(32) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (9/11/53)

(32) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (9/11/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

32. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)


*สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายในอนาคต อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้หรือไม่? (ต่อ)*

(3) ประเทศจีน : ยักษ์ใหญ่แปรปรวน

แม้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของจีนในหนังสือ “ล่มสลาย” ของจาเร็ด ไดมอนด์ จะมีถึงแค่ช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ก็ตาม แต่ความเป็นยักษ์ใหญ่ของประเทศจีน ทั้งในแง่เนื้อที่ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีประชากรมากที่สุดในโลก และมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก (ข้อมูลล่าสุดปี 2010) ทำให้ ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีนมิอาจเป็นเพียงเรื่องภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังกระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ ของโลกซึ่งได้รับผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอยู่ร่วมผืนพิภพมหาสมุทร และสภาพภูมิอากาศกับประเทศจีน

เวลาเราศึกษา ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศทุนนิยมหลักๆ ทั่วโลก เราสามารถจำแนกปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เป็น 14 ประการดังต่อไปนี้

(1) ปัญหามลพิษในอากาศ (2) ปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (3) ปัญหาการสูญเสียพื้นที่เกษตร (4) ปัญหาการขยายตัวของเขตทะเลทราย (5) ปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำกำลังหมดไป (6) ปัญหาดินเค็ม (7) ปัญหาดินสึกกร่อน (8) ปัญหาแม่น้ำลำธารจำนวนมากเริ่มแห้งและหยุดไหล (9) ปัญหาการขาดแคลนน้ำและมลพิษในน้ำ (10) ปัญหาขยะ (11) ปัญหาทุ่งหญ้าเสื่อมสภาพ (12) ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ซึ่งเพิ่มมากขึ้นทั้งขนาดความรุนแรง และความถี่ (13) ปัญหาสัตว์ และพืชพันธุ์นำเข้าที่บุกรุกทำลายธรรมชาติมากขึ้น (14) ปัญหาการเลี้ยงสัตว์กินหญ้ามากเกินไป

จะเห็นได้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ข้างต้น (แม้จะไม่ทั้งหมด) กำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศจีน (แม้ประเทศไทยก็เช่นกัน) ทั้งในแง่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางสังคม และปัญหาสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น เราจะดูแค่ความสำเร็จของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่ามหัศจรรย์ของประเทศจีนเท่านั้นไม่ได้

แต่เราจะต้องมองให้เห็นถึงอีกด้านหนึ่งของประเทศจีนที่กำลังสร้างวิกฤตสิ่งแวดล้อมขึ้นมาในระดับโลกด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันประเทศจีนคือผู้ปล่อยก๊าซที่ก่อมลพิษในปริมาณมากที่สุดในโลกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นก๊าซซัลเฟอร์ออกไซด์ (กรดกำมะถัน) ก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) สารที่ทำลายโอโซนอื่นๆ อีกหลายชนิด รวมทั้งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย มลพิษในอากาศและฝุ่นจะถูกลมพัดพาไปทางตะวันออกสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และแม้แต่ไปยังทวีปอเมริกาเหนือ

นอกจากนี้ ประเทศจีนยังเป็น 1 ใน 2 ของประเทศนำเข้าไม้แปรรูปจากเขตร้อนมากที่สุด ซึ่งเท่ากับว่าประเทศจีนเป็นพลังขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังการทำลายป่าเขตร้อนด้วย

เมื่อเราคำนึงถึงข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ว่า ปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิต และผู้บริโภคถ่านหินที่ใหญ่ที่สุด (1/4 ของปริมาณถ่านหินทั่วโลก) เป็นผู้ผลิต และผู้บริโภคปุ๋ยเคมีที่ใหญ่ที่สุด (ร้อยละ 20 ของการใช้ปุ๋ยทั่วโลก) เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคสินค้ายาฆ่าแมลงอันดับที่สองของโลก ร้อยละ 14 ของปริมาณยาฆ่าแมลงทั่วโลก เป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก ขณะเดียวกัน การขยายตัวของเมืองในประเทศจีนก็เติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการขยายตัวของเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง และปริมาณยานพาหนะในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ฯลฯ

แค่ข้อเท็จจริงข้างต้น ก็พอให้เราคาดการณ์ได้ว่า ผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของประเทศจีนที่มีต่อสิ่งแวดล้อมนั้น จะรุนแรงสักเพียงใด โดยที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีนสามารถจำแนกได้เป็น กลุ่มปัญหาหลัก 6 ประเภท ด้วยกันคือ ปัญหาด้านอากาศ น้ำ ดิน การทำลายถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิต การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และโครงการขนาดยักษ์หรือเมกะโปรเจกต์

หนึ่ง ปัญหาอากาศในจีน

ปัญหาคุณภาพอากาศในจีนนั้นน่ากลัว และน่าห่วงมากถึงขนาดผู้คนต้องใส่ผ้าปิดปากปิดจมูกกันควันพิษตามท้องถนนในเมืองหลายแห่งทั่วประเทศ เพราะเมืองเหล่านี้มีระดับมลพิษสูงกว่าระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพหลายเท่า มลพิษในอากาศของจีนส่วนใหญ่มาจากไนโตรเจนออกไซด์ คาร์บอนไดออกไซด์ การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และฝนกรด

สอง ปัญหาน้ำในจีน

ปัจจุบันน้ำในแม่น้ำ และแหล่งน้ำใต้ดินส่วนใหญ่ของจีน ก็มีคุณภาพที่ไม่ดี และกำลังเสื่อมคุณภาพลงเรื่อยๆ เนื่องจาก ปัญหาน้ำเสีย ทั้งจากภาคอุตสาหกรรม และน้ำเสียจากเขตเมือง นอกจากนี้ จีนยังมี ปัญหาน้ำท่า หรือน้ำผิวดินที่ไหลผ่านพื้นที่การเกษตร หรือพื้นที่ที่เพาะเลี้ยงพืชหรือสัตว์น้ำที่ปะปนด้วยปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยคอกหรือมูลสัตว์ซึ่งก่อให้เกิด สภาวะอาหารมากเกิน (eutrophication ซึ่งหมายถึง สภาวะที่มีการเติบโต และการกระจุกตัวของสาหร่ายจำนวนมาก อันเนื่องมาจากได้รับน้ำท่าซึ่งมีธาตุอาหารปริมาณมาก) ราวร้อยละ 75 ของทะเลสาบ และเกือบทั้งหมดของทะเลตามแนวชายฝั่งทะเลของจีนต่างประสบ ปัญหามลพิษกระแสน้ำสีแดงในท้องทะเล อันเกิดจากแพลงก์ตอนที่เติบโต และขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งพิษของมันเป็นอันตรายต่อปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ ปัญหานี้ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดมากขึ้นเกือบ 100 ครั้งต่อปี ในขณะที่ในช่วงทศวรรษ 1960 เคยเกิดเพียง 1 ครั้งในทุก 5 ปีเท่านั้น

ปัญหาเกี่ยวกับน้ำในจีนยังถูกซ้ำเติมจาก ปัญหาการขาดแคลนน้ำ และการสูญเสียน้ำอย่างเปลืองเปล่า อีกด้วย เพราะเมื่อพิจารณาจากมาตรฐานโลก ประเทศจีนมีปริมาณน้ำจืดน้อยมาก โดยมีปริมาณน้ำต่อคนคิดเป็นเพียง 1 ใน 4 ของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ยิ่งกว่านั้น ปริมาณน้ำที่มีน้อยอยู่แล้ว ก็ยังกระจายตัวอย่างไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย

กล่าวคือ จีนตอนเหนือมีปริมาณน้ำประปาต่อหัวของประชากรคิดเป็นเพียง 1 ใน 5 ของจีนตอนใต้ สภาพขาดแคลนน้ำประกอบกับการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง ส่งผลให้เมืองกว่า 100 แห่งของจีนต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง มีการสูบน้ำขึ้นมาจากบ่อบาดาลที่เจาะลงไปถึงชั้นน้ำใต้ดิน แต่ชั้นน้ำดังกล่าวกำลังจะหมดไป และน้ำเค็มก็กำลังไหลซึมเข้ามาทดแทนในพื้นที่ส่วนใหญ่ตามชายฝั่งทะเล ส่งผลให้พื้นดินในบางเมืองทรุดตัวลงเมื่อน้ำใต้ดินกำลังแห้งเหือด ขณะเดียวกัน จีนยังเป็นประเทศที่ประสบปัญหาน้ำในแม่น้ำแห้ง และหยุดไหลที่รุนแรงที่สุดในโลก และปัญหาดังกล่าว ก็ยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ เนื่องจากยังคงมีการผันน้ำจากแม่น้ำไปใช้ประโยชน์อยู่ตลอดเวลา

สาม ปัญหาดินในจีน

เริ่มจากการที่จีนเป็นประเทศที่ประสบ ปัญหาดินสึกกร่อนรุนแรงที่สุดในโลก ปัจจุบันส่งผลกระทบต่อพื้นดินราวร้อยละ 19 ของประเทศ ส่งผลให้สูญเสียเนื้อดินราว 5 พันล้านตันในแต่ละปี การกัดเซาะพังทลายมีความรุนแรงเป็นพิเศษในบริเวณที่ราบสูงช่วงกลางของแม่น้ำเหลือง และกำลังเกิดขึ้นเรื่อยๆ บริเวณแม่น้ำแยงซี ซึ่งปริมาณตะกอนในแม่น้ำที่เกิดจากดินสึกกร่อนมีมากกว่าดินตะกอนในแม่น้ำไนล์และอะเมซอน (แม่น้ำสายที่ยาวที่สุดในโลกสองสาย) รวมกันเสียอีก

นอกจากนี้คุณภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดิน รวมทั้งปริมาณดินได้ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นเวลานาน ประกอบกับการที่ไส้เดือนซึ่งช่วยบำรุงดินลดปริมาณลง เนื่องจากมีการใช้ยาฆ่าแมลงส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูก ซึ่งถือว่ามีคุณภาพสูงลดลงร้อยละ 50 ส่วน ปัญหาดินเค็ม ได้ส่งผลกระทบต่อที่ดินของจีนราวร้อยละ 9 โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งมีการออกแบบ และจัดการระบบชลประทานได้ไม่ดี

ส่วน ปัญหาการขยายตัวของเขตทะเลทราย อันเนื่องมาจากการเลี้ยงสัตว์กินหญ้ามากเกินไป และการแปรสภาพที่ดินเพื่อทำการเกษตรอย่างไม่เหมาะสมนั้น ส่งผลกระทบต่อพื้นที่มากกว่า 1 ใน 4 ของเนื้อที่ประเทศ โดยทำลายพื้นที่การเกษตร และพื้นที่เลี้ยงสัตว์ทางตอนเหนือของจีนไปราวร้อยละ 15 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ปัญหาเกี่ยวกับดินทั้งหมดของจีน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาดินสึกกร่อน การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ ปัญหาดินเค็ม และการขยายตัวของเขตทะเลทรายประกอบกับปัญหาอื่นๆ ได้แก่ การขยายตัวของเขตเมือง และการใช้ที่ดินในการทำเหมืองแร่ การทำป่าไม้ และการเพาะเลี้ยงพืชหรือสัตว์น้ำ ล้วนส่งผลให้ พื้นที่การเกษตรของจีนลดจำนวนลงเรื่อยๆ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของจีนในอนาคตอันใกล้ในแง่ ความมั่นคงด้านอาหาร เนื่องจากในขณะที่พื้นที่เพาะปลูกลดลงแต่อัตราการบริโภคอาหารต่อหัวของประชากรกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ และพื้นที่ซึ่งเหมาะสม และมีศักยภาพในการเกษตรก็มีปริมาณจำกัด ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกต่อคนของประเทศจีนเหลือเพียง 0.1 เฮกตาร์ หรือแทบไม่ถึงครึ่งหนึ่งของอัตราเฉลี่ยทั่วโลกด้วยซ้ำ และเกือบจะต่ำพอๆ กับสถิติในบริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรวันดาเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ประเทศจีนยังมีการรีไซเคิลขยะน้อยมาก ขยะจำนวนมหาศาลจากทั้งภาคอุตสาหกรรม และครัวเรือนจึงถูกทิ้งในพื้นที่โล่ง ส่งผลให้เกิดมลพิษในดิน และกองขยะยังเข้าไปยึดพื้นที่หรือทำลายพื้นที่การเกษตรอีกด้วย ปัจจุบันเมืองมากกว่า 2 ใน 3 ของจีนมีกองขยะอยู่รายรอบ โดยส่วนประกอบของขยะได้เปลี่ยนไปมากจากขยะที่เคยมาจากเศษผักผลไม้ ฝุ่น และกากหิน ไปเป็นเศษพลาสติก แก้ว และกระดาษห่อของทำให้ปัญหาขยะกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่อีก ปัญหาสำหรับประเทศจีนในอนาคตอันใกล้

จะเห็นได้ว่า ปัญหาอากาศ น้ำ และดินกำลังสร้างวิกฤตสิ่งแวดล้อมให้แก่ประเทศจีนอย่างน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมของจีนไม่ได้มีแค่นี้หรอก







 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้