(48) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (1/3/54)

(48) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (1/3/54)

 


48. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) 
 
วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต 



วิกฤตพลังงานกับยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ (2)



จากการศึกษาของกรมน้ำโดยการเก็บสถิติพื้นที่ประกาศภัยพิบัติติดต่อกัน 3 ปี พบว่า ประเทศไทยมีถึง 40-50 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก หรือเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมทุกปี โดยที่ช่วงกลางปี ภาคเหนือกับภาคอีสานกลางจะมีปัญหาน้ำท่วม ส่วนภาคกลางจะเป็นพื้นที่ริมฝั่งเจ้าพระยา เช่น นครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรี ชัยนาท ปทุมธานี นนทบุรี ที่เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นประจำ ส่วนพื้นที่ภาคใต้ เช่น พังงา ภูเก็ต สงขลา นราธิวาส ยะลา ปัตตานี จะประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม
       


       ส่วนกรุงเทพฯ ที่ไม่โดนน้ำท่วมใหญ่ในกลางเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ก็เพราะกรุงเทพฯ ได้สร้างแนวกั้นน้ำป้องกันน้ำไหลบ่าเอาไว้เท่านั้น ปัญหาก็คือ แนวกั้นน้ำนี้จะรองรับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ หลังจากนี้ไปได้อีกกี่ปีกัน? 
       


       ปัจจุบัน ระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2528 มีความมั่นคงแข็งแรง และรัดกุมพอสมควร เพราะระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ที่สร้างขึ้นมานี้ ได้เริ่มจากการยกถนนทุกสายริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ใกล้ที่สุดให้สูงขึ้น ไม่ว่าถนนสามเสน ถนนเส้นในเขตนนทบุรี และยังยกถนนให้สูงขึ้น โดยไล่ตั้งแต่ปากคลองรังสิตเรื่อยมา ผ่านกรุงเทพฯ ลงไปถึงประจวบคีรีขันธ์ และไปถึงสมุทรปราการ
       


       ส่วนเขตเศรษฐกิจอย่างเยาวราช ราชวงศ์ สำเพ็งซึ่งยกถนนไม่ได้ ก็ใช้กระสอบทรายกั้นน้ำแทน นอกจากนี้ ยังมีการคำนวณโดยเก็บสถิติทุกปีว่า น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นแค่ไหน และควรจะยกถนนแค่ไหน ทำให้สามารถยกถนนสูงขึ้นไปได้อีก
       


       ส่วนคลองต่างๆ ที่สัมผัสเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีการควบคุมกำกับไม่ให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าไปข้างในโดยอิสระ เพราะมี อาคารบังคับน้ำ มีบานประตูปิด-เปิด สร้างปิดปากคลองทุกคลองที่เชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่คลองรังสิต อันเป็นเขตเศรษฐกิจต้องป้องกัน รวมทั้งคลองทุกคลองทั้งเล็กใหญ่ เช่น คลองเทเวศร์ สามเสน บางซื่อ บางเขน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการสร้าง สถานีสูบน้ำ ที่ปากคลองเพื่อควบคุมน้ำในพื้นที่ที่ฝนตกหนักก็สามารถสูบออกได้ โดยสร้างเชื่อมโยงไปถึงสมุทรปราการ
       


       ขณะที่ในฝั่งริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้านเหนือท้ายคลองรังสิต ก็ได้สร้างถนนคันคลองสายใหญ่เสมือนคันกั้นน้ำไม่ให้น้ำจากข้างนอกล้นเข้ากรุงเทพฯ โดยสร้างไปบรรจบกับคลองสามวา ทางด้านตะวันออก นอกจากนี้ยังมีแนวคันลงทางด้านทิศใต้เข้าสู่เขตมีนบุรี ถนนร่มเกล้า ถนนกิ่งแก้วลงมาแนวดิ่งไปสู่ชายทะเล จะตัดกับคลองแสนแสบ คลองประเวศ คลองสำโรงไปสู่ชายทะเล โดยทั้งหมดนี้จะเชื่อมกับถนนสุขุมวิทที่ยกระดับขึ้นมาสูงแถวบางปู ไล่มาเรื่อยถึงปากแม่น้ำบางปะกง เชื่อมไปตลอดเพื่อให้พ้นระดับน้ำทะเลที่จะขึ้นสูงสุด
       
       สรุปสั้นๆ ก็คือ ระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ในปัจจุบันที่สร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527-2528 นั้น สามารถป้องกันน้ำท่วมที่เคยเกิดกับกรุงเทพฯ ซ้ำซากในอดีตได้ ซึ่งคงพอจะรองรับการเพิ่มขึ้นสูงของน้ำทะเลได้อีกเต็มที่ราวๆ 50-80 เซนติเมตรเท่านั้น เพราะมีแนวกั้นน้ำระดับ 2.50 เมตรรองรับอยู่ ขณะที่ระดับน้ำท่วมที่ผ่านมาอยู่ในระดับ 2 เมตร
       


       แต่ระบบป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ไม่น่าจะสามารถรับมือภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนขั้นรุนแรงที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีก 20-30 ปีข้างหน้าได้ หรือดีไม่ดีอาจจะรับมือได้ไม่ถึง 10 ปีข้างหน้าด้วยซ้ำ เพราะสถาบันเวิลด์วอทช์ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ศึกษาวิจัยด้านสภาพแวดล้อมทั่วโลก พบว่า เมืองชายฝั่งทะเล 21 แห่งจากทั้งหมด 33 แห่งทั่วโลก กำลังเผชิญ อันตรายจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และภัยพิบัติที่ตามมา โดยเฉพาะเมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งกรุงเทพฯ ก็ติดโผเมืองใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงในระดับ 5 ที่จะเกิดภัยธรรมชาติ เนื่องจากภาวะโลกร้อนอันเป็นกลุ่มเดียวกับนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม และนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
       


       ปัจจุบันช่องโหว่ที่ใหญ่ที่สุดที่จะทำให้กรุงเทพฯ จมน้ำนั้น อยู่ที่บางขุนเทียน ซึ่งมีการกัดเซาะจากน้ำทะเลอย่างรวดเร็วมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก เพราะขณะนี้ น้ำทะเลได้กัดเซาะแผ่นดินในแถบบางขุนเทียนไปกว่า 300 ตร.กม.แล้ว และมีแนวโน้มเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำเสนอ โมเดลของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่จัดการกับปัญหาระดับน้ำทะเล เพื่อเป็น “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ให้แก่กรุงเทพฯ ในอนาคตไม่ให้จมน้ำ เพราะเนเธอร์แลนด์ก็เป็นประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลเช่นกัน ทำให้เกิด แนวคิดสร้างเขื่อนขนาดยักษ์แนวปากน้ำ ตั้งแต่บางขุนเทียน ปากน้ำไปจดสมุทรปราการ ซึ่งมีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร กับ แนวคิดสร้างเขื่อนยักษ์ปิดปากอ่าวไทย สูงประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 100-200 กิโลเมตร ขึ้นมา
       


       แต่จาก จุดยืนของผมที่มองปัญหาภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนอย่างบูรณาการ ทำให้ตัวผม ไม่อาจเห็นด้วยกับแนวคิดสร้างเขื่อนขนาดยักษ์ปิดปากอ่าวไทยได้ เพราะแนวคิดนี้ละเลยผลกระทบของการสร้างเขื่อนยักษ์ที่ไปทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และความอุดมสมบูรณ์ของฝั่งทะเลไทย ส่วนแนวคิดสร้างเขื่อนขนาดยักษ์แนวปากน้ำ ผมอาจจะพอยอมรับได้ในฐานะที่เป็นมาตรการขั้นสุดท้าย ที่จำเป็นจริงๆ และไม่มีทางเลือกอื่นแล้วเท่านั้น 
       


       ด้วยเหตุนี้ แนวคิดที่ตัวผมอยากนำเสนอเข้ามาแทนที่ แนวคิดการสร้างเขื่อนยักษ์ทั้งแบบแนวปากน้ำ และแบบปิดปากอ่าวไทยคือ แนวคิดสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่น หรือแนวคิดเขื่อนป้องกันน้ำทะเลที่เรียกว่า เขื่อนเขียว เพราะตัวผมมีความเห็นว่า แนวคิดแบบเขื่อนเขียวสามารถป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลได้ดีกว่าเขื่อนยักษ์คอนกรีตมาก มิหนำซ้ำ เขื่อนเขียวแบบนี้ ยังสามารถช่วยฟื้นฟูป่าชายเลน และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเลบริเวณอ่าวไทยให้กลับคืนมาได้อีกด้วย 
       


       ขณะที่เขื่อนยักษ์คอนกรีตทั้งแบบปิดปากอ่าวไทย และแบบแนวปากน้ำ แม้จะสามารถป้องกันน้ำทะเลหนุนได้ก็จริง แต่มันจะไปทำลายระบบนิเวศทางทะเล บริเวณอ่าวไทยอย่างสิ้นเชิง และสร้างความสูญเสีย และความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างประมาณค่ามิได้ มิหนำซ้ำยังเสียค่าลงทุนก่อสร้างจำนวนมหาศาลอีกด้วย
       


       โครงการแบบจำลองเขื่อนสลายกำลังคลื่น “ขุมสมุทรจีน 49A2” ที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือของจังหวัดสมุทรปราการ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ในการสนับสนุนให้หน่วยศึกษาพิบัติภัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีมวิจัยแบบบูรณาการจากหลายมหาวิทยาลัยผลักดันโครงการนำร่องนี้ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2550 นั้น ถือว่าเป็น ต้นแบบของการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นหาดโคลนที่ได้ผลเป็นครั้งแรกของโลกก็ว่าได้ แบบจำลองขุนสมุทรจีน 49A2 นี้มีโครงสร้างหลักแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
       


       ส่วนแรก ช่วยสลายกำลังคลื่น จะมีลักษณะโครงสร้างเป็นเสาคอนกรีตสามเหลี่ยมด้านเท่าขนาด 50X50X50 เซนติเมตร จัดวางแบ่งเป็น 3 แถว โดยความลึกของเสาคอนกรีตไล่จากส่วนที่ติดทะเลเข้าหาแผ่นดิน คือ 10 เมตร 8 เมตร และ 6 เมตรตามลำดับ โดยวางห่างกัน 1.5 เมตรในลักษณะสลับฟันปลา เมื่อคลื่นพัดเข้ามาจะถูกเฉือนออกเป็น 2 ข้าง และสะท้อนไปสะท้อนมาตามแนวเสาที่วางไว้ ถือเป็นการสลายความแรงของคลื่นเมื่อพัดผ่านโครงสร้างเข้ามา คลื่นจะอ่อนกำลังลง ทำให้ไม่สามารถมีพลังพอที่จะกัดเซาะแนวตลิ่งชายหาดได้
       


       ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจ ปัจจัยและกลไกการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทย ก่อนว่า เกิดจากอิทธิพลของลมมรสุม 2 ฤดู (ช่วงแรกเดือนมีนาคมกับเมษายน ช่วงสองเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เป็นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้) ทำให้ชายฝั่งที่ถูกลมใต้กัดเซาะจะเกิดตะกอนมาสะสมอยู่ใกล้ตามชายฝั่ง แต่บริเวณนี้จะได้รับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ซึ่งพัดเข้ามาอีกด้านหนึ่ง ทำให้มีการพัดพาตะกอนที่สะสมตามชายฝั่งทะเลออกไปนอกทะเลอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่สามารถกักเก็บตะกอนเอาไว้ได้ ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลขึ้นมา ขณะที่เขื่อนสลายกำลังคลื่นนี้จะทำให้หลังคลื่นสงบลง ตะกอนที่ลอยในมวลน้ำจะตกตะกอนบริเวณแนวชายฝั่งหลังแนวเขื่อนที่สร้างไว้
       


       จากนั้น ส่วนที่สอง ของเขื่อนสลายกำลังคลื่น จะช่วยขวางกั้นตะกอนซึ่งมีลักษณะเป็นเสาคอนกรีตรูปบูมเมอแรงปิดผนังด้านข้าง 2 ข้างของแนวลำคลองธรรมชาติเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ตะกอนเคลื่อนตัวสู่แนวคลอง และยังเป็นการป้องกันลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่จะพัดเอาตะกอนบริเวณริมฝั่งกลับออกสู่ทะเลอีกครั้ง จึงช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งแล้วยังสามารถกักเก็บตะกอนไว้ส่วนหนึ่งด้วย เมื่อตะกอนมีสภาพพอกพูนตื้นเขินก็สามารถนำต้นกล้าแสมมาปลูกเพื่อช่วยยึดดินส่วนนี้ไว้ให้งอกเป็นแผ่นดินกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งสามารถทำกิจกรรมปลูกป่าชายเลนได้ 
       


       จากต้นแบบเขื่อนสลายกำลังคลื่นขุนสมุทรจีน 49A2 ที่พิสูจน์แล้วว่า ได้ผลในทางปฏิบัติ เพราะหลังจากติดตั้งโครงสร้างส่วนแรกเสร็จเพียง 4 เดือนเท่านั้น ปรากฏว่า คลื่นทะเลที่เข้ามาหลังเขื่อนเริ่มน้อยลง พร้อมกับมีตะกอนโคลนเข้ามาสะสมตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 40 เซนติเมตรจริง ทำให้ เรามีความมั่นใจว่าในอนาคตอันใกล้ เราสามารถพัฒนาต้นแบบเขื่อนสลายกำลังคลื่นนี้ ให้เป็นเขื่อนป้องกันการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลในอนาคต อันเนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ โดยเขื่อนป้องกันระดับน้ำทะเลนี้ เราเรียกว่า “เขื่อนเขียว” ซึ่งมีลักษณะเป็นองค์รวม และบูรณาการมากกว่า มิหนำซ้ำยังเสียค่าลงทุนก่อสร้างน้อยกว่า เขื่อนยักษ์คอนกรีตแบบปิดปากอ่าวไทย หรือแนวปากน้ำที่มีลักษณะแยกส่วน ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสูง และไม่คำนึงถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมอย่างเทียบกันไม่ได้เลย
       
                 




 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้