(13) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (29/6/53)

(13) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (29/6/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

13. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

 

เราได้กล่าวไปแล้วว่า หายนภัยจากยุคน้ำแข็งน้อย อาจเกิดขึ้นได้เพราะความเปราะบางของ ระบบสายพานมหาสมุทรโลก ยูจีน ลินเด็น ผู้เขียน “เพชฌฆาตอารยธรรม” บอกว่า อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าหากธารน้ำแข็งละลาย อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน จนทำให้มีปริมาณน้ำจืดจำนวนมหาศาลเข้าสู่ย่านแอตแลนติกเหนือ ที่ซึ่งกระแสน้ำกัลฟ์สตรีม ส่วนที่เหลือเริ่มจมตัวลงเป็น “น้ำระดับลึก” น้ำจืดอาจจะไหลไปเจือกับน้ำเค็มจัดในกระแสน้ำ จนทำให้มันจืดลงและเจือจางลง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น กระแสน้ำที่เจือจางก็อาจไม่จมลงเบื้องล่างเหมือนที่เคยเป็น แต่มันอาจเปลี่ยนทิศทางการไหลหรือสลายตัวไป

แต่ไม่ว่าผลจะออกมาในรูปแบบใดก็ตาม ประเทศทางตอนเหนือจะสูญเสียแหล่งความร้อนมหาศาล มหาสมุทรแถบนั้นจะเย็นลงจนมีน้ำแข็งทะเลก่อตัวขึ้นในช่วงฤดูหนาว น้ำแข็งทะเลจะสะท้อนแสงอาทิตย์กลับออกสู่อวกาศ และปิดกั้นความร้อนจากมหาสมุทรเบื้องล่างไม่ให้ลอยขึ้นมาถ่ายเทความอบอุ่นแก่อากาศรอบๆ เหมือนที่เป็นมาอีกต่อไป เพราะฉะนั้น ยูจีนจึงบอกว่า สภาพภูมิอากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเนิบนาบ ดังที่เคยเข้าใจหรือเคยเชื่อเช่นนั้นมาก่อน แต่ มันสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างเกรี้ยวกราดได้อีกด้วย จะว่าไปแล้ว “ความเข้าใจใหม่” เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น มันเพิ่งเริ่มปรากฏออกมาเป็นองค์ความรู้ที่ชัดเจนในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เท่านั้นเอง

หาก ภัยจากยุคน้ำแข็งน้อย อันเนื่องมาจากกลไกระบบสายพานมหาสมุทรโลกเกิดความผิดปกติ เป็นสิ่งที่น่าวิตกสำหรับประเทศทางแถบเหนือ ภัยแล้งจากเอลนีโญ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ประเทศทางแถบใต้ รวมทั้งประเทศไทยควรวิตกให้มากเข้าไว้ ขอให้พวกเราลองจินตนาการดูว่า หากภัยแล้งจากเอลนีโญยังคงดำเนินต่อเนื่องไป เดือนแล้วเดือนเล่า ปีแล้วปีเล่า นานเป็นสิบๆ ปี โดยที่ความปั่นป่วนวิปริตของสภาพภูมิอากาศได้ทำให้เกิดลมพัดแรงกระหน่ำ กวาดเอาหน้าดินไปจากพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ มิหนำซ้ำยังเกิดลมพายุระลอกแล้วระลอกเล่าที่สร้างความสูญเสียให้แก่สังคมนั้น พร้อมๆ กับภัยแล้งปีแล้วปีเล่า สังคมนั้นจะอยู่ได้อย่างไร?

ยูจีนได้ยกกรณีศึกษา ความล่มสลายของชาวมายาเมื่อ 1,100 ปีก่อน โดยบอกว่ามีความเป็นไปได้สูงว่า สังคมชาวมายาได้ล่มสลายลงเพราะขาดน้ำและอาหาร อันเนื่องมาจากภัยแล้งรุนแรงระลอกแล้วระลอกเล่า ทั้งนี้ก็เพราะว่า ระบบอ่างเก็บน้ำของชาวมายา สามารถช่วยการเผชิญหน้ากับภัยแล้งได้เพียงปีสองปีเป็นอย่างมาก แต่นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 910 เป็นต้นมา กลับเกิด ภัยแล้วอย่างต่อเนื่องปีแล้วปีเล่า เมื่อผนวกกับปัจจัยอื่นอย่างเช่น สงคราม โรคระบาด และความอดอยากจึงนำไปสู่ความล่มสลายของชาวมายาในที่สุด

จะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์เอลนีโญ เป็นความผันผวนทางภูมิอากาศที่รุนแรงน้อยที่สุด และคาดการณ์ได้ง่ายที่สุด แต่กลับมีอิทธิพลต่อสังคมมนุษย์มากเหลือเกิน เพราะปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรงเมื่อสิบสองปีก่อน คือ ปี ค.ศ. 1998 ได้สร้างความเสียหายทั่วโลกเป็นมูลค่าถึงหนึ่งแสนล้านดอลลาร์ โดยที่ในรอบ 150 ปีที่ผ่านมา เอลนีโญได้คร่าชีวิตผู้คนในอินเดีย และจีนไปมากกว่าจำนวนยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ในยุคกลางถึง 3 เท่า และจำนวนผู้ล้มตาย เพราะเอลนีโญก็สูงกว่ายอด 60 ล้านคนที่เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่สองเสียอีก

ไม่มีใครทราบคำตอบแน่ชัดว่า อะไรคือตัวการที่ทำให้เกิดเอลนีโญ แต่นักวิทยาศาสตร์พุ่งเป้าไปที่ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น เมื่อพิจารณาจากกลไกการทำงานของเอลนีโญ เราพบว่ามันมีใจกลางของการทำงานอยู่ในเขตร้อนของมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งนี้ก็เพราะว่า เอลนีโญเกิดจากน้ำอุ่นที่ไหลมารวมกันอยู่ทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ระดับน้ำในมหาสมุทรแถบนั้นสูงขึ้นราวหนึ่งฟุต ลึกลงไปเบื้องล่าง น้ำอุ่นยังสร้างผลกระทบที่รุนแรงยิ่งกว่าเมื่อมันทำให้เส้นเทอร์โมไคล์ ซึ่งเป็นชั้นแสดงระดับที่น้ำอุ่นบนผิวมหาสมุทรปะทะกับน้ำที่เย็นกว่าเบื้องล่างจมลึกลงไป จากนั้นน้ำเหล่านี้ก็จะไหลออกไปทางเหนือและใต้ ก่อนจะวกกลับสู่ทิศตะวันออก ระบบการถ่ายเทความร้อนนี้เองที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมหาสมุทร และบรรยากาศ ซึ่งในที่สุดจะเป็นตัวกำหนดสภาพลมฟ้าอากาศในวงที่กว้างไกลมาก

แต่ถึงแม้ว่านักสมุทรศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจะเข้าใจ และสามารถตรวจจับสัญญาณของเอลนีโญที่กำลังก่อตัวได้ค่อนข้างแม่นยำก็ตาม แต่กลับไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า อะไรคือปัจจัยที่ก่อให้เกิดเอลนีโญ เรารู้แต่เพียงว่า เอลนีโญไม่ได้เกิดขึ้นอย่างไร้บริบท และเรายังไม่แน่ใจด้วยว่า ในยามที่เราปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น และโลกก็ร้อนขึ้นเช่นนี้ เอลนีโญจะเกิดถี่ขึ้นหรือมีกำลังอาละวาดแรงกว่าเดิมหรือไม่ เรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในบรรดานักวิทยาศาสตร์ด้วยกันเอง

ภัยจากยุคน้ำแข็งน้อยก็ดี หรือภัยแล้ง (และน้ำท่วม) จากปรากฏการณ์เอลนีโญก็ดี ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เราไม่ค่อยมีความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเท่าไรนัก สาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะ คนเรายากที่จะจินตนาการถึงลักษณะภูมิอากาศที่แตกต่างไปจากที่คนเราเผชิญอยู่หรือเคยชินอยู่ และมันจะยากยิ่งขึ้นไปอีก หากต้องจินตนาการถึงสภาพภูมิอากาศที่พลิกตาลปัตร

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า พวกเราและสังคมของชาวโลกยังไม่เคยถูกทดสอบด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เหมือนอย่างที่ชาวนอร์สในเกาะกรีนแลนด์ และชาวมายาในอดีตได้เคยถูกทดสอบมาแล้วก็ว่าได้ แต่ดูเหมือนว่า บททดสอบเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ กำลังจะใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว

จะว่าไปแล้ว มันเป็นเรื่องน่าแปลกใจเหมือนกัน หากเราลองนึกดูว่าเพียงแค่สองทศวรรษที่แล้ว ยังมีผู้คนเพียงไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่เริ่มตระหนักในตอนนั้นว่า ภูมิอากาศได้เริ่มเปลี่ยนแปลงมาร่วมยี่สิบปีก่อนหน้านั้นแล้ว และก็มีผู้คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นในตอนนั้นที่เริ่มเป็นเดือดเป็นร้อนกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ สังคมส่วนใหญ่ในตอนนั้น จึงเพิกเฉยกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เพราะปรากฏการณ์เหล่านี้อยู่นอกเหนือประสบการณ์ของคนเราในตอนนั้น

แต่นับตั้งแต่ย่างเข้าทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ผู้คนจำนวนมากเริ่มเห็น ภาวะโลกร้อน ปรากฏชัดเจนขึ้นอย่างปราศจากข้อสงสัยใดๆ และเริ่มยอมรับว่า ลมฟ้าอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ที่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เริ่มเสนอบทวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศสมัยใหม่นั้น อาจเกิดจากอิทธิพลของมนุษย์เป็นหลัก และพวกเรากำลังก้าวเข้าสู่ “โลกของภูมิอากาศ” ที่พวกเราไม่เคยสัมผัสมาก่อน โดยที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็อาจรุนแรงมากด้วย

พอเขียนถึงตรงนี้ ผมอยากให้พวกเราหันไปทบทวน กรอบการวิเคราะห์วิชัน ของงานเขียนชุดนี้ร่วมกับผมอีกที ก่อนอื่นผมเริ่มจากการนำเสนอ วิชัน ของผม โดยใช้ กรอบการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก (deep fundamentals) ที่ผมได้แรงบันดาลใจมาจากงานเขียนเรื่อง “ความมั่งคั่งปฏิวัติ” ของนักอนาคตศาสตร์ชื่อดังในระดับโลกอย่าง อัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ โดยที่ตัวเขาได้นำเสนอว่า ปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกมีอยู่ 3 อย่างคือ เวลา พื้นที่ และความรู้

จากนั้นตัวผมได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกในเรื่อง “เวลา” โดยชี้ให้เห็นว่า ปัญหา “การผิดจังหวะ” (desynchronization) ที่เกิดจากการปะทะกันระหว่างความเร็วทำให้สถาบัน และองค์กรต่างๆ ต้องปรับตัวให้ทันกับจังหวะเวลา โดยที่องค์กรธุรกิจที่สามารถ “เข้าจังหวะ” ได้ดี จะเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จในโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงนี้ได้ จากนั้นแทนที่ผมจะกล่าวต่อไปถึงปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก เรื่องพื้นที่ และความรู้ ผมกลับนำเสนอเรื่อง วิกฤตพลังงาน ขึ้นมาก่อน เพราะเรื่องนี้ผมเห็นว่าเกี่ยวพันกับ “เวลา” โดยเฉพาะเกี่ยวกับ อวสานของยุคน้ำมัน ที่กำลังจะมาถึงในอีกสามสิบปีข้างหน้า

จากการนำเสนอวิกฤตพลังงานในงานเขียนชุดนี้ ได้นำผมไปสู่ข้อสรุปอีกข้อหนึ่งว่า นอกจากอัลวิน ทอฟฟ์เลอร์ จะไม่ให้ความสนใจกับปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกอย่างอื่น เช่น “ระดับจิต” (levels of consciousness) แล้ว ตัวเขายังไม่ได้ให้ความสนใจในปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกอีกตัวหนึ่ง ซึ่งก็คือ “สภาพภูมิอากาศ” ด้วย จึงทำให้วิชันของทอฟฟ์เลอร์ยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควรในสายตาของผม

ด้วยเหตุนี้ วิธีการนำเสนอเกี่ยวกับวิชันของผม ตัวผมจึงขอเสนอให้ใช้ กรอบการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก 5 อย่างคือ เวลา พื้นที่ ความรู้ สภาพภูมิอากาศ และระดับจิต มาเป็นกรอบการนำเสนอ วิชันของพรรคการเมืองใหม่ ของพวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการใช้ชี้นำและบริหารประเทศเพื่อฟันฝ่า วิกฤตหลากมิติในอนาคตอันใกล้






 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้