16. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)
อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อโลกร้อนขึ้น 1 องศา? (จากหนังสือ “6 องศาโลกาวินาศ” ของ มาร์ก โลนัส)
ภัยแล้งครั้งใหญ่ในภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
ไฟป่าที่รุนแรง แม่น้ำและทะเลสาบที่แห้งผาก คือ สัญญาณบ่งบอกถึง ภาวะแห้งแล้ง ที่แคลิฟอร์เนียกำลังประสบ ขณะนี้มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่า สิ่งที่ภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเผชิญอยู่นั้น ไม่ใช่เป็นแค่ฝนแล้งระยะสั้น แต่มันเป็นภัยแล้งใหญ่เต็มรูปแบบที่กินเวลาหลายสิบปีเป็นอย่างน้อย
นี่เป็นสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในโลกที่อุณหภูมิสูงขึ้นโดยเฉลี่ยไม่ถึง 1 องศา ภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกาจะเกิด ภัยแล้งครั้งใหญ่ ที่จะทำลายพื้นที่เกษตรกรรม และไล่มนุษย์ผู้อยู่อาศัยออกไปด้วยความรุนแรงกว่าภัยพิบัติในทศวรรษที่ 1930 ที่เรียกว่า เหตุการณ์ดัสต์โบว์ล (Dust Bowl) ซึ่งเป็นพายุฝุ่นที่เกิดจากการเพาะปลูกผิดวิธีจนหน้าดินแห้งเป็นฝุ่น และถูกลมหอบปลิวว่อนเสียอีก
(2) ความหนาวอย่างสุดขั้วในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป
หนึ่งในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อน คือ ความเป็นไปได้ที่อุณหภูมิจะลดต่ำลงมากทั่วยุโรปภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ขณะที่กระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่รู้จักกันแพร่หลายว่า กัลฟ์สตรีมเกิดสะดุดและไหลช้าลง นี่คือฉากที่ถูกสร้างให้เกินจริงในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง The Day After Tomorrow ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ระบบกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติกที่พังทลายลงทำให้เกิด ยุคน้ำแข็งใหม่ ในความเป็นจริงคงไม่เลวร้ายเหมือนในภาพยนตร์ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ฤดูหนาวในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปจะรุนแรงขึ้นมาก เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 1 องศา
(3) น้ำแข็งในภูเขาคิลิมานจาโรของแอฟริกากำลังละลาย
ยอดเขาคิลิมานจาโร ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในทวีปแอฟริกา กำลังเผชิญกับภาวะธารน้ำแข็งลดลงเพราะเกิดการละลาย น้ำแข็ง 80 เปอร์เซ็นต์ของภูเขาแห่งนี้ ได้ละลายไปแล้วในศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมา และคาดการณ์กันว่า น้ำแข็งที่เหลืออาจจะหายไปหมดระหว่างปี ค.ศ. 2015-2020 น้ำแข็งในภูเขาแห่งนี้ เป็นบันทึกอันโดดเด่นของความแปรปรวนทางภูมิอากาศตลอดหลายยุคสมัย มันถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นฝุ่นในไอโซโทปของออกซิเจน และฟองก๊าซเล็กๆ ที่ถูกขังไว้ในชั้นน้ำแข็ง เมื่อขนแท่งแกนน้ำแข็งนี้ใส่กล่องแช่แข็งลงมาวิเคราะห์ในห้องทดลอง ร่องรอยในน้ำแข็งเหล่านี้ ให้ข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ภัยแล้งไปจนถึงภูเขาไฟระเบิดในอดีต รวมทั้งยังบอกเล่าเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในอดีตอีกด้วย
แต่การละลายครั้งล่าสุดของน้ำแข็งในภูเขาคิลิมานจาโร กำลังเริ่มทำลายบันทึกอันโดดเด่นของภูมิอากาศในอดีต ซึ่งเก็บอยู่ในธารน้ำแข็งแห่งคิลิมานจาโร นอกจากธารน้ำแข็งที่คิลิมานจาโรจะลดลงแล้ว ธารน้ำแข็งของภูเขารูเอนซอรีแห่งยูกันดา ก็ลดลงอย่างมากด้วยเช่นกัน โดยได้สูญเสียธารน้ำแข็งไปกว่าครึ่งแล้ว และคาดว่าธารน้ำแข็งทั้งหมดจะหายไปภายในอีกสองทศวรรษหน้า ที่สำคัญ เมื่อถึงเวลาที่ธารน้ำแข็งหายไป ป่าตอนบนก็จะหายไปเช่นกันด้วย นอกจากนี้ ธารน้ำแข็งบนภูเขาที่หายไป คือ ภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อแหล่งน้ำ และแหล่งน้ำที่หายไปจะมีผลกระทบต่อทุกสิ่งในชีวภูมิ (biosphere)
(4) ภัยแล้งในทะเลทรายซาฮีลแห่งแอฟริกาเหนือ
ภาวะโลกร้อนจะยิ่งทำให้ดินแดนในทะเลทรายซาฮีลแห่งแอฟริกาเหนือแห้งแล้งยิ่งขึ้น เนินทรายจากซาฮาราจะคืบลงสู่ทางใต้สู่ไนจีเรียและกานา ผู้คนจะไร้ที่อยู่อีกหลายล้านคน ความอดอยากจะจู่โจมดินแดนแถบนี้อย่างรุนแรง มีการคาดการณ์กันว่า ภัยแล้งในระดับปานกลางจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อถึงปี ค.ศ. 2100
แต่ที่แย่ที่สุดก็คือ สัดส่วนของพื้นที่แห้งแล้งสุดขีด (ปัจจุบันคือ 3 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ผิวโลก) จะเพิ่มขึ้นเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายความว่า หนึ่งในสามของพื้นที่โลกจะขาดแคลนน้ำสะอาดในปริมาณมาก ทำให้มนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป นี่เป็นตัวเลขที่คำนวณจากการเกิดภาวะโลกร้อนกว่า 1 องศา เมื่อถึงปี ค.ศ. 2100 เท่านั้น!
(5) น้ำแข็งขั้วโลกเหนือเริ่มละลาย
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีวลีใหม่ในพจนานุกรมวิทยาศาสตร์ นั่นคือ “จุดพลิกผัน” (tipping point) ซึ่งหมายถึง จุดที่ไม่มีทางย้อนกลับ เมื่อนำวลีนี้มาใช้กับปัญหาภาวะโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า พื้นที่บนโลกซึ่งอ่อนไหวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นฉับพลันมากที่สุด และเป็นบริเวณที่น่าจะได้เห็น การผ่าน “จุดพลิกผัน” ที่สำคัญครั้งแรกคือ ทวีปอาร์กติก ซึ่งปัจจุบันอุณหภูมิได้สูงขึ้นกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกถึงสองเท่า อะแลสกาและไซบีเรียร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ ในบริเวณเหล่านี้ปรอทสูงขึ้นแล้ว 2-3 องศาเซลเซียส ในช่วงห้าสิบปีหลัง
ผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เกิดขึ้นกับอะแลสกาแล้ว หิมะละลายเร็วขึ้น และมีแอ่งน้ำที่เกิดขึ้นจากน้ำแข็งละลายกระจายเป็นจุดๆ อยู่ทั่วพื้นที่ ทั้งๆ ที่มวลน้ำแข็งเหล่านี้เคยแข็งอยู่ตลอดสามพันปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย ธารน้ำแข็งบนภูเขาแถบอาร์กติกก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเช่นกัน ที่คาบสมุทรเซวาร์ดแห่งอะแลสกา ธารน้ำแข็งแกรนด์ยูเนียนกำลังหดเล็กลงเร็วมากจนคาดว่าจะหายไปหมดเมื่อถึงปี ค.ศ. 2035 ธารน้ำแข็งอื่นๆ ที่ใหญ่กว่ามากในอะแลสกาก็บางลงอย่างรวดเร็ว
ไม่แต่เท่านั้น พืดน้ำแข็งที่อาร์กติกก็ลดขนาดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 เป็นต้น นี่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันกำลังเคลื่อนที่ออกไปนอกกรอบความแปรผันที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แล้ว เมื่อในฤดูร้อนแต่ละครั้ง ปริมาณน้ำแข็งถาวรได้หายไปมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละปีผิวมหาสมุทรเปิดโล่งมากขึ้น ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 เพียงเดือนเดียว บริเวณที่เป็นน้ำแข็งทะเลของอาร์กติกขนาดเท่าอะแลสกาได้หายไปโดยไร้ร่องรอย ยิ่งเมื่อน้ำแข็งละลาย และพื้นผิวมหาสมุทรเปิดโล่งดูดซับความร้อนจากดวงอาทิตย์มากขึ้น ก็จะทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำแข็งก็ยากจะก่อตัวกลับมาได้อีกในฤดูหนาวครั้งต่อไป และหากไม่มีน้ำแข็งปกคลุมมหาสมุทรอาร์กติก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิอากาศโลก โดยที่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น
(6) วิกฤตป่าชื้นเขตร้อนแห่งควีนส์แลนด์ที่ออสเตรเลีย
ที่นี่เป็นหนึ่งในบริเวณที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากที่สุดในโลก เพราะแค่ร้อนขึ้น 1 องศาก็มีผลกระทบอย่างหนักต่อความหลากหลาย และสายพันธุ์สัตว์ที่นั่น ความร้อนที่เพิ่มขึ้น 1 องศาจะลดพื้นที่ป่าฝนบนภูเขาไปครึ่งหนึ่ง และทำลายที่อยู่อาศัยของสายพันธุ์สัตว์หายากหลายชนิดไปด้วย
(7) แนวปะการัง เกรตบาร์เรียรีฟ กำลังตกอยู่ในอันตราย
แนวปะการัง เกรตบาร์เรียรีฟ (Great Barrier Reef) เป็นแนวปะการังที่เก่าแก่ที่สุดของโลก กำลังตกอยู่ในอันตรายอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิด ภาวะฟอกขาว กับแนวปะการังทั่วโลก การฟอกขาวที่เกิดขึ้นรายปี อาจทำลายระบบนิเวศได้เพราะต้องใช้เวลาประมาณ 30 ปีกว่า ปะการังที่ถูกฟอกขาวอย่างหนักจะฟื้นตัว เมื่อไม่มีแนวปะการัง ความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรจะถูกทำลาย เพราะแนวปะการังทั่วโลกคือ แหล่งพักพิงและแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรถึงหนึ่งในสาม รวมทั้งปลาอีกสี่พันชนิดด้วย แนวปะการังไม่เพียงเผชิญวิกฤต อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเท่านั้น สิ่งปฏิกูลน้ำเสียจากเกษตรกรรม และการทำประมงที่มากเกินไป ยังมีส่วนซ้ำเติมทำลายแนวปะการังทั่วโลกอีกด้วย
(8) เขตพืชพรรณธรรมชาติแห่งแอฟริกาใต้กำลังถูกคุกคาม
ที่นี่เป็นบ้านของสายพันธุ์พืชที่มีความหนาแน่นมากที่สุดในโลก นอกป่าฝนเขตร้อน แต่มันกำลังถูกคุกคามจากภาวะโลกร้อนด้วยเช่นกัน ไม่อยากจะเชื่อเลยว่า โลกที่ร้อนขึ้น 1 องศาจะมีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่นที่สุดของโลก และเพิ่มความรุนแรงให้แก่วิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพได้ถึงเพียงนี้ เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหนุนให้เชื้อโรคใหม่ๆ ขยายตัว หรือกดดันให้สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเกิดความอ่อนไหวต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น
(9) ภัยเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้
สิ่งที่ทำให้โลกวิทยาศาสตร์ตื่นตะลึง คือ การเกิดพายุเฮอรริเคนชื่อ แครทรีนา ในปี ค.ศ. 2004 เพราะมันเกิดในแอตแลนติกใต้ ซึ่งไม่เคยมีบันทึกว่าเกิดเฮอริเคนในแถบนี้มาก่อนแม้แต่ลูกเดียว ก่อนเดือนมีนาคม ค.ศ. 2004 จึงมีความเป็นไปได้ว่า ภาวะโลกร้อนจะทำให้เกิดภาวะที่เอื้อต่อการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในดินแดนใหม่ๆ เช่น แอตแลนติกใต้บ่อยขึ้นขนาดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.8 องศาเซลเซียสเท่านั้น ยังทำให้เกิดเฮอริเคนได้หนึ่งลูก แล้วถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งองศาเล่า ก็ย่อมมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเกิดพายุหมุนบ่อยขึ้นในบริเวณอ่อนไหวนี้