14. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
ผมได้กล่าวไปแล้วว่า การนำเสนอ วิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของผมนั้น ตัวผมได้ใช้ กรอบการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานเชิงลึก (deep fundamentals) 5 อย่างคือ เวลา พื้นที่ ความรู้ สภาพภูมิอากาศ และระดับจิต มาเป็นกรอบในการนำเสนอ วิชันของผม โดยที่ผมได้เอา “วิกฤตพลังงาน” มาเป็น ห่วงโซ่ข้อกลาง ในการโยงใยเชื่อมร้อยปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้พวกเราได้เห็นถึง ภาพรวมเกี่ยวกับอนาคตข้างหน้าของโลกใบนี้ พรรคของพวกเราจะได้สามารถนำเสนอ ยุทธศาสตร์ระดับชาติของพรรค ให้แก่ปวงมหาประชาชนได้
เมื่อพวกเราใส่ใจและสนใจกับการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกอย่าง “สภาพภูมิอากาศ” ของ โลกในขณะนี้ พวกเราก็จะเห็นได้เองว่า ยุคข้างหน้าจะเป็น ยุคสมัยของอาหารและน้ำ อย่างค่อนข้างแน่นอนแล้ว ทำไมเราถึงเห็นเช่นนั้นหรือเชื่อเช่นนั้น มันก็มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรโลกปัจจุบันซึ่งมีมากกว่าหกพันล้านคน และมีแนวโน้มว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่พื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลกทั้งบนพื้นดิน และมหาสมุทรกลับมิได้เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มว่า ปริมาณพื้นที่ผลิตอาหารเลี้ยงชาวโลกจะหดเล็กลงด้วย เพราะพื้นดินจำนวนมากได้ถูกมนุษย์นำไปใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทอื่นแทน
นอกจากนี้ ปริมาณแหล่งน้ำจืดก็มีแนวโน้มลดลงทั่วโลก เพราะแหล่งน้ำจำนวนมากในทุกทวีป และในหลายประเทศทั่วโลกได้ถูกทำให้เสื่อมทรามลง หรือถูกทำลายลงด้วยการถมหรือทำให้ตื้นเขินจนขาดความอุดมทางนิเวศที่เคยมีในอดีตเป็นอย่างมาก จึงทำให้ปริมาณการกักเก็บน้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติได้ลดลงอย่างรวดเร็วในทุกพื้นที่ของโลก แม้กระทั่งการเก็บน้ำใต้ดินที่เคยกักเก็บโดยธรรมชาติมาแต่ไหนแต่ไรก็กลับแปรเปลี่ยนสภาพไป เพราะพื้นดินขาดความชุ่มน้ำจนไม่สามารถกักเก็บน้ำได้เหมือนอดีตอีกต่อไป
เมื่อพื้นดินไม่สามารถกักเก็บน้ำ จึงทำให้ยามน้ำป่าไหลหลาก ก็ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นอุทกภัยหรือดินถล่ม และยังเป็นต้นเหตุสำคัญของความแห้งแล้ง หรือภัยแล้งในทุกภูมิภาคของโลก
จะเห็นได้ว่า ปัญหาเรื่องน้ำจืดขาดแคลนเป็นเรื่องที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราจะต้องมี ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการเรื่องน้ำจืด ที่ถูกต้องและจะต้องถือเป็นนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญของพรรคควบคู่ไปกับ นโยบายพลังงาน เพื่อรับมือกับยุคอวสานของน้ำมันที่กำลังจะมาถึงในอีกสามสิบปีข้างหน้า เกี่ยวกับ การจัดการเรื่องน้ำจืด พรรคของพวกเราจะต้องไม่คิดภายใน “กรอบเก่า” ที่มุ่งแค่ค้นหากับปรับปรุงเรื่องการเก็บน้ำจืดเหมือนอย่างที่เคยทำมาเท่านั้น
แต่พรรคของพวกเราจะต้องกล้าคิด “นอกกรอบ” ในเรื่องการจัดการเรื่องน้ำจืด เพื่อให้ประเทศของเราสามารถอยู่รอดได้ในสภาวะที่ความแห้งแล้งจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนานนับเป็นสิบปีทั่วโลกในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเราจะได้กล่าวอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
วิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการเรื่องน้ำจืด ที่ผมคิดว่าจำเป็นและสำคัญยิ่งนั้น อยู่ที่การนำน้ำทิ้งจากการอุปโภคประจำ เช่น การอาบน้ำ ล้างจาน ฯลฯ กลับมาใช้ใหม่ และการจำแนกคุณภาพของน้ำที่จะนำมาใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละกิจกรรมที่ต้องใช้น้ำ ซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกับ วิถีโตโยต้า ที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ในการ “กำจัดความสูญเปล่า” ในกระบวนการผลิต เพียงแต่คราวนี้ เราจะนำมาใช้ใน “การกำจัดความสูญเปล่า” ในกระบวนการบริโภคน้ำจืด ของประเทศเรา ซึ่งจะทำให้ประเทศเรามีน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มขึ้นในปริมาณมากขึ้นทันที
ขณะเดียวกัน ก็ยังช่วยลดปัญหาเรื่องน้ำเน่าเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด และปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำจืดธรรมชาติด้วย ในยามที่ทั่วโลกกำลังขาดแคลนอาหารและน้ำ ประเทศของเราต้องถือว่าโชคดีมีบุญวาสนามาก เพราะประเทศของเรายังค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องอาหารและน้ำมากกว่าประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศของเราจะต้องฟื้นฟู ปรับปรุง ยกระดับการใช้ที่ดินการเกษตร และแหล่งน้ำของประเทศเราให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่านี้ เพื่อที่ประเทศของเราจะได้เป็น หนึ่งในศูนย์กลางอาหารและน้ำของโลกในยุคสมัยแห่งอาหารและน้ำ ที่กำลังจะมาถึง
พรรคการเมืองใหม่ของพวกเราจึงต้องมีนโยบายเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและแหล่งน้ำ เพื่อให้ประเทศของเราเป็นแหล่งผลิตอาหารและน้ำจืดในระดับโลก เพราะในอนาคตอันใกล้ชาวโลกจะต้องเผชิญกับ ปัญหาความขาดแคลนอาหารและน้ำ อันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกอย่าง “สภาพภูมิอากาศ” อย่างแน่นอน
ถ้าหากหนังสือ “เศรษฐกิจไฮโดรเจน” ของเจเรมี ริฟกิน เป็นหนังสือที่ผมเสนอให้พี่น้องพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) “ต้องอ่าน” ในการทำความเข้าใจวิกฤตพลังงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติของพรรคแล้ว หนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” (Six Degrees) ของ มาร์ก ไลนัส (Mark Lynas) (ค.ศ. 2007, ฉบับแปลภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ. 2551) ก็เป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ผมขอเสนอให้ พี่น้องพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ “ต้องอ่าน” ด้วยเช่นกัน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับ หายนภัยที่จะเกิด เมื่อโลกร้อนขึ้นทีละองศา อันเป็นการเปลี่ยนแปลงของ “สภาพภูมิอากาศ” ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในการนำเสนอ วิชันของพรรคการเมืองใหม่ของพวกเรา
มาร์ก ไลนัส ผู้เขียนหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” เล่มนี้เป็นทั้งนักข่าว และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ได้ใช้เวลาศึกษาเอกสาร รายงาน บทความ และผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์กว่าหนึ่งหมื่นชิ้น โดยเอกสารเหล่านี้ มีทั้งบันทึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ จนถึงยุคน้ำแข็งอันยาวนานหลายล้านปีก่อน รวมทั้งรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทั้งเรื่องคลื่นความร้อน กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม ปรากฏการณ์เอลนีโญ ฯลฯ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองต่างๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่า ภายใน ค.ศ. 2100 อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอาจสูงขึ้นสูงสุดได้ถึง 6 องศา ถ้าหากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้อยู่
จุดเด่นของหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” เล่มนี้ก็คือ ไลนัสได้นำข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์จำนวนมหาศาล ซึ่งเขาได้ศึกษามาทำการสังเคราะห์ และบอกเล่าในรูปของหนังสือให้ผู้อ่านได้เห็นถึง ปัญหาโลกร้อน ที่ชาวโลกกำลังเผชิญอยู่ โดยไลนัสได้แบ่งอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกออกเป็น 6 บทไล่ตั้งแต่ 1 องศาขึ้นไป โดยเขาได้นำเสนอภาพให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แต่ละ 1 องศาที่โลกร้อนขึ้นนั้น มันจะนำไปสู่อะไรบ้าง
จะว่าไปแล้ว นี่คือการนำเสนอ วิชันเกี่ยวกับโลกอนาคตอันใกล้จากมุมมองของ “โลกร้อน” หรือจากมุมมองของการเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานเชิงลึกอย่างสภาพภูมิอากาศนั่นเอง ตอนที่ผมได้อ่านหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” เล่มนี้จบลง ผมถึงกับตะลึง และไม่สามารถมองโลกนี้โดยปราศจาก สายตาจากแง่มุมของโลกร้อน ได้อีกต่อไป
เพราะฉะนั้น ในข้อเขียนต่อจากนี้ไป ผมจะขอนำเสนอเนื้อหาสาระจากหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” เล่มนี้อย่างค่อนข้างละเอียดแต่ละองศา เพื่อ แบ่งปัน ความตระหนักรู้ถึงภัยโลกร้อนในหมู่พวกเราชาวพันธมิตรฯ และชาวพรรคการเมืองใหม่ร่วมกัน