(43) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (25/1/54)

(43) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (25/1/54)

 

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

43. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.)





ถึงแม้ว่ารัฐบาลไทยจะหันมาใช้มาตรการอนุรักษ์ป่าแบบเข้มข้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา แต่กลับไม่สามารถหยุดยั้งการลดลงของพื้นที่ป่าได้ เพราะยังคงมี การทำลายป่าด้วยวิธีการต่างๆ มาโดยตลอด เช่น ลักลอบตัดไม้ บุกรุกเข้าไปปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำรีสอร์ต ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ภัยจากคนอยู่นอกป่า เป็นหลัก ทั้งสิ้น ทั้งนี้มีสาเหตุจาก

       
       (1) การเพิ่มขึ้นของประชากรกับการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูก
       

       (2) การทำไร่เลื่อนลอยทั้งโดยชาวเขา และชาวพื้นราบ
       

       (3) การทำลายป่าของส่วนราชการ
       

       (4) การลักลอบตัดไม้โดยผิดกฎหมายของผู้มีอิทธิพล

       
       (5) การขาดความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายป่าไม้ และการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
       

       ที่ผ่านมา กรมป่าไม้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบป่าเพียงหน่วยงานเดียว ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล ที่สำคัญยังมีข้อจำกัด ด้านองค์ความรู้ เนื่องจากแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการป่าของกรมป่าไม้ ได้รับอิทธิพลจากอังกฤษ และอเมริกา ซึ่งเป็นการจัดการป่าเขตหนาว ไม่สอดคล้องกับป่าเขตร้อนของเมืองไทย เช่น วิธีการจัดการไฟป่า การฟื้นป่าโดยการปลูกป่า เป็นต้น

       
       ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลไทยได้ประกาศพื้นที่อนุรักษ์โดยไม่สนใจข้อเท็จจริงได้นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านกับรัฐอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยที่มีช่องโหว่ของกฎหมายที่ให้อำนาจการจัดการป่าไม้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงฝ่ายเดียว ทำให้มีการคอร์รัปชันตั้งแต่ระดับพื้นที่จนถึงระดับชาติ มิหนำซ้ำ ทิศทางการใช้ประโยชน์จากพื้นที่อนุรักษ์โดยเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำเหมืองแร่ ทำสวนป่า ทำรีสอร์ต กลับนำไปสู่ความเสื่อมของทรัพยากร เนื่องจากเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าความยั่งยืน ทำให้ป่าสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอันเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมในอนาคต หากต้องเผชิญกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อน 

       
       วิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ของภาครัฐที่ผ่านมา มีจุดอ่อนใหญ่อยู่ 2 ประการ ประการที่หนึ่ง ภาครัฐไม่เคยมีความคิดว่า ราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่า หรือบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ป่าจะมีความสามารถช่วยรักษาพื้นที่ป่าเอาไว้ได้ ประการที่สอง ภาครัฐมีความโน้มเอียงที่จะร่วมมือกับธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ตลอดจนบรรษัทข้ามชาติในการให้เป็นผู้ทำหน้าที่รักษาพื้นที่ป่ามากกว่าที่จะคิดร่วมมือกับราษฎรในการรักษาพื้นที่ป่า 

       
       ข้อเสนอที่เป็น ทางเลือกใหม่ ของชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ จึงสอดคล้องกับข้อเสนอของกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้พยายามนำเสนอมาโดยตลอดว่า คนที่อยู่ในป่าหรือใช้ประโยชน์จากป่าไม่ได้เป็นผู้ทำลายป่าเสมอไป หากแต่คนสามารถอยู่กับป่าช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าได้ อาจจะดีกว่าหน่วยงานรัฐที่มีข้อจำกัดทั้งด้านกำลังคน งบประมาณ และแนวคิดด้วยซ้ำ
       

       ทางเลือกใหม่ ที่ชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่จะต้องเข้าไปผลักดันร่วมกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลาย ก็คือ การสนับสนุนให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการป่าไม้ โดยผ่านการผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน โดยต้องชี้ให้ภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคสังคมเห็นเหมือนกันว่า การจัดการป่าไม้ให้ยั่งยืนนั้น มิได้เป็นเรื่องเฉพาะของท้องถิ่น แต่ป่าไม้มีความสำคัญยิ่งต่อเมืองและชนบท รวมทั้งมนุษยชาติที่กำลังถูกคุกคามจากหายนภัยของภาวะโลกร้อน 

       
       แนวคิดเรื่องป่าชุมชนนี้ เริ่มต้นจากข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมไทยที่ผ่านมา เป็นสังคมที่คนชนบทจำนวนมากอยู่กับป่า พึ่งพาอาศัยป่าไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย อาหาร หรือยาสมุนไพรรักษาโรค และคนที่อาศัยอยู่กับป่าก็มีความรู้ ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงชุมชนกับป่าอย่างแน่นแฟ้น นำไปสู่การจัดการและการอนุรักษ์ป่าที่หลากหลาย และสอดคล้องกับสภาพของท้องถิ่น เช่น การใช้พื้นที่ป่าแบบหมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง ความเชื่อเรื่องผีป่าดูแลต้นน้ำ การรักษาป่าศักดิ์สิทธิ์ ป่าหน้าหมู่ของชุมชนภาคเหนือ เป็นต้น
       

       ข้อเท็จจริงและองค์ความรู้ในการจัดการป่าของชุมชนท้องถิ่นที่มีความหลากหลายตามวัฒนธรรมและสภาพป่า เป็นสิ่งสนับสนุนแนวคิดเรื่องป่าชุมชน เรื่องคนอยู่กับป่า และรักษาป่าได้เป็นอย่างดี จนนำไปสู่ การยกร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน ขึ้นในปี พ.ศ. 2536 โดยมีเป้าหมายให้เกิดการรับรอง และสนับสนุนสิทธิชุมชนในการอนุรักษ์ และการจัดการป่าอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การผลักดัน พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีอุปสรรคมากมาย ทั้งจากภาครัฐฝ่ายนโยบาย ฝ่ายนิติบัญญัติที่ยังมีแนวคิดที่แตกต่างออกไป รวมทั้งภาคสังคมบางส่วนที่ยังไม่วางใจด้วย ซึ่งก็เป็นมุมมองที่มีเหตุผลน่าฟังมากเช่นกัน
       

       กล่าวคือ การสนับสนุนป่าชุมชน โดยที่ชุมชนส่วนใหญ่ยังไม่มีจิตสำนึกรักษาป่าอย่างเข้มแข็งมากพอที่จะทนทานแข็งขืนต่อลัทธิบริโภคนิยมได้ จะนำไปสู่การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ “ป่าเศรษฐกิจ” จนทำลายป่าธรรมชาติดั้งเดิมที่ต้องอนุรักษ์ และเหลืออยู่น้อยแล้วให้หมดไปในที่สุดได้ 

       
       เพราะฉะนั้น จากมุมมองที่เห็นแย้งกับแนวคิดเรื่องป่าชุมชนนี้ ทำให้มุมมองของภาครัฐหรือกรมป่าไม้ยืนกรานว่า ป่าอนุรักษ์ต้องไม่เป็นป่าเศรษฐกิจ ต้องไม่มีคนอยู่ในป่า และชุมชนโดยรอบไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่าได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นมุมมองที่สุดโต่งเกินไป เพราะภาครัฐ โดยเฉพาะกรมป่าไม้ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบป่าเพียงหน่วยงานเดียว ก็ไม่มีกำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลได้ทั้งหมด หากไม่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนที่ยังพึ่งพาอาศัยป่า

       
       เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะผลักดัน แนวคิดเรื่องป่าชุมชนอย่างบูรณาการ ก็ต้องคำนึงถึงมาตรการเพื่อความมั่นใจให้มากเข้าไว้ว่า ถ้าทำป่าชุมชนแล้วจะไม่ทำให้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ลดลง ที่สำคัญ การจัดการป่าแบบป่าชุมชน จะต้องมุ่งไปที่การจัดการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์พื้นที่ป่าเท่านั้น จะนำไปรวมกับการจัดที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยของชาวบ้านไม่ได้เป็นอันขาด เพราะแรงกดดันจากการขยายตัวของประชากรที่ยากไร้ จะนำไปสู่การบุกรุกป่าและทำลายป่าในที่สุด ถ้าหาก การจัดการป่าแบบป่าชุมชนรับมือกับเรื่องนี้ไม่ได้ แนวคิดเรื่องป่าชุมชนจะเป็นอันตรายต่อการอนุรักษ์ป่ายิ่งกว่าแนวทางอนุรักษ์ป่าของภาครัฐในปัจจุบันเสียอีก

       
       แนวคิดป่าชุมชนอย่างบูรณาการ จะประสบความสำเร็จได้นั้น ทั้งชุมชนและผู้ผลักดันจะต้องมีทัศนะแบบองค์รวมที่มองป่าอนุรักษ์ว่าเป็นเรื่องวิถีชีวิต เป็นเรื่องวัฒนธรรม และเป็นพื้นฐานแห่งเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ชุมชน อันจะเป็น “ทางรอด” ให้แก่ชุมชน และสังคมไทยโดยรวม หากในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า เกิดหายนภัยจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารขึ้นทั่วโลก ชุมชนไทยและสังคมไทย ก็จะอยู่รอดอย่างยั่งยืนได้ เพราะมี “ป่าชุมชน” ที่บูรณาการกับป่าอนุรักษ์จนเป็นระบบเศรษฐกิจแบบพอเพียง และยั่งยืนแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอย่างต่อเนื่องนานนับปีก็ตาม

       
       เมื่อคำนึงถึงความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดหายนภัยจากภาวะโลกร้อนในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมทั้งหมด จะต้องหันมาสนับสนุนแนวคิดเรื่องป่าชุมชนแบบบูรณาการเสียแต่บัดนี้ เพื่อเตรียมรับมือภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนที่จะเกิดขึ้นแน่ในอนาคตอันใกล้ ก่อนอื่นทุกคนควรมีความเข้าใจตรงกันว่า ป่าเป็นฐานต้นทุนชีวิตของคนส่วนใหญ่ในสังคมไทย เป็นทั้งที่ทำกิน เป็นทั้งแหล่งความรู้ที่เกิดจากการใช้ชีวิต เราไม่ควรเอาคนออกจากป่าให้หมด แต่เราต้องทำให้คนอยู่กับป่าด้วยความรัก ความผูกพัน และรักษาป่า ต่อสู้เพื่อปกป้องป่าจากคนภายนอกป่าชุมชนให้จงได้ 

       
       สำหรับสังคมโดยรวม ป่าเป็นขุมทรัพย์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ป่าคือความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งจะมีความสำคัญมากในอีก 20-30 ปีข้างหน้า เมื่อโลกเริ่มเผชิญกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อนเต็มรูปแบบ เพราะป่าเป็นที่มาของการผลิตอาหารและยาของโลก ปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขตร้อน ซึ่งมีพื้นที่ไม่ถึง 7% ของพื้นที่โลก แต่เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพถึง 60% ของโลกเลยทีเดียว

       
       วิชันของพันธมิตรฯ และวิชันของพรรคการเมืองใหม่ของพวกเรา จึงจะต้องผนวกรวมแนวคิดเรื่องป่าชุมชนแบบบูรณาการเข้าไปด้วย จึงจะทำให้ ขบวนการพันธมิตรฯ ของพวกเรา กลายเป็นการเมืองภาคประชาชนเต็มรูปแบบในเชิงข้อเรียกร้องทางการเมือง มิใช่เป็นแค่การเคลื่อนไหวของมวลชนที่ต่อสู้ ต่อต้านการปล้นชาติโกงเมืองของพวกนักการเมืองเหมือนที่ผ่านมาเท่านั้น







Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้