12. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
หากปัญหา อวสานของยุคน้ำมัน ที่ใกล้จะมาถึงเป็น ปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติ ระยะยาว ที่เราจะต้องคำนึงถึงในการนำเสนอวิชันของพรรคการเมืองใหม่แล้ว ผมคิดว่า ปัญหาแล้งน้ำ และการแย่งชิงน้ำ ก็เป็น ปัญหาใหญ่เชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติระยะยาว ที่พรรคการเมืองใหม่ของพวกเราจะต้องขบคิด ตระหนักถึง และมีนโยบายเตรียมรับมือเอาไว้ด้วยเช่นกัน
ปัญหาความแห้งแล้งที่ทำให้ขาดน้ำ และมีแนวโน้มจะก่อให้เกิด สงครามแย่งน้ำ นี้กำลังจะกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศเรา เพราะมันเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ หากปัญหาแล้งน้ำเกิดต่อเนื่องติดต่อกันหลายๆ ปี มันจะส่งผลคุกคามต่อภาคเกษตรกรรมของประเทศเราอย่างแน่นอน
ก่อนอื่น ผู้ใช้น้ำในภาคเกษตรที่แต่เดิมเคยพึ่งพา พลังงานน้ำมัน ในการผันน้ำเข้าสวนไร่นา ครั้นเมื่อ ราคาน้ำมันทะยานสูงขึ้น อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อสามปีก่อน ผู้ใช้น้ำในภาคเกษตรจึงต้องปรับตัวหันไปใช้ เครื่องสูบน้ำที่ใช้พลังงานไฟฟ้า แทนเพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าแต่เราต้องไม่ลืมว่า ผู้ใช้น้ำในภาคเกษตรจะพึ่งพาเครื่องสูบน้ำที่ใช้พลังงานไฟฟ้าได้ ก็ตราบเท่าที่ระดับน้ำในเขื่อนยังไม่ลดต่ำลงจนถึงขีดวิกฤตที่เขื่อนไม่สามารถปล่อยน้ำลงคูคลองได้เท่านั้น
หากสถานการณ์วิกฤตถึงขั้นนั้นจริง ภาคเกษตรกรรมทุกสาขาก็ต้องหันไปพึ่งพิงน้ำจืดในเชิงพาณิชย์ คือต้องหันไป “ซื้อน้ำ” เป็นคันรถเพื่อมาใช้ในการเกษตรแทน แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ ผลผลิตการเกษตรจะต้องมีราคาที่สูงพอที่เกษตรกรจะสามารถจ่ายเงิน “ซื้อน้ำ” มาทำเกษตรแล้วคุ้มทุนเสียก่อน
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็คงพอมองเห็นได้แล้วกระมังว่า สงครามแย่งชิงน้ำในภาคเกษตรกรรมของประเทศเรา มีแต่จะรุนแรงขึ้นทุกปีๆ อย่างแน่นอน เพราะทรัพยากรน้ำจะไม่ใช่ของฟรี และหาได้ไม่ยากจากคูคลองหนองบึงแม่น้ำ หรือแม้จากอ่างเก็บน้ำ หรือจากเขื่อนอีกต่อไปแล้ว ไม่น่าเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อว่า ปัญหาแล้งน้ำและการแย่งชิงน้ำจะเกี่ยวโยงกับปัญหาราคาน้ำมันแพง และปัญหาโลกร้อนอย่างแยกกันไม่ออกถึงขนาดนี้
มิหนำซ้ำ ปัญหาแล้งน้ำนี้ยังมิใช่ปัญหาของประเทศไทยเท่านั้น ประเทศมหาอำนาจเกิดใหม่อย่างประเทศจีนก็ประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว เสฉวน รวมทั้งเขตปกครองตนเองกวางสี โดยที่ปัญหาภัยแล้งในจีน อันเนื่องมาจากปัญหาโลกร้อนยังเกี่ยวโยงทางอ้อมกับ ปรากฏการณ์แม่น้ำโขงลดต่ำลง อีกด้วย เพราะจีนได้สร้างเขื่อน 4 แห่งบริเวณต้นแม่น้ำโขง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และมีโครงการจะสร้างเขื่อนอีก 4 แห่งในแม่น้ำโขงตอนล่างอีกด้วย จึงเห็นได้ว่า ปัญหาการบริหารน้ำ กำลังจะกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ และปัญหาระหว่างประเทศไปแล้ว
สิ่งที่เราต้องตระหนักให้มากๆ และจะต้องเป็นส่วนหนึ่งแห่งวิชันของพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราก็คือ ปัญหาแล้งน้ำนี้ เป็นผลลัพธ์โดยตรงมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ที่อาจทำให้อารยธรรม ของเราล่มสลายได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “The Winds of Change : climate, weather, and the destruction of civilizations” (ค.ศ. 2006) ของ ยูจีน ลินเดน (Eugene Linden) แปลเป็นภาษาไทยภายใต้ชื่อ “เพชฌฆาตอารยธรรม-ชะตากรรมมนุษยชาติ ภายใต้บงการภูมิอากาศ” โดยสำนักพิมพ์มติชน (พ.ศ. 2550) ที่ผมขอแนะนำให้พวกเราอ่านเพื่อที่พวกเราจะได้เข้าใจถึง หายนภัยที่อาจเกิดจากปัญหาแล้งน้ำ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ยูจีนได้ยกกรณีศึกษาในอดีตที่สภาพภูมิอากาศได้กลายเป็นปัจจัยชี้ชะตา สังคมชาวไวกิ้งหรือชาวนอร์สที่เข้าไปตั้งรกรากที่เกาะกรีนแลนด์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 981 แต่เมื่อย่างเข้าสู่กลางศตวรรษที่ 14 สภาพอากาศในแถบกรีนแลนด์เริ่มวิปริตเพราะ สภาพอากาศแถบนั้นเริ่มหนาวเย็นผิดปกติต่อเนื่องนานนับสิบปี คือเริ่มมีอากาศหนาวเย็นผิดปกติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1343 จนถึงปี ค.ศ. 1355 ซึ่งถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบห้าร้อยปี
เหตุการณ์สภาพอากาศผิดปกติต่อเนื่องยาวนานนับสิบปีในครั้งนั้น ทำให้นิคมของชาวนอร์สที่กรีนแลนด์แถบชายฝั่งตะวันตกถึงแก่กาลล่มสลาย ทั้งนี้ก็เพราะว่า ระบบเศรษฐกิจของชาวนอร์สนั้น แม้จะสามารถรับมือกับฤดูหนาวที่เลวร้ายเป็นครั้งเป็นคราวก็จริง แต่มันไม่สามารถรับมือกับฤดูหนาวที่เย็นจัดต่อเนื่องปีแล้วปีเล่าได้จึงถึงแก่กาลล่มสลายในที่สุด
จากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในอดีตที่เกาะกรีนแลนด์ในศตวรรษที่ 14 ที่ ยุคน้ำแข็งน้อย ซึ่งทำให้เกิดฤดูหนาวที่เย็นจัดผิดปกติต่อเนื่องเป็นสิบปี เป็นตัวการทำให้ไร่เกษตรบนกรีนแลนด์ล่มสลาย เพราะชาวนอร์สในเกาะกรีนแลนด์สามารถรับมือกับสภาพอากาศเลวร้ายได้แค่หนึ่งปีหรือสองปีเท่านั้น ไม่ใช่สิบปีหรือสิบสองปีติดต่อกัน จึงทำให้เกิดความอดอยาก และความล่มสลายของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบในที่สุด ด้วยเหตุนี้ ยูจีน ลินเดน ผู้เขียน “เพชฌฆาตอารยธรรม” จึงสรุปว่า
เราไม่สามารถมองข้ามอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน แล้วมีผลต่อการล่มสลายของสังคมได้อีกต่อไปแล้ว ประวัติศาสตร์ภูมิอากาศจะต้องเป็นสาขาวิชาใหม่ ที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะในยุคปัจจุบันนี้ สภาพภูมิอากาศกำลังจะกลายเป็นปัจจัยชี้ชะตาอารยธรรม อย่างที่พวกเราคาดไม่ถึงมาก่อน เพราะภูมิอากาศสามารถอาศัยศาสตราวุธสารพันในการโค่นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ได้
อาวุธสำคัญอันดับแรกของภูมิอากาศคือ ภัยแล้ง ซึ่งมีอิทธิพลถึงขนาดสามารถสั่นคลอนโครงสร้างอำนาจเดิมของสังคมให้ล่มสลายได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า อุณหภูมิที่ขึ้นๆ ลงๆ ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ยังไม่ทำให้อารยธรรมล่มสลายได้มากเท่ากับความเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน นอกจากนี้ ยูจีนยังบอกอีกว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดยุคน้ำแข็งน้อยที่ทำให้สังคมชาวนอร์สในเกาะกรีนแลนด์ล่มสลายในศตวรรษที่ 14 นั้น เปรียบเสมือน คำเตือนที่สำคัญยิ่งสำหรับพวกเราในยุคปัจจุบัน เนื่องจากคำถามที่ว่า ยุคน้ำแข็งน้อยเกิดขึ้นเพราะอะไร และคำตอบที่พวกเราได้จะช่วยบอกเราว่า ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า อารยธรรมของพวกเราต้องเผชิญอะไรกันบ้าง
ยูจีนบอกว่า ความเป็นไปได้ ประการหนึ่งคือ ยุคน้ำแข็งน้อยอาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำในมหาสมุทร โดยเริ่มจากสมมติฐานที่ว่ามีการดำรงอยู่ของ “ระบบสายพานมหาสมุทรโลก” (Global Ocean Conveyor Belt) ซึ่งก็คือ แถบกระแสน้ำมหึมาที่ไหลไปรอบดาวเคราะห์โลก ทำหน้าที่ส่งผ่านความร้อนไปยังส่วนต่างๆ สิ่งที่เรียกกันว่า กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ก็คือส่วนหนึ่งของระบบที่ว่านี้มันคอยนำน้ำอุ่นขึ้นสู่เขตแอตแลนติกเหนือ เพื่อควบคุมอุณหภูมิของยุโรปและอเมริกาเหนือ ระบบสายพานมหาสมุทรโลกจึงเป็นตัวขับเคลื่อนน้ำปริมาณมหาศาล ณ จุดที่กระแสน้ำจมลงเบื้องล่างในย่านแอตแลนติกเหนือ ระบบสายพานจะลำเลียงปริมาณน้ำที่มากกว่าแม่น้ำอะเมซอนนับร้อยสาย กระแสน้ำกัลฟ์สตรีมส่งปริมาณความร้อนแก่ยุโรป และบริเวณตอนเหนือเทียบได้กับโรงไฟฟ้านับล้านโรงเลยทีเดียว
ยูจีนยังบอกอีกว่า มีความเป็นไปได้ว่า ความอบอุ่นจากกระแสน้ำกัลฟ์สตรีมอาจเหือดแห้งไปได้ เหตุผลก็คือ กลไกที่ฉุดลากกระแสน้ำขึ้นไปทางเหนือ คือน้ำหนักของน้ำที่มีความหนาแน่น และมีปริมาณเกลือสูง เมื่อมันเคลื่อนที่ขึ้นเหนือ การระเหยจะทำให้น้ำเค็มขึ้นและหนักขึ้นเรื่อยๆ ครั้นกระแสน้ำที่ไหลเลียบผิวน้ำเคลื่อนผ่านไปเหนือกระแสน้ำด้านล่างซึ่งไหลวกลงมาจากทางเหนือมันก็จะจมลงเบื้องล่างด้วยน้ำหนักและความเค็ม พร้อมกับฉุดเอากระแสน้ำลงไปด้วย
มันเป็นเรื่องน่าทึ่งอย่างยิ่งที่ความร้อนมหึมาของระบบสายพานมหาสมุทรโลกนี้ได้แรงขับเคลื่อนมาจากสิ่งกระจ้อยร่อยอย่างความหนาแน่นที่แตกต่างกันระหว่างกระแสน้ำกับน้ำในมหาสมุทรที่อยู่รายรอบ แต่ ระบบสายพานมหาสมุทรโลกกลับเปราะบางอย่างเหลือเชื่อ! เพราะหายนภัยจากยุคน้ำแข็งน้อย ที่ปรากฏอย่างเวอร์ๆ หรืออย่างใส่สีตีไข่มากเกินไปในภาพยนตร์เรื่อง “The Day After Tomorrow” นั้น ก็มาจากความเปราะบางของระบบสายพานมหาสมุทรโลกนี่เอง