เพราะกษัตริย์มายาทรงให้คำมั่นสัญญาอันยิ่งใหญ่แก่ชนชั้นชาวนาว่า จะทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล จึงเห็นได้ว่า กษัตริย์มายาจะตกอยู่ในสภาวะความยากลำบาก พร้อมๆ กับพวกชาวนา หากเกิดภาวะแห้งแล้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เมื่อพิจารณาจากกรอบความเข้าใจการล่มสลายทางสังคมทั้ง 5 ประการ ที่จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” ได้ใช้ศึกษา เขาพบว่า สังคมมายาเข้าข่ายปัจจัยเงื่อนไข 4 ใน 5 ประการคือ ชาวมายาได้ทำลายสภาพแวดล้อมของตนเอง โดยเฉพาะการทำลายป่า และการทำให้ดินสึกกร่อน พังทลาย นอกจากนี้ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปคือ เกิดภาวะแห้งแล้วต่อเนื่องนานนับปี หลายครั้งหลายหนจนมีส่วนอย่างยิ่งต่อการล่มสลายของมายา

ความเป็นศัตรูกันภายในสังคมมายาเองก็มีบทบาทสำคัญมาก รวมทั้งยังมีปัจจัยด้านการเมือง และด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะการแก่งแย่งแข่งขันกันในบรรดากษัตริย์ และขุนนางที่นำไปสู่สงครามที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และการแข่งขันการสร้างอนุสรณ์สถานมากกว่าที่จะมุ่งแก้ปัญหาของสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งนับว่ามีส่วนต่อการล่มสลายเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัจจัยที่เกี่ยวกับการค้าขาย หรือยุติการค้าขายกับสังคมภายนอกที่เป็นมิตรนั้น ไม่ปรากฏว่ามีส่วนสำคัญต่อการดำรงอยู่ หรือการล่มสลายของสังคมมายาแต่อย่างใด

เพื่อทำความเข้าใจ สังคมมายาได้ดีขึ้น เราควรจะเริ่มจากการพิจารณาสภาพแวดล้อมของสังคมมายาเสียก่อน ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจว่า สภาพแวดล้อมของสังคมมายาไม่ใช่ป่ารกทึบ และก็ไม่ใช่ป่าดิบชื้นตลอดทั้งปี หรือเป็นป่าฝนเขตร้อน แต่ สภาพแวดล้อมของสังคมมายาเป็นป่าเขตร้อนบางฤดูกาล (seasonal tropical forest) หรือกล่าวได้ว่า เป็นทะเลทรายบางฤดูกาล (seasonal desert) ก็ได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ชาวมายาจึงต้องจัดการกับปัญหาเรื่องน้ำ ด้วยการขุดแอ่งน้ำ หรือปรับสภาพแอ่งน้ำตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิม แล้วใช้ปูนอุดรูพรุนโดยใช้ปูนขาวเคลือบที่ก้นแอ่ง เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง เพราะว่าเมืองส่วนใหญ่ของชาวมายาไม่ได้สร้างขึ้นใกล้แม่น้ำ ซึ่งมีเพียงไม่กี่สาย แต่อ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่ของชาวมายาที่อาศัยอยู่ในเมืองสามารถเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ ต่อการบริโภคของประชากรราวๆ หนึ่งหมื่นคนเป็นเวลานานเพียง 18 เดือนเท่านั้น นั่นก็หมายความว่า หากฝนยังไม่ตกหลังจากช่วง 18 เดือนผ่านไปแล้ว ก็อาจเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหาร ไม่พอเพียงต่อความต้องการ และชาวเมืองจะประสบกับภาวะความอดอยากได้ เนื่องจากการเพาะปลูกพืชอาหารของชาวมายานั้น ต้องพึ่งพาน้ำฝนมากกว่าน้ำจากอ่างเก็บน้ำ

ด้วยเหตุนี้ ปรากฏการณ์สภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นซ้ำซาก จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมากต่อการทำความเข้าใจการล่มสลายของสังคมมายา นอกเหนือไปจากบทบาทของสงครามที่พวกกษัตริย์มายาตามอาณาจักรต่างๆ ต่างทำสงครามกันเองเพื่อจับอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นเชลย ทั้งนี้ก็เพราะว่า นักภูมิอากาศวิทยา และนักนิเวศวิทยาได้ทำการศึกษา เรดิโอคาร์บอนจากใจกลางชั้นดินตะกอนในทะเลสาบหลายแห่งในอาณาจักรมายา แล้วพบว่า ในราวปี ค.ศ. 760 ได้เกิดสภาวะความแห้งแล้งรุนแรงที่สุดในรอบเจ็ดพันปี ที่ผ่านมา โดยมีความรุนแรงที่สุดในปี ค.ศ. 800 ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับการล่มสลายของอาณาจักรมายา ในปี ค.ศ. 800 พอดี เพราะในปีนั้น มีประชากรชาวมายาถึงร้อยละ 90-99 ได้หายสาบสูญไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดบริเวณที่ราบลุ่มทางภาคใต้ รวมทั้งพวกบรรดากษัตริย์ทั้งหลายก็หายสาบสูญไปพร้อมกับประชาชนชาวมายาเกือบทั้งหมดด้วย

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิเคราะห์ ความถี่ของการเกิดสภาวะแห้งแล้ง ในอาณาจักรมายาอย่างละเอียด พวกเขาจึงได้เห็นแนวโน้มว่า สภาพความแห้งแล้งดังกล่าวได้เกิดขึ้นซ้ำๆ ในช่วงระยะห่างประมาณ 208 ปี ภายใต้สภาวะความอดอยากที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนน้ำ และขาดแคลนอาหาร ทำให้ประชากรบางส่วนต้องล้มตายไป แต่บางส่วนก็ฆ่ากันตายจากการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรที่ขาดแคลนมากขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรมายาในที่สุด

แต่ก่อนที่อาณาจักรมายาจะล่มสลายลงนั้น ปัญหาประชากรที่เติบโตเร็วกว่าทรัพยากรที่มีอยู่ ก็เริ่มมีปัญหาอยู่ก่อนแล้ว นอกจากนี้ สภาพดินที่เนินเขาสึกกร่อนพังทลาย ยังส่งผลให้ที่ดินการเกษตรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ลดน้อยลง ในขณะที่ความต้องการพื้นที่การเกษตรกลับเพิ่มสูงขึ้น เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยการไปตัดต้นไม้ทำลายป่า และทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน ปัญหาจึงยิ่งรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก และรุนแรงยิ่งขึ้นทุกที

ที่น่าแปลกใจก็คือ เพราะเหตุใด บรรดากษัตริย์และพวกขุนนางที่ปกครองอาณาจักรมายาในตอนนั้น จึงไม่ตระหนักและไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังบ่อนทำลายสังคมมายาอยู่ในขณะนั้นได้ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็น่าจะมองเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้กับอาณาจักรมายาที่พวกเขาปกครองอยู่ แต่พวกเขากลับไม่สนใจเลย และไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อยับยั้งการล่มสลายที่กำลังจะมาถึง เป็นที่เห็นได้ชัดว่า พวกเขาเอาแต่มุ่งให้ความสนใจกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าของพวกตนเป็นหลักเท่านั้น เพียงเพื่อสะสมความมั่งคั่งมาบำรุงบำเรอตนเองเท่านั้น

พวกเขาเอาแต่ทำสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่กันเอง หรือไม่ก็หมกมุ่นอยู่กับการสร้างอนุสรณ์สถานอันใหญ่โตอลังการ เพื่อโชว์ความยิ่งใหญ่ของตนหรือของราชวงศ์ของพวกตน นอกจากนี้ พวกเขายังขูดรีดอาหารส่วนเกินจากชนชั้นชาวนามาสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของพวกตนอย่างไม่บันยะบันยัง ชนชั้นปกครองของอาณาจักรมายาจึงทำผิดพลาดไม่ต่างไปจากผู้นำส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และไม่ต่างไปจากพวกนักการเมืองไทยที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนี้ คือ พวกเขาไม่เคยเอาใจใส่ดูแลปัญหาระยะยาวของบ้านเมืองอย่างจริงจัง แต่พวกเขากลับมุ่งสนองผลประโยชน์เฉพาะหน้า และระยะสั้นของพวกตนเป็นหลักเท่านั้น

การล่มสลายของอาณาจักรมายา จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับอารยธรรมของพวกเราในปัจจุบันแต่อย่างใดหากพิจารณาจากมุมมองเรื่อง ความผิดพลาดของชนชั้นปกครอง หรือพวกนักการเมืองที่เห็นแก่ตัวมากกว่าความอยู่รอดของสังคมโดยรวม






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้