3. วิถีโตโยต้าเพื่อการสร้างองค์กรที่เป็นเลิศ
การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก ในเรื่องของเวลา พื้นที่ และความรู้ได้แปรสภาพของโลกใบนี้จาก สถานะที่เป็นของแข็ง (solid) ให้กลายไปเป็น สถานะที่เป็นของเหลว (liquid) โดยทำให้โลกในยุคปัจจุบันกลายเป็น โลกที่เลื่อนไหล ไม่นิ่ง และไร้เสถียรภาพ
เพราะฉะนั้น การที่องค์กรธุรกิจใดจะยืนหยัดอยู่บนโลกที่เลื่อนไหลนี้อย่างมั่นคง และยั่งยืนได้นั้น ทอฟฟ์เลอร์บอกว่า จะต้องเป็นองค์กรธุรกิจที่สามารถ “เข้าจังหวะ” (synchronization) ได้ และผมก็ได้ขยายความต่ออีกว่า ตัวอย่างดีเลิศที่เป็นรูปธรรมขององค์กรธุรกิจที่สามารถ “เข้าจังหวะ” ได้นั้นคือ บริษัทโตโยต้า
งานเขียนชุดนี้ของผม เป็นการนำเสนอ วิชันของผม ให้แก่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้แก่ พรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ตัวผมเป็นที่ปรึกษาข้อเสนอประการหนึ่งของผมที่มีต่อพรรคการเมืองใหม่ของพวกเรา ก็คือว่า หากพรรคการเมืองใหม่ของพวกเราได้รับความไว้วางใจ และความศรัทธาจากพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศ ให้มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศเมื่อไหร่
พรรคของพวกเราจะต้องมีวิชันที่จะส่งเสริมการเรียนรู้แบบอย่างจากวิถีและวัฒนธรรมของบริษัทโตโยต้า เพื่อสร้างองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางธุรกิจ และองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางสังคมขึ้นมาในประเทศของเราให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
มีหนังสือภาษาไทยอย่างน้อย 3 เล่มเกี่ยวกับบริษัทโตโยต้า ที่ผมขอแนะนำให้พวกเราทำการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อนำมาพัฒนาพรรคของพวกเรา พัฒนาขบวนการของพวกเรา และพัฒนาหน่วยงานหรือองค์กรของพวกเราให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องให้จงได้ หนังสือ 3 เล่มที่ว่านั้นคือ
(1) วิถีแห่งโตโยต้า (The Toyota Way) ของ Jeffrey Liker (ฉบับภาษาไทย, พ.ศ. 2548 โดยสำนักพิมพ์อี.ไอ.สแควร์)
(2) วัฒนธรรมโตโยต้า (Toyota Culture) ของ Jeffrey Liker และ Michael Hoseus (ฉบับภาษาไทย, พ.ศ. 2552 โดยสำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล)
(3) Toyota มหาอำนาจยานยนต์หมายเลข 1 (How Toyota became No. 1-Leadership Lessons from the World’s Greatest Car Company) ของ David Magee (ฉบับภาษาไทย, พ.ศ. 2551 โดยสำนักพิมพ์ยูเรก้า)
จากการที่ผมได้ศึกษาวิถีและวัฒนธรรมของบริษัทโตโยต้าจากหนังสือ 3 เล่มข้างต้น รวมทั้งหนังสือภาษาญี่ปุ่นจำนวนมากเกี่ยวกับบริษัทโตโยต้า และการบริหารธุรกิจแบบญี่ปุ่นที่ผมได้อ่านในช่วงกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมเมื่อยี่สิบปีก่อน ทำให้ตัวผมมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้น และไม่คลอนแคลนว่า
ความเป็นเลิศของบริษัทโตโยต้านั้น มีจุดกำเนิดมาจากภาวะผู้นำ (leadership) และปรัชญาการจัดการธุรกิจที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผู้นำของบริษัทโตโยต้าที่สืบทอดกันมาเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่ยุคบุกเบิกก่อร่างสร้างธุรกิจจนถึงยุคปัจจุบัน และยังสามารถถ่ายทอดไปสู่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนในสายการผลิตของบริษัท ให้ตระหนักเข้าใจและเข้าถึงในปรัชญาการจัดการนั้นอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชัยชนะและความเป็นเลิศของโตโยต้านั้นอยู่ที่ภาวะผู้นำ และปรัชญาชี้นำการจัดการของผู้นำทุกรุ่นที่สามารถถ่ายทอดปรัชญาการจัดการนั้นไปสู่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน จนกลายเป็นวิถีและวัฒนธรรมของพวกเขาได้อย่างต่อเนื่อง และอย่างไม่ขาดตอนตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน
เรื่องราวความเป็นมาของวิถีโตโยต้า และวัฒนธรรมโตโยต้าอันเป็นองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ ผมเชื่อมั่นว่าจะให้แรงบันดาลใจแก่พวกเรา ในการสร้าง วิถีแห่งองค์กรของพวกเรา และการพัฒนา วัฒนธรรมแห่งองค์กรของพวกเรา ขึ้นมาเองได้อย่างแน่นอน
โตโยต้าเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทของครอบครัวหนึ่งที่ก่อตั้งโดย ซาคิจิ โตโยดะ (ค.ศ. 1867-1930) ผู้เป็นบุตรชายของกรรมกรช่างไม้ที่รักในการประดิษฐ์ และมีความมุ่งมั่นในการค้นคว้าพัฒนาเครื่องทอผ้า เพราะเขาเห็นว่า เครื่องมือทอผ้าพื้นบ้านที่แม่และผู้หญิงคนอื่นๆ ใช้อยู่นั้น มีการใช้งานที่ยุ่งยากเกินไป และมีความเคลื่อนไหวที่สูญเปล่า และทำให้เหนื่อยยากมากเกินไป อันเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพของแม่ และผู้หญิงคนอื่นๆ โดยไม่จำเป็น เขาจึงพยายามเสาะหาวิธีที่ทำให้งานทอผ้าง่ายขึ้น ด้วยความอุตสาหะวิริยะของ ซาคิจิ ที่ทุ่มเทอุทิศชีวิตของเขาให้แก่การประดิษฐ์เครื่องทอผ้าที่ทันสมัย ในที่สุดตัวเขาก็สามารถจดสิทธิบัตรเครื่องทอผ้าของเขาได้เป็นผลสำเร็จ และก่อตั้งบริษัททอผ้าของเขาเองขึ้นมาซึ่งกลายเป็นบริษัทที่รุ่งเรืองที่สุดบริษัทหนึ่งในยุคนั้น
เมื่อ ซาคิจิ ได้เดินทางไปดูงานที่ยุโรปเพื่อศึกษา เครื่องทอผ้าที่ทันสมัยของบริษัทชั้นนำในประเทศอังกฤษ ซาคิจิ ได้เรียนรู้ ซึมซับ หลักการ และปรัชญาธุรกิจตะวันตกซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่สำหรับเขาอย่างเต็มที่ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ซาคิจิ ได้รับอิทธิพลและแรงบันดาลใจอย่างลึกซึ้งจากหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่งของ Samuel Smiles (ค.ศ. 1812-1904) เรื่อง “Self Help” (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859) อาจกล่าวอย่างฟันธงได้ว่า หนังสือเล่มนี้ของ Smiles มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการสร้างปรัชญาการจัดการของตัวซาคิจิเองหลังจากนั้นเป็นอย่างมาก
เพราะ งานเขียนเล่มนั้นของ Smiles ได้ให้ “ปัญญา” แก่ผู้อ่าน โดยปลุกผู้อ่านให้ตื่นตัวขึ้นมาแลเห็นถึงศักยภาพที่ดำรงอยู่แล้วภายในตัวเอง แล้วปลูกฝังความปรารถนา และความใฝ่ฝันที่จะประสบความสำเร็จให้แก่ผู้อ่าน โดยสอนผู้อ่านให้รู้จักทุ่มเทแรงกาย แรงใจ และแรงสมองของตนให้แก่สิ่งที่คู่ควรที่ตัวเองได้ตั้งเป็นเป้าหมายอันสูงส่งให้แก่ชีวิตของตน แล้วก็ทำงานอย่างทุ่มเทเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นให้จงได้ ไม่ว่าจะเหนื่อยยากลำบากเพียงใดก็ตามโดยพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ
Smiles บอกว่า คนเราควรทำงานด้วยใจรัก และทำงานในสิ่งที่ตัวเองรักเท่านั้น เพราะไม่มีความภาคภูมิใจในชีวิตที่จะได้มาโดยปราศจากความมุมานะพยายามอย่างอุตสาหะวิริยะของผู้นั้น ด้วยเหตุนี้ คนเราต้องไม่กลัวความยากลำบากในชีวิต และต้องเอาชนะอุปสรรคในชีวิตทั้งปวงให้จงได้ด้วยความอดทนอย่างถึงที่สุด เหนือสิ่งอื่นใด คนเราควรยกระดับ คุณค่าของตัวเอง ให้สูงยิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพราะหากปราศจากสิ่งนี้อันเป็น คุณค่าภายใน ของตัวเราที่แท้จริง ทรัพย์สมบัตินอกกายทั้งหลายทั้งปวง และความสำเร็จทางโลกใดๆ จักกลายเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
เป็นที่ประจักษ์ในเวลาต่อมาว่า งานเขียนของ Smiles เล่มนี้ ได้จุดประกายทางความคิดให้แก่ ซาคิจิ โตโยดะ ในการทุ่มเทให้แก่การประยุกต์ ปรัชญาการทำธุรกิจเพื่อสร้างคุณูปการให้แก่สังคม ดังข้างต้นนี้เข้ากับงานประดิษฐกรรมและบริษัทของเขา ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ มันได้กลายเป็น รากฐานทางปรัชญา ให้แก่องค์กร (บริษัทโตโยต้า) ที่จะกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกในเวลาต่อมา โดยที่ตัวซาคิจิเองได้อุทิศเวลาอันมีค่าของเขาถ่ายทอด ปรัชญาการทำธุรกิจเพื่อสร้างคุณูปการให้แก่สังคมนี้ ให้แก่บุตรชายของเขาคือ คิอิจิโร่ โตโยดะ (ค.ศ. 1894-1952) มาโดยตลอด จวบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเขาในปี ค.ศ. 1930
ก่อนที่ ซาคิจิ จะเสียชีวิต เขาได้สั่งเสีย คิอิจิโร่ บุตรชายอันเป็นที่รักของเขาว่า
“ลูกรัก คนเราควรจะมีโอกาสรับผิดชอบงานใหญ่อย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิตของตน พ่อเองได้อุทิศเกือบทั้งชีวิตในการประดิษฐ์เครื่องจักรทอผ้าชนิดใหม่มาแล้ว คราวนี้ถึงคราวของตัวลูกบ้าง พ่อขอบอกกับลูกอย่างจริงใจว่า พ่อไม่ต้องการให้ลูกเจริญรอยตามพ่อโดยการรับช่วงสืบทอดบริษัททอผ้าของพ่อต่อจากพ่อ แต่พ่ออยากให้ลูกสร้าง โครงการใหญ่ ของลูกขึ้นมาเองด้วยตัวของลูกเอง เพราะ พ่ออยากให้ลูกสร้างอาณาจักรของลูกขึ้นมาด้วยน้ำมือของลูกเอง”
นี่เป็น ความยิ่งใหญ่แห่งหัวใจและน้ำใจ ของ ซาคิจิ ผู้เป็นพ่อที่มีให้แก่ คิอิจิโร่ ผู้เป็นบุตรชายอันเป็นที่รักอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ ซาคิจิ จึงสนับสนุนให้ คิอิจิโร่ ขายสิทธิบัตรเครื่องทอผ้าของบริษัทตนให้แก่บริษัท Platt Brothers ที่ยื่นเสนอขอซื้อสิทธิบัตรนี้ด้วยมูลค่าสูงถึงหนึ่งล้านเยนในสมัยนั้น (ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามค่าเงินในปัจจุบัน) เพื่อเอาเงินก้อนโตก้อนนี้มาเป็นทุนในการพัฒนาธุรกิจรถยนต์เพื่อส่งเสริม และพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่น เพราะทั้ง ซาคิจิ และ คิอิจิโร่ ล้วนตระหนักดีว่า ในขณะนั้น (ปลายศตวรรษที่ 20) โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไป ขณะที่เครื่องจักรทอผ้ากำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีของวันวานที่ล้าสมัย แต่รถยนต์คือเทคโนโลยีแห่งอนาคต