รศ.ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง , รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บางครั้งการเลือกข้างระหว่าง “ความถูกต้อง” กับ “ความไม่ถูกต้อง” มันก็เป็นแค่เรื่องของ ความเชื่อส่วนบุคคล เท่านั้นว่าจะเลือกอยู่ข้างใด . . .
ระหว่างการวางแผนปกป้องชีวิต ซุนยัดเซน ผู้นำทางการเมืองที่มุ่งล้มล้างราชวงศ์ชิงของฝ่ายปฏิวัติกับขุนนางผู้รักชาติที่ราชวงศ์ชิงส่งมาเพื่อเอาชีวิต ในภาพยนตร์เรื่อง 5 พยัคฆ์พิทักษ์ซุนยัดเซน (Bodyguards and Assassins) ท่านผู้อ่านคิดว่าฝ่ายใดเป็นพระเอกฝ่ายใดเป็นผู้ร้ายหรือไม่มีทั้งพระเอกและผู้ร้าย
เนื้อเรื่องโดยย่อก็คือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงกลียุคของประเทศจีนระหว่างที่ ซุนยัดเซน เริ่มต้นกระบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศจีนหลังการเกิดกบฏนักมวยได้ไม่นาน การกลับมาในประเทศจีนอีกครั้งจึงเป็นความเสี่ยงภัยสำหรับตัวเอง แม้จะเป็นที่ฮ่องกงเมืองที่อยู่ในความปกครองของอังกฤษก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างการปกป้องและลอบสังหารของผู้รักชาติทั้ง 2 ฝ่ายจึงเป็นเนื้อเรื่องหลักในหนังที่ผู้สร้างจับมาเป็นประเด็น และเสริมด้วยความขัดแย้งระหว่างภูมิหลังของตัวละคร จากคนธรรมดาสามัญที่กลายมาเป็นวีรบุรุษสามัญชนผู้พิทักษ์ประเทศที่ยอมเอาชีวิตของตนเองหรือคนที่ตนรักเข้าแลก โดยอาสาเป็นเป้าล่อเพื่อให้ซุนยัดเซนสามารถที่จะประชุมลับกับผู้นำคนอื่นๆ ในการวางแผนการปฏิวัติเพื่อล้มล้างราชวงศ์ชิงในแผ่นดินจีนได้สำเร็จในที่สุด
ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีทั้ง เจ้าสัวผู้อุทิศความหวังทั้งหมดไปที่ลูกชายหัวก้าวหน้าเพียงคนเดียวของเขา ลูกสาวของพ่อผู้เป็นนักปฏิวัติที่แฝงตัวหลบซ่อนการถูกตามฆ่าในคราบคนเล่นงิ้ว อดีตพระวัดเส้าหลินที่ถูกขับออกจากวัด ขอทานข้างถนนที่บอบช้ำจากอดีตอันรุ่งโรจน์ สารถีคนลากรถเจ้าสัวผู้ 3 ไม่ คือ ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้แม้แต่ว่าผู้ที่ตนไปปกป้องเป็นใคร แต่ไม่ทรยศต่อสำนึกของความชอบธรรม ตำรวจนอกแถวชั้นผู้น้อยที่ติดการพนันแต่ต่อมีจริยธรรมต่อความรักชาติยังคงทำงาน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นตัวแทนของผู้แพ้ในสังคม ที่ไม่ว่าจะในยุคนั้นหรือยุคนี้ล้วนเป็นตัวแทนของชีวิตที่เท่าเทียมกันไม่ว่าจะยากดีมีจนสักปานใด แต่เพื่อชาติแล้วล้วนรักชาติอย่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น
เฉกเช่นเดียวกับ ผู้กล้าที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณ อย่างเช่น น้อง “โบว์”, สารวัตร “จ๊าบ”, เจนกิจ กลัดสาคร, ยุทธพงษ์ เสมอภาค, กมลวรรณ หมื่นหนู, รณชัย ไชยศรี, ตี๋ “ชิงชัย”, “แจ็ค” ขาขาด ฯลฯ เพราะพวกเขาเหล่านั้นล้วนรู้และตระหนักว่าชาติที่ตนเองรักจะต้องพินาศแน่หากปล่อยให้ระบอบทักษิณกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ชีวิตของพวกเขาอาจไม่รุ่งโรจน์โดดเด่น แต่ก็มีค่าไม่แตกต่างจาก ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.ผู้อาศัยเฮลิคอปเตอร์กับพ่อหลบหนีออกจากรัฐสภาเมื่อ 7 ต.ค. 51 แต่ประการใด
สมหมาย ปาริจฉัตต์ คอลัมนิสต์และผู้บริหารบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ที่ได้เขียนบทความเรื่อง “บทเรียนสื่อเลือกข้าง” ในคอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 ในหน้าที่ 2 หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน จะรู้หรือไม่ว่า ทำไมพวกเขา “ผู้กล้าที่ต่อสู้กับระบอบทักษิณ”เหล่านั้นจึงเลือกข้างที่จะเสียสละ ยอมเจ็บ ยอมตาย ทำไมจึงไม่เป็นกลางรอบด้านแบบสมหมาย
สมหมายเอ๋ย เหตุไฉนจิตใจท่านจึงมืดบอดได้เช่นนี้
ราชวงศ์ชิงมิใช่ราชวงศ์ของคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนที่เป็นชาวฮั่น หากแต่เป็นราชวงศ์ของคนชาวแมนจู และเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีนในยุคจักรวรรดิที่ดำรงสืบเนื่องมากว่า 2,000 ปีที่ต่อจากนี้ไปได้กลายเป็นสาธารณรัฐประชาชนไปแล้ว
ความรุ่งโรจน์ของราชวงศ์ชิงที่ปกครองประเทศมากว่า 260 ปี เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็วในสมัยของพระนางซูสีไทเฮา เพราะปัจจัยภายใน เช่น ระบบการปกครองที่ล้มเหลว การฉ้อราษฎร์ ความล้าหลังทางเศรษฐกิจและวิทยาการ และปัจจัยภายนอกจากชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม ทำให้ราชวงศ์ชิงพ่ายแพ้ต่ออำนาจของต่างชาติและทำให้จีนสูญเสียอธิปไตยหรือดินแดนอยู่เนืองๆ สร้างความไม่พอใจและไม่มั่นใจให้กับประชาชนภายในประเทศว่าจะสามารถคุ้มครองอาณาประชาราษฎร์ให้มีความปลอดภัยได้
การเกิดกบฏนักมวยขึ้นมาเพื่อต่อต้านต่างชาติโดยได้รับการสนับสนุนอย่างลับๆจากพระนางซูสีไทเฮาได้ทำให้สถานการณ์เริ่มเสื่อมถอยลงอย่างรุนแรง เพราะการโจมตีของฝ่ายกบฏต่อเขตสถานทูตต่างชาติในกรุงปักกิ่ง ทำให้ชาติต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหายรวมตัวกันเป็นกองทัพ 8 ชาติพันธมิตรเพื่อตอบโต้จีน และสามารถเอาชนะยึดกรุงปักกิ่งและพระราชวังต้องห้ามเอาไว้ได้ อันเนื่องมาจากความล้าหลังของจีนและการทุจริตทำให้กองทัพอ่อนแอไม่สามารถแม้กระทั่งปกป้องเมืองหลวงและวังของจักรพรรดิเอาไว้ได้
ผลของกบฏนักมวยจึงทำให้นอกจากประเทศจีนต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมากแล้ว ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือยังสร้างความคับแค้นใจให้กับประชาชนจีนจำนวนมากซึ่งเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ชาติจีนจะรอดพ้นภัยพิบัตินี้ได้ก็ด้วยการล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น
แม้ว่าฝ่ายซุนยัดเซนที่สนับสนุนให้ประเทศจีนปกครองโดยระบอบสาธารณรัฐเป็นฝ่ายได้ชัยชนะภายหลังจากการสิ้นสุดของการปกครองของราชวงศ์ชิงในราวปี ค.ศ.1911 หรือในช่วงรัชกาลที่ 5 ก็ตาม แต่ยุคสาธารณรัฐของซุนยัดเซนอาจจะย่ำแย่กว่ายุคที่จีนปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียด้วยซ้ำ เพราะจีนได้อ่อนแอลงในทุกๆด้านเกินกว่าที่จะเยียวยาแก้ไขให้ฟื้นคืนมาได้ในยุคของซุนยัดเซน และพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องใช้เวลาอีกเกือบ 80 ปีหลังจากนั้นสานต่อการปฏิวัติประชาธิปไตยจึงกลายเป็นจีนที่แข็งแกร่งอย่างในยุคปัจจุบัน
แต่หากปราศจากซุนยัดเซน หมอผู้เปลี่ยนวิถีจากการรักษาคนไข้มาเป็นการรักษาประเทศด้วยการเป็นนักปฏิวัติ เพราะได้มองเห็นแล้วว่า การรักษาประเทศสามารถช่วยชีวิตคนได้มากกว่า ประเทศจีนก็คงไม่มีวันนี้ และเป็นหนี้ที่ประเทศจีนมีต่อองครักษ์ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตยนิรนามทั้งหลาย
ประเทศไทยของเราในยุคหลังระบอบทักษิณก็เช่นกัน จึงควรตระหนักถึงบทเรียนที่ผ่านมาของประเทศจีนว่า การนิ่งดูดาย “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” หรือ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” นั้น เป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ในช่วงกลียุคที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
อย่าลืม บทเรียนของการไม่นิ่งดูดาย ของซุนยัดเซนและพวกที่ลุกขึ้นมาต่อต้านความไม่ถูกต้องไม่ชอบธรรม และของประเทศไทยในช่วงเวลานั้นในอดีตที่ผ่านมาที่รอดพ้นการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจมาได้ก็มิใช่เพราะล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ไม่นิ่งดูดายมองเห็นการณ์ไกลดอกหรือ ทั้งรถไฟ โทรเลข นโยบายต่างประเทศ และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ประเทศไทยไม่อ่อนแอหรือล้าหลังดังเช่นจีนในยุคนั้น
แต่ประเทศไทยหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจนมาถึงปัจจุบันภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบกระท่อนกระแท่น ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ประเทศเจริญก้าวหน้าได้เท่าที่ศักยภาพที่ประเทศมีอยู่ได้ก็เพราะปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทุกคนทราบดีแต่ไม่เอาใจใส่ คือ นักการเมืองและทัศนคติเกี่ยวกับการเมืองอย่างไม่สร้างสรรค์ของประชาชนเป็นสำคัญ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศของเรา
ความขัดแย้งในสังคมไทยในปัจจุบันจึงอาจเปรียบได้กับประเทศจีนในยุคของซุนยัดเซนที่เป็นจุดเปลี่ยนของประเทศที่สำคัญอันจะมีผลต่อความก้าวหน้าของประเทศที่เจริญแล้วทุกประเทศที่จะต้องก้าวข้ามเพื่อให้ผ่านพ้นไปในทิศทางที่ถูกต้อง
เพราะมิใช่ความเข้าใจที่ตื้นเขินว่ามีเฉพาะแต่เพียงความขัดแย้งระหว่างพวกสีแดงที่ไม่ต้องการสถาบันฯ กับพวกที่ต้องการที่มีหลากสีมิใช่จำกัดเฉพาะเพียงสีเหลืองเท่านั้น
แต่ยังซับซ้อนเป็นความขัดแย้งในเชิงโครงสร้างระหว่างกลไกของรัฐที่ยังไม่ยอมอยู่ภายใต้อำนาจของประชาชนอีกด้วย ดังเช่นในกรณี ก.ตร.ตะแบงอุ้ม 3 นายตำรวจผู้ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงจากกรณี 7 ต.ค. 51 และ การทำร้ายไล่ฆ่าประชาชนกลางเมืองอุดรฯ หรือในกรณีมาบตาพุดที่เป็นความบกพร่องของฝ่ายราชการอย่างร้ายแรงในการละเลยไม่ปกป้องชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของประชาชนจากมลพิษที่โรงงานอุตสาหกรรมที่หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแลปล่อยออกมา
แต่การที่ประชาชนเพียงหยิบมือเดียวที่ไม่นิ่งดูดาย ลุกขึ้นมาร้องเรียกหาความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัวกลับถูกบิดเบือน อย่างเช่นกรณี สมหมาย ปาริจฉัตต์ แห่ง “มติชน” ที่กล่าวหาว่า สื่อ (ที่นำเสนอปัญหาความขัดแย้งเช่น ASTV ผู้จัดการ) นำไปสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และนำมาซึ่งปัญหายุ่งยากในการหาทางออกของวิกฤตประเทศในครั้งนี้ จะเป็นการทำร้ายประเทศไทย
เหตุต่างๆ เหล่านี้จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลยหากประชาชนเอาใจใส่ ไม่นิ่งดูดายต่อการเมืองและนักการเมือง เพราะกลไกของรัฐจะไม่สามารถแข็งขืนหรือประพฤติตนเป็นอำมาตย์ใหญ่กับประชาชนได้เลยหากนักการเมืองดำรงตนเป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
สุเทพ เทือกสุบรรณ ทำไมจึงทำหน้าที่เป็นเพียงเด็กส่งเอกสารจาก ก.ตร.ไปคณะรัฐมนตรี ไม่ทำหน้าที่เป็นนักการเมืองตัวแทนประชาชน เพราะหากรักษาผลประโยชน์ให้ประชาชนก็ต้องตระหนักถึงความศักดิ์สิทธิ์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในฐานะประธาน ก.ตร. หากไม่เห็นด้วยทำไมจึงปล่อยให้วาระการอุ้ม 3 นายตำรวจให้พ้นผิดเข้ามาพิจารณาในที่ประชุมได้
หากสุเทพ เทือกสุบรรณคิดว่าตนเองและรัฐบาลนี้เป็นหนี้บุญคุณ เนวิน และ ประวิตร แล้ว ทำไมจึงอกตัญญูลืมหนี้บุญคุณของผู้กล้าที่เสียสละแม้ชีวิตต่อสู้กับระบอบทักษิณในวันนั้นแทนพวกคุณ เพราะหากไม่มีพวกเขาเหล่านั้น สุเทพก็ไม่มีวันนี้ที่จะสามารถมาประชุมกับเนวินและประวิตรจัดตั้งรัฐบาลนี้ได้
จุดเปลี่ยนของประเทศไทยมาถึงอีกครั้งหนึ่งแล้ว และประชาชนไทยที่รักชาติทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องลุกขึ้นมาพิทักษ์มาตุภูมิของเรา
โปรดติดตามตอนหน้า: ตำนานจอมยุทธม้ามังกร??? กับจุดเปลี่ยนประเทศญี่ปุ่น