(25) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (21/9/53)

(25) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (21/9/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

25. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

*กรณีการล่มสลายของสังคมบนเกาะอีสเตอร์*

เกาะอีสเตอร์เป็นแผ่นดินขนาดเล็กมากที่มีสภาพดีพอที่มนุษย์จะอยู่อาศัยได้ ซึ่งอยู่ห่างไกลที่สุดในโลก เพราะแผ่นดินที่ใกล้ที่สุดได้แก่ แนวชายฝั่งทะเลของชิลี ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออก 2,300 ไมล์ แม้แต่การเดินทางโดยเครื่องบินไอพ่นจากชิลีไปยังเกาะอีสเตอร์ยังกินเวลากว่า 5 ชั่วโมง เส้นทางบินที่อยู่เหนือมหาสมุทรแปซิฟิกที่ทอดตัวราวกับไม่มีที่สิ้นสุดระหว่างขอบฟ้า โดยไม่มีภาพใดให้มองเห็นทางเบื้องล่างนอกจากท้องน้ำ เกาะอีสเตอร์เป็นจุดเล็กจิ๋วพร่ามัวที่มองเห็นได้จากเครื่องบินเท่านั้น...

เกาะอีสเตอร์เป็นเกาะที่ยากจะมีผู้ใดคาดคิดว่า จะมีมนุษย์กลุ่มใดมาค้นพบ และตั้งถิ่นฐานในห้วงเวลาก่อนที่เรือใบขนาดใหญ่ของชาวยุโรปซึ่งเดินทางได้รวดเร็วเพิ่งจะเดินทางไปถึงเมื่อปี ค.ศ. 1722 เมื่อไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมานี้เอง เอกลักษณ์ของเกาะอีสเตอร์อยู่ที่บริเวณรอบๆ ปล่องภูเขาไฟราโนรารากู ซึ่งมีรูปแกะสลักหิน 393 รูป ส่วนใหญ่สูง 15-20 ฟุต แต่รูปสลักหินที่ใหญ่ที่สุดสูงถึง 70 ฟุต (สูงกว่าตึก 5 ชั้นทั่วไป) และหนักตั้งแต่ 10-270 ตัน ตั้งกระจายอยู่โดยรอบ

นี่คือปริศนาอันหนึ่งว่า ในอดีตประชากรยุคก่อนประวัติศาสตร์เชื้อสายโพลีนีเซียนบนเกาะอีสเตอร์ ยังไม่มีปั้นจั่น ไม่มีล้อลาก ไม่มีเครื่องจักร ไม่มีเครื่องมือโลหะ ไม่มีสัตว์ไว้ใช้ลากจูง และไม่มีวิธีการใด นอกเหนือจากกำลังจากกล้ามเนื้อของมนุษย์ พวกเขาสามารถลำเลียงรูปสลักหินที่ใหญ่ที่สุดที่มีน้ำหนักถึง 88 ตัน มาตั้งไว้ที่ลานหินนี้ได้อย่างไร

จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” บอกว่า ระบบการจัดการเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การแกะสลัก การขนย้าย และการยกรูปสลักให้ตั้งตรงขึ้น จำเป็นต้องมีสังคมที่ซับซ้อน และมีประชากรมากพอ ซึ่งอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์มากพอจะรองรับสภาพสังคมนั้นๆ ได้

ขณะที่จำนวนประชากรบนเกาะอีสเตอร์ที่ชาวยุโรปผู้มาเยือนได้พบเห็นครั้งแรกนั้น มีจำนวนเพียงไม่กี่พันคนในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เท่านั้น คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ในอดีตเหล่านี้? เพราะการแกะสลัก การเคลื่อนย้าย และการตั้งรูปสลักขึ้นให้ตรงจำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีความชำนาญเฉพาะจำนวนมาก พวกเขาหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกันอย่างไร ในเมื่อเกาะอีสเตอร์ในสายตาของชาวยุโรปที่เพิ่งมาเยือน ไม่มีสัตว์บนพื้นเมืองใดๆ ใหญ่กว่าแมลง และไม่มีสัตว์เลี้ยงใดๆ นอกจากไก่

เกาะอีสเตอร์มีเนื้อที่ 66 ตารางไมล์ ลักษณะภูมิประเทศของเกาะค่อนข้างราบเรียบ ไม่มีเหวลึกจำนวนมาก มีสภาพอากาศอบอุ่นสบาย ดินบนเกาะอุดมสมบูรณ์เนื่องจากเป็นดินภูเขาไฟ แต่เกาะนี้เป็นสถานที่ซึ่งมีลมพัดแรงซึ่งสร้างปัญหาให้แก่เกษตรกร เกาะนี้ยังขาดแคลนปลาทั้งชนิดที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการัง และปลาประเภทอื่นๆ ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ส่งผลให้แหล่งอาหารสำหรับชาวเกาะอีสเตอร์มีน้อยกว่าชาวเกาะอื่นๆ ส่วนใหญ่ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก

ขณะที่ชาวเกาะอีสเตอร์ในอดีตอยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยไม่ได้ติดต่อกับคนนอกใดๆ เลยเป็นเวลานับพันปี ซึ่งได้สร้างพวกเขาให้เป็นพวกที่ทำอะไรอย่างสุดขั้ว โดยลงทุนนำทรัพยากรทางสังคมก้อนใหญ่ที่สุดมาใช้ในการก่อสร้าง และประดิษฐานรูปสลักหินที่ใหญ่มากเหล่านั้น เพราะการจะสร้างฐานหิน และรูปสลักเหล่านั้นได้ จำเป็นต้องเลี้ยงดูผู้คนจำนวนมาก ซึ่งจะสามารถกระทำเช่นนั้นได้ ก็ด้วยการมีอาหารส่วนเกินจำนวนที่มากพอซึ่งหามาได้ด้วยการทำเกษตรแปลงใหญ่ในพื้นที่สูงของเกาะภายใต้การควบคุมของชนชั้นผู้นำของเกาะ ซึ่งน่าจะมีการแข่งขันกันเองระหว่างหัวหน้ากลุ่มต่างๆ ภายในเกาะที่ใช้รูปสลักหินเป็นสัญลักษณ์แสดงความเหนือกว่าผู้อื่น

การจะขนรูปสลักหินที่ใหญ่มาก จำเป็นต้องใช้แรงงานผู้ใหญ่วัยฉกรรจ์ถึง 500 คน ซึ่งอยู่ในขีดความสามารถที่เป็นไปได้สำหรับการหาแรงงานคนมาใช้บนเกาะอีสเตอร์ที่กลุ่มแต่ละกลุ่มน่าจะมีประชากรหลายพันคน แต่ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง คือ จะไปหาต้นไม้ที่ใช้ทำเชือก และท่อนไม้ในการขนย้ายรูปสลักหินจากที่ไหน เพราะเกาะอีสเตอร์ในสายตาของชาวยุโรปที่มาเยือนนั้น เป็นเกาะที่มีต้นไม้น้อยมาก จนแทบจะน้อยที่สุดในบรรดาหมู่เกาะโพลีนีเซียทั้งหมด มิหนำซ้ำต้นไม้ทั้งหมดมีขนาดเล็กและสูงไม่ถึง 10 ฟุต แต่จากการสำรวจทางพฤกษศาสตร์ และเรณูวิทยา นักวิทยาศาสตร์กลับค้นพบว่า ในอดีตเกาะอีสเตอร์เคยเป็นแหล่งที่มีป่าไม้ที่มีความหลากหลายอย่างมาก

จึงทำให้มีการสันนิษฐานว่า ชาวเกาะอีสเตอร์น่าจะเริ่ม “การทำลายป่า” โดยการตัดต้นไม้เพื่อใช้ทำเป็นไม้ซุง และเชือกสำหรับเคลื่อนย้าย และช่วยงัดรูปสลักหินให้ตรงขึ้น รวมทั้งใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ อีกมากมาย ตั้งแต่ ค.ศ. 900 เป็นต้นมา เมื่อมนุษย์ได้มาถึงเกาะอีสเตอร์ไม่นานนัก และป่าคงต้องถูกทำลายหมดไปอย่างสิ้นเชิงก่อนปี ค.ศ. 1722 ที่ชาวยุโรปเพิ่งเดินทางมาถึงเกาะอีสเตอร์ และพบว่าเกาะแห่งนี้ไม่มีต้นไม้ที่สูงเกินกว่า 10 ฟุตหลงเหลืออยู่เลย

มีหลักฐานหลายข้อที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานข้างต้นที่ว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าบนเกาะอีสเตอร์อย่างราบคาบ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 900-ปี ค.ศ. 1722 ดังต่อไปนี้

(1) การกำหนดช่วงอายุของเมล็ดปาล์มด้วยวิธีเรดิโอคาร์บอน ส่วนใหญ่พบว่ามีอายุก่อนปี ค.ศ. 1500 แสดงว่า ต้นปาล์มเริ่มหายากหรือสูญพันธุ์ไปจากเกาะอีสเตอร์หลังจากนั้นเป็นต้นมา

(2) ถ่านที่ได้จากการถางป่าก็หายไปตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1440

(3) ถ่านจากไม้ฟืนเริ่มถูกแทนที่ด้วยการเผาหญ้า และสมุนไพร ในช่วงหลังปี ค.ศ. 1640 เป็นต้นมา

(4) มีการทำไร่ขนาดใหญ่บนเขตที่สูงของเกาะ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในช่วงเดียวกับการตัดต้นไม้เพื่อใช้ทำเชือก และไม้ซุงสำหรับเคลื่อนย้าย และตั้งรูปสลักหินซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 15 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการทำลายป่าสูงสุด จนกระทั่งป่าไม้หมดไปอย่างสิ้นเชิงในศตวรรษที่ 17

ภาพรวมทั้งหมดของเกาะอีสเตอร์ที่จาเร็ด ไดมอนด์ ผู้เขียนหนังสือ “ล่มสลาย” ได้ไปศึกษามานับเป็น ตัวอย่างสุดขั้วสำหรับกรณีการทำลายป่าไม้บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก และเป็นหนึ่งในบรรดากรณีทำลายป่าอย่างรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เพราะป่าไม้ทั้งหมดบนเกาะได้สูญไปอย่างสิ้นเชิง และต้นไม้ทุกชนิดก็สูญพันธุ์อย่างราบคาบ

ผลที่ตามมาแทบจะในทันที สำหรับชาวเกาะอีสเตอร์ก็คือ การสูญเสียวัตถุดิบ สูญเสียอาหารที่เคยหาได้จากป่า และผลผลิตพืชไร่ที่ตกต่ำลง ไม่เพียงเท่านั้น แหล่งอาหารธรรมชาติส่วนใหญ่ก็สูญสิ้นไปเช่นกัน เมื่อไม่มีเรือแคนูสำหรับออกทะเลไปจับปลา ขณะเดียวกัน นกชนิดที่หากินบนบกก็หายไปอย่างสิ้นเชิง และนกทะเลก็ลดลงจนเหลือเพียง 1 ใน 3 ของประชากรนกดั้งเดิมบนเกาะอีสเตอร์ สัตว์จำพวกปลา กุ้ง หอย ก็ลดลงเหลือเพียงไม่กี่ชนิด ชาวเกาะอีสเตอร์ต้องหันไปบริโภคอาหารทะเลที่มีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

แหล่งอาหารป่าเพียงอย่างเดียวที่ชาวเกาะอีสเตอร์ยังพอหาได้อย่างไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ หนู นอกจากนี้ ผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นตามมาหลังจากการทำลายป่า และการล่มสลายของสิ่งแวดล้อมคือ เกิดสภาวะความอดอยากทำให้มีความขัดแย้ง และการปะทะกันของประชากร ถึงขนาดต้องกินเนื้อพวกเดียวกัน (cannibalism)

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า การล่มสลายของสังคมบนเกาะอีสเตอร์นั้นเกิดขึ้นแทบจะในทันที ภายหลังจากที่สังคมนี้ได้ก้าวไปจนถึงขีดสุดทั้งในแง่จำนวนประชากร สิ่งก่อสร้างถาวร และผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ฟังดูแล้วมันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อที่ชาวเกาะอีสเตอร์ไม่น่าจะโง่เขลาพอที่จะตัดต้นไม้ทั้งหมดทุกต้นเป็นแน่ โดยเฉพาะในเมื่อพวกเขาน่าจะพอมองเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาบ้างแล้ว

จาเร็ด ไดมอนด์ เฝ้าถามตัวเองบ่อยครั้งว่า “ชาวเกาะอีสเตอร์ที่กำลังจะโค่นต้นปาล์มต้นสุดท้ายของเกาะลง เขาจะพูดว่ากระไรหนอ ตอนที่พวกเขากำลังโค่นมันลงมา?”...พวกเขาจะพูดเช่นเดียวกับข้ออ้างของพวกที่ตัดไม้ทำลายป่าในยุคสมัยปัจจุบันชอบพูดหรือชอบอ้างหรือเปล่าว่า

“นี่มันงานไม่ใช่ต้นไม้” หรือ “เทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาให้เราเองอย่ากลัวเลย เราต้องหาอะไรมาแทนไม้จนได้” หรือ “เรายังไม่มีข้อพิสูจน์เลยว่า ไม่มีต้นปาล์มต้นอื่นหลงเหลืออยู่อีกแล้วบนเกาะอีสเตอร์ เราจำเป็นต้องวิจัยให้มากขึ้น ข้อเสนอที่ว่า จะต้องเลิกตัดไม้ของคุณเกิดขึ้นก่อนเวลาอันสมควร และเกิดขึ้นจากความตื่นกลัวอย่างไร้สาระ” ฯลฯ

ใช่หรือไม่ว่า คำถามในทำนองเดียวกันนี้ ได้เคยเกิดขึ้นกับสังคมทุกแห่งที่เคยทำลายสิ่งแวดล้อมของตนอย่างไม่รู้ตัว จนล่มสลายไปแล้วมาก่อน แล้วเราจะได้เห็นกันในตอนต่อๆ ไปของข้อเขียนชุดนี้ว่า มันมีชุดวาทกรรม ชุดคำอธิบาย และชุดเหตุผลมากมายที่จะช่วยตอบคำถามของเราที่ว่า เพราะเหตุใดสังคมต่างๆ จึงยังคงกระทำสิ่งที่ผิดพลาดแบบนั้นกันต่อไปอีก แม้จนทุกวันนี้

กรณีของเกาะอีสเตอร์ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในแง่ของสังคมที่ทำลายตัวเอง ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่จนเกินกำลังความสามารถของธรรมชาติ จาเร็ด ไดมอนด์ ยังพบอีกว่า มีความคล้ายคลึงกันระหว่างเกาะอีสเตอร์กับโลกยุคปัจจุบันในแง่นี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงบอกว่า นี่คือเหตุผลที่ชาวโลกยุคปัจจุบันควรมองกรณีการล่มสลายของเกาะอีสเตอร์ว่าเป็นเหมือน คำเตือนถึงภาพจำลองเหตุการณ์ในอนาคตจากกรณีศึกษาที่เลวร้ายที่สุด เพราะมันอาจเป็นเหตุการณ์ที่รอมนุษยชาติอยู่ในอนาคตข้างหน้าก็เป็นได้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้