(33) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (16/11/53)

(33) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (16/11/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

33. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

 

*สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายในอนาคต อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้หรือไม่? (ต่อ)*

สี่ : ปัญหาการทำลายถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตในจีน

เริ่มต้นด้วย ปัญหาการทำลายป่า จีนถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่ป่า น้อยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยมีเนื้อที่ป่าต่อหัวของประชากรเพียง 0.3 เอเคอร์ เปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลกซึ่งอยู่ที่ 1.6 เอเคอร์ ทั้งนี้พื้นที่ป่าไม้ของจีนคิดเป็นเพียงร้อยละ 16 ของเนื้อที่ประเทศ ส่วนที่เป็นพื้นดิน (ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีป่าไม้มากถึงร้อยละ 74) แม้ว่ารัฐบาลจีนได้พยายามเพิ่มพื้นที่ป่าปลูก โดยการปลูกต้นไม้ชนิดเดียวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศค่อยๆ ขยับสูงขึ้นทีละน้อยก็จริง แต่พื้นที่ป่าธรรมชาติโดยเฉพาะป่าไม้เก่าแก่ดั้งเดิมกลับลดลงเรื่อยๆ ซึ่งการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ดังกล่าว ถือเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิด ปัญหาดินสึกกร่อน และ อุทกภัยในจีน

แม้ว่าภายหลังจากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ในปี ค.ศ. 1998 ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประชาชนถึง 250 ล้านคน (เท่ากับ 1 ใน 5 ของประชากรจีนทั่วประเทศ) รัฐบาลจีนได้เริ่มตื่นตัวมากขึ้นจนมีการเคลื่อนไหวให้ยุติการทำไม้ในป่าธรรมชาติก็ตาม แต่สภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในระดับโลกที่ผสมเข้ากับปัญหาการทำลายป่า ที่ผ่านมาในจีน ก็ได้ก่อให้เกิด สภาวะความแห้งแล้ง ในจีนบ่อยครั้งขึ้นมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกราวร้อยละ 30 ในแต่ละปี

นอกจากปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าแล้ว การทำลายถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตที่รุนแรงที่สุดในจีนยังเกิดอีก 2 รูปแบบคือ การทำความเสื่อมโทรมให้แก่พื้นที่ทุ่งหญ้า และพื้นที่ชุ่มน้ำ จีนถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่ทุ่งหญ้าจำนวนมากเป็นที่สองรองจากออสเตรเลีย โดยทุ่งหญ้าครอบคลุมร้อยละ 40 ของเนื้อที่ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือซึ่งมีอากาศแห้งแล้งกว่า

อย่างไรก็ดี เนื่องจากจีนมีประชากรจำนวนมาก พื้นที่ทุ่งหญ้าต่อหัวของประชากรจีนจึงต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณเฉลี่ยต่อหัวของประชากรทั่วโลก ปัจจุบันพื้นที่ทุ่งหญ้าในจีนได้ถูกทำลายอย่างหนักจากปัญหาการเลี้ยงสัตว์กินหญ้ามากเกินไป รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำเหมืองแร่ และโครงการพัฒนารูปแบบต่างๆ ได้ส่งผลให้พื้นที่ทุ่งหญ้าร้อยละ 90 ในปัจจุบันของจีนมีสภาพเสื่อมโทรม ผลผลิตหญ้าต่อหนึ่งเฮกตาร์ลดลงราวร้อยละ 40 นับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา และวัชพืชกับหญ้ามีพิษหลายชนิดก็กำลังขยายเข้าไปครอบคลุมพื้นที่แทนหญ้าคุณภาพสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

สภาพความเสื่อมโทรมของพื้นที่ทุ่งหญ้าดังกล่าว ยังส่งผลกระทบด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านการผลิตอาหารของประเทศจีนด้วย เพราะพื้นที่ทุ่งหญ้าของจีนบริเวณที่ราบสูงของทิเบต (ที่ราบสูงที่สูงที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก) ยังเป็น พื้นที่ต้นน้ำ ของแม่น้ำสายหลักๆ ทั้งของอินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมทั้งประเทศจีนเองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ทุ่งหญ้าส่งผลให้เกิดอุทกภัยบริเวณแม่น้ำเหลือง และแม่น้ำแยงซีบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้ พายุฝุ่น ทางภาคตะวันออกของจีน (โดยเฉพาะที่ปักกิ่ง) มีความรุนแรง และเกิดบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน พื้นที่ชุ่มน้ำของจีนก็กำลังลดปริมาณลงเรื่อยๆ เช่นกัน ระดับน้ำในพื้นที่ดังกล่าวมีความผันผวนมากขึ้น สมรรถนะของพื้นที่ชุ่มน้ำในการบรรเทาความรุนแรงของอุทกภัย และเก็บกักน้ำก็ลดลงด้วยเช่นกัน พืชพรรณไม้หลายชนิดในพื้นที่ชุ่มน้ำกำลังตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์หรือสูญพันธุ์ไปแล้ว

ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 60 ของป่าพรุ หรือที่ลุ่มน้ำขังบริเวณที่ราบซานเจียน ซึ่งเป็นบริเวณซึ่งมีลุ่มน้ำขังเป็นน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจีน กำลังถูกแปรสภาพไปเป็นพื้นที่การเกษตร และด้วยอัตราการระบายน้ำออกจากพื้นที่ดังกล่าวในระดับที่เป็นอยู่ คาดว่าพื้นที่ลุ่มน้ำขังที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันราว 8,000 ตารางไมล์จะหมดไปอย่างสิ้นเชิงภายในเวลา 20 ปี

ห้า ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในจีน

การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในจีนที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจจีนอย่างใหญ่หลวงคือ ความเสื่อมโทรมของการประมงน้ำจืด และการประมงตามแนวชายฝั่งทะเลอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดจาก ปัญหาการจับสัตว์น้ำมากเกินไป และ ปัญหามลพิษ เพราะนอกจากอัตราการบริโภคสัตว์น้ำต่อหัวของประชากรจีนจะเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมาแล้ว จีนยังส่งออกสินค้าปลา สัตว์จำพวกหอย และปลาหมึก รวมทั้งสัตว์น้ำอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ผลก็คือ ปลาสเตอร์เจี้ยนขาวถูกจับจนใกล้สูญพันธุ์ ปริมาณกุ้งโบไฮที่เคยจับได้มาก ก็ลดลงถึงร้อยละ 90 ปลาที่เคยมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ เช่น ปลาจวด และปลาดาบเงิน ปัจจุบันต้องสั่งนำเข้าจากต่างประเทศ ปริมาณปลาที่จับได้จากแม่น้ำแยงซีต่อปี ก็ลดลงถึงร้อยละ 75 และแม่น้ำแยงซีเองก็สั่งห้ามจับปลาเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2003

แม้ภาพรวมโดยทั่วไป ความหลากหลายทางชีวภาพในจีนยังมีสูงมาก โดยมีพืชพรรณธรรมชาติ และสัตว์บกที่มีกระดูกสันหลังมากกว่าร้อยละ 10 ของที่มีในโลกทั้งหมดก็จริง แต่ในปัจจุบันราว 1 ใน 5 ของพืช และสัตว์พันธุ์พื้นเมืองในจีน รวมทั้งหมีแพนด้ากำลังตกอยู่ในภาวะอันตรายใกล้สูญพันธุ์

หก ปัญหาโครงการขนาดยักษ์หรือเมกะโปรเจกต์ในจีน

จีนได้ดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกหลายโครงการ โดยโครงการที่เพิ่งเสร็จล่าสุดคือ การสร้างเขื่อนสามโกรกที่ขวางกั้นแม่น้ำแยงซี อันเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 และแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2009 โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ควบคุมอุทกภัย และปรับปรุงสภาพการเดินเรือให้ดีขึ้น ในการสร้างเขื่อนดังกล่าวได้ใช้เงินลงทุนมหาศาล และต้องเสีย ต้นทุนทางสังคม ในการอพยพประชาชนหลายล้านคนออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งต้องเสีย ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวกับดินสึกกร่อน และ การทำลายระบบนิเวศที่สำคัญ ของแม่น้ำแยงซี ซึ่งยาวเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่แม้จะสร้างเขื่อนสามโกรกแล้ว จีนก็ยังเจอปัญหาน้ำท่วมหนักติดต่อกันเหมือนเดิม

เพราะสถานการณ์ล่าสุดในปี ค.ศ. 2010 ระดับน้ำในแม่น้ำแยงซีได้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับอันตราย โดยสูงกว่าระดับน้ำในช่วงที่ประสบอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1998 เสียอีก ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากผลพวงของภาวะโลกร้อนในระดับโลกนั่นเอง กล่าวโดยสรุป โครงการพัฒนาทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ได้ส่งผลกระทบต่อชาวจีนใน 3 ด้านด้วยกันคือ (1) ความเสียหายทางเศรษฐกิจ (2) ความเสียหายต่อสุขภาพอนามัย และ (3) โอกาสเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมีมากขึ้น

ตัวอย่างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดจากปัญหาฝนกรด ปัญหาการขยายตัวของทะเลทราย ปัญหามลพิษทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 14 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในแต่ละปี

ตัวอย่างความเสียหายต่อสุขภาพอนามัย ได้แก่ ระดับตะกั่วในเลือดของชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองสูงเกือบสองเท่าของระดับที่มาตรฐานทั่วโลกถือว่า สูงจนถึงขั้นเป็นอันตราย และเสี่ยงต่อการพัฒนาสมองของเด็ก นี่ยังไม่รวมถึง อัตราผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ถึงปีละ 730,000 คน และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้ผลิต และผู้บริโภคยาสูบรายใหญ่ที่สุดของโลก คือมีคนจีนสูบบุหรี่ถึง 320 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก โดยมีสถิติสูบบุหรี่เฉลี่ย 1,800 มวนต่อคนต่อปี

ตัวอย่างความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติ ทั้งด้านความถี่จำนวนครั้ง และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ พายุฝุ่น ดินถล่ม ภัยแล้ง และอุทกภัยมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และเกิดบ่อยครั้งขึ้นเมื่อผลกระทบดังกล่าวมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่น พายุฝุ่นเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพื้นดินเตียนโล่งมากขึ้น เนื่องจากการทำลายป่า การเลี้ยงสัตว์กินหญ้ามากเกินไป การสึกกร่อนของดิน และความแห้งแล้งซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เพราะการตัดไม้ทำลายป่าเป็นการตัดวัฏจักรน้ำที่ทำให้เกิดฝนตามธรรมชาติ และยังทำให้พื้นที่ผิวน้ำที่จะระเหยเป็นไอน้ำสู่บรรยากาศมีปริมาณลดลง ตามมาด้วยการเกิดอุทกภัยซ้ำบนพื้นดินที่ว่างเปล่า ซึ่งทำให้ปัญหาดินสึกกร่อนรุนแรงยิ่งกว่าที่เคยเป็น

ลำพังแค่ประเทศจีนปล่อยของเสีย และก๊าซสู่มหาสมุทร และชั้นบรรยากาศซึ่งเป็นหนึ่งเดียวกับของประเทศอื่นๆ คนในพื้นที่อื่นนอกประเทศจีนก็ต้องได้รับผลกระทบจากจีนอย่างแน่นอนอยู่แล้ว แต่นี่จีนกลับ “นำเข้า” ขยะจำนวนมหาศาลจากประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาอีกด้วย เพราะประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ ได้ลดปริมาณกองขยะที่กองเป็นภูเขาเลากาของตนเอง ด้วยการจ่ายเงินให้แก่จีนเพื่อรับเอาขยะที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัดเข้ามาทิ้งในประเทศ ซึ่งรวมถึงขยะที่ประกอบด้วยสารเคมีเป็นพิษ

นี่คือ ผลที่เกิดขึ้นตามมาจากความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของชาวจีน และรัฐบาลจีนที่จะทำประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว โดยแลกมาด้วยการทำลายสิ่งแวดล้อมจนทำให้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกไปแล้วโดยอัตโนมัติ

อนาคตของทุนนิยมสุดขั้วของจีนจะเป็นอย่างไรต่อไป? จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” รู้สึกแปรปรวนไปมาระหว่าง ความสิ้นหวัง เมื่อได้ทราบข้อมูลการทำลายสิ่งแวดล้อมของจีนที่ทำให้รู้สึกห่อเหี่ยวใจกับ ความคาดหวัง ว่า ทางการจีนจะนำมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อมไปใช้ปฏิบัติอย่างรวดเร็วจนสามารถหลีกเลี่ยงหายนภัยจากสิ่งแวดล้อมในอนาคตอันใกล้ได้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้