(6) วิชันยานยนต์ของคนหัวรั้น (11/5/53)

(6) วิชันยานยนต์ของคนหัวรั้น (11/5/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

6.วิชันยานยนต์ของคนหัวรั้น

 

แม้เวลาผ่านไปเพียงแค่หนึ่งทศวรรษของศตวรรษที่ 21 เท่านั้น แต่โลกของเราก็ต้องเผชิญกับวิกฤตต่างๆ มากมายที่ล้วนเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ระบบทุนนิยมแบบที่เป็นมาในศตวรรษที่ 20 กำลังจะเข้าสู่จุดจบ เพราะการมุ่งขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างไม่บันยะบันยัง ขณะที่ลัทธิบริโภคนิยมที่ตามมาพร้อมๆ กับความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมายจนอาจทำให้อารยธรรมของมนุษยชาติถึงแก่กาลล่มสลายในอนาคตอันใกล้ได้ หากผู้คนส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการพัฒนาเสียใหม่ อันสืบเนื่องมาจาก สภาวะโลกร้อน

พอพิจารณาถึงประเด็นนี้ เราก็จะค้นพบว่า รถยนต์เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของสภาวะโลกร้อน เพราะรถยนต์เป็นจำเลยแรกๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุของการทำให้โลกร้อน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ผ่านมาพึ่งพายานยนต์ในการขยายตัวเป็นอย่างมาก การจะเข้าใจความจริงในเรื่องนี้ได้ ขอให้เราลองจินตนาการถึงโลกของเราแค่เมื่อร้อยห้าสิบปีก่อน อันเป็นโลกที่ยังปราศจากรถยนต์อยู่ เราก็จะพบว่า โลกในยุคก่อนมีรถยนต์นั้น ไม่มีภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อม และก็ไม่มีปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่กำลังเกิดอยู่ในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน โลกในสมัยนั้นก็ขาดอิสระในการเคลื่อนที่ และขาดความเฟื่องฟูมั่งคั่งที่แผ่ไปถึงชนชั้นกลางทั่วโลกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเช่นกันด้วย

แต่จะว่าไปแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลต่างหากที่เป็นตัวสร้างปัญหาโลกร้อนตัวจริง โดยที่รถยนต์คือตัวเขมือบน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลนี้อีกที ด้วยเหตุนี้ จึงมีแรงกดดันอย่างมหาศาล จากภาคสังคมให้ต้องมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อผลิตรถยนต์แห่งอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระดับที่สามารถมีส่วนช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างมีนัยสำคัญได้ แต่ดูเหมือนว่า เส้นทางนี้ยังอีกยาวไกลไม่น้อย แม้จะมองจากมุมมองของบริษัทโตโยต้า ซึ่งถือได้ว่ามีความรุดหน้ามากที่สุดแล้วในการผลิตรถยนต์ไฮบริดก็ตาม

เป็นที่เห็นได้ชัดว่า โลกของเราในขณะนี้ กำลังอยู่ใน ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเรื่องพลังงานจากฟอสซิล ทิศทางและการตัดสินใจเกี่ยวกับรถยนต์ และน้ำมันของประเทศมหาอำนาจ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของศตวรรษที่ 21 หลังจากนี้ไปอีกทีหนึ่ง แต่ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า มันเป็นเรื่องยากมากที่จะหาทางลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง จุดเปลี่ยนเชิงนโยบายที่สามารถทำได้ก็คือ จะต้องมุ่งเน้นหาทางออกเชิงเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ มากกว่าที่จะมุ่งลดพฤติกรรมการขับขี่ของผู้บริโภค ซึ่งควบคุมได้ยากกว่ามาก

เพียงสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ ได้มีความพยายามของผู้ประกอบการ “หัวรั้น” ในสหรัฐอเมริกา อย่าง อมอรี โลวินส์ (Amory Lovins) ที่ได้ทำการพัฒนารถยนต์ต้นแบบที่เรียกว่า ไฮเปอร์คาร์ ขึ้นมาด้วยแนวคิดที่ต้องการปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์ และพลังงานอย่างถึงรากถึงโคน เพราะโลวินส์ เห็นว่า การตอบสนองแบบเชื่องช้าของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีทางแก้ไขวิกฤตพลังงานและวิกฤตโลกร้อนได้

เนื่องจากโลวินส์ได้วิจัยจนค้นพบว่า ในการขับเคลื่อนรถยนต์อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน มีการใช้น้ำมันเพียง 1% เท่านั้น ส่วนที่เหลือหมดไปกับการสูญเสียที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ การทดรอบของเกียร์ และการแบกส่วนประกอบที่เป็นโลหะหนักอันเป็นการใช้เชื้อเพลิงที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ รถไฮเปอร์คาร์ของโลวินส์ จึงเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิง ไม่มีการปล่อยมลพิษใดๆ ออกสู่สิ่งแวดล้อม การทำงานของเครื่องยนต์เริ่มจากการดูดเอาออกซิเจนจากอากาศภายนอกตัวรถ แล้วใช้ไฮโดรเจนจากถังเก็บมาทำปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าโดยมีของเหลือเป็นน้ำ

สิ่งที่รถไฮเปอร์คาร์ของโลวินส์ ต่างไปจากการใช้เซลล์เชื้อเพลิงในยานพาหนะของบริษัทรถยนต์ที่วิจัยเรื่องนี้อยู่ก็คือ รถไฮเปอร์คาร์ของโลวินส์ เป็นรถที่มีระบบบูรณาการสมบูรณ์แบบ ตัวถังรถยนต์ทำมาจากวัสดุพลาสติกคอมโพสิต ชุดขับเคลื่อนและเกียร์เป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องมีชิ้นส่วนกลไกอื่นๆ โดยที่บริโภคพลังงานเทียบเท่ากับระยะทาง 100 ไมล์ต่อแกลลอนหรือ 42.3 กิโลต่อลิตร ซึ่งเป็นสถิติที่ดีกว่ารถยนต์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้มาก

แม้รถไฮเปอร์คาร์ของโลวินส์ จะเป็นแค่รถต้นแบบก็จริง แต่เทคโนโลยีของการผลิตรถไฮเปอร์คาร์ ไม่ว่าจะเป็นวัสดุคอมโพสิต ระบบควบคุมด้วยไฟฟ้าและเซลล์เชื้อเพลิง ล้วนมีการใช้งานจริงทั้งสิ้นในปัจจุบัน แต่ระบบที่ดีกว่าเหล่านี้ กลับไม่ถูกนำไปใช้ในรถยนต์ที่ประชาชนขับขี่อยู่ในปัจจุบันก็เพราะบริษัทรถยนต์ทั้งหลายได้ลงทุนเป็นจำนวนมหาศาลกับรูปแบบและระบบเทคโนโลยีการผลิตแบบเดิม เช่น โรงงานขึ้นรูปโครงสร้างเหล็กของรถยนต์และชิ้นส่วน จนขาดแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด

ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ในปัจจุบันจึงไม่สนใจที่จะผลิตรถไฮเปอร์คาร์ออกมา และปล่อยทิ้งให้โครงการรถไฮเปอร์คาร์ของโลวินส์กลายเป็นโครงการในฝันของ “คนหัวรั้น” คนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายแทนคนทั้งโลกจริงๆ

ความพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน แต่ไม่ประสบความสำเร็จของรถไฮเปอร์คาร์ของโลวินส์ ผู้มีวิชันล้ำยุคอย่างหาตัวจับยากคนหนึ่ง เพราะตัวเขาได้เคยเตือนว่า ภาวะโลกร้อนจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่ชาวโลกจะต้องประสบมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1968 แล้ว จึงเป็นโศกนาฏกรรมของผู้มาก่อนกาล และสะท้อนให้เห็นว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นธุรกิจใหญ่โต สลับซับซ้อนที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคน

มิหนำซ้ำในแต่ละปี จำนวนยานพาหนะทั่วโลกยังเป็นตัวการหลักในการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนใหญ่ของโลกที่ผลิตออกมา โดยที่เงินทุกๆ 10 เหรียญที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหามาได้ ก็มาจากอุตสาหกรรมยานยนต์นี้เพียงอย่างเดียวถึง 1 เหรียญ ซึ่งบ่งชี้ถึงคุณค่าของธุรกิจยักษ์นี้ต่อระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้เป็นอย่างดี ราวกับว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นมารดาแห่งอุตสาหกรรมทั้งหลายทั้งปวงในระบบทุนนิยมแห่งศตวรรษที่ 20 แม้ว่าปัจจุบันนี้ อิทธิพลของอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯ จะลดลงและถูกแทนที่ด้วยอุตสาหกรรมความรู้-ความบันเทิงแห่งศตวรรษที่ 21 ไปแล้วก็ตาม

ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐฯ จึงไม่ได้ดูยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อในศตวรรษที่ 20 อีกแล้ว เพราะค่ายรถยนต์เองก็ต้องปรับตัวไปหาพลังงานทางเลือกจากแหล่งอื่น เนื่องจากเป็นที่รับทราบกันดีว่า พลังงานจากน้ำมันหรือเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

จากจุดนี้เอง จึงเป็น การเปิดโอกาสให้แก่การเริ่มต้นการสร้างนวัตกรรมที่หลากหลายจากผู้เล่นรายใหม่ๆ ที่อยู่นอกวงการยานยนต์ เพราะเป็นที่เชื่อกันในหมู่มหาเศรษฐีรุ่นใหม่ที่ร่ำรวยมาจาก “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” ของภาคเศรษฐกิจความรู้ว่า ในอนาคตอันใกล้ ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและรถยนต์อาจถูกโค่นลงได้ทุกเมื่อจากการสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่ปฏิวัติขึ้นมาทดแทน

ด้วยเหตุนี้ บริษัท เทสลามอเตอร์ (Tesla Motors) ที่ก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ผู้ก่อตั้ง Google จึงถือกำเนิดขึ้นมาหลังจากมองเห็นโอกาสจากแนวคิดของ อมอรี โลวินส์ เรื่องวัสดุคอมโพสิต (วัสดุที่เกิดจากการนำวัสดุชิ้นอื่นมาอยู่ด้วยกัน โดยมีโครงสร้างในแบบต่างๆ โดยที่เนื้อของคอมโพสิตจะประกอบด้วยวัสดุต่างชนิดกัน ไม่กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน มีคุณสมบัติร่วมของวัสดุที่นำมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งไม่สามารถหาได้จากวัสดุชนิดเดียว) ที่มีน้ำหนักเบา จนในที่สุดได้มีการสร้างรถต้นแบบซึ่งเป็นรถสปอร์ตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานน้อยกว่าโตโยต้า พรีอุส (Prius) แต่วิ่งได้เร็วกว่า เฟอร์รารีออกมา

แม้ว่าในขั้นตอนปัจจุบันรถสปอร์ตไฟฟ้าต้นแบบของเทสลามอเตอร์ ยังไม่สามารถผลิตแบบแมส (mass) ในเชิงพาณิชย์ออกมาได้ก็ตาม แต่ครั้งนี้ก็ถือได้ว่า มีความรุดหน้ากว่าสมัยโครงการไฮเปอร์คาร์ของโลวินส์เมื่อสิบกว่าปีก่อนที่ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเป็นอย่างมาก เพราะคราวนี้ “เถ้าแก่ดิจิตอล” ลงมาเล่นเอง

อย่างไรก็ตาม รถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่จับต้องได้จริงในขั้นตอนปัจจุบัน ยังไม่ได้มาจาก “การปฏิวัติ” ของผู้เล่นนอกวงการยานยนต์ แต่ยังคงมาจาก “การปฏิรูป” (การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) ของโตโยต้าซึ่งนำเสนอพรีอุสอันเป็นรถยนต์ไฮบริด (ไฟฟ้า-น้ำมัน) ที่เป็นการผสมผสานแบตเตอรี่ไฟฟ้าเข้ากับเครื่องยนต์สันดาปภายในอันสามารถเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่ “เศรษฐกิจไฮโดรเจน” ในอนาคตข้างหน้าได้

พรีอุส จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับปรุงวิธีการเดิมในอดีตให้ดีขึ้น ด้วยการใส่ความคิดใหม่ๆ ลงไปทำให้ระบบไฮบริดของพรีอุสมีพลังไม่ต่างจากรถยนต์รุ่นที่ใหญ่กว่า แต่บริโภคเชื้อเพลิงน้อยกว่าเพราะมีขนาดของเครื่องยนต์เล็ก แต่ถึงกระนั้น รถไฮบริดก็ยังไม่ใช่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอยู่ดี

แต่การมุ่งไปสู่การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในเชิงพาณิชย์ ดูเหมือนจะเป็นทิศทางหลักที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้นับจากนี้เป็นต้นไปเสียแล้ว เพราะวิชันที่เราเห็นล้วนบ่งชี้ว่า โลกของเรากำลังมุ่งไปสู่ยุคหลังน้ำมัน และยุคสมัยของการใช้รถยนต์ที่ปลอดจากก๊าซคาร์บอน จะนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจไฮโดรเจน






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้