(31) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (2/11/53)

(31) วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ) (2/11/53)

วิชันพันธมิตรฯ กับอัจฉริยะแห่งจิต

31. วิกฤตพลังงานกับวิชันพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) (ต่อ)

*สังคมไทยจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จเพื่อหลีกเลี่ยงการล่มสลายในอนาคต อันเนื่องมาจากหายนภัยของโลกร้อนได้หรือไม่? (ต่อ)*

ในกรณีของสาธารณรัฐโดมินิกัน บทบาทของประธานาธิบดีโจอาควิน บาลาเกอร์ ที่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1966 ถือได้ว่า มีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างมากต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐโดมินิกัน ไม่ให้เดินไปสู่เส้นทางแห่ง “การล่มสลาย” เหมือนกับเฮติ ก่อนอื่นต้องขอเล่าย้อนหลังถึงบทบาทของประธานาธิบดีตรูฮิโญแห่งสาธารณรัฐโดมินิกันในช่วงทศวรรษที่ 1930-1950 เสียก่อน เพราะแม้ประธานาธิบดีตรูฮิโญจะปกครองประเทศแบบเผด็จการก็จริง แต่ตรูฮิโญก็ยังตระหนักถึงความจำเป็น และความสำคัญของการรักษาพื้นที่ป่าไม้เพื่อป้องกันพื้นที่ต้นน้ำที่มีความสำคัญสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำของประเทศ

ตรูฮิโญจึงได้ปรับเปลี่ยนเครื่องมือจัดการสิ่งแวดล้อมที่แต่เดิมเป็น แนวทางล่างสู่บน มาเป็น แนวทางการควบคุมจากบนลงล่างอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมให้มีการพิทักษ์รักษาป่าไม้อย่างจริงจัง กล่าวคือ แม้ตัวตรูฮิโญ และครอบครัวรวมทั้งพันธมิตรของเขาจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการต้ดไม้สน และเป็นเจ้าของป่าสนขนาดใหญ่ กระทั่งเข้าร่วมทุนกับโรงเลื่อยหลักๆ ของประเทศก็ตาม แต่รัฐบาลเผด็จการของเขากลับป้องกันไม่ให้คนอื่นทำไม้ หรือเข้าไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ป่าไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต

แต่ภายหลังจากการเสียชีวิตของตรูฮิโญในปี ค.ศ. 1961 กำแพงเผด็จการที่เคยป้องปรามไม่ให้มีการปล้นชิงสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐโดมินิกันอย่างกว้างขวางก็ล้มครืนลง พวกผู้บุกรุกได้แห่กันเข้าไปยึดครองที่ดิน และจุดไฟเผาป่าเพื่อถางที่ดินทำการเกษตร นอกจากนี้บรรดาผู้อพยพจำนวนมากพากันไหลทะลักเข้าสู่เมืองอย่างไร้ระเบียบ ขณะที่ ครอบครัวนายทุนที่ร่ำรวยที่สุด 4 ครอบครัวใหญ่ในเมืองก็เริ่มทำการตัดไม้ในอัตราที่รวดเร็วยิ่งกว่าอัตราการทำไม้ในยุคสมัยของตรูฮิโญเป็นอย่างมาก

เพียงสองปีหลังจากมรณกรรมของตรูฮิโญ ประธานาธิบดีฮวน บอช ซึ่งได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ได้พยายามโน้มน้าวชักจูงให้พวกนายทุนที่ทำไม้ทำการอนุรักษ์พื้นที่ป่าสนไว้สำหรับเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารเพื่อใช้เป็นเขื่อนของประเทศ แต่พวกนายทุนทำป่าไม้กับร่วมมือกับกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ โค่นล้มบอชลงจากอำนาจ อัตราการทำไม้ในขณะนั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโจอาควิน บาลาเกอร์ เป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1966

บาลาเกอร์ตระหนักถึง ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารเอาไว้ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการพลังงานของประเทศ ด้วยการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้ และเพื่อเป็นหลักประกันด้วยว่า จะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และอุตสาหกรรมภายในประเทศ ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นานนัก บาลาเกอร์ได้สั่ง ห้ามการทำไม้เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศทั้งหมด รวมทั้งปิดโรงเลื่อยทั่วประเทศ

การกระทำดังกล่าว ก่อให้เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากครอบครัวนายทุนผู้มีอำนาจ และมั่งคั่งร่ำรวยจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้ตอบโต้มาตรการดังกล่าวด้วยการลักลอบทำไม้ในเขตป่าลึก ซึ่งอยู่ห่างไกล และสาธารณชนไม่อาจพบเห็นได้ง่าย รวมทั้งการเลื่อยไม้ในตอนกลางคืน ประธานาธิบดีบาลาเกอร์ ได้ตอบโต้ทันควัน ด้วยการยึดอำนาจการดูแลรักษาป่าจากกระทรวงเกษตร มาไว้กับกองทัพและประกาศว่า การลักลอบตัดไม้ถือเป็นการกระทำอาชญากรรมร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ

ในความพยายามยุติการตัดไม้ทำลายป่า กองทัพได้ริเริ่ม โครงการบินสำรวจป่า และเริ่ม ปฏิบัติการทางทหาร ที่เข้มข้นสูงสุดในปี ค.ศ. 1967 ในเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ซึ่งถือว่าสำคัญมากในประวัติศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของสาธารณรัฐโดมินิกันได้แก่ การปฏิบัติการของกองทัพเข้าโจมตีค่ายทำไม้ขนาดใหญ่ที่ซ่อนตัวในป่าลึกในค่ำคืนหนึ่ง ผลจากการยิงปืนต่อสู้กันทำให้พวกลักลอบตัดไม้รู้สึกช็อกไปตามๆ กัน ทำให้หลังจากนั้นแม้ยังคงมีการลักลอบตัดไม้อยู่บ้าง แต่ก็ต้องเผชิญกับการจู่โจม และการสังหารอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งการทำไม้ได้ลดลงมากในช่วงการเป็นประธานาธิบดียุคแรกของบาลาเกอร์ (ค.ศ. 1966-1978 โดยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 3 สมัยติดต่อกัน)

แต่แล้วในช่วง 8 ปี หลังจากนั้นที่บาลาเกอร์ไม่ได้ดำรงตำแหน่งคือ ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1978-1986 ประธานาธิบดีคนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่าบาลาเกอร์ กลับยอมพวกนายทุนอนุญาตให้เปิดค่ายทำไม้ และโรงเลื่อยขึ้นอีก

ดังนั้น ในวันแรกที่บาลาเกอร์กลับเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งในปี ค.ศ. 1986 เขาจึงออกคำสั่งให้ปิดค่ายตัดไม้ พร้อมทั้งโรงเลื่อยอีกครั้ง และในวันรุ่งขึ้น บาลาเกอร์ได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพไปตรวจจับการลักลอบทำไม้อย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งกระทำขึ้น เพื่อจับกุมคุมขังพวกลักลอบตัดไม้ รวมทั้งขับไล่บรรดาผู้บุกรุกที่ดินออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ยากจน บริษัทธุรกิจการเกษตร หรือคฤหาสน์ของคนร่ำรวย (บางส่วนเป็นของเพื่อนๆ ของบาลาเกอร์เอง) โดยที่ปฏิบัติการทางทหารครั้งที่ฮือฮามากที่สุด เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1992 ในเขตอุทยานแห่งชาติลอสเฮติเชส ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ราวร้อยละ 90 ถูกทำลาย กองทัพได้ขับไล่ผู้บุกรุกหลายพันราย

และในปฏิบัติการถัดจากนั้นอีก 2 ปี ซึ่งบาลาเกอร์ได้ควบคุมปฏิบัติการด้วยตนเองนั้น ทหารได้ขับรถไถขนาดใหญ่พังทำลายคฤหาสน์หรูหราของบรรดาชาวโดมินิกันผู้มั่งคั่งในเขตอุทยานแห่งชาติฮวนบีเปเรซ นอกจากนั้น บาลาเกอร์ยังสั่งห้ามจุดไฟเผาพื้นที่เกษตร รวมทั้งยังผ่านกฎหมาย (ที่แม้จะบังคับใช้ได้ยากในทางปฏิบัติ) ที่กำหนดว่ารั้วทุกแห่งต้องประกอบด้วยต้นไม้มีรากที่ยังมีชีวิต แทนที่จะใช้เสาไม้ที่ตัดมา บาลาเกอร์ยังได้ออกมาตรการ 2 ชุดคือ

(1) มาตรการลดความต้องการผลิตภัณฑ์จากต้นไม้ของชาวโดมินิกัน และหาผลิตภัณฑ์อื่นๆ มาใช้ทดแทนโดยการเปิดตลาดนำเข้าสินค้าไม้จากต่างประเทศ เพื่อกำจัดความต้องการไม้ที่ตัดจากป่าไม้ในประเทศของร้านค้าไม้ภายในประเทศออกไปเป็นส่วนใหญ่

(2) มาตรการลดการผลิตถ่านจากต้นไม้ตามแบบเดิม ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างความเสียหายให้แก่เฮติอย่างมาก โดยการทำสัญญานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวมาจากเวเนซุเอลา รวมทั้งอุดหนุนราคาก๊าซสำหรับประชาชน อีกทั้งยังแจกจ่ายเตาแก๊สและถังแก๊สโดยไม่คิดมูลค่าเพื่อจูงใจให้ลดการใช้ถ่านหุงต้ม

นอกจากนี้ บาลาเกอร์ยังได้ ขยายระบบเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ครอบคลุมกว้างขวางยิ่งขึ้น โดยประกาศจัดตั้ง เขตอุทยานแห่งชาติชายฝั่งทะเล ขึ้น 2 แห่งเป็นครั้งแรก และประกาศผนวกแนวฝั่งใต้มหาสมุทรสองแห่งเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในฐานะเป็นเขตสงวนพันธุ์ปลาวาฬหลังค่อม อีกทั้งบาลาเกอร์ยัง ประกาศให้ที่ดินซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำในระยะ 20 หลา และอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเล 60 หลาเป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์เช่นเดียวกับพื้นที่ชุ่มน้ำ เขายังทำการลงสัตยาบันในสนธิสัญญาริโอ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม และประกาศห้ามล่าสัตว์เป็นเวลา 10 ปี

ไม่แต่เท่านั้น บาลาเกอร์ยังกดดันให้บรรดาอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องบำบัดสิ่งปฏิกูล รวมทั้งวางมาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศ (แม้ว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก) แน่นอนว่า บาลาเกอร์เป็นผู้คัดค้านหรือขัดขวางข้อเสนอของโครงการต่างๆ ที่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมหลายๆ โครงการอย่างจริงจัง เช่น โครงการตัดถนนทิศเหนือ-ใต้ผ่านอุทยานแห่งชาติ โครงการท่าเรือขนาดใหญ่ และโครงการสร้างเขื่อนที่มาดริกัล เป็นต้น

บทบาททางการเมืองครั้งสุดท้ายของบาลาเกอร์ในวัย 94 ปี ก็ยังเป็นการปกป้องระบบอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยเขาได้ร่วมมือกับเมเฮีย ว่าที่ประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง ขัดขวาง แผนการของประธานาธิบดีเฟอร์นันเดซ ที่จะลดขนาดและทำให้ระบบอนุรักษ์ธรรมชาติของประเทศอ่อนแอลง ซึ่งบาลาเกอร์และเมเฮียก็ทำได้สำเร็จด้วย วิธีการทางนิติบัญญัติ โดยแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายที่ประธานาธิบดีเฟอร์นันเดซเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีอยู่ด้วยการใช้อำนาจบริหารแต่เพียงอย่างเดียว ให้เป็นคำสั่งที่ต้องมีกฎหมายรองรับ โดยมีเงื่อนไขว่าเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้อยู่แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 คือช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งสุดท้ายของบาลาเกอร์ ด้วยเหตุนี้ บาลาเกอร์จึงยุติอาชีพทางการเมืองของตน ด้วยการปกป้องระบบอนุรักษ์ธรรมชาติที่ตัวเขาทุ่มเทเอาใจใส่อย่างจริงจังเอาไว้ได้

จะเห็นได้ว่า การกระทำทั้งหมดข้างต้นของผู้นำประเทศอย่างบาลาเกอร์ ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังถึงขนาดนี้ เป็นสิ่งที่ยากจะพบเห็นในผู้นำของประเทศอื่นๆ และน่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้สาธารณรัฐโดมินิกันไม่ต้อง “ล่มสลาย” ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนกับเฮติ ซึ่งอยู่บนเกาะเดียวกัน แต่ผู้นำของเฮติทุกคนกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของเฮติจนทำให้เฮติกลายเป็นประเทศที่ “ไร้ความหวัง” มาจนถึงบัดนี้

ข้อดีอีกประการหนึ่งของแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมแบบจากบนลงล่างของประธานาธิบดีบาลาเกอร์ ก็คือ มันได้ไปกระตุ้นความพยายามจัดการสิ่งแวดล้อมจากล่างสู่บนให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่เคยห่างหายไปในช่วงการปกครองของตรูฮิโญ และในช่วงทศวรรษที่ 1970 กับ 1980 โดยที่พวกนักวิทยาศาสตร์พากันจัดทำทะเบียนทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบก ทางทะเล และชายฝั่งทะเลไว้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ชาวโดมินิกันเองก็ค่อยๆ เรียนรู้ วิธีการมีส่วนร่วมของพลเมืองในกิจการสาธารณะกันอีกครั้ง

โดยในช่วงทศวรรษที่ 1980 ได้มีการก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายสิบแห่ง ซึ่งค่อยๆ ทำงานกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่างกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก

บทเรียนของสาธารณรัฐโดมินิกัน ชี้ให้พวกเราเห็นอย่างชัดเจนว่า ในการจะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จเพื่อป้องกัน “การล่มสลาย” ของสังคมอันเนื่องมาจากการทำลายสิ่งแวดล้อมนั้น มันต้องใช้ความมุ่งมั่นทางการเมืองอย่างแรงกล้าของผู้นำประเทศ และต้องทุ่มเทอย่างต่อเนื่องยาวนานเป็นสิบๆ ปี ถึงจะได้ผล ซึ่งพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) ของพวกเราชาวพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะต้องมี ความมุ่งมั่นทางการเมืองในเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาคอร์รัปชัน ในระดับนั้นให้จงได้ พรรคการเมืองใหม่ถึงจะสามารถเป็น “ความหวัง” เพียงหนึ่งเดียวของประเทศนี้ได้



 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้