(24) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (14/9/53)

(24) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (14/9/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

24. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

 

โดยสามัญสำนึก ผู้คนมักจะเข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า การล่มสลายของสังคมหนึ่งๆ นั้นเกิดจากการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” อันโด่งดังกลับบอกว่า จากการศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนานของตัวเขา เขายังไม่เคยพบว่ามีสังคมใดที่การล่มสลายนั้น เกิดจากสาเหตุการทำลายสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่มักจะมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ

นอกจากนี้ เขายังค้นพบอีกว่า มันไม่เป็นความจริงเลยที่สังคมในอดีตทุกสังคมถึงแก่กาลล่มสลายเพราะสิ่งแวดล้อมถูกทำลายเช่นเดียวกันทุกแห่ง ในอดีตสังคมบางแห่งล่มสลายในขณะที่บางแห่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น จาเร็ดจึงต้องหันกลับมาตั้งคำถามใหม่ว่า

“เหตุใดสังคมเพียงบางแห่งเท่านั้น ที่เปราะบางต่อภาวะล่มสลาย?” และ “อะไรคือความแตกต่างระหว่างสังคมที่ล่มสลายกับสังคมที่ไม่ล่มสลาย?”

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาเกี่ยวกับการล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ ในอดีตของจาเร็ด จึงได้มาถึงจุดที่ตัวเขาได้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และที่เป็นไปได้ 5 ประการ ซึ่งตัวเขาได้ใคร่ครวญแล้วว่า ปัจจัย 4 ประการจากชุดปัจจัยทั้งหมด ที่มี 5 ประการ ได้แก่ การทำลายสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูกัน และคู่ค้าที่เป็นมิตร

ปัจจัยทั้ง 4 ประการนี้ ล้วนมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจการล่มสลายทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับกันไม่ว่ากรณีใดก็ตาม แต่ปัจจัยชี้ขาดที่ตัวเขาพบว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ การตอบสนองของสังคมต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่างหาก ที่ทำให้สังคมบางแห่งล่มสลาย ในขณะที่สังคมบางแห่งไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ขอให้เรามาพิจารณาปัจจัยทั้ง 5 ประการนี้อย่างละเอียดยิ่งขึ้นอีกครั้ง

ปัจจัยประการที่ 1 ได้แก่ การทำลายสิ่งแวดล้อม ที่มนุษย์กระทำลงไปโดยไม่เจตนา ขณะที่ในปัจจุบัน ปัญหาการทำลายระบบนิเวศดูจะน่าวิตกยิ่งกว่าภัยจากสงครามนิวเคลียร์เสียอีก เพราะมันเป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรมโลกของพวกเรายิ่งกว่า นอกจากนี้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ ยังได้สร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นอีก 4 ประการ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับปัญหาสิ่งแวดล้อม 8 ประการ (กล่าวแล้วในตอนก่อน) ที่สังคมในอดีตที่ล่มสลายไปแล้วได้เคยประสบมาก่อน นั่นคือ

(1)ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการกระทำของมนุษย์

(2)การสั่งสมสารเคมีที่เป็นพิษในสภาพแวดล้อม

(3)การขาดแคลนพลังงาน

(4) การที่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากการสังเคราะห์แสงของโลกจนเต็มขีดความสามารถแล้ว

เมื่อรวมกับปัญหาสิ่งแวดล้อม 8 ข้อที่เกิดขึ้นกับสังคมที่ล่มสลายในอดีตมาแล้วคือ ปัญหาการทำลายป่า ปัญหาเกี่ยวกับดิน ปัญหาการจัดการน้ำ ปัญหาการล่าสัตว์มากเกินไป ปัญหาการจับสัตว์น้ำมากเกินไป ปัญหาที่เกิดจากการนำเข้าพืชและสัตว์จากต่างถิ่น ปัญหาการเติบโตของประชากร และปัญหาผลกระทบจากประชากรที่เพิ่มขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้ง 12 ประการนี้ กำลังกลายเป็นหรือกำลังเป็นปัญหาที่สำคัญของโลก และปัญหาในระดับโลกที่ชาวโลกจะต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้จงได้ เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์เอง

ปัจจัยประการที่ 2 ได้แก่ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) ถ้าในยุคปัจจุบัน คำคำนี้เรามักนำไปโยงกับภาวะโลกร้อน (global warming) อันเกิดจากการกระทำของมนุษย์ แต่ในสังคมในอดีตที่ล่มสลายไปแล้ว ความเปลี่ยนแปลงหรือความวิปริตของสภาพอากาศมักเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของพลังธรรมชาติหลายอย่างที่ส่งผลต่อสภาพอากาศ โดยไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น ความร้อนของแสงอาทิตย์ที่แปรเปลี่ยนไป หรือการระเบิดของภูเขาไฟซึ่งปล่อยฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่วบรรยากาศ หรือความเปลี่ยนแปลงทิศทางของแกนโลกซึ่งสัมพันธ์กับวงโคจรของโลก หรือความเปลี่ยนแปลงในด้านการกระจายตัวของผืนแผ่นดิน และท้องน้ำบนผิวโลกเหล่านี้ เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า ความล่มสลายของสังคมในอดีตมักไม่ได้มีสาเหตุมาจากผลกระทบของสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์เป็นต้นเหตุ และก็ไม่ได้มาจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศแต่เพียงอย่างเดียว การระบุอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างง่ายๆ ทั้งสองทางข้างต้นนั้นไม่ถูกต้อง เพราะ ไม่มีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งที่เป็นต้นเหตุของการล่มสลายของสังคมในอดีตเพียงลำพัง แต่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้น และผสมผสานกันต่างหาก คือต้นเหตุของการล่มสลายที่แท้จริง

ปัจจัยประการที่ 3 ได้แก่ เพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูคู่อริกัน ตัวอย่างคลาสสิกที่มักยกมาอ้างบ่อยๆ ในการอธิบายปัจจัยข้อนี้คือ การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่ถูกโอบล้อมจากการรุกรานของพวกอนารยชน แม้กรุงโรมจะสามารถป้องกันตนเองจากการโจมตีของพวกอนารยชนได้สำเร็จนานหลายร้อยปีก็ตาม แต่ท้ายที่สุด พวกอนารยชนกลับเป็นฝ่ายชนะสงคราม ในกรณีนี้น่าจะอธิบายได้ว่า พวกอนารยชนหลายเผ่าที่เคลื่อนไหวอยู่ตามตะเข็บชายแดนของจักรวรรดิโรมัน คงจะไม่ประสบชัยชนะถ้าหากจักรวรรดิโรมันไม่อ่อนแอลงด้วยสาเหตุสำคัญที่พัวพันกัน ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า จักรวรรดิโรมันล่มสลายลงด้วยสาเหตุจากภายใน จากปัญหาเหล่านี้ผสมผสานกันโดยที่ชัยชนะจากการโจมตีของพวกอนารยชน เป็นเพียงฟางเส้นสุดท้ายเท่านั้น

ปัจจัยประการที่ 4 ได้แก่ การที่เพื่อนบ้านที่เป็นมิตรให้การสนับสนุนน้อยลง ปัจจัยนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นปัจจัยคู่ตรงข้ามกับปัจจัยประการที่ 3 นั่นเอง ในประวัติศาสตร์สังคมเกือบทั้งหมด มักจะมีประเทศคู่ค้าที่เป็นมิตรและเพื่อนบ้านที่เป็นศัตรูเสมอ และมีบ่อยครั้งที่เพื่อนคู่ค้าและศัตรูนั้น เป็นสังคมเพื่อนบ้านแห่งเดียวกัน เพียงแต่พฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ทำให้บางครั้งก็เป็นมิตรกัน บางครั้งก็เป็นศัตรูกันเท่านั้น

โดยหลักแล้ว สังคมส่วนใหญ่จะดำรงอยู่ และรุ่งเรืองได้จำเป็นจะต้องพึ่งพาเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรไม่มากก็น้อย ทั้งในแง่การนำเข้าสินค้าที่จำเป็นบางอย่าง หรือไม่ก็เป็นความผูกพันทางวัฒนธรรมที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจัยข้อนี้เมื่อเป็นปัญหามันจะแค่ทำให้สังคมนั้นอ่อนแอลงเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้ล่มสลายลงได้แต่ประการใด

ปัจจัยประการที่ 5 ได้แก่ การตอบสนองของสังคมต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคมที่แตกต่างกันย่อม ตอบสนองต่อปัญหาเดียวกัน ด้วยท่าทีที่แตกต่างกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากก็คือ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ที่เกิดขึ้นในสังคมหลายแห่ง บางสังคมอย่าง นิวกินีแถบพื้นที่สูง ญี่ปุ่น ทิโคเปีย และตองกา ต่างพัฒนาวิธีจัดการป่าไม้ได้อย่างประสบผลสำเร็จ และใช้ได้ดีมากมาจนกระทั่งปัจจุบัน ในขณะที่เกาะอีสเตอร์ มันกาเรวา และพวกนอร์สบนเกาะกรีนแลนด์ กลับล้มเหลวไม่อาจจัดการรักษาป่าได้สำเร็จ และต้องล่มสลายในที่สุด

เราจะเข้าใจผลลัพธ์ที่แตกต่างกันสุดขั้วนี้ได้อย่างไร? จาเร็ด บอกว่า การตอบสนองของสังคมแต่ละแห่งขึ้นอยู่กับสถาบันทางการเมือง สถาบันทางเศรษฐกิจ สถาบันทางสังคม รวมทั้งคุณค่าทางวัฒนธรรมภายในสังคมนั้น ว่าจะเห็นคุณค่าของป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังหรือไม่ และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องอนุรักษ์มันหรือไม่

หนังสือ “ล่มสลาย” เล่มนี้ของจาเร็ด ไดมอนด์ ได้ใช้ วิธีการศึกษาเปรียบเทียบ มาทำความเข้าใจความล่มสลายทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากกรอบปัจจัย 5 ประการข้างต้น โดยการเปรียบเทียบทั้งหมดขึ้นอยู่กับข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสังคมแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งรวบรวมด้วยความอดทนของนักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการด้านต่างๆ

ในตอนต่อๆ ไปของข้อเขียนชุดนี้ จาเร็ด ไดมอนด์ จะพาผู้อ่านร่วมเดินทางย้อนอดีตไปกับเขาเพื่อศึกษาการล่มสลายของสังคมต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก ไปดูผลงานอันยิ่งใหญ่และทรงพลังของสังคมในอดีตที่สุดท้ายหลงเหลือแต่ความสิ้นหวัง เพราะไม่มีสิ่งใดหลงเหลือนอกจากเศษซากต่างๆ รอบๆ ซากปรักหักพังของวัตถุอับปางขนาดมหึมาเท่านั้น







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้